Tatami-beri งานคราฟต์ชายขอบที่หาทางรอดพร้อมๆ กับปกป้องศิลปวัฒนธรรมของญี่ปุ่น

Highlights

  • ทาทามิเบริ คือผ้าทอหน้ากว้าง 8 ซม. ที่ใช้ทำขอบเสื่อทาทามิของญี่ปุ่น เป็นงานฝีมือเก่าแก่นับร้อยปี แต่แทบไม่มีคนญี่ปุ่นรู้จักหรือให้ความสนใจ
  • ‘Naoshi Takata’ ผู้บริหารรุ่นใหม่ของ Takata Orimono ในฐานะผู้รับสืบทอดกิจการของครอบครัวที่ทำสิ่งทอมากว่า 120 ปี ต้องหาไอเดียใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจไปต่อ
  • นาโอชิ แปลงโฉมทาทามิเบริให้กลายเป็นของกุ๊กกิ๊ก ย้ายที่จากมุมๆ ขอบๆ ที่คนไม่แล มาอยู่กลางใจลูกค้าด้วยความคิวต์
  • นอกจากสินค้ากุ๊กกิ๊กต่างๆ นาโอชิยังทำอีกอย่างที่นำงานคราฟต์เก่าแก่สู่โลกปัจจุบันอย่างทันเหตุการณ์ เขานำด้ายรีไซเคิลจากขวดน้ำพลาสติกมาใช้ผลิตสินค้าบางชนิดด้วย

วันนี้อยากจะพาทุกคนไปรู้จัก Tatami-beri งานคราฟต์ของญี่ปุ่นที่แหวกขนบนิดหน่อย เพราะหนึ่ง เป็นงานฝีมือที่ห่างไกลจากคำว่าบอบบาง เป็นงานคราฟต์สายถึกที่ทนมือทนเท้า แม้โดนคนญี่ปุ่นเดินเหยียบย่ำอยู่ทุกวันก็ยังใช้ได้นานเป็นสิบปี สอง รับเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการสร้างสรรค์เต็มๆ (แบบยังแคร์และไม่ทิ้งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ) สาม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม หันมาใช้ด้ายที่รีไซเคิลจากขวดพลาสติกด้วย

ทาทามิเบริ คือผ้าทอหน้ากว้าง 8 . ที่ใช้ทำขอบเสื่อทาทามิของญี่ปุ่น แม้จะเป็นงานฝีมือเก่าแก่นับร้อยปี แต่แทบไม่มีคนญี่ปุ่นรู้จักหรือให้ความสนใจ ยิ่งปัจจุบันบ้านที่มีห้องญี่ปุ่นซึ่งใช้เสื่อทาทามิลดน้อยลงเรื่อยๆ ทาทามิเบริยิ่งอยู่ยาก

Naoshi Takata ผู้บริหารรุ่นใหม่ของบริษัท Takata Orimono แห่งเมืองโคจิมะ จังหวัดโอคายามะ จึงไม่นิ่งนอนใจ ในฐานะผู้รับสืบทอดกิจการของครอบครัวที่ทำสิ่งทอมากว่า 120 ปี และครองส่วนแบ่งตลาดขอบเสื่อถึง 80% เขาต้องหาไอเดียใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้

วิธีที่เขาใช้คือ ปรับให้ทาทามิเบริกลายเป็นของกุ๊กกิ๊ก ย้ายที่จากมุมๆ ขอบๆ ที่คนไม่แล มาอยู่กลางใจลูกค้าด้วยความคิวต์!

