ตามไปดู ‘Give Us a Little More Time’ นิทรรศการที่แปลคำว่า ‘อีกไม่นาน’ เป็นงานคอลลาจกว่าพันชิ้น

Highlights

  • Give Us A Little More Time คือนิทรรศการของศิลปินและผู้กำกับ ‘เข้–จุฬญาณนนท์ ศิริผล’ ที่ต่อยอดจากโปรเจกต์ผลงานภาพคอลลาจทำจากหนังสือพิมพ์ไทยตลอดระยะเวลา 5 ปีหลังการรัฐประหารในปี 2557 
  • นิทรรศการนี้เป็นผลงานศิลปะที่ศิลปินใช้ตอบโต้กับสภาวะการสื่อสารภายใต้อำนาจรัฐบาลและวิพากษ์การทำงานของสื่อในยุครัฐประหาร
  • จากงานคอลลาจพันกว่าชิ้น เข้พัฒนาต่อเป็นแอนิเมชั่นความยาว 12 นาทีเพื่อวิพากษ์สื่อและช่องทางการสื่อสารในปัจจุบันทั้งโลกกายภาพและโลกดิจิทัล พ่วงด้วยปาร์ตี้เปิดงานนิทรรศการในโลกเสมือน 360° ซึ่งสื่อความถึงวิธีการสื่อสารที่อาจเป็นไปได้ในโลกอนาคต
  • Give Us A Little More Time จัดแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน - 9 สิงหาคม 2563

เคยสงสัยกันไหมว่า ประโยคสุดฮิตติดปากอย่าง ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ ในเพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ จริงๆ แล้วมันนานแค่ไหนกัน

ณ เวลานี้ คงไม่มีใครคำนวณระยะเวลา ‘อีกไม่นาน’ ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมได้เท่ากับนิทรรศการ ‘Give Us A Little More Time’ ของ เข้–จุฬญาณนนท์ ศิริผล ศิลปินภาพเคลื่อนไหวและผู้กำกับวัย 34 ปีที่พยายามค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแนวทดลองผ่านประสบการณ์การทำงานในวงการภาพเคลื่อนไหวกว่าทศวรรษ

หากให้ยกตัวอย่างผลงานบางส่วนของเข้ หลายคนอาจเคยเห็น ‘Museum of Kirati’ (2560) ที่เขานำบทประพันธ์ ‘ข้างหลังภาพ’ มาตีความใหม่ในรูปแบบนิทรรศการดูสนุกที่ผสมผสานสื่อศิลปะหลากหลายประเภท หรือ ‘Ten Years Thailand’ (2561) ภาพยนตร์วิพากษ์การเมืองที่เข้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้กำกับซึ่งเดินทางไปอวดโฉมไกลถึงเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ฝรั่งเศสมาแล้ว

ในนิทรรศการล่าสุด Give Us a Little More Time ซึ่งจัดแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน – 9 สิงหาคม 2563 เข้ทำภาพคอลลาจจากหนังสือพิมพ์รายวันตั้งแต่วันแรกที่มีการรัฐประหารในปี 2557 มาจนถึงวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรในเดือนมีนาคม 2562 

รวมระยะเวลา 5 ปี เขาได้ผลงานภาพคอลลาจทั้งสิ้น ‘1,768’ ชิ้น

พูดอีกอย่าง มันคือระยะเวลา ‘1,768 วันที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล คสช.’ ที่ถูกทำออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมนั่นเอง

 

ไม่เพียงแต่ผลงานภาพคอลลาจ เข้ยังต่อยอดโปรเจกต์สู่แอนิเมชั่นสีจัดจ้านความยาว 12 นาทีที่ใช้ภาพคอลลาจหนังสือพิมพ์เป็นวัตถุดิบพร้อมเสียงประกอบที่ดีไซน์มาอย่างดี ออกมาเป็นนิทรรศการตลกร้าย ดูสนุก แต่แฝงไปด้วยประเด็นสำคัญอย่างเรื่องสื่อและการเมือง

เราสัญญาว่าจะขอเวลาเพียงไม่กี่นาที เพื่อพาคุณกระโดดเข้าไปสำรวจแนวคิดเบื้องหลังนิทรรศการซึ่งเป็นดั่งโลกเสมือนของสังคมไทยทุกวันนี้

เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน

© 2563 จุฬญาณนนท์ ศิริผล ภาพเอื้อเฟื้อโดยศิลปินและ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี

 

เวลาอีกไม่นาน นานกว่าที่คิด

“สิ่งแรกที่รัฐบาล คสช.ทำหลังการรัฐประหารปี 2557 คือการปิดช่องสถานีโทรทัศน์เพื่อเข้าควบคุมการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ในทิศทางเดียวกัน ในฐานะศิลปินเราจึงสนใจว่าเราจะสร้างงานศิลปะเพื่อตอบโต้กับสภาวะการสื่อสารภายใต้อำนาจรัฐบาลยังไงได้บ้าง” เข้เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของโปรเจกต์ในครั้งนี้

หากอ้างอิงจากการรัฐประหารครั้งก่อนหน้าในปี 2549 โปรเจกต์นี้คงจบลงในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปี เข้จึงตัดสินใจทำภาพคอลลาจจากหนังสือพิมพ์ไทยทุกวันเพื่อบันทึกความคิดความรู้สึกที่มีต่อข่าวและสภาพสังคมในช่วงเวลานั้น

แต่ใครจะรู้ว่า การรัฐประหารปี 2557 กลับยืดระยะเวลาออกไปนานถึง 5 ปี

เท่ากับว่า ศิลปินหนุ่มก็จำต้องต่อสู้กับตนเองในการพากเพียรทำงานคอลลาจทุกๆ วันอย่างไม่มีจุดหมาย และเฝ้ารอจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง หมุดหมายสิ้นสุดของโปรเจกต์คอลลาจนี้

“ช่วงเวลาที่ทำโปรเจกต์เป็นเหมือนการรอคอยที่เราต้องต่อสู้และอดทนสร้างงานศิลปะขึ้นมา เราจึงอยากให้ตัวงานแสดงถึงความพยายามของศิลปินที่ใช้งานศิลปะนำเสนอเรื่องเวลาที่บอกว่าไม่นานให้เป็นรูปธรรม”

นิทรรศการแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกเป็นคอลเลกชั่นภาพคอลลาจที่ถูกสแกนและเก็บบันทึกอย่างเป็นระเบียบลงในหนังสือสีขาวขนาด A4 ไล่เรียงตั้งแต่ผลงานชิ้นแรกจนถึงชิ้นสุดท้ายตามวันที่ผลิตผลงาน หนึ่งเล่มต่อหนึ่งปี รวมเป็น 5 เล่มบรรจุในกล่องแข็งสีแดงสด

 คำถามคือ ในเมื่อมีวัตถุดิบที่หยิบมาใช้ทำงานศิลปะได้มากมาย ทำไมต้องเป็นหนังสือพิมพ์ 

“ปกติที่บ้านเรารับหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว เราเห็นว่านอกจากหนังสือพิมพ์จะเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันมันยังเป็นตัวแทนของสื่อเก่าที่รัฐบาลพยายามควบคุม ประกอบกับช่วงเวลานั้น สื่อเริ่มเปลี่ยนผ่านจากสื่อที่จับต้องได้ในโลกกายภาพไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น เราจึงเลือกใช้หนังสือพิมพ์เป็นวัสดุในการทำงานเพื่อพูดถึงอำนาจรัฐที่พยายามควบคุมการสื่อสารในช่วงเวลานั้นผ่านสื่อเก่าที่ไม่มีใครสนใจแล้ว” เข้ตอบข้อสงสัย

ในแต่ละวัน เข้เริ่มต้นจากการไล่เปิดดูข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่รับมาทุกวันแล้วเปรียบเทียบข่าวในหนังสือพิมพ์กับสื่ออื่นๆ เช่น ช่องโทรทัศน์หรือสื่ออินเตอร์เน็ตว่าข่าวนั้นๆ ถูกนำเสนอแตกต่างกันอย่างไร โดยที่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เขาจะเปลี่ยนหัวหนังสือพิมพ์ไปเรื่อยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอคติที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกรับข่าวจากหนังสือพิมพ์หัวเดียว

 

