แกงกะหรี่รสทำเองที่ไม่ต้องทำเองน่ะอร่อยที่สุด

จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร แต่หลังจากดูรายการ ช่อง 9 การ์ตูน จบ ฉันก็ตะโกนบอกแม่ว่า “แม่จ๋า อยากกินข้าวแกงกะหรี่”

แม่หายเข้าไปในครัวอยู่พักใหญ่ก่อนจะกลับออกมาพร้อมสำรับอาหารกลางวันอันประกอบไปด้วยแกงกะหรี่ไก่สีเหลืองอ๋อยใส่มันฝรั่งและหอมใหญ่ชิ้นเบ้อเริ่ม กินคู่กับอาจาดรสเปรี้ยวๆ หวานๆ มีกับข้าวแนมเป็นปลาเค็มทอดทรงเครื่อง จำได้ว่าฉันโวยวายว่ามันไม่ใช่อย่างนี้ น้ำแกงในการ์ตูนมันเป็นสีน้ำตาลเหนียวๆ ข้นๆ แบบระยิบวิบวับ ราดลงไปบนจานที่ใส่ข้าวครึ่งหนึ่ง แกงครึ่งหนึ่ง กินเข้าไปคำเดียวก็อร่อยเหมือนเหาะได้อะแม่

ในวัยประถมบนไทม์ไลน์เด็กเจนวายตอนต้น เราไม่รู้เลยว่าเมนู curry rice หรือคาเรไรสึในแอนิเมะญี่ปุ่นคืออะไร แต่ฉันก็ฝังใจกับมันมากกว่าโดรายากิของโดราเอมอน ช็อกโกบีของชินจัง หรือราเม็งจอมพลังในรันม่า ยิ่งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแล้วได้ดู Love Generation ซีรีส์ญี่ปุ่นที่ Kimura Takuya เป็นครีเอทีฟหนุ่มในเอเจนซีโฆษณา อาศัยอยู่บนชั้นสองของร้านแกงกะหรี่แบบอินเดีย นอกจากจะได้ยิ้มพึงใจกับความฉันน่ะนะในเรื่องราว ฉันยังได้เห็นข้าวแกงกะหรี่แบบจริงๆ ไม่ใช่ภาพวาดเป็นครั้งแรกอีกด้วย!

แต่การได้กินข้าวแกงกะหรี่ครั้งแรกของฉันไม่มีอะไรให้น่าจดจำสักนิด จำได้แค่ว่าลองสั่งในร้านอาหารญี่ปุ่นยอดฮิตแล้วไม่สามารถเติมเต็มความสงสัยในรสชาติเป็นสิบปีได้ ลองซื้อก้อนแกงกะหรี่สำเร็จรูปมาลองทำเองที่บ้านตามสูตรที่เสิร์ชได้จากอินเทอร์เน็ตก็ไม่เห็นจะได้เรื่องได้ราวเท่าไหร่ รสชาติมันก็สามัญตามรสปรุงแต่งในกล่องนั่นแหละ ใครบอกให้หย่อนช็อกโกแลตใส่ เพิ่มแอปเปิล ใส่น้ำผึ้ง ก็ไม่เห็นจะพิเศษหรือมีสายรุ้งพุ่งออกมาแต่อย่างใด โครงการจะทำแกงกะหรี่แสนอร่อยได้ในบ้านตัวเองจึงถูกพับไปอย่างเหงาๆ

แน่นอนว่าจุดเปลี่ยนของเรื่องก็มาถึง เมื่อฉันได้ลองสั่งเมนูคาเรไรสึในคาเฟ่เล็กๆ เหงาๆ ในเกียวโต จากที่เคยปรามาสว่าข้าวแกงกะหรี่ก็อร่อยได้ประมาณหนึ่งน่ะแหละ ยิ่งร้านเล็กๆ แบบนี้ก็คงใช้ก้อนแกงกะหรี่สำเร็จรูป ทำหม้อเล็กๆ จ๋อยๆ เพราะก็ไม่ได้ขายดิบขายดีอะไร แต่ปรากฏว่าข้าวแกงกะหรี่ซึ่งเป็นเมนูอิ่มเมนูเดียวที่เจ้าของร้านหายไปทำอยู่นาน คือข้าวแกงกะหรี่ระยิบระยับควันฉุยที่อัดแน่นไปด้วยเครื่องเคราแปลกตา ทั้งหน่อไม้หั่นท่อนกรุบกรอบเพราะเราไปถึงในฤดูใบไม้ผลิ และผักนานาชนิดที่ไม่เคยเห็นในแกงกะหรี่ร้านไหน ท็อปฟอร์มด้วยการท็อปคัตสึโอะบุชิหรือปลาโอแห้งที่เต้นไปเต้นมาเหมือนอยู่บนหน้าโอโคโนมิยากิ และเมื่อตักเข้าปากคำแรก ทุกเครื่องเคราก็จับมือประสานและเต้นโฟลกแดนซ์กันอย่างเอร็ดอร่อยจนอยากขอโทษเจ้าของร้านที่สบประมาททางใจไปในตอนแรก

หลังจากนั้น ฉันมักเลือกสั่งเมนูข้าวแกงกะหรี่ตามคาเฟ่ที่ไป ซึ่งก็ออกจะแปลกใจที่ทำคะแนนได้ดีเด่นแทบทุกร้าน คาเฟ่บนเกาะนาโอชิมะเป็นเจ้าของแกงกะหรี่ซีฟู้ดที่หอมกลิ่นทะเล แกงกะหรี่ไร้ท็อปปิ้งที่คูราชิกิอร่อยขอดจาน แกงกะหรี่ในคาเฟ่หลืบที่จิยูกาโอกะ ชิโมกิตาซาวะ ยานากะ คิจิโจจิ และอีกหลากหลายย่านก็อร่อยโดดเด่นและไม่เคยเหมือนกัน สิ่งที่ฉันสนใจคือในความอร่อยยูนีคนี้ ก็แตกต่างไปจากร้านแกงกะหรี่จอมยุทธ์ที่ขายแต่ข้าวแกงกะหรี่อย่างเดียวอีกต่างหาก และพอมันถูกเคี่ยวจากครัวเล็กๆ สไตล์โฮมเมดคาเฟ่ ความมั่นใจว่าเราจะทำแกงกะหรี่อร่อยรอดฝั่งได้ก็กลับมาอีกครั้ง

พอดิบพอดีกับการได้เจอ ข้าวหน้าแกงกะหรี่สไตล์ญี่ปุ่น หนังสือแปลจากญี่ปุ่นของสำนักพิมพ์แม่บ้าน ก็เหมือนกับการได้แมนวลไกด์ในการทำแกงกะหรี่ให้อร่อยได้แบบไม่ยากเกินยอม แต่ขณะเดียวกันก็มีความเนิร์ดบ้าบอสไตล์ญี่ปุ่นที่ทำให้เราต้องพึมพำว่าจะเอากันขนาดนี้เลยใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นการรีวิวความโดดเด่นและอ่อนด้อยของก้อนแกงกะหรี่สำเร็จรูปยอดฮิตผ่านเพนตากอนกราฟ ข้าวยี่ห้อใดจากจังหวัดใดกินกับแกงกะหรี่อร่อย การลบรอยเท้ารสสำเร็จรูปด้วยการหยิบก้อนแกงกะหรี่ยี่ห้อนั้นบวกยี่ห้อนี้ แล้วใส่ส่วนผสมอื่นๆ ลงไปเพื่อเพิ่มความยูนีคในแต่ละหม้อที่โนมอร์ความเบสิกแบบช็อกโกแลตหรือแอปเปิล แต่กลับเป็นส้มจีนลูกจิ๋ว ชิโอะโคจิ เนยถั่ว บ๊วยในเหล้าบ๊วย หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์บดละเอียด ฯลฯ      

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Tokyo Curry Bancho กลุ่มชายฉกรรจ์เนิร์ด 12 คนที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1999 เพื่อสำรวจและทดลองสูตรใหม่ๆ และหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนรักแกงกะหรี่ ความเป็นเมนูยอดฮิตของคนญี่ปุ่นยุคใหม่ทำให้กลุ่มนี้เข้มแข็งและเป็นไอคอนสำคัญที่ขับเคลื่อนแกงกะหรี่ญี่ปุ่นในหลายๆ ทาง เพื่อผลักดันให้คาเรไรสึเป็นอาหารประจำชาติแม้จะถูกเรียกว่า ‘yokosho’ หรืออาหารญี่ปุ่นที่ดัดแปลงมาจากอาหารต่างชาติก็ตาม เชฟญี่ปุ่นเคยเล่าให้ฉันฟังว่า เมนูข้าวแกงกะหรี่เพิ่งฮิตในญี่ปุ่นในยุค 80s ที่โลกหมุนเร็วขึ้น คุณแม่จึงไม่สามารถปรุงอาหารพิถิพิถันครบเซตได้ทุกวันเหมือนก่อนเพราะต้องออกไปทำงานหรือมีเรื่องให้ยุ่งตลอดเวลา เมนูข้าวแกงกะหรี่ที่ต้มไว้หม้อใหญ่ๆ อุ่นกินได้หลายๆ วันทั้งครอบครัวจึงกลายเป็นเมนูคอมฟอร์ตฟู้ดของคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ เชฟบอกว่าถึงจะโตมาเป็นเชฟ แต่เขาก็ยังทำแกงกะหรี่ตามสูตรของแม่เพราะรู้สึกว่าอร่อยที่สุด มีอะไรในบ้านก็ใส่อันนั้น อารมณ์จับฉ่ายของอาม่าในบ้าน หรือไข่เจียวแม่เราอร่อยที่สุดในโลกยังไงยังงั้น

“แม่จ๋า อยากกินข้าวแกงกะหรี่”

“ทำไม่เป็น มาทำเองเถอะย่ะ” แม่บอกปัดเพราะหมั่นไส้ความเยอะแยะของฉันที่ต้องเอาพริกแห้งไปผัดในน้ำมันจนหอมไหม้ก่อนนำมาผัดเครื่องเครา บีบมายองเนสเพิ่มความเข้มข้น เลือกก้อนแกงกะหรี่ยี่ห้อ Java และ Golden Curry ผสมกัน รวมทั้งรายละเอียดยุ่บยั่บมากมายที่ได้จากหนังสือเล่มที่ว่า เรียกว่ากว่าจะได้แกงกะหรี่ญี่ปุ่นสักหม้อ ฉันหมกตัวอยู่ในครัวเป็นค่อนวัน  

“ไม่ได้อยากกินแกงกะหรี่ญี่ปุ่น อยากกินแกงกะหรี่ที่มีอาจาดแบบที่แม่ทำนั่นแหละ ขอยำปลาเค็มด้วยน้า”


พิกัดใน มณฑล จิราภรณ์

หนังสือ ข้าวหน้าแกงกะหรี่สไตล์ญี่ปุ่น

(maeban.co.th)

ถ้าอยากสนุกกับการทำข้าวแกงกะหรี่แบบมีชาเลนจ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ แนะนำให้มีเล่มนี้ติดบ้านไว้ เปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการทำแกงกะหรี่มาก ต่อให้ไม่ทำตามเมนูเวอร์วังในหนังสือ แต่หยิบแค่เคล็ดลับบางอย่างมาใช้ แกงกะหรี่รสสำเร็จรูปสามัญก็อร่อยขึ้นมาอย่างวิสามัญเลยล่ะ

Aoringo

(aoringohomemadecurry.blogspot.com/)

ถ้าขี้เกียจทำเองแต่อยากกินข้าวแกงกะหรี่ขึ้นมา นอกจาก CoCoICHIBANYA ยอดฮิตความเผ็ดระดับสี่จะเป็นทางเลือกที่ง่ายเพราะสาขาเยอะแล้ว ก็มีแกงกะหรี่ของ Aoringo นี่แหละที่ทำให้คิดถึงวันคืนแสนสุขของแกงกะหรี่ในคาเฟ่ได้ รสชาติกลมกล่อม สดชื่นทั้งที่เข้มข้นออกอย่างนั้น ท็อปปิ้งเพียบ ที่ชอบสุดคือหน้าโทริโอกูระ หรือไก่ผัดกระเจี๊ยบเขียว เพิ่มหอยนางรมชุบแป้งทอดคาวทะเลมาแกล้มกัน ร้านอยู่ตึกธนิยะชั้นสอง (กับสาขาใหม่นิฮอนมูระ ทองหล่อ) เปิดเป็นรอบช่วงเที่ยงกับเย็น อาจต้องรอคิวบ้าง แต่รอเถอะจ้ะ ผลลัพธ์ควรค่าแก่เวลารอ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

กาแฟดำไม่เผ็ด

เป็นคนวาดภาพประกอบ เขียนคอลัมน์ เขียนหนังสือสำหรับเด็ก เจ้าของเพจกาแฟดำไม่เผ็ด และ Milo and Me ชอบเดินทาง แต่ก็ชอบอยู่บ้าน ชอบทำอาหาร ชอบดูนก ชอบวาดรูปและเล่าเรื่อง ชอบชีวิต…