ความมหัศจรรย์อีกครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ใต้ดิน ‘ฟาร์มลุงรีย์’ เกษตรกรผู้สร้างดินเพื่อการเพาะปลูก

Highlights

  • ลุงรีย์ หรือ ชารีย์ บุญญวินิจ ชายหนุ่มวัย 30 ปี ผู้ออกแบบตอนแก่ของตัวเองเอาไว้แล้วนั่นคือการทำฟาร์ม
  • ฟาร์มลุงรีย์ คือฟาร์มเกษตรที่ตั้งอยู่กลางเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร พิกัดซอยเพชรเกษม 46
  • ที่นี่รวบรวมความรู้ทางการเกษตรเอาไว้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหมู เห็ด เป็ด ไก่ ไส้เดือน หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีอย่าง digital farming

ฟาร์มลุงรีย์ เวรี่คลิเช่! ต้องบอกอย่างนั้นเพราะว่ามีฟาร์มเกษตรไม่กี่แห่งที่ฉันรู้จักและตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและฟาร์มลุงรีย์เป็นหนึ่งในฟาร์มเกษตรที่หลายคนคงคุ้นหูหรือรู้จักเป็นอย่างดี

ฉันเคยอ่านบทความเกี่ยวกับลุงรีย์มากมายและดูคลิปรายการแล้วรายการเล่าที่เขาให้สัมภาษณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ความคลิเช่นี้ดูน่าค้นหามากขึ้นคือความเปลี่ยนแปลงของสถานที่ ความฝัน และการลงมือทำอย่างไม่รู้จบที่ทำให้ฉันตัดสินใจเดินทางมาเจอกับลุงรีย์ในวันนี้

ฟาร์มลุงรีย์ตั้งอยู่ในซอยเพชรเกษม 46 ไม่ห่างจากรถไฟฟ้าใต้ดินมากนัก เราต้องเดินผ่านซอยเล็กๆ ที่มีร้านรวงและของกินแทรกตัวระหว่างตึกแถวเบียดเสียดของเมืองใหญ่ พอเลี้ยวหัวมุมถนนเราก็เจอกับป้ายคุณลุงมีเคราท่าทางใจดีทำให้แน่ใจว่าเรามาไม่ผิดที่แน่ๆ

เกษตรไม่รู้จบ กับ ทรัพยากรแบบหมุนเวียน

ต้นหูกวางยืนเด่นอยู่หน้าโรงรถ พร้อมเล้าหมู ไก่ สายยาง ถัง และอุปกรณ์อีกมากมายวางเรียงรายอยู่บนพื้นที่ลานจอดรถและห้องแถวเล็กๆ บริเวณนี้ถูกเช่าเพื่อเป็นห้องทดลองความฝันของลุงรีย์ หรือ ชารีย์ บุญญวินิจ ชายหนุ่มวัย 30 ปีที่ออกแบบตอนแก่ของตัวเองเอาไว้แล้ว ลุงรีย์ต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่น ก่อนพาชมส่วนต่างๆ ของฟาร์ม

“ผมชอบเวลาทำเกษตรเพราะมันไม่มีอะไรเป็นของเสียเลย เราเอาอาหารให้สัตว์กิน ขี้มันก็เอาไปเลี้ยงไส้เดือนได้ แล้วเราก็เอาปุ๋ยกลับมาใส่ต้นไม้ได้อีก” ลุงรีย์เล่าให้เราฟังถึงวงจรในการทำเกษตรแบบอินทรีย์ที่ใช้ทุกอย่างได้อย่างคุ้มค่าและฟื้นฟูผืนดินไปพร้อมๆ กัน

ที่นี่มีโรงเรือนขนาดเล็กที่ภายในมีเซนเซอร์เชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตคอยควบคุมการรดน้ำของต้นไม้ มีเล้าไก่เล็กๆ ยาวๆ ให้มันได้วิ่งเล่น มีเล้าเป็ดพร้อมระบบรดน้ำอัตโนมัติและเล้าหมูตัวใหญ่เบ้อเริ้มที่ไม่ส่งกลิ่นเหม็นเลย

“แบคทีเรียนี้มันย่อยไฮโดรเจนซัลไฟด์ทำให้ไม่มีกลิ่น” ลุงรีย์เกษตรกรที่มีเบื้องหลังเป็นนักออกแบบอธิบายชื่อแบคทีเรียและกระบวนการอย่างคล่องแคล่ว

“ส่วนตรงนี้เป็นคอนโดไส้เดือนที่จะมีระบบคอยรดน้ำเหมือนกัน ทำบรรยากาศให้เหมือนป่าร้อนชื้น ถ้าให้คนมารดน้ำวันละ 20 รอบเพื่อให้มันโตจะเสียเวลามาก เมื่อเรามีระบบแล้วจะประหยัดเวลาได้เยอะเลย” ลุงรีย์เล่าถึงทั้งนิเวศวิทยาและโครงการพัฒนา digital farming ในพื้นที่ของเขา

