การมาถึงของ ‘หุ่นยนต์’ ในร้านอาหาร กับความหมายของ ‘แรงงาน’ ที่เปลี่ยนไป

ในยุคสมัยที่ ‘AI’ (Artificial Intelligence) และหุ่นยนต์กลายเป็นหัวข้อสนทนาของแทบทุกวงการ วงการอาหารที่เกี่ยวพันกับงานบริการย่อมเป็นหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติเงินเฟ้อและการขาดแคลนแรงงานภาคบริการอย่างรุนแรง บทบาทของเทคโนโลยีจึงทวีความสำคัญขึ้นอย่างน่าสนใจ เรียกได้ว่าการใช้หุ่นยนต์ในร้านอาหารนั้นไม่ใช่เรื่องไกลอีกตัวอีกแล้ว แต่กำลังจะกลายเป็นภาพคุ้นตาในชีวิตประจำวันของพวกเราในอนาคตอันใกล้ อย่างที่ร้านอาหารเชนใหญ่ในไทยหลายๆ ร้าน ไม่ว่าจะ MK Restaurant หรือ CLASS Cafe เริ่มมอบหมายให้หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ในหลายหน้าที่ ทั้งยังตั้งเป้าระยะไกลที่จะใช้หุ่นยนต์ในพื้นที่งานที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งชวนให้เราจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

และแม้การใช้หุ่นยนต์ในร้านอาหารจะไม่ใช่เรื่องใหม่ ด้วยทุกมุมโลกมีความพยายามพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้มานานหลายทศวรรษ แต่ต้องยอมรับว่า วิกฤติโรคระบาดนั้นทำให้เรื่องนี้ถูกผลักมาอยู่ในสปอตไลต์อย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อร้านอาหารทั่วโลกต้องหาทางเว้นระยะห่างระหว่างมนุษย์ และใช้เทคโนโลยีมาช่วยงานที่ต้องเสี่ยงการปนเปื้อนติดเชื้อ ไล่ตั้งแต่งานเบสิกในครัวอย่างการหั่น สับ ล้าง ไปจนถึงงานเสิร์ฟอาหารและจัดเก็บจานชามที่หุ่นยนต์ให้บริการได้ดีไม่น้อยกว่าพนักงานผู้มีลมหายใจ มากไปกว่านั้น หุ่นยนต์ยังตอบโจทย์ร้านอาหารที่ต้องการความ ‘เป๊ะ’ ในเรื่องสูตรอาหารได้อย่างตรงจุด อย่างในร้านอาหาร BOTS & POTS Sci-Food ประเทศโครเอเชีย ผู้พัฒนาหุ่นยนต์เชฟซึ่งสามารถทำอาหารได้หลากหลายถึง 70 เมนู อีกทั้งรสชาติยังเหมือนกันทุกจานแบบไม่ต้องกังวล เพราะสูตรอาหารทั้งหมดถูกคำนวณผ่านระบบดิจิทัลที่ความคลาดเคลื่อนเท่ากับศูนย์  

ความสำคัญของหุ่นยนต์ยังตอบโจทย์ในวันที่โลกต้องเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานครั้งใหญ่ อย่างที่ในอเมริกาเกิดการลาออกของพนักงานร้านอาหารกว่าล้านคนตลอดช่วงปี 2020-2021 จากเหตุผลทั้งภาวะตึงเครียดในที่ทำงานระหว่างช่วงโรคระบาด  การลดค่าจ้างพนักงานระหว่างช่วงล็อกดาวน์ ยังไม่นับเรื่องแรงงานข้ามชาติที่หายไประหว่างที่เส้นพรมแดนแต่ละประเทศถูกปิด ดังนั้นเมื่อร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังสถานการณ์ผ่อนคลาย ภาวะขาดแคลนแรงงานในร้านอาหารจึงเกิดขึ้นฉับพลันและทำให้ระบบของหลายร้านรวนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะร้านอาหารเชนใหญ่ที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมากในการเดินหน้า

และเมื่อถามถึงต้นทุนที่ร้านอาหารต้องจ่ายกับหุ่นยนต์ซึ่งดูเป็นเทคโนโลยีราคาแพง แต่เมื่อคำนวณตัวเลขออกมาจะพบว่าการลงทุนกับหุ่นยนต์หนึ่งตัวที่สนนราคาอยู่ราว 3.5-4 แสนบาทนั้นอาจประหยัดกว่าการจ้างพนักงานในหลายมิติ ด้วยหุ่นยนต์สามารถทำงานต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องการเวลาพัก ช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากคน (Human Error) ไม่ว่าจะการทะเลาะเบาะแว้ง การทำงานผิดพลาดเพราะอาการป่วย และอื่นๆ ลงได้มหาศาล โดยเฉพาะในประเทศที่ค่าแรงสูงอย่างในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น การลงทุนกับหุ่นยนต์ยิ่งเป็นเรื่องสมเหตุสมผล

แต่ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจร้านอาหารนั้นไม่ใช่เพียงงานบริการอย่างการเสิร์ฟหรือรับออร์เดอร์เท่านั้น ด้วยการที่ร้านอาหารจะประสบความสำเร็จอย่างยืนระยะได้นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ที่ต้องอาศัยรอยยิ้ม น้ำใจไมตรี หรือคำพูดโต้ตอบที่มีความเป็นมนุษย์เจืออยู่ในนั้น และแม้จะดูเป็นเรื่องยากที่เทคโนโลยีจะลอกเลียน ทว่าก็มีความพยายามออกแบบหุ่นยนต์มาเติมเต็มช่องว่างอย่างน่าสนใจ อาทิ BellaBot หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารสัญชาติจีนลักษณะคล้ายแมวที่ตอบโต้สื่อสารกับผู้คนได้น่าเอ็นดูไม่ต่างจากแมวจริงๆ 

ทว่าการมาถึงของหุ่นยนต์ในร้านอาหารก็มีอีกหลายมุมให้ตระหนัก โดยเฉพาะประเด็นการ ‘แย่งงาน’ ซึ่งเป็นข้อควรระวังสำคัญที่ทุกวงการกำลังถกเถียงเพื่อหาทางออก และกับหุ่นยนต์ในร้านอาหารนั้นก็ดูเหมือนว่าการแย่งงานอาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในร้านอาหารเชนที่ต้องการพนักงานทำงานลักษณะรูทีน แต่ในอีกมุม การเกิดขึ้นของหุ่นยนต์ในร้านอาหารก็พลิกเป็นการช่วยเหลือแรงงานกลุ่มเปราะบางได้เช่นกัน อย่างในร้าน Dawn Avatar Robot Cafe ในประเทศญี่ปุ่น คาเฟ่เก๋ในโตเกียวที่บริการด้วยหุ่นยนต์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทว่าหุ่นยนต์แต่ละตัวนั้นเป็น ‘ตัวแทน’ ของพนักงานผู้พิการแต่ละคนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านหรือโรงพยาบาล โดยอาศัยการควบคุมหุ่นยนต์ผ่านระบบสัมผัสหรือการสั่งการผ่านดวงตา (eye tracking) ซึ่งตอบโจทย์ทั้งเรื่องการสร้างงานให้กับกลุ่มผู้พิการ รวมถึงสร้างความโดดเด่นทางการตลาดให้กับร้านคาเฟ่แห่งนี้ในอีกทาง…และนั่นน่าจะเป็นภาพแทนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ในร้านอาหารซึ่งมีความเป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบ และคงดีไม่น้อยหากมันจะเป็นรูปแบบที่เป็นมิตรต่อทั้งนายจ้างและแรงงานในโลกที่กำลังปั่นป่วนขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นทุกวันนี้

AUTHOR