Art in the Time of Corona เมื่อศิลปะคลาสสิกกลายเป็น meme ฮิตในช่วงโควิด-19

Highlights

  • ในช่วงเวลาที่โควิด-19 ระบาด สิ่งที่แพร่กระจายไม่แพ้ไวรัสคือมีมตลกโปกฮาล้อเล่นกับการล้างมือ, หน้ากาก, นโยบาย social distancing และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของชาวโลกที่เปลี่ยนไปในยุคนี้
  • มีมเป็นรูปแบบของการแสดงออกทางความคิด พฤติกรรม สัญลักษณ์ (ส่วนใหญ่เป็นการล้อเลียน) ที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ จนกลายเป็นกระแสทางวัฒนธรรมและปรากฏการณ์ทางสังคม ถูกบัญญัติขึ้นโดย Richard Dawkins นักชีววิทยาวิวัฒนาการชาวอังกฤษ
  • หนึ่งในมีมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการใช้ภาพวาดคลาสสิกมาทำเป็นมีม ซึ่งนอกจากจะมีฟังก์ชั่นตลกโปกฮาและสะท้อนสังคม มันยังช่วยทำให้ศิลปะเข้าถึงคนได้ทุกชนชั้นอีกต่างหาก

ภาพวาด The Birth of Venus ที่ไร้วีนัส เหลือเพียงเปลือกหอยอันว่างเปล่า ภาพโต๊ะอาหาร The Last Supper ที่ไร้เงาแขกเหรื่อ หรือภาพวาด Frida Kahlo สองร่างที่นั่งห่างกันเป็นโยชน์ ทั้งหมดนี้ไม่ได้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีที่ไหน กลับกัน มันอยู่ในคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต มือถือ หรือหน้าจอใดๆ ที่เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้

เราเรียกมันว่า meme

Sandro Botticelli’s “The Birth of Venus” (c.1486) / José Manuel Ballester

Leonardo da Vinci’s “The Last Supper” (1498) / José Manuel Ballester

Valentina di Liscia, After Frida Kahlo, “The Two Fridas” (1939) / hyperallergic.com

มีมเป็นรูปแบบของการแสดงออกทางความคิด พฤติกรรม สัญลักษณ์ (ส่วนใหญ่จะเป็นการล้อเลียน) ที่ส่งต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ผ่านการเขียน ภาพวาด ภาพถ่าย การพูด ท่าทาง ไปจนถึงพิธีกรรมต่างๆ จนกลายเป็นกระแสทางวัฒนธรรมและปรากฏการณ์ทางสังคม คำนี้ถูกบัญญัติขึ้นโดย Richard Dawkins นักชีววิทยาวิวัฒนาการชาวอังกฤษ มันปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในหนังสือ The Selfish Gene (1976) โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า gene หรือลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม กับคำภาษากรีก mimeme ที่แปลว่าการลอกเลียนแบบนั่นเอง

สิ่งที่ถูกหยิบมาทำเป็นมีมมากที่สุดอย่างหนึ่งคือภาพวาดของศิลปินดังๆ ไม่ว่าจะเป็นในยุคโบราณและยุคก่อนสมัยใหม่อย่างยุคคลาสสิค ยุคกลาง ยุคเรอเนซองซ์ และยุคโมเดิร์น ด้วยการคัดสรรภาพวาดตั้งแต่กษัตริย์ ขุนนาง นักปรัชญา ตัวละครในพระคัมภีร์และเทพนิยายปรัมปรา ไปจนถึงภาพชาวบ้านร้านตลาดมาประกอบถ้อยคำขำๆ โดนๆ (หรือบางครั้งก็งงๆ มึนๆ) ที่เชื่อมโยงหรือบางครั้งขัดแย้งกับบุคลิก อากัปกิริยาของตัวละครและเรื่องราวในภาพ (วิธีการลักษณะนี้เรียกว่า image macro) สร้างความตลกโปกฮาหรือเกาะกระแสที่กำลังเป็นที่นิยมในสังคมช่วงนั้นๆ 

facebook.com/classicalartmemes

มีมฮิตช่วงโควิด-19

ในช่วงเวลานี้ที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะของผู้คนในหลายประเทศทั่วโลก ก็เกิดมีมที่หยิบฉวยเอาผลงานศิลปะในยุคต่างๆ มาดัดแปรให้เข้ากับสถานการณ์กันอย่างเอิกเกริก

ไม่ว่าจะเป็นภาพ The Creation of Adam ที่พระเจ้ายื่นมือมากดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อใส่มืออดัมแทนการสัมผัสนิ้ว ภาพวาดลายเส้น Praying Hands (1508) ของ Albrecht Dürer ศิลปินเอกชาวเยอรมันแห่งยุคเรอเนซองซ์ ที่เป็นภาพมือกำลังฟอกสบู่ แทนการประนมมือสวดภาวนา หรือภาพวาด The Scream (1893) ของศิลปินเอกแห่งยุคโมเดิร์น Edvard Munch ที่ถูกนำมาดัดแปรให้กลายเป็นภาพของคนที่กำลังกักตุนข้าวของด้วยความตื่นตระหนกจากโรคระบาด

The Creation of Adam (1511)

Praying Hands (1508) / instagram.com/shusaku1977

The Scream (1893)

อีกหนึ่งมีมที่โด่งดังในช่วงนี้คือผลงานของศิลปินร่วมสมัยชาวสเปน José Manuel Ballester ชุด Espacios Ocultos หรือ Hidden Spaces ที่ใช้โปรแกรมดิจิทัลลบตัวละครในภาพวาดชิ้นเอกของศิลปินเอกของโลกออกไปอย่างแนบเนียนจนเหลือแต่ฉากหลังและสภาพแวดล้อมอันว่างเปล่า เข้ากับสถานการโควิด-19 อย่างพอเหมาะพอเจาะ หลายคนคิดว่าเป็นงานที่สร้างขึ้นในช่วงนี้ ทั้งที่จริง Ballester สร้างงานชุดนี้ไว้ก่อนที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะแพร่กระจายเสียอีก

Ballester ตีความภาพวาดคลาสสิกเหล่านี้ใหม่ด้วยการเปิดเผยฉากหลังและพื้นที่ในภาพวาดที่เคยถูกซุกซ่อน เปิดโอกาสให้ผู้ชมประเมินความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในภาพวาดกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวพวกเขาด้วยมุมมองใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน ผลงานของเขาก็มีคุณสมบัติอันเหมาะเจาะในการเป็นมีมได้อย่างสมบูรณ์แบบจนกระจายเป็นวงกว้างอย่างที่เราเห็น

Jan Vermeer’s “The Allegory of Painting” (1668) / José Manuel Ballester

Pablo Picasso’s “Guernica” (1937) / José Manuel Ballester

ผลงานของศิลปินผู้ถ่ายทอดความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของชีวิตในสังคมเมืองสมัยใหม่ได้โดดเด่นเป็นเอกอย่าง Edward Hopper ก็ถูกนำมาทำเป็นมีมที่แสดงถึงความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาในช่วงกักตัวจากวิกฤตโควิด-19 กันอย่างแพร่หลาย บางมีมถึงกับกล่าวว่า ตอนนี้เหมือนพวกเรากำลังอยู่ในภาพวาดของเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ ยังไงยังงั้นเลยทีเดียว

Nighthawks (1942)

 

ก่อนจะเป็นมีม

อันที่จริง ก่อนยุคของมีม การประกอบภาพวาดเข้ากับถ้อยคำนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดในหนังสือวิจิตร (illuminated manuscript) จากยุคโบราณหรือยุคกลาง หรือพรมปักแขวนผนัง Bayeux Tapestry จากยุคกลางของฝรั่งเศส ซึ่งภาพเหล่านี้เองก็ถูกนำมาทำเป็นมีมในอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันด้วย

ในช่วงยุค 70s ก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะแพร่หลายและก่อนที่คำว่ามีมจะถือกำเนิดขึ้น บุคคลแรกๆ ที่หยิบเอาภาพวาดยุคโบราณมาทำเป็นภาพล้อเลียนคือ Terry Gilliam ศิลปิน ผู้กำกับ และนักแสดงแห่งคณะตลก Monty Python’s Flying Circus จากอังกฤษ ที่หยิบเอาภาพวาดของศิลปินในยุคเรอเนซองซ์อย่าง Bronzino มาตัดแปะรวมกับภาพถ่ายและภาพจากนิตยสารเก่าๆ และพัฒนาเป็นผลงานการ์ตูนและแอนิเมชั่นสั้นๆ อันน่าขบขัน พิลึกพิลั่น และแปลกประหลาด ใส่ในไตเติลรายการของคณะที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ BBC จนได้รับความนิยมอย่างมากในยุคสมัยนั้น 

 

ในช่วงยุค 2000s ผลงานศิลปะสำคัญๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกต่างก็ถูกหยิบฉวยมาใส่ถ้อยคำและดัดแปรให้กลายเป็นภาพล้อเลียนและถูกส่งต่อในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นผลงาน The Creation of Adam (1511) ภาพวาดพระผู้เป็นเจ้าประทานชีวิตให้แก่ ‘อดัม’ มนุษย์คนแรก หนึ่งในภาพจิตรกรรมปูนเปียก (Fresco) ของ Michelangelo บนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) อันล้ำค่า

อีกภาพที่ปรากฏให้เห็นเป็นมีมอยู่บ่อยๆ คือผลงานชิ้นเอกของ Leonardo da Vinci อย่าง The Last Supper (1495-1497) ภาพจิตรกรรมฝาผนังปูนแห้ง (Fresco-secco) รูปพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูคริสต์ท่ามกลางอัครสาวกทั้งสิบสองก่อนที่จะทรงถูกนำตัวไปตรึงกางเขน และภาพวาดสีน้ำมันรูปสุภาพสตรีผู้มีรอยยิ้มอันงดงามน่าพิศวงอย่าง Mona Lisa (1503-1505) 

The Creation of Adam (1511)

ภาพก๊อปปี้ของ Leonardo da Vinci’s The Last Supper โดยลูกศิษย์ผู้ทำงานในสตูดิโอของดา วินชี (1515-20)

Mona Lisa (1503-1505)

 

หรือจะเป็นผลงานชิ้นสำคัญของ Raphael อย่าง The School of Athens (1509-1511) ภาพจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียกของเหล่านักปรัชญาในสำนักแห่งเอเธนส์ก็ถูกนำมาล้อไม่แพ้กัน รวมไปถึงผลงานชิ้นเอกของศิลปินในยุคบาโร้กอย่าง Caravaggio อย่างภาพ Judith Beheading Holofernes (1598) ที่เป็นเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลของ จูดิท วีรสตรีชาวยิวที่ลอบเข้าไปตัดหัวโฮโลเฟอร์เนส แม่ทัพชาวบาบิโลนถึงที่นอน 

เว็บไซต์และโซเชียลมีเดียในโลกออนไลน์ต่างๆ นับเป็นพาหะชั้นดีในการแพร่กระจายมีมเหล่านี้ให้ระบาดในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์อย่าง GIPHY, Reddit, Imgur, 9GAG, Tumblr เพจเฟซบุ๊กอย่าง Classical Art Memes ที่เน้นการทำมีมจากศิลปะในยุคคลาสสิกโบราณมีผู้ติดตามถึง 5 ล้านราย ส่วนแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ Medieval Reactions ที่หยิบเอาภาพวาดจากยุคกลางมาทำเป็นมีมก็มีจำนวนผู้ติดตามมากกว่า 40,000 คน

The School of Athens (1509-1511)

Judith Beheading Holofernes (1598)

 

มีมนั้นสำคัญไฉน

นอกจากสร้างความสนุกสนานเฮฮาและผ่อนคลายความเครียดแล้ว มีมยังทำหน้าที่เป็นตัวสะท้อน วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ในสังคมในเชิงเสียดสีประชดประชันอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นในปี 2012 สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน หรือ CCTV ทำการปิดอวัยวะพึงสงวนของประติมากรรม David (1501-1504) ของไมเคิลแองเจโลระหว่างรายงานข่าวจากนโยบายเซนเซอร์อันเข้มงวดในสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ของทางการจีน ทำให้เหล่าชาวเน็ตของจีนตอบสนองด้วยมีมที่หยิบเอาภาพประติมากรรมเดวิดและศิลปะภาพเปลือยในยุคคลาสสิกและเรอเนซองซ์มาใส่เสื้อผ้ากันอย่างเก๋ไก๋

 

แต่มีมไม่ได้ทำได้เพียงแค่นั้น เพราะในแง่ของการหยิบภาพวาดคลาสสิกมาทำเป็นมีม วัฒนธรรมนี้ยังช่วยเผยแพร่ศิลปะที่ดูเข้าถึงยาก ไปสู่หน้าจอของทุกคนแบบไม่แบ่งชนชั้น

ตามปกติ ผลงานศิลปะที่อยู่ในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์อาจทำให้เหล่าคนรักศิลปะดื่มด่ำกำซาบในดวงหฤทัย แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่คอศิลปะก็อาจไม่ได้อินไปด้วยสักเท่าไหร่ แต่นับว่าโชคดีที่มีมทำให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น เหล่าบรรดาพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่างๆ เองก็ปรับตัวให้เข้ากับโลกออนไลน์ด้วยการอนุญาตให้ผู้ชมถ่ายภาพผลงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ เพื่อนำไปเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย หรือจะทำเป็นมีมตลกๆ ที่เข้ากับกระแสและสถานการณ์ในสังคมก็ได้

สิ่งเหล่านี้ทำให้ศิลปะที่ปกติเคยเป็นของสูงส่งเลอค่าจนคนทั่วไปเอื้อมไม่ถึงกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย จับต้องได้ และเชื่อมโยงกับคนธรรมดาสามัญอย่างเราๆ ท่านๆ ถึงแม้ศิลปินชั้นครูยุคโบราณและยุคสมัยใหม่ผู้ล่วงลับทั้งหลายอาจจะไม่ได้เผื่อใจเอาไว้ว่าผลงานของพวกเขาจะถูกเอามาทำให้กลายเป็นมุกตลกแบบนี้ก็ตามที

 

อ้างอิง

en.wikipedia.org

knowyourmeme.com

thisiscolossal.com

AUTHOR