‘ความสุขของแสง’ นิทรรศการแสงสว่างในโมงยามแห่งความทรงจำของ อุทิศ เหมะมูล

Highlights

  • หลังจากแสดงงานของตัวเองในนิทรรศการ ‘ภาพร่างของปรารถนา’  เมื่อปี 2560 ปีนี้ อุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์กลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการเดี่ยวในชื่อ ‘ความสุขของแสง The Light of Day’  ที่จัดแสดงที่ The Jam Factory Gallery คลองสาน ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน - 20 พฤษภาคม 2562
  • นิทรรศการครั้งนี้พูดถึงแสงแห่งชีวิตและความหวัง ซึ่งถ่ายทอดผ่านแสงสว่างในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นแสงและเงา แสงเช้า แสงบ่าย หรืงแสงสลัวในยามกลางคืน อีกทั้งศิลปินยังยืนยันว่าควรมาดูนิทรรศการในโมงยามที่ต่างกัน เพื่อความรู้สึกที่ต่างออกไป
  • แม้จะมีนิทรรศการเดี่ยวถึงสองครั้งแล้ว แต่อุทิศยังไม่คิดจะอุทิศทั้งชีวิตของตัวเองให้ศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่ใช้มันเป็นเครื่องผ่อนคลายความตึงเครียดจากการเขียนนิยายมากกว่า

โดยปกติ เรารู้จัก อุทิศ เหมะมูล ในฐานะนักเขียนมือดี ผู้เคี่ยวกรำตัวเองในวงการวรรณกรรมมากว่า 15 ปี สร้างสรรค์งานเขียนเปี่ยมคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นรวมเรื่องสั้นอย่าง ปริมาตรรำพึง, ไม่ย้อนคืน หรือนวนิยายอย่าง ระบำเมถุน และ กระจกเงา / เงากระจก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นวนิยายเรื่อง ลับแล, แก่งคอย ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรท์ ในปี พ.ศ. 2552 นอกจากนี้ อุทิศยังได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ในปี พ.ศ. 2561 อีกด้วย

ด้วยความที่อุทิศมีพื้นเพการศึกษาทางด้านศิลปะ จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมตัวละครในงานเขียนของเขาจึงมักมีอาชีพเป็นศิลปินหรือข้องแวะกับศิลปะ

แต่ราวกับว่าเท่านั้นคงยังไม่ชัดเจนพอ หลังจากเขียนนวนิยาย ‘ร่างของปรารถนา’ ออกมาในปี 2560 อุทิศก็ลุกขึ้นมาจัดแสดงนิทรรศการ ‘ภาพร่างของปรารถนา’ ที่รวมผลงานของ ‘เข้าสิง’ ตัวละครเอกในนวนิยายเรื่องนี้มาจัดแสดงขึ้นจริงๆ คู่ขนานไปกับเรื่องราวในนวนิยาย นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เรารู้ว่า นอกจากฝีมือการเขียนอันเชี่ยวชาญแล้ว เขายังไม่ทิ้งฝีไม้ลายมืออันชำนิชำนาญทางด้านศิลปะไปด้วยเหมือนกัน

ผลงานภาพลายเส้นบนกระดาษ และภาพวาดสีอะครีลิกบนผ้าใบอันเปิดเผยจะแจ้ง (และอาจจจะโจ๋งครึ่มอนาจารในสายตาของผู้เคร่งศีลธรรมบางคน!) เปี่ยมด้วยพลังแห่งดำฤษณาและสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ อีกทั้งยังเสียดเย้ยสังคมการเมืองของบ้านเราได้อย่างถึงแก่น ในนิทรรศการนั้นเป็นพยานได้เป็นอย่างดี

