cat therapist แมวสายเอนฯ ผู้รับบทเป็นนักบำบัดจิตใจมืออาชีพในญี่ปุ่น

Highlights

  • ในญี่ปุ่นนั้นแมวไม่ได้เป็นแค่เจ้านาย แต่หลายตัวมีอาชีพเป็นนักบำบัดเดินสายให้ความสุขระหว่างการรักษาอย่างเป็นทางการ
  • cat therapist คือทีมสมาคมแมวบำบัดผู้เป็นแมวมองแมวว่าตัวไหนมีแววจะผันตัวจากเจ้านายมาเป็นนักบำบัด ซึ่งมีประสบการณ์เพาะพันธุ์แมวมากว่า 15 ปีแล้ว
  • อาชีพแมวบำบัดมีมาเกือบ 10 ปีแล้วและบำบัดกันจริงจัง มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าเสียงร้องของแมวมีการสั่นสะเทือนจากคลื่นความถี่ต่ำที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาท ทำให้มนุษย์ผ่อนคลาย รู้สึกหายเครียดได้

ผ่านมา 2-3 เดือน เราเริ่มคุ้นชินกับชีวิต #stayhome ความสนุกในการกักตัวอยู่บ้านในโตเกียวของฉันส่วนใหญ่มาจากการไถนิวส์ฟีดดูการใช้ชีวิตสายเชฟ สายแดนซ์ สายบาร์เบอร์ ของเพื่อนๆ ที่ประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ฉันค้นพบคือการกักตัวอยู่บ้านไม่ได้ทำให้มีแค่เชฟ แดนเซอร์ หรือช่างตัดผมจำนวนมากถือกำเนิดขึ้นเท่านั้น แต่จำนวนทาสแมวก็เพิ่มขึ้นไม่น้อยเช่นกัน

เพื่อนหลายคนมีแผนรับแมวมาเลี้ยงอยู่แล้ว บางคนกักตัวจนเหงา ประกาศหาเพื่อน 4 ขาสู้โควิด ซึ่งได้รับข้อมูลล้นหลามภายในเวลาอันรวดเร็ว

ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กันที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นดินแดนทาสแมวแถวหน้าของโลกแห่งหนึ่งรึเปล่านะ

คำตอบคือ ไม่

สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกฎอันเข้มงวดของคอนโดและอพาร์ตเมนต์ที่นี่ซึ่งส่วนมากไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ ครั้นจะย้ายบ้านช่วงโควิดเพื่อเลี้ยงแมวก็ดูเล่นใหญ่ ใช้เงินเปลือง แถมเสี่ยงไปหน่อย หรืออาจเป็นเพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเจ้าเหมียวที่นี่สูงไม่น้อย เฉลี่ยปีละ 160,000 เยนต่อตัว หรือความเป็นไปได้อีกอย่างคือมีจำนวนผู้เลี้ยงแมวเยอะมากอยู่แล้ว เพราะจากสถิติปี 2019 พบว่ามีจำนวนแมวเลี้ยงทั่วประเทศถึงเกือบ 10 ล้านตัวเชียว

แต่ถึงอย่างนั้น ใช่ว่าน้องแมวที่นี่จะไม่มีโอกาสได้เยียวยาหัวใจใครจากเหตุการณ์นี้ เพราะในญี่ปุ่นนั้นแมวไม่ได้เป็นแค่เจ้านาย แต่หลายตัวมีอาชีพเป็นนักบำบัดเดินสายให้ความสุขระหว่างการรักษาอย่างเป็นทางการ

cat therapist คืออะไร

หลายคนอาจเคยได้ยินการใช้สัตว์ช่วยบำบัดผู้ป่วยหรือ animal-assisted therapy ในต่างประเทศมาบ้าง โดยทั่วไปจะมอบหมายหน้าที่ให้น้องๆ ที่ฝึกฝนง่ายอย่างสุนัข ม้า หรือนก วงการแพทย์ญี่ปุ่นยังไม่ได้นำศาสตร์นี้มาใช้อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีทั้งคุณหมอและทาสแมวผู้มีความเชี่ยวชาญด้านนี้เห็นแวว ริเริ่มนำแมวที่เป็นงานออกเดินสายดูแลหัวใจมนุษย์ที่กำลังประสบปัญหาในขอบเขตที่ยังไม่นับเป็นการรักษาทางการแพทย์ เช่น พาไปหาผู้ป่วยที่บ้านพักคนชรา หรือใช้พื้นที่ในคาเฟ่แมวจัดอีเวนต์สำหรับดูแลจิตใจ

หน้าที่หลักของนักบำบัด 4 ขาคือ เยียวยาอารมณ์และจิตใจผู้ป่วยที่มีปัญหา เช่น สมองเริ่มเสื่อมถอย หรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ขั้นตอนการรักษาของเจ้าเหมียวนั้นแสนเรียบง่าย คุณเขาแค่กระโดดขึ้นไปนอนนิ่งๆ บนตักของคุณตาคุณยาย ไม่ก็เข้าไปคลอเคลียใกล้ๆ ส่งเสียงงุ้งๆ งิ้งๆ สร้างความเพลิดเพลินอย่างเป็นธรรมชาติ

ดูเหมือนจะเป็นงานง่ายๆ ขำๆ แต่อาชีพแมวบำบัดในญี่ปุ่นมีมาเกือบ 10 ปีแล้วและบำบัดกันจริงจังทีเดียว ที่สำคัญไม่ใช่ว่าแมวทุกตัวทำได้ ยิ่งแมวไม่ได้เป็นสัตว์เลี้ยงที่ว่าง่ายหรือขยันอ้อนมนุษย์อยู่แล้ว แมวที่จะเป็นนักบำบัดได้จึงต้องชอบเล่นกับมนุษย์เป็นทุนเดิม

