Itaewon Class ธุรกิจปิดเกมแค้น (2020) เป็นซีรีส์ที่สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลกในช่วงที่ออกอากาศ โดยเฉพาะกระแสในประเทศไทย ที่ทำให้ทุกบ้านต้องลุกขึ้นมาทำเมนู ‘ซุปกิมจิเต้าหู้อ่อน’ จนเครื่องปรุงรสอย่าง โคชูจัง หรือซอสพริกเกาหลี ขาดตลาดในทุกห้าง
ข้อมูลจาก Korea Agro-Fisheries & Food Trade Corp องค์กรด้านอาหารและการเกษตรของเกาหลีใต้ กล่าวว่า หลังจากซีรีส์ Itaewon Class เริ่มออกอากาศ ยอดการส่งออกโคชูจังก็เพิ่มขึ้นถึง 27.3% จากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มียอดการนำเข้าโคชูจังเพิ่มขึ้นมากที่สุด จาก 3.69 แสนดอลลาร์ในปี 2019 ผ่านไปเพียงครึ่งปีแรกของ 2020 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 9.98 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ +170%
นั่นหมายความว่า Itaewon Class ไม่ใช่เพียงสร้างเพียงความบันเทิงสู่สายตาคนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังส่งออก Soft Power ที่ทรงพลัง จนส่งผลในวงกว้างไปถึงเศรษฐกิจการค้า รวมไปถึงการท่องเที่ยวของประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย
Itaewon Class เล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักคือ พัคแซรอย (รับบทโดย พัคซอจุน) ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในวัยมัธยมปลาย ด้วยนิสัยตรงไปตรงมา ไม่ชอบให้ใครเอาเปรียบ ทำให้เขามีปัญหากับ ชางกึนวอน (รับบทโดย อันโบฮยอน) ขาใหญ่ประจำโรงเรียนที่ไม่มีใครกล้ายุ่ง เพราะเขาเป็นลูกชายของเครือชางกา บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ระดับประเทศที่คอยอุดหนุนโรงเรียนอยู่ ทางโรงเรียนสั่งให้พัคแซรอยคุกเข่าขอโทษทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เขาเลือกที่จะไม่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีของตัวเอง และยอมถูกไล่ออกจากโรงเรียนแทน
เรื่องราวมันพัวพันยิ่งกว่านั้น เพราะพ่อของพัคแซรอยดันเป็นลูกจ้างของบริษัทชางกาอยู่เช่นกัน ทำให้พ่อต้องลาออกจากบริษัทที่มั่นคงเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของลูกชาย แล้วมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเปิดร้านอาหารเล็กๆ ของตัวเอง
โชคร้ายที่ในวันหนึ่งพ่อของเขาต้องเสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุชนแล้วหนี ซึ่งคู่กรณีก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็น ชางกึนวอน คู่อริคนเดิม นั่นทำให้สติของพัคแซรอยกระเจิดกระเจิง เขาลงมือทำร้ายชางกึนวอนปางตายด้วยความโกรธแค้น และบทสรุปของเรื่องนี้จบลงที่พัคแซรอยต้องติดคุกเป็นเวลา 2 ปีด้วยข้อหาพยายามฆ่า ซึ่งในจุดนี้เราเชื่อว่าซีรีส์พยายามแสดงให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้ที่ไม่มีอำนาจเพียงพอหรือไม่ได้อยู่ในสังคมชั้นสูงนั้นจำต้องก้มหน้ายอมรับว่า ต่อให้พยายามแค่ไหน บางครั้งเราอาจไม่มีความสามารถเพียงพอในการปกป้องและต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป
ในช่วงระหว่างที่พัคแซรอยอยู่ในคุก เขาพยายามคิดวางแผนแก้แค้นอย่างรัดกุม โดยตั้งเป้าว่าต้องเอาคืนบริษัทชางกาให้ได้ภายใน 15 ปี และหลังออกจากคุกมาได้พักใหญ่ พัคแซรอยก็ทำงานเก็บเงินอย่างอุตสาหะถึง 7 ปี และมาเปิดร้านกินดื่มชื่อว่า ‘ทันบัม’ ในย่านอีแทวอน ซึ่งร้านนี้เป็นธุรกิจที่เขาตั้งใจสร้างตามแผนที่วางไว้ว่าจะล้มยักษ์ใหญ่อย่างชางกาให้ได้
แต่ใครมองก็รู้ว่าการแก้แค้นครั้งนี้เป็นเป้าหมายที่ยากเหมือนเอาไม้ซีกมางัดไม้ซุง แต่ถึงแม้จะล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน สุดท้ายเขาก็กลายเป็นเจ้าของอาณาจักรอาหารที่ยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด
เมื่อต้นทุนชีวิต อาจไม่ใช่ตัวตัดสินอนาคตเสมอไป
“ผมเกิดมาตัวเปล่าก็จริง แต่ก็มีสิ่งที่อยากทำมากมาย เพราะว่าจน ไม่ได้เรียนหนังสือ เคยเป็นนักโทษ เลยคิดว่าทำไม่ได้เหรอ ถ้าคิดไปก่อนว่าเป็นไปไม่ได้แล้วจะไปทำอะไรได้ล่ะ” – พัคแซรอย
สาระสำคัญที่โดดเด่นมากๆ ของซีรีส์เรื่องนี้คือความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างธุรกิจตั้งแต่จุดเริ่มต้น การรวมตัวของกลุ่มหนุ่มสาวที่แต่ละคนก็ไม่ได้มีโปรไฟล์เพอร์เฟกต์ แม้จะต้องล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน แต่ความเป็นทีม มันสมอง และจิตใจที่แข็งแกร่งของพวกเขา ก็สามารถทำให้ธุรกิจเติบโตและประสบความสำเร็จขึ้นมาได้
นอกจากเถ้าแก่พัคแซรอยแล้ว ร้านทันบัมยังมีสมาชิกที่เป็นกำลังสำคัญมาร่วมงานด้วย โดยสองคนแรกที่เข้าร่วมทีมคือ มาฮยอนอี (รับบทโดย อีจูยอง) ทรานส์เจนเดอร์ที่ต้องคอยปกปิดสถานะทางเพศของตัวเองเพราะกลัวคนจะไม่ยอมรับ จึงต้องเลือกทำงานในโรงงานแบบเงียบๆ และได้รับโอกาสจากเถ้าแก่ให้มาทำงานเป็นเชฟ แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ในครัวมาก่อนก็ตาม
อีกคนคือ ชเวซึงควอน (รับบทโดย รยูคยองซู) อดีตลูกน้องอันธพาลที่ชีวิตมีแต่เรื่องต่อยตีไปวันๆ เดินเข้าออกคุกเป็นว่าเล่น เขามีความเชื่อลึกๆ ว่าตัวเองเป็นคนไร้ค่า เพราะพวกคนขี้คุกไม่มีวันจะมีที่ยืนดีๆ ในสังคมได้ และชีวิตของชเวซึงควอนก็เปลี่ยนไป เมื่อพัคแซรอยชักชวนให้มาทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านทันบัม ทำให้เขาปลุกความกล้าหาญในตัวเองขึ้นมาได้อีกครั้ง
และสมาชิกคนสำคัญที่เรียกว่าเป็นกำลังหลักที่ทำให้ร้านทันบัมสามารถเติบโตด้วยกลยุทธ์ธุรกิจที่เฉียบแหลมคือ โชอีซอ (รับบทโดย คิมดามี) นักเรียน ม.ปลาย ที่มาพร้อม IQ 162 หน้าตาน่ารัก เก่งไปหมดทุกเรื่อง และมีผู้ติดตามมากมายโลกโซเชียล แต่กลับเป็นคนที่มีบุคลิกต่อต้านสังคม แม้จะสอบติดมหาวิทยาลัยหลายที่ แต่สุดท้ายก็เลือกปฏิเสธขนบสังคม ไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย แล้วไปทำงานเป็นผู้จัดการร้านทันบัมแทน
เหตุการณ์นี้ทำให้แม่ของเธอเสียใจมาก และยื่นคำขาดว่าถ้าจะไม่เรียนต่อก็ไม่ต้องกลับมาที่บ้านอีก แน่นอนว่าโชอีซอไม่สะทกสะท้านกับคำขู่ และบอกกับแม่ว่า “หนูไม่ได้คอยพึ่งพาความฝันของใคร และหนูจะไม่แบกรับความฝันของแม่ด้วย หนูจะเลือกใช้ชีวิตเอง”
Itaewon Class: ทำไมต้องเป็น ‘ชนชั้นอีแทวอน’
เป็นความสงสัยที่ตั้งต้นขึ้นมาจากชื่อซีรีส์ว่าเพราะเหตุใดจึงเปรียบเปรยย่านนี้เป็นเหมือน ‘ชนชั้น’ (Class) อย่างหนึ่งในสังคม
อีแทวอน ได้เปลี่ยนตัวตนจากย่านธรรมดาๆ กลายมาเป็นแหล่งรวมความบันเทิงตั้งแต่ช่วงยุค 1950 ที่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลง ทหารสหรัฐฯ ได้มาตั้งฐานทัพอยู่ที่นี่ ทำให้ความศิวิไลซ์ในแบบอเมริกันชนค่อยๆ ก่อตัวขึ้น โรงแรม บาร์ ร้านอาหาร และสถานบันเทิงต่างๆ ก็เริ่มผุดขึ้นมาเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ และวิวัฒนาการตัวเองเรื่อยมาจนเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบัน ซึ่งหากใครได้มาเยือนที่นี่ก็จะพบว่าอีแทวอนเป็นเหมือนอีกโลกหนึ่งที่แตกต่างไปจากขนบโดยทั่วไปของเกาหลีใต้แทบจะสิ้นเชิง
และความแตกต่างที่ว่านี้เองคือชิ้นส่วนสำคัญที่ถูกนำมาประกอบร่างเป็นซีรีส์เรื่องนี้ เพราะ Itaewon Class เป็นการหยิบตัวละครที่เป็นเหมือนพลเมืองชั้นสองที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคมขึ้นมาเป็นซับเจกต์หลัก ทั้งเกย์ ผู้หญิงข้ามเพศ คนผิวสี อดีตนักโทษ คนเรียนไม่จบ หรือคนที่มีบุคลิกต่อต้านสังคม ซึ่งต้องขอยกย่องว่าเป็นความกล้าหาญที่ซีรีส์เรื่องนี้กล้าแตะประเด็นที่อาจเซนซิทีฟสำหรับบางคน และสื่อสารผ่านเนื้อเรื่องเพื่อสร้างความเข้าใจว่าความแตกต่างหลากหลายไม่ใช่เรื่องผิดแปลกในสังคมอีกต่อไป
โดยเฉพาะในประเด็น LGBT ที่ยังเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากในสังคมเกาหลีทุกวันนี้ ซึ่งใครที่เคยไปเที่ยวย่านอีแทวอนจะรู้ดีว่าที่นี่เป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มคนเหล่านี้ และมันเป็นที่ที่พวกเขาจะสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องแคร์สายตาใคร
ความหวังในการทลายกำแพงอคติที่มีต่อกลุ่ม LGBT ที่ฝังรากลึกในสังคมเกาหลี
มาฮยอนอี เชฟของร้านทันบัม คือตัวละครผู้หญิงข้ามเพศ (Transgender) หนึ่งในผู้ตกอยู่ในสถานะของคนที่ไม่ถูกยอมรับในสังคมอนุรักษ์นิยมที่เป็นอยู่ของเกาหลีใต้ แม้เธอตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่เพื่อเก็บเงินไปแปลงเพศตามที่ตั้งใจ แต่นอกจากการเติมเต็มทางด้านร่างกาย บางทีสิ่งที่มาฮยอนอีต้องการมากกว่าอาจเป็นการยอมรับจากสังคมและคนรอบข้าง
เรารู้สึกชื่นชมที่ซีรีส์เขียนบทให้ตัวละครสามารถก้าวผ่านความกลัว และกล้าที่จะยอมรับสถานะทางเพศของตัวเองผ่านสื่อสาธารณะ เพราะนั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเธอได้ข้ามกำแพงที่สูงที่สุดในจิตใจของตัวเองได้แล้ว ซึ่งฉากดังกล่าวมีบทพูดทัชใจที่โชอีซอส่งมาให้มาฮยอนอี และอาจเป็นความตั้งใจของซีรีส์ในการที่จะส่งต่อข้อความนี้ให้กับผู้ชมทุกคนที่กำลังต่อสู้กับอะไรบางอย่างด้วย โดยมีใจความว่า…
“ฉันคือก้อนหิน ลองทำให้ร้อนสิ ฉันคือก้อนหินที่ไม่ขยับเขยื้อน
ลองทุบฉันให้สุดแรงสิ ฉันเป็นหินที่แข็งแกร่ง
ลองเอาฉันไปวางไว้ที่มืดสนิทสิ ฉันเป็นหินที่ส่องประกายเองได้
ฉันไม่สนกฎธรรมชาติ ไม่แตกสลาย มอดไหม้ หรือผุพัง
ฉันรอดชีวิตมาได้ เพราะฉันคือ…เพชร”
มากไปกว่านั้น Itaewon Class ยังมีนักแสดงรับเชิญอย่าง ฮงซอกชอน ที่มาแสดงเป็นตัวเอง ซึ่งในชีวิตจริงเขาเป็นเจ้าของร้านอาหารชื่อดังหลายแห่งในย่านอีแทวอน โดยฮงซอกชอนคือคนบันเทิงชื่อดังของเกาหลีที่เคยประกาศรสนิยมทางเพศของตัวเองว่าเป็นเกย์ (Gay) ผ่านสื่อในปี 2000 และผลที่ตามมาคือการถูกถอดฟ้าผ่าออกจากรายการที่เขาทำหน้าที่พิธีกรทั้งหมด จนเรียกว่าหมดอนาคตในวงการบันเทิงไปเลยก็ว่าได้
จากเหตุการณ์นี้ทำให้ฮงซอกชอนต้องประสบกับภาวะซึมเศร้าจนเกือบฆ่าตัวตาย โดยเขาเคยเปิดเผยผ่านรายการทอล์กโชว์ว่า “ฉันต้องออกจากวงการบันเทิงตอนอายุ 30 สูญเสียทั้งผู้คนและทุกอย่างที่เคยมี แม้กระทั่งคนในครอบครัวก็ยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้ ตอนนั้นมันคือช่วงเวลาที่ยากลำบากจริงๆ… แต่เมื่อเวลาผ่านไป ฉันสามารถเอาชนะความเกลียดชังได้เพราะทัศนคติเชิงบวกของตัวเอง แม้จะมีครั้งหนึ่งที่ฉันเกือบตัดสินใจกระโดดสะพานมาโปเพื่อฆ่าตัวตายก็ตาม”
แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะในเวลาต่อมาฮงซอกชอนก็สามารถกลับมามีพื้นที่สื่อและได้รับการยอมรับอย่างช้าๆ อีกครั้ง จนกลายเป็นตัวแทนของกลุ่ม LGBT ที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ หลังจากถูกแบนมาเป็นเวลากว่า 10 ปี
ขึ้นชื่อว่าการใช้ชีวิต มันยากเสมอ เช่นเดียวกับบทเรียนที่ผู้ชมจะได้รับจาก Itaewon Class นอกจากความทะเยอทะยานที่เป็นแรงผลักดันให้เราไปสู่เป้าหมายเร็วขึ้นแล้ว กุญแจสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้คือการทำงานเป็นทีม เพราะไม่มีใครที่เก่งไปทุกเรื่อง การมีใครสักคนที่ไว้ใจ จริงใจ และพร้อมจะรับฟังอยู่ข้างๆ แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว
นอกจากนี้ซีรีส์ยังแฝงข้อคิดให้กับคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน เพราะในเมื่อคนทุกคนมีความฝัน แต่ในโลกความเป็นจริงยุคนี้ การจะทำตามความฝันด้วยพละกำลังที่มีคงไม่ใช่เรื่องง่าย Itaewon Class จึงเป็นเหมือนเรื่องราวที่ปลอบประโลมและให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวให้ยังสามารถใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดียิ่งกว่าเดิม แม้จะต้องเจออุปสรรคบ้างก็เป็นธรรมดาของชีวิต เพราะมันคือเส้นทางชีวิตที่เราเลือกเอง
“นี่หรือคือชีวิต ถ้าอย่างนั้น..ขออีกสักครั้ง”
To Know:
- Itaewon Class เป็นซีรีส์ที่สร้างจากเว็บตูนชื่อเดียวกัน โดยนักเขียน โจกวางจิน ที่มารับหน้าที่เขียนบทซีรีส์เองด้วย (อ่านเวอร์ชั่นเว็บตูนได้ที่ https://th.kakaowebtoon.com/content/Itaewon_class/52)
- เร็วๆ นี้ ซีรีส์กำลังจะถูกนำไปรีเมกเป็นเวอร์ชันญี่ปุ่น ในชื่อว่า ‘Roppongi Class’ โดยจะเริ่มออกอากาศในเดือนกรกฎาคมนี้
- ดูตัวอย่างซีรีส์ Itaewon Class ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=BoU8OOWOb5s โดยรับชมพร้อมซับไทยได้ทาง Netflix
- ติดตามชมรายการ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส ซีซัน 2 ตอน Itaewon Class เกมแค้นของคนชายขอบ ที่ส่งออก Soft Power ไปทั่วโลก ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=WbyXU4R0biY&t=26s
อ้างอิง:
- https://www.ajudaily.com/view/20200828093511376
- https://english.seoul.go.kr/itaewon-place-freedom-never-sleeps/#:~:text=Itaewon’s%20history%20of%20nightclubs%20dates,Western%20pop%20music%20in%20Seoul.
- https://hypebae.com/2020/6/lgbtq-representation-in-korean-tv-dramas-movies-k-pop-itaewon-class-hong-seok-cheon-history