พีระ โองาวา ศิลปินวัย 75 ปีผู้ใช้เครื่องมือเรขาคณิตแปลงเสียงแมลงในหูออกมาเป็นงานศิลปะ

พีระ โองาวา

ชีวิตประจำวันของ พีระ โองาวา ในวัย 75 ปีคือการวาดรูป

ทั้งกลางวันและกลางคืน เวลาส่วนใหญ่ของเขามักอยู่บนโต๊ะทำงานเพื่อใช้มือขีดเขียนตามสิ่งที่นึก ก่อนจะเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำแล้วตื่นขึ้นมาประมาณเที่ยงคืนเพื่อเปิดโคมไฟ ลงมือวาดรูปอีกครั้งจนกระทั่งย่ำรุ่ง แล้วจึงกลับไปนอนพักผ่อน 

การวาดรูปของพีระดำเนินอย่างนี้ทุกวันจนมีจำนวนผลงานเข้าหลักพัน ส่วนใหญ่เก็บสะสมไว้ส่วนตัว บ้างก็มอบให้หมอที่รักษาอาการป่วยต่างๆ ของพีระ อย่างหมอที่รักษาโรคทินไนตัส (Tinnitus) หรืออาการได้ยินเสียงแมลงในหู ซึ่งเกิดขึ้นกับพีระมาตั้งแต่เด็ก

พีระ โองาวา

หากจะบอกว่านี่เป็นงานอดิเรกของคนวัยสูงอายุก็ไม่น่าใช่ เพราะเขาทำเช่นนี้มาตั้งแต่หนุ่ม และวาดเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เขาอยู่ร่วมกับอาการเสียงแมลงในหูได้ดี แถมยังมีแรงบันดาลใจในการสร้างงานหลายชิ้นที่มาจากเสียงเหล่านั้นด้วย

ทว่าตลอดเวลา 60 ปีในการวาดรูปอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งยังเป็นอิทธิพลให้ลูกๆ ได้ซึมซับงานอาร์ตจนเรียนต่อด้านศิลปะทั้งสองคน พีระกลับไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นศิลปินมืออาชีพ จนกระทั่งลูกชายและลูกสะใภ้ชวนส่งผลงานเข้าประกวดใน Bangkok Illustration Fair 2021 ในชื่อ PIRA และกลายเป็นที่สนใจของผู้คนด้วยผลงานที่ใช้ภาพเรขาคณิตประกอบกันเป็นรูปภาพต่างๆ เขาจึงได้รับรางวัลป๊อปปูลาร์โหวตไปครอง

ต่อไปนี้คือเรื่องราวของชายผู้รักงานศิลปะ มีการวาดรูปเป็นเครื่องมือบำบัดอาการได้ยินเสียงแมลงในหู จนก้าวเท้ามาสู่การเป็นศิลปินวัย 75 ปีที่กำลังจะได้จัดแสดงงานศิลปะที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเร็วๆ นี้ 

พีระ โองาวา

ศิลปะในการแปลงเสียงในหูเป็นภาพวาด

เราเริ่มต้นคุยกับพีระด้วยเรื่องราวตั้งแต่วัยเด็ก พีระเล่าให้ฟังว่าพ่อชาวญี่ปุ่นส่งเขาไปเรียนในแดนอาทิตย์อุทัย แต่เพราะไม่มีพื้นฐานด้านภาษาตั้งแต่แรก เขาจึงเครียด นอนไม่หลับ และได้ยินเสียงคล้ายแมลงในหูมากขึ้นเรื่อยๆ

“ได้ยินครั้งแรกรู้สึกกลัวมาก แล้วก็ได้ยินเหมือนเสียงคนพูดเกี่ยวกับตัวเราอีก คุณพ่อเลยส่งกลับมารักษาที่เมืองไทย เสียงแมลงก็ยังไม่หาย แต่อาการเครียดและหวาดระแวงน้อยลง” ชายวัย 75 ปีค่อยๆ ย้อนความทรงจำเพื่อเล่าให้เราฟัง

ระหว่างที่เสียงในหูยังคงก่อความรำคาญให้เป็นระยะ พีระได้เริ่มต้นวาดรูปที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลจนชื่นชอบ พ่อเขายังสนับสนุนด้วยการให้ไปเรียนกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่น แต่จากการศึกษาเทคนิควาดภาพที่ผ่านมา เขาลงความเห็นกับตัวเองว่าชอบวิธีวาดภาพด้วยอุปกรณ์เรขาคณิตมากที่สุด

พีระ โองาวา

“ครูสอนเรขาคณิตบอกว่า ภาพทรงเรขาคณิตเอามาปะติดปะต่อเป็นภาพได้ ครูสอนด้วยการเอากระดาษมาแผ่นหนึ่ง ตีเส้นแนวตั้งฉากและเส้นแนวนอน แล้วตีเส้นทแยงมุม จากนั้นใช้เครื่องมือวงกลมทาบเพื่อเอาจุดตัดส่วนโค้งของเส้นวงกลมมาตัดกับเส้นตรงจะทำให้เกิดจุด แล้วเอาจุดนั้นสร้างเป็นภาพขึ้นมา พอเราทำได้ก็ทำจนเกิดความชำนาญ จะวาดเป็นภาพอะไรก็ได้แล้วแต่เรา” พีระอธิบาย

พีระวาดรูปด้วยเทคนิคนี้เรื่อยๆ แม้กระทั่งเติบโตมาสู่วัยสร้างครอบครัวกับสว่าง โองาวา แล้ว เขาก็ยังแวะเวียนเข้าร้านเครื่องเขียน ซื้อสี อุปกรณ์เรขาคณิตอย่างวงกลม สามเหลี่ยม และกระดาษมาวาดภาพในยามว่างอยู่เสมอ

พีระ โองาวา

“แต่ก่อนเราขายข้าวหมูแดงอยู่ประตูน้ำ แล้วสมัยนั้นยังมีห้างไดมารู เขาจะช่วยเราตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง เสร็จแล้วก็จะเข้าไปไดมารู ไปซื้อสีซื้อกระดาษของเขา แล้วกลับบ้านมาวาดรูป” สว่างในวัย 65 ปีพูดขึ้น

“เราก็บ่นทุกวันเลยว่าจะซื้อไปทำอะไร” เธอหัวเราะให้กับเรื่องเล่าของตัวเอง เรียกรอยยิ้มจากเราไปไม่น้อย

พีระ โองาวา

ตอนแรกการวาดภาพของพีระมีเหตุผลจากความชอบเป็นหลัก แต่ตอนหลังที่เขายังต้องรักษาอาการของโรคประจำตัวและทานยาอยู่เป็นประจำ ศิลปะก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดไม่ให้เขาเอาใจไปจดจ่อกับเสียงเหล่านั้นมากเกินไป

“ผมรำคาญเสียงพวกนี้ มันดังในหูตลอดเวลา แต่ตอนวาดภาพเสียงมันจะทุเลาลง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันหายไปเลยนะ มันยังมีเสียงก้องอยู่ แต่มันตัดความรู้สึกรำคาญออกไปได้” พีระพูด 

พีระ โองาวา

ศิลปะในการแปลงรูปทรงเรขาคณิตเป็นสารพัดสิ่ง

หากคุณลองเข้าไปในเว็บไซต์ bangkokillustrationfair.com และคลิกดูผลงานของ PIRA จะเห็นทั้งภาพเส้นเล็กๆ และภาพที่มีสีสันซับซ้อน แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของผลงานทั้งหมด เพราะในระหว่างที่เราได้สนทนากับครอบครัว แตง–ประกายจิต โองาวา และ เต้–ยุทธจิต โองาวา ลูกสาวและลูกชายของพีระ หยิบผลงานของพ่อออกมาวางเรียงให้ดูเพิ่มเติมอีกนับร้อยชิ้น

ทั้งภาพวาดบนกระดาษไขที่พีระเลือกลงฝีไม้ลายเส้นตามจินตนาการตั้งแต่ยังหนุ่ม มาจนถึงกระดาษปอนด์ ผ้าใบ และภาพวาดที่มีสีสันบนกระดาษแผ่นใหญ่ที่ลูกๆ ใส่กรอบรูปเก็บเอาไว้ให้

พีระ โองาวา

ระหว่างที่เรากำลังสำรวจผลงานเหล่านี้ ประกายจิตก็ช่วยอธิบายพัฒนาการในงานของพีระให้เข้าใจที่มามากขึ้น

“ช่วงแรกๆ คุณพ่อจะวาดรูปบนกระดาษไขด้วยปากกา rotring อันนี้ตั้งแต่สมัยที่ยังขายของช่วยแม่ที่ประตูน้ำ พ่อก็จะแวะซื้ออุปกรณ์เล็กๆ มาใช้” ประกายจิตหยิบกระดาษไขที่ตอนนี้เปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองเข้มตามกาลเวลาให้เราดู

“บางทีพ่อจะวาดเป็นตัวสัตว์รูปเล็กๆ อยู่ตรงกลางภาพ อย่างอันนี้เป็นภาพอะไรนะคะพ่อ” เธอหันหน้าไปถามเจ้าของผลงานวัย 75 ปี

“อันนี้กบจ้ะ” พีระตอบกลับด้วยรอยยิ้ม

พีระ โองาวา

“หลังจากตัวเดี่ยวๆ พ่อก็จะเริ่มขยายงานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนภาพปัจจุบันซับซ้อนขึ้นมาก เท่าที่สังเกต เวลาพ่อหัวแล่นจะชอบวาดหลายๆ เส้นเต็มไปหมดเลย โดยเฉพาะระยะหลังเส้นเยอะมากๆ เลยพ่อ” เธอหันหน้าไปคุยกับผู้เป็นพ่อซึ่งหัวเราะกับฟีดแบ็กจากลูกสาว

ส่วนใหญ่ผลงานของพีระเป็นรูปสัตว์ โดยเฉพาะแมลง เพราะเขาแปลงเสียงที่ได้ยินในหูออกมาเป็นภาพ ยิ่งตอนหลังเริ่มสร้างสรรค์ภาพใหญ่ขึ้นและมีเส้นซับซ้อนมากขึ้นตามที่ประกายจิตบอก ผลงานของเขาจึงสามารถตีความได้หลายมิติ อย่างผลงานแมลงและชนเผ่าที่ศิลปินคนนี้หยิบมาให้เราดู

พีระ โองาวา

“เป็นงานที่ผมชอบ อันนี้ผมได้ยินเสียงแมลงในหัวเลยวาดออกมาเป็นปีกแมลงบานออก ซึ่งเป็นหมวกครอบหัวของชนเผ่าด้วย เพราะข้างล่างผมวาดเป็นหน้าคน มีตาซ้อนกัน และมีปาก ทั้งหมดเป็นโครงสร้างจากสามเหลี่ยมทรงเรขาคณิต”  

บางชิ้นเขาก็ได้แรงบันดาลใจมาจากพระคัมภีร์และศาสนา อย่างเช่นภาพ Universe ที่เขารวมเรื่องราวของศาสนาคริสต์ พุทธ และอิสลามมาไว้ในภาพเดียวกัน โดยพีระใช้ดินสอไม้ระบายสีทั้งหมด ด้วยเทคนิคที่ค่อยๆ ระบายจากล่างขึ้นบนทำให้สีสันในภาพเรียบเนียนเสมอกัน 

พีระ โองาวา

“มีภาพหนึ่งผมวาดจากพระคัมภีร์ เป็นภาพสีอะคริลิก แล้วเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เซนต์คาเบรียลมาขอซื้อไป 5,000 บาท เป็นภาพแรกที่ขายได้ ดีใจมาก” ศิลปินวัย 75 เล่าพร้อมรอยยิ้ม

ภาพที่ว่ามีชื่อว่า Jesus เป็นผลงานที่พีระผสมผสานความคิดของศาสนาคริสต์กับพุทธเข้าด้วยกัน ในภาพจึงมีทั้งพระเยซูตรึงกางเขนท่ามกลางสรวงสวรรค์ที่มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ และน้ำทะเลที่แหวกออก โดยพีระเอากระดาษทรายมาคอลลาจแปะลงไปด้วย อีกทั้งยังมีจีวรพระที่เขาวาดเป็นสามเหลี่ยมสีเหลืองด้านหลังพระเยซู

พีระ โองาวา
พีระ โองาวา

“ผมวาดชิ้นนี้ไว้อีกรูป ยังลงสีไม่สมบูรณ์ แต่ลูกชายลูกสาวบอกว่าไม่อยากให้ลงแล้ว เดี๋ยวมันจะเละเลยปล่อยไว้ดีกว่า” พีระพูดอย่างอารมณ์ดี ประกายจิตบอกว่าหลายภาพที่ขายหรือมอบให้คนใกล้ชิดของพีระจะนำกลับมาจัดแสดงในนิทรรศการที่จะเกิดขึ้นปลายเดือนมีนาคมด้วย แต่เมื่อติดต่อกลับไปที่เพื่อนของพ่อเธอแล้ว พบว่าภาพได้เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ไปแล้ว จึงต้องนำภาพที่พีระยังลงสีไม่สมบูรณ์ไปแสดงแทน

นอกจากความซับซ้อนของเส้นและรูปที่มากขึ้นในผลงานของพีระ ยุทธจิตยังเล่าด้วยว่าสีที่พ่อของเขาใช้ก็เปลี่ยนไปตามอายุการทำงานด้วย

“ช่วงแรกๆ เขาระบายสีไม้ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นสีอะคริลิก แต่ก่อนมีแรงถึงขั้นขึงผ้าใบเอง ตอนหลังแก่แล้ว ผมเลยลองให้ใช้ปากกาเมจิก พ่อก็บอกใช้ง่าย เขาชอบ”

พีระ โองาวา

ศิลปะในการแปลงความฝันให้เป็นความจริง

หลังจากดูผลงานทั้งหมด เราเริ่มชวนพีระไปถ่ายภาพระหว่างที่กำลังวาดภาพ บนโต๊ะวาดรูปมีงานหนึ่งชิ้นที่เขากำลังสร้างสรรค์ค้างไว้อยู่ ประกายจิตจึงเล่าให้ฟังว่านี่คือผลงานที่พ่อของเธอกำลังเตรียมไปจัดนิทรรศการที่หอศิลป์ช่วงปลายเดือนนี้ หลังจากได้รับรางวัลป๊อปปูลาร์โหวตในงาน Bangkok Illustration Fair 2021

“ตอนหนุ่มๆ พ่อเขาก็เคยอยากขายงานให้ได้นะ เพราะสมัยก่อนแม่ขายข้าวหมูแดงจานละ 20-25 บาท แม่ก็เลยบ่นว่าสีหลอดหนึ่งเป็นร้อย แต่พ่อก็ขายให้คนรู้จักได้แค่ภาพเดียว เราทุกคนเห็นพ่อทำงานทุกวัน มันเป็นความสุขของเขา เราก็อยากโชว์งานพ่อมาตั้งนานแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะต้องติดต่อแกลเลอรีหรือหอศิลป์ยังไง จนกระทั่งเต้กับแฟนชวนพ่อไปงานนี้ เขาก็มาช่วยกันเลือกภาพ” 

พีระ โองาวา

“วันนั้นเราเอางานมาวางเรียงในห้องเลย แล้วก็ช่วยกันเลือกถ่ายภาพลง เสร็จแล้วก็ให้พ่อเป็นคนมากดคลิกส่งเองเลย บอกพ่อว่ามาคลิกตรงนี้ๆ” เรื่องเล่าของยุทธจิตเรียกเสียงหัวเราะจากทุกคน

“วันที่รู้ว่าเราเป็นศิลปินและได้รางวัลป๊อปปูลาร์โหวตแล้ว รู้สึกยังไงบ้าง” เราหันไปถามพีระที่กำลังนั่งวาดภาพบนโต๊ะให้ช่างภาพได้เก็บภาพส่งท้าย

“รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเกิดกับเขาสักทีหนึ่ง” คำตอบของศิลปินหน้าใหม่วัย 75 ปีทำเอาทุกคนหัวเราะอีกครั้งด้วยใจเปี่ยมสุข

พีระ โองาวา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย