lili.tae นักวาดผู้แปลงความหลงใหลในภาพพิมพ์เอเชียให้เป็นภาพแฟนตาซีสีสดบนแคนวาสดิจิทัล

ภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่นโบราณ ที่มาพร้อมสตอรีสุดแฟนตาซีและสีสันฉูดฉาด น่าจะเป็นคำจำกัดความที่เราใช้นิยามผลงานของ lili.tae หรือ ลิลี่–ภิญญ์ฑิตา เตชะมงคลาภิวัฒน์ ได้เป็นอย่างดี

แต่หากใครเคยแวะไปเยี่ยมชมผลงานในหน้าฟีดอินสตาแกรมของเจ้าตัว แล้วเพลิดเพลินกับการไถฟีดลงไปเรื่อยๆ อาจพบว่าก่อนหน้าจะเป็นฟีดภาพสีสันสดสไตล์ชัดนี้ ภาพส่วนใหญ่ในอดีตของเธอกลับเป็นงานสเกตช์รายละเอียดยิบด้วยปากกาเสียมากกว่า

และการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด จากหน้ากระดาษขาวสู่แคนวาสดิจิทัลนี้ ล้วนเกิดขึ้นพร้อมกับตัวตนของลิลี่ที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน

ไม่ต่างจากเรื่องราวการเป็นศิลปินของใครหลายๆ คน ลิลี่เองก็ชอบวาดรูปมาตั้งแต่ยังจำความได้ และด้วยความที่ทุกเย็นเด็กหญิงลิลี่จะต้องไปรอคุณป้าซึ่งเป็นผู้จัดการแบรนด์เสื้อแบรนด์หนึ่งที่บริษัทเพื่อกลับบ้านพร้อมกัน เธอจึงมีโอกาสได้เห็นงานออกแบบประเภทต่างๆ ทั้งงานดีไซน์ตัดเย็บ งานคอลเล็กชั่นบุ๊ก ซึ่งแตกต่างไปจากการวาดรูปเฉยๆ อย่างที่เธอคุ้นเคย และนั่นทำให้เธอได้รู้ว่าแท้จริงแล้วโลกของศิลปะนั้นกว้างขวางมากแค่ไหน

ประจวบเหมาะกับที่คณะ Communication Design ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิ่งจะเปิดได้ไม่นาน ลิลี่จึงไม่ลังเลที่จะเลือกเรียนในด้านนี้ เพราะเธอเชื่อว่าหลักสูตรที่เปิดกว้างของคณะจะทำให้เธอได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ในแบบที่เธอไม่เคยทำมาก่อน

“เราเริ่มมาวาดรูปจริงจังตอนเรียนมหาวิทยาลัย ยิ่งมาเรียนด้านดีไซน์ เราก็อยากตั้งใจกับการวาดรูปมากขึ้น พอตั้งเป้าว่าอยากทำงานแบบตั้งใจ เราเลยลองวาดรูปแบบเส้นละเอียดๆ เพราะเรามองว่ามันเป็นการฝึกตัวเองแบบหนึ่ง ที่นี้พอเรียนจบไม่นาน เราก็ทำงานเลย ไม่ได้มีเวลามาค้นหาตัวเองหรอกว่าเราทำอะไรได้อีกบ้าง พอทำงานไปได้ปีหนึ่ง เลยตัดสินใจออกจากงานไปเรียนต่อ 

“ระหว่างนั้นเราได้มีโอกาสไปร่วมงาน Unknown Asia ที่โอซาก้า เราก็ทำงานลายเส้นไปแสดงนี่แหละ แต่พอไปถึงที่นั่น เราเห็นคนเอางานมาวางหลากหลายเต็มไปหมดเลย มันทำให้เราเริ่มรู้สึกว่างานของเราไม่ได้เป็นตัวเราขนาดนั้น เพราะจริงๆ เราชอบสีสันมาก แต่บางทีมันก็ติดว่าเราเพนต์ไม่เก่ง เลยไม่กล้าลองอะไรจริงจังเสียที”

การตัดสินใจไปเรียนต่อในด้าน Sequential Design/Illustration ที่ University of Brighton จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของลิลี่ ที่นั่นเธอได้พบกับผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม หลายช่วงอายุ และได้เห็นตัวอย่างงานดีๆ จากศิลปินท้องถิ่นมากมาย

บทเรียนในห้องทำให้ลิลี่เริ่มหันมาจับงานดิจิทัลแบบจริงจัง จนพบว่าการแก้ไขได้แม้จะพลาดสักกี่ครั้ง ทำให้เธอกล้าลองใช้สี กล้าประยุกต์เทคนิคต่างๆ เข้ากับงาน และทำให้เธอได้ให้โอกาสตัวเองมากขึ้น จากภาพลายเส้นละเอียดในตอนนั้นจึงค่อยๆ พัฒนามาเป็นภาพวาดประยุกต์ ที่หยิบเอาความเป็นญี่ปุ่น มาผสมกับความแฟนตาซี ซึ่งเป็นสไตล์ที่เธอออกปากว่าเป็นตัวเองมากที่สุด

“เราเริ่มเอาสิ่งที่เราชอบเสพมาใช้กับงานของเรา อย่างงานภาพพิมพ์จีนที่ครูชอบเปิดให้เราวาดสมัยเรียนภาษาจีนตอนเด็กๆ งานภาพพิมพ์เก่าๆ ที่ติดในบ้าน แล้วก็พวกเรื่องผีญี่ปุ่นที่มีความแปลก มีความอธิบายไม่ได้ ซึ่งเราชอบมากจนหยิบมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน

“พอหันมาทำงานที่มีสีสันสดใส เป็นตัวเองมากขึ้น มันทำให้เรารู้สึกเลยว่าเรามีความสุขกับการทำงานจริงๆ เราสามารถทำงานไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องฝืนทำงานให้เสร็จ แล้วสิ่งนี้ก็น่าจะออกมาจากภาพของเราด้วย มันทำให้คนที่มาเห็นงานเรามีความสุขตามไปด้วยเหมือนกัน”

ความสุขและเอกลักษณ์ที่ฉายชัดออกมาจากงาน ทำให้ผู้คนเริ่มชักชวนลิลี่ไปทำงานที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการไปร่วมสกรีนเสื้อกับศิลปินท้องถิ่นที่ไบรตัน แบรนด์ Moress ที่หยิบเอาภาพวาดสองมิติของเธอไปขึ้นเป็นงานลูกปัดขนาดจิ๋ว หรือ The Archivist สตูดิโอสกรีนปรินต์ที่มักจะชักชวนเธอไปทำงานสกรีนอยู่เรื่อยๆ  

เราเลยขอชวนลิลี่มาแนะนำ 5 ผลงานที่เธอชื่นชอบมากที่สุด และน่าจะบอกความเป็นลิลี่ได้ชัดเจนที่สุดด้วยเช่นกัน


Bombsai 

เทคนิค : สกรีนปรินต์

lili.tae Bombsai

“ตรงตามชื่อภาพเลย ภาพนี้เป็นภาพระเบิดนิวเคลียร์ผสมกับต้นไม้ มันเป็นงานที่เราวาดเพราะอยู่ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่าระเบิดมันก็เหมือนต้นไม้อยู่นะ แต่ความจริงระเบิดกับต้นไม้ก็แตกต่างกันมากเช่นกัน เป็นเรื่องที่คิดแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจดี 

“ตอนนั้นเราเองก็ชอบทำงานสกรีนเป็นภาพพิมพ์อยู่แล้ว เลยมักจะเอางานไปสกรีนที่ The Archivist บ่อยๆ พอพี่ๆ ที่นั่นมาเห็นภาพนี้ของเราด้วย เขาก็ชวนเราเอาภาพนี้ไปสกรีนเพิ่ม งานนี้เลยน่าจะเป็นงานที่สีแปร๋นที่สุดเท่าที่เราเคยทำมาแล้วมั้ง”


Cat Person

เทคนิค : สกรีนปรินต์

lili.tae Cat Person

“ภาพนี้ก็เป็นภาพที่เราทำแล้วไปสแกนที่ The Archivist เหมือนกัน มันไม่ได้มีคอนเซปต์อะไรพิเศษเลย แค่แมวกับลูกแก้ว คือสมัยก่อนมันจะมีลูกแก้วที่เราเล่นตอนเด็กๆ เรียกว่า cat eye marble ซึ่งมันทำให้เรานึกถึงตาแมวจริงๆ เลยลองเอาแมวกับลูกแก้วตาแมวมาผสมกัน ถึงภาพนี้จะไม่มีอะไรพิเศษ แต่ก็เป็นภาพที่เราชอบมาก เราชอบฟอร์ม ชอบภาพรวม ชอบการใช้สี เราเลือกใช้สีขาวทำให้ลูกแก้วสะท้อน และทำให้ขนแมวดูฟู”


Koisen

เทคนิค : ดิจิทัล

lili.tae Koisen

“เราชอบบรรยากาศของการขึ้นรถไฟมาก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟอะไรก็ตาม ตอนเรากลับมาจากอังกฤษก็กะว่าจะไปเที่ยวญี่ปุ่นต่อด้วย แต่ดันมาเจอโควิดเสียก่อน พอไม่ได้ไปเลยนึกถึงญี่ปุ่นขึ้นมา แล้วพอพูดถึงญี่ปุ่น สิ่งแรกๆ ที่เรานึกถึงก็คือรถไฟ เราเลยหยิบรถไฟมาทวิสต์ด้วยไอเดียของเรา ภาพนี้เลยเป็นการผสมกันระหว่างปลากับรถไฟ

“ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าเราชอบวาดรูปสัตว์ เพราะเรารู้สึกว่าสัตว์มีฟอร์มที่น่าสนใจ แล้วเราก็ชอบธรรมชาติอยู่แล้ว เลยอยากหยิบพวกปลา แมลง ต้นไม้มาใส่ไว้ในงานด้วย”


Swiggle 02

เทคนิค : ดิจิทัล

lili.tae Swiggle 02

“จริงๆ งานชุดนี้มีสองภาพ แต่เราชอบภาพนี้มากกว่า ซึ่งเราได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่เราเล่นเลเซอร์กับแมวที่บ้าน แล้วอยู่ๆ ก็คิดขึ้นมาว่าถ้าเราเอาเลเซอร์ไปติดไว้กับแมวแล้วปล่อยให้มันวิ่งไปเรื่อยๆ มันคงได้ภาพของเส้นที่วุ่นวายดีเหมือนกันนะ พอนึกได้แบบนั้นก็เลยวาดภาพนี้ออกมาเลย”


Skydiving

เทคนิค : ดิจิทัล

lili.tae Skydiving

“ภาพนี้เป็นภาพที่เราทำสมัยเรียนอยู่ที่อังกฤษ เป็นงานที่เราลองทำการ์ตูนแบบหน้าเดียวจบ เป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่กระโดดลงน้ำ แล้วว่ายน้ำลึกลงไปเรื่อยๆ แต่ว่ายไปว่ายมาดันมาโผล่บนฟ้าอีกที งานชิ้นนี้เป็นงานทดลองที่เราชอบมาก แล้วในอนาคตก็อยากจะลองทำงานแนวนี้อีกเยอะๆ เหมือนกัน”


ติดตามผลงานของ lili.tae ได้ที่อินสตาแกรม

AUTHOR