หากนึกถึงคำว่า ‘ศิลปะ’ หลายคนคงนึกถึงกระดาษแผ่นบางหรือแคนวาสผืนใหญ่ที่แต้มแต่งด้วยสีหลากประเภท นึกถึงประติมากรรมน้อย-ใหญ่ที่ตั้งโชว์ตามหอศิลป์ในสถานที่ต่างๆ หรือบ้างก็นึกถึงภาพถ่ายจากช่างภาพฝีมือฉมังที่ชวนตั้งคำถามถึงสังคมปัจจุบัน
แต่น้อยคนนักหรือแทบไม่มีใครเลยที่จะนึกถึง interactive installation นิทรรศการศิลปะที่หากไร้ผู้คนร่วมปฏิสัมพันธ์ ความหมายและสารที่ศิลปินต้องการสื่อก็อาจไม่สมบูรณ์
วิทยา จันมา คือศิลปินผู้สนใจการสร้างงานศิลปะแบบชักชวนผู้คนมามีส่วนร่วมตั้งแต่สมัยเรียนอยู่สาขาวิชาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม้สมัยนั้นงานประเภทนี้จะยังไม่ได้รับความนิยม ทั้งยังถูกตั้งคำถามถึงคุณค่าที่แท้จริง จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเต็มที่ แต่เขายังคงมีความสุขในการสร้างงานและเห็นผู้คนเข้ามาหัวเราะ สงสัย และตั้งคำถามที่มีเพียงผู้ชมจะเป็นคนตอบเท่านั้นอยู่ร่ำไป
จากงานศิลปะที่ผสานเข้ากับวิดีโออาร์ตสมัยเรียน สู่งานที่ได้รับรางวัลจากประเทศญี่ปุ่น และปัจจุบันวิทยายังคงสร้างงานประเภท interactive installation โดยนำสิ่งเล็กๆ รอบตัวอย่างศิลปวัฒนธรรมไทยมาผนวกเป็นงานที่ชื่อว่า Cycle Lantern ที่เขานำโคมผัดล้านนาฉลุลายตัวเปิ้งหรือ 12 นักษัตรมาทำให้มีชีวิตอีกครั้ง ด้วยการจำลองโคมผัดให้ใหญ่ขึ้น นำเทคนิคภาพติดตามาผสม ให้คนได้หลงเข้าไปในวัฏจักรชีวิตชาวล้านนา
อุดมการณ์ที่เขายึดมั่นเสมอมาเป็นเช่นไร การผสานเทคโนโลยีเข้ากับศิลปะที่เขาสนใจคืออะไร และความหมายของนิทรรศการล่าสุด อย่าง Cycle Lantern ของเขาคืออะไร
เตรียมร่างกายของคุณให้พร้อม แล้วไปร่วมตั้งคำถามกับงานของวิทยากัน
นักผสานศาสตร์
หากใครเป็นแฟนคลับวิทยา จะสังเกตได้ว่าไม่มีงานใดที่เขาจะนำเสนอโดยปราศจากการผสานเทคโนโลยีเข้ากับศิลปะ จนเราสนใจว่าความคลั่งไคล้การผสมงานข้ามศาสตร์ของเขาเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่
“เราสนใจเรื่องอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่เด็กเพราะพ่อเป็นทหารช่าง เราเห็นพ่อซ่อมรถ ซ่อมสิ่งต่างๆ จนเราสามารถต่อวงจรไฟฟ้าเบื้องต้นได้ แต่เราก็ชอบศิลปะด้วย ตอนนั้นไม่คิดว่าสองเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกันได้ เลยตัดสินใจเรียนด้านศิลปะ
“เราชอบเห็นสื่อและศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันมารวมกัน พอคณะเปิดโอกาสให้ทำงานในรูปแบบอื่นๆ เราเลยเปลี่ยนแคนวาสให้เป็นผนังแล้วเพนต์มันด้วยแสง เริ่มต้นชิ้นงานจากการนำวิดีโอมานำเสนองานศิลปะ” วิทยาเริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงวันวานของการผสานหลากศาสตร์ จนกระทั่งได้ชมงานจากต่างประเทศชิ้นหนึ่งที่นำสิ่งของต่างๆ มานำเสนอแทนภาพเพนต์ ทำให้เขามั่นใจว่าเส้นทางชีวิตของตนเองจะเป็นเช่นไร
“เทคโนโลยีมีเพื่ออำนวยความสะดวกให้มนุษย์เข้าถึงสิ่งต่างๆ มากขึ้น ถ้าเราเอามาสื่อสารด้านศิลปะก็น่าจะทำให้คนเข้าถึงงานศิลปะได้ง่ายกว่า” เขายกตัวอย่างงาน Death Data ที่นำข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศไทยแบบเรียลไทม์มานำเสนอผ่านการจุดไม้ขีดเมื่อมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นหนึ่งราย
“จากที่เห็นแค่ตัวเลขแล้วรู้สึกเฉยๆ หรือตายด้านด้วยซ้ำ แต่พอเอาข้อมูลนั้นมาจุดไฟมันสัมผัสถึงผลกระทบและความรุนแรงได้ทันที เห็นเลยว่าไม้ขีด 10 ก้านถูกจุดขึ้นจากจำนวนผู้เสียชีวิต 10 ราย เราเลยคิดว่าถ้าเอาเทคโนโลยีมาใช้ในทางอื่นนอกเหนือจากหน้าที่ของมันก็น่าสนใจมาก
“แต่ใช่ว่าเราจะใช้เทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุด เราใช้สิ่งที่เหมาะสมที่สุดและควบคุมมันได้ เพราะเราอยากดึงคนเข้ามาหางาน ไม่ได้อยากผลักคนออกไป ทุกอย่างต้องมีควาพอดีและเป็นสิ่งที่เราอยากทำด้วย เพราะถ้าเราทำในสิ่งที่รัก เราเชื่อว่ามันจะออกมาดี”
นักทลายกำแพง
นอกจากวิทยาจะขึ้นชื่อเรื่องการนำเทคโนโลยีมาผสานกับศิลปะจนเกิดผลงานที่น่าสนใจมากมาย เขายังขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปินที่ชักชวนให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างผลงานและความหมายของงานอย่าง interactive installation
“ตั้งแต่ตอนเรียน เราตั้งคำถามกับงานศิลปะที่มีคุณค่าสูงส่งที่บอกว่าห้ามแตะ ห้ามจับ ว่ามันเป็นกำแพงที่ทำให้คนเข้าหางานได้ยากหรือเปล่า เพราะผู้ชมจะไม่สามารถตอบโต้อะไรกับเราได้เลย อย่างนั้นจะสื่อสารกับเขาได้ยังไง
“เราจึงอยากหาทางสื่อสารในแบบของตัวเอง นั่นคือการดึงผู้คนเข้ามาหางาน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยเขาทุกอย่าง เรามีพื้นที่ให้เขาได้คิดต่อว่าเกิดอะไรขึ้น ให้โต้ตอบกับสิ่งที่เราพยายามบอก เห็นได้เลยว่าเขาชอบหรือไม่ชอบ งานดีหรือไม่ดี มันหลอกกันไม่ได้”
นั่นหมายความว่างานชิ้นหนึ่งจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานใช่ไหม–เราสงสัย
“ใช่ มันจะสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่มีคนเข้าไป กระบวนการนี้ทำให้สารของงานแตกต่างกันตามการตีความ แต่อย่างน้อยจะมีกรอบอยู่ อย่างงาน Into the Wind ครั้งที่แล้ว ตอนแรกคนอาจไม่เข้าใจว่าคืออะไร แต่เมื่อเห็นไปเรื่อยๆ จะเริ่มตั้งคำถามว่าฟอร์มของฟองสบู่เกิดจากอะไร ก็เกิดจากสิ่งที่เขาเป่าเข้าไปจนกลายเป็นประติมากรรมชั่วขณะจากลมหายใจของเขา ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องคิดแบบนี้ แต่อย่างน้อยเขาจะได้เห็นว่าเกิดขึ้นยังไงหรือเกิดอะไรขึ้น ได้เห็นว่าสิ่งรอบตัวเขาน่าสนใจ ซึ่งขึ้นกับมุมมองของเขาเอง”
มีชอบย่อมมีไม่ชอบ กลับกันกับที่วิทยาตั้งคำถามต่องานศิลปะอันสูงส่ง เขาก็ถูกตั้งคำถามจากเพื่อนร่วมวงการและครูอาจารย์ตั้งแต่สมัยเรียนเช่นกันว่างานของเขาเรียกว่า ‘ศิลปะ’ ได้มากน้อยแค่ไหน
“ผลงานที่นำเสนอด้วยวิดีโอตอนปี 4 ของเราถูกตั้งคำถามว่าการดึงคนเข้ามาเล่นกับงานต่างจากเกมหรือวิดีโอเกมยังไง แล้วสิ่งนี้ถือว่าเป็นศิลปะหรือเปล่า ตอนนั้นคำตอบของเราง่ายมากเพราะถ้าเราเล่นเกม เราจะสวมบทบาทเป็นตัวละครอื่น แต่ผู้เล่นในงานศิลปะจะเป็นตัวเองเสมอ เพียงเข้ามาในพื้นที่จำลองการสื่อสารและความรู้สึกที่เรากำหนดเพื่อให้เกิดการโต้ตอบกันระหว่างผลงานกับตัวเขา”
ปัจจุบันงานแบบ interactive installation เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แต่สำหรับเขางานประเภทนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มภาคภูมิในวงการศิลปะไทย
“สิ่งที่ทำให้เรายืนยันจะทำสิ่งเหล่านี้ต่อในตอนนั้น คือเราเชื่อว่าวันหนึ่งสื่อข้ามศาสตร์จะได้รับการยอมรับ ตอนนี้มันได้รับความสนใจมากขึ้นแหละแต่ยังคงมีการตั้งคำถามว่ามันคือ commercial arts หรือเปล่า หรือแม้กระทั่งการแข่งขันศิลปะในไทยก็ยังไม่มีหมวดนี้ เราเลยต้องส่งไปที่เมืองนอกแล้วกลายเป็นว่าคนต่างประเทศให้ความสนใจกับงานแบบนี้มากจนเราได้รับรางวัลจากญี่ปุ่นมา” เขาทิ้งท้ายถึงความตั้งใจในการสร้างผลงานที่ถูกตั้งคำถามเรื่อยมา
นักคร่ำครวญกับเวลาและแสง
หากนั่งพินิจความเหมือนความต่างของผลงานจากศิลปินนามวิทยา เราจะเห็นว่างานส่วนใหญ่ของเขามักเชื่อมโยงกับเวลา ชีวิต และแสง เรียกได้ว่าในแต่ละปีจะต้องมีคำคำหนึ่งที่เรากล่าวไปปรากฏในงานของเขาอยู่บ้าง
“ประเด็นที่เราสนใจที่สุดคือประเด็นเรื่องเวลา เราอ่านหนังสือมาเยอะ สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ศิลปะ เราจึงคิดว่าเวลาเป็นสิ่งที่บิดเบือนได้ในความรู้สึกของมนุษย์ เวลาชีวิตของแต่ละคนดูไม่เท่ากันทั้งที่มันก็เท่ากัน เวลายังมีผลต่อความสุข ถ้าเรามีความสุขเวลาจะโคตรสั้นเลย แต่ถ้าเราเบื่อเวลามันจะยืดขยายออกไป” วิทยายกตัวอย่างความสนใจเรื่องเวลาด้วยงาน Time เมื่อ 10 ปีที่แล้ว
เขาสนใจการรวมเวลาที่สร้างขึ้นกับเวลาที่เกิดขึ้นจริงจนได้เป็นเวลาเฉพาะ ณ สถานที่นั้น โดยสร้างแท่นสีขาวที่มีปุ่มอยู่หลายปุ่ม หากผู้ชมกดปุ่มแต่ละปุ่มและมองตรงไปที่จอด้านหน้าอาจพบตัวเองในจอภาพกำลังถูกของตกใส่หรืออาจมีกล่องสี่เหลี่ยมประหลาดล่องลอยรอบตัว ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงภาพที่เขาสร้างขึ้นในจอโลกเสมือน
“นอกจากเรื่องเวลา เราสนใจเรื่องแสงเพราะเมื่อแสงตกกระทบที่วัตถุก็อาจบิดเบือนเวลาได้ จึงนำไปสู่สิ่งที่เราสนใจต่อมานั่นคือการใช้เทคนิคภาพติดตาที่เกิดจากการนำภาพนิ่งมาต่อกัน แล้วใช้แสงความถี่หนึ่งส่องหลอกตาให้คิดว่าเป็นภาพเคลื่อนไหว เทคนิคนี้ถูกพัฒนาเพื่อทำภาพยนตร์
“สิ่งที่เราสนใจไม่ใช่การทำภาพยนตร์แต่เป็นการตั้งคำถามว่าทำไมคนถึงมองเห็นภาพเคลื่อนไหว” วิทยายังเล่าว่าความรู้เรื่องเทคนิคภาพติดตานั้นมาจากที่เขาเคยทำแอนิเมชั่น แต่ในช่วงแรกนั้นกลับไม่เคยสนใจกระบวนการดังกล่าวเลย
เขายกตัวอย่างงาน Textile Story ที่เกิดจากการเห็นลายผ้าถุงของแม่ที่น่าสนใจให้ฟัง เพียงเห็นว่าลายเหล่านั้นน่าสนใจ เขาจึงเริ่มลงพื้นที่ เฟ้นหาลายผ้าถุงจากแต่ละภาค แล้วจึงนำมาประกอบกับเทคนิคภาพติดตาจนทำให้ลายบนผ้าดูคล้ายเคลื่อนไหวได้
“ลายผ้าก็คือพิกเซลรูปที่ถักทอขึ้นจากการกำหนดลวดลายของคนโบราณ มันมีช่องไฟแบบภาพยนตร์ แต่อาจแตกต่างตรงองค์ประกอบที่อาจไม่เท่ากัน แต่สุดท้ายแล้วมันมีเรื่องราวและชีวิตซ่อนอยู่ อย่างพอเราเอาลายน้ำไหลของภาคเหนือมาทำด้วยเทคนิคนี้มันก็เหมือนน้ำไหลจริงๆ คนทอผ้าสมัยนั้นเขาคงเห็นมันไหลถึงเรียกแบบนั้น” วิทยายังเสริมอีกว่าความสนใจเทคนิคภาพติดตายังทำให้เมื่อไหร่ก็ตามที่มองลายที่มีแพตเทิร์นซ้ำๆ ก็อาจทำให้เขาเห็นสิ่งเหล่านั้นเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติ
นักสังเกต
นอกจากการหยิบจับแสงและเวลาเป็นเนื้อหาในงานของตน วิทยายังย้ำกับเราว่าสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัวเขาล้วนสำคัญไม่แพ้กัน เราจึงไม่แปลกใจที่เห็นเรื่องราวของวัฒนธรรมไทยในแก้วน้ำเป็นหนึ่งในงานของเขา ซึ่งเป็นงานที่ได้รับรางวัล The Next STEAM Special Price 2019 of YouFab Global Creative Awards 2019 จากประเทศญี่ปุ่นและ The Silver Award of the 25th ifva Awards สาขา Media Art จากประเทศฮ่องกงเสียด้วย
“เราเป็นคนชอบตั้งคำถามกับทุกสิ่งรอบตัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก เพราะทุกรายละเอียดมีคุณค่าที่เล่าได้หมดถ้าถึงเวลาที่สมควรหรืออยู่ในบริบทที่ถูกต้อง เราจึงมักได้แรงบันดาลใจจากอะไรที่ประหลาดๆ บางทีไปเดินมองของเล่นก็คิดงานออก”
วิทยาบอกขำๆ แต่ยกตัวอย่างจริงจังจากงาน Life/Time ที่เขามองเห็นเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในแก้วน้ำของวัฒนธรรมไทย ที่รูปทรงอาจต่างกันไม่มากแต่มีบริบทการใช้ที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเพื่อถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือใช้เป็นภาชนะบรรจุเครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยว เขาหยิบจับลายเหล่านั้นมาแต้มลงบนแก้วแต่ละแบบ อาศัยเทคนิคภาคติดตาที่ถนัดและใช้แสงช่วยเพิ่มอารมณ์ความรู้สึก เติมน้ำเข้าไปให้ผู้ชมที่แวะเวียนเข้ามาใช้นิ้วแตะน้ำแล้วสัมผัสขอบแก้วให้หมุน กุมารทองบนแก้วที่ใช้ถวายน้ำกลับเริ่มวิ่ง ส่วนนางกวักก็เริ่มกวักเรียกลูกค้าทันใด
“เราเห็นแก้วธรรมดาใบหนึ่งที่ทุกคนใช้กันแต่มันกลับสะท้อนเรื่องราวและวิถีชีวิตคนไทยไว้ เราก็แค่หยิบเอาแสงที่มันสะท้อนย้อนกลับไปบันทึกเป็นผลงานให้คนได้ร่วมชม
“บางคนถามว่าทำยังไงถึงจะคิดงานอย่างเราได้ เราว่าถ้าไม่ใช่ธรรมชาติของเขาแล้วไปฝืนมันก็ไม่ได้หรอกเพราะมันต้องฝึกมาแต่เด็ก รวมถึงต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของเขาด้วย แต่เราอยากให้คนสนใจมองสิ่งเล็กๆ รอบตัวนะ เพราะคุณอาจพลาดความพิเศษที่ซ่อนอยู่ตรงหน้าไป” เช่นเดียวกับที่วิทยาเกือบพลาดความพิเศษของ ‘โคมผัด’ องค์ประกอบสำคัญในงานปัจจุบันของเขา
นักเล่าเรื่องชีวิต เวลา และเรื่องราวของชาวล้านนา
วิทยาพาย้อนถึงชีวิต เวลา และแนวคิดตั้งแต่อดีตกระทั่งพากลับมาปัจจุบันที่งาน Cycle Lantern นิทรรศการชิ้นล่าสุดของเขาที่จัดแสดงที่งาน Chiang Mai Design Week ในปีนี้
ปีที่แล้วเขาตั้งใจนำเสนอความเป็นเชียงใหม่ผ่านนิทรรศการ Into the Wind โดยให้ผู้เข้าร่วมร่วมสร้างประติมากรรมชั่วขณะอย่างฟองอากาศผ่านลมหายใจที่สูดอากาศเชียงใหม่เข้าไป แต่เพราะอยากนำเสนอความเป็นเชียงใหม่ให้ชัดเจนและเข้าถึงคนพื้นถิ่นได้มากขึ้น วิทยาจึงหยิบเอาความสนใจส่วนตัวที่เก็บไว้ตั้งแต่สมัยเรียนอย่างยี่เป็งมาศึกษาจนได้รู้จักโคมผัด โคมล้านนาที่คนโบราณใช้แทนการชมภาพยนตร์แล้วนำมาผสานกับเทคนิคภาพติดตา
“เราเป็นคนพิษณุโลกที่มาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่สมัยเรียน ได้เห็นยี่เป็งและสนใจมาตลอดแต่เก็บความชอบนั้นไว้เพราะไม่รู้จะเอามาทำอะไร จนได้เห็นโคมผัดก็รู้สึกสนใจ เพราะหนึ่ง–มันมีแสงและความถี่ สอง–มีความเคลื่อนไหว สาม–มีเรื่องราว ทั้งหมดตรงกับความสนใจของเราพอดีเลยจับโคมผัดมาทำเป็นงานครั้งนี้” วิทยาเริ่มเล่าพร้อมอธิบายโครงสร้างโคมผัดที่จำลองขึ้นจากโคมผัดจริง
นั่นคือโคมผัดประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือโคมกลมๆ ด้านในที่มีลวดลายเกี่ยวกับศาสนา ทุ่งนา และสัตว์ต่างๆ อาศัยความร้อนและลมให้โคมหมุนเพื่อสะท้อนลายเหล่านั้นมาที่ส่วนที่สองซึ่งเป็นผ้าสี่เหลี่ยมล้อมรอบ คล้ายนั่งดูหนังกลางแปลงยังไงอย่างนั้น
“เราเชื่อว่าคนสมัยก่อนพยายามเล่าเรื่องราวให้เคลื่อนไหว แต่ด้วยเทคโนโลยีตอนนั้นจึงเคลื่อนไหวไม่ได้อย่างใจต้องการ เราจึงนำมาสานต่อ ขยายความและจัดวางใหม่ผ่านการทำให้ลายนั้นขยับได้จริงๆ ด้วยเทคนิคภาพติดตา” เขาขยายความ
จินตนาการตามคำที่วิทยาเล่า หากเราเดินเข้าไปในห้องสี่เหลี่ยมสีดำขนาดไม่ใหญ่ เราจะพบกับโคมผัดจำลองทั้งสองส่วน และพบกับโต๊ะเวิร์กช็อปเล็กๆ ที่มีกระดาษและลายนักษัตรทั้ง 12 ให้คนได้ลองแสตมป์ตามชอบหรืออยากแสตมป์ให้ท่าทางของสัตว์เรียงกันอย่างภาพยนตร์เคลื่อนไหวก็ได้ จากนั้นหย่อนกระดาษที่แสตมป์ภาพลงในโคมผัดโคมน้อยๆ ปล่อยให้มันได้หมุนสัก 10 วินาที กระบวนการแอนิเมชั่นจากสองมือก็เกิดขึ้น พาเราเข้าสู่โลกภาพยนตร์ชาวล้านนา
ม้าเริ่มวิ่ง ช้างซึ่งมาแทนปีหมูของไทยเริ่มเดิน ทุกอย่างกลับมีชีวิต
“ในมุมหนึ่งมันมีชีวิตและมีเรื่องราว ปีนักษัตรเหล่านี้ก็คือการเวียนว่ายตายเกิด ซ้ำไปซ้ำมาเหมือนโคมผัดนั่นแหละ คำว่า Cycle ในที่นี้จึงเป็นการหมุนทั้งเชิงเทคนิคและคอนเซปต์
“แต่สิ่งสำคัญที่เรามองเห็นคือโคมผัดกำลังจะสูญหาย ถ้าเรามองหรือเอามาเล่าใหม่มันก็จะมีคุณค่า มีความน่าสนใจ และไปต่อได้เสมอ”
ชีวิตและช่วงเวลาของชาวล้านนาเป็นเช่นไร คงสะท้อนย้อนให้เราคิดได้จากนิทรรศการ Cycle Lantern นี้แล้ว แต่แล้วชีวิตและช่วงเวลาของศิลปิน interactive installation ที่ยืนหยัดสร้างสรรค์ผลงานเรื่อยมาแม้อาจไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรนั้นเป็นยังไง
“งานแบบนี้จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีชีวิตคนเข้ามา ตอนแรกเราอาจเป็นผู้สร้าง แต่สุดท้ายเราจะกลายไปเป็นผู้สังเกตการณ์แล้วดูสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ
“เรามีความสุขที่ได้เห็นคนมีปฏิสัมพันธ์กับงาน เรามักเสพติดความรู้สึกเวลาไปดูว่างานที่ออกแบบมันสื่อสารถึงคนได้ไหม เขาตีความยังไง หรือตั้งคำถามว่าอะไร มันมีทั้งความเชื่อ ไม่เชื่อ ชอบ และต่อต้าน แต่เราว่ามันทำให้งานมีชีวิตและสมบูรณ์ เพราะเขาได้คิดต่อและอย่างน้อยเขาได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นตรงหน้า”