ศรภัทร ภัทราคร : สถาปนิกผู้สร้างงานศิลปะจากแสง ที่ว่าง และระยะทางถึงดวงอาทิตย์

Highlights

  • ศรภัทร ภัทราคร คือสถาปนิกและศิลปินที่ถนัดสร้างงานศิลปะล้ำๆ ด้วยแสง เงา และที่ว่าง เช่น นิทรรศการ Here and Now  ที่เขาใช้แสงสร้างเป็นภาพกำแพงหอศิลป์ขึ้นมา หรือนิทรรศการ Behind Time ที่ใช้แสงส่องเป็นขั้นบันไดเพื่อแปลงพื้นที่แกลเลอรีให้มีความเป็นห้องใต้บันไดในบ้าน
  • งานของศรภัทรมักตั้งคำถามกับโลกรอบตัว เช่น เส้นแบ่งของความจริง-ความลวง มิติเวลาที่เรารับรู้ หรือกระทั่งความหมายและความเป็นไปได้ของงานศิลปะ

ปกติแล้วศิลปินหรือคนทำงานศิลปะที่เราคุ้นเคยมักจะเรียนด้านศิลปะมาโดยตรง หากแต่ในช่วงหลัง ศิลปินที่เราเห็นหลายคนก็เริ่มเรียนรู้การทำงานศิลปะด้วยตัวเอง หรือบ้างเรียนจบมาจากสายอื่นแต่เปลี่ยนเส้นทางมาทำงานศิลปะก็ยังมี

ในบรรดานั้นมีชายหนุ่มผู้หนึ่งที่ร่ำเรียนมาทางด้านสถาปัตยกรรมซึ่งน่าจะออกไปออกแบบอาคารบ้านเรือนหรือหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์มากกว่า กลับกันเขากลับหลงใหลในการทำงานศิลปะเพื่อจัดแสดงในแกลเลอรีจนหันเหมาเป็นคนทำงานศิลปะร่วมสมัยเต็มตัวแทน 

ชายหนุ่มผู้นี้มีชื่อว่า ศรภัทร ภัทราคร

ศรภัทร ภัทราคร

ครั้งแรกที่เราได้ชมงานศิลปะของเขาคือในนิทรรศการ PostScripts ของกลุ่ม Charoen Contemporaries ที่อาคารไปรษณียาคารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะร่วมสมัย Bangkok Biennial 2018 ผลงานชิ้นนั้นเป็นการจัดวางเชิงสถาปัตยกรรมด้วยวัตถุที่ทำจากเหล็กและกระจกเงาอันซับซ้อนละเอียดอ่อน เล่นกับปฏิกิริยาของแสงและเงาสะท้อนอย่างชาญฉลาด 

จากงานครั้งนั้น แสง เงา และพื้นที่ก็กลายเป็นองค์ประกอบหลักในงานสุดล้ำของศรภัทร เช่น ใน  ‘Here and Now’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาในโครงการ BRANDNEW 2019 เขาลงมือเปลี่ยนพื้นที่สีเหลี่ยมสีขาวของหอศิลป์ให้มืดมิดราวกับห้วงอวกาศอันไร้ขอบเขต เรืองรองด้วยโครงสร้างที่เกิดจากการผสานตัวของแสง รูปทรง และหมอกควัน กระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามกับความจริงและความลวง ในห้องประชุมใกล้กัน เขายังสร้างงานศิลปะ ‘Now, Here and Elsewhere’ ที่เกิดขึ้นจากแสงอาทิตย์ หมอกควัน และพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม เปลี่ยนปรากฏการณ์ธรรมชาติธรรมดาให้เป็นงานศิลปะขึ้นมา

ศรภัทร ภัทราคร

ศรภัทร ภัทราคร

Here and Now / Courtesy of Kornthanat Pipat

ล่าสุด เราได้ชมผลงานของเขาในนิทรรศการ Behind Time ที่ Gallery VER Project Room คราวนี้เขาทำงานคู่กับ ฐิติรัตน์ สกุลตันติเมธา เพื่อนำเสนองานศิลปะจากไม้ อากาศ และแน่นอนว่าจากแสงและพื้นที่ว่างอันเป็นเอกลักษณ์ของศรภัทรเช่นเคย

ด้วยเรามีโอกาสได้พบและพูดคุยกับเขาในนิทรรศการสองครั้งล่าสุดเลยขอเอาบทสนทนามาฝากทุกคนเพื่อเป็นการแนะนำให้รู้จักสถาปนิกผู้ผันตัวมาเป็นศิลปินร่วมสมัยผู้นี้

ศรภัทร ภัทราคร

 

งาน Here and Now ในโครงการ BRANDNEW 2019 ของคุณเล่าเรื่องอะไร

เป็นเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่เป็นหลัก เดิมทีผมเป็นสถาปนิกก็เลยติดนิสัยชอบเริ่มทำงานจากบริบทแวดล้อม พอได้สถานที่แสดงงานที่แกลเลอรีนี้ บริบทของสถานที่ก็เลยกลายเป็นโจทย์ในการทำงาน

เริ่มแรกผมก็ไปศึกษาทฤษฎีของนักคิดหลายๆ คน เช่น Brian O’Doherty (นักวิชาการและนักวิจารณ์ศิลปะผู้เขียนหนังสือ Inside the White Cube: The Ideology of the Gallery Space, 1976) Plato และ Ludwig Wittgenstein เพื่อศึกษาประเด็นว่าพื้นที่แสดงศิลปะผ่านอะไรมาบ้างจนมาถึงจุดที่กลายเป็นห้องสีขาวโล่งๆ หรือ white cube แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ผมก็เลยตั้งใจทำงานให้ขับเน้นไปที่สเปซที่เป็นกำแพงสีขาว โดยแยกความรู้สึกของกำแพงสีขาวในฐานะที่เป็น visual perception (การรับรู้ทางสายตา) ออกจากองค์ประกอบด้านอื่นๆ เช่น น้ำหนัก ปริมาตร วัสดุ (ในการก่อสร้าง) และอื่นๆ 

 

คุณเลยทาสีดำทั้งห้องและใช้แสงสร้างกำแพงที่เห็นเป็นสีขาวแต่จับต้องไม่ได้ใช่ไหม

จริงๆ ทาสีเทาครับแต่พอมืดแล้วจะมองเห็นเป็นสีดำ ที่ทำแบบนี้เพราะผมตั้งใจสร้างกำแพงด้วยแสงสีขาวให้เป็นกำแพงที่เกิดจากสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ สามารถรับรู้ได้ทางสายตาเท่านั้น

ศรภัทร ภัทราคร

Here and Now / Courtesy of Kornthanat Pipat

หมายความว่าคุณต้องการทำลายความเป็น white cube ของหอศิลป์เหรอ

เรียกว่าทำลายไหม ส่วนตัวผมรู้สึกว่าไม่ว่าพื้นที่สีขาวจะถูกตัดบริบททุกอย่างออกไปยังไงก็ตาม แต่บริบทสุดท้ายของหอศิลป์ที่ยังเหลืออยู่ก็คือคนดู ผมก็เลยสนใจที่จะสร้างงานเพื่อสำรวจว่าคนจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับพื้นที่ยังไงถ้าเราสร้างพื้นที่ให้เป็นแค่พื้นที่ว่างที่จับต้องไม่ได้เท่านั้น

 

นอกจากปฏิกิริยาของคน งานของคุณตั้งใจสำรวจประเด็นอะไรบ้าง

ผมอยากสำรวจคำว่ากรอบ โดยในงานจะมีแสงที่เป็นช่องเหมือนกรอบหน้าต่าง เป็นเหมือนการสำรวจพื้นที่ระหว่างกรอบที่เป็นกรอบของภาพวาดกับกรอบของหน้าต่างที่เรามองออกไปข้างนอก กรอบที่แขวนเรียงกันเป็นแนวตั้งเป็นเหมือนเสาที่ประกอบขึ้นจากกรอบและแสง ส่วนเมื่อคิดถึงบริบทของหอศิลป์ที่ต้องมีพื้นที่เก็บของ ผมเลยทำงานออกมาในลักษณะที่เหมือนเฟรมเพนติ้งหรือกรอบรูปที่ถูกเก็บเรียงเอาไว้ 

พอสำรวจความเป็นกรอบ ผมก็สนใจที่จะสำรวจว่าอะไรคือกรอบของศิลปะบ้าง อย่างแรกคือคำว่า ‘กรอบ’ ตรงตามตัวอักษรเลยว่าภาพวาดทุกภาพต้องมีกรอบหรือโครงขึงผ้าใบ อย่างที่สองคือสเปซหรือพื้นที่ที่ทำหน้าที่เป็นกรอบให้งานศิลปะ หมายถึงถ้าเราเอาวัตถุหรือสิ่งของอะไรเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ว่าก็จะถูกกลายสภาพเป็นศิลปะไปได้ อย่างที่สามคือความหมายที่เราให้กับมัน พอเราเรียกวัตถุหรือสิ่งของเหล่านั้นว่าเป็นศิลปะ เราก็จะมองในกรอบอีกแบบหนึ่ง งานชุดนี้คือความพยายามในการสำรวจกรอบต่างๆ เหล่านี้

ศรภัทร ภัทราคร

Here and Now / Courtesy of Kornthanat Pipat

ขณะเดียวกัน งานที่ชื่อ Now, Here and Elsewhere เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

งานนี้เป็นศิลปะแสดงสดที่เกิดจากเครื่องปล่อยหมอกกับแสงอาทิตย์ ในงานก่อนชุดหน้านี้ที่ผมทำในนิทรรศการ PostScripts ผมใช้กระจกสะท้อนแสงอาทิตย์ให้ทะลุตึกไป อิงจากบริบทของตัวตึกไปรษณียาคารที่มีความบางจากการถูกทุบทิ้งและจำลองขึ้นใหม่ให้หน้าตาคล้ายของเดิม และในอนาคตมันจะถูกทุบทิ้งอีกครั้งแล้วสร้างให้ใหญ่ขึ้น 

ส่วนบริบทของ Now, Here and Elsewhere ผมจำลองกำแพงของแกลเลอรีขึ้นมาด้วยแสงเช่นกัน แต่ใช้แสงอาทิตย์ที่เรากะเกณฑ์และคาดการณ์ไม่ได้ เช่น ถ้าท้องฟ้ามีเมฆมากและแสงไม่ลอดเข้ามาก็จะไม่เกิดแสงที่ทำให้เกิดกำแพง ทำให้เป็นงานที่เห็นได้ในเฉพาะบางเวลาเท่านั้น งานในห้องนี้จะตรงกันข้ามกับ Here and Now โดยสิ้นเชิง เพราะในห้องนั้น เราควบคุมความมืดและแสงได้ ทำให้เหมือนถูกตัดขาดจากภายนอก ซึ่งก็มีบริบทที่ต้องเป็นแบบนั้นคือความเป็น white cube ที่ตัดขาดจากบริบทภายนอก

 

หมายความว่า Now, Here and Elsewhere เป็นศิลปะแสดงสดที่ไม่ได้เกิดจากการแสดงของคุณ แต่ใช้เครื่องมือและแสงอาทิตย์เป็นตัวสร้างการแสดงสดขึ้นมา

ใช่ครับ การแสดงจะเกิดจากแสงอาทิตย์ หมอกควัน และช่องว่างที่เกิดจากผ้าม่านซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในห้องประชุมนี้ คือผมมักจะมีคำถามเกี่ยวกับประเด็นที่ว่ามนุษย์เรามีกรอบความคิดในการนิยามสิ่งหนึ่งโดยตัดขาดออกจากบริบทแวดล้อมหรือสิ่งที่อยู่เคียงข้างกัน มุมมองแบบนี้ปรากฏอย่างชัดเจนในโลกศิลปะ ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราเขียนคำอธิบายขนาดของผลงาน องค์ประกอบอย่างอื่นโดยรอบกลับไม่ถูกถือว่าเป็นตัวงาน แต่สำหรับงานแสดงสด Now, Here and Elsewhere ของผมชุดนี้กลับรวมเอาสภาพแวดล้อมที่เป็นแสงอาทิตย์เอาไว้ด้วย เพระฉะนั้นถ้าจะถามว่างานนี้มีขนาดเท่าไหร่ เราก็อาจจะตีความได้ว่า มีขนาดจากพื้นที่ในห้องนี้ไปจนถึงดวงอาทิตย์

 

เพราะคุณรวมแสงอาทิตย์เป็นงานของคุณด้วย

ใช่

Now, Here and Elsewhere / Courtesy of Sornrapat Patharakorn

ในขณะที่งานชุด Here and Now ก็รวมเงาและความมืดเป็นงานด้วยเหมือนกันหรือเปล่า

ใช่ เพียงแต่ในห้องที่แสดงงาน Here and Now มีหลายๆ อย่างที่ตรงข้ามกับงาน Now, Here and Elsewhere คือทุกอย่างถูกควบคุม เป็นห้องที่เหมือนไม่มีเวลาไม่ว่าจะตอนไหนก็ตาม

 

องค์ประกอบอีกอย่างในงาน Here and Now ที่น่าสนใจก็คือ กรอบกระจกที่เวลาเรามองแล้วเหมือนมีความลึกลงไป แต่พอมองข้างใต้กลับว่างเปล่า นั่นมีความหมายอย่างไร

งานชุดนี้ของผมเกิดจากการค้นคว้าเกี่ยวกับทฤษฎีควอนตัม ผมรู้สึกว่าตัวเองมักจะตั้งคำถามกับความจริงเสมอ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่มีสื่อต่างๆ ที่ท้าทายการรับรู้ความจริงของเราตลอดเวลา ผมสงสัยว่าอะไรคือความจริงและเรารับรู้มันยังไง ผมคิดว่ามีความจริงมากกว่าหนึ่งชุดที่เราสามารถจะรับรู้แบบนี้หรือรับรู้แบบอื่นก็ได้

แล้วงานในนิทรรศการ Behind Time ที่ Gallery VER Project Room ล่ะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับแสงอีกไหม

ใช่ครับ งานชุดนี้เป็นการใช้แสงสร้างพื้นที่ เช่นเคย ผมเริ่มคิดจากบริบทของพื้นที่ในห้องแสดงงานของ Gallery VER Project Room ก่อน โดยผมคุยกับพี่เต้–จิรัสย์ รัฐวงศ์จิรกุล (ผู้อำนวยการ Gallery VER) ถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตรงนี้ เขาเล่าว่าเมื่อก่อนที่นี่เคยเป็นโรงเลื่อยไม้ ห้อง Project Room ที่เราจะใช้จัดแสดงเป็นห้องเก็บไม้ แถมห้องข้างๆ ในปัจจุบันก็เป็นห้องเก็บของด้วย ผมเลยนึกถึงพื้นที่ห้องใต้บันไดขึ้นมาเพราะว่าอาคารบ้านเรือนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ห้องใต้บันไดชั้นล่างสุดมักเป็นพื้นที่เก็บสิ่งของที่ไม่ได้หยิบบ่อยๆ 

ผมสนใจพื้นที่แบบนี้เพราะบางทีของที่ถูกเก็บไว้มักเป็นของจากอดีตที่เราคิดว่าเราจะได้ใช้อีกในอนาคต อยู่ในนั้นไปข้ามวันข้ามคืน จนกลายเป็นเหมือนพื้นที่ของอดีตกับอนาคตโดยที่ไม่มีปัจจุบันอยู่ในนั้น 

ไม้ที่เอามาใช้ประกอบในงานนี้ เป็นเศษหัวไม้ที่เกิดจากการเลื่อยไม้ที่โรงไม้ของคุณตาของเทียน (ฐิติรัตน์ สกุลตันติ) แฟนของผมซึ่งแต่ก่อนเป็นธุรกิจที่หล่อเลี้ยงครอบครัวของเทียนแต่ว่าตอนนี้ธุรกิจซบเซาไปแล้ว ทางบ้านเขาก็คิดอยู่ว่าจะทำต่อหรือเขาจะเลิกดี ไม้ก็เลยแค่ถูกเก็บกองไว้ไปวันๆ เราก็ไปขอหัวไม้พวกนี้มาต่อเป็นรูปทรงที่สัมพันธ์กับแสงของเครื่องฉายโปรเจกเตอร์ เวลาที่เครื่องฉายโปรเจกเตอร์ฉายแสงขึ้นลงมันจะเปลี่ยนสเปซในห้องนั้นด้วยรูปทรงของบันไดเหมือนเวลาที่เราได้แวะเวียนเข้าไปในพื้นที่เก็บของใต้บันไดเหล่านั้น

Behind Time

คุณมีงานอื่นที่ทำร่วมกันอีก งานนั้นเกี่ยวกับอะไร

นิทรรศการนั้นจัดแสดงที่หอศิลป์ Tentacles ชื่อว่า Fallen Cycle เป็นการแสดงใบไม้ที่ทำจากดินเผา มีบทกวีบนแผ่นกระดาษที่ถูกฉลุ แล้วก็เอาตัวอักษรที่ได้จากการฉลุมาจัดเรียงเป็นบทกวีใหม่ ทั้งหมดเล่าเรื่องเกี่ยวกับวัฏจักรความเปลี่ยนแปลง เพราะบทกวีที่เรานำมาใช้ดั้งเดิมแต่งโดยพระเซนชาวญี่ปุ่นชื่อ Gozan ก่อนที่เขาจะตาย เขียนไว้ว่า “หิมะที่ร่วงโรยเมื่อวาน เหมือนกลีบซากุระที่กลับไปเป็นน้ำอีกครั้ง” งานชุดนั้นเลยมีอารมณ์อ่อนไหวนิดหน่อย เพราะเรารู้สึกว่าบางทีวัฏจักรไม่ได้กลับไปเป็นเหมือนเดิมเสมอไป 

ด้วยคอนเซปต์นี้เราเลยเอาตัวอักษรที่ฉลุมาเรียงใหม่เป็นข้อความที่บอกใบ้ถึงการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ในการกลับไปที่เดิม เรารื้อสร้างบริบทใหม่ว่าเดิมทีใบไม้ร่วงในป่านานไปก็กลับกลายเป็นดิน เป็นต้นไม้ และกลับไปเป็นใบไม้อีกที เป็นวัฏจักรที่สมบูรณ์ แต่ใบไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ในเมืองนั้นกลับกลายเป็นขยะ เป็นอย่างอื่น ส่วนใบไม้ในงานชุดนี้ถึงจะทำจากดินก็จริงแต่พอเป็นใบไม้ศิลปะที่ร่วงอยู่ที่ใต้หลังคาก็กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้กลับไปสู่วัฏจักรเดิมอย่างที่เป็น

 

คุณดูจริงจังกับงานศิลปะมาก พอหันกลับมาทำงานศิลปะแบบนี้แล้ว คุณยังอยากกลับไปทำงานสถาปัตยกรรมอีกไหม

ผมไม่ได้ทํางานสถาปัตยกรรมมานานแล้วครับ แต่งานศิลปะที่ทำก็ยังมีความข้องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและผมก็ยังผูกพันกับมันอยู่เสมอ ตอนผมเริ่มทำงานศิลปะ ผมเริ่มจากการได้ลองออกแบบนิทรรศการให้ศิลปิน Brand New ในปี 2015 หลังจากนั้นอาจารย์เถกิง พัฒโนภาษ กับอาจารย์อภิสิทธิ์ หนองบัว เขาก็ให้ผมไปเป็นผู้ช่วยสอนวิชาศิลปะร่วมสมัย มันทำให้ผมได้เรียนรู้และได้พบว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราสนใจ เพราะผมคิดว่าการทำงานออกแบบเปรียบเหมือนกระบวนการตอบคําถาม ทําตามโจทย์ แต่ว่าผมรู้สึกว่าผมอยากตั้งใจตั้งคําถามจากการทำงานศิลปะมากกว่า

AUTHOR