60 ปี I วิถี I แสง นิทรรศการของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ ที่บอกเล่ายุคสมัยผ่านการถ่ายภาพ วิถีชีวิต และแสง

Highlights

  • 60 ปี I วิถี I แสง คือนิทรรศการภาพถ่ายครั้งใหญ่ของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวาระครบรอบ 60 ปีของสมาคมฯ ที่รวบรวมผลงานของสมาชิกตั้งแต่รุ่นใหญ่ระดับศิลปินแห่งชาติไปจนถึงรุ่นใหม่มาแรง
  • ภายในงานประกอบด้วยภาพถ่ายกว่า 262 ภาพ จากฝีมือศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) จำนวน 6 ท่าน และสมาชิกคนอื่นๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมฯ เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระสำคัญและบันทึกไว้เป็นแหล่งข้อมูลแก่คนรุ่นหลังให้ได้ย้อนกลับมาศึกษาความคิด มุมมอง และจินตนาการ ผ่านเลนส์ที่มีต่อสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมในประเทศไทย
  • จุดประสงค์ของนิทรรศการนี้คือ การเปิดบ้านสมาคมฯ เพื่อต้อนรับเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจการถ่ายภาพให้เข้ามาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับช่างภาพในสมาคมฯ และพัฒนาวงการถ่ายภาพให้ก้าวหน้าสู่ระดับสากล

น้อยคนคงจะรู้ว่านอกจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) จะเป็นศูนย์กลางของศิลปินและงานศิลปะไทยแล้ว ที่นี่ยังเป็น art hub แหล่งรวมสถานที่เจ๋งๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะแขนงต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

แม้ฉันเองจะเคยเดินผ่านห้องของสมาคมบ่อยๆ แต่ก็ไม่เคยคิดแวะเวียนเข้าไปทำความรู้จักกับที่นี่ จนกระทั่งเห็นข่าว 60 ปี I วิถี I แสง (60 Years of Capturing the Light) นิทรรศการภาพถ่ายครั้งใหญ่ในวาระครบรอบ 60 ปีของสมาคมฯ ที่รวบรวมผลงานของสมาชิกตั้งแต่รุ่นใหญ่ระดับศิลปินแห่งชาติไปจนถึงรุ่นใหม่มาแรง

ภายในงานประกอบด้วยภาพถ่ายจำนวน 262 ภาพ จากฝีมือศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) จำนวน 6 ท่าน และสมาชิกคนอื่นๆ ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งสมาคมฯ เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระสำคัญและบันทึกไว้เป็นแหล่งข้อมูลแก่คนรุ่นหลังให้ได้ย้อนกลับมาศึกษาความคิด มุมมอง และจินตนาการ ผ่านเลนส์ที่มีต่อสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมในประเทศไทย

ในการนี้ สมาคมฯ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เพื่อร่วมแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย

ก่อนเริ่มชมนิทรรศการ สารภาพตามตรงว่าฉันคิดถึงแต่ภาพถ่ายยุคเก่าแบบที่เคยเห็นบ่อยๆ ตามสื่อกระแสหลัก ทว่าเมื่อได้พูดคุยกับ ดาว วาสิกศิริ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเดินชมผลงานพร้อมฟังแนวคิดการจัดเรียงภาพถ่ายในนิทรรศการจาก ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ ประธานจัดงานครั้งนี้ ความคิดของฉันที่มีต่อสมาคมฯ ก็เปลี่ยนไป

60 ปีแห่งสมาคมฯ

สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 โดยกลุ่มคนผู้มีใจรักในการถ่ายภาพและอยากขับเคลื่อนพัฒนาวงการถ่ายภาพไทยสู่ความเป็นสากล ได้แก่ รัตน์ เปสตันยี, ม.ร.ว.จักรทอง ทองใหญ่, เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่, ที. เอ็ม. คริสเตียนเสน ฯลฯ

ภายหลังก่อตั้งได้ 2 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงรับสมาคมฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์’ ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีสมาคมฯ สร้างผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการสร้างบุคลากรและการกระตุ้นให้เกิดมาตรฐานวิชาชีพภาพถ่าย

“สมาคมฯ พยายามพัฒนาวงการถ่ายภาพอยู่เรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง ไม่ใช่เฉพาะกับสมาชิกแต่รวมไปถึงคนทั่วไป ที่ผ่านมาเราพยายามผลักดันสมาคมฯ ให้ไปในระดับอินเตอร์ ให้ต่างชาติได้รู้จักสมาคมฯ มากขึ้น เพราะเมืองนอกมีสมาคมฯ ที่เป็นเครือข่ายกันประมาณ 80 กว่าสมาคมเชื่อมต่อกันอยู่ เราอยากให้ชื่อเราอยู่ในลำดับต้นๆ ที่คนพูดถึง” นายกสมาคมฯ คนปัจจุบันเล่าถึงความตั้งใจ

ด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจวงการถ่ายภาพกันมากขึ้น ดาวในฐานะที่เป็นทั้งช่างภาพและคนทำงานส่งเสริมวงการนี้จึงอยากปรับตัวเพื่อเปิดรับคลื่นลูกใหม่

“ตอนนี้อยากให้น้องๆ ตามมหาวิทยาลัย หรือเด็กๆ ที่เพิ่งจับกล้องเรียนรู้เข้ามาเป็นสมาชิกสมาคมฯ เพราะที่นี่เป็นเวทีแลกเปลี่ยน แชร์ประสบการณ์และรับฟังความคิดเห็นของช่างภาพท่านอื่นๆ เราเชิญผู้ใหญ่ผู้อาวุโสที่อยู่ในสมาคมฯ ช่างภาพผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ช่างภาพชื่อดังระดับโลก มาบรรยาย เชิญคิวเรเตอร์จากต่างประเทศที่คิวเรตงานภาพถ่าย รวมถึงนักสะสมงานภาพถ่าย ที่สะสมงานไว้มากที่สุดในโลก มาพูดคุยกับสมาชิก”

ด้วยเหตุนี้บวกกับวาระครบรอบ 60 ปี สมาคมฯ จึงจัดนิทรรศการใหญ่ที่รวบรวมผลงานภาพถ่ายของหลากหลายศิลปิน ทั้งยังมีการเสวนาและกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมาย อย่างกิจกรรม Walkie Talkie ที่แจกโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมออกไปเดินถ่ายภาพและนำเสนอเป็นเซต 3 ใบ เพื่อโฟกัสเรื่องกระบวนการคิดและการอธิบายงาน

“การถ่ายภาพมันเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ (analytical process) คุณออกไปข้างนอกปุ๊บมันมีเป็นล้านๆ เรื่อง ในฐานะช่างภาพที่จะเล่าเรื่อง คุณต้องวิเคราะห์ว่าจะเล่าเรื่องอะไร คุณสนใจอะไร ถ้าคุณอธิบายไม่ได้ แล้วใครจะอธิบายได้ว่าคุณกำลังคิดหรืออยากบันทึกอะไร เพราะถ่ายภาพมามันก็เป็นประวัติศาสตร์ ตอนที่คุณกดชัตเตอร์มันเป็นการช่วยหยุดเวลาและบันทึกเหตุการณ์ คุณต้องอธิบายให้ได้ว่าต้องการอะไร ผมไม่ได้หมายความว่าทุกรูปต้องสวย บางครั้งมันไม่จำเป็นต้องสวย มันเป็นเรื่องของคอนเทนต์ ถ้าคุณถ่ายรูปที่ไม่สวยคุณตั้งใจไหม ถ้าตั้งใจว่าไม่ให้สวย คุณก็ต้องอธิบายได้ว่าทำไมต้องไม่สวย

“สมมติออกไปกดชัตเตอร์แบบไม่ได้คิดอะไรเลย แต่มีนวัตกรรมและเทคนิคอย่าง Photoshop หรือ Lightroom ที่ทำให้ภาพสวยดูดี สำหรับผมคิดว่ามันไม่มีความหมายอะไรถ้าไม่มีคอนเทนต์ สังเกตว่ารูปสวยมันเกิดอิมแพกต์ในตอนแรกที่ดู แล้วหลังจากนั้นเราอาจจะลืมมันไป ไม่กลับมาดูอีก แต่ถ้ามีอะไรที่ดูซับซ้อนหรือมีเรื่องราวเยอะ แม้ภาพจะไม่สวย แต่กลับมาดูกี่รอบๆ ก็จะมีข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นมาเรื่อยๆ มันมีซับเจกต์ที่ซ้อนกันอยู่ มีความลึกของความคิด ซึ่งคอนเทนต์และกระบวนการคิดแบบนี้คือสิ่งที่เราอยากเติมให้เด็กรุ่นใหม่ที่มีทักษะถ่ายภาพดีอยู่แล้ว”

60 ปีแห่งวิถีชีวิต

หลังจากพูดคุยกับนายกสมาคมฯ ประธานจัดงานครั้งนี้ก็รับช่วงพาฉันเดินชมนิทรรศการที่เขาตั้งชื่อและจัดเรียงภาพถ่ายด้วยตัวเองทั้งหมด ซึ่งความยากที่สุดสำหรับตุลย์คือการเล่าเรื่องทั้ง 60 ปีของสมาคมฯ ผ่านภาพถ่ายที่สะท้อนวิถีชีวิตของสังคมไทยให้ครบถ้วนและน่าสนใจ

“ในยุคประวัติศาสตร์ ความสำคัญของภาพถ่ายคือการบันทึกเหตุการณ์สำคัญของประเทศ ซึ่งวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ คือเพื่อสืบสานและเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของประเทศ ฉะนั้นช่วงแรกนิทรรศการจะเล่าเรื่องด้วยภาพถ่ายของศิลปินแห่งชาติกับบุคคลสำคัญในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ อย่างวันคิวเรตผมเลือกรูปที่ทำให้นึกถึงความเป็นไทยอันดับแรกอย่างเรือสุพรรณหงส์ ซึ่งตรงกับพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคช่วงนี้พอดี มันจะมีสถานที่สำคัญของประเทศเราในอดีต นี่คือซิกเนเจอร์ของสมาคมฯ สมัยก่อน”

กิมมิกที่ตุลย์ตั้งใจซ่อนไว้ในนิทรรศการแต่ไม่มีใครทราบคือ ทุก 10 ก้าวเรื่องราวของเซตภาพถ่ายจะเปลี่ยน และทุกภาพใช้วิธีการจัดเรียงด้วยฟอร์มหรือองค์ประกอบบางอย่าง เชื่อมต่อกันทั้งภาพซ้าย-ขวาและภาพบน-ล่าง และหากถอยออกมามองในระยะ 6 ภาพ ทุกภาพจะเชื่อมโยงกันหมด ยกตัวอย่างช่วง hard light, ช่องว่าง หรือมุมกล้อง

“มันเป็นเรื่องวิธีการพรีเซนต์ เพราะสมาคมฯ มักถูกมองว่ามีแต่ภาพแนวเก่า แนว pictorial เราเลยเอาภาพมาเรียงด้วยฟอร์มของมัน ค่อยๆ ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องที่อยู่ในรั้วในวัง เรื่องซีเรียสของคน จนมาถึงวัด แล้วค่อยๆ คลี่คลายออกมา แต่ละรูปมีการร้อยเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งเราคัดจาก 5 ภาพที่ศิลปินส่งมาให้เหลือภาพเดียวโดยคณะกรรมการ 17 คน โดยที่เราไม่รู้เลยว่ามันจะไปอยู่กับใคร แบบไหน เราจัดแค่หมวดหมู่คร่าวๆ เพราะฉะนั้นมันจะมีความหลากหลายมาก เริ่มมีงานที่โมเดิร์นและ contemporary ขึ้น”

ฉันเดินชมภาพถ่ายทั้งหมดที่ค่อยๆ ไล่เรียงยุคสมัยไปสู่ยุคใหม่มากขึ้น โดยมีการกั้นเป็นห้องๆ ตามหมวดหมู่คอนเทนต์ของภาพถ่าย ซึ่งจุดที่ฉันประทับใจคือการนำเสนอแบบไม่เรียงภาพถ่ายตามชื่อเสียงของศิลปิน ทั้งยังผสมผสานภาพถ่ายสีและขาว-ดำเข้าด้วยกันอย่างไม่รู้สึกขัดตา

“ผมคิดเป็นสตอรีไลน์ก่อนเลยว่าอยากจะเล่าความเป็นมา โจทย์มันเหมือนผมกำลังเปิดบ้านเพื่อให้คนรู้จักบ้านหลังนี้ที่อยู่มาเป็นสิบๆ ปีว่ามีความน่าสนใจอะไรบ้าง ต้องเข้าไปถึงห้องที่สำคัญสุดก่อนเพราะรากฐานของเรามาจากสิ่งนี้ แล้วห้องบริวารซ้าย-ขวาเป็นแบบนี้ ห้องน้ำ ห้องกินข้าวเป็นแบบนี้ ในแต่ละโซนกั้นจะมีเรื่องราวทั้งหมด เราอยากให้คนที่ดูรูปไม่ใช่ดูว่ารูปนี้สวยเฉยๆ แล้วจบ อยากให้เขาดูรูปนี้แล้วรู้สึกอะไรหลายๆ อย่าง หรือเห็นภาพแล้วได้แรงบันดาลใจไปทำงาน

“ตอนเซตอัพใช้ทีมเยอะมากเกือบ 20 คน ผมถือพอยเตอร์ชี้เลยว่าภาพนี้อยู่กับภาพนี้ ภาพนี้อยู่บนอยู่ล่างเพื่อให้ต่อเนื่องกัน และเราไม่ได้แยกเป็นห้องขาว-ดำเพราะเชื่อว่าถ้าเรียงแบบนั้นมันจะบังคับสายตาคนดู แต่ถ้าเราใช้ perspective กับจังหวะที่ล้อกัน เราจะรู้สึกว่ามันผสมกันได้ จัดเรียงภาพให้มีการเชื่อมต่อกันโดยไม่สนใจว่าศิลปินท่านไหน big name หรือไม่ในการเลือกลำดับความสำคัญของพื้นที่ แต่เราเล่าจากคอนเทนต์ในรูป เนื่องจากรูปแบบของภาพที่เลือกมามีความทันสมัยและร่วมสมัยขึ้นเยอะ รูปแบบการนำเสนอจึงสำคัญที่สุด เหมือนเราได้วัตถุดิบชั้นเลิศมาปรุงอาหาร ถ้าเราปรุงผิดวิธีมันจะไม่เวิร์กไปเลย”

60 ปีแห่งวิถีแสง

หลังจากเดินชมนิทรรศการทั้งหมดจบ ตุลย์ได้ชี้ชวนให้ฉันดูกราฟิกประจำนิทรรศการ ซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนประกอบภายในกล้องฟิล์มเพื่อเชื่อมต่อความเป็นรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน รวมถึงชื่อนิทรรศการที่เขาตั้งจากองค์ประกอบความเป็นสมาคมฯ

“60 ปี I วิถี I แสง คืองานที่เราพูดถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมทุกอย่าง และแสงคือต้นกำเนิดและวัตถุดิบหลักของช่างภาพที่ใช้ในการบันทึกภาพ กราฟิกที่เห็นคือภาพจริงหัวกลับ ภาพเสมือนหัวตั้ง ซึ่งเป็นเลนส์ของกล้องถ่ายภาพ สัญลักษณ์ขาว-ดำคือ split image ของช่องถ่ายภาพเวลาเราโฟกัส ที่เราทำธีมนี้เพราะยุคนี้เด็กรุ่นใหม่สนใจฟิล์ม เรามองว่านี่คือช่องว่างที่ดีที่สุดที่เราจะเชื่อมมาสเตอร์ที่บันทึกทุกอย่างด้วยฟิล์มกับเด็กยุคใหม่ที่นิยมฟิล์มในปัจจุบัน เราเลยจัดกิจกรรมทอล์กทุกเสาร์-อาทิตย์และช่วงเย็นเอื้อในการที่เราอยากเปิดให้เด็กยุคใหม่เข้ามาเรียนรู้”

ด้วยจุดประสงค์หลักๆ ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของคนรุ่นใหม่มากขึ้น สมาคมฯ จึงอยากถอดสูทที่คนติดภาพความเก่าแก่ออก เพื่อเปิดบ้านต้อนรับคนใหม่ๆ และปรับลุคให้สนุกสนานเฮฮา

“ถ้าให้พูดตามตรง เด็กยุคใหม่ไม่เคยรู้จักเราเลย เราอยากรู้จักเด็กยุคใหม่ แต่เขาจะมีกำแพงตรงที่คิดว่ากลุ่มคนทำงานในสมาคมฯ หรือช่างภาพสายสมาคมฯ ถ่ายรูปเชย จริงๆ มันไม่มีคำว่าเชย มันก็เหมือนแฟชั่น คนมักบอกว่ารูปแนวสมาคมฯ จะเป็นแนวคุณลุงแก่ๆ สูบไปป์ควันโขมง กลับกันถ้าแพตเทิร์นแบบเดียวกันแต่เป็นวัยรุ่นทำ คุณจะรู้สึกถึงความทันสมัยโดยอัตโนมัติ ทั้งที่จริงแล้วเมื่อก่อนสิ่งที่สมาคมฯ ทำคือการสร้างเส้นประฝึกคัดลายมือเพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าการถ่ายภาพเป็นแบบไหน คราวนี้มันก็แล้วแต่ใครจะไปประยุกต์ใช้” ตุลย์ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมฯ อธิบายด้วยรอยยิ้ม