ผู้ก่อตั้งสมาคมแมวบำบัดซึ่งมีประสบการณ์เพาะพันธุ์แมวมากว่า 15 ปีบอกว่า นิสัยแมวมักถูกกำหนดมาตั้งแต่แรก ตัวไหนชอบเล่นกับคน ตัวไหนหยิ่งนิดๆ ไว้ตัวหน่อยๆ ก็จะเป็นแบบนั้นไปตลอด เธอจึงต้องทำตัวเป็น ‘แมวมองมองแมว’ แต่แรกว่าตัวไหนมีแววจะผันตัวจากเจ้านายมาเป็นนักบำบัดได้ ถึงสร้างทีม cat therapist ขึ้นมาได้สำเร็จ

 

พลังวิเศษของแมวในการเยียวยามนุษย์

ทาสแมวญี่ปุ่นบอกว่าเพียงแค่มองหน้าและกะพริบตาให้กันก็สื่อถึงความรักและความผูกพันที่มีได้โดยไม่ต้องใช้คำพูด ซึ่งการสื่อสารแบบอวัจนภาษานี้เองที่ทำให้ ‘นุด’ หรือทาสรู้สึกผ่อนคลาย

นอกจากนี้เสียงที่แมวร้องออกมายังได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่ามีส่วนช่วยเช่นกัน การสั่นสะเทือนจากคลื่นความถี่ต่ำที่แมวส่งออกมาจะช่วยกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (parasympathetic nervous systemซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะบางอย่างที่อยู่เหนือการควบคุมของจิตใจ คล้ายๆ กับระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic nervous systemที่ทำให้มนุษย์สามารถยกตุ่มหนีไฟไหม้ได้ แต่ระบบนี้เน้นดูเรื่องความผ่อนคลาย ดังนั้นเมื่อระบบพาราฯ ถูกกระตุ้นมากกว่าซิมพาฯ มนุษย์จึงรู้สึกหายเครียด รื่นเริงบันเทิงสุข

หนังสือชื่อ subete no neko wa therapist (แปลว่า แมวทุกตัวคือนักบำบัด) เล่าถึงความเก่งกาจของเจ้าฮิเมะแมวนักบำบัดตัวท็อปไว้ว่า นางเป็นแมวซึ่งคุณหมอผู้เป็นเจ้าของพาไปรักษาคนไข้หน้างานด้วยเสมอ จึงคุ้นชินกับการทำงานทางการแพทย์และบรรยากาศในที่ทำงานมาตั้งแต่เด็ก เวลาคุณหมอพาฮิเมะไปที่บ้านพักคนชรา ฮิเมะจะรู้งานกระโดดขึ้นไปนั่งตักผู้สูงอายุทันที ทั้งๆ ที่ปกติฮิเมะเป็นแมวขี้กลัว ไม่ยอมเข้าใกล้สตาฟในบ้านพักคนชราสักคน แต่กลับกระโจนเข้าหาผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยอย่างเป็นธรรมชาติ

ฮิเมะรู้ครับว่าใครต้องการการบำบัดคุณหมออธิบายไว้อย่างนั้น

การที่ฮิเมะขึ้นไปนั่งบนตักให้ลูบด้วยความเอ็นดู นอกจากจะทำให้พวกเขาผ่อนคลาย บางครั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องความจำซึ่งปกติอาจจะคุยไม่ค่อยรู้เรื่องด้วยซ้ำจำชื่อของมันได้ ซึ่งถือว่าเป็นผลดีกับคนไข้อย่างมาก

ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินจากแมว บางครั้งยังเรียนรู้การใช้ชีวิตจากแมวด้วย เช่น เมื่อเห็นแมวใช้ชีวิตอย่างอิสระ สบายๆ ก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะมีชีวิตแบบนั้นบ้าง บางคนก็ค้นพบว่าคนก็ใช้ชีวิตรูปแบบนี้ได้เหมือนกันนี่

นอกจากสมองและจิตใจ แมวยังช่วยบำบัดกายภาพได้ด้วย ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุบางคนมีอาการนิ้วล็อกเกร็ง ปกติขยับไม่ค่อยได้ และไม่ค่อยอยากให้ความร่วมมือกับนักกายภาพบำบัดสักเท่าไหร่ แต่เมื่อได้เจอกับนักบำบัด 4 ขาขนนุ่มมานั่งอ้อนอยู่ใกล้ๆ ความรู้สึกอยากจะลูบแมวทรงพลังมากพอให้พวกเขาพยายามขยับนิ้วจนลูบแมวได้สำเร็จ โดยไม่ทำหน้าเหยเกเหมือนตอนทำกายภาพบำบัดแม้แต่น้อย จนนักกายภาพฯ ที่มองอยู่ถึงกับพูดออกมาว่าผมแพ้แล้ว

ตอนนี้ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้านเป็นหลักเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แมวนักบำบัดเองก็ต้องพักก่อน กว่าจะได้เดินสายมอบความบันเทิงให้ผู้คนอีกครั้งคงต้องรออีกระยะใหญ่

แต่ไม่ต้องเป็นห่วง งานคาวาอี้พี่ยุ่นเขาถนัดนัก มีหมอนอิงหางแมวไว้ให้ลูบแทนแมวจริงขายด้วย ลูบแล้วหางกระดิกจริง กระดิกตามน้ำหนักมือที่เราลูบด้วยล่ะ เพียงเท่านี้จะกฎของคอนโดหรือโควิดก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป กระจายพลังเหมียวเยียวยาหัวใจได้อย่างทั่วถึง

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Kanith

นักเขียนภาพประกอบอิสระที่ติดเกม