ไป JaiTalad กัน ชวนคนกิน คนปลูก มารู้จักกันผ่านการจับจ่าย

Highlights

  • JaiTalad คือพื้นที่ที่ให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้มาจับจ่ายใช้สอยคล้ายกับการซื้อสินค้าจากญาติสนิท ซึ่งดำเนินการมาร่วมสองปีแล้ว
  • JaiTalad ยังเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่กำลังค่อยๆ เติบโต แม้ว่ายังต้องพึ่งพิงงบสนับสนุนจาก สสส. แต่ยังมีกำไรจากการขายมาพัฒนาระบบ

ในช่วงที่วิกฤตโควิดทำให้การขนส่งอาหารเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว การจับจ่ายใช้สอยไม่ง่ายเหมือนเดิม แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับดูง่ายกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ หลายคนพอมีเวลาว่างก็หยิบจับกระทะ ตะหลิวขึ้นมาเป็นแม่ครัวเสียเอง และหนึ่งในนั้นคือการหาซื้อวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ ของที่เคยต้องออกไปหาซื้อในตลาดก็ถูกยกขึ้นมาอยู่บนโลกออนไลน์กันมากมาย

ถ้าไม่มีโควิดเราก็ยังไปสนุกกับตลาดออฟไลน์ แล้วก็คงจะไม่ได้มาเรียนรู้เรื่องออนไลน์จริงจังแบบนี้โชค–โชคชัย หลาบหนองแสง ผู้พัฒนาโครงการจ่ายตลาดเล่าถึงช่วงวิกฤตที่ทำให้เขายกแผงผักในตลาดมาอยู่บนหน้าเฟซบุ๊กได้

JaiTalad สะพานเชื่อมคนปลูกและคนกิน

จ่ายตลาดคือตลาดที่เราให้คนอยากมาจ่ายเหมือนแม่ลุงป้าน้าอา เราเลยเลือกคำนี้เป็นคำง่ายๆ ที่ทุกคนเข้าใจ แต่ความแตกต่างคือ ของที่เราเตรียมไว้ให้ผู้บริโภคเป็นของที่มาจากเกษตรกรที่เขาตั้งใจผลิตขึ้นมา และเราก็ไปชวน ไปรวบรวมมาให้ผู้บริโภคเข้ามาจับจ่ายใช้สอยโชคเล่าถึงที่มาของการสร้างตลาด เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้พบปะกันซึ่งดำเนินการมาร่วมสองปีแล้ว

ก่อนหน้านี้โชคเป็นหนึ่งในผู้จัดอีเวนต์ Root Garden ที่ทองหล่อ ซึ่งเป็นตลาดนัดของผู้ผลิตในลักษณะเดียวกัน แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้ Root Garden ต้องปิดตัวลง แต่จากเครือข่ายและประสบการณ์ของเขาทำให้โชคอยากสานต่อพื้นที่แห่งนี้ จึงเกิดเป็น JaiTalad ขึ้นในวันเสาร์และอาทิตย์ต้นเดือน

ตอนนั้นเราไม่เคยปลูกผักกินเอง แต่ก็อาศัยว่าเราอยู่ใกล้ชิดกับฝั่งเกษตรกรและรู้ว่าตลาดกรุงเทพฯ เป็นยังไง เราก็ใช้ความรู้ทางด้านนี้มาช่วยเกษตรกร เกษตรกรเองก็ไม่ได้เข้าใจผู้บริโภค เขาไม่รู้เลยว่าผู้บริโภคต้องการอะไร หรือในขณะเดียวกันฝั่งผู้ผลิตเองปลูกอย่างหนึ่งมาเยอะมากแต่ผู้บริโภคไม่รู้จัก เราก็เป็นตัวกลางในการสื่อสารกับผู้บริโภคว่าผักแบบนี้กินกับอะไรหรือต้องปรุงด้วยวิธีไหนจ่ายตลาดจึงไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ขายสินค้า แต่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อลูกค้ากับผู้ผลิตด้วย

ถ้าไปเดินตลาดทั่วไปหรือซูเปอร์มาร์เก็ตเราไม่มีโอกาสได้ข้อมูลพวกนี้เลย นอกจากข้อมูลโฆษณาที่เขาเขียนไว้ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นมาเพื่อสร้างสีสันหรือเพื่อการโฆษณา แต่ถ้าได้มาเดินได้มาคุยแล้วเราจะได้รับข้อมูลจริงๆ ถ้าเกษตรกรโกหกผู้บริโภค แววตาก็จะออกว่าคุณไม่ได้พูดเรื่องจริง ถ้ามันเกิดความเชื่อใจกันแล้วต่อไปถ้าเขาจะสั่งอะไรก็คลิกสั่งจากออนไลน์ เขาก็จะนึกถึงหน้าเกษตรกรคนนั้นได้ทันที ทำให้เขาวางใจว่าสิ่งที่ได้กินเป็นสิ่งที่ปลอดภัย

 

ขอบคุณอาหารอร่อยแล้ว อย่าลืมขอบคุณคนปลูกด้วย

พอถามถึงความประทับใจของโชค ฉันก็นึกขึ้นได้ถึงสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปในปัจจุบัน คือการขอบคุณและการให้คุณค่ากันระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค

เรื่องราวความประทับใจของโชคแสนเรียบง่าย เป็นเพียงข้อความของลูกค้าที่สั่งสินค้าไปแล้วอร่อยจนต้องกลับมารายงาน และเขาก็แคปหน้าจอโทรศัพท์ส่งต่อข้อความเหล่านั้นให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรภาคภูมิใจที่ได้ผลิตอาหารอร่อยและปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ฉันเชื่อว่าหากเกษตรกรส่วนใหญ่ได้คุยกับผู้บริโภคเขาคงไม่กล้าปลูกผักอาบยาฆ่าแมลงมาให้เรากินแน่ๆ แต่เพราะระบบของการให้คุณค่าในงานที่เขาทำมันขาดหายไปด้วย

ในขณะเดียวกันฉันก็อดถามแทนผู้บริโภคไม่ได้ว่าผักอินทรีย์มีราคาแสนแพง ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ยากที่จะบริโภคได้อย่างต่อเนื่อง โชคไม่ลังเลที่จะอธิบายให้ฟังว่าสินค้าอินทรีย์ที่เราขายอยู่มันไม่ได้แพงหรอก แต่ที่เราเห็นของถูกๆ ในตลาดมันควรจะแพงกว่านี้ เราต้องกลับไปดูว่าของที่เราซื้อถูกเป็นเพราะเกษตรกรเขาต้องขายถูกกว่าที่อยากขายมาก และมันเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำไมเกษตรกรไทยถึงมีหนี้สินหรือไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ เพราะเขาขายในราคาที่ต่ำขนาดนี้ เขาไม่มีทางเลือก พอจะทำให้ราคาถูกเลยต้องใช้ยาฆ่าแมลง สินค้าปลอดภัยในช่วงแรกมันอาจจะแพงในระดับนี้แหละ แต่ถ้าในอนาคตทุกคนหันมากินอาหารปลอดภัยราคาก็จะถูกลงตามกลไกตลาด

 

แผงผักออนไลน์ภายใต้ล็อกดาวน์

ในช่วงการปิดเมือง ร้านค้าและกิจกรรมต่างๆ หยุดชะงัก JaiTalad ก็เช่นกัน ทำให้ตลาดผักต้องผันตัวมาแบแผงขายบนช่องทางออนไลน์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่น่าเชื่อว่าช่องทางออนไลน์ก็ขายได้ดีไม่แพ้กันถ้าไม่มีโควิดเราก็ยังไปสนุกกับตลาดออฟไลน์ แล้วก็คงจะไม่ได้มาเรียนรู้เรื่องออนไลน์จริงจังแบบนี้

โชคเล่าถึงการปรับตัวบนโลกออนไลน์ที่ไม่ได้ง่ายอย่างใจนึก ไม่ใช่ว่ามีอะไรเท่าไหร่ก็จะขายได้ ยิ่งผลผลิตทางการเกษตรด้วยแล้วยิ่งต้องบริหารให้ดีของที่จะเอาขึ้นมาขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็จะมีมาตรฐานที่สูงขึ้นไปอีก ผมเคยลองขายทุกอย่างบนออนไลน์แล้วแต่ว่าคนเลือกไม่ไหว เอาเข้าจริงเวลาคนสั่งก็จะมีสินค้าที่นิยมไม่เท่าไหร่ บางตัวถึงจะอร่อยแต่พอมีคนสั่งน้อยก็มีต้นทุนในการจัดการมาก อย่างสั่งมาจากต่างจังหวัดเพื่อส่งผักแค่กำเดียวมันไม่คุ้ม เราเลยคิดว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องเอาทุกอย่างมาขายออนไลน์ แต่ในตลาดสดนี่มีได้ อาจจะอย่างละนิดละหน่อยเพื่อให้มีความหลากหลาย

การมาเรียนรู้ระบบขนส่งก็โหดหินไม่แพ้กันว่าจะจัดส่งยังไงไม่ให้ผักช้ำ จัดการผลผลิตจากหลากหลายผู้ผลิตยังไงให้ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคอย่างสดใหม่เหมือนเดิม โชคยอมรับกับเราว่าเริ่มแรกก็มีผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ค่อยๆ พัฒนามาจากบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกจำนวนมากทำให้ลูกค้าหลายคนกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็ต้องปรับเปลี่ยนมาใช้กระดาษ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ผักไม่โดนลมด้วย

บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์

JaiTalad เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่กำลังค่อยๆ เติบโต แม้ว่ายังต้องพึ่งพิงงบสนับสนุนจาก สสส. แต่ยังมีกำไรจากการขายมาพัฒนาระบบ ขณะที่เราคุยกันฉันก็เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจและการขยายฐานลูกค้าที่อาจจะช่วยให้ JaiTalad เป็นที่รู้จักมากขึ้นได้ แต่โชคกลับบอกว่ามันไม่ง่ายขนาดนั้นการมีลูกค้ามากก็อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีในตอนนี้ เพราะปริมาณผู้ผลิตกับปริมาณลูกค้าอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ ถ้าลูกค้ามากเกินไปเราก็อาจจะผลิตสินค้าไม่ทันหรือมีไม่พอ อาจจะต้องอาศัยเวลาอีกสักพักในการสะสมฐานลูกค้าและสร้างปริมาณผลผลิตให้ได้มากกว่านี้ก่อน ให้ธุรกิจโตไปช้าๆ อย่างมั่นคง

โชคยังฝากถึงคนที่มีฝันแล้วอยากลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยว่าธุรกิจเพื่อสังคมบางอย่างมันไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่หรือแก้ปัญหาอะไรให้มันกระทบคนเยอะ บางอย่างอาจจะทำแค่เล็กๆ กลุ่มที่รับผลกระทบเชิงบวกอาจจะแค่ 10-20 คน แต่ถ้า 10-20 คนนี้เปลี่ยนแปลงได้จริง มันอาจจะเป็นตัวจุดให้เกิดผลกระทบกับสังคมมากขึ้นก็ได้ เราไม่รู้หรอกว่ามันจะได้ผลแบบนั้นหรือเปล่า แต่อยากให้ลองทำดูก่อน

หมดช่วงโควิดแล้วทำให้ตลาดกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ใครที่อยากไปจ่ายตลาดก็ติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก JaiTalad จ่ายตลาดผลผลิตอินทรีย์ออนไลน์ แต่อย่าเพิ่งสั่งออนไลน์จนกว่าคุณจะได้แวะไปรู้จักกับเกษตรกรตัวจริง

AUTHOR