‘ฉันคือ transgender’ มา ฮยอนอี แห่ง Itaewon Class กับบทบาทและเพศสภาพที่ท้าทายสังคมเกาหลี

Highlights

  • Itaewon Class คือซีรีส์เกาหลีว่าด้วยการต่อสู้ของ 'ทันบัม' ผับเล็กๆ ที่หวังโค่นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ในวงการอาหารอย่าง 'ชางกา' ให้ได้
  • นอกจากเส้นเรื่องการฟาดฟันทางธุรกิจจะทำให้ผู้ชมติดหนึบ อีกเรื่องที่น่าพูดถึงคือการที่สื่อกระแสหลักใส่ตัวละคร Ma Hyun-yi เชฟประจำร้านทันบัมที่ออกตัวว่าเป็น transgender กลางรายการแข่งทำอาหารระดับประเทศ ทำให้หลายคนแสดงท่าทีรังเกียจเธอ
  • ผลสำรวจชี้ว่า ที่คนเกาหลีใต้จำนวนหนึ่งยังไม่ยอมรับเพศหลากหลายอาจเป็นเพราะมีประชากรจำนวนน้อยที่มีคนรู้จักเป็น transgender ส่งผลให้ขาดความเข้าใจในเพศสภาพที่หลากหลาย ถึงอย่างนั้นแนวโน้มเรื่องสิทธิเสรีภาพและการยอมรับเพศหลากหลายก็กำลังเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

ใน Itaewon Class ซีรีส์เกาหลีกระแสแรงที่เพิ่งจบไป ว่าด้วยการต่อสู้ของ ‘ทัมบัม’ ผับเล็กๆ ที่ต้องการจะล้ม ‘ชางกา’ บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของวงการอาหาร นอกจากเส้นเรื่องการฟาดฟันทางธุรกิจของเถ้าแก่ Park Sae-roy จะทำให้คนดูติดหนึบแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้หลายคนฮือฮาคือการที่ทีมเขียนบทนำเรื่อง transgender มาใส่ในสื่อกระแสหลักของเกาหลี ผ่านตัวละคร Ma Hyun-yi เชฟประจำร้านทันบัม 

แม้ก่อนหน้านี้เราจะเคยเห็นตัวละครลักษณะนี้กันมาบ้างในสื่อเกาหลี เช่น ซีรีส์เรื่อง It’s Okay, That’s Love หรือภาพยนตร์ Man on High Heels แต่ตัวบทไม่ได้ส่งเสริมการยอมรับเพศสภาวะแบบตัวละครในเรื่องนี้ (ที่สำคัญนอกจาก transgender แล้ว Itaewon Class ยังมีตัวละคร ‘ลูกครึ่ง’ ที่ท้าทายประเด็นความหลากหลายทางเชื้อชาติในสังคมเกาหลีด้วย)

ฉากสำคัญหนึ่งคือครั้งที่มา ฮยอนอี เชฟประจำร้านทันบัม รวบรวมความกล้าแล้วพูดต่อหน้ากล้องนับสิบตัวในรายการแข่งทำอาหารระดับประเทศว่าตัวเองเป็น transgender โดยมีชาวทันบัมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งพัค แซรอย เจ้าของร้านที่สนับสนุนให้เธอเชื่อมั่นในตัวเองโดยไม่ต้องรอให้ใครมายอมรับ หรือ Jo Yi-seo ผู้จัดการร้านที่เรียกเธอว่า ‘ออนนี’ (คำที่ผู้หญิงใช้เรียกพี่สาว) แทนที่จะเรียกว่า ‘โอปป้า’ 

แต่ถึงสมาชิกในทีมจะให้การยอมรับ ก็ยังมีคนอื่นๆ ในห้องส่ง (และชาวเน็ตที่รู้ข่าว) ไม่ยอมรับเพศสภาพของเธอและวิจารณ์ไปในทางเสียๆ หายๆ เช่น พูดว่า น่าขยะแขยงจัง’ สะท้อนให้เห็นว่าการเป็น transgender ในสังคมเกาหลีนั้นเป็นเรื่องที่หนักหนาอยู่ไม่น้อย

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวทำนองนี้มาก่อนแล้วว่าสังคมเกาหลีไม่ค่อยเปิดรับเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้วทุกวันนี้ทัศนคติของคนเกาหลียังเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า

เมื่อไม่นานมานี้มีชาวเกาหลีตั้งกระทู้แสดงความเห็นเกี่ยวกับ transgender ว่า ‘เกิดมาเป็นโครโมโซม XY มีพริกห้อยอยู่ก็ต้องเป็นผู้ชายสิ ไร้สาระมากที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงและอยากเป็นผู้หญิงตั้งแต่เด็ก พวกแกก็แค่ผู้ชายมีพริก’ (สำหรับคนเกาหลี ‘พริก’ ในที่นี้หมายถึงอวัยวะเพศชาย) ส่วนในอีกกระทู้ ผู้ตั้งกระทู้บอกว่าตนชื่นชอบ Park Seo-joon ที่แสดงเป็นพัค แซรอย พระเอกของเรื่อง แต่พอเปิดดูซีรีส์แล้วมีตัวละครในเรื่องเป็น transgender ก็ถึงกับคิดไม่ตก กลัวว่าถ้าลูกๆ เห็นแล้วจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ จึงเลิกดูเรื่องนี้ไปเลย ซึ่งได้รับความเห็นทั้งในเชิงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยปะปนกันไป

นอกจากสองกระทู้ข้างต้น เรื่อง transgender ยังเป็นที่พูดถึงในกระทู้อื่นๆ อีก สร้างบทสนทนาและความเห็นหลายๆ แบบ เช่น ความเห็นหนึ่งที่บอกว่า ‘ยอมรับไม่ได้กับเหตุผลที่บอกว่าอยากเป็นผู้หญิง อยากให้เราเชื่อว่าพวกคุณเป็นผู้หญิงเพียงเพราะผมยาว มีหน้าอก แต่งหน้า และสวมส้นสูงอย่างนั้นเหรอ ทำตัวผิดธรรมชาติแบบนั้นสุดท้ายจะต้องถูกสวรรค์ลงโทษ’ แต่ในอีกมุมก็มีชาวเน็ตเกาหลีตั้งกระทู้ว่า ‘ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมในเรื่อง Itaewon Class ถึงมีคนด่า transgender ต้องเติบโตกันมาแบบไหนถึงพูดจาแบบนั้นได้ เธอไม่ได้ทำอะไรให้ใครเดือดร้อนเลย’

นั่นสิ ทำไมมา ฮยอนอี จึงต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใครเลย อีกทั้งบุคลิกของเธอในเรื่องก็ออกจะน่ารักและมีเสน่ห์

จากผลสำรวจความคิดเห็นของคนเกาหลีที่มีต่อ transgender ในสังคมและมุมมองเกี่ยวกับสิทธิทั่วไปของ transgender จาก UCLA ใน 500 คน มีคนจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เคยเจอ transgender เลยหรือเคยเจอแต่ไม่รู้ว่าเป็น transgender มีเพียง 12.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีเพื่อน คนรู้จัก หรือคนในครอบครัวเป็น transgender จะเห็นได้ว่ายังมีคนเกาหลีจำนวนมากที่ไม่รู้จักตัวตนหรือแม้กระทั่งเคยได้เจอคนที่เป็น transgender นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนเกาหลีจำนวนมากยังไม่ยอมรับ เพราะไม่รู้จักหรือมีความเข้าใจมากพอ  

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่า transgender คือคนที่มีความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยว่า transgender คือผู้ทำลายวัฒนธรรมและไม่รู้สึกเป็นห่วงเมื่อลูกหลานตัวเองต้องใกล้ชิดกับ transgender แม้จะมีคนที่รู้สึกเป็นกังวลอยู่บ้างแต่ถือว่าเป็นส่วนน้อย

ถึงอย่างนั้นแม้คนส่วนใหญ่จะยอมรับได้ แต่พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแต่งงานแล้วคนที่เห็นด้วยว่า transgender สามารถแต่งงานกับเพศเดียวกันได้กลับมีเพียง 37.1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวน 47.9 เปอร์เซ็นต์ สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ห้องน้ำ คนที่เห็นด้วยว่า transgender ควรเข้าห้องน้ำตามเพศสภาพปัจจุบันมีเพียง 29.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวน 54.2 เปอร์เซ็นต์

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามว่าควรให้ transgender ศัลยกรรมแปลงเพศได้หรือไม่ มีคนที่เห็นด้วยถึง 59.1 เปอร์เซ็นต์ และมีคนให้ความเห็นว่าไม่ควรเลือกปฏิบัติกับ transgender จำนวน 56.9 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมาก แต่อย่างน้อยจำนวนเกินครึ่งก็มองว่านี่เป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลและควรมีความเท่าเทียม 

เมื่อดูในมุมของกลุ่มนักศึกษาอย่าง Ewha Womans University มีการจัดตั้งกลุ่มรณรงค์สิทธิความเท่าเทียมสำหรับผู้ที่มีความหลายหลายทางเพศมาตั้งแต่ปี 2001 กลุ่มนักศึกษาได้จัดกิจกรรมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังคอยรับฟังปัญหาชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น หากอาจารย์ทำให้ตนเองรู้สึกแปลกแยก ตัวแทนกลุ่มจะเข้าไปเป็นตัวกลางในการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งสองฝ่าย

ถึงอย่างนั้นเราอาจบอกได้ว่าแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงเรื่องการยอมรับเพศหลากหลายยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะถึง Itaewon Class จะพยายามสร้างค่านิยมใหม่ๆ เกี่ยวกับ transgender ด้วยการสื่อสารว่าการเป็นเพศหลากหลายไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมายอมรับ แต่ที่สุดแล้วตัวละครมา ฮยอนอี ก็ยังรับบทโดยนักแสดงหญิง Lee Joo-young อยู่ดี

ที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะวนกลับไปที่ข้อมูลว่าจำนวน transgender ที่เปิดเผยตัวในเกาหลีใต้นั้นมีน้อยนิด ยิ่งในหมู่นักแสดงยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ ดังนั้นการจะให้นักแสดงที่เป็น transgender จริงๆ มารับบทจึงเป็นเรื่องยาก ถ้าจะให้เดาเหตุผลเบื้องหลังการใช้นักแสดงหญิงครั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าลึกๆ ผู้กำกับเองก็คงรู้ทิศทางความเห็นของผู้ชมว่ายังไม่ยอมรับ transgender ขนาดนั้น จึงเลือกหนทางที่ประนีประนอมกว่า (แม้จะนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์) ด้วยการใช้นักแสดงหญิงแทน

หากมองอีกทาง ผู้กำกับอาจคิดว่าอี จูยอง น่าจะเล่นบทบาทนี้ได้ดี ทำให้คนชื่นชอบและเข้าใจตัวละครได้ จนนำไปสู่การทำลายอคติที่มีต่อ transgender ในที่สุด (ในไทยเอง นักแสดงหญิงอย่างใบเฟิร์น–พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ ยังรับบทบาท trans ในละครเรื่องใบไม้ที่ปลิดปลิว ได้เลย)

อี จูยอง ผู้รับบทมา ฮยอนอี เองเคยให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้เธอคิดหนักมากว่าต้องเล่นบทบาทนี้ออกมายังไงดี สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจว่าจะแสดงเป็นมา ฮยอนอี ในแบบที่คำนึงถึงตัวตนของตัวละครมากกว่าที่จะยึดติดกับเรื่องเพศ

ถึงแม้ transgender จะยังไม่ได้รับการยอมรับนักในสังคมเกาหลี แต่ก็มีคนที่เห็นต่างและเห็นว่า transgender ควรได้รับสิทธิที่พึงมีเช่นเดียวกับคนอื่นในฐานะมนุษย์ด้วยกัน

หลังจาก Itaewon Class จบไปแล้ว บทบาทของสื่อและสังคมเกาหลีก็อาจจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลง จนท้ายที่สุด transgender อาจไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในความนึกคิดของคนเกาหลีอีกต่อไป

AUTHOR