‘เทใจดอทคอม’ แพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์ที่ให้คนไทยได้เทใจเพื่อแก้ปัญหาสังคม

Highlights

  • เทใจดอทคอม คือแพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อสังคม ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้อยากบริจาคกับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
  • เทใจกำเนิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้วจากโครงการนักศึกษาที่อยากช่วยเหลือสังคม จนได้ร่วมกับ 4 องค์กรที่ต่างสนใจทำงานด้านการพัฒนาสังคม ได้แก่ สถาบัน ChangeFusion, บริษัท Opendream, มูลนิธิเพื่อคนไทย และเครือข่าย Thai Young Philanthropist Network (TYPN)
  • ถึงตอนนี้เทใจมีโครงการเข้าร่วมแล้วกว่า 367 โครงการ ยอดเงินบริจาครวมกว่า 122 ล้านบาท จากผู้บริจาคถึง 67,170 คน

ในช่วงวิกฤตที่ชีวิตดูเหมือนจะเต็มไปด้วยข่าวร้าย ไม่ว่าจะโควิด-19 หรือปัญหาไฟป่าภาคเหนือที่ดูรุนแรงกว่าทุกปี จนประชาชนที่ต้องอยู่บ้านอย่างเราไม่รู้จะช่วยอะไรได้มากไปกว่าการบริจาค บริจาค และบริจาค เพื่อให้คนหน้างานสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ในช่วงเดือนที่ผ่านมาฉันเชื่อว่าหลายคนอาจจะบริจาคเงินมากกว่าค่าอาหารของตัวเองเสียอีก

“เอด้าว่ารุ่นของเราเป็นรุ่นที่ไม่ชอบบริจาคให้วัดกันแล้ว ไม่คิดว่าต้องทำบุญเพื่อชาติหน้า แต่ทำบุญเพื่อให้สังคมทุกวันนี้มันดีขึ้น” เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม แพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อสังคม เล่าให้ฟัง

“แต่ก่อนสื่อสังคมออนไลน์ยังไม่กว้างขวางแบบทุกวันนี้ เราแทบไม่รู้เลยว่ามีองค์กรไหนทำงานอยู่บ้าง หรือถ้าเขาทำเราจะเชื่อได้ยังไงว่าเขาทำอยู่หรือว่าทำดีแค่ไหน ซึ่งถ้าเราจะเอาเงินไม่กี่บาทไปบริจาคก็คงจะไม่มานั่งทำวิจัยขนาดนั้น แต่เราก็ยังอยากรู้ว่าเราสร้างผลกระทบได้ยังไงบ้างหรือควรจะให้เงินใครแล้วเกิดอะไรขึ้น

“ด้านองค์กรที่ทำงานกับชุมชนเองก็เข้าถึงแหล่งทุนได้ยากเพราะเขาไม่ค่อยรู้ แต่เวลาทำงานกับชุมชนเขาทำได้ดีและเข้าใจปัญหาจริงๆ แต่เขาไม่มีพื้นที่เล่าเรื่องของตัวเองเลย สมัยนั้นเฟซบุ๊กยังไม่ถูกใช้แพร่หลายในสังคมไทย เว็บไซต์ก็ยังไม่ค่อยนิยม เราเลยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนทำงานกับผู้บริจาคเข้าด้วยกัน” เอด้าเล่าถึงปัญหาทั้งฝั่งผู้ให้และผู้รับ ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาเทใจดอทคอมเมื่อ 8 ปีก่อน

 

จากโครงการสู่ธุรกิจ

เมื่อ 8 ปีก่อนสมัยที่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ฉันจำเรื่องตลกเรื่องนี้ได้ดี เพื่อนที่ทำโครงการอนุรักษ์ด้วยกันได้รับสายติดต่อให้เขียนโครงการเข้ารับบริจาคในช่องทางออนไลน์ และเขาก็บันทึกหมายเลขนิรนามนี้ว่า ‘เทใจ’ จนกระทั่งแฟนสาวมาเห็นแล้วเป็นเรื่องราวใหญ่โตว่าชายหนุ่มแอบมีคนอื่นรึเปล่า พอเจ้าตัวเฉลยก็ทำเอาเพื่อนๆ หัวเราะลั่นกันทั้งกลุ่ม และนั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันรู้จักเทใจดอทคอม

“เริ่มแรกเราไม่คิดว่าจะทำเทใจเป็นองค์กรด้วยซ้ำ เรามองมันเป็นโครงการหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์ทั้งคนให้และคนรับ ช่วยให้คนรับมีพื้นที่เล่าเรื่อง ช่วยการันตีว่าองค์กรไหนเชื่อถือได้ หรือเงินของผู้ให้ได้ไปช่วยตามที่เขาคาดหวังไว้ คอยติดตามผลว่าให้ไปแล้วเป็นยังไง อันนี้คือสิ่งที่เราคาดหวังกันตั้งแต่แรก” เอด้าขยายความถึงความตั้งใจของทั้ง 4 องค์กรที่รวมกันทำเทใจดอทคอมขึ้น

โดยทั้ง 4 องค์กรที่เริ่มก่อตั้งต่างทำงานด้านการพัฒนาสังคมแต่มีความสนใจที่แตกต่างกัน สถาบัน ChangeFusion สนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ต้องการหาเงินมาช่วยเหลือองค์กรภาคสังคมต่างๆ ในขณะที่บริษัท Opendream สนใจด้านเทคโนโลยีให้สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น มูลนิธิเพื่อคนไทยต้องการสร้างพลเมืองที่ใส่ใจสังคมหรือ active citizen และสุดท้ายเครือข่าย Thai Young Philanthropist Network (TYPN) ต้องการช่วยสนับสนุนการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม

“พอทำมาเรื่อยๆ พื้นที่นี้ก็เริ่มขยายตัว หลายองค์กรก็เกิดขึ้นเพราะแพลตฟอร์มนี้ เราเห็นคนข้ามบทบาทมากขึ้น จากคนบริจาคก็มีแรงบันดาลใจมาเป็นผู้ทำแคมเปญเอง เพื่อชวนคนที่สนใจเรื่องเดียวกันให้ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง หรือถ้าเขาเติบโตไปได้ดีเขาก็กลับมาเป็นผู้ให้ สลับไปสลับมา จนกระทั่งถึงปีที่ 5 เราคิดว่าเราไม่ควรทำสิ่งนี้เป็นโครงการอีกแล้ว ถ้าเราอยากพัฒนาและทำมันไปเรื่อยๆ เราควรมีทีมมาบริหารจัดการและอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง” เอด้าเล่าถึงการผันตัวของเทใจดอทคอม จากโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก มูลนิธิเพื่อคนไทย กลายมาเป็นกิจการเพื่อสังคมที่เลี้ยงดูความฝันและเป้าหมายได้ด้วยตัวเอง

 

ทุ่ม เท ทั้ง ใจ

ปัจจุบันเทใจดอทคอมหักค่าธรรมเนียมในการให้บริการ 10 เปอร์เซ็นต์ในทุกการบริจาคเพื่อบำรุงรักษาระบบ ซึ่งหลายคนอาจเห็นต่างว่าไม่ควรหักค่าใช้จ่ายจากเงินบริจาคเลย เพราะเขาตั้งใจบริจาคเพื่อช่วยคนอื่นอยู่แล้ว

เอด้ายอมรับว่ากระบวนการทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก “การบริจาคในเทใจช่วงแรกๆ เป็นคนรุ่นใหม่พอสมควร คือเป็นคนที่เข้าใจว่าการทำหลายๆ อย่างมีค่าดำเนินการไม่ว่าจะโดนหักค่าธรรมเนียมทางการเงินจากการบริจาคช่องทางต่างๆ รวมถึงค่าคน ตั้งแต่การพิจารณาโครงการ การพัฒนาโครงการให้ดี หรือการติดตามผล”

เมื่อเธอเริ่มเล่าฉันจึงได้เห็นภาพการทำงานอย่างละเอียด ตั้งแต่การรับโครงการมาพิจารณา ตรวจสอบว่าคนที่เขียนโครงการมามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน รวมถึงพัฒนาโครงการให้แน่ใจว่าตอบโจทย์และแก้ปัญหาอย่างแท้จริง จากนั้นจึงตรวจสอบแผนการเงินและข้อตกลงต่างๆ ในการเข้าร่วม เมื่อโครงการได้รับเงินแล้วก็จะต้องมีการติดตามผล ตรวจสอบรายงานการใช้เงินตามวัตถุประสงค์

“ถ้าคนส่งโครงการมาเป็นคนใหม่เลยอาจต้องเช็กละเอียดนิดหนึ่ง เช่น กลุ่มนักศึกษามาขอระดมทุนสร้างห้องสมุดในต่างจังหวัด เราก็ต้องเช็กกับมหาวิทยาลัยว่าเป็นนักศึกษาจริงหรือเปล่า เช็กกับโรงเรียนว่ามีเด็กติดต่อเข้าไปทำห้องสมุดไหม หรือพื้นที่นั้นมีความต้องการจริงหรือเปล่า”

ด้วยขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้เราเชื่อใจได้ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์จะถึงมือผู้รับและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

 

พลังของประชาชนท่ามกลางวิกฤตประเทศไทย

“เทใจทำงานมานานกับคนหลายกลุ่ม อย่างโควิดในช่วงมกราคมหรือกุมภาพันธ์คนยังไม่ตื่นตัวกันมาก แต่กลุ่มที่เป็นหมอซึ่งเคยทำงานร่วมกันเขาได้กลิ่นว่าสถานการณ์จะรุนแรงกว่าที่เราคิดไว้ เขาเลยมาเปิดโครงการระดมทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้เทใจเป็นที่แรกๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาก่อนที่คนกลุ่มใหญ่ในสังคมจะคิดว่ามันเป็นปัญหาด้วยซ้ำ” เอด้าเล่าถึงโครงการเทใจให้มดงานสู้โควิด ซึ่งเปิดระดมทุนรับบริจาคในช่วงที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพียง 43 คน และมีผู้เสียชีวิต 1 คนเท่านั้น

“อย่างเรื่องอุปกรณ์การแพทย์เป็นเหตุฉุกเฉินและขาดแคลนจริงๆ ถ้าเราไม่ทำอย่างรวดเร็วหมอก็จะป่วยเยอะ ผลกระทบที่ตามมาก็จะมาก เราเลยต้องรีบทำ แต่เราทำแค่ช่วงเดียว ตอนหลังเราไม่ค่อยปล่อยโครงการแบบนี้แล้ว โครงการไหนก็ตามที่เรารู้สึกว่ามันควรเป็นการทำงานของภาครัฐเราจะมีคำถามเยอะ เช่น การซ่อมโรงเรียนเมื่อเกิดพายุไต้ฝุ่นก็มีงบรัฐดูแลอยู่แล้ว แม้เด็กเหล่านี้มีความต้องการจริง แต่ก็จะตั้งคำถามว่าทำไมจะต้องใช้เงินของประชาชน 

“เมื่อเราช่วยแล้วประชาชนต้องอย่าลืมตั้งคำถามด้วยว่าทำไมรัฐไม่มาทำเรื่องนี้”

 

เราไม่ได้ทำงานเพื่อเทใจแต่เราทำงานเพื่อสังคม

“เราไม่ได้ทำงานเพื่อเทใจแต่เราทำงานเพื่อสังคม” ด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่นของเธอ ฉันมั่นใจว่าเธอหมายความอย่างนั้นจริงๆ

อย่างกรณีของไฟป่า เทใจดอทคอมก็ไม่ได้ทำงานหยุดอยู่ที่การรับบริจาคเครื่องมือเพื่อดับไฟเท่านั้น แต่ยังมีโครงการตามมาเกี่ยวกับการดูแลสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า การดูแลเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าด้วย

โดยปกติแล้วเทใจไม่ใช่ผู้สร้างโครงการเอง ต้องมีคนส่งเข้ามาเท่านั้น แต่เธอก็เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทนไม่ไหวจนต้องชักชวนองค์กรอื่นมาร่วมแก้ปัญหา

“ปีที่แล้วเรื่องฝุ่นของภาคเหนือแย่มากๆ แต่ก็ยังไม่มีใครเขียนโครงการเข้ามาสักที เราก็เลยพยายามติดต่อไปว่ามีใครทำเรื่องนี้อยู่บ้าง จนเจอกับกลุ่มเครือข่ายฝุ่นเล็กๆ ในภาคเหนือ เลยมาคุยกันว่าเราจะแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาได้ยังไงบ้าง ซึ่งเราทำโครงการกับเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาเด็กเล็กอีกที โดยทำนิทานไปเล่าให้เด็กๆ ฟังว่าเวลาเห็นธงแดงหน้าโรงเรียนต้องรีบวิ่งเข้าห้อง และซื้อเครื่องวัดค่าฝุ่นเพิ่มเติมตามโรงเรียนต่างๆ”

จนถึงตอนนี้เทใจมีโครงการเข้าร่วมแล้วกว่า 367 โครงการ ยอดเงินบริจาครวมกว่า 122 ล้านบาท จากผู้บริจาคถึง 67,170 คน สำหรับเธอแล้วความสำเร็จของเทใจอาจจะไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินบริจาคเท่านั้น แต่เป็นความตื่นตัวของประชาชนกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นด้วย

“เวลาเราไปขอทุนจากใคร เขามักจะมีสิทธิมีเสียงสั่งให้เราทำโน่นนี่หรือมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการทำงาน อย่างเทใจควรจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับเงินน้อยๆ จากคนหลายๆ คน และจริงๆ เรามองว่าการบริจาคมันก็ส่งเสียงได้นะ ขึ้นอยู่กับประเด็นและจังหวะในสังคม ถ้าหลายๆ คนออกมาแก้ปัญหา ปัญหาก็จะถูกตอบสนองได้เร็ว เราต้องทำให้รัฐมองเห็นให้ได้ เราเลยคิดว่าการที่ประชาชนตื่นตัวเรื่องอะไรก็ตามจะทำให้ประชาชนมีพลัง และประชาชนควรจะมีพลังเสมอ”


หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา สามารถเข้าไปสนับสนุนโครงการหลากหลายและน่าสนใจได้ที่ taejai.com แต่ที่สำคัญหลังจากคุณกดบริจาคเงินแล้ว อย่าลืมตั้งคำถามว่าปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุมาจากอะไร และคุณจะมีส่วนช่วยให้สังคมนี้น่าอยู่ขึ้นได้ยังไงบ้าง

AUTHOR