แม้ว่าสมัยนี้จะมี tutorial สอนถ่ายภาพออนไลน์เต็มไปหมด แต่ชายหนุ่มยังเชื่อว่าการเรียนรู้แลกเปลี่ยนระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ทั้งตัวสมาคมฯ เองก็มีบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิและครูบาอาจารย์ด้านการถ่ายภาพที่พร้อมให้ความรู้แบบไม่กั๊ก เขาจึงอยากให้คนรุ่นใหม่กล้าเข้ามาพูดคุยกับบ้านหลังนี้

และเมื่อฉันถามถึงความสำคัญของการจัดนิทรรศการภาพถ่ายท่ามกลางยุคสมัยที่ทุกคนสามารถดูภาพถ่ายผ่านหน้าจอ ตุลย์ผู้ทำหน้าที่คิวเรตงานครั้งนี้ก็ให้คำตอบได้น่าสนใจ

“สิ่งสำคัญที่สุดในการแสดงงานหรือเอางานมาจัดนิทรรศการคือ การประมวลองค์ความรู้หรือประสบการณ์ที่เราทำอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง การที่เราถ่ายภาพภาพเดียวแล้วสวยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย แต่การที่จะร้อยเรียงรูปสวยๆ ทั้งหมดให้เป็นเรื่องราวเดียวกันมันคือการประมวลองค์ความรู้สึกและความรู้ของตัวศิลปินที่บันทึกออกมา นำเสนอผ่านมุมมองของตัวเอง

“ผมจึงอยากสนับสนุนให้คนยุคใหม่ทดลองโพสต์ภาพในเฟซบุ๊กเป็นเซต ลองรวมภาพไปทำในเทมเพลตสักอัน มันจะได้เห็นเป็นหนึ่งวอลล์ของเรา ถือเป็นการทดลองชิมลางได้หลายอย่าง ถ้าเรารู้สึกว่าการจัดนิทรรศการที่เป็นฮาร์ดก๊อบปี้ใช้ต้นทุนเยอะ งั้นลองแบบนี้ดู ถ้ามีต้นทุนดีอาจจะเข้าตาแบรนด์สินค้าหรืออาจมีใครอยากซัพพอร์ตก็ได้ ผมว่ามันเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ ถ้าเรามีวิธีคิดและวิธีเรนเดอร์ภาพของเรา ลองนำเสนอ ลองฝึกดู”

ดังนั้นต่อให้คุณไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพที่อยากศึกษาเทคนิคการถ่ายภาพ แต่อยากมาเรียนรู้วิธีการจัดเรียงชิ้นงานในนิทรรศการนี้ เพื่อปรับใช้กับแนวทางการทำงานของตัวเองตุลย์ก็ไม่ว่ากัน หรือต่อให้คุณแค่มาเดินดูภาพถ่ายเสพความสวยงามเฉยๆ เขาก็แสนจะยินดี

“เราเชื่อว่าในบรรดา 262 ภาพน่าจะมีสักภาพที่จุดประกายผู้ชมให้อยากหยิบกล้องออกไปถ่ายรูป เพราะที่จริงเราไม่ได้สนใจเรื่องใครถ่ายสวยกว่าใคร แต่เราอยากนำเสนอภาพถ่ายที่มีในสมาคมฯ เราอยากเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแรงบันดาลใจให้ใครสักคนหยิบกล้องออกไปถ่ายรูป”


นิทรรศการ 60 ปี I วิถี I แสง จัดแสดงที่ BAB BOX, One Bangkok (ใกล้เอ็มอาร์ทีลุมพินี) จนถึงวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฎฐณิชา สะอิ

เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่รักในการแต่งตัว และหลงใหลการท่องเที่ยวผจญภัยและกล้องฟิล์ม