โลกพร้อมกับการที่หุ่นยนต์จะเป็นพลเมืองหรือยัง

ข่าวสุดฮือฮาในแวดวงเทคโนโลยีช่วง 1 – 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่พ้นเรื่องที่ประเทศซาอุดิอาระเบียประกาศรองรับการเป็นพลเมืองของหุ่นยนต์
‘โซเฟีย’ ซึ่งนั่นทำให้เธอกลายเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ได้รับรองเป็นพลเมืองเช่นเดียวกับที่ซาอุดิอาระเบียกลายเป็นประเทศแรกในโลกเช่นเดียวกันที่มีการมอบสิทธินี้

ก่อนจะพูดไปถึงเรื่องอื่น เราคงต้องมาทำความรู้จักกับคุณโซเฟียกันเสียก่อน
เธอเป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยดร.เดวิด ฮันสัน (Dr.David Hanson) และบริษัท
Hanson Robotics ที่มีฐานอยู่ที่ฮ่องกง โซเฟียมีใบหน้าเหมือนมนุษย์
สามารถแสดงสีหน้าต่างๆ ได้ สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษและพูดคุยสนทนากับมนุษย์ได้

ขอบคุณภาพ Reuters

แน่นอนว่าการสร้างหุ่นยนต์ที่คล้ายคลึงกับมนุษย์มีมาก่อนหน้านี้และนับวันก็เริ่มจะฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
จากการมีเทคโนโลยี AI
(Artificial Intelligence) เข้ามาประกอบ เราเริ่มพูดถึงศักยภาพของหุ่นยนต์ในมุมมองใหม่ที่เริ่มใกล้เคียงกับจินตนาการในหนังไซไฟ
และหลายๆ ประเทศก็เริ่มจริงจังกับการวางแผนใช้หุ่นยนต์เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศอย่างที่ซาอุฯ
เองก็ประกาศว่าจะลงทุนเปลี่ยนประเทศไปสู่อนาคต (แน่นอนว่าการให้สิทธิพลเมืองกับโซเฟียก็เป็นหนึ่งในการ
‘สร้างข่าว’ ของเขา)

คำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการประกาศครั้งนี้คือ
นี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือผิดกับการให้หุ่นยนต์กลายเป็นพลเมือง นอกจากนี้ยังนำไปสู่ประเด็นอื่นๆ
ว่าสิทธิพลเมืองที่หุ่นยนต์พึงมีจะเป็นอย่างไร จะใช้สิทธิพลเมืองเดียวกับมนุษย์ หรือจะต้องสร้างระบบใหม่ขึ้นมาเฉพาะสำหรับหุ่นยนต์กัน

จริงอยู่ว่าหุ่นยนต์อย่างโซเฟียโต้ตอบกับมนุษย์ได้
ทำงานหลายๆ อย่างแทนมนุษย์ได้ แต่ถึงกระนั้นความแคลงใจก็ยังอยู่ที่ว่าหุ่นยนต์ยังคงคิดและตัดสินใจจากการ ‘โปรแกรม’ โดยมนุษย์ เช่น การสื่อสารของหุ่นยนต์นั้นใช้วิธีการจับคีย์เวิร์ดต่างๆ เพื่อไปประมวลผลและสร้างบนสนทนากลับมา
นำไปสู่การถกเถียงกันอยู่ว่าหุ่นยนต์ที่ล้ำขนาดนี้คิดได้เองอย่าง ‘เสรี’ จริงหรือไม่

ยังไม่นับประเด็นใหญ่ๆ ที่ต้องถกเถียงกันต่อไป
เช่น การยืนยันตัวตน เพราะการเป็นพลเมืองนั้นต้องมี ‘ตัวตน’ ซึ่งมนุษย์เราปกติก็ใช้ใบหน้า ลายนิ้วมือ ม่านตา เสียง หรือ DNA ฯลฯ เพื่อยืนยันการเป็นพลเมืองนั้นๆ ทีนี้กลับไปถามกันว่าแล้วหุ่นยนต์จะยืนยันตนจากอะไร หมายเลขหุ่นยนต์ MAC Address หรือบาร์โค้ด อะไรจะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเธอแตกต่างจากคนอื่นหรือตัวอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน
คำถามนี้คงยังไม่มีคำตอบและโซเฟียเองก็คงยังไม่ถูกบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในตัวเธอเหมือนกัน
คงต้องดูต่อว่าผู้พัฒนาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะการยืนยันตัวเองถึงจะเป็นเรื่องที่ดูพื้นฐานมากๆ
ก็จริง แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญในการสร้างระเบียบบริหารจัดการและดูแลความเรียบร้อยของพลเมืองในสังคม

ขอบคุณภาพ malaymailonline

สิ่งนี้นำไปสู่ข้อถัดมาคือประเด็นสิทธิทางกฎหมายและสิทธิทางสังคม
เพราะการเป็นพลเมืองของประเทศไหนก็ย่อมได้สิทธิ์ต่างๆ ของประเทศนั้นๆ แน่นอนว่าเราคงสามารถโปรแกรมให้หุ่นยนต์ปฏิบัติตามกฎหมายได้ไม่ยากเช่น
การขับรถให้ถูกกฎจราจร ไม่ก่ออาชญากรรม ฯลฯ แต่คำถามสำคัญคือเรื่องอื่นๆ อย่างการเสียภาษี
การได้รับค่าชดเชย การเลือกตั้ง การแต่งงาน หรือแม้แต่การสืบพันธุ์ล่ะ จะเป็นอย่างไร

การประกาศสิทธิพลเมืองให้แก่โซเฟียนำไปสู่คำถามในวงกว้างทั้งด้านเทคโนโลยีที่คงต้องไปตีความกันต่อว่าหุ่นยนต์นั้นใกล้เคียงกับมนุษย์มากพอจะเรียกได้ว่าพลเมืองหรือไม่ ด้านสังคมวิทยาและกฎหมายที่จะต้องตั้งคำถามว่ากฎระเบียบสังคมที่ใช้กับมนุษย์ที่มีความคิดนั้นจะใช้กับหุ่นยนต์ที่มีรูปแบบความคิดอีกอย่างได้หรือเปล่า

ประเด็นของโซเฟียมีผู้ออกมาทั้งเห็นด้วย กังวล
และไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ไม่มีใครรู้ว่าบทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร
เพราะยังเป็นแค่ ‘จุดเริ่มต้น’ เท่านั้น

แต่ที่แน่ๆ อนาคตที่เราเคยจินตนาการไว้ในภาพยนตร์ต่างๆ
อาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่เราเพ้อฝันอีกต่อไปแล้วล่ะครับ

AUTHOR