เมื่อไม่กี่วันก่อน เราได้เห็นโพสต์รีวิวตุ๊กตาอับเฉาตัวจิ๋วแบบต่างๆ ที่กดได้จากตู้กาชาปองที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และเมื่อแวะมาเยี่ยมสถานที่จริงในเช้าวันหยุด เราก็พบคนยืนต่อแถวยาวพร้อมเหรียญที่แลกแล้วในมือ เป็นภาพที่แปลกตาทีเดียวที่ตู้กาชาปองมาอยู่ที่วัดโบราณแห่งนี้ ทั้งที่สองสิ่งนี้ไม่น่าจะโคจรมาเจอกันได้ แต่ก็เช่นเดียวกับหลายสิ่งในโลกที่มาพบกันเพราะมีศิลปะเป็นสะพาน
ตู้กาชาปองที่ว่า เป็นงานศิลปะหนึ่งในสามชิ้นของ คมกฤษ เทพเทียน ศิลปินอิสระและอาจารย์สาขาประติมากรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้มีองค์ประกอบสองอย่างในผลงานที่เรียกได้ว่ามาจากคนละทิศทางอย่างน่าสนใจ คือ ‘ของเล่น’ และ ‘รูปเคารพ’
เรานั่งลงคุยกันที่ศาลาริมน้ำในบริเวณวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นทั้งโจทย์และแรงบันดาลใจของการทำงานในเทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale 2018 ครั้งนี้ โดยมีแถวผู้ที่มาหยอดเหรียญตู้กาชาปองอับเฉาและกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาถ่ายรูปกับประติมากรรม ‘สองเกลอ’ (Giant Twins) และ ‘ครุฑ’ ของเขาเป็นฉากหลัง
แต่ก่อนที่จะพูดถึงผลงานซึ่งเป็นผลผลิตจากการโคจรมาพบกันของศิลปินและสถานที่ เราเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญและน่าสนใจไม่แพ้กันคือจุดเริ่มต้นของศิลปิน ผู้สร้างสรรค์สิ่งที่เราเห็นตรงหน้า
คมกฤษเล่าว่าเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกเรียนศิลปะ อาจเป็นเพราะของเล่นและพระเครื่อง
“ผมเป็นคนสุพรรณบุรี พูดง่ายๆ ว่าย่านที่เติบโตมาเป็นชุมชนชาวพุทธ ผมเข้าวัดตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่จำความได้ก็อยู่แผงพระเครื่องกับพ่อ จนเราชอบสะสมพระเครื่อง แต่ว่าในทางกลับกัน ผมก็โตมาพร้อมกับขนมที่มีของเล่นแถมมาด้วย มันจะมีขนมที่แถมของเล่นในซอง ถุงละห้าบาท เราก็เพิ่งมาเข้าใจตอนโตว่าทำไมงานของเราถึงเป็นอย่างนี้ ก็เพราะเราสนใจสองอย่างนี้พร้อมกันเสมอ วันหนึ่งมันก็มาเจอกันได้พอดี”
และด้วยความชอบในสองสิ่งนี้ทำให้เขาเลือกเรียนประติมากรรมและเลือกเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคประติมากรรมเป็นหลัก
คมกฤษไม่เพียงแต่จำลองพระพุทธรูปหรือของเล่นขึ้นมา แต่เขาสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยการสังเกตสิ่งที่เห็นในปัจจุบันแล้วกลับไปศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ โดยก่อนหน้าเทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale 2018 เขาก็เคยมีสองผลงานที่โดดเด่นมาแล้ว อย่าง ‘Open the World’ ที่เขาสร้างสรรค์ในปี 2560
งานนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความสงสัยที่เห็นพระพุทธรูปเศียรขาดในโบราณสถานเป็นจำนวนมาก ทีแรกเขาสันนิษฐานว่าอาจเป็นปัญหาทางเทคนิคของกระบวนการหล่อพระที่ทำให้ส่วนคอของพระพุทธบอบบางและหักง่ายกว่าจุดอื่น แต่เมื่อค้นคว้าทำให้ทราบว่าเกิดจากการลักลอบตัดเศียรพระพุทธรูปไปขายในต่างประเทศเพื่อเป็นของแต่งบ้านของผู้สะสม ข้อเท็จจริงข้อนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างประติมากรรมไฟเบอร์กลาสเลียนแบบพระพุทธรูปเศียรขาดแล้วนำเลโก้เล็กๆ มาต่อประกอบเติมเต็มส่วนที่ขาดไป
“ผมพยายามจะทำให้เห็นถึงสิ่งที่มันมีคุณค่าแล้วสูญหายไป ทดแทนด้วยสิ่งที่ด้อยค่ากว่า หรือเป็นเหมือนของเล่น” เขากล่าว
ในขณะที่ผลงาน ‘Ganesha’ ผลงานอีกชิ้นจากปีเดียวกัน ที่แม้ตั้งต้นจากความสงสัยในรูปเคารพเหมือนกัน แต่มีจุดหมายต่างกัน เพราะในผลงานนี้ คมกฤษต้องการแสดงให้เห็นถึงการทับซ้อนและเปลี่ยนแปลงเมื่อรูปเคารพเคลื่อนจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่งผ่านพระพิฆเนศ เทพเจ้าที่คมกฤษมองว่าถูกเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตามากที่สุดองค์หนึ่งและยังถูกเสนอผ่านสื่อที่หลากหลาย ตั้งแต่ศิลาหินแกะในศาสนสถานจนมาเป็นแอนิเมชั่นในจอ
“ผมอยากแสดงให้เห็นถึงการทับซ้อนกัน การเปลี่ยนแปลง ผมอยากให้งานชิ้นหนึ่งเล่าถึงการทับซ้อนของรูปแบบที่แตกต่างกันที่เปลี่ยนไปแต่ละยุคสมัย”
จากคำแนะนำและความแม่นยำในการเลือกศิลปินให้ไปพบกับพื้นที่ที่เหมาะสมของ ศ. ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ คิวเรเตอร์ของ Bangkok Art Biennale 2018 คมกฤษเริ่มงานของเขาด้วยความสงสัยและรีเสิร์ชข้อมูลเพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลงานเช่นครั้งก่อนๆ โดยผลงานทั้ง 3 ชิ้น คือ ตู้กาชาปอง ‘อับเฉาไม่อับเฉา’ และประติมากรรม ‘สองเกลอ’ (Giant Twins) และ ‘ครุฑ’ มาจากการรีเสิร์ชอย่างครบถ้วนเพียงชุดเดียวแล้วจึงนำข้อมูลที่ได้มาเล่าในรูปแบบที่แตกต่างกันให้เหมาะกับสิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร
การรีเสิร์ชนี้พุ่งเป้าไปที่อับเฉา ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่าคือของถ่วงเรือสำเภาเพื่อกันเรือโคลง ซึ่งอาจเป็นหินและทราย หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่มีน้ำหนักมาก เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาจีนแต้จิ๋วว่า เอี๊ยบชึง แปลว่า ของหนักที่ใช้ถ่วงใต้ท้องเรือเดินทะเล ในขณะที่ ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่าอับเฉาเป็นสินค้าทั่วไปที่เรือนำมาขายหรือซื้อกลับไป มีหน้าที่หลักคือไว้ค้าขายแสวงหาผลกำไร โดยสินค้าเหล่านั้นทำหน้าที่ถ่วงน้ำหนักเรือเป็นหน้าที่รอง
คมกฤษเล่าให้เราฟังว่า เขาสำรวจอับเฉาในบริเวณวัดจนสามารถแยกออกได้เป็นประเภทใหญ่ 8 ประเภท ได้แก่ ขุนนางทหาร ประกอบไปด้วย ตุ๊กตารูปทหาร ขุนนางฝ่ายพลเรือน ขันที รูปเทพเจ้า และรูปเซียนของจีน โดยตุ๊กตาชุดนี้มีจำนวนทั้งหมด 112 ชิ้น ทหาร มีลักษณะเป็นทหารเรือใส่หมวก ทหารยักษ์ ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าด้านหน้าของพระปรางค์ เป็นดั่งทวารบาลผู้รักษาประตู เทพธิดา ที่วัดอรุณฯ มีเฉพาะบริเวณเจดีย์แปดเหลี่ยมด้านหน้าอุโบสถฝั่งขวา ฮั่นเจ็งหลี เป็นเซียนองค์ที่สองของโป๊ยเซียน
นอกจากหมวดคน ตุ๊กตาอับเฉายังมีสัตว์อย่าง ลิงถือลูกท้อและลูกลิง ในความหมายของชาวจีน หมายถึงการทำงานที่ดี มีความมั่นคง สุขภาพแข็งแรง อายุยืน และในประติมากรรมชิ้นนี้อาจรวมไปถึงการมีบุตรหลานสืบทอดเชื้อสายวงศ์ตระกูลอีกด้วย ครุฑ จัดอยู่ในหมวดหมู่ของอับเฉาที่สั่งทำโดยเฉพาะ และคาดว่าน่าจะมีการทำต้นแบบหรือตัวอย่างส่งไปให้ช่างชาวจีนเป็นผู้แกะสลักตาม และจระเข้ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าศาลาเก๋งจีนท่าน้ำ ผู้สร้างอาจต้องการให้จระเข้เป็นเสมือนผู้เฝ้ารักษาบริเวณท่าน้ำวัดอรุณฯ
อับเฉาทั้ง 8 ประเภท กลายมาเป็นตุ๊กตาอับเฉาจิ๋วที่อยู่ในลูกกาชาปองที่คมกฤษบอกว่าได้รับผลตอบรับเกินคาด เมื่อถามว่าเขาได้ไอเดียกาชาปองมาอย่างไร คมกฤษเล่าให้เราฟังว่า
“กาชาปองมันแวบขึ้นมาครับหลังจากที่ได้รู้พื้นที่ในการทำงานประมาณสองวัน ผมว่าความคิดสร้างสรรค์มันไม่ได้เกิดจากการคิดมาก่อน แต่มันมาจากการที่เราเก็บสั่งสมมามาก่อน แล้ววันหนึ่งพอมันมาเจอโจทย์ที่พอดี มันก็สามารถเล่าเรื่องนั้นได้พอดี”
“กาชาปองเกิดขึ้นในขั้นตอนที่เรามีข้อมูลมหาศาลเลย เราก็เลยคิดว่าจะทำยังไงดีให้คนดูไม่รู้สึกโดนยัดเยียดความรู้ คำว่ากาชาปองเลยถูกใส่เข้ามา โดยเราใช้คิวอาร์โค้ดทำให้ตุ๊กตาแต่ละตัวเป็นเหมือนเป็นมัคคุเทศก์น้อยๆ นำนักท่องเที่ยวชมวัดอรุณฯ ไปดูตุ๊กตาอับเฉาของจริงได้ คราวนี้มันจะไม่ยัดเยียดความรู้ให้คน เพราะคนเขาอยากจะไปดู”
จากตอนแรกที่เขาคิดเพียงอยากให้มีคนร่วมสนุกบ้าง แต่กลับกลายเป็นที่ชื่นชอบจนจำนวนที่จำกัดไว้ว่า 100 ตัวต่อวันนั้นหมดตั้งแต่สองชั่วโมงแรกที่เปิดขาย ต้องจำกัดให้เพียง 5 ลูกต่อคน และคมกฤษยังเพิ่มความสนุกด้วยการเริ่มใส่ rare item ไปอีก 1 แบบเพิ่มจาก 8 แบบเดิม เขายังสำทับด้วยว่า
“เราอยากให้รู้ว่าความจริงกาชาปองเป็นงานแฮนด์เมด เราค่อยๆ ทำ อาจจะไม่ทันใจ ไม่สามารถผลิตได้แบบโรงงาน แต่ก็อยากให้เข้าใจกัน เพราะงานก็จัดอีกนานมากนะครับ (ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562)”
แม้จะใช้ของเล่นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของผลงานมาก่อนแล้ว แต่เราสงสัยว่าเหตุใดครั้งนี้เขาถึงเลือกก้าวข้ามเส้นแบ่งเขตแดนของศิลปะและของเล่นมาไกลกว่าครั้งก่อนๆ และเลือกใช้ตู้กาชาปองมาเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งของเขา
“ความจริงมันเบลอเลือนกันอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วในโลกร่วมสมัยว่าเราจะเอาอะไรมาทำก็ได้ ไม่เฉพาะของเล่น
“เหมือนที่หลายคนเข้าใจว่า เรายิ่งโต เราไม่จำเป็นต้องเลิกเล่นของเล่น ไม่จำเป็นต้องเลิกดูการ์ตูน เราเล่นมันยังไงและดูมันยังไง มันเชื่อมโยงกันหมด ไม่มีอะไรเด็กและไม่มีอะไรผู้ใหญ่ มันเข้าถึงคนง่าย เปลี่ยนของที่ดูดุดัน ดูรุนแรง ให้ซอฟต์ลง การ์ตูนสามารถทำได้ ถ้าเรามองมันเป็นเรื่องของกระบวนการ เราก็จะสนุก
“ที่สำคัญที่สุดคือ เราจะทำงานศิลปะที่เข้าถึงคนง่ายๆ ได้ยังไง ให้เขารู้สึกว่าเขาสนุกที่ได้มา แน่นอนว่าบางครั้งงานของผมเป็นเหมือนสินค้า เป็นเหมือนที่ถ่ายรูป แต่ผมคิดว่ามันไม่ดีเหรอครับที่ศิลปะจะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเขาได้ ในเมื่อทุกวันนี้ทุกคนถ่ายรูปทุกที่ แต่ว่าพอเขาถ่าย เขาอยากจะรู้ว่ามันคืออะไร เรากำลังให้ศิลปะเขาแบบอะลุ้มอล่วย แบบทะนุถนอมกัน ไม่ให้ศิลปะกับของเป็นเป็นคนละชั้น คนละส่วนอย่างที่เคยเป็น”
เมื่อพูดถึงการเบลอเลือน เราสังเกตว่าไม่ใช่เพียงการเบลอเลือนระหว่างของเล่นและศิลปะของตู้กาชาปองเท่านั้น แต่คมกฤษยังเล่าถึงการเบลอเลือนของความเป็นไทยและจีนผ่านประติมากรรม ‘สองเกลอ’ (Giant Twins) แฝดสยามนักรบจีนกับยักษ์ทวารบาลไทย
“งานของผมสื่อว่าวัดอรุณฯ มีศิลปะแบบไทย-จีนผสมกันตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เราจะเห็นว่ามีทั้งสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่ปนกันแบบลงตัว เพราะ ณ ตอนที่วัดอรุณฯ ถูกสร้างขึ้น ประเทศไทยกับจีนมีการค้าขายกันด้วยสำเภาเยอะมากจนเหมือนจะเป็นเกลอ เป็นพี่น้องกัน
“รูปแบบงานผมอ้างอิงถึงแฝดอินจัน เพราะแฝดอินจันก็เกิดในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นลูกของคนจีนที่มาอยู่ในเมืองไทย และดันไปดังในอเมริกา ในนาม Siamese Twin หรือคู่แฝดชาวไทย ดังนั้นคนไทยก็ถูกเบลอเลือนเรื่องความเป็นไทย-จีนมานานมากแล้ว ยิ่งถ้าดูยักษ์ของจริงที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับยักษ์ของผม จะเห็นว่าของจริงกลับดูใหม่มาก เพราะเขากำลังบูรณะอยู่ แต่ผมทำงานให้เป็นคราบเก่าๆ เพราะผมกำลังพูดถึงช่วงเวลาในอดีตที่ไทย-จีนเป็นพี่น้องเหมือนแฝดกัน แยกกันไม่ออก”
ส่วนประติมากรรม ‘ครุฑ’ ซึ่งมีครึ่งบนและครึ่งล่างเป็นครุฑฝีมือการตีความของช่างเมืองจีน แต่ส่วนกลาง (อก) เป็นครุฑกำยำแบบไทย ก็แสดงให้เห็นถึงการเบลอเลือนเช่นกัน เมื่อภาพหรือรูปแบบอย่างหนึ่งเคลื่อนจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง เมื่อนั้นจะเกิดการเบลอเลือนและทับซ้อนขึ้นเป็นสิ่งใหม่
หลังการสัมภาษณ์เสร็จสิ้น เรามองพวงมาลัยกลมหลายพวงที่ถูกวางไว้ที่เท้าของรูปปั้นยักษ์แฝดสยามและปีกของครุฑซึ่งศิลปินบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดอีกอย่างหนึ่งที่มีพวงมาลัยหลายพวงมาปรากฏทุกวัน จากผู้คนที่ให้ความศรัทธากับงานศิลปะร่วมสมัยในฐานะรูปเคารพ
เราออกเดินกลับเข้าไปในวัดเพื่อตามหาตัวจริงที่เป็นต้นแบบของกาชาปองอับเฉาตัวจิ๋ว ซึ่งบ้างก็อยู่ในที่ที่เห็นได้ชัด บ้างก็ต้องตั้งใจหาไม่น้อยเพราะแอบอยู่ในซอกหลืบ เราได้ไปพบหน้าอับเฉาที่เราไม่เคยทำความรู้จักมาก่อน และไม่คิดว่าจะมีประเภทที่หลากหลายถึงขนาดที่ศิลปินจะเลือกทำกาชาปองมาได้ถึง 8 แบบ
คราวนี้ เมื่อเดินออกมานอกวัดอีกครั้ง เราก็ได้มองภาพรวมของความเบลอเลือนและการทับซ้อนอย่างเต็มตา ได้เห็นพื้นที่ศิลปะที่อยู่ในพื้นที่ของสถานที่ท่องเที่ยว และเห็นทั้งสองพื้นที่ทับซ้อนอยู่บนพื้นที่ของวัดโบราณ ความเป็นไทยและความเป็นจีนที่ผสมผสานกันอยู่ในทุกอณูของพื้นที่ ความใหม่ของยักษ์รุ่นเก่าที่เพิ่งถูกบูรณะความเก่าของประติมากรรมยักษ์ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ให้ดูเก่า และตู้กาชาปองหยอดเหรียญเพื่อเอาของเล่น ในฐานะงานศิลปะ ส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของไทย
กาชาปองจึงเป็นเหมือนมัคคุเทศก์น้อยที่ไม่เพียงพาเราไปทำความรู้จักอับเฉาเท่านั้น แต่พาเรากลับไปทำความรู้จักประวัติศาสตร์ ศิลปะ ความเบลอเลือน การทับซ้อน และทุกสิ่งทุกอย่างที่รายล้อมอับเฉาอยู่ในพื้นที่เฉพาะแห่งนี้