ตามลูกศรไปเมื่อมีภัยพิบัติมา Shibuya Arrow Project งานศิลปะเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์

Highlights

  • Shibuya Arrow Project คือการวาดหรือสร้างลูกศรตามจุดสำคัญต่างๆ ในเขตชิบูยะเพื่อชี้นำทางสู่สถานที่อพยพยามฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหว
  • ลูกศรนี้จะทำหน้าที่เป็นผลงานศิลปะที่สร้างความน่าสนใจให้กับเขตชิบูยะมากขึ้นในยามปกติ และเปลี่ยนเป็นงานศิลปะเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ในยามฉุกเฉิน
  • โปรเจกต์นี้วางแผนไว้ว่าจะใช้เวลา 5 ปีในการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งปีนี้เพิ่งเริ่มเป็นปีแรกหลังจากนี้น่าจะมีผลงานสนุกๆ ตามจุดต่างๆ ให้ดูอีกมากมาย เชื่อว่ากว่านักท่องเที่ยวชาวไทยจะได้กลับมาชิบูยะคราวหน้าน่าจะมีลูกศรสนุกๆ ให้ตามส่องอีกเพียบ

อยู่กับโควิด-19 มาหลายเดือน สถานการณ์ในญี่ปุ่นยังทรงๆ ทรุดๆ จนทุกคนเริ่มคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบ new normal ในขณะที่ทุกคนกำลังจะเริ่มชิลล์ด้วยความชิน ภัยอันตรายรูปแบบเดิมๆ ที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอย่างแผ่นดินไหวก็แวะมาทักทายถี่ๆ ราวกับจะบอกว่าอย่าลืมฉัน ผู้คนเลยแพนิกซ้ำซ้อน กว้านซื้อถุงยังชีพไปพร้อมๆ กับหน้ากากและแอลกอฮอล์

โควิดก็ยังอยู่แผ่นดินก็ยังไหวแต่ผู้คนก็ยังต้องตามหาความสดใสให้กับชีวิตบ้างแม้จะรู้ว่าจุดรวมพลหรือศูนย์อพยพชั่วคราวแถวบ้านอยู่ตรงไหน ฉันเองก็ไม่เคยฉุกคิดมาก่อนเลยว่า ถ้าแผ่นดินไหวแรงๆ ขณะอยู่นอกบ้านจะทำยังไง

แต่สำนักงานเขตชิบูยะคิดเผื่อไว้ให้แล้ว

ย้อนไปดูที่มา

ชิบูยะคือย่านความบันเทิงครบวงจรที่ตอบโจทย์คนทุกวัยและเชื้อชาติจึงเป็นจุดหมายปลายทางในดวงใจของทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในโตเกียวและนักท่องเที่ยว แค่นึกภาพความหนาแน่นของผู้คนบริเวณสี่แยกสุด iconic ก็น่าจะพอเดากันได้ถึงจำนวนผู้คนอันมหาศาลที่แวะมาเยี่ยมเยียนย่านนี้ แค่จำนวนผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันก็ตกประมาณ 231,500 คน (เป็นคนต่างชาติประมาณ 10,900 คน) ส่วนจำนวนผู้มาเยือน เอาแค่บริเวณน้องหมาฮาชิโกะนั้นก็สูงถึง 1,450,000 คนต่อสัปดาห์ และยิ่งถ้าปี 2020 นี้มีการจัดโอลิมปิกตามกำหนดเดิม จำนวนคนที่มาย่านชิบูยะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติ

ทางเขตชิบูยะเล็งแล้วว่าจุดรวมพลฉุกเฉินชั่วคราวต่างๆ อย่างโรงเรียนประถมหรือสวนสาธารณะที่มีอยู่เดิมไม่สามารถรองรับผู้คนทั้งหมดนี้ได้แน่ๆ ยิ่งถ้าแผ่นดินไหวแรงระดับที่รถไฟหยุดวิ่งทุกคนจะติดแหง็กอยู่ที่นี่กันหมด ผู้มาเยือนจากต่างเขตหรือต่างชาติก็คงไม่ได้ศึกษาไว้ก่อนว่าจุดรวลพลของเขตชิบูยะอยู่ตรงไหน นอกจากนี้ยังมีปัญหาการสื่อสารกับชาวต่างชาติอีก

Ken Hasebe นายกเทศมนตรีเขตชิบูยะจึงสั่งสร้างศูนย์อพยพชั่วคราวเพิ่มขึ้น และใช้เวลาระหว่างก่อสร้างในการป่าวประกาศให้คนรู้ถึงการมีอยู่ของสถานที่เหล่านี้ไว้ก่อนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จริงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหลังสร้างเสร็จ Shibuya Arrow Project จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ PR ศูนย์อพยพชั่วคราวนั่นเอง

อธิบายง่ายๆ Shibuya Arrow Project คือการวาดหรือสร้างลูกศรตามจุดสำคัญต่างๆ ในเขตชิบูยะเพื่อชี้นำทางสู่สถานที่อพยพ การใช้ลูกศรทำให้หมดปัญหาเรื่องภาษา ไม่ต้องใช้คำพูดก็เข้าใจได้ทันทีไม่ว่าคุณมาจากประเทศอะไร เหมาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่คนกำลังตระหนกไม่มีสติคิดวิเคราะห์อะไรมากนัก ลูกศรเหล่านั้นจะชี้ไปยังสถานที่รวมตัวยามฉุกเฉินสำหรับผู้มาเยือนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเขตชิบูยะ เช่น สวนโยโยกิ มหาวิทยาลัย Aoyama Gakuin เพื่อลดความหนาแน่นของจุดอพยพดั้งเดิม

แต่อย่างที่ทุกคนทราบกันดี ชิบูยะเป็นย่านคึกคักที่ตึกและร้านรวงต่างจัดเต็มฟาดสีและดีไซน์หวือหวามาสร้างความน่าสนใจสุดชีวิต ต่อให้เขาทำป้ายหรือลูกศรแบบเดียวกันมาติดตามจุดต่างๆ ก็น่าจะจมหายไป อีกทั้งเพื่อไม่ให้เสียแบรนด์ความชิคสไตล์ชิบูยะ เคนจึงไหว้วานให้ Moichi Kuwahara โปรดิวเซอร์เพลงมือทองมารับบท Art Director ของโปรเจกต์นี้ และรวบรวมศิลปินดีไซเนอร์จำนวนหนึ่งมาสร้างสรรค์ลูกศรดีไซน์เก๋กรุบกริบที่เข้ากับบรรยากาศของเมืองที่กำลังปรับโฉมใหม่ เป้าหมายคือให้ลูกศรเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นผลงานศิลปะที่สร้างความน่าสนใจให้กับเขตชิบูยะมากขึ้นในยามปกติ และเปลี่ยนเป็นงานศิลปะเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ในยามฉุกเฉิน

สาเหตุหลักที่โมะอิจิได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นี้ก็คือ เขาเป็นเจ้าของโปรเจกต์ Rock n’ARROW ซึ่งเกิดจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่าจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ 3.11 เราสามารถทำอะไรได้บ้างเขารวบรวมศิลปินมาทำกิจกรรม สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง โดยหวังให้ผลงานเหล่านั้นกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อเมือง สำหรับโปรเจกต์นี้ก็คือ การสร้างลูกศรที่สะดุดตาและสื่อสารกับผู้คน สร้าง awareness เรื่องความปลอดภัยไปพร้อมๆ กับเพิ่มความสนใจในศิลปะ ทำให้ชีวิตของพวกเขาปลอดภัยและกระชุ่มกระชวยขึ้นมาอีกนิดหน่อย ถ้าโปรเจกต์นี้ไปได้สวย นายกเทศมนตรีถึงกับเล็งว่าจะต่อยอดให้ลูกศรเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของชิบูยะ ทำสินค้าที่ระลึกออกมาขายเคียงคู่น้องหมาฮาชิโกะและสี่แยกเลยทีเดียว

ตามไปดูลูกศร

แม้ปีนี้จะเป็นปีแรกที่เริ่มติดตั้งลูกศรตามจุดต่างๆ และงานต้องชะงักไปเพราะโควิด-19 แต่ก็มีงานสนุกๆ หลายจุดให้ดูแล้ว เช่น

 

Project 02: Arrow tree หน้า Shibuya Cast โดย Yuichi Higashionna 

นี่คือต้นไม้ลูกศรที่มองเห็นได้จาก 360 องศา นอกจากจะบอกทิศทางยังต้องมีความทนทานและปลอดภัยต่อผู้คนที่สัญจรไปมา ดีไซน์ต้องกุ๊กกิ๊กสดใส ให้ความบันเทิงกับผู้คนด้วย ดูแล้วไม่ทำให้เครียดกว่าเดิมในยามวิกฤต ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นนกน้อยเกาะอยู่ด้านบน เพราะเชื่อกันว่านกจะรับรู้การมาถึงของภัยพิบัติก่อนมนุษย์ นกน้อยตัวนี้จึงทำหน้าที่ดูแลปกป้องมนุษย์

 

Project 03: Break through your Heart by Chie Morimoto

ภาพวาดบนผนังสีสันสดใสงานนี้เป็นฝีมือของ จิเอะ โมริโมโตะ อาร์ตไดเรกเตอร์ผู้ฝากผลงานไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานโทรทัศน์ ภาพยนตร์ มิวเซียม และได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังมากมายเช่น Canon, Kirin, mr.children, Suntory

ความพิเศษของลูกศรแห่งรักนี้ไม่ได้อยู่ที่ความดังของศิลปิน แต่เป็นการให้อาสาสมัครในท้องถิ่นมามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนด้วยการระบายสีด้วย 

 

Project 04: ลูกศรใต้รางรถไฟ JR-EAST

โดยส่วนตัวแล้วชอบอันนี้สุดเพราะลูกศรหลากสไตล์จากหลายศิลปินโดดเด่นเตะตาจนเราต้องหยุดมองและหาว่าชี้ไปไหน นี่มันงานนิทรรศการอะไรหรือเปล่า ตรงตามความตั้งใจคนทำที่เขาอยากให้คนสนใจจนเกิดคำถามและนำไปสู่การรับรู้เรื่องอพยพแห่งใหม่

งานแบ๊วสดใสของ Keiji Ito ที่ต้องการบอกโต้งๆ เลยว่าหนีไปทางโน้น!” (Acchiแปลว่า ทางโน้น)

 

งานการ์ตูนๆ ของ Takumi Ueda ที่มีคอนเซปต์เริ่มมาจากการอยากใช้ลูกศรสีทองและอิงตีมกรีกหน่อยๆ เลยจบที่การมีพระแม่มาเรียมาร่วมปลอบประโลมจิตใจก่อนชี้ทางปลอดภัยให้มนุษย์

 

ผลงานของ Shiriagari Kotobuki ที่บอกว่าถ้าทำให้สถานที่เดิมๆ พิเศษขึ้นมามากกว่าปกติได้นิดหน่อยก็ดีใจแล้ว

ผลงานของ Mic Itaya Visual Artist ผู้ทำงานศิลปะหลากหลายทั้งภาพวาด กราฟิกดีไซน์ ผลงานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความรัก ความงามและสันติภาพตามคำนิยามที่เขาบอกว่าตนเองเป็น Future Romanticist

สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างคือ เขาไม่ได้แค่เลือกจุดที่มีผนังกว้างๆ หรือตั้งลูกศรได้สะดวก แต่เป็นโลเคชั่นที่คนสามารถหนีไปยังจุดอพยพได้จริง เส้นทางไม่ซับซ้อน และถ้าคุณกำลังเกิดคำถามในใจว่า ถ้าไม่ได้บังเอิญอยู่ใกล้จุดที่มีภาพหรือแท่นลูกศรเหล่านี้ล่ะ?

คำตอบคือ เขามีแอพให้ดาวน์โหลดด้วย!

ในแอพจะบอกว่าตอนนี้เราอยู่ห่างจากจุดอพยพที่ใกล้ที่สุดกี่เมตร พร้อมลูกศรแบบเข็มทิศชี้ทางจุดที่ยังไม่ทิ้งความกรุบกริบแบบญี่ปุ่น คือแม้เป็นแอพสำหรับผู้ประสบภัยก็ยังมีความคาวาอี้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้ผลงานศิลปะชิ้นไหนนำทาง

Shibuya Arrow Project วางแผนไว้ว่าจะใช้เวลา 5 ปีในการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งปีนี้เพิ่งเริ่มเป็นปีแรก หลังจากนี้น่าจะมีผลงานสนุกๆ ตามจุดต่างๆ ให้ดูอีกมากมาย เราเชื่อว่ากว่านักท่องเที่ยวชาวไทยจะได้กลับมาชิบูยะคราวหน้าน่าจะมีลูกศรสนุกๆ ให้ตามส่องอีกเพียบเลยล่ะ

ตามส่องแล้วอย่าลืมปักหมุดจุดอพยพฉุกเฉินชั่วคราวด้วยนะ

 

ขอบคุณภาพ :  shibuya-arrow.jp

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Kanith

นักเขียนภาพประกอบอิสระที่ติดเกม