สองปีผ่านไป อุทิศก็หวนกลับมาแสดงผลงานศิลปะของเขาอีกครั้ง ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า ‘ความสุขของแสง The Light of Day’ ในแกลเลอรีที่แฝงตัวอยู่ในร่มเงาของแมกไม้ใบหญ้า ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงผลงานจะไม่จะแจ้งแดงแจ๋จนสาแก่ใจเราอย่างนิทรรศการแรก แต่ในทางกลับกัน มันก็เต็มไปด้วยอารมณ์อันผ่อนคลาย อบอุ่น นุ่มนวล และแฝงความเย้ายวนรัญจวนใจ และสอดใส่ประเด็นทางการเมืองเอาไว้ไม่น้อยเหมือนกัน

“คุณคือแสงสว่างในชีวิตของผม” คือชื่อแรกๆ ของชุดภาพในงานแสดงเดี่ยวครั้งนี้ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น The Light of Day ‘ความสุขของแสง’ ถูกกำกับด้วยกาลอดีต ด้วยความทรงจำ เป็นแสงสว่างแห่งวารวัน ผมยุ่งอยู่กับวารวันผันผ่าน สัมผัสด้วยรักใคร่ ทะนุถนอม และใคร่ครวญ ในขณะที่คุณผินหน้าไปทางอื่นเสียแล้ว

ผลงานชุดนี้ประหลาดอยู่อย่าง (ผมอาจคิดเอาเอง) ภาพแต่ละภาพมีชีวิตสองช่วงเวลา คือกลางวันกับกลางคืน ดูตอนกลางวันก็สว่างไสว อบอุ่น ภาพเดียวกันดูตอนกลางคืน ที่อยู่ในเงามืดของภาพยิ่งเรืองออก ไม่แบนไม่ด้าน เปิดเผยเรื่องราวของมันอยู่ในเงาที่ไม่ดำสนิท จึงอยากให้ได้ดูภาพวาดชุดนี้ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน คนวาดยืนยัน

ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะผมไม่ใช้สีดำในการวาดภาพ ดำมันก็ดำแหละ แต่ขาดความลึก ขาดมิติ สู้ผสมสีอื่นๆ ให้กลายเป็นสีดำไม่ได้ น้ำหนักต่างกันมาก ปล่อยให้เรื่องเล่าต่างๆ ผ่านสีอื่นๆ ได้บอกที่มาของมัน จนมาผสมรวมกันเป็นดำ ดำที่ได้นั้นมีอากาศยิ่งกว่า ไม่ทึบไม่ด้าน ผมต้องการอากาศในภาพ และการทำเช่นนี้ให้ผลดีกว่า บางทีสีที่ไม่ดำแต่ไปวางคู่กับสีตรงข้าม ก็ให้ผลทางสายตาว่าเป็นดำ ตัดกันจนตาส่ายไหว อันนี้สนุกกว่า สนุกที่ได้ลองได้ทำได้เรียนรู้ไปพร้อมกันระหว่างวาดภาพ เช่นสีคู่ตรงข้ามอย่างส้มกับน้ำเงิน ผสมรวมกันจะเป็นสีตุ่นดำ ไม่กระด้าง มีอากาศ เช่นเดียวกับเฉดสีแสงกับเฉดสีเงา ป้ายเฉดสีแสงลงในเงา ป้ายเฉดสีเงาลงในแสงบ้าง เราจะเห็นอากาศ การอยู่ร่วม กลมกลืน เพราะในเงาก็มีแสง ในแสงก็มีเงา ลองใช้เวลานั่งดูแสงเงารอบตัวสักพักจะเห็น

‘คุณคือวารวันแสนงามในชีวิตของผม’ งามเพราะไม่ได้มีแต่แสง แต่เป็นเงาด้วย คุณเป็นทั้งเทพ muse และนางมาร ทำผมตกร่วงอยู่ในกาลอื่น คุณเป็นทั้งหมดจนผมอยากเล่าถึงคุณอีกครั้ง หากผมต้องการจะมีชีวิต”

