Nina Sach นักวาดที่สนุกกับการทดลองเทคนิคใหม่ๆ แล้วถ่ายทอดผ่านรูปทรงและสีสัน

หลายคนน่าจะเริ่มรู้จัก Nina Sach หรือ นีน่า–พริติกา สัจจะนันดานี เป็นครั้งแรกจากผลงานคีย์วิชวลของเทศกาลหนังสือ Lit Fest 2020 ที่โดดเด่นสะดุดตาด้วยรูปทรงและสีสันอันจัดจ้าน

ผู้คน วัตถุสิ่งของ ไปจนถึงสิ่งที่ดูเป็นนามธรรม เมื่อผ่านมุมมองและการตีความจากเธอออกมาเป็นภาพที่มีเส้นสีแสงเงาแล้ว กลับให้ความรู้สึกที่ต่างออกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง เหมือนเป็นโลกอีกมิติยังไงยังงั้น

ตั้งแต่เด็ก นีน่าชอบขีดๆ เขียนๆ และมีสมุดสเกตช์ภาพหลายเล่มเป็นของคู่ใจ กระทั่งได้ขยับมาจับคอมพิวเตอร์และฝึกใช้โปรแกรม Photoshop ก่อนค้นพบว่าเธอเอนจอยกับสิ่งนี้มาก โดยเฉพาะการได้ลองทำธีมใน hi5 และภาพแบนเนอร์ในเว็บบอร์ดต่างๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น ก่อนที่จะกลับมาจริงจังกับการวาดรูปยิ่งขึ้นในช่วงมัธยมปลายที่เริ่มติวศิลปะสำหรับสอบเข้ามหาวิทยาลัย

“เราตั้งใจอยากเข้าคณะมัณฑนศิลป์ ตัดสินใจกับตัวเองได้ว่าอยากเรียนนิเทศศิลป์ เพราะรู้ตัวว่าเราชอบทำงานภาพประกอบ ออกแบบโปสเตอร์ เรียกได้ว่าเดินตรงมาทางสายกราฟิกเลย”

“การทำงานของเราจะเน้นการทดลองกับเทคนิคเป็นหลัก อย่างช่วงนี้เราสนใจเทคนิคที่ใช้ในงานแนว 80s airbrush และ retro sci-fi illustration เป็นพิเศษ เพราะงั้นแล้วในงานส่วนตัวก็จะไม่ค่อยมีเรื่องราวอะไรมากไปกว่าการวาดรูปเล่น เพื่อพัฒนาสไตล์งานให้ถูกใจตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาเป็นสไตล์ภาพประกอบของเราเองจนถึงทุกวันนี้”

เวลาเริ่มทำงานสักชิ้น นีน่ามักจะมีภาพเสร็จในหัวชัดเจนแล้วประมาณหนึ่งก่อนลงมือวาด หลายครั้งเธอมักวาดลงสมุดสเกตช์ ก่อนดราฟต์มาปรับลายเส้นต่อในคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีไม่น้อยที่ในระหว่างทางงานอาจมีการปรับเปลี่ยนไปจากการลอง explore สีใหม่ๆ ของเธอ และถึงแม้งานที่เสร็จออกมาจะไม่ตรงกับที่คิดไว้ตอนแรก แต่สุดท้ายถ้าผลลัพธ์ออกมาน่าพอใจ เธอก็ชอบมันไม่ต่างกัน

“เราเริ่มจากการทดลองตัดทอนรูปทรงและสนุกกับการใช้สีในงานมาเรื่อยๆ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเรียนกราฟิกมาด้วย พอวาดไปเรื่อยๆ แล้วรู้สึกเข้ามือมากกว่า เหมือนเจอจังหวะของลายเส้นที่ถูกต้อง และส่วนตัวก็สนุกกับตอนที่ได้ไล่สีทำกราเดียนต์ มันเลยทำให้งานของเราส่วนใหญ่มีแต่สีสดๆ อีกอย่างเมื่อก่อนเราวาดและใช้บรัชเยอะมาก เป็นแนวปาดๆ สีโดยที่ไม่คิดเรื่องหลักแสงเงาเท่าไหร่ ทำให้รู้สึกว่างานสมัยก่อนไม่ค่อยมีมิติ ค่อนข้างแบน ก็เลยกลับไปรื้อวิชาดรอว์อิ้งเพื่อฝึกการสร้างน้ำหนักและแสงเงาเพิ่ม”

ที่ผ่านมานีน่าเคยมีโอกาสออกแบบคีย์วิชวลงาน LIT Fest 2020 และ Bangkok Illustration Fair 2021 ตอนทำงานประจำเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ รวมถึงทำภาพประกอบอีเวนต์ต่างๆ ออกแบบโปสเตอร์ให้ Mutual Bar และปกเพลงให้ Offline Disco Club ด้วย

เพื่อให้ทุกคนเห็นสไตล์ของนีน่าอย่างชัดเจนขึ้น เราจึงชวนเธอเลือก 5 ผลงานที่ชอบที่สุดมาให้ทุกคนดูกัน พร้อมกับคำอธิบายถึงเบื้องหลังการสร้างสรรรค์ผลงานเหล่านี้

Femme

“ชิ้นนี้เป็นงานที่เรา explore รูปทรงด้วยโจทย์ของความเป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นความสนใจส่วนตัว รู้สึกว่าอยากลองวาดสัดส่วนผู้หญิงที่มีส่วนเว้าโค้งชัด เลยเริ่มวาดจากการดูรูปจริงของพวกนางแบบที่โพสท่าต่างๆ ก่อนตัดทอนออกมาเป็นฟอร์มเรขาคณิต

“งานนี้ได้ทำออกมาเป็น zine ภาพประกอบ 20 หน้า พิมพ์ด้วยเทคนิค Risograph เราเลยกำหนดสีที่ใช้ไว้ 2 สี โดยวางขายในงาน Bangkok Art Book Fair 2019”

Obj.of my affections

Nina Sach

“เล่มนี้ก็เป็นการทำ zine เล่นเหมือนกัน เริ่มจากตอนที่สังเกตว่าเราชอบวาดแจกันดอกไม้ในสมุดอยู่บ่อยๆ หลังจากนั้นก็เลยลองวาดรูปทรงสิ่งของอื่นๆ ตามมา เช่น โต๊ะ เก้าอี้ นาฬิกา หรือวัตถุที่เห็นแล้วอยากให้มีอยู่แล้วใช้ได้จริง”

ห้องรับแขก

Nina Sach

“ได้วาดชิ้นนี้ในคอลัมน์ภาพประกอบของ a day ฉบับคนไทยเชื้อสายอินเดีย เราต้องการตั้งคำถามผ่านการเล่นกับคำว่า ‘แขก’ ว่าทำไมเราถึงโดนเรียกว่าแขก (คนแปลกหน้า) ทั้งที่จริงๆ แล้วเราอยู่ในบ้านตัวเอง (ประเทศไทย)”

Dream dwellers

Nina Sach

“ชิ้นนี้วาดตอนช่วงโควิด-19 ที่ต้องอยู่บ้าน เริ่มจากที่เราอยากทำงานปรินต์ติดห้องตัวเอง เนื้อหาเลยออกมาตามภาพเลย นั่นคือ ผู้หญิงอยู่ในห้อง แต่ที่สนุกและมีกิมมิกคือเราลองทำให้สองด้านของชิ้นงานมันเชื่อมกัน ดังนั้นถ้าเอามาต่อกันมันจะลูปภาพต่อไปได้เรื่อยๆ”

Untitled

Nina Sach

“ส่วนชิ้นนี้เป็นงานช่วงที่ลองวาดล่าสุด ยังไม่ได้ตั้งชื่อให้ พยายามจะวาดรูปทรงที่ดูเป็น figurative และเข้าใกล้ความเป็นเรียลลิสติกมากขึ้น อยากลองทำอะไรใหม่ๆ และเป็นการสำรวจตัวเองด้วย”


ช่องทางติดตามผลงาน Nina Sach

AUTHOR