ร่องรอยสงครามและการย้ายถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยในสารคดีของ Gianfranco Rosi

นิตยสาร a day ฉบับที่ 249 ที่มีธีมว่าด้วย global citizen หรือ ‘พลเมืองโลก’ ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจและอินเทรนด์อย่างยิ่ง ผู้เขียนสังเกตได้ว่าแนวคิดประเภท “ฉันเกิดประเทศ A ฉันก็ต้องเติบโตและทำงานในประเทศ A และตายที่ประเทศ A” กำลังค่อยๆ เลือนหายไป รอบตัวผู้เขียนมีทั้งเพื่อนที่ย้ายไปอยู่กับคนรักที่ฝรั่งเศส รุ่นพี่ผู้ตัดสินใจไปทำงานในญี่ปุ่นอย่างไม่มีกำหนดกลับ หรือรุ่นน้องที่ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาแต่ก็ตัดสินใจไปเอาปริญญาอีกใบที่ฟินแลนด์เพราะสถานการณ์เมืองไทยยังไม่สู้ดีนัก ทั้งในแง่โรคระบาด เศรษฐกิจ และการเมือง Gianfranco Rosi

ที่ว่าไปข้างต้นคงเข้าข่าย ‘ผู้อพยพ’ (immigrant) ที่ตามนิยามแล้วคือผู้สามารถเลือกจะย้ายถิ่นฐานได้ ต่างจาก ‘ผู้ลี้ภัย’ (refugee) ที่ถูกบังคับให้ออกจากประเทศบ้านเกิด เช่น จากภาวะสงครามหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เมื่อพิจารณาผู้ลี้ภัยในมิติของ global citizen แล้วก็มีประเด็นถกเถียงกันมายาวนาน แม้เราจะเชื่อว่าเราไม่ใช่แค่คนของประเทศเกิด แต่ยังเป็นคนของโลก ทว่าสำหรับผู้ลี้ภัยมันอาจไม่ง่ายขนาดนั้น บางครั้งหลบหนีไปยังประเทศที่ไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัยหรือไม่มีนโยบายช่วยเหลือ จนไม่ได้ทั้งสัญชาติหรือสวัสดิการต่างๆ ประสบปัญหาเรื่องการปรับตัวหรือวิกฤตทางอัตลักษณ์ หรือลูกที่เกิดมาอาจกลายเป็นคนไร้สัญชาติ

Gianfranco Rosi

ภาพยนตร์ว่าด้วยผู้ลี้ภัยที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุดเรื่องหนึ่งคือ Fire at Sea (2016) ของผู้กำกับสารคดีชาวอิตาลี Gianfranco Rosi ที่นำเสนอเรื่องวิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรปได้อย่างคมคาย แต่ไหนๆ แล้วผู้เขียนก็เลยอยากจะเล่าถึงหนังสำคัญทั้งหมดของโรซี เพราะเขาคือคนทำหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนจากหลากหลายมุมโลกได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

โรซีเกิดเมื่อปี 1963 เรียนจบด้านภาพยนตร์จาก New York University ช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่นเขาใช้ชีวิตในหลายประเทศ ทั้งเอริเทรีย อิตาลี ตุรกี และสหรัฐอเมริกา นั่นทำให้เขาสนใจในวัฒนธรรมที่หลากหลาย โรซีเริ่มทำสารคดีตั้งแต่ช่วงยุค 90s มีทั้งเรื่องที่ไปถ่ายทำในอินเดีย อเมริกา และเม็กซิโก โดยมักใช้เวลาถ่ายหนังเรื่องหนึ่งยาวสามถึงห้าปี ส่งผลให้ช่วงสองทศวรรษแรกของอาชีพคนทำสารคดี เขามีผลงานเพียง 3 เรื่องเท่านั้น

งานของโรซีเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับโลกช่วงทศวรรษ 2010 จาก Sacro GRA (2013) สารคดีติดตามผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่บริเวณ Grande Raccordo Anulare หรือถนนวงแหวนที่อยู่รอบกรุงโรม หนังเรื่องนี้คว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเวนิส ตามมาด้วยเสียงครหาพอสมควร เพราะปีนั้นประธานกรรมการคือ Bernardo Bertolucci ผู้กำกับชาวอิตาลีคนดัง หลายฝ่ายเลยแซะว่านี่เป็นการอวยคนในชาติกันเองหรือเปล่า

การได้รางวัลใหญ่ของ Sacro GRA เป็นเรื่องถกเถียงพอสมควรเพราะมันเป็นหนังประเภทที่ดูจบไปแล้วอาจเกิดอาการงงๆ ว่านี่ฉันดูอะไรไป โรซีค่อนข้างเว้นระยะห่างกับซับเจกต์ที่เขาถ่าย หนังจึงไม่มีฉากสัมภาษณ์หน้ากล้อง (talking head) แม้แต่ฉากเดียว กล้องเพียงบันทึกภาพกิจวัตรประจำวันหรือบทสนทนาของผู้คน อาทิ บุรุษพยาบาลพูดคุยกับคนไข้บนรถฉุกเฉิน หรือนักพฤกษศาสตร์บันทึกเสียงแมลงกัดกินต้นไม้ หนังถูกโจมตีที่ไม่อธิบายบริบทของชุมชนนี้ แต่อีกฝั่งก็ชมว่านี่คือสารคดีบริสุทธิ์ที่หาดูได้ยาก ท่ามกลางสารคดีร่วมสมัยที่ ‘ปรุงแต่ง’ ยิ่งกว่าหนังฟิกชั่นเสียอีก

Gianfranco Rosi

ในผลงานถัดมาอย่าง Fire at Sea (2016) โรซีไปถ่ายทำที่เกาะลัมเปดูซา ซึ่งอยู่ตอนใต้ของอิตาลี มันกลายเป็น ‘ด่านแรก’ ของผู้ลี้ภัยที่มุ่งสู่ยุโรปด้วยการโดยสารเรือโดยปริยาย หนังคว้ารางวัลหมีทองจากเทศกาลหนังเบอร์ลิน ซึ่งแทบจะเป็นหวยล็อก เนื่องจากช่วงนั้นกระแสเรื่องวิกฤตผู้ลี้ภัยกำลังมาแรง ถึงกระนั้น Fire at Sea ก็ได้เสียงวิจารณ์แง่บวก แม้ว่าหนังจะดูยากพอควรด้วยความนิ่งช้าของมัน ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนฉายหนังเรื่องนี้ในชั้นเรียน นักศึกษาก็เดินออกไปราวครึ่งห้อง

ความพิสดารของ Fire at Sea คือแทนที่จะขับเน้นชะตากรรมรันทดของผู้ลี้ภัยแบบที่สารคดีแนวนี้ชอบทำ หนังกลับแบ่งเส้นเรื่องเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน เส้นหนึ่งคือเรื่องของเด็กชายที่เป็นชาวท้องถิ่น ส่วนอีกเส้นคือเหล่าผู้ลี้ภัยที่ทยอยกันโล้เรือขึ้นเกาะลัมเปดูซา โดยที่เด็กชายผู้เป็นตัวหลักกับผู้ลี้ภัยนั้นไม่เคยร่วมเฟรมหรือมีปฏิสัมพันธ์กันเลย ราวกับโรซีพยายามจะนำเสนออย่างสมดุลว่าชาวท้องถิ่นหรือผู้ลี้ภัยก็ล้วนมีชีวิตเป็นของตัวเอง ความเห็นอกเห็นใจมันไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใดเหมือนในโฆษณาการกุศล ดังนั้นเขาจึงถ่ายทอดความเป็นไปบนเกาะนี้อย่างที่มันเป็น โดยไม่ต้องสงสารหรือว่าร้ายฝ่ายใด

ส่วน Notturno (2020) คือผลงานล่าสุดของโรซีที่ถ่ายทำตามชายแดนซีเรีย เลบานอน อิรัก และเคอร์ดิสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองซีเรีย โรซีใช้เวลาถ่ายหนังเรื่องนี้ถึงสามปีจนได้ฟุตเทจมาราว 90 ชั่วโมง และสุดท้ายตัดต่อให้กลายเป็นสารคดีความยาว 100 นาที

แม้จะเป็นพื้นที่สงคราม หากแต่หนังไม่ได้มีฉากการปะทะยิงหรือระเบิดตูมตามใดๆ เลย หนังกลับเน้นไปที่ช่วงเวลาว้างเวิ้งว่างเปล่าที่เหล่าทหารยืนเฝ้ายามไปเรื่อยๆ การบุกค้นตึกที่ไม่พบอะไร หรือกลุ่มทหารหญิงที่นอนเล่นแท็บแล็ตอย่างเบื่อหน่าย นอกจากนั้นโรซียังจงใจถ่ายภาพคนในระยะไกล ทำให้พวกเขาดูตัวเล็กกระจ้อยร่อยท่ามกลางธรรมชาติอันแสนยิ่งใหญ่ ทั้งนี้ Notturno ยังเป็นหนังที่ถ่ายภาพอย่างสวยงามและทรงพลัง ต่างจากหนังของโรซีเรื่องก่อนหน้าที่อาจไม่ได้มีความเนี้ยบด้านโปรดักชั่นมากนัก      

แต่ใช่ว่าโรซีจะสื่อว่าดินแดนเหล่านี้สงบสุขแล้ว หากแต่ความไม่สงบมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มีฉากหนุ่มสาวเดตกันบนดาดฟ้า แต่มีเสียงยิงปืนดังอยู่ไกลๆ หรือฉากชายคนหนึ่งพายเรือออกไปยิงนกเป็ดน้ำ เราเห็นแสงสีส้มเป็นฉากหลัง แวบแรกคิดว่านั่นคือพระอาทิตย์ตกดิน แต่พอมองให้ดีมันอาจเป็นอาคารบ้านเรือนที่กำลังไฟไหม้จากระเบิดก็เป็นได้

Gianfranco Rosi

มีหลายฉากใน Notturno ที่ชวนทึ่งว่าโรซีทำยังไงถึงสามารถถ่ายมาได้ ไม่ว่าจะฉากคนไข้ในโรงพยาบาลจิตเวชซ้อมละครเวทีหรือนักโทษที่อยู่กันอย่างแออัดในคุก แต่ฉากที่ผู้เขียนคิดว่ากระทบความรู้สึกที่สุดน่าจะเป็นฉากคุณครูให้นักเรียนวาดรูปสิ่งที่ตัวเองพบเจอจากกลุ่ม ISIS (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น IS) เด็กหลายคนได้เห็นการทรมานอันโหดร้าย เด็กบางคนประสบกับตัวเอง เราอาจตะขิดตะขวงว่ากระบวนการสอนของครูจะไปตอกย้ำสภาพจิตใจของนักเรียนหรือเปล่า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือสิ่งที่พวกเขาผ่านมาอย่างแท้จริงและจะเป็นบาดแผลติดตัวไปตลอดชีวิต

โรซีให้สัมภาษณ์ว่าช่วงเวลา 3 ปีที่เขาถ่ายหนังเรื่อง Notturno ไม่ได้ทำให้เขาเข้าใจสถานการณ์ในตะวันออกกลางมากขึ้น หากแต่จะทำให้เข้าใจน้อยลง เพราะมันเป็นสงครามและพื้นที่ที่มีความซับซ้อนมาก นี่อาจเป็นเหตุผลที่เขาเลือกจะไม่เล่าว่าซับเจกต์ในหนังคือใคร มีภูมิหลังแบบไหน และมีชะตากรรมยังไง แต่ผู้กำกับเลือกจะฉายภาพคนที่ยังมีชีวิตรอดและต้องดำเนินชีวิตต่อไป โจทย์สั้นๆ ที่ทำได้ลำบากสาหัสสำหรับทุกผู้คนในสารคดีเรื่องนี้

AUTHOR