“ระบบรดน้ำนี้เป็นแบบ 4.0 ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ แต่ถ้าระบบล่มเราก็มาใช้แบบ 3.0 ก็คือการตั้งเวลา ถ้าการตั้งเวลายังใช้ไม่ได้อีกก็หันมาใช้ 2.0 คือให้คนเอามือโยกสวิตช์เอาหรือกลับมาสู่รากฐาน 1.0 คือตักน้ำมารดมันก็ได้ เรากำลังจะบอกว่าเราไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยีซะทีเดียว แต่เราใช้พอดีกับตัวเราและมีแผนสำรองไว้ระบบที่ 2 ที่ 3 เพื่อให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น”

ถัดจากโรงรถไปเป็นห้องเช่าเล็กๆ ลุงรีย์พาเราเข้าไปในห้องมืดๆ เปิดไฟสีม่วง ภายในห้องมีก้อนเห็ดก้อนใหญ่ออกดอกอวบโต สีขาวนวล เรียงรายอยู่เต็มห้อง ลุงรีย์เล่าให้ฟังเรื่องการจัดการออร์เดอร์ของคนที่จะสั่งเห็ดล่วงหน้าด้วย ทำให้เขาสามารถคาดการณ์ปริมาณการผลิตได้ ซึ่งสิ่งนี้ยังเป็นปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ทำมาแล้วไม่พอขาย หรือทำมาก็ขายไม่ได้

พื้นที่ขนาดเล็กแห่งนี้รวบรวมความรู้ทางการเกษตรเอาไว้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหมู เห็ด เป็ด ไก่ ไส้เดือน หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยี แต่บทสนทนาของเราในวันนี้พาเราเดินทางไปไกลกว่าพื้นที่แห่งนี้มาก

 

ขุมทองจากผืนดิน

วันนี้นอกจากได้เจอลุงรีย์แล้วเรายังได้มีโอกาสพูดคุยกับอีกหนึ่งเกษตรกรรุ่นใหม่อย่าง อรรถ หรือ อรรถพล ไชยจักร เจ้าของไร่หลังฉางหรือ Farm behind the barn วิศวกรหนุ่มจากบุรีรัมย์ ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ และเพื่อนคู่คิดคนสำคัญของลุงรีย์ 

อรรถเติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรรมกระแสหลักที่ปลูกพืชอย่างอ้อย มันสำปะหลัง แต่เขากลับขอแบ่งส่วนเล็กๆ เพื่อทำการเกษตรในแบบของตัวเอง “ก่อนกลับไปทำสวน เราคิดว่าถ้าเราไปทำแบบเดิมเราก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิมนั่นแหละ ถ้างั้นเลยศึกษาก่อนว่าอะไรที่มันดี แล้วช่วงนั้นเรื่องเกษตรอินทรีย์กับธรรมชาติก็มีข้อมูลให้ศึกษาเยอะผมเลยตัดสินใจว่าผมจะทำแบบนี้แหละ ผมรู้ว่ามันดีตั้งแต่ต้นทางและเชื่อว่าปลายทางมันจะดีด้วย” อรรถเล่าถึงความตั้งใจเริ่มแรกของการทำงาน

อรรถตัดสินใจลงเรียนเรื่องการเลี้ยงไส้เดือนกับลุงรีย์เป็นรุ่นแรกๆ เนื่องจากต้องการกำจัดเศษอาหารที่เหลือจากการตัดแต่งผักและผลไม้ โดยอรรถเน้นให้เราฟังว่าเขาไม่ได้คิดถึงผลกำไรว่าได้เท่าไหร่ แต่คิดจากพื้นฐานของวัตถุดิบที่มีไม่ว่าจะเป็นเศษอาหาร มูลสัตว์ หรือไส้เดือน แล้วค่อยปรับวิธีการใหม่ที่เหมาะสม

การเริ่มต้นทำการเกษตรในแบบของเขาก็เช่นกัน “ที่บ้านผมเป็นที่ดอน บางคนอาจจะบอกว่าน้ำไม่ถึง ดินก็แห้งแล้ง แต่ข้อดีก็มีคือน้ำไม่ท่วมแล้วเราก็ใช้น้ำบาดาลแทน ซึ่งก็ดีอีกเพราะทำให้ดินมีแร่ธาตุ แต่ถ้าเรามองว่าที่ดอนไม่มีน้ำไม่มีนู่นไม่มีนี่ก็แย่แล้ว ผมเชื่อว่าทุกบ้านหรือทุกที่มีข้อดีนะเขาควรจะจับเอาสิ่งนั้นมาพัฒนามากกว่า”

จากพื้นที่เล็กๆ ที่อรรถขอที่บ้านมาทดลองทำเกษตรในรูปแบบของตัวเอง กลับทำให้มีกำไรมากกว่าการทำไร่ขนาดใหญ่ จนทำให้คนรอบข้างเชื่อในสิ่งที่เขาทำ จากไร่อ้อยและมันสำปะหลังจึงถูกเปลี่ยนเป็นเกษตรผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่

เกษตรกรยุคใหม่ แตกต่างและหลากหลาย

นอกจากอรรถแล้วเกษตรกรรุ่นใหม่หลายคนยังได้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย Thailand Young Farmer ทั้งอรรถและลุงรีย์บอกว่าฟาร์มของเขาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดคนกลุ่มนี้

“หัวใจหลักของกลุ่มเรา คือเราไม่ใช้สารเคมีแน่ๆ พอรวมกลุ่มกันบางคนทำฟาร์มหน่อไม้ฝรั่ง เมล่อน ไส้เดือน แต่ละคนมีทักษะแต่ละอย่างต่างกัน พอรวมกลุ่มกันเราก็ไปได้ไวขึ้น วันแรกที่เราคุยกันเราไม่ได้มีภารกิจอะไรมาก มีแค่การแลกเปลี่ยนความรู้กัน เราพยักหน้าตกลงกันเองสัก 15 คนแล้วก็ค่อยๆ สะสมคนหนุ่มคนสาวมากขึ้น เราอยากให้เขาเห็นว่าเห็ดก็มี ผักก็มี ปลาก็มี หมูก็มี ไส้เดือนก็มี ในเมืองก็มี นอกเมืองก็มี พอคนเห็นภาพเขาก็เริ่มสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ” ลุงรีย์เล่าถึงการรวมกลุ่มของคนหัวใจสีเขียวที่มาเดินร่วมทางและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

จากการรวมกลุ่มพัฒนาตัวเองแล้วพวกเขายังขยายผลและให้คำแนะนำพื้นที่ต่างๆ ด้วยจนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากฟาร์มอีกหลายแหล่ง “เราก็สงสัยว่าทำไมคนอยากให้เราไปฟาร์ม เพราะวันหนึ่งพวกเรากลายเป็นมาตรฐานไปแล้ว เป็นมาตรฐานที่คนเชื่อคน อย่างคนนี้เก่งดินก็ตรวจดิน คนที่เก่งเรื่องภูมิศาสตร์ก็ไปแก้ ไปให้คำแนะนำเขา พอช่วยกันใครก็อยากให้เราไปหา” ลุงรีย์เล่าด้วยรอยยิ้มแห่งความภูมิใจ

ปัจจุบันตรารับรองเกษตรอินทรีย์ที่เชื่อถือได้มักมีราคาแพงและมีการตรวจเป็นครั้งคราวเท่านั้น และบางมาตรฐานก็ยังมีการตรวจพบสารเคมีปนเปื้อนอยู่บ่อยครั้งทำให้ปัจจุบันคนหันมาพึ่งพาระบบชุมชนรับรองหรือ Participatory Guarantee System (PGS) กันมากขึ้น

“เราเป็นฟาร์มเปิดทั้งหมดให้คนอื่นเข้ามาดูได้ว่าเราทำอะไร จริงๆ คุณเป็นลูกค้าคุณก็ต้องมีสิทธิ์ที่จะเห็นกระบวนการผลิตอาหารที่คุณกินสิ คุณจะเชื่อตราที่มันติดไว้หรือว่าจะเชื่อด้วยสายตาคุณเอง” อรรถพูดด้วยความมุ่งมั่นว่าทุกขั้นตอนของเขาตรวจสอบได้ และอยากให้คนกินมาตรวจสอบเสียด้วยซ้ำ

หนูมันไม่ฉลาดหรอก แต่มันแค่เดินไม่ชนทางเดิมเลย

กว่าจะมาเป็นลุงรีย์ในวันนี้ หากย้อนดูนายชารีย์เมื่อ 5 ปีก่อนจะเห็นว่าวันนี้เขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เด็กจบใหม่ไฟแรงอย่างนายชารีย์ที่มีความสนใจด้านศิลปะและเปิดบริษัทรับออกแบบเป็นของตัวเอง แต่การโหมงานหนักเกินไปขนาดอดหลับอดนอนก็ทำให้เขาผู้รักในการทำอาหารผันตัวไปเป็นผู้ช่วยเชฟอยู่พักใหญ่ แม้ประสบการณ์เหล่านั้นยังไม่ใช้คำตอบแต่ไม่เคยสูญเปล่า

“ผมไปบวชอยู่หนึ่งปี ช่วงนั้นผมชอบมากเลยเพราะไม่ได้ทำทั้งงานครัวและงานออกแบบ แต่ทำกิจของนักพัฒนาตลอดเวลา หลวงพี่ท่านก็จะพาไปด้วยเพราะว่าทำได้หลายอย่าง และท่านก็สอนให้ผมรู้จักไส้เดือน ตอนนั้นผมสนใจมาก แต่มีสิ่งที่ไม่ชอบอย่างหนึ่งคือเราเลือกของกินเองไม่ได้แล้วทำให้ป่วยบ่อยๆ เลยคิดว่าเราต้องออกมาคุมตัวเองให้ได้และเลือกของกินได้ด้วย” ลุงรีย์เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขารู้จักไส้เดือนและออกมาพัฒนาการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดขยะเศษอาหาร            

ถ้าว่ากันตามจริง เกษตรกรอาจเป็นกิจการเพื่อสังคมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกตั้งแต่มนุษย์เริ่มเรียนรู้ที่จะผลิตอาหารทั้งเพื่อบริโภคและแจกจ่าย แต่ยุคสมัยและสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้เราต้องผลิตอาหารมากขึ้นกว่าเดิม สารเคมีหลายชนิดถูกนำมาใช้เร่งการออกดอกออกผล เร่งผลผลิต เร่งกำไร และกลายเป็นธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกันเกษตรกรที่ทำเพื่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงจึงงอกเงยมาเป็นกิจการเพื่อสังคมในยุคปัจจุบัน

หากคุณเคยลองปลูกต้นไม้สักต้น คุณคงจะรู้ดีกว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งข้อมูลที่หลากหลาย แดดฟ้าฝนที่เราควบคุมไม่ได้ แมลงที่มาจากไหนก็ไม่รู้ แต่ความสำเร็จก็เหมือนกับการทดลองอย่างหนึ่ง อรรถเล่า

“ตอนแรกเราไม่รู้อะไรเลยนะ เราเหมือนเดินชนไปเรื่อยๆ มันโดนชนแล้วมันต้องจำด้วยไง เหมือนหนูอยู่ในเขาวงกตแล้วเขาวางอาหารไว้ปลายทาง หนูมันไม่ฉลาดหรอก แต่มันแค่เดินไม่ชนทางเดิมเลย แล้วสุดท้ายมันก็ไปถึงอาหารที่ปลายทาง”

คนส่วนใหญ่จะคิดที่มูลค่าว่าปลูกอะไรแล้วขายได้ราคาดี มีเงิน แต่เกษตรกรรุ่นใหม่อย่างพวกเขาทำทั้งสองทางคือปลูกป่าและปลูกคนเพื่อผลผลิตระยะยาวคล้ายกับ value investment แล้วก็ปลูกพืชระยะสั้น ขายผลผลิตเพื่อสร้างกำไรซึ่งหน้าไม่ต่างจาก day trade เลย

“ช่วง 3 ปีแรกเถิดเทิงมากเลย ใช้แรงไปแลกมา” ลุงรีย์เล่าถึงการทำงานหนักด้วยรอยยิ้ม ออกบูทกิจกรรมแทบทุกอาทิตย์ เดินทางไกลไปต่างจังหวัด ดูแลฟาร์มของตัวเองไม่ให้ขาด และด้วยการโหมงานอย่างหนักทำให้ทุกวันนี้เขาหวงแหนเวลาของตัวเองมากยิ่งขึ้น

ลุงรีย์จึงอยากฝากกับคนรุ่นใหม่ที่อยากเดินบนเส้นทางเดียวกันว่า “ให้ลงมือทำจริงอย่าได้แต่คิด คิดเยอะก็ไม่ได้ทำ แล้วจะฟุ้งซ่าน กับมีอีกกลุ่มหนึ่งไม่คิดอะไรเลย โดดลงมาทำเลยแล้วไม่รอด เพราะไม่รู้จักพื้นที่ของตัวเอง จริงๆ แล้วต้องลงมือทำแล้วก็คิดไปด้วยนะ”

“ผมว่าจริงๆ เดี๋ยวนี้มันรู้หมดเลย พื้นที่แถวนี้ทำอะไรได้บ้าง ความรู้นี่แหละที่ขาดกัน ความรู้ก็มีหลายด้านนะ ไม่ใช่แค่ความรู้แค่ในอินเทอร์เน็ต แต่รวมถึงความรู้จากการพูดคุย จากการลองทำ แล้วความรู้ที่สะสมมาก็จะถูกนำมาใช้ในที่ของตัวเอง 


ฟาร์มลุงรีย์เปิดให้เข้าชมทุกวันอาทิตย์
ประตูฟาร์มเปิด 9:00 น. พาชมฟาร์มค้นหาคำตอบของทรัพย์ในดิน ตั้งแต่ 10:00-12:00น.

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย