Hyakudan Kaidan ดิสนีย์แลนด์แห่งยุคโชวะที่สร้างความสนุกให้ชาวโตเกียวหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

Highlights

  • Hyakudan Kaidan แปลว่าบันไดร้อยขั้น เป็นอาคารไม้ในโตเกียวที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคโชวะ ภายในประกอบด้วยบันไดไม้ทอดยาวสู่ชั้นบน ระหว่างทางซ่อนห้องอาหารและจัดงานรื่นเริงไว้ 7 ห้อง ทั้งหมดตกแต่งอย่างประณีตตั้งแต่เสาไม้ ผนัง ยันเพดานแกะสลัก
  • ในยุคที่อาคารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้น โตเกียวเพิ่งผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ชาวบ้านแทบไม่มีน้ำและไฟฟ้าใช้ การได้เข้ามายังอาคารหรูหรามหัศจรรย์แห่งนี้จึงสร้างความบันเทิงและชุบชูใจได้มาก อาจเทียบได้กับการที่คนในยุคสมัยนี้ไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ยังไงยังงั้น
  • ปัจจุบัน Hyakudan Kaidan เป็นส่วนหนึ่งของ Hotel Gajoen Tokyo โรงแรมหรูใจกลางโตเกียวที่อยากสืบสานวัฒนธรรมและงานคราฟต์ให้ยั่งยืน พวกเขาจึงเปิดพื้นที่ให้ศิลปินมาจัดนิทรรศการเสมอ เช่น นิทรรศการที่ร่วมกับ Tagboat องค์กรตัวแทนศิลปินที่พาศิลปินรุ่นใหม่มาแสดงงานในอาคารเก่าอย่างกลมกลืน

Made in Japan วันนี้จะพาคุณไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์!

ไม่ใช่ดิสนีย์แลนด์ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน แต่จะพาย้อนอดีตไปยังดินแดนมหัศจรรย์ที่ช่วยชุบชูใจชาวบ้านในสมัยโชวะ (ค.ศ. 1926-1989) ภายใต้ชื่อ Hyakudan Kaidan

Hyakudan Kaidan

Hyakudan Kaidan บันไดร้อยขั้น

Hyakudan Kaidan แปลว่าบันไดร้อยขั้น เป็นอาคารไม้ที่สร้างตั้งแต่ปี 1935 อดีตเคยเป็นร้านอาหาร มีห้องสำหรับกินอาหารหรือจัดงานรื่นเริงทั้งหมด 7 ห้องแทรกอยู่ระหว่างทางบันไดยาวที่ทอดตัวสู่ชั้นบนสุด ดีไซน์แต่ละห้องไม่เหมือนกัน โดยแต่ละห้องได้ศิลปิน จิตรกรชื่อดัง และช่างไม้ฝีมือดีจำนวนมากจากหลายสำนักในสมัยนั้นมาช่วยตกแต่งฝ้า เพดาน ผนัง และแผ่นไม้ประดับตามจุดต่างๆ จนได้ห้องที่สวยวิจิตรอลังการแปลกตาชวนตะลึง เพราะโตเกียวในตอนนั้นกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ชาวบ้านหลายคนไม่มีน้ำไฟใช้ด้วยซ้ำ รวมทั้งการตกแต่งบ้านด้วยของสวยงามก็เป็นได้แค่จินตนาการ ชาวบ้านจึงพากันยกให้ที่นี่เป็นสถานที่สุดพิเศษที่สร้างความเพลิดเพลินและความตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้เข้ามา

ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน ตอนนี้อาคารไม้แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Hotel Gajoen Tokyo โรงแรมหรูใจกลางโตเกียว และเป็นอาคารไม้เพียงอาคารเดียวของโรงแรม

Hyakudan Kaidan

Hyakudan Kaidan

Hyakudan Kaidan

จุดเด่นของการตกแต่งที่นี่คือความหรูหราอลังการที่ดูแปลกตา นักวิจัยพบว่าอาคารนี้ตกแต่งด้วยศิลปะสไตล์ยุคโมโมยามะ (ค.ศ. 1583-1600) ซีรีส์เดียวกับ Nikko Toshogu ศาลเจ้าที่คนไทยคุ้นเคย หรือจะบอกว่าเป็นวัฒนธรรมของยุคเอโดะที่พบเห็นทั่วไปในละครคาบูกิก็ได้ บันไดร้อยขั้นแห่งนี้จึงได้รับการยกย่องว่าสวยเด่นและสะท้อนจุดสูงสุดของค่านิยมทางความงามของยุคนั้นได้ดี ไม่น่าแปลกใจที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโตเกียวและของประเทศ

จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่งานศิลปะที่ใช้ตกแต่งห้องเท่านั้นที่เลอค่าไม้เองก็เป็นของดีมีราคาเช่นกัน เช่น บันไดนั้นทำจากไม้ Keyaki หรือไม้ญี่ปุ่นชั้นดี แต่ละขั้นหนา 5 เซนติเมตร เสาของแต่ละห้องก็ไม่น้อยหน้า ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเสาแต่ละต้นใช้ไม้ต่างชนิด มีพื้นผิวที่ต่างกัน บางต้นเป็นไม้ที่นำเข้ามาจากจีนซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกไว้ใช้เฉพาะในเขตบ้านของชนชั้นสูงเท่านั้น หรือที่แตกต่างเด่นชัดที่สุดน่าจะเป็นไม้ต้นลูกพลับเก่าแก่และเสากลมที่ใช้ไม้สน Kitayama โชว์สกิลช่างไม้ญี่ปุ่นระดับเทพซึ่งปัจจุบันหายากสุดๆ

Hyakudan Kaidan

มีของดีอย่างนี้อยู่กับตัว นอกจาก Hotel Gajoen Tokyo จะไม่หวงแล้วยังอยากส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักความดีงามของศิลปะที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ดังนั้นนอกจากจะจัดกิจกรรมสืบทอดความรู้และวัฒนธรรมที่หลงเหลืออยู่ในอาคาร พวกเขายังขยันจัดนิทรรศการศิลปะโดยไม่เกี่ยงประเภทงาน ขอเพียงคอนเซปต์น่าสนใจลงตัวก็นำงานมาจัดร่วมกันได้

และงานล่าสุดที่เราไปมาแล้วประทับใจมากคือนิทรรศการศิลปะสไตล์โมเดิร์นที่โรงแรมจัดร่วมกับ Tagboat เมื่อช่วงเดือนกันยายนตุลาคมที่ผ่านมา

 

Tagboat ตัวแทนศิลปินโมเดิร์นที่อยากให้ศิลปินอยู่ได้ด้วยศิลปะจริงๆ

Tagboat คือบริษัทตัวแทนจำหน่ายผลงานศิลปะของศิลปินโดยเน้นผลงานสไตล์โมเดิร์น นอกจากนี้ยังทำฟรีแม็กกาซีนชื่อ tagboat TOKYO | ART GUIDE ด้วย โดยมีเป้าหมายคือการส่งเสริมให้ศิลปินสามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยการทำงานศิลปะและสื่อสารโลกศิลปะให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายขึ้น โดยอิงกับแนวคิดของบริษัทคือ ‘การปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดมากกว่าความแข็งแกร่งหรือความฉลาด’

ในการจัดแสดงครั้งนี้ Tagboat เลือกศิลปินชาวญี่ปุ่นมา 30 คนเพื่อโชว์ผลงานในห้องทั้ง 7 ของ Hyakudan Kaidan มีทั้งงานภาพวาด ภาพพิมพ์ ภาพสไตล์มังงะ งานศิลปะจัดวาง และงานแบบอินเทอร์แอ็กทีฟ บางผลงานก็เรียกได้ว่าคอนทราสต์กับทุกสิ่งทุกอย่างในอาคารไม้โดยสิ้นเชิง ในขณะที่บางห้องก็ชวนให้เห็นความสอดคล้องของศิลปินยุคเก่าและใหม่

สำหรับชาวต่างชาติอย่างเรานั้นเซอร์ไพรส์ตั้งแต่ก่อนจะเจอบันไดขั้นแรก เพราะลิฟต์ที่พามายังทางเชื่อมอาคารนี้เป็นลิฟต์งานคราฟต์ที่หรูเลิศที่สุดในชีวิต เมื่อเดินขึ้นไปถึงบันไดขั้นที่ 20 ที่ตั้งของห้อง Gyosho Room ก็ทำให้ว้าวอีกครั้งเพราะความสวยวิจิตรละเอียดลออฉลุเฉลาตั้งแต่พื้นจรดเพดานเสาผนัง ทุกอย่างจัดเต็มแบบไม่มีใครยอมใคร

Hyakudan Kaidan

แต่ที่เตะตาที่สุดคือประติมากรรมวงกลมสีสันสดใสที่ตั้งอยู่กลางห้องแบบอะไรเอ่ยไม่เข้าพวกแต่ก็ลงตัวไม่ขัดเขิน แถมยังมีกระจกวางไว้ที่เสื่อทาทามิด้วย เรียกได้ว่าเล่นใหญ่ไปด้วยกันทั้งงานแบบดั้งเดิมและโมเดิร์น

ผลงานนี้มีชื่อว่า Untitled สร้างสรรค์โดย Minako Ishikawa เธอนิยามคอนเซปต์งานไว้ว่า ‘สีสันจากแสงที่ส่องประกายอยู่ในท้องฟ้า น้ำทะเล และผืนแผ่นดิน’ โดยวงกลมสีฟ้านั้นสื่อถึงน้ำทะเล วงกลมสีรุ้งสื่อถึงสีต่างๆ ที่แฝงอยู่ในอากาศ ส่วนวัสดุที่มีความโปร่งแสงนั้นสื่อถึงความใสของน้ำทะเลและสายรุ้งนั่นเอง

ดูเผินๆ งานนี้เหมือนจะเป็นแค่พลาสติกสีๆ ที่ดัดโค้ง แต่จริงๆ แล้วมินาโกะผู้เป็นศิลปินนั้นคราฟต์งานศิลปะไม่แพ้ช่างโบราณผู้ตกแต่งห้องนี้ นั่นเพราะเธอต้องเอาสีอะคริลิกแต่ละเฉดมาอัดใส่หลอดทรงกรวย (ถ้านึกไม่ออกขอให้คิดถึงหลอดบีบวิปครีมแต่งหน้าเค้ก แต่ขนาดเล็กกว่านั้น 10 เท่า) สีละหลอด รวมทั้งหมด 100-250 หลอด จากนั้นค่อยบรรจงลากเส้นทั้งหมดให้ต่อเนื่องกัน แค่เตรียมอุปกรณ์อย่างเดียวก็ใช้เวลากว่าสัปดาห์ เมื่อรวมความยากลำบากในการกะน้ำหนักมือที่ต้องคอยระวังไม่ให้สีผสมกัน กว่าจะได้เป็นวงกลมที่เราเห็นก็ต้องใช้เวลาวาดถึง 2 สัปดาห์

Hyakudan Kaidan

Hyakudan Kaidan

เดินขึ้นต่อไปเรื่อยๆ จะได้เจอกับงานที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น Kiyotaka Room ห้องสไตล์ห้องชงชาอันเงียบสงบ ตกแต่งด้วยภาพสาวงาม ศิลปินรุ่นใหม่จึงนำภาพวาดหญิงสาวแบบโมเดิร์นมาวางตกแต่งปะปนกันไป หรือห้อง Soukyu Room ดั้งเดิมที่เน้นภาพวาดวิวป่าสนในเมฆมงคลและงานไม้สานที่ประตูอันประณีต ศิลปินจึงปรับอารมณ์ให้ดูสมัยใหม่ด้วยภาพวาด งานผ้า และงานขดลวดที่ดูวิทยาศาสตร์สุดๆ และห้อง Seiko ช่างโบราณนั้นประดับประดาห้องด้วยภาพวาดต้นไม้ใบหญ้า 4 ฤดู ศิลปินสมัยใหม่จึงนำภาพคลื่นสุดไอคอนิกของ Hokusai และรูปภูเขาไฟฟูจิมาดัดแปลงให้กลมกลืนไปกับธีมดั้งเดิม

Hyakudan Kaidan

Hyakudan Kaidan

สุดท้ายก็มาถึงบันไดขั้นที่ 99 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย

ใช่แล้ว ท่านเจ้าบ้านในอดีตแอบซ่อนลูกเล่นขั้นสูงไว้เซอร์ไพรส์ตอนจบด้วย เรื่องจำนวนขั้นบันไดที่ไม่ครบร้อยนั้นมีหลายทฤษฎี บ้างก็ว่าเพื่อให้ลงเลข 99 ซึ่งเป็นเลขมงคล บ้างก็ว่าเพื่อสื่อถึงความไม่สมบูรณ์แบบซึ่งเป็นความงดงามของศิลปะเช่นกัน

แสงไฟ LED ที่ไม่เข้ากับบ้านไม้สักนิดจากผลงานชื่อ City Lights ของ Masato Yamaguchi ในห้องนี้เรียกร้องความสนใจได้ดีจนทำให้ลืมเหนื่อยเมื่อหอบร่างมาถึงชั้นบนสุด ส่วนข้อความบนป้ายที่เขียนว่า ‘The Future may be digital but our world is still beautiful.’ ก็ชวนให้รู้สึกสนใจมากขึ้น

มาซาโตะบอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงโควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ เขาสังเกตเห็นว่าทุกอย่างรอบตัวค่อยๆ ถูกปรับให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล จนกระทั่งวันหนึ่งที่เขากำลังนั่งรถกลับบ้าน แสงไฟยามค่ำคืนของเมืองทำให้เขาตระหนักถึงความงดงามของโลกที่พวกเราอาศัยอยู่

เขายังบอกอีกว่าห้องนี้มีความงดงามมาก เขาจึงใช้ข้อความนี้สื่อถึงความงดงามของทั้งโลกแอนะล็อก โลกดิจิทัล และความสวยงามเมื่อโลกทั้งสองหลอมรวมกัน

ปิดท้ายด้วยงานที่บอกตามตรงว่าตอนแรกไม่กล้าเข้าไปดู เพราะน่ากลัวเหมือนต้นไม้ห้อยยันต์กันผีรุงรัง แต่เมื่อเพ่งดีๆ ถึงเห็นว่าข้อความที่เขียนอยู่บนกระดาษเหล่านั้นล้วนเต็มไปความรักและกำลังใจ

ผลงานนี้มีชื่อว่า Meguru​ (แปลว่าวนไปรอบๆของศิลปิน Sakuho Ito งานนี้เป็น installation art แบบอินเทอร์แอ็กทีฟ ต่อเนื่องจากงานที่เธอเคยจัดในอดีต ครั้งนั้นเธอตั้งคำถามว่า “ทำยังไงเราถึงจะสามารถควบคุมคุณภาพในการรักษาความเป็นตัวเองและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในโลกที่เราเสพข้อมูลผ่าน SNS เป็นหลัก” เธอจึงให้คนที่มาเสี่ยงเซียมซีเขียนข้อความส่งต่อให้คนที่จะมาเสี่ยงเซียมซีในอนาคตเพื่อเชื่อมโยงผู้คนผ่านคำพูด

สิ่งที่ตัวศิลปินเองก็คาดไม่ถึงคือ 99.9 เปอร์เซ็นต์เป็นข้อความเชิงบวกและมีคนเขียนข้อความเชิงปรัชญาที่เหมือนจะสรุปมาจากชีวิตของตนเองด้วย ยิ่งปีนี้เกิดวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีทำให้ผู้คนแยกห่างจากกันและต้องเจอความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ร่างกาย และจิตใจมากมาย เธอจึงคิดว่าผลงานนี้ถูกนำมาจัดแสดงถูกที่ถูกเวลา เพราะน่าจะเป็นช่วงเวลาที่คนกำลังอยากได้กำลังใจไม่น้อย

เมื่อเดินขึ้นบันไดและเดินกลับลงมาด้านล่างจนครบ 198 ขั้น เราก็สรุปกับตัวเองว่า เมื่อมาที่นี่คุณจะได้พบศิลปะ 2 แบบ คือแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย และได้ใช้การรับรู้ความงาม 2 ขั้น ขั้นแรกคือการรับรู้ผ่านสายตา และขั้นกว่าคือความงามที่สัมผัสด้วยหัวใจ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Kanith

นักเขียนภาพประกอบอิสระที่ติดเกม