ชวนรู้จัก ฮีโร่ภาคพื้นสีเขียว ช่วยลดโลกร้อนด้วย AI

ปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ เป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์ของทุกคน ทำให้หลายอุตสาหกรรมทั่วโลกต่างต้องปรับตัวต่อสถานการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดโลกร้อน หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมยุคดิจิทัล เทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็ว มันคงจะดีไม่น้อยถ้านำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเบาแรงคนทำงาน ลดการใช้ทรัพยากร และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าเคย เหมือนอย่าง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในการกำกับดูแลของ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จํากัด (ARV) ภายใต้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

โดยเป็นผู้บุกเบิกนําเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของเครื่องจักรด้วยตนเองผ่านอัลกอริทึมต่างๆ (Machine Learning) เช่น การประมวลผลภาพจากอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (Drone Image Processing) การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมโยงกับค่าพิกัดภูมิศาสตร์ (GIS Satellite Analytics) เเละแพลตฟอร์มการให้บริการต่างๆ (Service Platform) มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ บริหารจัดการพื้นที่สีเขียว และการเกษตรอัจฉริยะครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน และสร้างประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนการดำเนินงานสู่เป้าหมาย SDG 13 Climate Action อย่างยั่งยืน

เทคโนโลยีของวรุณาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และส่วนที่สองคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร ผ่านเทคโนโลยีดังต่อไปนี้


1. โดรนเกษตรเจ้าเอี้ยง นักวิเคราะห์ปลูกพื้นที่สีเขียว

หลายคนอาจจะคิดว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องง่ายดาย แต่ความเป็นจริงแล้วการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสเกลใหญ่จำเป็นต้องคิดถึงปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพอากาศ คุณภาพของดิน หรือกระบวนการต่างๆ ในการผลิตให้มีประสิทธิภาพ

วรุณาเล็งเห็นถึงแนวทางการสร้างพื้นที่สีเขียวและเทคโนโลยีในการประยุกต์ใช้งานร่วมกันอย่างยั่งยืน จึงผลักดันให้วิศวกรนำเทคโนโลยี Robotics พัฒนาเป็นโดรนเพื่อการเกษตรชื่อว่า ‘โดรนเกษตรเจ้าเอี้ยง’ ซึ่งเริ่มจัดจำหน่ายตั้งแต่ปี 2565 และจากนั้นได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้คาดการณ์ผลผลิตการเกตรต่างๆ รวมถึงการคาดการณ์สภาพอากาศที่อาจจะส่งผลต่อการเกษตร

ในขณะเดียวกันยังประสานความร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายองค์กร ในการวางแผนฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวที่คุ้งบางกะเจ้าผ่านโครงการ OUR Khung BangKachao โดยนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลง การฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวของโครงการราว 6,000 ไร่ ในระยะเวลา 5 ปีด้วยกัน

2. AI นักกักเก็บก๊าซเรือนกระจก

เทคโนโลยีไม่เพียงช่วยวิเคราะห์พื้นที่ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ยังช่วยประเมินพื้นที่การกักเก็บก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน ด้วยกลไกทางวิศวกรรมที่เรียกว่า CCS (Carbon Capture and Storage) เป็นกระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทำงานของโรงงานอุตสาหกรรมก่อนที่จะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ แล้วนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านั้นไปกักเก็บไว้ใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการปลูกต้นไม้ แต่ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว

โดยโครงการหลักในขณะนี้ คือโครงการปลูกป่าของกลุ่ม ปตท. เนื่องจากการปลูกต้นไม้ ต้องมีการติดตามหรือตรวจสอบ จึงมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การสำรวจด้วยภาพถ่ายดาวเทียม หรือการสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศโดยโดรน แล้วนำภาพเหล่านี้มาพัฒนา โดยใช้แบบจำลองทางปัญญาประดิษฐ์ เพื่อคาดการณ์ปริมาณการกักเก็บมวลชีวภาพหรือมวลชีวภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีของวรุณา มาช่วยให้การกักเก็บก๊าซเรือนกระจกสามารถติดตามตรวจสอบได้ และแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงทีกรณีหากมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น การเกิดไฟป่าหรือการรุกล้ำพื้นที่ 

สำหรับโครงการปลูกป่าของกลุ่ม ปตท. ซึ่งมีทั้งโครงการเก่าและโครงการใหม่ที่ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 3 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมเพื่อประเมิน ติดตาม และวัดผลสภาพป่าในปัจจุบัน และมีส่วนช่วยในการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) โดยสามารถประเมินศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนในแต่ละพื้นที่ และอยู่ระหว่างเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฟป่า โดยเฉพาะการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการประเมินความเสียหายจากไฟป่า และพัฒนาระบบแจ้งเตือนในจุดที่ตรวจพบว่าเกิดไฟป่า เพื่อช่วยรักษาพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ

3. คันนา แอปพลิเคชัน (Kanna Application) นักวางแผนการปลูกพืช

โครงการเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่การเกษตรคือโครงการ ปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง หรือ Alternative Wetting and Drying: AWD ที่วรุณาร่วมมือกับนักวิชาการ กรมการเกษตร กรมการข้าว เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการจัดการ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ภาค การเกษตรสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบันวรุณามีพื้นที่นำร่องที่อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ส่งเสริมให้เกษตรกร ทดลองปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง โดยลดจำนวนวันที่ขังน้ำในนา หรือการลดปริมาณน้ำที่ขังในนาโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต จากเดิมที่เกษตรกรต้องขังน้ำในนาไว้ตลอดเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้หญ้าโตแซงข้าว 

แต่โดยธรรมชาติแล้วเมื่อปลูกข้าวได้ 30-40 วัน ต้นข้าวจะโตชนะต้นหญ้า น้ำในนาจึงไม่มีความจำเป็น เกษตรกรก็สามารถปล่อยน้ำออกจากนา เพื่อให้ดินชุ่มชื้นในระดับที่เพียงพอ จนถึงฤดูเกี่ยวข้าว ซึ่งการลดปริมาณน้ำที่ขังในที่นานี้ ทำให้สามารถลดการสะสมก๊าซมีเทน ที่เกิดจากการหมักหมม ของซากพืชซากสัตว์ลงได้

เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง  ยังสามารถลดการใช้น้ำลงได้ 50% จากเดิมที่ใช้น้ำ 700-1,500 ลูกบาศก์เมตร/ไร่  ทำให้ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกได้ 8-13% ที่สำคัญ คือ สามารถลดก๊าซมีเทนได้ถึง 80% และเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการขายคาร์บอนเครดิตด้วย

สำหรับแอปฯ คันนานี้เปรียบเสมือนผู้ช่วยประจำแปลงนา เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถบริหารจัดการแปลงเกษตรได้อย่างครบวงจร ด้วยฟีเจอร์การใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่การวางแผนการปลูก รายงานข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ รายวันและรายชั่วโมง ประเมินการเกิดโรคและแมลง รวมถึงการคาดการณ์ผลผลิต จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว

ขณะเดียวกัน แอปฯ คันนายังใช้ในการตรวจสอบ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก เกษตรกรจะรายงานข้อมูลผ่านแอปฯ โดยการถ่ายรูป บันทึกวันที่ใส่ปุ๋ย วันที่เปิดน้ำเข้านา และส่วนที่สอง ทีมวรุณาจะใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ตรวจสอบความชื้น ในวันที่เกษตรกรปล่อยน้ำเข้านาและปล่อยน้ำออกจากนา เพื่อดูคุณภาพน้ำว่าเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เพื่อเป็นการติดตามการดำเนินงานของโครงการ หรือติดตามการปล่อยน้ำออกจากนา ซึ่งจะส่งผลต่อการปล่อยก๊าซมีเทน 

ซึ่งข้อมูลที่เกษตรกรรายงานและการตรวจเช็กที่เกิดขึ้นผ่านแอปฯ คันนา จะทำให้วรุณาใช้เป็นเอกสารหลักฐานในการขอขึ้นทะเบียนโครงการและขอการรับรองคาร์บอนเครดิต ต่อองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หลังจากขอขึ้นทะเบียนได้จะต้องมีการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบการจัดทำ (Measurement, Reporting and Verification: MRV) และขอการรับรองภายในระยะเวลา 1-3 ปีจากปีฐานว่ามีการลดก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่ จึงจะได้คาร์บอนเครดิต 

ในประเทศไทยเริ่มมีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนตั้งแต่ปี 2557 โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) แม้ปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ยังมีไม่มากนัก แต่ในอนาคตจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคาดการณ์ความต้องการ ซื้อคาร์บอนเครดิตของไทย ตั้งแต่ปี 2563-2573 คาดว่าจะสูงถึงราว 1,600 ล้านตันคาร์บอน

วรุณาตั้งเป้าจัดการพื้นที่สีเขียว 1 ล้านไร่ และส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง 1 ล้านไร่

ด้วยความตั้งใจของวรุณาที่ต้องการผลักดันการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายว่าโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ภายใต้การถือครองและบริหารจัดการของวรุณาจากการปลูกป่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตันในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

ในส่วนของพื้นที่การเกษตร วรุณาตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้งให้ได้ 1 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้ได้คาร์บอนเครดิตประมาณ 6-7 แสนตัน ภายในปี 2573 จากปัจจุบันมีโครงการนำร่องที่สุพรรณบุรีแล้ว วรุณามีแผนขยายไปยังชัยนาท อยุธยา ปทุมธานี และอ่างทอง จากนั้นตั้งเป้าจะให้ ครอบคลุม 15 จังหวัด  เป้าหมายของวรุณาคือ Net Zero Emissions ที่ต้องการจะทำได้จริงในทุกประเทศ ซึ่งต้องมีการทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพยายามช่วยเหลือกัน รวมถึงภาคการเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 3 รองจากภาคพลังงานและภาคขนส่ง  ซึ่งไทยเองเป็นประเทศที่มีพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก หากใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็จะเป็นการยกระดับภาคเกษตร และสามารถช่วยลดอุณหภูมิโลกได้พร้อมกัน

AUTHOR