จากโลกกายภาพสู่โลกดิจิทัล

แม้ว่าจะเริ่มต้นจากการทำคอลลาจ แต่ด้วยพื้นเพคนทำงานภาพเคลื่อนไหวของเข้ทำให้เขาเห็นภาพเคลื่อนไหวขึ้นมาในหัวจากชิ้นส่วนกระดาษหนังสือพิมพ์ตรงหน้า เข้จึงนำภาพนิ่งเหล่านั้นมาพัฒนา ปะติดปะต่อเป็นแอนิเมชั่นอีกทีเพื่อแสดงในนิทรรศการ 

“เรามองว่าวิธีการสื่อสารในปัจจุบันอพยพจากโลกกายภาพไปสู่โลกดิจิทัลแทบหมดแล้ว เราเลยอยากสะท้อนปรากฏการณ์นี้ด้วยการย้ายงานคอลลาจของเราสู่งานดิจิทัลด้วยการสแกนงานคอลลาจกระดาษทั้งหมดมาทำเป็นแอนิเมชั่น” เข้เล่า

เข้อธิบายต่อว่าแอนิเมชั่นจากงานคอลลาจของเขายังเป็นสื่อที่เหมาะเจาะกับการอธิบายสภาวะการสื่อสารในโลกดิจิทัลที่สามารถพบเห็นการปะติดปะต่อข้อมูลข่าวสารในรูปแบบที่เราคุ้นชินอย่างมีม (meme) เอฟเฟกต์อินสตาแกรม หรือฟังก์ชั่นประมวลผลใบหน้าเพื่อแท็กรูปภาพในเฟซบุ๊กที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจจับใบหน้าของเรา

“โลกดิจิทัลมีวิธีคิดแบบมีมหรือการเอาภาพและข้อความจากที่หนึ่งมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันเพื่อสร้างความหมายใหม่ มีจุดประสงค์เพื่อความตลกขบขันหรือเสียดสีหรือกระตุ้นให้คนคิดถึงมุมมองอื่นๆ เราคิดว่ามีมก็คือคอลลาจรูปแบบหนึ่งที่อยู่ในโลกดิจิทัลหรือถ้าพูดให้ไกลกว่านั้น เราคิดว่าปัญญาประดิษฐ์ก็คือการคอลลาจในโลกดิจิทัลเหมือนกัน เพราะมันเป็นระบบที่รวบรวมข้อมูล แตกย่อยข้อมูล และนำมาประกอบใหม่”

เมื่อเปิดประตูและก้าวเท้าเข้าไปในห้องนิทรรศการหลัก เราพบกับภาพแอนิเมชั่นหลากสีเต็มไปด้วยองค์ประกอบไร้ระเบียบฉายลงบนจอขนาดใหญ่ 4 จอ รอบข้างมีเสียงอื้ออึงที่ค่อยๆ เร่งระดับตามลำดับการเล่าเรื่อง ถาโถมเข้ามาที่ตัวผู้ชมผ่านลำโพงที่ถูกติดตั้งไว้รอบห้อง เสียงพากย์ที่ดังออกมาจากลำโพงล้วนเป็นคำพูดที่จับใจความไม่ได้ ราวกับเป็นเสียงที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างสะเปะสะปะไร้ความหมาย

“ข้าพเจ้าคือ ไอดอลแห่งแสงสว่าง ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของ the ไอดอลแห่งแสงสว่าง มีความเชื่อแต่ครั้งอดีตว่ามีพลังเหนือธรรมชาติ ต้องสังคายนาหัวใจของความดีด้วยน้ำอสุจิ ฝากไข่วัฒนธรรมกตัญญู เร่งกู้วิกฤตฟื้นศรัทธา We are family เลิฟเลิฟ กระจายรายได้ด้วยความรัก ส่งออกที่หนึ่งของโลก เรามีรากเหง้า เรามีความสุข”

หารู้ไม่ว่า ทั้งเสียงและภาพที่ร่วมกันสร้างบรรยากาศชวนอึดอัดและปวดหัวนั้นเป็นความตั้งใจของศิลปินที่ต้องการจำลองสถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาให้มาอยู่ในห้องนิทรรศการนั่นเอง

เข้เฉลยว่าหากฟังให้ดี เสียงที่ดังออกมาจากลำโพงคือกลอนเปล่าที่เขาเรียบเรียงขึ้นจากคำพูดที่ปรากฏในงานคอลลาจซึ่งมักเป็นคำที่พบได้ในหน้าหนังสือพิมพ์ และความใหญ่โตมโหฬารของจอยักษ์ทั้งสี่เป็นความตั้งใจทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ยืนอยู่ท่ามกลางสงครามข้อมูลข่าวสาร และไม่อาจต้านทานการดูดกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความโกลาหลนี้

“ระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมาทำให้เรารู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเมืองนี้ตีกันตลอดเวลา ปะปนไปกับความรู้สึกอึดอัดที่เราไม่มีสิทธิมีเสียงในการแสดงความเห็น เราเลยอยากเก็บความรู้สึกนั้นให้มาอยู่ในบรรยากาศของงาน video installation ชิ้นนี้” เข้เล่าให้ฟังขณะพาเราเดินชมนิทรรศการ 

จากที่มองเห็นว่าแพลตฟอร์มการสื่อสารของคนในยุคปัจจุบันอพยพจากโลกกายภาพไปสู่โลกดิจิทัล แอนิเมชั่นนี้จึงเปรียบเสมือนสมรภูมิการปะทะกันระหว่างคนทั้งสองโลกที่พยายามพาตัวเองเข้ามาช่วงชิงพื้นที่และอำนาจในโลกใบใหม่ 

“เนื้อหาในแอนิเมชั่นเป็นเรื่องของการที่ข้อมูลถูกแปรเปลี่ยนจากเม็ดสีของกระดาษหนังสือพิมพ์ ค่อยๆ รวมเป็นรูปเป็นร่างและเปลี่ยนคาแร็กเตอร์ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นคาแร็กเตอร์ 5 ตัวที่มาปะทะสังสรรค์ทำสงครามกันในแพลตฟอร์มนี้ ได้แก่ นักรบไซเบอร์ ไอดอลแห่งแสงสว่าง นักโทษการเมือง ศิลปินหนักแผ่นดิน และทหารผ่านศึก ทั้ง 5 คาแร็กเตอร์เป็นตัวละครที่พบเห็นได้บ่อยในข่าวการเมืองที่ผ่านมาตลอด 5 ปี เราจึงเลือกให้เป็นตัวแทนของคนในสังคมโลกกายภาพที่กลายร่างมาอยู่ในโลกดิจิทัล”

 

เวลาของเราไม่เท่ากัน

เมื่อ ‘เวลา’ เป็นไอเดียสำคัญที่ต้องการพูดถึงในงานนิทรรศการ การจะสื่อถึงระยะ ‘เวลาไม่นาน’ แต่ดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุดจึงเป็นอีกโจทย์สำคัญที่ท้าทายทั้งตัวศิลปินและตัวผู้ร่วมออกแบบนิทรรศการในส่วนอื่นๆ ด้วย 

“เราอยากให้ installation นี้รักษาไอเดียของคำว่าเวลาให้ชัดเจนและสอดคล้องไปกับตัวงานคอลลาจที่เราทำมา 5 ปีเลยคุยกับดีไซเนอร์ว่าจะทำยังไงให้เรื่องเวลาดูจับต้องได้ขึ้นมา ดีไซเนอร์เลยเลือกนำเสนอหนังเรื่องเดียวกันแต่ฉายเหลื่อมกัน 4 จอเพื่อเน้นให้คอนเทนต์เรื่องเวลาชัดเจนยิ่งขึ้น”

ที่น่าสนใจคือ นอกจากภาพจะเหลื่อมกันในแต่ละจอแล้ว เมื่อยืนฟังไปสักพักเราก็พบว่าเสียงที่ดังออกมาจากลำโพงไม่สัมพันธ์กับภาพแอนิเมชั่นที่ปรากฏอยู่บนจอ

“ถ้าดูทั้ง 4 จอพร้อมกัน สิ่งที่เราเห็นคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แต่เสียงที่ออกมาจะซิงก์กับแค่บางจอสลับไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าตำแหน่งของเราอยู่ตรงจุดไหนของปัจจุบันกันแน่ ทำให้เห็นภาพของเวลาที่ไม่เท่ากันหรือเวลาที่มีความสับสน ไร้จุดสิ้นสุด

“การเข้าไปดูแบบนี้ไม่สามารถควบคุมได้ว่าจะต้องดูตั้งแต่ตอนไหน ตัววิดีโอเองก็มีความเป็นลูปของวิดีโอที่ผู้ชมสามารถเริ่มดูตอนไหนก็ได้ พอมาติดตั้งสี่จอก็มีวงจรของเวลาที่วนไปสี่จอของมันเองอีก ทำให้เห็นถึงมิติของเวลาที่หลากหลาย วิดีโอชิ้นเดียวมีมิติเวลาในตัวของมันเอง” เข้เผยนัยที่ซ่อนอยู่ในลูกเล่นของงานแอนิเมชั่น

 

ความจริงประกอบสร้าง

แม้การคอลลาจไม่ใช่เทคนิคทางศิลปะที่แปลกใหม่ แต่เข้บอกว่าคอลลาจนี่แหละคือเทคนิคที่เหมาะสมกับการเล่าเรื่องสื่อและตั้งคำถามว่าความจริงคืออะไร

“วิธีคิดของเทคนิคคอลลาจ คือการ deconstruct หรือการตัดบริบทของภาพนั้นๆ ออกมาแล้วสร้างเนื้อหาหรือมอบบริบทให้ใหม่ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบเดียวกันกับสื่อ เรามักจะพูดกันว่าสื่อนำเสนอความจริงหรือข้อเท็จจริง แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงใดๆ รวมถึงบริบทโดยรอบได้ทั้งหมด ดังนั้นเราจึงคิดว่าการนำเสนอของสื่อเป็นการเลือกข้อมูลบางส่วนมาปะติดเพื่อให้ใกล้เคียงกับความจริงให้ได้มากที่สุดเท่านั้น”

“เราคิดว่างานเรามีสปิริตศิลปะแบบ Dadaism ที่นำเสนอสภาวะที่บิดเบี้ยวเพื่อตั้งคำถามกับความจริง เราจึงใช้งานคอลลาจมานำเสนอสภาวะของการเมืองไทย ซึ่งถึงแม้เราจะใช้ปัญหาการเมืองเป็นหัวข้อ แต่ด้วยเทคนิคคอลลาจ เราคิดว่างานสามารถถูกตีความได้กว้างกว่าแค่เรื่องการเมืองมาก”

เมื่อเดินออกมาจากห้องจัดแสดงเล็ก เราจะพบกับนิทรรศการส่วนที่สองซึ่งเป็นวิดีโออธิบายวิธีทำงานของโปรเจกต์ รวมถึงภาพคอลลาจบางส่วนจากผลงานทั้งหมดพันกว่าชิ้นที่ถูกเลือกมาจัดแสดง แบ่งเป็น 2 เซต เซตละ 5 ชิ้น รวมทั้งหมด 10 ชิ้น

ด้วยความสงสัย เราจึงขอให้เข้อธิบายว่าทำไมต้องเป็นภาพคอลลาจทั้ง 10 ชิ้นนี้ที่ถูกเลือกมาจัดแสดง

“ภาพเซตแรกเป็นภาพในวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบวันรัฐประหารปี ’57 เพื่อให้เห็นวงรอบของเวลาที่วนมาบรรจบซ้ำในแต่ละปี

“ส่วนภาพเซตที่สอง เป็นภาพจากวันที่มีการชุมนุมทางการเมืองซึ่งเป็นมูฟเมนต์สำคัญในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เหตุผลที่เราเลือกภาพมาจัดแสดงจาก 5 วันนี้เพราะเป็นภาพที่เห็นแล้วชอบ เลยดึงภาพเหล่านี้ออกมาให้พูดแทนความคิดของเรา”

การเติบโตมาในกรุงเทพฯ พื้นที่แห่งความขัดแย้งของการเมืองไทยทำให้เข้เฝ้าติดตามและสังเกตความเป็นไปของสถานการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ 10 ปีก่อน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผลงานช่วงหลังๆ ของเข้เน้นหนักไปในเรื่องการเมืองเสียมาก

“ในฐานะศิลปินที่ใช้งานศิลปะทำงานสื่อสารประเด็นการเมือง คุณมองว่าตัวเองเป็นแอ็กทิวิสต์ด้วยไหม” เราสงสัย

เข้นิ่งคิดอยู่นานก่อนจะตอบคำถาม 

“ถ้าถามเรา เราไม่ได้เป็นศิลปินและแอ็กทิวิสต์ในเวลาเดียวกัน เรามองว่าศิลปินมีหน้าที่จุดประเด็นและตั้งคำถามด้วยเครื่องมือที่เรียกว่างานศิลปะ เราเลยพยายามทำงานศิลปะที่ดึงการเมืองมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อทำให้คนดูเห็นปัญหาและสร้างความเข้าใจหรือเสนอทางออก 

“ในขณะเดียวกัน เราไม่ได้มองตัวเองเป็นแอ็กทิวิสต์ที่ชนกับปัญหาการเมืองโดยตรง ส่วนตัวเราอยากให้คนถอยออกมาดูปัญหาในภาพรวมมากกว่าเข้าไปต่อสู้แบบใช้กำลัง เพราะเราคิดว่าหน้าที่ของศิลปินคือทำให้คนดูเข้าใจปัญหาและมองเห็นถึงทางออกร่วมกันมากกว่าที่จะออกไปต่อสู้ แต่ไม่ได้หมายความว่าศิลปินที่ออกไปต่อสู้ตรงๆ จะผิดเพราะแต่ละคนก็มีทางของตัวเอง มีเงื่อนไขและเป้าหมายที่ต่างกันไป

“ทั้งนี้ทั้งนั้นงานของเราก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองอย่างเดียวแต่นำเสนอเรื่องอื่นด้วย อย่างนิทรรศการนี้เราก็พยายามนำเรื่องการเมืองไปเชื่อมโยงกับศิลปะและเรื่องสื่อด้วย” 

 

สื่อสารเรื่องสื่อด้วยสื่อ

“เราเริ่มสนใจเรื่องสื่อเมื่อหลายปีก่อน เลยเริ่มทำสื่อภาพยนตร์ที่ไม่ได้ถ่ายทอดแค่เรื่องราวต่างๆ แต่พูดถึงตัววัสดุของมันเองคือภาพยนตร์ด้วย เหมือนเป็นสื่อที่วิพากษ์ตัวมันเองอีกที ต่อมาเราเลยคิดว่าจะหยิบจับสื่อประเภทอื่นๆ มาสร้างเป็นงานของเรายังไงได้บ้าง” 

ถึงเข้จะเริ่มต้นโปรเจกต์งานคอลลาจจากปัญหาการเมืองก็จริง แต่จากความสนใจเรื่องสื่อ ศิลปินหนุ่มจึงแตกประเด็นของโปรเจกต์ไปสู่เรื่องสื่อจากการวิพากษ์หนังสือพิมพ์ในโลกกายภาพสู่สื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต กระทั่งพื้นที่โลกเสมือน (virtual reality) สื่อรูปแบบใหม่

และเมื่อจะชวนผู้ชมมาวิเคราะห์ความซับซ้อนของสื่อไปด้วยกัน ประเภทของสื่อที่จะใช้จึงเป็นสิ่งที่เขาต้องคิดมาตั้งแต่ต้น 

“เวลาทำงานแต่ละชิ้นเราจะเลือกคอนเทนต์ที่สนใจอยากสื่อสารก่อนแล้วจึงค่อยนำสื่อที่ส่งเสริมตัวคอนเทนต์นั้นๆ มาจับ ให้ความสำคัญกับสื่อที่เลือกใช้ถ่ายทอดว่ามีน้ำหนักเพียงพอกับคอนเทนต์ที่เราอยากสื่อสารหรือไม่ รวมไปถึงต้องคิดถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในสื่อแต่ละชนิดด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในงานคอลลาจที่เราเลือกใช้วัสดุเป็นหนังสือพิมพ์เพราะหนังสือพิมพ์เป็นตัวแทนของสื่อเก่าหรือสื่อที่ถูกควบคุมในช่วงเวลานั้น 

“เรามองว่าสื่อในที่นี้ไม่ได้จำกัดความแค่สื่อสารมวลชนนะแต่อาจหมายถึงตัวกลางก็ได้ เช่น งานยุคหลังๆ ของเราจะใช้ตัวเราเองเป็นสื่อกลางนำพาเมสเซจสู่ผู้ชมผ่านการแสดงเป็นตัวละครหลายๆ ตัว เพราะเรามองว่าร่างกายเราเป็นสื่ออย่างหนึ่ง”

 

ในวันที่สื่อไม่เคยเป็นกลาง

หลังจากพูดคุยกันมาจนเข้าใจว่า Give Us A Little More Time คือนิทรรศการที่ใช้สื่อเพื่อวิพากษ์สื่อ เราจึงอยากรู้ว่าตัวศิลปินหนุ่มเองมีมุมมองต่อสื่อและการนำเสนอข่าวสารในปัจจุบันนี้ยังไง

“แต่ก่อนสังคมอาจมีอุดมคติว่าสื่อต้องเป็นกลาง ต้องนำเสนอแต่ข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ในยุคที่คนเริ่มเห็นว่าโลกมีชุดข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น มีทางเลือกของสื่อที่ไม่ได้ถูกจำกัดแค่สื่อกระแสหลักอย่างเดียว คนเลยเข้าใจว่าจริงๆ แล้วสื่อไม่เคยเป็นกลางมาตั้งแต่แรกแต่สิ่งที่สื่อทำคือการเลือกนำเสนอความจริงบางแง่มุม เพราะไม่มีทางที่สื่อสื่อเดียวจะนำเสนอความจริงได้รอบด้าน การจะเข้าใจสื่อได้จึงไม่ควรเชื่อจากสื่อเดียวเท่านั้น เราต้องเก็บข้อมูลจากหลายๆ สื่อเพื่อมาวิเคราะห์ด้วยตัวเอง

“เราคิดว่าจรรยาบรรณสื่อไม่ได้หมายถึงสื่อที่เป็นองค์กรอีกต่อไปแล้ว แต่คือสื่อในโลกดิจิทัลที่เป็นพื้นที่ใหม่ซึ่งยังไม่ถูกตั้งคำถามเรื่องจรรยาบรรณด้วยซ้ำ ทำให้เรื่องของจรรยาบรรณสื่อก็ควรถูกตั้งคำถามเหมือนกัน เช่น สื่อบางเจ้าที่ใส่อารมณ์ความรู้สึกหรือความคิดเห็นส่วนตัวเข้าไปในข่าวเพื่อเรียกยอดวิวจากคนอ่าน สิ่งเหล่านี้ควรถูกตั้งคำถามว่าอะไรคือจรรยาบรรณของการนำเสนอข่าวในยุคนี้”

“ตั้งใจจะให้นิทรรศการนี้ชวนคุยกับคนรุ่นใหม่อย่างเดียวเลยหรือเปล่า” เราถาม

“เราไม่ได้มองว่ามีกลุ่มเป้าหมายเดียวแต่มองว่างานของเราสามารถสื่อสารได้กับคนทุกวัย เพราะประเด็นเรื่องการสื่อสารและสื่อเป็น movement ของโลกที่เคลื่อนไปข้างหน้า ทำให้แม้แต่ชาวต่างชาติก็สามารถเข้าใจงานเราได้ว่าเป็นการที่เราหยิบจับประเด็นการเมืองมาใช้เป็นกรณีศึกษาในการวิพากษ์สื่อ”

 ก่อนจบบทสนทนา เราอยากรู้ว่าศิลปินหนุ่มคาดหวังอยากเห็นอะไรจากทิศทางการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง 

“ส่วนตัวเรามีหวังว่าในตอนนี้ที่การสื่อสารจากบนลงล่างถูกทำลายกลายเป็นการสื่อสารในแนวราบมากขึ้น รวมทั้งการที่ข้อมูลข่าวสารถูกเปิดมากขึ้น คนสื่อสารกันได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นพลังที่ทำให้โครงสร้างทางการเมืองเปลี่ยนไป เราอาจเห็นการบาลานซ์อำนาจทางการเมืองใหม่ในแพลตฟอร์มของสื่อใหม่ได้

“เพียงแต่ว่าอาจจะใช้เวลาอีกนิดหนึ่ง ขอเวลาอีกไม่นาน” เข้หัวเราะ


นิทรรศการ Give Us A Little More Time จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 9 สิงหาคม 2563 ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY (สาทรซอย 1 ใกล้ MRT สถานีลุมพินี) วันพุธถึงอาทิตย์ เวลา 13:00-19:00 น. แกลเลอรีมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมเพื่อความปลอดภัย นัดหมายเข้าชมนิทรรศการล่วงหน้าที่ [email protected]

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone