งานหิน Ishi-tsumi ศาสตร์การเรียงหินสุดคราฟต์ของญี่ปุ่นที่ต้องรู้หน้าและรู้ใจหิน

Highlights

  • ศาสตร์การเรียงหินสุดคราฟต์ของญี่ปุ่นนั้นแตกเป็นหลายศาสตร์ย่อย ซึ่งเป็นการเรียงหินให้ได้ตามมาตรฐานดั้งเดิม ที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนอย่างน้อย 10 ปี
  • การเรียงหินเป็นวิชาเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยเซ็งโงกุ มีหลายเทคนิคทั้งแบบที่ใช้หินตามธรรมชาติหรือปรับรูปทรงของหินให้สวยขึ้นก่อนนำมาเรียง
  • ความยากของงานนี้คือ ไม่มีคัมภีร์สอนเคล็ดวิชาอะไรทั้งนั้น ช่างแต่ละคนต้องเรียนรู้เองจากประสบการณ์ตรงหน้างาน เพราะหินแต่ละก้อนนั้นรูปทรงต่างกัน

คำว่างานหินในภาษาไทยชวนให้นึกถึงงานหนัก งานยาก แต่ถ้าเป็นภาษาญี่ปุ่นอาจจะหมายถึงงานคราฟต์เก่าแก่อันละเอียดอ่อนที่หนักหนาทางกายภาพและยากในการฝึกฝน

เทียบกับบรรดางานคราฟต์ดั้งเดิมของญี่ปุ่น งานหินอาจไม่ใช่งานที่โดดเด่นจนสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ แต่เชื่อว่าคนไทยที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นเกือบทุกคนต้องเคยเห็นแน่นอน งานหินที่ว่านี้ไม่ใช่การแกะสลักหินก้อนให้เป็นรูปทรงอ่อนช้อยสวยประณีตแบบการแกะสลักหินอ่อนสไตล์ยุโรป แต่เป็นการนำหินมาเรียงต่อกัน!’

แค่จับมาเรียงอาจฟังดูเหมือนง่าย ไม่ประณีตและซับซ้อน แต่สิ่งที่เหมือนกับงานฝีมือแขนงอื่นๆ ของญี่ปุ่นคือ การจะเรียงหินให้ได้ตามมาตรฐานดั้งเดิมต้องใช้เวลาฝึกฝนอย่างน้อย 10 ปีเลยทีเดียว

งานเรียงหินของญี่ปุ่นแตกเป็นหลายศาสตร์ย่อย แต่วันนี้ขอยก 2 วิชา แนวตั้งและแนวนอนเป็นตัวแทนกลุ่มมาแนะนำความหินแบบญี่ปุ่นให้รู้จักกัน

งานเรียงหินแนวนอน

คนไทยน่าจะเคยเห็นวิธีการเรียงหินแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยไปเที่ยวปราสาทของญี่ปุ่น เพราะงานเรียงหินเก่าแก่แนวนอนของญี่ปุ่นคือการสร้างกำแพงนั่นเอง กำแพงหินที่เรียงตัวสวยอย่างแข็งแรงอยู่ล้อมรอบปราสาทต่างๆ คืองานฝีมือขนาดมหึมาที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรือวัสดุใดๆ ในการเชื่อมหินแต่ละก้อนเข้าด้วยกัน มีเพียงภูมิปัญญาของช่างญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยึดเกี่ยวหินขนาดไม่เท่ากันไว้อย่างเหนียวแน่น

การเรียงหินเป็นวิชาเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยเซ็งโงกุ (ค.ศ. 1467-1573) มีหลายเทคนิคทั้งแบบที่ใช้หินตามธรรมชาติหรือปรับรูปทรงของหินให้สวยขึ้นก่อนนำมาเรียง แต่เทคนิคที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือโนะสึระสึมิ (野面積) ซึ่งใช้หินตามสภาพที่พบเจอในธรรมชาติโดยไม่ปรับแต่งรูปทรงแม้แต่น้อย เพราะเทคนิคนี้สร้างกำแพงได้แข็งแกร่งทนทานที่สุด รับมือได้หมด ทั้งพายุ น้ำท่วม และแผ่นดินไหว

มองเผินๆ เหมือนนำหินทั่วไปมาเรียงซ้อนกันเฉยๆ แต่จริงๆ แล้วช่างผู้เชี่ยวชาญคำนึงถึงแรงโน้มถ่วง ความสมดุลในการจับคู่วางหินก้อนเล็ก-ใหญ่ แม้รายละเอียดเคล็ดลับวิชาจะแตกต่างกันไปแต่ละสำนัก แต่ผลที่ออกมาคือเกราะป้องกันอันแน่นหนาไม่ต่างกัน

กลุ่มอะโนชู (穴太衆คือกลุ่มช่างผู้เชี่ยวชาญเทคนิคนี้มากที่สุดและสืบทอดวิชาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน กลุ่มนี้แจ๋วขนาดได้รับหน้าที่ซ่อมแซมปราสาทคุมาโมโตะ ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวเมื่อ ค.ศ. 2016 พวกเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

เคล็ดลับการเรียงหินอยู่ที่การเลือกตำแหน่งวางหินซ้อนกัน ด้านที่ต้องรับน้ำหนักจะต้องขยับไปด้านหลังเล็กน้อย ต่างจากเทคนิคทั่วไปที่จะเอาด้านชนด้าน การวางหินแบบนี้ทำให้ส่วนหน้ารับน้ำหนักมากที่สุด เวลาเกิดแผ่นดินไหวหินอาจเลื่อนไถลลงมาได้ การวางหินแต่ละก้อนที่ประกบกันพอดีอาจดูสวยและแข็งแรงเมื่อมองจากภายนอก แต่เมื่อต้องรับแรงจากหลายทิศทางทำให้หินไม่สามารถถ่ายเทน้ำหนักให้กันได้และพังทลายลงมาในที่สุด

แก่นวิชาหลักๆ มีประมาณนี้ ไม่มีคัมภีร์สอนเคล็ดวิชาอื่นๆ อะไรทั้งนั้น ช่างแต่ละคนต้องเรียนรู้เองจากประสบการณ์หน้างาน สาเหตุที่ไม่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพราะขนาด รูปร่าง และน้ำหนักของหินในธรรมชาติไม่เหมือนกันสักก้อน จึงไม่สามารถบันทึกข้อมูลได้อย่างครอบคลุมหรือแม่นยำ ดังนั้นการจะเป็นช่างเรียงหินที่ดีได้ต้องฝึกสังเกตหินอย่างจริงจังเพื่อให้ได้มาซึ่งสายตาอันแหลมคมในการวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยของหินแต่ละก้อน

ความยากอีกอย่างของงานนี้คือ ช่างไม่รู้เลยว่าหินในธรรมชาติที่จะได้เจอในแต่ละครั้งมีขนาดหรือรูปทรงแบบไหน จึงไม่สามารถเขียนแบบล่วงหน้าได้ เมื่อถึงเวลาทำงานพวกเขาจะขึ้นเขาไปพิจารณาลักษณะเด่นของหินแต่ละก้อน เลือกหินที่คิดว่าน่าจะเข้ากับแบบกำแพงที่วาดขึ้นในจินตนาการ จากนั้นจึงค่อยนำมาเรียงที่หน้างานอีกที ขั้นตอนการพิจารณาหินอย่างเดียวนั้นใช้เวลา 1-2 วันเลยทีเดียว ช่างหลายคนถึงกับบอกว่าตอนที่นึกภาพกำแพงที่จะสร้างในหัวต้องได้ยินเสียงหัวใจของหินด้วย

งานเรียงหินเป็นเหมือนสังคมมนุษย์ มีทั้งคนตัวเล็กตัวใหญ่ นิสัยดีและไม่ดี กลุ่มคน (ก้อนเหล่านั้นรวมตัวอยู่ด้วยกันในสังคม ยิ่งหินแต่ละก้อนมีเอกลักษณ์ ยิ่งทำให้งานดูมีชีวิต บางทีเราก็ตั้งใจเลือกใช้หินก้อนที่ไม่ดีเพื่อสร้างเอกลักษณ์ การเลือกใช้แต่หินสวยๆ ไม่สนุก ความแตกต่างทำให้งานน่าสนใจและสะท้อนลายเซ็นของช่างแต่ละคน

การเลือกหินจึงถือเป็นงานที่สำคัญมาก ส่วนความเก่งของช่างไม่ได้ดูจากความประณีตเรียบร้อยของงานเหมือนงานคราฟต์อื่นๆ แต่วัดกันที่จำนวนก้อนหินที่เหลือหลังจบงานต่างหากว่าใครเป๊ะกว่ากัน

 

งานเรียงหินแนวตั้ง

กำแพงอาจยังพอจับทางกันได้ แต่ถ้าเป็นงานคราฟต์ที่เรียงหินในแนวตั้ง เดากันออกไหมว่าคืองานอะไร

ใบ้ให้นิดหน่อยว่าเกี่ยวกับอาหารที่คนไทยทุกคนรู้จัก

ใบ้ให้อีกนิดว่าใช้ในการทำเต้าเจี้ยวหรือมิโสะ

ถ้ายังคิดไม่ออกขอเฉลยเลยตรงนี้ว่า งานเรียงหินในแนวตั้งคือหนึ่งในขั้นตอนการหมักมิโสะของญี่ปุ่นนั่นเอง

การหมักมิโสะในถังไม้มีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ ฮัตโจมิโสะ คือมิโสะสูตรพิเศษประจำเมืองโอกาซากิที่สืบทอดกันมานับร้อยปีโดดเด่นที่การใช้วัตถุดิบแสนเรียบง่ายอย่างถั่วเหลือง เกลือ และน้ำเท่านั้น (มิโสะชนิดอื่นๆ อาจมีข้าวหรือข้าวบาร์เลย์ผสมด้วย) นอกจากนี้กรรมวิธีที่ใช้ในการผลิตในปัจจุบันยังเป็นแบบดั้งเดิมเหมือนเมื่อร้อยปีก่อนทั้งหมด ซึ่งใช้เวลาหมักมิโสะในถังไม้ถึง 2 ปีในขณะที่มิโสะทั่วไปใช้เวลาแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น

ใช่แล้ว งานหินรับบทเป็นที่ทับฝาของถังไม้ ดูเหมือนจะง่าย (อีกแล้ว) แต่บอกเลยว่ายากไม่แพ้การสร้างกำแพง เพราะถังไม้สำหรับบรรจุมิโสะนั้นใหญ่มาก สูงถึง 2 เมตร ต้องใช้หินเฉลี่ยประมาณ 355 ก้อนในการทับให้แนบสนิท รวมน้ำหนักของหินทั้งหมดที่ช่างต้องแบกขึ้นไปเรียงคือ 3-5 ตันสมัยก่อนช่างจะต้องไปแบกหินมาจากแม่น้ำยาฮากิด้วย ว่ากันว่าบางก้อนหนักถึง 50 กิโลกรัมเลยทีเดียว

แค่ยกของหนักก็เหนื่อยแล้ว นี่ยังต้องเรียงเป็นพีระมิดหรือทรงกรวยเพื่อไม่ให้หินหล่นลงมาด้วย!

การปิดฝามิโสะไม่ใช่แค่หาอะไรหนักๆ มาทับก็ได้ เพราะมิโสะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขยายและหดตัวได้ตามอุณหภูมิและความชื้นในแต่ละฤดู ช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวอาจขยับขึ้น-ลงประมาณ 20-30 เซนติเมตร จุดนี้เองที่ทำให้บทบาทของพี่หินสำคัญมาก เพราะนอกจากจะต้องทับเพื่อให้การหมักเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ยังต้องควบคุมช่องว่างอันน้อยนิดเพื่อให้มีอากาศปริมาณที่เหมาะสมเข้าไปทำปฏิกิริยาด้านในถัง

ในขณะที่ช่างหินกำแพงบอกว่าต้องได้ยินเสียงหัวใจของหิน ช่างหินมิโสะบอกว่าต้องรู้จักหน้าของน้องก้อน เพราะหินอาจดูเหมือนกันหมดแต่จริงๆ แล้วมีหน้า ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เวลาเรียงต้องคำนวณเรื่องช่องว่างและระยะขอบต่างๆ ทั้งหมด กว่าช่างคนหนึ่งจะสังเกตหินจนรู้จักหน้าตากันดีต้องฝึกเป็น 10 ปี เช่นเดียวกับช่างหินกำแพง แต่ช่างหินมิโสะอาจจะน่าเป็นห่วงกว่านิดหน่อยตรงที่ปัจจุบันมีช่างเหลือไม่ถึง 10 คน เพราะมีปริมาณงานไม่มากนัก ในขณะที่ช่างหินกำแพงยังพอมีงานซ่อมบำรุงอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ งานก่อสร้างในวัดและศาลเจ้า รวมไปถึงงานสร้างสวนญี่ปุ่นในต่างประเทศด้วย

แม้จะเป็นงานที่หนักและยาก แต่ช่างเรียงหินทั้งสองสาขาก็ใจสู้ไม่แพ้กัน ช่างเรียงหินฝึกหัดของทีมหมักมิโสะบอกว่า การเรียงหินเป็นงานที่เหนื่อยก็จริง แต่พอเรียงได้ดั่งใจมันกลายเป็นความเหนื่อยที่ทำให้รู้สึกดี และสิ่งที่ทำให้จำความรู้สึกดีหลังทำงานสำเร็จได้คือตอนได้ชิมมิโสะแสนอร่อยที่หมักจนได้ที่ แค่เห็นสีและได้กลิ่นก็รู้สึกว่าได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของญี่ปุ่นแล้ว

AUTHOR