เป็นถ้อยคำที่อุทิศ อุทิศให้นิทรรศการครั้งนี้ ที่นำเสนอแสงสว่างที่สาดส่องเข้ามายังพื้นที่ส่วนตัวของเขาทั้งในโมงยามของวันและคืน เปิดเผยให้เห็นเศษเสี้ยวแห่งความทรงจำของนักเขียนในร่างทรงจิตรกรผู้นี้ ผ่านภาพวาดอันหลายหลาก ขอเชิญมาร่วมสัมผัสแสงสว่างอันหลากหลายของเขาไปพร้อมๆ กัน

คุณเริ่มต้นทำงานชุดนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

เริ่มต้นน่าจะสักปีที่แล้ว ประมาณเดือนเมษายน จริงๆ ก็ครบปีพอดี ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอนทำนิทรรศการ ‘ภาพร่างของปรารถนา’

คุณทำงานชุดนี้เพื่อแสดงในนิทรรศการนี้โดยเฉพาะหรือเปล่า

จริงๆ ก็ทำเพื่อนิทรรศการ เพราะว่าในปัจจุบันไม่มีที่เก็บแล้วก็เลยทำออกมาเพื่อเอามาแสดง เราวางแผนที่จะแสดงงานตั้งแต่ตอนที่จบการแสดงครั้งแรก คิดว่าถ้าจะกลับมาทำงานศิลปะ มาวาดรูปอีกครั้ง ก็ควรมีงานแสดงอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็สองปีครั้ง จบงานแสดงหนึ่ง ก็เก็บตัวทำงานศิลปะ เสร็จแล้วค่อยโผล่ออกมาแสดงงาน

ในนิทรรศการคราวที่แล้ว คุณแสดงผลงานภาพวาดควบคู่กับนวนิยายในชื่อเดียวกัน คราวนี้มีนวนิยายด้วยไหม

ไม่มี เป็นนิทรรศการอย่างเดียว แต่จริงๆ ในช่วงปีที่แล้วก็เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน ทั้งการเขียนนิยายด้วย และการวาดรูป ถ้าจะบอกว่าเป็นคอนเซปต์เดียวกัน ก็บอกไม่ได้ เพียงแต่เราบอกได้ว่า เราทำทั้งสองอย่างขึ้นพร้อมกัน เพราะฉะนั้นอารมณ์ เนื้อหา ชุดความคิดของภาพวาดก็จะเป็นแบบเดียวกันกับนวนิยายที่เพิ่งเขียนเสร็จไป

นวนิยายที่ว่านี้จะออกเมื่อไหร่

วางไว้คร่าวๆ ก็น่าจะเป็นปลายปีหน้า หรือปลายปีถัดไป ตอนนี้ก็ดูรูปวาดไปก่อน นวนิยายเดี๋ยวค่อยว่ากัน

ผลงานในนิทรรศการที่แล้ว ‘ภาพร่างของปรารถนา’ ค่อนข้างเน้นไปในเรื่องเซ็กซ์และกามารมณ์ แต่ในนิทรรศการนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวันเสียมากกว่า

ใช่ เราคิดว่าเราเดินออกมาจากจุดนั้น หลังจากที่ทำงานชุดนั้น มันมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันมากขึ้น ในขณะที่ตอนทำ ‘ภาพร่างของปรารถนา’ มันเป็นภาพวาดที่เหมือนการแสดงบนเวที แต่คราวนี้ไม่ได้อยู่บนพื้นที่ของเวทีแบบนั้น แต่กลับเข้าไปสู่พื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น เข้าไปจับอยู่กับชั่วขณะของช่วงเวลาที่มีความเป็นชีวิตประจำวันและความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

ชื่องาน ‘ความสุขของแสง Light of the Day’ นี่เป็นแสงของอะไร

จริงๆ มันก็คือแสงแห่งชีวิต แสงแห่งความหวังนั่นแหละ เพียงแต่เราเอาไปวางอยู่กับส่วนที่เป็นรูปธรรมจริงๆ เป็นแสงที่เรามองเห็นด้วยตาในชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงและเงา แสงเช้า แสงเย็น แสงบ่าย แสงกลางคืน แสงที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสง แสงทุกอย่างที่สาดส่องเข้ามาในชีวิตประจำวันของคน

การตั้งชื่อนิทรรศการแบบนี้ มีนัยไปถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ค่อนข้างมืดมนตอนนี้ไหม

ใช่ มีบ้าง อย่างภาพหนึ่งในนิทรรศการ ชื่อ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยระหว่างซ่อมสร้าง’ เนี่ย ก็เป็นภาพที่ตั้งใจวาดขึ้นมาเพราะเรารอแสงแห่งความหวัง แสงสว่างหลังพายุฝน แสงแห่งอุดมคติ สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของเราเหมือนกัน ที่เราต้องการเห็นประเทศนี้กลับมามีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราเฝ้ารออยู่ แล้วก็ไม่ใช่แค่เฝ้ารออย่างเดียว กระบวนการหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น ที่เราต้องทำ อย่างการไปเลือกตั้ง เราก็ทำ อีกอย่าง ราคาของภาพวาดภาพนี้ เราตั้งให้เท่ากับเงินเดือนของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แทนราคาที่เราต้องจ่ายให้กับวันเวลาที่เสียไป

เหมือนทำงานศิลปะเป็นการบำบัดหรือเปล่า

เราว่าบำบัดอย่างเดียวมันไม่พอหรอก มันต้องมีการเรียนรู้ การทำความเข้าใจไปด้วยกับเรื่องที่กำลังเล่า กับสถานการณ์ที่เรากำลังเจอ กับสิ่งที่เรากำลังทำ

เวลาเป็นนักเขียน ปกติคุณเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือ ด้วยภาษา แต่พอเปลี่ยนมาเป็นศิลปินวาดรูปต้องเล่าเรื่องด้วยภาพ ต้องกลับมาเรียนรู้อะไรใหม่ไหม

ก็สนุกดี เพราะจริงๆ เราใช้วิธีแบบเก่าโบราณมาก เหมือนเรากลับไปเป็นนักเรียนนักศึกษาใหม่ๆ ตัวภาพที่แสดงในนิทรรศการนี้ทั้งหมดถูกสร้างด้วยทฤษฎีง่ายๆ เหมือนตอนที่เราเรียน คือการดูค่าของแสง เฉดสี รวมถึงสีคู่ตรงข้าม โดยส่วนใหญ่จะเห็นว่าเกือบทุกภาพ เป็นภาพที่ประกอบขึ้นมาจากสีคู่ตรงข้ามทั้งหมด

ถ้าสังเกตจะเห็นว่าผมไม่ใช้สีดำในการวาดภาพ เพราะมันขาดความลึก ขาดมิติ แต่เราจะใช้สีคู่ตรงข้ามผสมรวมกันจะเป็นสีดำที่ไม่กระด้าง มีอากาศ เพราะเราอยากให้มีอากาศในภาพ หรือการใช้เฉดสีของแสงกับเฉดสีของเงา บางครั้งเราป้ายเฉดสีแสงลงในเงา ป้ายเฉดสีเงาลงในแสงบ้าง เราจะเห็นอากาศ การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน เพราะในเงาก็มีแสง ในแสงก็มีเงา มันเชื่อมโยงไปสู่เรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยเหมือนกัน

เราคิดว่าการมีความสัมพันธ์กัน คนที่อยู่ด้วยกัน เราไม่ได้มองไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป บางครั้งเรามีความเห็นขัดแย้ง เกิดการเข้าใจผิดหรือการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่มันอยู่ที่กระบวนการ หรือวิธีการที่จะทำให้ความสัมพันธ์และการอยู่ด้วยกันราบรื่นไปได้ ซึ่งเราแสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้ผ่านการใช้สี ด้วยการใช้สีคู่ตรงข้าม หรือแม้แต่แสง เงา และน้ำหนัก เพื่อสร้างมวลหรือปริมาตรของภาพขึ้นมา

เวลาวาดภาพคุณใส่ใจกับความเป็นจริงหรือความรู้สึกมากกว่ากัน

ใส่ใจกับสิ่งที่เราอยากเอาออกมา เช่น เราอาจวาดคนคนนี้ไม่เหมือน แต่เรารู้ว่าจังหวะของเรือนร่าง จังหวะของสะโพกคนนี้เป็นแบบนี้ หรือลักษณะคาแร็กเตอร์เฉพาะตัวเป็นยังไง เราก็ดึงมันออกมา

นำเสนอความรู้สึกที่มีต่อแบบมากกว่าความเป็นจริง

ใช่ คือมันไม่จำเป็นที่จะต้องถ่ายทอดออกมาได้ทั้งหมด แค่ได้ส่วนเสี้ยวหนึ่งของตัวตนของแบบเข้ามาไว้ในภาพ หรือแม้แต่บางภาพ เราใช้แบบจากต่างสถานที่ ต่างเวลา แต่เราจับมันมารวมกันไว้ในภาพเดียว มันก็เกิดขึ้นได้ คือมันจริงในความทรงจำ แต่มันไม่ได้จริงในข้อเท็จจริง มันเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา

เวลาวาดภาพ คุณวาดจากความทรงจำ หรือจากการดูแบบ

โดยส่วนใหญ่วาดจากภาพถ่าย แล้วก็แบบ แล้วก็มาดูว่าเราต้องการสิ่งไหน เราอยากได้อันไหนออกมา

จำได้ว่าตอนเรียนศิลปะ คุณก็ทำงานคล้ายๆ กับที่ทำอยู่ตอนนี้นี่

ใช่ ตอนนั้นก็ใช้สีแรงๆ แบบนี้แหละ แต่ตอนนั้นใช้สีแรงๆ เพราะเอาสะใจ แสดงฝีมือ ก็มีความเข้าใจในระดับหนึ่งแหละ รู้ว่าจังหวะเป็นอย่างนี้ แต่ปัจจุบันนี้เราวาดด้วยการทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น เรารู้ว่าเราจะหยิบเครื่องไม้เครื่องมือมาตอบโต้กับภาพที่อยู่ในจินตนาการ หรือสิ่งที่เราต้องการให้เป็น ออกมาได้มากน้อยแค่ไหน มันก็ต่างกัน ตอนนั้นมีสีอะไรก็ป้ายๆๆ  แต่ตอนนี้เราทำด้วยความเข้าใจ ว่าเราจะใช้สีคู่ตรงข้ามในการสร้างงาน เพราะฉะนั้นมันจะไม่หลุดไปจากนี้ แล้วด้วยโจทย์นี้ เราจะสร้างให้เป็นภาพเกิดขึ้นมาได้ยังไง

ก่อนหน้านี้ นิทรรศการของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ใช้ชื่อว่า ‘ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน’ การกลับมาทำงานศิลปะของคุณนี่คือการที่ ‘นักเขียนกำลังพยายามกลับไปเป็นศิลปิน’ หรือเปล่า

(หัวเราะ) ก็ไม่ได้อยากกลับไปเป็นศิลปินอะไรนะ เราว่ามันเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวัน คือทำแล้วมีความสุขก็ทำ ตอนนี้การวาดรูปมันใช่สำหรับเรา ทำให้เรารู้สึกดี สบายใจ

จากนี้ตั้งใจจะทำงานศิลปะเป็นอาชีพเลยไหม

ถ้าเป็นอาชีพได้มันก็ดีเหมือนกันนะ จะได้มีสองอาชีพ เขียนหนังสือด้วย วาดรูปด้วย เพราะเขียนหนังสือก็ขายไม่ค่อยออก ถ้าวาดรูป ขายงานได้ มันก็เป็นอีกอาชีพได้น่ะ ตอนนี้ก็ทำงานไปเรื่อยๆ แหละ ถึงเวลาก็ออกมาแสดงงาน แต่อย่างไรก็เป็นนักเขียน เขียนหนังสือเป็นหลัก

ส่วนศิลปะเป็นหนทางในการผ่อนคลาย

ใช่ คือเขียนหนังสือมันค่อนข้างเครียดมากนะ แต่วาดรูปมันสบาย ไม่เครียด ผิดได้ เราชอบตรงนี้ ผิดก็ปล่อย เดี๋ยวมันจะมีจังหวะบังเอิญของมันเอง เหมือนเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับภาพ เราปล่อยให้ความบังเอิญเกิดขึ้นได้กับงานศิลปะ แต่กับงานเขียน เราไม่เป็นแบบนั้น เราค่อนข้างตึงมาก

พลังงานในการเขียนหนังสือเป็นพลังงานที่เราคาดหวังกับตัวเองมาก มันบิดเป็นเกลียวจนตึง แต่พอเราวาดรูป มันสบาย ปล่อย ผิดก็ผิด ไม่เป็นไร ที่ถามว่าวาดรูปเป็นการบำบัดไหม มันบำบัดในแง่นี้ ในแง่ที่พอเราทำกิจกรรมนี้ทุกวัน มันทำให้เราให้อภัยตัวเองได้ เราสบายได้

มีเหตุผลอะไรไหมที่คราวนี้ถึงเลือกมาแสดงงานที่นี่

เราชอบแกลเลอรีนี้เพราะมันไม่ได้มีแค่ห้องแสดงงานข้างในอย่างเดียว แต่มีพื้นที่ข้างนอกด้วย เหมือนกับเราบอกว่างานชุดนี้มันเป็นเรื่องของอากาศ เป็นเรื่องของการไหลเวียน เรื่องของแสง เรื่องของเงา เราชอบพื้นที่ตรงนี้เพราะมันมีอากาศวิ่งเข้าออก ทั้งข้างนอกข้างใน มันโปร่ง หายใจได้ อยู่แล้วสบาย ดูงานแล้วก็เดินออกไปข้างนอกแล้วกลับเข้ามาใหม่ได้ ไม่ได้เป็นห้องแสดงงานแบบกล่องสีเหลี่ยมสีขาวที่ปิดทึบทั้งหมด ที่คนดูถูกบังคับให้มองงานศิลปะโดยไม่สามารถละสายตา

ตอนที่เราทำนิทรรศการครั้งแรก ไอเดีย ‘ภาพร่างของปรารถนา’ เป็นเรื่องของการเอาร่างกายคนมาใช้แสดงนัยทางการเมืองในหลายๆ ทาง เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเหมือนการข่มขู่ กดดัน ซึ่งพื้นที่ในแกลเลอรีที่แสดงที่เป็นพื้นที่ปิด ก็เหมือนเป็นการบังคับคนให้ดูภาพกลายๆ เหมือนในหนัง A Clockwork Orange (1971) ที่ตัวเอกถูกจับถ่างตาบังคับให้ดูภาพต่างๆ เพื่อปรับทัศนคติ แต่นิทรรศการครั้งนี้เปลี่ยนไป เติบโตขึ้น มันเดินออกมาจากห้องสี่เหลี่ยมตรงนั้น มันต้องการอากาศมากขึ้น ไม่ต้องการการโน้มน้าวคนดู หรือพยายามโน้มน้าวใครให้เข้าใจ เป็นความสัมพันธ์สบายๆ อยู่ในที่ที่มีอากาศไหลเวียน หายใจได้ปลอดโปร่ง เราเล็งพื้นที่ที่ The Jam Factory Gallery มาตั้งนานแล้ว ว่าเราอยากจะมาแสดงที่นี่

นิทรรศการ ความสุขของแสง The Light of Day จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน – 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลา 11:00 – 20:00 น. ที่ The Jam Factory Gallery คลองสาน เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน