Give.me.museums หรือ ออย–คนธรัตน์ เตชะไตรศร คือศิลปินแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ผู้เป็นเจ้าของภาพวาดดอกไม้ ทุ่งหญ้า และป่าเขาสีสันสดใสที่ได้เห็นเมื่อไหร่ก็สบายใจเมื่อนั้น
ก่อนโด่งดังจนใครๆ ก็รู้จักชื่อ Give.me.museums เมื่อ 2 ปีก่อนหน้า ออยเริ่มต้นแบรนด์ Give.me.museums เพราะอยากพักกายและใจอันแสนเหนื่อยล้าจากการทำงานด้านครีเอทีฟ ขยับไปไกลกว่านั้นประมาณ 4 ปี เธอคือนิสิตสาขานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังสนุกกับโลกศิลปะใบใหม่และเรื่องราวประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เปลี่ยนมุมมองศิลปะของเธอตลอดกาล
แต่หากย้อนกลับไปถึงช่วงชีวิตวัยเด็ก เธอคือเด็กหญิงคนธรัตน์ เจ้าของผลงานศิลปะตามเวทีประกวดต่างๆ ผู้เติบโตมากับการทดลองทำงานศิลปะหลากประเภท หลายวิธี บนกำแพงบ้านที่พ่อแม่เปิดโอกาสให้ละเลงฝันโดยไม่ดุด่าสักคำ
ไม่นานมานี้ ออยมีโอกาสจัดนิทรรศการ Blooming Home ที่ The Jam Factory นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่รวบรวมผลงานศิลปะของเธอตั้งแต่วัยอนุบาลจนปัจจุบัน เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้รู้จักเธอยิ่งขึ้นว่ากว่าจะเป็น Give.me.museums ในวันนี้ เธอต้องฝึกฝนและทดลองมากขนาดไหน นอกจากนั้นออยยังอยากส่งต่อแนวคิดเบื้องหลังภาพสีสันสดใสที่ไม่เพียงมองแล้วสบายใจ แต่คือการเรียกร้องพื้นที่ศิลปะให้คนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
จึงเป็นเหตุผลให้เรามาพบเธอในวันนี้ กลางเวิ้ง The Jam Factory เพื่อสนทนาถึงเส้นทางการสร้างงานศิลป์ของเด็กหญิงออยผู้เชื่อว่าทุกอย่างคือการฝึกฝน ทดลอง และสนุกไปกับมัน
แคนวาสใบแรกคือกำแพงบ้าน
หลายคนคงเป็นแบบเราที่ยามเด็กคิดอยากเป็นนักจิตรกรน้อย หยิบจับสีไม้ สีเทียน ละเลงเป็นลวดลายต่างๆ บนกำแพงบ้านจนพ่อแม่ต้องดุทุกครั้ง
กลับกันกับเด็กหญิงออยตรงหน้าเราคนนี้ เธอเติบโตมาในบ้านที่คุณพ่อชอบวาดรูปเป็นงานอดิเรกและบางครั้งก็หยิบเก้าอี้ในบ้านมาทาสีเขียว อีกทั้งเรียนรู้อิสระจากคุณแม่ผู้ไม่ห้ามวาดกำแพงบ้านแต่ซื้อสีมาให้วาดต่อไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้นิสัยชอบวาดกำแพงและของใช้ในบ้านของเธอยังคงอยู่ การันตีด้วยประตูบ้านและกำแพงห้องต่างๆ ที่เธอเพนต์
“ตอนจัดนิทรรศการ Blooming Home แม่บอกคิวเรเตอร์ว่าลูกฉันวาดรูปอย่างเดียว จน ป.2 แล้วก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งเราก็เพิ่งรู้เหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะเขาเห็นว่าเราชอบศิลปะมากๆ มั้ง เขาเลยสนับสนุนเราด้วยการไม่ห้ามวาดกำแพง”
สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้ออยสนุกกับการทำงานศิลปะตั้งแต่เด็กโดยที่เธอไม่ได้เรียนพิเศษด้านนี้เลย อาศัยเพียงการฝึกฝนด้วยตัวเองและฝึกกับคุณครูที่โรงเรียนเมื่อได้ไปประกวดศิลปะในเวทีต่างๆ เธอได้ทดลองใช้สีหลายแบบ ลองวาดรูปการ์ตูนด้วยลายเส้นและสีสดใสที่ได้รับอิทธิพลจากหนังสือนิทานเด็กของ Jacqueline Wilson และ Cartoon Network ที่เธอโปรดปราน วาดวิวทิวทัศน์จากประสบการณ์ยามไปเที่ยวกับครอบครัว และหันมาวาดภาพตึกในช่วงที่กำลังเข้ามหาวิทยาลัย
ออยวาดรูปเรื่อยมากระทั่งเข้าเรียนในสาขานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่ากราฟิกดีไซน์ ซึ่งเธอบอกว่าได้เปลี่ยนโลกศิลปะของเธอไปตลอดกาล
ศิลปะที่ไม่ใช่ภาพเหมือน แต่คือเรื่องราว
“พอเราเรียนกราฟิกก็แทบไม่ได้วาดรูปเลย เพราะได้เรียนรู้ศาสตร์ใหม่ที่เราก็สนใจเหมือนกัน ทั้งไทโปกราฟี โฆษณา แอนิเมชั่น ถ่ายภาพ ถ้าจะได้วาดรูปจริงๆ ก็ช่วงที่เรียนวาดภาพกับอาจารย์จาก Birmingham School of Art หนึ่งเทอมซึ่งเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อศิลปะไปเลย
“เขาให้เราจับคู่กับเพื่อนแล้วให้เราวาดเพื่อนโดยไม่มองภาพ 1 นาที แล้วสลับมามองแต่ภาพโดยไม่มองเพื่อนเลย 1 นาที บางครั้งก็พาไปวาดรูปนอกสถานที่โดยให้เวลาแค่ 2-3 นาที มันทำให้เรามองศิลปะเปลี่ยนไปว่าที่จริงแล้วเสน่ห์ของภาพไม่ใช่การวาดให้เหมือนเป๊ะๆ แต่มันคือเรื่องราวที่อยู่ในนั้น”
นอกจากศาสตร์แห่งศิลป์ใหม่ๆ จะทำให้มุมมองทางศิลปะของออยกว้างขึ้น ในช่วงนี้เธอยังได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะจนได้รู้จักกับศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ที่ยิ่งตอกย้ำว่าศิลปะที่ดีไม่จำเป็นต้องเหมือนของจริงหรือสูงส่งเสมอไป
“ศิลปะยุคก่อนอิมเพรสชั่นนิสม์ต้องเนี้ยบ ต้องพูดถึงเรื่องราวสูงส่ง แต่ศิลปินในยุคอิมเพรสชั่นนิสม์กลับมองว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องจับต้องยากขนาดนั้น จึงเริ่มบุกเบิกการวาดเรื่องส่วนตัวอย่างสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวันมากขึ้น”
ศิลปินที่ส่งผลต่อแนวคิดของออยมากๆ มี 3 คน คนแรกคือ Claude Monet ผู้มองว่าศิลปะไม่ควรถูกจำกัดแค่การวาดภาพเทพกรีก-โรมัน และไม่จำเป็นต้องเหมือนจริงเสมอไป คนที่สองคือ Vincent van Gogh ผู้มองศิลปะกว้างขึ้นจากโมเนต์ด้วยความคิดที่ว่าศิลปินสามารถใส่ความเป็นตัวเองลงไปในงานได้ ทั้งสองคนเป็นศิลปินแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ ยกเว้นคนสุดท้ายที่เป็นศิลปินแนว Cubism อย่าง Pablo Picasso ที่ออยนิยามว่าคือ Steve Jobs แห่งวงการศิลปะ เพราะแนวคิด Cubism ของเขาสั่นสะเทือนวงการศิลปะยิ่งกว่าศิลปินสองคนแรก
แม้มุมมองศิลปะจะกว้างขึ้น แต่ออยแทบไม่ได้นำแนวคิดเหล่านั้นมาปรับใช้กับภาพวาดเลย กระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัยและได้เข้าทำงานด้านครีเอทีฟซึ่งทำให้เธอรู้สึกเหนื่อยล้าและว่างเปล่า เธอจึงกลับมาวาดรูปอีกครั้งเพื่อตามหาเด็กหญิงออยยามเด็กที่เคยสดใสคนนั้น
give.me.museums คือตัวตนที่หล่นหาย
“เราทำงานด้านครีเอทีฟเพราะตอนฝึกงานเราก็ชอบมากๆ พอมีบริษัทเรียกไปทำเลยตอบรับและทำงานที่นั่น กระทั่งหนึ่งปีผ่านไปเราเริ่มรู้สึกว่าเราคิดเยอะไปมากๆ จนตัวตนของเราที่เคยเป็นมาตลอดอย่างการแต่งตัวสีสันสดใสหรือการวาดภาพมันหายไป กลายเป็นออยที่แต่งตัวเท่มาก เป็นชาวเอเจนซีใส่ชุดขาว-ดำเพราะเหนื่อยจากการออกกองจนขี้เกียจคิดว่าจะแต่งตัวยังไง
“ช่วงที่งานเบาลงเราเลยคิดว่าที่ผ่านมามันไม่ค่อยเป็นตัวเองเท่าไหร่ เราเลยพยายามกลับไปเป็นออยคนเดิมด้วยการใช้ของที่มีสีสันมากขึ้น และกลับมาวาดรูปหลังจากที่ไม่ได้วาดตั้งแต่มหาวิทยาลัย จนเราเริ่มกลับมาเป็นตัวเองและใจเย็นลง”
ภาพแรกๆ ที่เธอวาดคือ museum set ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือชีวประวัติแวน โกะห์ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของ Give.me.museums ตั้งแต่ตอนนั้น
“เราเอารูป museum set มาทำเป็นสติ๊กเกอร์ใช้เอง แต่มันต้องทำสิบกว่าแผ่นซึ่งเราใช้ไม่หมดเลยไปฝากขายที่ happening shop ที่ BACC แล้วตอนนั้นทิ้งคอนแทกต์ไว้คนเลยติดต่อมาว่ามีงานอื่นๆ อีกไหม เราเลยตัดสินใจทำแบรนด์ Give.me.museums ขึ้นมา”
หลังจากทำแบรนด์ไปได้ประมาณหนึ่งปีควบคู่กับการทำงานครีเอทีฟ ออยไม่สามารถแบ่งเวลามาทำงานทั้งสองได้เต็มที่ เธอจึงตัดสินใจลาออกแล้วหันมาทำ Give.me.museums โดยไม่ลังเล
“เราเลือกทำแบรนด์ตัวเองเพราะไม่ได้อยากเร่งรีบขนาดนั้นตลอดชีวิต ที่บ้านก็ซัพพอร์ต พี่ๆ ที่ออฟฟิศก็โอเค เพราะเขารับรู้มาตลอดว่าเราทำสิ่งนี้ ตอนที่ออกมารายได้ก็ดีประมาณหนึ่ง เราเลยไม่รู้สึกกังวลมาก”
แปะๆ ป้ายๆ แปลงอารมณ์ดีเป็นศิลปะ
หลังลาออกครั้งนั้น ออยได้กลับมาวาดรูปอย่างจริงจัง จากแค่ทำงานศิลปะชิ้นเล็กๆ อย่างสติ๊กเกอร์ พวงกุญแจ เธอหันกลับมาวาดภาพขนาดใหญ่อีกครั้งในนิทรรศการ Glowfish Creators’ Lab ที่ชักชวนศิลปิน 15 คนมาเนรมิตห้องในออฟฟิศ Glowfish ให้เป็นพื้นที่ทำงานของตัวเอง
“เราอยากให้งานนี้เป็นจุดเปลี่ยนของแบรนด์ จากตอนแรกที่ทำงานครีเอทีฟอยู่เลยไม่มีเวลาทำงานชิ้นใหญ่ๆ พอมีเวลาเลยได้วาดภาพขนาดใหญ่มากขึ้น คนเลยได้เห็นฝีแปรงของเราที่จริงๆ ทำมานานแล้วแต่มันไม่ชัดเจนเพราะก่อนหน้านี้ทำแต่งานชิ้นเล็ก”
ออยจึงดึงความชอบในการท่องเที่ยวตั้งแต่เด็ก สีสันสดใสจากหนังสือและการ์ตูนต่างๆ ความเป็นอิมเพรสชั่นนิสม์ที่ได้เรียนรู้ช่วงมหาวิทยาลัย และฝีแปรงชนิดที่เราเรียกว่า ‘แปะๆ ป้ายๆ’ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้มาตั้งแต่เด็กมาประมวลเป็นภาพที่เธอไม่เคยเปิดเผยที่ไหน
“เรามักวาดภาพวิวทิวทัศน์และดอกไม้ อาจเพราะที่บ้านชอบพาไปเที่ยวตั้งแต่เด็กๆ แต่เราไม่ได้เปิดภาพในโทรศัพท์แล้ววาดตามต้นฉบับเป๊ะๆ แต่เอาความรู้สึก ณ ตอนที่อยู่สถานที่และเหตุการณ์ต่างๆ มารวมกันแล้วใส่จินตนาการของตัวเองลงไป ซึ่งคล้ายกับแนวคิดของแวน โกะห์ ที่ใส่สัญญะที่สื่อถึงตัวเองลงไปในงาน”
อย่างภาพ dancing flower ออยหยิบจับท้องฟ้าหน้าหนาวริมทะเลภูเก็ตมาเป็นฉากสำคัญ แล้วจึงแต่งแต้มดอกไม้ที่อยู่แถวๆ นั้นและดอกไม้ในจินตนาการที่คิดว่าสวยลงไป นอกจากนั้น เมื่อมีเวลาว่างมากขึ้นออยยังได้ทดลองใช้สีใหม่ๆ อย่างสีอะคริลิก สีน้ำมัน สีชอล์ก จนทำให้ในงานชิ้นหนึ่งๆ ของเธอเต็มไปด้วยสีหลายประเภท
“ภาพทั้งหมดที่เกิดขึ้นต้องเริ่มจากเราว่างและอารมณ์ดีชนิดที่นึกอยากวาดอะไรก็วาด เพราะเราอยากให้คนดูเห็นภาพเราแล้วเหมือนได้พัก เราเคยวาดภาพตอนเครียดๆ แล้วภาพค่อนข้างหม่น อย่างภาพ flower field เป็นภาพขนาดใหญ่ภาพแรกที่เราวาดแต่กลับเป็นภาพท้ายๆ ที่วาดเสร็จ เพราะตอนแรกเรายังปรับตัวไม่ค่อยได้ที่ออกจากงานเลยเครียดนิดหน่อย แต่พออารมณ์ดีขึ้นก็กลับมาวาดรูปนี้จนเสร็จ”
Blooming Home บ้านที่ศิลปะแย้มบานและเข้าถึงง่าย
หลังคนเริ่มรู้จัก Give.me.museums มากขึ้นในนิทรรศการ Glowfish Creators’ Lab ออยเริ่มได้ร่วมงานกับแบรนด์ไทยหลากหลายแบรนด์ กระทั่งได้จัดงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในชีวิตอย่าง Bloomig Home ที่ The Jam Factory แห่งนี้
“นี่คือนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเรา เราเลยอยากแนะนำตัวเองให้ทุกคนรู้จักและอยากให้เห็นว่าเราไม่ได้หาตัวเองได้ไวขนาดนั้น เรานำเสนอลายเส้นหลากหลาย งานที่ดีบ้าง แย่บ้าง เพื่อให้ทุกคนเห็นว่ามันเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ชีวิต และงานของเราไม่ได้เพอร์เฟกต์ แต่มันคือการฝึกฝน”
ภายในบ้านขนาดย่อมนาม Blooming Home แห่งนี้จึงเป็นไดอารีในรูปแบบภาพวาดตลอดชีวิตของเธอ เริ่มจากการ์ตูนลายเส้นเด็กๆ สมัยยังกระเตาะกระแตะที่พ่อแม่เก็บไว้ให้จนปัจจุบัน ไล่เรื่อยมาจนถึงภาพวาดขนาดใหญ่ในนาม Give.me.museums ในวันนี้
“ในงานจะมีภาพครอบครัวเยอะมากและมีกำแพงด้านหนึ่งที่เขียนว่า ‘Every Child Is An Artist กำแพงนี้วาดได้เล้ยไม่โดนดุ!’ เพราะเราอยากให้เครดิตครอบครัวที่ไม่ห้ามวาดกำแพงแต่กลับซื้อสีมาให้วาดต่อซึ่งมันสำคัญมากๆ เพราะถ้าเรากลัวการวาดรูปตั้งแต่เด็กหรือมีความทรงจำไม่ดีกับการวาดรูปเราคงไม่ได้วาดรูปถึงวันนี้”
และด้วยแนวคิดที่เธอมีแต่เดิมว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องสูงส่งและจับต้องยาก ออยจึงเพนต์งานของเธอลงบนเก้าอี้ โซฟา และข้าวของเครื่องใช้เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายๆ และให้บรรยากาศเป็นกันเอง
“ยิ่งเราทำงานศิลปะของตัวเอง เรายิ่งเห็นว่าศิลปะมันสะท้อนความเหลื่อมล้ำในไทยชัดเจนมาก แค่การเข้าถึงศิลปะอย่างการมาดูงานที่นี่ก็ไม่ง่ายแล้ว เราจึงคิดว่าศิลปะกับการเมืองสัมพันธ์กันร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าคนมีพื้นฐานชีวิตดี กินอิ่ม นอนหลับ เขาจะมีเวลาทำสิ่งที่สนใจมากขึ้น ซึ่งศิลปะคือหนึ่งในนั้น
“พื้นที่ศิลปะและการทำให้ศิลปะไม่สูงส่งจนเกินไปก็สำคัญ เราว่าผู้ใหญ่ในวงการศิลปะยังไม่อยากให้ศิลปะแมส แต่ยังอยากให้มันเป็นสิ่งที่สูงส่งอยู่ ทั้งที่จริงแล้วยิ่งเราทำให้ศิลปะจับต้องได้และดูเป็นเรื่องธรรมดามากเท่าไหร่ คนจะยิ่งใช้ชีวิตกับศิลปะมากขึ้นจนอาจไม่ได้เห็นว่ามันเป็นเรื่องพิเศษเพราะมันเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราอยากทำงานออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ และเพนต์งานลงบนของใช้เพื่อให้คนเข้าถึงศิลปะง่ายขึ้น
“ตอนเริ่มทำแบรนด์นี้เราตีความประโยคที่ว่า ‘Give me a museum and I’ll fill it.’ ของปิกัสโซที่เราชอบมากๆ ว่ามันคือการเรียกร้องมิวเซียมจากคนอื่นๆ ให้เราได้แสดงผลงาน แต่ตอนนี้เราตีความประโยคนี้ต่างออกไป คือมองว่าเรากำลังเรียกร้องการกระจายความรู้และพื้นที่ศิลปะในประเทศไทยเพื่อทำให้ศิลปะในไทยเติบโตกว่านี้”
นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ออยเลือกบิดประโยคคลาสสิกของศิลปินคนโปรด จากมิวเซียมแห่งหนึ่งเป็นมิวเซียมหลายๆ แห่ง ดังที่เขียนไว้ในโปรไฟล์อินสตาแกรมของเธอ
‘Give me museums, I’ll fill ’em.’