สว่าง ทองดี Nomad Traveller ผู้ปั่นจักรยานออกเที่ยวรอบโลกเป็นปีๆ และทำกาแฟในแบรนด์ของตัวเอง

สว่าง ทองดี คือชายวัย 50 ที่ใช้ชีวิตได้ ‘สุด’ ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่เราเคยเจอ

ในวัยหนุ่ม เขาเป็นครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนประจำอยู่ 9 ปี จนถึงจุดอิ่มตัวในอาชีพถึงคว้าพาหนะสองล้อปั่นร่อนเร่พเนจรไปทั่ว สิ้นสุดทริปแรกก็หาเงินด้วยการเป็นไกด์เถื่อน ก่อนจะเริ่มต้นทริปต่อไปด้วยแรงถีบไปในเส้นทางที่ไกลกว่าเดิม 

เมื่อหยุดปั่นจักรยานเที่ยว เขานำเรื่องราวเหล่านั้นมาร้อยเรียงเป็นตัวอักษรให้กับสื่อออนไลน์หลายแห่ง และออฟไลน์ในรูปหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กหลายเล่ม และจากประสบการณ์ที่เขาพบพานในหลายประเทศ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เขาลงทุนกับแบรนด์กาแฟเล็กๆ ที่บ่งบอกความเป็นตัวเขาอย่างแท้จริงในชื่อ Nomad Coffee ซึ่งเขาร่อนเร่พากาแฟและกาต้มไปดริปให้ชาวเชียงใหม่ได้ชิมรสและฟังเรื่องราวการเดินทางที่โคตรสุดของเขา

ก่อนโรคระบาดใหญ่จะไม่อนุญาตให้เขาออกเดินทางอีก

หลังจากอดใจรออยู่หลายนาน สว่างจึงเดินทางออกไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในรอบหลายเดือน (จนเขานำเรื่องราวการเดินทางเหล่านั้นมาเล่าให้อะเดย์ฟังบ่อยๆ) ก่อนจะรับนัดหมายมานั่งคุยกับเราที่ร้านกาแฟเล็กๆ ในนครพิงค์เมืองเหนือ

รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนเขาไม่ใช่นักเดินทางเลย แต่จากประสบการณ์การเดินทางที่ข้นคลั่กไปด้วยการผจญภัย จนกลับมาใช้ชีวิตของคนทำกาแฟ สองสิ่งนี้จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่เขาอินและตั้งใจทำมันอย่างสุดความสามารถ

เพราะทั้งสองสิ่งนี้คือสิ่งที่เขารักจริงๆ และคงไม่มีอย่างอื่นทดแทนได้อีกแล้ว

สว่าง ทองดี

ห้องเรียน

ด้วยค่านิยมการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในยุคหนึ่งที่การเรียนสายศิลปะหรือนิเทศศาสตร์มักจะ ‘ไม่ถูกใจ’ ผู้ใหญ่เพราะเป็นสายวิชาชีพที่ต้อง ‘เต้นกินรำกิน’ และไม่ได้ทำเงินเท่าที่ควร 

แรกสุดครอบครัวของสว่างอยากให้สอบเข้าสายวิชาชีพแพทย์ตามค่านิยม แต่เพราะศักยภาพไม่เอื้ออำนวย สว่างจึงสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนจะประกอบอาชีพเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี

“ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็รู้สึกว่า เออ อยากรับใช้ประเทศ (หัวเราะ) อยากทำเพื่อสังคม อย่างประมาณเอาความสามารถที่มี และอุทิศชีวิตของเราเพื่อทำประโยชน์ ก็เลยตัดสินใจไปสอบเป็นครู” สว่างเริ่มเล่าถึงความฝันในการเป็นครู

เมื่อสอบเข้าไปเป็นครูในโรงเรียนประจำได้แล้ว สว่างต้องพบเจอกับชีวิตในการเป็นครูแบบเช้าชาม-เย็นชาม ตามขนบในระบบการศึกษาไทย ซึ่งเหมือนชีวิตมันจะจืดชืดเพราะมันคืองานรูทีนที่เข้าออกเป็นเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้สว่างยังมีแรงในการเป็นครูในรั้วโรงเรียนคือ การวางตัวให้เป็นเหมือน ‘เพื่อน’​ ของนักเรียน

และช่วงเวลาปิดเทอมที่เขาจะได้ออกจากขนบการเป็นครูอย่างสมบูรณ์ ถึงแม้จะเป็นเวลาสั้นๆ ก็ตามที

“ส่วนหนึ่งคิดว่าด้วยไลฟ์สไตล์ของการเป็นครู ก็จะมีความคาดหวังจากสังคมและค่านิยมที่เราต้องเป็นครูที่เนี้ยบๆ และดุ ทั้งที่จริงแล้วเราเป็นคนบ้าๆ บอๆ ช่วงปิดเทอมก็จะไปถักเดรดล็อกส์ แล้วก็ปั่นจักรยานเดินทาง จนเปิดเทอมก็กลับมาเจอครูใหญ่ หน้าก็ดำ แล้วก็โดนครูด่า (หัวเราะ)

“แต่ว่าส่วนที่สำคัญและมีผลมากกว่าคือ ทุกอย่างมันคาดเดาได้ เทอมนี้คุณสอนวิชานี้ เตรียมแผนการสอน ถึงเวลามีตารางสอนก็ไปสอน กลับบ้านก็ตรวจการบ้าน แล้วไปสอนใหม่ คือทุกอย่างมันวนเป็นลูป ซึ่งจริงๆ แล้วเราชอบเคลื่อนไหว อยากทำงานที่ใช้ชีวิตมากกว่า” สว่างเล่าต่อ

สว่าง ทองดี

ปั่นจักรยานทางไกลแบบไม่หันหลังกลับ

เพราะใจที่โหยหาความท้าทาย ความหวือหวา และความแปลกใหม่ในชีวิตมากกว่าการทำงานแบบมีลูปเวลาเริ่มและหยุดซึ่งสว่างเป็นมาแล้วเกือบ 10 ปี ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากอาชีพครูพร้อมเงินเก็บก้อนหนึ่ง และรายได้อีกส่วนหนึ่งจากการรับเขียนบทความให้กับนิตยสารท่องเที่ยวหลายฉบับ

โดยตัวเลือกแรกที่เขามีคือ การออกไปเที่ยวด้วยจักรยานเพียงคันเดียว โดยมีเป้าหมายแรกสุดอยู่ที่แอฟริกาใต้ แต่ท้ายที่สุดทริปแรกของเขาจบลงที่อินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่สว่างชอบที่สุด

การตัดสินใจเลือกเดินทางในเส้นทางที่โหดขนาดนั้น ตอนนั้นเขาคิดอะไรอยู่?

“ถ้าสมัยหนุ่ม ตอนที่เราอายุยังน้อย ยังมีกำลังเยอะ มันจะไม่ค่อยกลัวอะไรเท่าไหร่ ถ้าล้มก็ลุก แต่ถ้ามาเทียบกับตอนนี้แล้วความกลัวมันน้อยกว่านี้ ตอนนั้นคิดแค่ว่าจะต้องไปเจออะไรที่มันท้าทาย ประมาณแบบนั้น ลำบากก็ไม่เป็นไร (หัวเราะ) แต่พอมาเทียบกับ ณ เวลานี้มัน 50 ปี มันรู้สึกว่า ตอนนั้นความกลัวมันน้อยกว่าตอนนี้ ถ้าตอบคำถามก็คือ ถ้าเราจะไปเจออะไรที่มันท้าทายก็ไม่เป็นไร ก็พร้อมโอบรับมันให้มันมาชนเรา แล้วเราก็ไปชนมัน”

สว่างใช้เวลา 5 – 6 เดือนก่อนลาออกในการตระเตรียมอุปกรณ์ในการเดินทาง การวางแผน หรือการคำนวณเส้นทางที่จะปั่นจักรยานว่าจะเดินทางไปประเทศไหนบ้าง โดยตอนนั้นสว่างเริ่มจากปั่นจักรยานจากเชียงใหม่ขึ้นไปที่ประเทศลาว ก่อนเข้าสู่ประเทศจีนและทิเบต ซึ่งมีความยากเพราะต้องขออนุญาตเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง สว่างที่ยังมีเงินไม่มากนักจึงต้องหาวิธีการลักลอบเข้าทิเบตให้ได้

“ผมเจอกลุ่มฝรั่งที่ปั่นจักรยานแถวๆ ยูนนาน แล้วมีอยู่คนนึงเป็นอเมริกัน เขาบอกว่าจะปั่นจักรยานข้ามทิเบตลงไป เขาหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาก็มีรายละเอียดว่าจุดไหนจะมีที่พักรถ มีด่าน หรือต้องเข้าเมืองยังไงบ้าง เขาเลยแนะนำให้ไปตอนกลางคืน และเขาบอกให้ระวังหมาเห่าไล่ (หัวเราะ) 

“แล้วตอนนั้นก็เจอเพื่อนอีกคนหนึ่งที่จะขับเข้าทิเบตเหมือนกัน ก็เลยปั่นไปด้วยกัน ซึ่งเอาจริงๆ คือลำบากมากๆ เพราะต้องรอจนกระทั่งตี 2 แล้วมันก็หนาวมาก เพราะมันจะเป็นช่วงที่กำลังเปลี่ยนฤดูจากหนาวเป็นร้อน ถ้าไปคนเดียวก็อาจจะยอมแพ้ แต่ว่าเนื่องจากมีเพื่อนคนนั้นไปด้วยก็เลยโอเค มันมีอะไรบางอย่างมาจัดวางให้ต้องมาเจอนักปั่นคนนี้ เพื่อที่จะข้ามอุปสรรคใหญ่ๆ ตรงนั้น เพื่อลงไปถึงเนปาล แล้วก็แยกไปคนละที่” สว่างเล่าถึงการเดินทางครั้งแรกของเขา

การผจญภัยที่ปลุกประสาทสัมผัสของนักปั่น

เส้นทางและภูมิประเทศในการเดินทางของสว่างนั้นจัดได้ว่าโหด และไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะฝ่าฟันสถานการณ์ในการเดินทางเหล่านั้นได้เลย 

แต่เมื่อสว่างผ่านมาได้แล้ว เขากลับพบว่าสิ่งที่เขาเคยเผชิญมา ไม่ว่าจะอากาศหนาว การปั่นจักรยานทางไกลระดับ 100-200 กิโลเมตร นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาได้พบจากการตัดสินใจออกจากกรอบในรั้วโรงเรียน

“ด้วยความที่แต่ละประเทศมันก็มีวัฒนธรรม ภาษา อาหาร ประวัติศาสตร์ ที่โดดเด่นในความเป็นประเทศแต่ละประเทศเหล่านั้นอยู่แล้ว หรือไม่บางประเทศก็จะมีเรื่องภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่ต่างจากที่อื่นมากๆ เช่น ไซบีเรียและมองโกเลียช่วงหน้าหนาว อุณหภูมิจะติดลบ -10 องศา นี่คือขี้หมูขี้หมา หรือสุดๆ ก็คือ -25 องศา ผมเคยกางเต็นท์นอนกลางอุณหภูมิแบบนี้ ทุกปีผมจะมีโจทย์ที่คอยท้าทายตัวเองในหลายๆ ประเทศ ซึ่งมันก็หยิบยื่นอารมณ์กับประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป

“ประเทศหนึ่งที่ผมชอบมากคืออินเดีย ซึ่งมันเป็นประเทศที่หยิบยื่นประสบการณ์ให้เรา บางประเทศให้ประสบการณ์แบบนี้ (ยกมือต่ำ) บางประเทศให้ประสบการณ์แบบนี้ (ยกมือสูง) แต่กับอินเดียให้แบบนี้ (ยกมือสูงกว่าเดิม) ผมรู้สึกว่ามันว้าวมาก อินเดียมันกระตุกประสาทสัมผัสทุกด้านของเราได้ บางประเทศทำได้แค่ด้านเดียว หรือแค่ 2-3 ด้าน แต่ว่าอินเดียนี่คือได้ทุกประสาทสัมผัสเลย ตา หู จมูก ปาก (หัวเราะ)

“ผมเห็นวงจรชีวิตที่ครบมากที่นั่น คู่แต่งงาน พ่อแม่มีลูก ต้องเอาลูกไปให้พราหมณ์ทำพิธีริมแม่น้ำ หรือไม่ก็พาควายไปอาบน้ำ คนไปซักผ้า ผมเห็นกิจกรรมทุกอย่างอยู่ริมแม่น้ำคงคา โดยเฉพาะที่พาราณสี เวลามีคนตายก็แบกศพลงไปทำพิธี เผา ก็เลยเห็นว่า ทุกคนไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ ที่นั่นมีโรงแรมสำหรับรอตายด้วย ถ้าเลือกได้ ผมก็จะตายที่อินเดีย” สว่างเล่าถึงประสบการณ์ที่ประทับใจที่สุด

ถ้านับตั้งแต่ประเทศแรกจนถึงตอนนี้ สว่างเดินทางด้วยยานพาหนะเดียวและตัวคนเดียวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 5 เดือน, 6 เดือน, 8 เดือน สู่การเดินทางหลัก 1 ปีและล่าสุดที่ 3 เดือนก่อนเขาจะต้องหยุดเดินทางเพราะโควิด-19 

ส่วนเส้นทางที่เรียงรายหลังจากอินเดียที่สว่างชอบที่สุด เขาไปมาแล้วตั้งแต่ปากีสถาน คาซัคสถาน อุซเบกิสสถาน ต่อด้วยอิหร่าน อาร์เมเนีย จอร์เจีย ตุรกี สู่ฝั่งยุโรปและเอเชียอีกหลายประเทศ จนเข้าสู่แอฟริกาใต้อีกครั้ง

สว่าง ทองดี

ทำงานกับการเดินทาง และการเดินทางทำให้ได้งาน

หลังจากสว่างผ่านการเดินทางที่ใช้เวลานาน รอนแรมพเนจรไปยังหลายประเทศทั่วโลก ได้พบกับประสบการณ์ใหม่ๆ และเรื่องราวที่หลากหลาย การตัดสินใจสำคัญหนึ่งอย่างที่สว่างมุ่งมั่นแน่ๆ ว่าจะไม่ทำอีกคือ การกลับไปทำงานประจำ ซึ่งการประกอบอาชีพหลังจากนั้นคือการนำประสบการณ์ของเขาถ่ายทอดออกมาเป็นบทความผ่านหน้านิตยสารต่างๆ

เขียนหนังสือไปสักพัก สว่างจึงพบโอกาสในการทำงานด้วยการใช้ประสบการณ์ในสิ่งที่เขารัก นั่นคือการทำงานไกด์

“ตอนเขียนหนังสือก็ได้เงินบ้าง อย่างน้อยก็เป็นหนึ่งในรายได้ จากนั้นก็เลยลองหาอะไรเกี่ยวกับการดูแลคนเดินทางที่เราชอบอยู่แล้ว เลยไปรับจ๊อบเป็นผู้ประสานงานบริษัททัวร์แห่งหนึ่งก่อนจะไปเป็นไกด์เถื่อนที่ไม่มีบัตรฯ (หัวเราะ)

“ผมรู้สึกว่าการทำงานไกด์ การดูแลคนมันขึ้นอยู่กับธรรมชาติของคนคนนั้นว่าจะทำอย่างไรให้ลูกทัวร์ที่เราดูแลปลอดภัย โอเค มีความสุขกับการเดินทาง กินอิ่มนอนหลับ และทำให้เขาพอใจ แต่เราก็จะเยอะนิดนึง (หัวเราะ) เพราะเงื่อนไขคือต่อให้เป็นงานฟรีแลนซ์ ก็จะต้องเป็นงานที่เราอยากทำ”

สว่างเล่าเสริมว่า นอกจากไกด์แล้ว เขายังเคยทำงานที่ต้องใช้ภาษาทั้งการเป็นล่าม งานแปลเอกสาร หรืองานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และทั้งหมดต้องเอื้อต่อการสร้างรายได้ให้เขาไปเที่ยวต่อได้

สว่าง ทองดี

เร่ร่อนตามหากาแฟ สู่กาแฟของคนเร่ร่อน

ด้วยตารางงานที่ไม่ได้รัดตัวมากเกินไป สว่างยังพอมีเวลาเหลือให้เขาทดลองทำอะไรใหม่ๆ เขาจึงอยากหาอะไรทำที่ทั้งสนุกและได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เลยนำไปสู่การทำร้านกาแฟเล็กๆ จากการต่อรถพ่วงเข้าจักรยานคันเก่งของเขา และปั่นไปขายให้กับนักท่องเที่ยว

ก่อนสว่างจะรู้ตัวว่าเขาเอาเมล็ดกาแฟคั่วเข้มมาดริปให้ลูกค้าดื่ม

“ตอนนั้นทำเพราะไม่มีความรู้ ทำเพราะว่ามันสนุกดีแล้วก็ได้เงิน (หัวเราะ) แล้วพอทำๆ ไปก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่เราทำมากขึ้น แต่ก็ยังสงสัยอีก 10 อย่าง 20 อย่างเกี่ยวกับกาแฟ เช่นว่าเมล็ดต้นกาแฟมันเป็นยังไง อยู่ที่ไหน ก็เลยขึ้นไปตามหาแหล่งบนดอยแถวๆ บ้านเราที่เชียงใหม่นี่แหละไปดอยช้างที่เชียงรายบ้าง ดอยม่อนล้านแถวแม่ฮ่องสอนบ้าง ไปเรียนรู้การแปรรูปกาแฟ การเอากาแฟสุกมาแปรรูป มาตาก หรือหนักๆ เข้าก็ศึกษาว่ามันคั่วยังไง (หัวเราะ) หรือไปต่ออีกคือกาแฟแต่ละแหล่ง แต่ละประเทศมันเหมือนหรือต่างกันยังไง

“ผมตัดสินใจไปเอธิโอเปียเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดของกาแฟอราบิก้า ตอนนั้นแพลนว่าจะไปทั้งปี แล้วกับที่เราสนใจการผจญภัย เลยเดินทางต่อยาวไปตั้งแต่โบลิเวีย เปรู เอกวาดอร์ ปานามา โคลอมเบีย คอสตาริกา ทั้งหมดนี้เลยเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องกาแฟ แล้วก็ได้ปั่นจักรยานเดินทางท่องเที่ยว” สว่างขยายความถึงความอินในการไปตามหาแหล่งกาแฟ

การตามหาแหล่งกาแฟและปั่นจักรยานท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน ทำให้สว่างได้เจอกับคนกาแฟตัวจริงจากแหล่งพื้นที่จริง และเมื่อรวมกับการไปฝึกงานในร้านกาแฟท้องถิ่นจริงๆ อีก ทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ในการทำแบรนด์กาแฟเป็นของตัวเอง

Nomad Coffee จึงเกิดขึ้น

“เราชอบคำว่า Nomad ที่แปลว่าคนเร่ร่อน ซึ่งเราทำเพราะมันเป็นงานอดิเรกตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่ 2 ที่ตัดสินใจทำ พอมาถึงปีที่ 4 ก็เริ่มซื้อเครื่องคั่วมาทำเมล็ดกาแฟขายจริงจัง ตอนนี้ก็ 7 ปีแล้ว มันเหมือนการลองผิดลองถูกที่เราเรียนรู้เอง คั่วเอง แล้วค่อยๆ เพิ่มประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญกับตัวเอง” 

สว่างบอกเราอีกว่าตอนนี้ Nomad Coffee ยังไม่สามารถเป็นแหล่งรายได้หลักที่จริงจังได้ แต่สิ่งที่เขาคำนึงเสมอคือความยุติธรรมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำกาแฟแบรนด์เล็กๆ แบรนด์นี้ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลโลกได้ Nomad Coffee จึงออกขายในจำนวนทีละน้อยๆ และอยู่ในรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

“เราพยายามทำให้มันตอบโจทย์ที่สุด และถ้าโจทย์มันตอบไม่ได้ ก็ไม่ต้องทำให้มันใหญ่” สว่างเสริม

สว่าง ทองดี

คนเดินทางที่โหยหาการเดินทาง

“การไม่ได้เดินทางมันทำร้ายความรู้สึกผมมาก” สว่างบอกฉัน

โรคระบาดใหญ่ทำให้สว่างออกไปไหนไม่ได้ และนั่นทำให้เขาเริ่มหมดพลัง หมดกำลังใจ รวมถึงโหยหาการเดินทางอย่างมาก

ซึ่งสว่างคงไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ แบบนั้นแน่ๆ สว่างเลยเริ่มหาความเป็นไปได้ในการเดินทางใหม่ ที่คราวนี้มาในรูปแบบของการพายเรือ ซึ่งถามว่าเขาไปสุดแค่ไหน เขาเคยพายเรือจากเชียงใหม่ลงไปถึงนครสวรรค์ สู่สามเหลี่ยมทองคำ แก่งผาได และแม่น้ำโขง

สว่างบอกว่า การพายเรือคายัคทำให้สีสันในชีวิตของเขากลับมาอีกครั้ง

“มันก็คือการผจญภัยไง” สว่างย้ำกับฉัน

“แล้วการผจญภัยมีความหมายกับคุณยังไง” ฉันถามกลับ

“ถ้ารู้สึกว่าอะดรีนาลีนมันหลั่ง มันก็ต้องรู้สึกว่าชีวิตมันมีสีสันดีกว่า มีรสชาติดีกว่า แต่ว่าถ้าจะต้องตื่นขึ้นมาทุกเช้าไปชงกาแฟ มาเข้าห้องน้ำ เสร็จแล้วก็ทำงานหน้าคอมฯ เสร็จแล้วพรุ่งนี้ก็ต้องทำแบบเดิมๆ สำหรับผมมันรู้สึกว่าน่าเบื่อ พอมันเบื่อปุ๊บก็มีข้อเปรียบเทียบมั้ง เราเลยอยากหาความตื่นเต้น การเดินทางมันก็ตอบโจทย์

“การเดินทางสอนผมเยอะนะ ทั้งเล็กและใหญ่ อย่างนึงก็คือเวลาปั่นจักรยานเดินทาง มันแบกได้เฉพาะของที่จำเป็นจริงๆ เช่น เสื้อผ้าไม่กี่ชุด กล้องถ่ายรูป สมุดบันทึก หม้อ จานชาม ช้อน ที่บดกาแฟ เมล็ดกาแฟ อาหารแห้ง อาหารสดติดกระเป๋าไปหน่อย เครื่องนอน จบ คืออะไรที่มันจำเป็นจริงๆ ถ้าแบบเพิ่มอีกนิดเดียว มันเป็นภาระขึ้นไปอีกเยอะมาก แต่ว่ากระบวนการตรงนี้ มันเกิดหลายปีต่อมา 10 กว่าปีเลยนะ 

“ผมเริ่มรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องมีอะไรเยอะเพื่อที่จะต้องมีหน้ามีตา หรือว่ามีความสุขนี่หว่า ขอแค่ได้ทำอย่างที่อยากทำ ไม่ต้องแบกอะไร ไม่ต้องสะสม ไม่ต้องถือ คือเหมือนว่าเราไม่ยึดติดกับการเป็นพวกบริโภคนิยม มันจะทำอะไรเราไม่ได้ แต่กิเลสมันก็ยังมีอยู่ กิเลสเรื่องเดินทาง (หัวเราะ)”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