สายลม ทะเล แสงแดด และทางหลวงหมายเลขหนึ่ง (HWY1)

ลาเมืองงามซานฟรานซิสโก (San Francisco) ออกปั่นข้ามสะพานแดงโกลเด้นเกต (Golden Gate Bridge) นักท่องเที่ยวคึกคัก พากันเดินเล่นบนทางเท้าฝั่งขวาของสะพานเพื่อไปยังจุดชมวิวซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม

Golden Gate Bridge

นักปั่นออกกำลังกายทั้งหลายต่างประชันความเร็วบนเลนจักรยานซึ่งแยกต่างหากอยู่ฝั่งซ้าย พ้นจากโกลเด้นเกตก็ลัดเลาะไปตามเมืองท่องเที่ยวซึ่งคลาคล่ำไปด้วยผู้คนรถรา เมืองชายทะเลทั้งหลายแม้จะสวยงามมาก ทว่าแทบทุกสิ่งถูกจัดวางเพื่อการท่องเที่ยวโดยแท้ ร้านรวงขายของที่ระลึก ภัตตาคาร ชายหาดมีป้อมริมทะเลโดยมีไลฟ์การ์ดประจำการ เขาจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับให้สุนัขลงหาดได้ เส้นทางขีดไว้ให้จักรยานผ่านได้ มันเหมือนทุกอย่าง ‘กำหนด’ ไว้ เป็นกรอบที่ต้องปฏิบัติตาม ผู้คนขวักไขว่ร่าเริง ดูมีชีวิตชีวาดี ใครต่อใครต่างอัดอั้นมาปีเศษเพราะพิษโควิด เมื่อทุกอย่างกลับมาเปิด จึงระเบิดเถิดเทิงได้เสียขนาดนี้ มองในแง่การขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วถือว่าดีมาก ไม่ต้องมานิวนอร์มอลบ้าบออีกต่อไป หน้ากากไม่ต้องสวม เดินเหินจูงมือและสวมกอดกันได้ตามปกติ เดินเข้าร้านอาหารโดยไม่ต้องมีแผ่นพลาสติกใสกั้นระหว่างโต๊ะ สังคมปกติไม่ได้ต้องการ ‘ความห่าง’ แต่ต้องการความใกล้ชิดต่างหาก

ถึงเมืองเปตาลูมา (Petaluma) จึงเลี้ยวซ้ายไปตามถนนซึ่งนำไปสู่ชายฝั่งเพื่อพบกับทางหลวงหมายเลข 1 อีกครั้ง ถนนช่วงนี้สงบกว่ามาก นานๆ ทีจึงผ่านหมู่บ้านหรือเมืองเล็ก ถนนค่อนข้างแคบและแทบไม่มีไหล่ทาง มีป้าย share the road อยู่เป็นระยะๆ นอกจากนั้น ยังมีป้ายขำๆ อีกด้วย (ป้าย 55 ไง) อันที่จริงพวกมันคือป้ายเตือนให้จำกัดความเร็วไม่ให้เกิน 55 mph แต่สำหรับคนไทยเมื่อเห็นคุณป้าย เหมือนเขากำลังหัวเราะร่า เราก็เลยพลอยยิ้มไปด้วยเมื่อเห็นป้ายเหล่านี้

ถนนเลียบฝั่งไม่ได้ราบ แต่ขึ้นลงเนินเป็นว่าเล่น หลายครั้งต้องปั่นลงสู่ก้นหุบเพียงเพื่อจะเหน็ดเหนื่อยซิกแซ็กขึ้นอีกเนินหนึ่ง แต่แบบนี้แหละดี เพราะทำให้สัมผัสความงามของพื้นที่ริมทะเลได้มากกว่า ช่วงไหนที่คนทำถนนใจดีเขาก็ทำสะพานเชื่อมสองเนินเข้าด้วยกัน ช่วยประหยัดพลังงานได้หลายแคลอรี

ภูเขาและหุบเขาเปิดโล่งบางแห่งอัดแน่นไปด้วยสีสันหลากหลายเฉด ต้นไม้ ภูเขา ดอกไม้ ใบหญ้า และทุกองค์ประกอบในฉากทำให้รื่นรมย์ จนบางครั้งต้องจอดถ่ายรูปถี่ แสงในแต่ละช่วงของวันและเงาของก้อนเมฆก็มีส่วนช่วยเสริมให้วิวว้าวด้วยเช่นกัน บางทีก็เผอิญเจอสถานที่ magical หลบมุมบ้างด้วย นี่แหละคือข้อดีของการเดินทางด้วยจักรยาน

Golden Gate Bridge

แม้จะเป็นช่วงซัมเมอร์ แต่อากาศยังคงเย็นเยียบเหมือนฤดูหนาวบ้านเรา เพอร์เฟกต์มากสำหรับนักปั่นล่ะ ฟ้าไม่ได้เปิดทุกวันหรือตลอดวัน ส่วนใหญ่ช่วงเช้าหมอกและไอทะเลยังหนา อากาศค่อนข้างหนาว บางทีกะไม่ถูกว่าจะต้องใส่เสื้อกันหนาวปั่นหรือไม่ ใส่ปั่นก็ร้อน ไม่ใส่ก็หนาวอีก จนกระทั่งสายๆ ถึงช่วงบ่ายคุณอาทิตย์จึงได้รับอนุญาตให้ออกมาเฉิดฉายส่องแสงทาบทาบ้าง อันที่จริงมันเป็น perfect combination ระหว่างไอแดด สายลม หมอกเมฆทำงานร่วมกัน ส่งผลทำให้เห็นวิวสวยที่ให้อารมณ์แตกต่างกันไปในแต่ละวันแม้จะเดินทางคนเดียว แต่ไม่ได้รู้สึกเหงา ความสามารถติดตัวแต่ไหนแต่ไร คือการพูดออกเสียงกับตัวเอง ก็เลยมีตัวเองเป็นเพื่อน พักหลังมานี้แอดวานซ์ เพิ่มขีดความสามารถในการสื่อสารกับสิ่งรอบตัวได้อีกด้วย คนบ้าอะไรคุยกับตัวเองก็รู้เรื่อง คุยกับแมกไม้ใบหญ้า สายน้ำ ขุนเขา นก หนู ก้อนหิน สายลม ก้อนเมฆ อาทิตย์ คุยกับไอ้น้ำเงินจักรยานคันเก่งก็ได้ และพวกมันก็ตอบกลับมาได้เป็นวรรคเป็นเวรด้วย

บางช่วงของถนนเจอคุณสายลมทักทายแรงๆ ก็มี รู้ว่ามันแค่ต้องการทักทายและล้อเล่นด้วย แต่ช่วงบ่ายนี่เล่นกันค่อนข้างหนักหน่วง คุณสายลมแทบจะแปลงร่างเป็นคุณพายุ การปั่นจากใต้ขึ้นเหนือหมายความว่าจะต้องเจอลมปะทะเป็นเรื่องปกติ สังเกตจากต้นไม้จำนวนมากเอนลู่ลำต้นไปทางทิศใต้กันเสียเยอะ ตอนวางแผนทริป Pacific Coast Highway ไม่ได้เช็กข้อมูลเรื่องทิศทางลม จึงเริ่มจากทางตอนใต้สุด ถ้ารู้ก็คงเลือกปั่นจากเหนือลงใต้เหมือนที่นักปั่นส่วนใหญ่เลือกทำกัน แต่จะว่าไปมันก็ไม่ได้เลวร้ายเกินไปนัก เพราะอย่างไรเสีย เขาก็ยังเป็นคุณสายลมที่หวังดีอยู่ดี เขาไม่ได้เล่นบทโหดเสมอไป ช่วงนี้ได้พูดคุยกับสายลมเยอะ เวลาเขาพัดใส่แรงๆ เราก็เพิ่มกำลังขาบ้าง เหมือนคนงัดข้อกัน สนุกดี ส่วนใหญ่เขาชนะ มีบ้างที่ยอมอ่อนข้อลงให้บ้าง หรือบางทีก็ส่งเสียงทักมาจากยอดทิวสน “เธอ ฉันอยู่ข้างบนนี่นะ” เราก็ยิ้มกว้าง ตอบกลับไป “รู้แล้วน่ะ” มีบางค่ำหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการปั่นมาทั้งวัน ทันทีที่หยุดเพื่อเริ่มกางเต็นท์ เขาก็แวะมาเยี่ยมโดยการลูบผิวกายแผ่วเบา คล้ายจะบอกว่า “ได้เวลาพักผ่อนแล้วนะเพื่อน”

Golden Gate Bridge

การสามารถสื่อสารกับธรรมชาติไม่ใช่เรื่องแปลก คนอินเดียนแดงซึ่งเคยอาศัยอยู่ก่อนหน้าคนขาวจะเข้ามายึดครองทวีปนี้ต่างคุ้นเคยกับสิ่งนี้ดี หรือสังเกตตามชายหาด พวกเด็กๆ ล้อเล่นกับคุณคลื่น วิ่งเข้าใส่บ้าง วิ่งหนีคลื่นบ้าง ร้องกรี๊ดกร๊าดสนุกสนานเทียว
สมัยนี้เราใช้เวลาในป่าคอนกรีตกันเสียเยอะ จึงได้ยินแต่เสียงสังเคราะห์ทั้งหลาย และบ่อยครั้งเสียงซึ่งเรารับฟังเป็นพิษต่อจิตใจเรามากกว่าการเลือกเติมพลังงานสะอาดและที่เยียวยาเรา การได้รับการโอบล้อมด้วยธรรมชาติซึ่ง pure มากๆ มันดีมากจริงๆ
ค่าโรงแรมโมเต็ลแพงเกินไป จึงพักแรมทุกวัน สลับระหว่าง wild camp ซึ่งฟรีแต่ต้องมุมเหมาะๆ หลบสายตาผู้คน กับแวะลานกางเต็นท์ของ state park ไม่ก็ state recreation area อันนี้เป็นสิ่งที่ชื่นชอบมากอยู่แล้ว ความจริง หนึ่งใน new year’s resolution ประจำปีนี้ที่ตั้งใจมั่นเหมาะ คือออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งและพักแรมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และเราก็ดีใจที่กำลังสามารถทำมัน ขณะนอนในเต็นท์ ฟังเสียงคลื่นซัดครืนๆ เสียงรถราบน Pacific coast highway ยังดังต่อเนื่องแม้จะดึกแล้ว นานๆ ทีเสียงหวูดรถไฟและการเคลื่อนผ่านรางดังตัดความเงียบ วิญญาณการเร่ร่อนผจญภัยเต้นเร่า คล้ายมันได้อยู่ถูกที่ถูกทาง

ออกเดินทางแบบนี้ยังคงได้ทำงานบ้าง เหมือนแค่ย้ายสำนักงาน จากในบ้านในห้องหับ มาเป็นโต๊ะไม้ม้ายาวที่ลานกางเต็นท์ ใช้เป็นออฟฟิศกลางแจ้งชั่วคราวเพื่อรับออร์เดอร์กาแฟคั่ว นั่งแปลเอกสารที่องค์กรการกุศลว่าจ้าง สามารถทำงานบนโน้ตบุ๊กเพื่อเขียนสารคดีท่องเที่ยว ปัจจัยจำกัดอะไรต่อมิอะไรอาจทำให้คุณภาพงานไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ตามคาดหวัง แต่ถ้าอยู่นอกเหนือการควบคุมก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไป

ช่วยไม่ได้ที่เราเป็นพวกเบื่อง่ายหน่ายเร็ว ทนไม่ได้หากต้องอยู่แต่ที่บ้าน ทำงานอยู่แต่ในห้องหับซ้ำซาก เราแค่ต้องการโยกย้ายเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ

Golden Gate Bridge

ตั้งแต่เริ่มออกปั่นจากต้นทางของทริปนี้ที่เมืองซานดิเอโก (San Diego) สังเกตและรู้สึกสะดุดตาสะกิดใจอย่างหนึ่ง คือ ประชากรคนไร้บ้านทั้งหลาย พบเห็นคนเหล่านี้แทบทุกเมือง เสมือนพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกันอย่างแยกไม่ออก และสารรูปของเราก็ช่าง fit in กับคนกลุ่มนี้เสียนี่กระไร! นอกจาก homeless แล้ว ดูเหมือนคนประเทศนี้ก็นิยมชมชอบการออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งกันมาก ดูจากปริมาณรถตู้เพื่อสันทนาการ (RV = recreational vehicle) ทั้งหลายจอดเรียงรายทุกหนแห่ง รวมถึงแล่นสวนกันไปมาบนท้องถนน ยังไม่นับรถส่วนตัวอื่นๆ ที่ขนเครื่องนอน อุปกรณ์แคมปิ้ง และข้าวปลาอาหาร

ผู้คนพากันหยั่งรากอยู่เป็นที่เป็นทางแล้ว แต่พันธุกรรมเร่ร่อนก็ยังคงอยู่ในสายเลือดอยู่ดี

เจอนักปั่นสวนทางวันละไม่ต่ำกว่า 10 คน ครึ่งหนึ่งคือนักปั่นเดี่ยว เดินทางคนเดียวและส่วนใหญ่เป็นชายเดี่ยว เจอหญิงเดี่ยวผู้กล้าหาญชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียปั่นเดี่ยวอยู่หนึ่งราย แม้จะเพียงแค่ได้สนทนากันกับบางคนสั้นๆ หรือแค่สวนทางกันแล้วโบกมือทักทายกัน ก็รู้สึกดีใจที่ได้พบคนเหล่านี้

เพราะในสังคมซึ่งเต็มไปด้วยแกะขาว ก็ยังมี ‘แกะดำ’ เผ่าพันธุ์เดียวกันหลงเหลืออยู่บ้าง

AUTHOR