Harmonique Jewelry นักเล่าเรื่องผ่านเครื่องประดับที่ชุบชีวิตใหม่ให้มรดกแห่งความทรงจำ

Harmonique

‘แหวนแต่งงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม’ คือหนึ่งในโจทย์ใหญ่ของฉันเมื่อวันสำคัญของชีวิตคู่มาถึง

แน่นอนว่าโจทย์นี้ไม่ง่ายเลย เพราะแหวนแบบที่ว่าอาจหาไม่ได้ตามร้านค้าทั่วไป หรือถ้าในโลกออนไลน์มีจริงก็คงยากที่จะหยิบจับหรือตัดสินใจ

ความตั้งใจแรกของฉันคืออยากทำแหวนที่ใช้ทองรีไซเคิลจากโทรศัพท์มือถือเหมือนกับเหรียญทองโอลิมปิก แต่จากการหาข้อมูลจากหลายฝ่ายก็พบว่าการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในไทยยังไม่ถูกกฎหมาย หลายที่ที่รวบรวมโทรศัพท์เก่าก็ส่งออกไปกำจัดที่ต่างประเทศ แม้จะมีคนสกัดทองได้ในไทยก็ค่อนข้างอันตราย และเมื่อเอาทองออกมาแล้วชิ้นส่วนอื่นๆ ของโทรศัพท์ก็มักไม่ได้ถูกจัดการอย่างถูกต้อง ตัวเลือกนี้จึงตัดออกไป

จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนแนะนำให้รู้จักกับ Harmonique Jewelry ที่คอยให้คำปรึกษาและทำความตั้งใจนี้ให้สำเร็จลงได้ แต่ก่อนจะไปพูดถึงกระบวนการต่างๆ ฉันอยากแนะนำให้รู้จักร้านและตัวตนของเจ้าของร้านทั้งสองคนก่อน

Harmony + Unique = เอกลักษณ์ที่สอดประสาน

“มีลูกค้าเดินมาหาฮาร์โมนีค แล้วบอกว่าเขาเดินดูแหวนมาเยอะมาก แต่ไม่เจอแหวนสวยถูกใจเลย เงินมีแต่เขาไม่ซื้อ เขารู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวกับเขา เหมือนจับยัดใส่มือเฉยๆ เราเลยเข้ามาช่วยตรงนี้ ใส่ดีไซน์เข้าไปกับเรื่องราวให้มันเป็นปัจเจก เลยเกิดมาเป็น harmony กับ unique การสอดประสานเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ของคนสองคนและได้มาเป็นชื่อแบรนด์โดยบังเอิญ”

Harmonique

Harmonique Jewelry เกิดจากความฝันของ โบ้–ทศพร พิศาล กับความตั้งใจของ ก๊อฟ–ภานุวัฒน์ สัจจะวิริยะกุล โบ้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักออกแบบจิวเวลรีตั้งแต่มัธยมต้น เขาออกแบบแนวทางชีวิตจนได้เป็นนักออกแบบจิวเวลรีให้กับหลายแบรนด์ดังทั่วโลก ในขณะที่ก๊อฟเป็นวิศวกรและนักพฤติกรรมศาสตร์ แต่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

“อยู่ๆ เราก็เบื่องานประจำขึ้นมาแล้วอยากทำธุรกิจ มีความคิดเยอะไปหมดแต่ก็ยังไม่รู้จะทำธุรกิจอะไรดีก็เลยไปดูดวง หมอดูบอกว่าให้ทำอะไรเกี่ยวกับโลหะ ซึ่งจริงๆ มีหลายอย่างนะ จะทำเหล็กเส้นก็ได้” ก๊อฟเล่าติดตลกถึงแรงบันดาลใจของเขา และยังเสริมว่าเขาเริ่มมองหาสิ่งที่ชอบ ประกอบกับเจอโบ้ที่ทำจิวเวลรีให้แบรนด์ดังอยู่ก่อนหน้านี้ ทั้งคู่เลยตัดสินใจออกมาทำแบรนด์ของตัวเอง

“มีตังค์ไหม” เป็นหนึ่งในบทสนทนาสำคัญของเขาทั้งสอง เพราะการทำธุรกิจจิวเวลรีต้องมีเงินลงทุนสูงมาก แต่ใครจะเชื่อว่าเขาเริ่มต้นธุรกิจนี้ด้วยเงินเพียงคนละ 10,000 บาท

ร้านจิวเวลรีที่ไม่ได้ถามคุณว่าชอบแบบไหน แต่ถามว่าไปรักกันได้ยังไง

“เราสองคนมีนิสัยเหมือนกันคือชอบฟังคนอื่นเล่าเรื่อง จะถามว่าแต่ละคนไปรักกันได้ยังไง ชอบอะไรในตัวอีกคน เราฟังเรื่องของคนอื่นแล้วหยิบจับมาดีไซน์ เลยทำให้เราทำงานตรงนี้สนุก”

โบ้เล่าพร้อมโชว์จิวเวลรีคอนเซปต์ต่างๆ ที่เขาออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นแหวนของคู่รักนักวิ่ง แหวนของคุณหมอที่แฝงกราฟคลื่นหัวใจ และอีกหลากหลายดีไซน์ โบ้เล่าเรื่องราวของแหวนแต่ละวงออกมาเป็นฉากๆ จนฉันทึ่ง

“เราอยากให้เขาได้สิ่งที่เขาปรารถนามากที่สุด เหมือนสโลแกนของเราที่ว่า ‘craft your story’ อยากได้อะไรบอกมาเลย ไม่มีชิ้นไหนที่ Harmonique ปฏิเสธลูกค้าเลยนะ ซึ่งบางทีร้านทั่วไปเขาจะปฏิเสธลูกค้าอย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะว่าต้นทุนสูงและเสียเวลาออกแบบแหวนแค่คู่เดียว”

Harmonique ใช้จุดนี้ผลักดันให้ธุรกิจเติบโต ก๊อฟและโบ้อาสาออกแบบแหวนให้กับเพื่อนที่รู้จักก่อน เมื่อตกลงปลงใจสั่งผลิตแหวนและวางมัดจำเขาจึงมีรายได้เข้ามา และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ธุรกิจจิวเวลรีของพวกเขาเติบโตมาได้ด้วยเงินทุนไม่มากนัก

Harmonique

“ร้านจิวเวลรีในประเทศไทยไม่เคยโปรโมตดีไซเนอร์มาก่อน ทุกร้านคือเจ้าของร้านออกหน้า ทุกอย่างอยู่ภายใต้ชื่อร้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ก๊อฟไม่พอใจว่าทำไมคนที่ออกแบบสิ่งเหล่านี้ถึงถูกด้อยค่า เราเลยอยากผลักให้คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จ ให้ดีไซเนอร์ได้มีที่ยืน ในอนาคตเราต้องการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ของดีไซเนอร์ เป็นร้านสบายๆ เหมือนร้านกาแฟ ไม่ต้องมีตู้โชว์มากมาย ให้คุณได้เข้ามาคุย มาเล่าให้เราฟังก่อน เดี๋ยวดีไซเนอร์ช่วยคิดให้” ก๊อฟเล่าถึงความตั้งใจในการยกระดับดีไซเนอร์วงการเครื่องประดับให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น ให้คุณค่าของงานดีไซน์ตอบโจทย์ลูกค้า และเน้นรังสรรค์ผลงานมากกว่าจำนวนสินค้า

ฉันและแฟนเล่าให้โบ้ฟังว่าพวกเราชอบธรรมชาติ คนหนึ่งชอบภูเขา ส่วนอีกคนชอบทะเล เลยอยากได้แหวนที่สะท้อนถึงสองสิ่งนี้ เราลองเลือกแบบที่ชอบ 2-3 แบบจากอินเทอร์เน็ตให้โบ้ดู และเพียงไม่กี่สัปดาห์โบ้ก็ส่งแบบแหวนมาให้เราเลือก ไม่ว่าจะเป็นคอนเซปต์น้ำทะเลที่ไหลผ่านทรายเป็นร่องเล็กๆ หรือเนื้อสัมผัสของแหวนที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์ว่ารายละเอียดของแหวนเพียงวงเล็กๆ นั้นทำได้หลากหลายกว่าที่เราคิดมาก

เครื่องประดับ มรดกจากรุ่นสู่รุ่น

หากมองในมุมหนึ่ง เครื่องประดับกับสิ่งแวดล้อมดูเหมือนจะไม่ไปด้วยกันเอาเสียเลย เพราะเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือยที่ดูไม่มีฟังก์ชั่นในการทำให้เกิดประโยชน์อะไร แถมยังต้องถลุงโลกมาทำอีก แต่ก๊อฟพูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

“ถ้าเครื่องประดับมันจะตาย มันตายตั้งแต่พันปีที่แล้ว แต่คนยังให้คุณค่ากับสิ่งนี้ไม่ว่าจะในรูปแบบเครื่องบอกตำแหน่ง ฐานะ เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะทำให้การผลิตเครื่องประดับมันดีขึ้น”

แน่นอนว่ามีความเป็นไปได้ในหลายกระบวนการมากที่พัฒนาได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกวัตถุดิบ การออกแบบให้มินิมอล การผลิตที่ทำให้เกิดของเหลือทิ้งน้อยที่สุด แต่ในยุคสมัยก่อนเครื่องประดับถูกใช้เป็นเครื่องบ่งบอกฐานะจึงถูกออกแบบให้มีขนาดใหญ่ เห็นชัด สร้อยทองขนาดใหญ่ แหวนเพชรเม็ดโต หรือกำไลอัญมณีหลากสีจึงไม่เน้นดีไซน์หรือคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่ปัจจุบันยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว

“มันเริ่มจากการที่ลูกค้าเอาแหวนของอาม่ามาซ่อม พอเราซ่อมให้เสร็จแล้วเขาบอกว่า เอาไปให้หลายร้านแล้วไม่มีใครยอมซ่อมให้เลยเพราะว่ามันจุกจิก มีแต่ก๊อฟกับโบ้นี่แหละที่ยอมซ่อมให้ มันเป็นคำพูดที่เรารู้สึกอิ่มเอมมาก” ก๊อฟเล่าว่าในครั้งนั้นนอกจากซ่อมแหวนวงนี้แล้ว เขายังปรับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้แหวนดูสวยขึ้นภายใต้รูปแบบเดิม และเริ่มสนใจการรีดีไซน์มากขึ้น

“หลังจากครั้งนั้นเราเลยคิดว่า หรือว่าเรามาทำงานรีดีไซน์ดี เพราะคนมีของเก่าๆ เยอะ และของมันมีเรื่องราวหรือความผูกพัน บางอย่างโบราณไปหน่อย ทองเกินไป อย่างของอากงอาม่านี่ต้องทอง ไม่ทองไม่ใส่ มรกตต้องใหญ่ ซึ่งคนยุคเราไม่ชอบใส่สีทอง แต่มันมีคุณค่าทางจิตใจ การรีดีไซน์ของที่เขามีจะทำให้เขาประหยัดราคาและประหยัดทรัพยากรด้วย

Harmonique

“มีลูกค้าเอาแหวนที่ถอดมาจากนิ้วอาม่ามาทำเป็นแหวนเพชรเพื่อให้ลูกชายไปขอสาวแต่งงาน ซึ่งมันใหญ่มากและเพชรเยอะมาก คุณแม่เขาเป็นคนเอามาให้ บอกว่าบ้านเรารวยนะ จะเอาแหวนวงเล็กๆ ไปให้เขาด่าอาม่าเหรอ แหวนเลยมาใหญ่เป็นก้อนหินเลย (หัวเราะ) เขาขอแฟนแต่งงานแล้วแต่ไม่มีใครกล้าใส่แหวน เลยเอามาออกแบบใหม่จะได้ใส่ติดตัวเพื่อรำลึกถึงอาม่าด้วย” โบ้เล่าถึงอีกเรื่องประทับใจที่เขาแตกแหวนวงใหญ่ของอาม่าออกมาเป็นแหวนอีก 3 วง

ของที่เคยเป็นมรดกตกทอดที่ไม่สามารถสวมใส่ได้แต่ก็ไม่อยากขาย ได้เปลี่ยนสภาพมาให้เหมาะกับผู้รับ ทำให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเหตุผลที่ร้านค้าส่วนมากหรือช่างมักไม่รับทำเพราะมีความยุ่งยากมากกว่า ต้องแกะเพชรหรืออัญมณีออกมาอย่างประณีต หลอมรวมโลหะเข้าด้วยกันแทนที่จะเป็นทองแท้ใหม่ๆ และที่สำคัญยังทำให้ร้านค้าได้กำไรน้อยลงด้วยเพราะไม่ได้บวกกำไรจากวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต แต่ Harmonique กลับรู้สึกดีใจที่มีส่วนช่วยลูกค้าและช่วยประหยัดทรัพยากรโลก

ผ้าขี้ริ้วห่อทอง

พอได้ไอเดียฉันก็เริ่มไปรื้อของเก่าที่มีอยู่ในบ้าน โดยพื้นฐานเป็นคนชอบเครื่องเงินเลยมีสร้อยคอเก่าที่ไม่ได้ใส่แล้วอยู่หลายเส้น รวมถึงต่างหูไร้คู่อีกหลายข้าง รื้อของตัวเองแล้วก็ลามไปรื้อของเก่าของแม่ด้วย เผื่อว่าแม่จะมีเครื่องประดับที่ไม่ได้ใช้แล้ว

ว่าแล้วแม่ก็หยิบห่อผ้าขี้ริ้วออกมาให้ดู เหมือนที่โบ้เล่าไว้เลย ผู้ใหญ่มักมีเครื่องประดับทองเก็บไว้ กำไลนพเก้า กำไลทองคล้องขาของลูกตอนเด็กๆ ต่างหูอาม่า กรอบพระ และอื่นๆ แม่หยิบออกมาทีละชิ้นและเล่าความเป็นมาของสร้อย แหวน กำไลต่างๆ ให้ฉันฟังอย่างมีความสุข บางทีเครื่องประดับอาจจะเป็นแคปซูลกาลเวลาก็ได้นะ

เราเลือกแหวนวงเล็กของพี่สาวกับพี่ชายสมัยเด็กๆ ที่ปัจจุบันใส่ไม่ได้แล้ว ต่างหูเพชรของอาม่า และสร้อยทองที่คิดว่ารูปแบบโบราณเกินไปที่จะใส่ได้มารวมกันเป็นแหวนแต่งงานของเรา

“หยองหรือไม่หยอง” ฉันเอามาถามโบ้ที่ร้าน เพราะทองหลายชิ้นก็เบาหวิวจนเหมือนจะเป็นของปลอม หรืออย่างเพชรฉันก็ดูไม่เป็นว่าของจริงหรือน้ำงามหรือเปล่า ซึ่งโบ้จะใช้การดูและการชั่งเพื่อทดสอบเบื้องต้น ก่อนจะนำไปเข้าเครื่องเพื่อทดสอบเปอร์เซ็นต์ทองที่แน่ชัดอีกครั้ง ระหว่างที่รับสินค้าจะมีการถ่ายรูปชั่งน้ำหนักไว้เป็นหลักฐานและรายงานเป็นระยะ

“เราจะรู้ได้ยังไงว่ามันเป็นของเราจริงๆ ที่เอาไปทำมาใหม่ ไม่ใช่เอาของปลอมใส่เข้าไปแล้วเอาของเราไปขาย” ฉันถามเพื่อความมั่นใจ

“เราพยายามพิสูจน์ความตรงไปตรงมาของเราให้มากที่สุด ของที่เรารับมาก็จะไปยิงหาเปอร์เซ็นต์ทองออกมาชัดเจน ได้กลับคืนก็ต้องเท่านี้ ไม่ต้องมามั่วกันทั้งสองฝ่าย และจริงๆ ธุรกิจนี้ใช้ความเชื่อใจอยู่แล้ว แม้จะเป็นร้านใหญ่ๆ เราก็ไม่อาจรู้เลยว่าเขาขายของแท้หรือเปล่า แต่อาศัยเครดิตและความเชื่อใจ เราก็พยายามอย่างเต็มที่ที่สุด และปรับไปเรื่อยๆ ให้โปร่งใสที่สุด” โบ้อธิบายเสริมถึงกระบวนการทำงานอย่างโปร่งใสซึ่งเป็นโจทย์ที่เขายังพัฒนาต่อไป

Harmonique

พลังของการรีดีไซน์

ภายในสองสัปดาห์แหวนที่เรารอคอยก็เสร็จเป็นที่เรียบร้อย แหวนทองขาวที่เกิดจากเงินผสมกับทองให้สีเหลือบทองอ่อนๆ คล้ายพระอาทิตย์ตกดิน ดีไซน์ที่ตั้งใจให้มองด้านบนเหมือนคลื่นทะเลและสันด้านข้างคล้ายภูเขาลูกเล็กๆ เพชรตรงกลางเดิมตั้งใจจะใช้เพชรจากต่างหูอาม่า แต่น่าเสียดายที่ขนาดใหญ่เกินไปทำให้เราต้องใช้เพชรใหม่มาร่วมด้วย

สร้อยทองถูกนำไปใช้บางส่วน จึงตัดและต่อใหม่ให้กลายเป็นกำไลข้อมือ ส่วนเศษทองที่เหลือจากการผลิตก็ถูกขึ้นรูปเป็นแหวนเกลี้ยงดีไซน์มินิมอลอีกวงหนึ่งที่สวมใส่ได้ในหลายโอกาส เราได้แหวนสุดประทับใจและเกร็ดความรู้เรื่องเครื่องประดับอีกมากมายในราคาถูกกว่าท้องตลาดเกินครึ่ง

Harmonique
Harmonique

“มีคนเอาของเก่ามาทำเรื่อยๆ เลยนะ ลูกค้าคนเดิมสั่งติดต่อกันมา 5-6 เดือนแล้ว แม้กระทั่งช่วงโควิดก็ยังสั่งอยู่ การรีดีไซน์ในเชิงธุรกิจของเราถือว่าเป็น brand loyalty ที่ทรงพลังมาก” โบ้เล่าถึงข้อดี แม้การทำงานจะมีกระบวนการที่ซับซ้อนอยู่บ้าง แต่งานออกแบบคือสิ่งที่เขารัก และการที่ลูกค้ามีความสุขก็ทำให้โบ้มีความสุขด้วย

แถมก๊อฟยังบอกแบบไม่หวงไอเดียด้วยว่า “อยากให้ร้านอื่นทำรีดีไซน์มากขึ้นเหมือนกัน เพราะจริงๆ ทรัพยากรพวกนี้มันมีอยู่แล้ว ถ้ามีคู่แข่งเพิ่มขึ้นในตลาดคนอาจจะหันมาให้ความสนใจรีดีไซน์มากขึ้นก็ได้ เหมือนมาช่วยกันทำมาร์เก็ตติ้ง ถ้าเขามีมุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยก็น่าจะดี เราจะได้แอบดูและใช้ความคิดของหลายๆ คนมาต่อยอดกัน”

ฉันรู้สึกขอบคุณ ไม่ใช่แค่เพียงที่ฉันได้แหวนวงสำคัญที่สวยถูกใจ แต่ยังมีเรื่องราวดีๆ แห่งความสุขของคนในครอบครัวซ่อนอยู่ในแหวนวงนี้ด้วย ฉันหวังว่าแหวนของเราอาจจะพอทำให้หลายคนได้หยิบจับเครื่องประดับเก่ามาปัดฝุ่น เริ่มบทสนทนากับคนในครอบครัว และเมื่อถึงวันหนึ่งในอนาคต เครื่องประดับเหล่านี้อาจเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของคุณด้วยเหมือนกัน


Harmonique Jewelry
harmoniquejewelry.com
facebook.com/harmonique.jewelry

AUTHOR