ตามไปดูอนุสรณ์สถานแห่งความรักของคุณหญิงกีรติที่นิทรรศการ Museum of Kirati

สำหรับคนที่ติดตามนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย
เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เคยได้ยินชื่อของ BANGKOK CITYCITY GALLERY อาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมทันสมัยที่ตอนนี้ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่
ทั้งลักษณะเชิงโครงสร้าง (structure) และรูปแบบการใช้งาน
(function) จาก ‘แกลเลอรี’
กลายเป็น ‘มิวเซียม’ หรือพิพิธภัณฑ์

เราเริ่มต้นจากการลอบสังเกตภายนอกตัวอาคาร
ทั้งตัวอักษรสีขาวนูน ปรากฏชื่อของมิวเซียมและโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ที่อุปโลกน์ว่า
ณ ขณะนี้ มิวเซียมแห่งนี้กำลังจัดนิทรรศการหมุนเวียนครั้งที่ 1 รวมถึงพี่ๆ น้องๆ สตาฟฟ์ในแกลเลอรีที่ต้องเปลี่ยนมาแต่งชุดพนักงานของมิวเซียมอีกด้วย!
มิวเซียมที่ว่านี้ก็คือ Museum of Kirati หรือ อนุสรณ์สถานแห่งความรักของคุณหญิงกีรติ

หลายคนอาจเติบโตมาจากการอ่านหนังสือนอกเวลาเรื่อง ข้างหลังภาพ (ตัวผู้เขียนเองอ่านครั้งแรกตอน ม.ปลาย จากนั้นได้ดูภาพยนตร์เรื่อง
ข้างหลังภาพ กำกับโดย เชิด ทรงศรี นำแสดงโดย เคน ธีรเดช และ คารา พลสิทธิ์) ‘คุณหญิงกีรติ’ ที่กลายมาเป็นที่มาของมิวเซียมแห่งนี้คือตัวละครเอกจากบทประพันธ์โดย
กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ‘ศรีบูรพา’
นักเขียนผู้สนใจประเด็นด้านการเมืองและมีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ข้างหลังภาพ เริ่มตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันเมื่อ พ.ศ. 2479 หลังจากที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งนั่นหมายความว่า
ศรีบูรพาใช้ชีวิตตามครรลองและผ่านเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาได้เพียง
4 ปีเท่านั้นก่อนที่จะเริ่มลงมือเขียน

ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2560 – 21 มกราคม 2561 พื้นที่ของ BANGKOK CITYCITY GALLERY จะถูกปรับเปลี่ยนสภาพกลายมาเป็น Museum of Kirati อันเนื่องมาจากแนวคิดอันซับซ้อนซ่อนด้วยอารมณ์ขันและความเปราะบางทางความรู้สึกของความรักและการเมือง
กลั่นกรองผ่านเลนส์ถ่ายภาพไม่นิ่งของ จะเข้-จุฬญาณนนท์ ศิริผล ศิลปินหนุ่มมาดเนิร์ด สวมแว่นกรอบดำ (ที่สีของกรอบแว่นจะหลุดลอกไปตามกาลเวลา
และจะลอกมากเป็นพิเศษเมื่อโดนน้ำ) เข้มักใช้สื่อผสมหลากหลาย (mixed
media) ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
หากแต่ในทุกผลงานของเขาจะมีพื้นฐานจากงานวิดีโอ เนื่องจากเข้เรียนมาทางด้านนี้
และตัวเขาเองนิยามงานวิดีโอว่าเป็น ภาพที่มีชีวิต วิดีโอจึงเป็นสื่อ (media) ที่เขาถนัดและคุ้นเคยมากที่สุด
นับแต่ผลงานในยุคแรกที่เข้ยังเป็นศิลปินรุ่นใหม่กระทั่งถึงตอนนี้ที่เขาเริ่มมีชื่อเสียง

กว่าจะเข้าเรื่อง
ขอบอกกันตามตรงว่า…ผู้ชมนิทรรศการ Museum of Kirati สามารถเข้าถึงตัวงานได้หลายระดับ อาทิ
ผู้ชมอาจเข้าถึงโดยอิงมาจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือความรู้พื้นฐานจากการเสพงานวรรณกรรม ข้างหลังภาพ ซึ่งนอกจากหนังสือแล้ว
ข้างหลังภาพ ยังถูกผลิตเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์และละครเวทีมิวสิคัล
หรือหลายคนอาจใช้ความรู้ความเข้าใจในบริบทของสังคมการเมืองในยุคเก่า อคติทางเพศ
ความก้าวล้ำในเทคโนโลยี หรือแม้แต่เรื่องรักโรแมนติก ทั้งหมดนี้หลอมรวมมาเป็น
‘ฐาน’ ทางความรู้สึกในการชมผลงาน

และเมื่อข้างหลังภาพถูกนำมาผลิตซ้ำ (remake) ในรูปแบบของงานศิลปะภายใต้กรอบการจัดแสดงในนิยามของการสร้างมิวเซียม
ศิลปินได้ตีความและสร้างเรื่องราวคู่ขนานของข้างหลังภาพให้เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันคล้ายกับการ
‘ปลุกตัวละครให้กลายเป็นคน’ หรือชุบชีวิตของนพพร และคุณหญิงกีรติ
ให้กลับมามีลมหายใจโลดแล่นผ่านภาพเคลื่อนไหว
โดยศิลปินเลือกที่จะแสดงเป็นตัวละครหลักด้วยตัวเอง (self-performance)

เข้รับบทเป็นทั้ง นพพร และ คุณหญิงกีรติ
(ที่บางครั้งจะมีหนวดบางๆ เหนือริมฝีปากของเธอ ชวนขำและน่าจดจำ)
เข้นำตัวเองไปปรากฏในงานศิลปะหลายรูปแบบทั้งภาพเขียนสีน้ำ งานวีดิโออินสตอลเลชั่น ประติมากรรม และชิ้นงานเครื่องประดับอันหรูหราที่สามารถสวมใส่เป็นเข็มกลัดและจี้ห้อยคอ

ในวันเปิดมิวเซียมเมื่อวันอาทิตย์ที่
19 พฤศจิกายน
ที่ผ่านมา เข้ปรากฏตัวเป็น ‘นพพร’ หากนับจากวันที่นพพรยังมีชีวิตอยู่ในงานวรรณกรรม
ตอนนี้ นพพรคงเป็นชายชราอายุราวๆ 90 ปี

เมื่อเราถามถึงจินตนาการของเข้ที่มีต่อนพพร
เข้ตอบคร่าวๆ ที่ชวนให้เราจินตนาการต่อว่า นพพรจะกลายเป็นบุคคลแถวหน้าของสังคม
ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นนักลงทุนมีกำลังทรัพย์มหาศาล และพร้อมที่จะ ‘เปิดเผย’
เรื่องราวความรักและความทรงจำของตัวเองในช่วงที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น
นพพรจึงตัดสินใจสร้างสถานที่ที่เก็บรวบรวมความทรงจำอันแสนหวานในครั้งอดีตขึ้นมาดู
คล้ายกับว่าเข้กำลังเขียนนิยายซ้อนนิยาย
สร้างงานศิลปะล้อไปกับเรื่องราวในบทประพันธ์ของศรีบูรพา
และนำเอาบทพูดที่สุดแสนจะคลาสสิกมาผลิตซ้ำอีกครั้งผ่านการพากย์เสียงที่ตัวเขาเล่นเป็นนักแสดงนำ

“…ความรักของเธอเกิดขึ้นที่นั่นแล้วก็ตายที่นั่น
แต่ของอีกคนหนึ่งกำลังจะรุ่งโรจน์ในร่างที่กำลังจะแตกดับ…”
-หม่อมราชวงศ์กีรติ

ภาพในความทรงจำของคุณหญิงกีรติเมื่อครั้งได้ไปท่องเที่ยวสองต่อสองกับนพพรบนภูเขามิตาเกะในประเทศญี่ปุ่น
บางโอกาสทั้งสองต้องจับมือกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องไต่โขดหินไปตามความลาดชัน
เพื่อที่จะไปชมความงามที่ลำธาร นั่งพักผ่อนหย่อนใจ
มองดูสายน้ำที่ไหลผ่านเหมือนกาลเวลาไม่มีอยู่จริง

ความรักที่เกิดขึ้นอย่างไม่ถูกที่ถูกเวลา
กลายมาเป็นโศกนาฏกรรมความรักที่สะท้อนไปถึงบริบททางสังคมในช่วงยุคสมัยดังกล่าว
อำนาจเก่าที่ถูกสื่อผ่านคุณหญิงกีรติ หรือความหวังอันสดใสเสรีในตัวนพพรหนุ่มนักเรียนนอกอนาคตไกล เข้ให้สัมภาษณ์อย่างน่าสนใจว่า หากความรักของทั้งสองคนเกิดขึ้นในยุคนี้
เขามองว่ามันมีความเป็นไปได้มากที่นพพรและคุณหญิงกีรติจะลงเอยด้วยความสุขในที่สุด

ตามเนื้อเรื่อง นพพร
หนุ่มนักเรียนนอกที่ได้รับหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยวให้กับคุณหญิงกีรติ
มองเธอด้วยสายตาที่ยกย่องให้เธอเป็นผู้หญิงที่เปี่ยมไปด้วยสุนทรียะและรสนิยม
ทั้งการแต่งกาย วาจา และทัศนคติ ในขณะที่คุณหญิงกีรติเองก็มองนพพรประหนึ่งแสงสว่างแห่งความหวัง
ที่สาดส่องเข้ามาในชีวิตที่น่าเศร้าและอับเฉาของเธอ
คุณหญิงผ่านพ้นวัยสาวอย่างเปล่าเปลี่ยวแถมยังต้องแต่งงานกับท่านเจ้าคุณที่มีอายุรุ่นราวคราวพ่อ
เพียงเพราะว่าพ่อของคุณหญิงกีรติต้องการให้ลูกสาววัย 35 ปีปลอดภัยและมีความสุข

เข้นำเรื่องราวของคู่รักทั้งสองมาฉายขึ้นใหม่พร้อมกับฉากร่วมสมัยในปัจจุบัน
จากการเขียนจดหมายหากันระหว่างนพพรและคุณหญิงกีรติ ถูกแทนที่ด้วยการส่งอีเมล จากการเดินทางข้ามประเทศด้วยเรือก็กลายมาเป็นการนั่งเครื่องบิน
องค์ประกอบหลายอย่างที่ดูประดักประเดิดส่งให้งานของเข้มีเสน่ห์ แฝงด้วยอารมณ์ขัน
นอกจากนี้เขายังจงใจเลือกผู้ชายมารับบทเป็น ‘ปรี’ ภรรยาของนพพร ในจุดนี้ผู้เขียนมองว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศของสังคมยุคปัจจุบัน
ทั้งยังเป็นกระจกสะท้อนว่า ประเทศไทยไม่ได้รู้สึกรังเกียจสาวประเภทสอง
หากแต่ชื่นชอบและรู้สึกเป็นมิตรกับความพิเศษดังกล่าวที่ถูกแสดงออกมาอย่างเปิดเผย
จริงใจ และเป็นตัวของตัวเอง

ในเรื่องการจัดวางผลงาน
เข้หยิบยืมฟังก์ชันและการให้ความหมายในการออกแบบพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์มาใช้เป็นแนวคิดหลัก
ศิลปินอธิบายว่า ผลงานในมิวเซียมของกีรติจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Permanent Collection และ Temporary Exhibition ศิลปินกำหนดกลุ่มของชิ้นงานแยกออกจากกัน
แบ่งโซนด้วยการทาสีผนัง แต่หากเข้าไปในพื้นที่จริงๆ เราจะพบว่าภายในห้องมืดมากจนแทบมองไม่เห็นสีผนังต่างกันอย่างไร
(ต้องลองเพ่งนานๆ)

ชิ้นงานที่เขานำมาจัดแสดงในส่วนของ Permanent Collection มีทั้งผลงานศิลปะในอดีตที่ศิลปินเคยจัดแสดงที่ Aomori Museum of Art ในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่เข้เดินทางไปเป็นศิลปินในพำนักที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่
2 เดือน ในระหว่างนั้นเขาได้ถ่ายงานวิดีโอ
เล่าเรื่องข้างหลังภาพในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นฉากในเมืองอาโอโมริ

ส่วนผลงานภาพ (ไม่) นิ่งของกีรติ
(ภาพฉาย projection บนผนัง 7 ภาพ) เป็นทีสิสจบปริญญาโท จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ยังมีผลงานใหม่ที่ศิลปินสร้างขึ้น คือ
ประติมากรรมหล่อบรอนซ์รูปคุณหญิงกีรตินั่งอยู่บนเก้าอี้ ขนาดความสูง 17 นิ้ว และเข็มกลัดเนื้อกระเบื้องพอซเลน
เพนต์ภาพพอร์เทรตของคุณหญิงกีรติอย่างงดงามด้วยสีน้ำมัน มีกรอบสีทองประดับ
ลักษณะดูเหมือนได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก ส่วนผลงานในโซน Temporary
Exhibition จะมีงานชุด Behind
the Painting ซึ่งเคยจัดแสดงที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผลงานทั้งหมดราว 20 ชิ้นถูกเก็บรวบรวมอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ที่ศิลปินอุปโลกน์ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำที่นพพรสร้างขึ้นให้แด่คนรัก
ที่คงได้รักกันจริงแค่เพียงแต่ภาพในจินตนาการ ภาพของการจูบริมฝีปากของนพพรและคุณหญิงกีรติในฉากหลังที่ดูคล้ายอวกาศ
ทั้งสองสัมผัสกันทางกาย กอดรัดเรือนร่างของกันและกันภายใต้เสื้อผ้าที่ยังปิดมิดชิด
ตัดภาพมาเป็นกิจกรรมในวันว่างของคุณหญิงกีรติที่กำลังง่วนอยู่กับการต่อจิ๊กซอว์ที่ไม่มีวันเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งภาพในจิ๊กซอว์นั้นคือภาพฝันที่สองคนรักกัน แม้ความรักหรือแรงปรารถนาที่คุณหญิงกีรติมีจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
เธอก็ยังพยายามนำส่วนที่ขาดหายไปมาเติมให้เต็มผ่านการอุปมาอุปมัยเชิงสัญลักษณ์ที่ศิลปินสร้างสรรค์และดัดแปลง

เข้พาเราย้อนเวลากลับไปยังอดีต
ไปเฝ้ามองความรักที่เป็นไปไม่ได้ของคนสองคน ครั้นยังนำเอาสัญลักษณ์ทางการเมืองบางอย่างมาสอดแทรกแฝงเอาไว้ในเนื้อเรื่อง
หากสายตาของผู้ชมคนใดสามารถค้นพบและถอดความได้
ก็อาจเป็นเรื่องสนุกของการได้รับชมงานศิลปะในครั้งนี้

เข้บอกกับเราว่า
เขาอยากจะทำผลงานซีรีส์ของ ข้างหลังภาพ ต่อไปอีก แม้ตอนนี้จะยังไม่สามารถให้คำตอบอย่างแน่ชัดว่างานศิลปะของเขาจะเกิดขึ้นอย่างไรในอนาคต
เข้ไม่ได้บังคับให้เราเข้าใจตามที่เขาต้องการจะสื่อ
เขาไม่ออกคำสั่งให้ผู้คนจดจำผลงานของเขา หรือยื่นกระดาษที่เขียนว่า ‘Forget
Me Not’ ให้กับเรา แต่หากผู้ชมเดินออกจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
แล้วแหงนหน้ามองที่เหนือประตูทางออกสักนิด
จะเห็นว่าศิลปินไม่อยากให้เราลบเลือนความทรงจำในงานครั้งนี้…ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง
พลันจะหายไปในอีกช่วงเวลาหนึ่ง

อย่าลืมตามไปดู Museum of
Kirati ด้วยตาของคุณเองและซึมซับมันด้วยหัวใจ


นิทรรศการ Museum
of Kirati จัดแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERYตั้งแต่วันนี้-21 มกราคม 2561

ชมผลงานอื่นๆ ของจุฬญาณนนท์ได้ที่ chulayarnnon.com

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR