ปลายปี 2018 หลังเหตุการณ์ 13 หมูป่าติดถ้ำไม่นาน บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ได้รับการติดต่อจาก จอห์น เปน็อตติ ผู้อำนวยการสร้างจาก SK Global Entertainment ให้มากำกับซีรีส์เรื่องนี้
บาสติดตามข่าวมาตลอด รู้ว่าสตอรี่นี้น่าถูกทำเป็นหนัง และหวังลึกๆ ว่าถ้าได้กำกับก็คงจะดี เมื่อได้รับการทาบทาม เขาจึงกระโดดคว้าโอกาสนี้ไว้
22 กันยายน 2022 ลิมิเต็ดซีรีส์ Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง เริ่มฉายทาง Netflix และทำผลงานได้น่าประทับใจโดยในสัปดาห์แรก ขึ้นถึงอันดับ 1 ในประเทศไทย และอันดับ 8 Global ในหมวด TV (Non-English) ที่มีจำนวนชั่วโมงการรับชมสูงสุด
นี่คือผลงานล่าสุด ถัดจากภาพยนตร์เรื่อง One for the Road และเป็นการกำกับซีรีส์เรื่องแรกของบาส พูนพิริยะ เขารับหน้าที่กำกับตอนที่ 1 กับ 4 ของซีรีส์ที่มีความยาว 6 ตอนเรื่องนี้ ซึ่งเป็นผลงานออริจินัลของเน็ตฟลิกซ์โดยความร่วมมือระหว่างอินเตอร์เนชั่นแนลกับไทย
งานใหม่กับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่บาสบอกว่าได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเหมือนได้กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง
โดยทั่วไปแล้วการมี Netflix หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในยุคนี้ที่คนสามารถดูได้ทั่วโลก มันส่งผลต่อการทำงานคุณในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ยังไงบ้างมั้ย
ไม่เลย ไม่ได้มีผลอะไรเลย ไม่ว่ามันจะเล่าด้วยเวลาที่สั้นหรือเวลาที่ยาว ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือเป็นซีรี่ส์ จะฉายในโรงหรือฉายในทีวี สตอรี่ที่ดีก็คือสตอรี่ที่ดี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมันได้
อย่างเรื่องนี้จริงๆ ก็ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ผมทำเลยนะ เพราะสุดท้ายโดยสตอรี่เองมันยูนิเวอร์แซลอยู่แล้ว ด้วยเรื่อง เหตุการณ์ ตัวละคร หรือภารกิจ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกสามารถเชื่อมโยงได้ง่าย หน้าที่ของผมในฐานะผู้กำกับก็คือการพยายามทำให้การเล่าเรื่องราวนี้มันออกมาเข้มข้น อีโมชั่นนอล และมีความหมายให้ได้มากที่สุด
คุณไม่ต้องคิดเผื่อเหรอว่า ต้องทำให้ดูในโทรศัพท์ได้นะ หรือจังหวะในการเล่าเรื่องที่เดี๋ยวนี้คนมีวัฒนธรรมการดูแบบ skip ตอนที่ไม่อยากดูอะไรแบบนี้
ผมไม่รู้ว่าคนอื่นต้องคิดเผื่อหรือเปล่า แต่ผมไม่ได้คิด แนวคิดการทำงานของผม เมื่อก่อนไม่ว่าจะเป็นตอนทำหนัง มันฉายในโรงหนัง แต่ผมรู้ว่าวันหนึ่งเดี๋ยวมันก็จะมาฉายในทีวี วันหนึ่งคนก็จะมาดูในไอแพด มือถือ เพราะฉะนั้นผมไม่ได้คิดว่า อ๋อ หนังเรื่องนี้กูต้องถ่ายกว้างอย่างเดียว เพื่อให้คนดูเก็บดีเทลในโรง แต่ผมจะถ่ายเก็บทุกอารมณ์ในรายละเอียดทุกด้านของฉากนั้นอยู่แล้ว อันนี้คือตัวผมเองนะ ไม่ได้บอกว่าวิธีการทำแบบนี้ถูกหรือผิด เป็นวิธีการทำงานแบบหนึ่ง ไม่ได้รู้สึกว่าต้องปรับตัวอะไรขนาดนั้น เพราะว่าเอาจริงๆ เลยเวลาเราคุยกันเรื่องสเกลพวกนี้มันก็คือ กว้าง กลาง แคบ แค่นี้เลย
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราแคร์สิ่งเหล่านี้มากเกินไป มันจะทำให้การทำงานของเราปนเปื้อนเหมือนกัน สุดท้ายสำหรับผม ในฐานะผู้กำกับ ผมแคร์แค่ว่าเวลาอ่านบทเล่มนั้นผมรู้สึกอย่างไร อยากเห็นอะไร ไม่อยากเห็นอะไร แล้วก็ทำสิ่งนั้น ที่เหลือเป็นสิ่งที่ผมคอนโทรลไม่ได้ ผมคอนโทรลได้แค่บทหน้านี้ ผมอ่านแล้วควรจะต้องรู้สึกแบบนี้ แล้วผมก็จะทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุดในการถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านั้น
ทีนี้คนดูคนไหน pick-up สิ่งนั้นได้ก็ดี ถ้าเขาดูแล้วเขา pick-up ไม่ได้ เขาเบื่อเขาจะ skip ก็โอเค แต่เราในฐานะคนทำงานเราคอนโทรลไม่ได้ทั้งหมด คอนโทรลได้อย่างเดียวคือควอลิตี้ในการทำงานเรา
หลังจากได้ลองทำสองอีพี คุณรู้สึกอยากกำกับซีรี่ส์ทั้งเรื่องบ้างมั้ย
ถ้ามีโอกาส และเป็นสตอรี่ที่ผมรู้สึกว่าสามารถรับมือได้ ก็ไม่ติดเลยนะ ได้เลย ก่อนหน้านี้ผมกลัวการทำซีรี่ส์นะ ด้วยนิสัยการเป็นผู้กำกับของเราเองบางอย่าง แต่พอหลังๆ รู้สึกว่า เส้นแบ่งของการจะมาแยกจำพวกว่า นี่หนัง นี่ซีรี่ส์ มันเริ่มเลือนลาง สุดท้ายมันก็กลับไปเรื่องเดิม สตอรี่ที่ดี อันนั้นคือหัวใจสำคัญของทุกคอนเทนต์
สตอรี่แบบไหนถึงเป็นสตอรี่ที่ดี
มันก็เปลี่ยนไปตามวันและเวลานะ ช่วงวัยด้วย มันก็มีเรื่องดีที่ทำหน้าที่และฟังก์ชั่นแตกต่างกัน แต่สำหรับผมขณะนี้ ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ทำหนังตั้งแต่หนังบันเทิงอย่างเดียว หนังที่พูดเรื่องส่วนตัว ตอนนี้เลยกลายเป็นโจทย์ของผมในการทำงานในเรื่องถัดๆ ไป ถ้ามีโอกาส คือ เราจะทำยังไงให้รวมสองเรื่องนี้เข้าไว้ด้วยกันได้ หมายถึงว่าทำหนังที่พูดเรื่องส่วนตัว ในขณะเดียวกันก็ยังเอนเตอร์เทนได้อยู่ ก็เป็นโจทย์ที่ผมกำลังพยายามหาทางอยู่
ตอนนี้โปรเจ็กต์ที่ดำเนินอยู่ในชีวิตก็มีหลากหลาย ถ้ามันเกิดขึ้นได้จริงในเร็ววันนี้ ไม่ว่าจะเป็นโปรเจ็กต์ไหนก็แล้วแต่ กลับไปเรื่องเดิม ผมว่ามันเป็นโจทย์ใหม่ พยายามไม่เปรียบเทียบกัน อันนี้หนังฮอลลีวูด อันนี้หนังไทย สุดท้ายแล้วเป็นเรื่องของสตอรี่เลย สตอรี่นั้นต้องการอะไรในการทำงาน ต้องการวิธีและท่าทีแบบไหนในการเล่าสิ่งนั้น และทำยังไงให้มันส่งต่ออารมณ์ไปถึงคนดูให้ได้มากที่สุด
ได้ยินว่าเดี๋ยวนี้ผู้กำกับอาจจะอยากมากำกับซีรีส์กันมากขึ้น เพราะว่าเปิดโอกาสให้เล่าเรื่องได้มากกว่า ขณะที่ทำเป็นหนังก็ต้องตัดให้สั้นอยู่ดี
ผมว่ามันไม่เกี่ยวกับการตัด มันเปิดโอกาสตั้งแต่ตอนเขียนบทแล้ว ถ้าเป็นซีรี่ส์ คุณมีเวลามากขึ้น มีแง่มุมให้สำรวจมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้บอกว่าหนัง 2 ชั่วโมงจะสำรวจได้น้อยกว่าหรือมากกว่าอะไรยังไง มันเป็นฟอร์แมตของมัน
อย่าไปคิดว่าเป็นซีรี่ส์ต้องอินกว่าแน่เลย ไม่ใช่ หนังที่เล่าแค่ชั่วโมงครึ่ง แล้วทำให้เราอินไปกับตัวละครมีไม่รู้กี่พันเรื่องในโลก ซีรี่ส์ที่เล่า 8 ชั่วโมงแล้วเราไม่อินกับอะไรเลยก็มีเยอะแยะในโลกนี้ ของพวกนี้เราไปแปะป้ายโดยไม่จำเป็น มันเป็นวินาทีในใจคนดู ถ้ามัน matter มันก็ matter ถ้ามันไม่ matter มันก็ไม่ matter
กำกับซีรี่ส์กับกำกับภาพยนตร์แตกต่างกันยังไง
แตกต่างกันแน่นอน เรื่องนี้เป็นซีรี่ส์เรื่องแรกในชีวิต และเป็นงานแรกที่กำกับจากบทของคนอื่น เพราะส่วนมากผมจะเป็นคนที่เขียนบทเอง ก็ต้องมีการปรับจูนกันประมาณหนึ่งเหมือนกัน ก่อนที่จะเริ่มต้นถ่ายทำ แล้วพอทำภายใต้ระบบที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลหรืออเมริกันมากๆ ก็ได้เรียนรู้เยอะ คือมันเป็นการทำงานร่วมกันของหลายๆ ฝ่าย ขณะที่ตอนกำกับหนังไทย ด้วยธรรมชาติของมัน ผู้กำกับจะเป็นคนลีดทุกสิ่งอย่าง แต่อันนี้เหมือนเราต้องแชร์ทุกการคิด ทุกวิธีการกับ Showrunner (โปรดิวเซอร์ของซีรี่ส์) กับคุณเควิน ตันเจริญ ผู้กำกับอีกคนด้วย เพื่อเมกชัวร์ว่าสุดท้ายแล้ว ต่อให้ผู้กำกับคนละคนกันก็ตาม สตอรี่มันจะออกมา รู้สึกเหมือนเป็นซีรี่ส์เรื่องเดียวกัน ให้มันมีฮาร์โมนีให้มากที่สุด
รู้สึกเบากว่าการเป็นผู้กำกับที่ต้องเป็นผู้นำในทุกเรื่องมั้ย
แรงกดดันอาจจะน้อยลงนิดหนึ่ง เพราะเรารู้ว่ามีทีมงานอีกหลายภาคส่วนที่เขาช่วยรับผิดชอบสิ่งนี้อยู่ พอเป็นซีรี่ส์ของอเมริกา คนที่มีหน้าที่ดูภาพรวมจริงๆ คือโชว์รันเนอร์นะ คือคุณไมเคิล รัสเซลล์ กันน์ และคุณดาน่า เลอดูซ์ มิลเลอร์ ซึ่งทั้งคู่เป็นคนเขียนบทด้วย ผู้กำกับคือการเข้าไปทำงานด้วยกัน และพยายามหาวิธีการบางอย่างเพื่อเล่ามัน เพราะฉะนั้นพอเราเข้าใจสิ่งนี้ ผมในฐานะผู้กำกับก็ต้องเคารพทิศทางที่โชว์รันเนอร์กำหนดมา แต่ในเวลาเดียวกันเราก็มีหน้าที่บอกเขาว่า อันนี้ไม่ใช่นะ ถ้าคุณเชื่อใจเรา ถ้าคุณเลือกเรามากำกับ ปรับตรงนี้ให้เราหน่อยได้ไหม เพราะพอนักเขียนเขาเป็นคนอเมริกัน ฉะนั้นมันมีอะไรหลายๆ อย่างที่เราต้องช่วยเขากรองไม่ให้มีความเป็นอเมริกันจนเกินไปนัก
อย่างเช่นนักแสดง โดยเฉพาะน้องๆ เด็กๆ ทั้ง 12 คน ผมเป็นคนเลือกเอง เรามีการแคสต์เด็กค่อนข้างเยอะ รวมทั้งเด็กในโซนกรุงเทพฯ ด้วย บางทีทีมงานต่างชาติเขาก็จะมองแบบหนึ่งว่า คนนี้เล่นได้นะ ในขณะที่เราก็จะรู้สึกว่า เรื่องของความสมจริงบางอย่าง เขาอาจจะมองได้ไม่เท่ากับที่เรามอง เพราะฉะนั้นหน้าที่ผมในฐานะผู้กำกับไทย และ executive producer คือการทำหน้าที่เป็นคนกรองให้เขา และบอกเขาว่าในความรู้สึกของคนดูที่เป็นคนไทย นักแสดงแบบไหนน่าจะใช่ที่สุด มันเลยเกิดช่วงที่ผมต้องยืนยันว่าขอแคสต์เด็กทั้ง 12 คนเป็นเด็กหน้าใหม่ทั้งหมด น้องๆ บางคนอาจจะมีประสบการณ์มาบ้าง แต่ไม่ใช่ดาราเด็กมีชื่อเสียง และเกือบทั้งหมดเป็นเด็กจากเชียงใหม่และเชียงราย หลายคนรู้จักกับตัวละครในชีวิตจริง มันเลยเกิดคอมมูนิตี้บางอย่างที่น่าสนใจ แล้วก็มีคุณบีม (ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์) ที่มาเล่นเป็นโค้ชเอก ก็อย่างที่เรารู้กันว่าเป็นงานเรื่องสุดท้ายของเขา ซึ่งผมว่าถ้าเขาได้ดูเขาน่าจะภูมิใจในผลงานเขา
ผมโชคดีที่ทีมงานฝรั่งเขาเปิดใจมากๆ เราก็ปรับเปลี่ยนด้วยกัน มันคือการร่วมกันทำงานและประนีประนอมกัน อย่างการแบ่งพาร์ทตามที่คุยกันไว้ ผมทำได้แค่ 2 อีพีในตอนนั้น ด้วยเวลาหรืออะไรก็ตาม ตอนแรกจะเป็นอีพีที่ 1 และ 2 แต่ว่าผมเป็นคนไปขอเขาสลับว่า แทนที่จะเป็นอีพีที่ 2 ผมขอกำกับอีพีที่ 4 ที่เป็นตอนที่เล่าถึงคาแรกเตอร์จ่าแซม เขาก็ใจดี ยอมสลับให้ ผมเลยโชคดีได้มีโอกาสเล่าเรื่องของจ่าแซมในอีพีนั้น
พอจะยกตัวอย่างกระบวนการทำงานในแง่โปรดักชั่นให้ฟังได้มั้ย
อย่างที่บอกมันเป็นโอกาสที่ผมได้ทำงานร่วมกับทีมงานที่เป็นคนต่างชาติค่อนข้างเยอะ วิธีการทำงานก็จะแตกต่างออกไปนิดหนึ่ง อย่างตอนผมกำกับหนังของตัวเองจะค่อนข้างฟรีสไตล์กว่านี้ เช่น ผมจะไม่ค่อยได้ทำช็อตลิสต์ ไม่ได้วาดสตอรี่บอร์ด เพราะเราก็ทำกับทีมงานที่คุ้นมือมานาน ก็จะออกไปลุยด้วยกัน พยายามครีเอทไปด้วยกัน แต่ว่าพอเป็นทีมเรื่องนี้ ทำงานกับทีมอินเตอร์เนชั่นแนล เราก็ต้องปรับตัวเอง ปัญหาเรื่องภาษาด้วยส่วนหนึ่ง และเรื่องตารางการถ่ายกับความมืออาชีพของทีมเขา ทำให้เราต้องทำตัวเองให้โปรเฟสชั่นแนลและเตรียมความพร้อมในฐานะของผู้กำกับให้ได้มากที่สุด ต้องสื่อสารกับทีมงานทุกฝ่ายอย่างละเอียดจริงๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ควรต้องทำ แต่ผมอาจจะไม่ค่อยได้ทำเป็นระบบมาก ใช้เวลาปรับตัวประมาณหนึ่ง เหมือนได้กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง ได้เรียนรู้ ได้สังเกตการทำงานของทีมงานระดับนี้ และไม่ใช่แค่ทีมฝรั่ง หมายถึงว่าทีมคนไทยที่เป็นคนซัพพอร์ตโปรดักชั่น ก็เป็นทีมที่ผมไม่เคยทำงานด้วย ก็ทำให้ได้รู้ว่าทีมไทยที่ทำงานเก่งๆ มีเยอะมากจริงๆ
คุณได้ลองวิธีการอะไรที่ตัวเองอาจจะไม่เคยได้ลอง แต่รู้สึกว่าอยากเอามาใช้กับเรื่องนี้บ้างมั้ย
สิ่งที่ประทับใจที่สุดสำหรับผม มันคือความรู้สึกใหญ่ของโปรดักชั่นทั้งหมด ด้วยตัวสตอรี่เองขอบเขตก็ใหญ่อยู่แล้ว สิ่งที่เราเห็นคาตาเลยคือ การเซ็ตถ้ำทั้งถ้ำในโรงถ่าย วันแรกที่ไปกองถ่ายกับผู้ช่วย เดินเข้าไปเห็นถ้ำ รู้สึกว่า โอโห นี่มันคือ magic of movie making จริงๆ เพราะเราไม่สามารถขนทีมงานและนักแสดงทั้งหมดกว่าร้อยชีวิตเข้าไปในถ้ำได้จริงๆ ผมเคยเข้าถ้ำไปดู ไปบล็อกช็อต มันยากมากเลย สุดท้ายเราใช้ถ้ำจริงแค่เฉพาะบริเวณทางเข้า ไม่ถึงโถงแรกด้วยซ้ำ แต่พวกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโถง 4 โถง 5 6 7 ไปเรื่อยๆ เราก็ต้องเซ็ตขึ้นมา แล้วก็ต้องเป็นเซ็ตที่ยิ่งใหญ่มาก แล้วไม่ใช่แค่เซ็ตเดียว เขาต้องเซ็ตแบบ สตูดิโอนี้เซ็ตโถงที่ 3 สตูดิโอนี้เซ็ตโถงที่ 6 สตูดิโอนี้เซ็ตโถงที่ 9 เพราะแต่ละโถงมี floor plan ที่ไม่เหมือนกันเลย แล้วมันเป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่มากๆ
เรื่องยากที่สุดสำหรับโปรเจ็กต์นี้คืออะไร
การที่เราต้องคอยบอกตัวเองตลอดเวลาว่า เราต้องเคารพเหตุการณ์ ตัวละครที่มีตัวตนจริงๆ มันเลยยากเหมือนกัน เคี่ยวเข็ญตัวเองมากกว่าปกติ คือที่ผ่านมาเวลากำกับจากบทหรือตัวละครที่ผมมโนขึ้นมาเอง มันก็ง่าย เหมือนเราเล่นบทพระเจ้า แต่อันนี้เราไม่ใช่พระเจ้า เราเป็นแค่ผู้เฝ้าสังเกตการณ์คนหนึ่ง ที่มีหน้าที่ถ่ายทอดเหตุการณ์และความจริงที่เกิดขึ้น เราเลยต้องคอยเตือนตัวเองตลอดเวลาเหมือนกัน เรียกว่าท้าทายมากกว่า
การทำหนังที่สร้างจากเหตุการณ์จริง ตัวละครมีตัวตนจริงๆ ต้องระวังในแง่ไหนบ้าง
ถ้าจากตัวบทเอง ไม่ได้มีเพดานอะไรผมต้องระวัง เพราะแง่มุมที่ทางโชว์รันเนอร์เลือกหยิบมาเล่าก็เป็นแง่มุมที่ดี มีมิติในตัวมัน ผมว่าทุกคนก็เต็มใจและพร้อมที่จะแชร์ส่วนนั้นให้พวกผมได้มีโอกาสเล่ามันผ่านซีรี่ส์ ความอ่อนแอ ความหวาดกลัว ความเป็นมนุษย์บางอย่างที่อาจจะไม่ได้สวยงามหรือ heroic ทั้งหมด แต่ว่ามันก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ในเหตุการณ์เหล่านี้
ท่ามกลางหลายโปรเจ็กต์ที่บอกเล่าเหตุการณ์เดียวกัน ผมเชื่อว่าโปรเจ็กต์นี้เราได้สำรวจสตอรี่นี้ผ่านมุมมองใหม่ๆ จากคนธรรมดาจริงๆ เด็ก พ่อแม่ หรือหลายคนที่เขาอาจไม่ได้รับโอกาสถูกพูดถึงมากอย่างที่ควรจะเป็น นั่นคือโจทย์ของเรา เราอยากให้คนธรรมดา ที่มาร่วมกันทำอะไรที่พิเศษมากๆ ครั้งนี้ ให้โอกาสเขาได้มีพื้นที่และช่วงเวลาของเขาที่คนดูจะได้รับรู้ด้วยกัน
อีพีแรกที่ผมกำกับ มันเป็นเหมือนการ set up โลกและตัวละครเหล่านี้ เราได้เข้าไปคลุกคลีกับคนจริง พ่อแม่เด็กจริงๆ ไปฟังสตอรี่ที่แชร์เรื่องราวตอนที่มันเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นจริงๆ เราจะรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่ในเชิงสเกลมันอาจจะไม่ได้ใหญ่เท่าตัวเหตุการณ์ แต่ความ epic ในแง่ความรู้สึกมันใหญ่พอกันเลย
ผมว่าทุกงานของคนทำหนังมันเป็นอีกสเตจอยู่แล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำงานแล้วอยู่ที่เดิม อย่าไปทำ ไม่มีความหมาย ทำแต่ละงานก็ควรมีโจทย์ที่ต้องตอบแตกต่างกันไป ถามว่าอะไรยากกว่า ง่ายกว่า ใหญ่กว่า เล็กกว่า ผมว่าไม่ใช่ประเด็น แต่ทุกงานมีโจทย์ที่เราต้องรับผิดชอบในฐานะคนทำงาน
คนทำงานศิลปะเมื่อมองย้อนกลับไปดูผลงานเก่าๆ ของตัวเอง มักจะเห็นบาดแผลหรือข้อผิดพลาดต่างๆ คุณเป็นแบบนั้นหรือเปล่า
โอว ตลอดเวลาครับ และเป็นสิ่งที่ควรจะต้องเกิดขึ้น
เมื่อไหร่ก็ตามคุณย้อนมองงานตัวเองแล้วมีแต่คำชื่นชม จบ ไม่มีทางพัฒนา ผมว่าคนเป็นศิลปินต้องพัฒนา ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถาม เราเองนี่แหละเป็นนักวิจารณ์ที่ดีที่สุด ฟังความคิดเห็นหรือคำวิจารณ์ของคนอื่นด้วยก็ได้ แต่อย่างน้อยเราต้องตั้งธงบางอย่างในใจว่า กูอยากโตไปเป็นคนทำงานแบบไหน คาดหวังอะไรในงานต่อๆ ไป นั่นคือคำถามที่เราต้องตอบให้ได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมศิลปินถึงมีคาแรกเตอร์ที่ต่างออกไป แล้วก็ผลิตงานที่ไม่เหมือนกัน
คุณวิจารณ์ตัวเองยังไง เอาหนังเก่าๆ ของตัวเองมานั่งดูเหรอ
ความรู้สึกแบบนี้มันจะเริ่มตั้งแต่ตอนตัดต่อเลยนะ ตั้งแต่เห็นฟุตเทจ เชี่ยเอ๊ย ทำไมกูจัดแสงแบบนี้วะ ทำไมกูกำกับแบบนี้ มันเห็นตลอดเวลา ยิ่งเวลาผ่านไป ถ้าได้กลับไป re-visit งานเก่าๆ ก็จะเห็นแผลเยอะขึ้น แต่ในบางครั้งเราก็จะเห็นอะไรบางอย่างที่ เออ อันนี้เข้าท่าเหมือนกันนะ ประเด็นนี้เราอาจจะไม่เคยสังเกตมัน แต่มันอยู่ในหนังซึ่งเราทำไปโดยจิตใต้สำนึกหรืออะไรบางอย่าง ซึ่งถ้าเราเห็นเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น เช่นกัน เราจะพัฒนามันในงานต่อไปได้ ถ้าเราสนใจมันนะ แต่ผมว่าแม่งเป็นเรื่องปกติมาก ที่มองย้อนกลับไปแล้วต้องเห็นแผล
ถ้าเราไม่เห็นแผลเลยแสดงว่าเราใส่แว่นที่ผิดอยู่