พระปกเกล้าสกายปาร์ค : เปลี่ยนสะพานด้วนริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสวนลอยฟ้าคนเดิน

Highlights

  • พระปกเกล้าสกายปาร์ค คือโครงการที่นำโครงสร้างเก่าที่ไม่ถูกใช้งานมาปรับปรุงและออกแบบใหม่ กลายเป็นสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก
  • เดิมที คนในพื้นที่เรียกสะพานดังกล่าวว่า สะพานด้วน แต่เมื่อกรุงเทพมหานคร, กรมทางหลวงชนบท และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) มาร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ สะพานด้วนก็งอกเงยขึ้นมาอีกครั้ง

ที่ผ่านมา สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทุกแห่งถูกสร้างมาเพื่อรถยนต์ ไม่ใช่เพื่อคนเดินถนน

แม้บางสะพาน เช่น สะพานพุทธ สะพานพระรามแปด หรือสะพานกรุงธน จะใจดีแบ่งพื้นที่ให้คนเดินข้ามได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทางที่น่ารื่นรมย์สักเท่าไหร่ เพราะต้องคอยเดินหลบโครงสร้างสะพานเอย ระวังรถเฉี่ยวเอย สูดดมควันพิษจากรถยนต์เอย

แต่ในอนาคตที่ไม่นานเกินรอ เรากำลังจะมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาความยาว 280 เมตรที่ไม่เพียงแค่ออกแบบมาให้คนเดินเท่านั้น เพราะสะพานแห่งนี้จะเป็นสวนลอยฟ้าที่คนผ่านไปมาสามารถแวะชมวิว ถ่ายรูป หรือนั่งพักผ่อนหย่อนใจได้อีกด้วย

‘พระปกเกล้าสกายปาร์ค’ คือสะพานที่ว่า ซึ่งเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร, กรมทางหลวงชนบท และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) โดยใช้โครงสร้างเดิมของสะพานที่ชาวชุมชนแถวนั้นเรียกติดปากว่า ‘สะพานด้วน’ ที่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างสะพานพระปกเกล้าขาเข้าและขาออกเมือง

สะพานด้วนเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับสะพานพระปกเกล้าใน พ.ศ. 2527 เพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน แต่ต่อมาเมื่อโครงการถูกระงับ สะพานจึงไม่ถูกสร้างต่อ ไม่มีทางขึ้นและทางลง และถูกปล่อยร้างไม่ได้ใช้งานมากว่า 30 ปี จนกระทั่ง UddC ได้ทำโครงการกรุงเทพฯ 250 และโครงการแผนแม่บทอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน จนได้พื้นที่นำร่องผ่านกระบวนการวางแผนแบบร่วมหารือทั้งกับภาคชุมชน หน่วยงานประชาสังคม และเอกชน

ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC และหัวหน้าโครงการกรุงเทพฯ 250 เล่าให้เราฟังว่า ในระดับเมือง ที่ตั้งของสะพานด้วนมีศักยภาพในการเชื่อมต่อพื้นที่ริมน้ำที่คึกคักทั้งจากปากคลองตลาดฝั่งพระนคร มายังกะดีจีน-คลองสานฝั่งธนฯ ที่มีการพัฒนาริมน้ำและเป็นย่านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นอกจากนี้ทั้งสองฝั่งเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาจำนวนกว่า 20 แห่ง ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย จึงเหมาะจะปรับโครงสร้างเก่าไม่ได้ใช้งานให้มาเป็นเส้นทางคนเดินและจักรยาน

“สะพานด้วนเป็น Leftover Asset หรือทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ โครงสร้างมีความแข็งแรง ถูกคำนวณรับน้ำหนักได้มหาศาล การทำเป็นพื้นที่สาธารณะจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะใครก็สามารถมาใช้พื้นที่นี้ได้” ปิยา ลิ้มปิติ สถาปนิกโครงการกรุงเทพฯ 250 อธิบายว่า การนำโครงสร้างเก่าในเมืองมาใช้เป็นสิ่งที่หลายเมืองทั่วโลกทำ ไม่ว่าจะเป็น Viaduc des Arts ที่ปารีส เปลี่ยนทางรถไฟเก่าให้เป็นย่านคราฟต์ขึ้นชื่อและแหล่งท่องเที่ยว, The High Line ที่นิวยอร์ก เปลี่ยนรางรถไฟลอยฟ้าให้กลายเป็นสวนสาธารณะ, Seoullo 7017 ที่โซล ที่เปลี่ยนทางด่วนเก่าให้กลายเป็นสวนสาธารณะเช่นกัน ส่วนของเราแม้จะมีระยะทางสั้นๆ แต่ก็จะเป็นก้าวแรก

ท่ามกลางโครงการนำร่องกว่า 24 โครงการของกรุงเทพฯ 250 พระปกเกล้าสกายปาร์คให้เกิดขึ้นจริงเป็นโครงการแรกๆ เพราะมีคุณสมบัติที่น่าสนใจสามข้อ

“หนึ่ง เกิดอิมแพกต์ มีคนได้ประโยชน์เยอะ เพราะคนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยากันมหาศาล ฝั่งธนฯ มีที่อยู่อาศัยเยอะ ส่วนฝั่งพระนครก็มีงานเยอะ แถมยังเข้าสู่เส้นทางท่องเที่ยวได้ สอง ทำออกมาแล้วเป็นที่ประจักษ์ เป็นแลนด์มาร์กที่ใครก็มองเห็น และ สาม ทำออกมาได้เร็ว ไม่ซับซ้อนเพราะเจ้าของทรัพย์สินเป็นหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน ในขณะที่บางโครงการอาจต้องประสานกับเอกชน เจ้าของที่ดิน เจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่รู้กี่ราย” ผศ. ดร.นิรมลเล่า

การออกแบบโปรเจกต์นี้เริ่มจากทีมสถาปนิกผังเมืองหรือตัว UddC เองที่เป็นผู้ศึกษา วิเคราะห์พื้นที่ เพื่อสร้างโจทย์และกำหนดหลักเกณฑ์ในการออกแบบต่างๆ ผ่านการร่วมหารือกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดและความต้องการของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสำนักผังเมือง กทม.ผู้ผลักดันโครงการ กรมทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน กรมทางหลวงชนบทในฐานะผู้บำรุงรักษาสะพานพระปกเกล้า กรมเจ้าท่าที่ดูแลท่าเรือด้านล่าง และยังจัดประชาพิจารณ์อีกหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งการพูดคุยกันในระดับนี้ถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา

“โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญ เป็น break through ของการทำงานบูรณาการกันหลายๆ ฝ่าย และเป็นเชิงสัญลักษณ์ด้วย เพราะจากสะพานที่เคยด้วนก็งอกเงยขึ้นมา เชื่อมพันธมิตรการพัฒนาจากสองฝั่ง ต้องขอบคุณทาง กทม.ที่เล็งเห็นศักยภาพของโครงการ แล้วก็ขอบคุณกรมทางหลวงชนบทที่มีวิสัยทัศน์ ยอมให้เราใช้พื้นที่ของเขา” ผศ. ดร.นิรมลกล่าว

เมื่อได้โจทย์จากทางสถาปนิกผังเมือง พาร์ตเนอร์อย่างทีมสถาปนิกจาก N7A และทีมภูมิสถาปนิกจาก Landprocess ก็จะนำมาออกแบบต่อ

แนวคิดในการออกแบบหลักคือ ใช้การยกระดับทางเดิน ทำให้เห็นถึงมุมมองต่างๆ ของเมือง แยกระดับชัดเจนจากถนน โดยอิงเส้นสายมาจากรูปร่างของสะพานพุทธ และไม่ได้เป็นทางตรงยาว แต่มีการเยื้องเฉียงไปด้านข้างและปลูกต้นไม้ใหญ่ตามแนวกลางโครงสร้างเพื่อให้ร่มเงา โดยมีจุดชมวิวทั้งหมด 3 จุด คือวัดประยุรวงศาวาส สะพานพุทธ สาทร แต่ละจุดจัดสวนเป็น 3 บรรยากาศที่แตกต่างกัน และใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติดูดเสียงเพื่อลดเสียงรบกวนจากรถยนต์

“เราอยากให้เดินอ้อยอิ่งกันนิดหนึ่ง มีหลายบรรยากาศ ไม่ได้เดินจากจุดตั้งต้นเพื่อไปให้ถึงจุดหมายอย่างเดียว แต่อยากให้ใช้เวลากับมัน แวะนั่งพัก มีจุดชมวิว” ปิยาเล่า

ใครกำลังรีบหรือไม่อยากเดินขึ้นสเตปก็ไม่ต้องห่วง เพราะพระปกเกล้าสกายปาร์คแห่งนี้ไม่ได้บังคับให้ทุกคนเดินขึ้นสเตปเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีทางเดินชั้นล่างที่เป็นทางราบให้เดินได้เช่นกัน แถมยังได้ร่มเงาจากทางเดินชั้นบนมาทำให้ไม่ร้อนจนเกินไปอีกด้วย

ส่วนนักปั่นจักรยาน ระยะทาง 280 เมตรอาจไม่ใช่ระยะทางที่ปั่นสนุกเท่าไหร่ จึงเน้นให้คนเดินเข็นจักรยานขณะใช้สะพาน แล้วค่อยไปปั่นต่อตามเส้นทางที่เหมาะสมอีกทีจะดีกว่า

เมื่อได้งานออกแบบมาแล้ว ก็เป็นบทบาทของวิศวกรในการคำนวณโครงสร้างและทำแบบก่อสร้าง ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็มีการปรับแก้หลายหนเพื่อให้เป็นที่พึงพอใจและสบายใจกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและโครงสร้างทางวิศวกรรมต่างๆ ที่มีการตรวจสอบแก้ไขกันอย่างละเอียดยิบ

และไม่นานมานี้ พระปกเกล้าสกายปาร์คก็ทำการประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อย โดยมีกำหนดก่อสร้างเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม

หากไม่มีอะไรผิดพลาด ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า เราจะได้เดินทอดน่องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปด้วยกัน

“สะพานในปัจจุบันไม่มีที่ให้หยุดทำอะไรทั้งสิ้น พื้นที่สาธารณะก็สภาพอย่างที่เห็น” ผศ. ดร.นิรมลว่า

“เมื่อสร้างเสร็จ สะพานนี้จะอยู่เหนือแม่น้ำ ลมเย็น เดินแล้วได้หยุดชื่นชมความงามของเมืองตอนกลางคืน โรแมนติกนะ”

AUTHOR