เริ่มจากเพิ่มสี เพิ่มลายให้หลากหลาย จากที่เคยทำแต่สีพื้นๆ ทั่วไป สีพาสเทล ลายจุด ลายดอก ลายการ์ตูนดิสนีย์ต่างๆ ก็มา ตอนนี้มีให้เลือกมากกว่า 1,000 แบบ จากนั้นนำผ้าทอหน้ากว้าง 8 . นี้ไปดัดแปลงเป็นสินค้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอื่นๆ อีกมากมาย เช่น กระเป๋าใส่ดินสอ กระเป๋าใส่ของกระจุกกระจิก เข็มขัด ที่ใส่นามบัตร กล่องใส่แว่นตา ที่รองแก้ว ฯลฯ ถามว่าผลตอบรับดีแค่ไหน ก็มีแฟนคลับอยากซื้อผ้าไปทำงานฝีมือเองบ้าง จนต้องออกหนังสือ DIY สอนทำชิ้นงานมาหลายเล่มแล้ว  นอกจากนี้ยังมีหน้าร้านเท่ๆ ชื่อ FLAT ในจังหวัดโอคายามะ ซึ่งให้พนักงานในโรงงานมาเป็นคนขายเองด้วย รับรองว่าไม่มีใครเข้าใจสินค้าดีไปกว่าพวกพี่ๆ เขาอีกแล้ว

เราเดินเลี้ยวเข้าร้าน FLAT เพราะความน่ารักของโดยไม่รู้จักทาทามิเบริมาก่อน พอได้คุยกับนาโอชิถึงได้รู้ว่าการมีอยู่ของงานคราฟต์บริเวณขอบๆ ชิ้นเล็กๆ เหงาๆ นี้ช่างเท่และยิ่งใหญ่

เล่าเองได้แค่นี้พอหอมปากหอมคอ ความสนุกและน่าสนใจที่เหลือไปฟังจากผู้เชี่ยวชาญอย่างนาโอชิโดยตรงดีกว่า

อยู่เพื่อปกป้องและส่งเสริมทาทามิ

หน้าที่หลักของทาทามิเบริซึ่งเป็นผ้าทอที่ติดอยู่ที่ขอบทั้งสองด้านของเสื่อทาทามิคือ ปกป้องไม่ให้ชายรุ่ย เพราะทาทามิทำจากหญ้า ตัวหญ้าอย่างเดียวไม่มีความแข็งแรงมากพอ จึงต้องใช้ขอบตรงนี้มาช่วยปกป้องและเสริมความแข็งแรง นอกจากนี้เวลาปูเสื่อต่อกัน ยังช่วยให้เรียงต่อกันได้แนบสนิทพอดีไม่มีช่องว่าง ซึ่งช่างสมัยก่อนคิดมาแล้วว่าขอบผ้าต้องหนาเท่าไหร่ถึงจะวางลงขอบพอดี ไม่มีช่องว่างแต่ก็ไม่เบียดกันจนเกินไป ข้อดีของความพอดีนี้คือ ไม่มีฝุ่นสะสมบริเวณรอยต่อ

 

อยู่อย่างเข้มแข็ง

ด้วยความที่ทาทามิเบริโดนเหยียบทุกวัน ความคงทนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งความทนทานของวัสดุและความทนทานทางความงาม ช่างต้องทอลายให้แน่นมากพอ ไม่งั้นเวลาใช้งานบ่อยๆ ลายจะเริ่มไม่คมสวยเหมือนตอนซื้อใหม่ๆ จะโดนเหยียบย่ำแค่ไหน ลายก็ห้ามแตกเด็ดขาด

สมัยก่อนเขาใช้เครื่องทอผ้าแบบทอมือที่เราคุ้นตากัน แต่เพื่อเพิ่มคุณภาพและความเร็วในการผลิตสินค้า ปัจจุบันจึงใช้เครื่องจักร ซึ่งการที่เครื่องทอได้เร็ว ถ้าด้ายไม่แข็งแรงก็จะขาดตั้งแต่ตอนทอ โชคดีที่เมืองโคจิมะเป็นเมืองแห่งสิ่งทอชื่อดังของญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยยอดฝีมือแห่งการทำด้าย จึงมีด้ายที่ประสิทธิภาพดีไม่แพ้เครื่องให้ใช้เสมอมา แต่แค่นั้นยังไม่พอ เทคนิคสำคัญที่ช่วยสร้างความทนทานนั้นไม่ได้อยู่ที่เครื่องจักรทันสมัย หรือด้ายวัสดุสังเคราะห์ชั้น แต่อยู่ที่เทคนิคดั้งเดิมอย่างการทากาวและขัดก่อนนำด้ายไปใช้ นาโอชิบอกว่า

เครื่องจักรทันสมัยกับเทคนิคเก่าแก่เป็นของคู่กันที่ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ ผมตั้งใจจะขัดเกลาทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน

อยู่อย่างเท่าเทียม

สมัยก่อนเนิ่นนานในอดีตที่ยังมีเจ้าขุนมูลนาย ขอบเสื่อที่โผล่มาแค่ด้านละ 3 .ดูเหมือนจะเป็นจุดเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่จริงๆ แล้วทาทามิเบริเป็นหนึ่งในไอเทมชี้วัดชนชั้นทางสังคมของญี่ปุ่น เช่น สีม่วงคือห้องชนชั้นสูง ห้องในวัดหรือศาลเจ้า, สีเขียวใช้ในบ้านซามูไร ยิ่งขุนนางยศสูงมากๆ ขอบเสื่อจะมีลวดลายพิเศษที่เวลาเดินต้องคอยระวังห้ามเหยียบด้วย คนทั่วไปยุคต่อมาจะใช้สีดำหรือน้ำตาลแบบไม่มีลวดลายเป็นหลัก แต่ตอนนี้ทากาตะโอริโมโนะผลิตขอบเสื่อมาให้เลือกถึง 1,000 แบบ ทุกคนสามารถเลือกซื้อและเหยียบทับสีและลายที่ชอบได้อย่างเท่าเทียม

อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากเครื่องจักรไฮเทค สินค้ากุ๊กกิ๊กต่างๆ นาโอชิยังทำอีกอย่างที่นำงานคราฟต์เก่าแก่สู่โลกปัจจุบันอย่างทันเหตุการณ์ เขานำด้ายรีไซเคิลจากขวดน้ำพลาสติกมาใช้ผลิตสินค้าบางชนิดด้วย

นาโอชิบอกว่าตอนนี้คนทั่วโลกสนใจเรื่องการลดการใช้พลาสติก ลดขยะ ญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน ที่สำคัญญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีที่จะเอาของเหล่านั้นกลับมารีไซเคิลใหม่เป็นวัสดุอื่นๆ ด้ายที่ได้จากขวดพลาสติกแข็งแรงทนทานไม่แพ้วัสดุปกติ และได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เขายอมรับว่าแม้คุณสมบัติของด้ายจะดีไม่แพ้วัสดุทั่วไป แต่ด้ายรีไซเคิลนี้ทอยาก มีตะปุ่มตะป่ำง่ายกว่าด้ายทั่วไป อาจจะนำมาใช้ทดแทนทั้งหมดไม่ได้ แต่ไหนๆ ก็มีช่างทำด้ายคิดค้นของดีๆ ไว้ให้แล้ว เขาจึงนำมาต่อยอดเป็นสินค้า เพื่อช่วยสร้าง awareness โปรโมตการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่

อยู่เป็น

หน้าที่ที่แท้จริงของทาทามิเบริเวอร์ชั่นของใช้คือการทำให้ขอบเสื่อเป็นที่รู้จัก

นาโอชิบอกว่า ในหนึ่งช่วงชีวิตของคนเรา คงมีสัก 3-4 ครั้งเท่านั้นที่จะได้คิดถึงขอบเสื่อ เพราะเป็นสิ่งที่เราเลือกเวลาสร้างบ้านใหม่ หรือเปลี่ยนเสื่อที่เก่าแล้ว ซึ่งกินระยะเวลานาน ข้อดีของเสื่อทาทามินั้นชาวญี่ปุ่นทุกคนรู้กันมานานแล้ว แต่มีคนจำนวนมากไม่รู้ว่าตอนนี้มีขอบเสื่อที่น่ารักสดใสและหลากหลายมากขึ้น แต่การที่เขาเอาขอบเสื่อมาเนียนๆ ไว้ในชีวิตประจำวันของทุกคน เช่น ในฐานะวัสดุแฮนด์เมด, ที่ใส่นามบัตร, ที่ใส่ไม้จิ้มฟัน หรือกระเป๋างานฝีมือต่างๆ น่าจะทำให้คนรู้สึกถึงการมีอยู่ของขอบเสื่อมากขึ้น ยิ่งหลายคนเอ่ยปากชมว่าทนทานขนาดนี้ วัสดุกลับเบาสุดๆ บางคนอาจจะฉุกใจคิดว่า เออ หรือใช้เสื่อทาทามิก็ดีนะ ลายขอบเสื่อน่ารักจะตาย อยากมีบ้านที่มีขอบเสื่อเก๋ๆ แบบนี้

อยู่รอด

นาโอชิบอกว่า จำนวนคนใช้ขอบเสื่อลดลงมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน การแข่งขันเลยยิ่งสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องผลิตสินค้าที่มีเพียงเขาเท่านั้นที่ทำได้ขึ้นมาและเน้นการบริการ ไม่งั้นอยู่รอดยาก สมัยก่อนมีสีให้เลือกน้อยแค่ดำกับน้ำตาล ไม่มีลาย คนก็ไม่จ่ายแพง เพราะคิดว่าซื้อของถูกๆ ก็ไม่ต่างกัน ถ้าของเราแตกต่าง ลายสวย มีหลายสี คนจะเห็นคุณค่าและยอมจ่ายแพงขึ้น

ของดีๆ พอติดตลาด เป็นธรรมดาที่มีคนเลียนแบบ แต่เขามองว่าคนเหล่านั้นคิดว่ามันเป็นของที่ดีถึงทำ จึงตั้งใจสร้างสรรค์ของที่จะทำให้ลูกค้าชอบมากขึ้นต่อไป และเพื่อให้สินค้าถูกใจคนทุกเพศทุกวัย เขาจึงทำลวดลายออกมาหลากหลาย ทุกคนจะได้เจอแบบที่ชอบ แน่นอนว่าการบริหารสต็อก, การทำลายเยอะๆ นั้นแสนยากและเหนื่อย แต่ผู้บริหารหนุ่มบอกว่า ถ้ามันทำให้ลูกค้าเห็นคุณค่า ให้ความสำคัญ ก็คุ้มค่าที่จะทำ

สิ่งสำคัญในการอนุรักษ์งานฝีมือเก่าแก่ไม่ได้อยู่ที่การทำของเหมือนเดิม ด้วยวิธีเดิมๆ แต่เราต้องท้าทายสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาด้วย เพราะเราต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนที่อยู่รอบตัว เช่น คนทำด้าย คนทอผ้า ลูกค้า เราอยากสร้างสิ่งที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป ของเก่าแน่นอนว่ามันดีอยู่แล้ว แต่ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มาสานต่อ เรารู้ว่าทำให้มันดีขึ้นได้อีก ผมเลยอยากทำของที่คนสมัยก่อนก็ชื่นชม คนสมัยใหม่ก็ชื่นชอบ ผมอยากให้บริษัทเราในปัจจุบันมุ่งไปในทิศทางนี้ครับ เพราะการทำของที่คนชื่นชอบเป็นความภาคภูมิใจของบริษัทครับ

อยู่เพื่อปกป้องและส่งเสริมวัฒนธรรมญี่ปุ่น

ทุกคนรู้จักพิธีชงชา, อิเคบานะ (การจัดดอกไม้), เรียวกัง, กิโมโน, ห้องฝึกสมาธิในวัดและศาลเจ้า

วัฒนธรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่คนต่างชาติชื่นชอบล้วนเกิดขึ้นบนเสื่อทาทามิทั้งนั้น ถ้าเสื่อทาทามิหายไปจากสังคมญี่ปุ่น แม้ศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นจะถูกสานต่อ แต่บรรยากาศและความเป็นญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมส่วนหนึ่งก็จะหายไปด้วย

ในฐานะคนผลิตขอบของเสื่อ ผมรู้สึกว่าความอยู่รอดของพวกเราเกี่ยวพันกับการอนุรักษ์ศิลปะของชาติด้วย เรากำลังทำหน้าที่ส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีของญี่ปุ่นอยู่ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่สำคัญมากเลยครับ นี่เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้พัฒนางานต่อไปข้างหน้า

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา