ช่วยด้วย เราหลงป่า!
ถ้าจะต้องหลงป่าสักแห่ง Lost in the Greenland คือป่าที่เราจะเลือกหลงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะป่าแห่งนี้ไม่ได้ปกคลุมด้วยยอดไม้ทึบ หรือกว้างใหญ่ไพศาลจนน่ากลัวจะหาทางออกไม่ได้ แต่คือนิทรรศการศิลปะที่เต็มไปด้วยดอกไม้กว่า 40 ชนิดบานสะพรั่งอยู่ในอาณาบริเวณแกลเลอรีของ The Jam Factory คลองสาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
นอกจากขอบเขตป่าที่ชัดเจนเป็นกำแพงสีเขียวลึกล้ำ ดอกไม้ที่เห็นก็ต่างไปจากป่าไหนๆ เพราะแต่ละกลีบ ก้าน ใบล้วนทำขึ้นจากกระดาษสารพันประเภทที่ ปั้น–นภัสชล ตั้งนุกูลกิจ บรรจงตัดอย่างประณีตและละเอียดอย่างมหัศจรรย์
ปั้น คือศิลปินนักตัดกระดาษผู้ใช้กรรไกรได้คล่องแคล่วไม่ต่างจากอวัยวะที่ 33 และหลงใหลในดอกไม้ถึงขั้นที่เคยทำงานจัดดอกไม้อยู่หนึ่งปีเต็มๆ ถึงจะเรียนจบจากสาขาที่ไม่เกี่ยวกันอย่างเซรามิกก็ตาม
อาจเป็นเวทมนตร์ จังหวะชีวิต หรือความบังเอิญบางอย่าง เมื่อความรักกระดาษและดอกไม้ผสมกันลงตัว ปั้นจึงถ่ายทอดจินตนาการในหัวออกมาเป็นนิทรรศการ Lost in the Greenland ที่ใครแวะมาก็ต้องหลงใหลในความคราฟต์จนอาจหลงเดินอยู่นานโดยไม่รู้ตัว
เพื่อไม่ให้หลงไปไกล วันนี้ปั้นจึงวางกรรไกรและรับบทไกด์ชั่วคราว พาเราไปรู้จักป่าดอกไม้ของเธอทุกซอกทุกมุม
พืชสวนโลก
เมื่อเปิดประตูเข้าสู่ห้องนิทรรศการ ปั้นก้าวเท้านำเราเลี้ยวไปทางขวา พลันหมู่ดอกไม้สีแจ๋นก็โผล่มาทักทาย บ้างเป็นสีแดง บ้างเป็นสีส้ม แข่งกับสีชมพูและสีเหลืองสดแบบไม่มีใครเกรงใจใคร
เธอผายมือแนะนำว่าเรากำลังเดินทางเข้าสู่ป่าเขตร้อน โซนแรกของนิทรรศการ
“ตอนเริ่มทำนิทรรศการ เราคิดว่ายังไงก็อยากทำเรื่องดอกไม้ แต่ดอกไม้ก็มีหลายแง่มุมให้เล่า เราเลยไปรีเสิร์ชดูเพื่อหาว่าเราสนใจเรื่องอะไร”
ปั้นเล่าว่าครั้งนั้นเธอกระโจนลงสู่มหาสมุทรของหนังสือดอกไม้ใบไม้ แหวกว่ายอยู่กับชื่อสายพันธุ์ภาษาละตินออกเสียงยาก และดำดิ่งไปรู้จักข้อมูลแบบลงลึกตั้งแต่รูปฟอร์มไปจนถึงถิ่นที่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้จากป่าเขตร้อนใกล้ๆ ตัว ดอกไม้ในป่าเขตอบอุ่น หรือดอกไม้จิ๋วๆ จากป่าเขตหนาว
แน่นอนว่าในสายตาของคนรักดอกไม้อย่างปั้น ดอกไม้จากป่าเขตไหนก็น่ารักไปเสียหมด
“เราได้รู้ว่าโลกนี้มีป่าสามประเภทคือป่าเขตร้อน เขตอบอุ่น และเขตหนาว ก็เลยได้ไอเดียการทำนิทรรศการเป็นห้องทำงานที่มีดอกไม้ที่เราเก็บมาจากป่าทั่วโลก และแบ่งโซนนิทรรศการตามประเภทป่าซึ่งมีดอกไม้คาแร็กเตอร์ไม่เหมือนกัน
“โซนแรกเป็นป่าเขตร้อนที่ดอกไม้มีสีสด เชปก็จะเป็นเส้นตรง เส้นแหลม พุ่งออกไปในอากาศ ดอกไม้ในเขตนี้จะดูแปลกตาที่สุด เราเลยทำดอกไม้ในฟอร์มสามมิติ เน้นนำเสนอรูปร่างที่แปลกๆ และสีสดๆ ของมัน
“เราตั้งใจให้คนเข้ามาเจอป่าเขตร้อนก่อน” ไกด์สาวในชุดลายดอกอธิบาย “เรารู้สึกว่าสีสดใสของดอกไม้เขตนี้จะกระแทกตาที่สุดเมื่อเห็นเป็นอย่างแรก”
จากป่าเขตร้อนที่เธอชี้ชวนให้ดูกล้วยไม้บ้าง หม้อข้าวหม้อแกงลิงบ้าง ปั้นพาเราเดินต่อสู่ป่าเขตอบอุ่น ตรงกลางโถงมีโต๊ะไม้วินเทจสองตัววางหนังสือเล่มโตกางเรียงราย อวดเนื้อหาเรื่องดอกไม้สีละมุนและเห็ดอ้วนป้อม หน้าตาน่ารักไม่แพ้กัน
“พออากาศอบอุ่นขึ้น ดอกไม้ก็จะมีรูปทรงโค้งมนน่ารักมากขึ้น โทนสีก็อ่อนลงเป็นสีพาสเทล ดอกไม้ในป่าเขตนี้ทำให้เรานึกถึงดอกไม้ในหนังสือนิทานฝรั่งที่ทุกคนคุ้นเคย เราจึงใส่ลูกเล่นด้วยการเล่าถึงดอกไม้ผ่านหนังสือเสียเลย
“ส่วนโซนสุดท้ายเป็นป่าเขตหนาว ด้วยอุณหภูมิต่ำ ขนาดดอกก็เลยจะเล็กกว่าโซนอื่น ในขณะเดียวกันเขาก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจ อย่างมอสที่ของจริงดูเล็กๆ แต่พอส่องกล้องจุลทรรศน์ดูจะเห็นว่าโครงสร้างของมันมหัศจรรย์มาก เราจึงเล่าถึงดอกไม้เล็กๆ เหล่านี้ผ่านกรอบรูป ย่อขยายขนาดดอกตามใจ”
แม้ดอกไม้จะอยู่ในกรอบทั้งหมด แต่ปั้นแอบใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ลงไปจนแต่ละดอกใบพิเศษในแบบของตัวเอง ทั้งดอกและผลเบอร์รีที่เป็นภาพสองมิติ มอสที่ถูกขยายจนเห็นรายละเอียดภายใน หรือดอกไม้บางชนิดก็บานสะพรั่งออกมาทักทายถึงนอกกรอบรูป ละเอียดจนต้องละเลียดดูทีละภาพ
“ดอกไม้ในป่าเขตหนาวจะละมุนตาที่สุด เราจึงวางไว้เป็นโซนสุดท้ายให้ผู้ชมได้ค่อยๆ ผ่อนสายตาลงและจบการเดินทางแบบสมบูรณ์”
เติบโตอย่างดอกไม้
กว่าจะถึงวันนี้ ความเป็นศิลปินของปั้น ผลิดอก ออกผล และเบ่งบานเป็นธรรมชาติเหมือนดอกไม้
“เราชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะงานที่สัมผัสได้ ทั้งร้อยลูกปัด ถักโครเชต์ ทอผ้า ร้อยมาลัย แกะสลัก แต่สิ่งที่เราอยู่กับมันได้นานที่สุดคือกระดาษ แต่ก็ไม่ได้ทำงานกระดาษเป็นเรื่องเป็นราว”
ในช่วงค้นหาตัวตน ปั้นพาตัวเองไปทำความรู้จักกับงานศิลปะหลายรูปแบบ ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเธอเคยติวแฟชั่น (ก่อนจะพบว่าตัวเองรักงานผ้าก็จริง แต่ไม่ถูกกับการออกแบบเสื้อเท่าไหร่) ติวกราฟิก (แต่ได้รู้ว่าตัวเองไม่ถนัดตัดทอนองค์ประกอบใดใด) เข้าเรียนสาขาเซรามิกที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (และพบว่างานเซรามิกนั้นก็สนุกดีอยู่หรอก แต่การควบคุมไม่ได้ทำให้เธอกระวนกระวายใจไปหน่อย)
ยิ่งได้เจองานศิลปะหลากหลายยิ่งกลายเป็นว่าปั้นรู้สึกสนิทใจกับกระดาษมากกว่าเดิม
“สมัยก่อนเราชอบทำงานกระดาษเป็นงานอดิเรก พอทำเยอะๆ เราไม่รู้จะเอาไปเก็บไว้ไหนเลยเริ่มทำการ์ดให้เพื่อนๆ ในวันเกิดหรือเทศกาลต่างๆ จนตอนเรียนปีสอง เราได้โจทย์ให้ทำหนังสือเด็กที่ใช้เทคนิคอะไรก็ได้ก็เลยลองใช้การตัดกระดาษดู งานนั้นอาจารย์ให้ฟีดแบ็กค่อนข้างดี เราเลยทำงานกระดาษอย่างจริงจังขึ้น”
นั่นเป็นที่มาของเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของปั้นในฐานะศิลปินกระดาษชื่อ Papeterie และไม่นานก็มีคนมาจ้างให้ทำงานกระดาษมากมาย ทั้งการ์ดวันเกิดเพื่อน หน้ากากในงานแต่งงาน หรือแม้แต่เวิร์กช็อป โดยที่ปั้นยังไม่ทันโปรโมตว่ารับงานประเภทใดบ้างด้วยซ้ำ
“ตอนนั้นเราสนุกมาก สนุกจนรู้ตัวว่าจบไปแล้วคงจะทำงานกระดาษ ไม่ใช่เซรามิก”
แต่เมื่อเรียนจบมาจริงๆ กลายเป็นว่างานประจำแห่งแรกที่ปั้นทำกลับเป็นร้านดอกไม้
“เราทำงานกระดาษมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่รู้สึกว่าเจอตัวเองขนาดนั้น จนมีช่วงหนึ่งที่งานน้อยลง เราก็เลยถามตัวเองว่านอกจากกระดาษเราชอบอะไรอีก ตอนนั้นเราคิดถึงดอกไม้ที่ชอบมาตลอดก็เลยไปสมัครงานที่ร้านดอกไม้ Plant House กะว่าจะทำพาร์ตไทม์เฉยๆ แต่พอได้ไปสัมภาษณ์ อยู่ๆ เราก็คิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ลองทำเต็มเวลาเลยแล้วกัน”
ที่ Plant House ปั้นทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ในฐานะนักจัดดอกไม้ และเมื่อไหร่ที่ดอกไม้เริ่มแห้งเหี่ยว เธอก็ต้องหาวิธีแปลงมันเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ บางครั้งก็ได้จัดเวิร์กช็อปหรือทำโปรเจกต์ดอกไม้ ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ปั้นได้ฉีก ตัด ขยำ และทำความคุ้นเคยกับดอกไม้อย่างเต็มที่ ผ่านไปหนึ่งปี เธอก็ตอบตัวเองได้ว่าเธอชอบดอกไม้จริงๆ
“แต่เราก็โหยหางานกระดาษอยู่ดี” ปั้นสรุปกับตัวเอง
“การทำงานที่ Plant House เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้เรารู้ตัวว่าชอบทำงานกับดอกไม้มาก การได้เห็นถึงองค์ประกอบข้างในและสัดส่วนที่ไม่สมบูรณ์ก็ทำให้เราเข้าใจดอกไม้ลึกซึ้งขึ้น ขณะเดียวกันมันก็ทำให้เรารู้ว่าเราชอบงานกระดาษมากแค่ไหน เพราะตลอดเวลาที่ทำงานดอกไม้เรากลับรู้สึกว่าชอบงานกระดาษมากกว่า แต่จะให้ทำพร้อมกันสองอย่างก็ไม่ไหว”
เมื่อความชอบมาบรรจบ ปั้นจึงโบกมือลา Plant House ด้วยดีและกลับมาจับกรรไกรตัดดอกไม้กระดาษ ทดลองกรีดกลีบดอก ขดงอกิ่งก้าน และสามารถทำดอกไม้ที่ละเอียดจับใจได้มากขึ้นเรื่อยๆ จน The Jam Factory ชักชวนมาทำนิทรรศการที่เรายืนอยู่ในปัจจุบัน
ห้องเรียนดอกไม้
ดอกไม้ทำให้ปั้นรู้ตัวว่ารักงานกระดาษ และเมื่อได้ตัดดอกไม้กระดาษเพื่อทำนิทรรศการอยู่เกือบๆ หนึ่งปี ปั้นก็รู้ตัวว่าความชอบดอกไม้และกระดาษของเธอได้ผสมเกสร ผลิดอก เป็นตัวตนของเธอไปแล้ว
“ช่วงที่ทำงานที่ร้านดอกไม้ เราชอบดอกไม้มากขึ้นจากการที่ได้เห็นมันในฟอร์มต่างๆ แต่การรีเสิร์ชเพื่อทำนิทรรศการนี้ทำให้เราชอบดอกไม้จากตัวตนด้วย เช่น เราเพิ่งรู้ว่าดอกเสาวรสกับกะทกรกเป็นดอกไม้ตระกูลเดียวกัน รู้ว่ากล้วยไม้ในโลกนี้ก็ยังมีแบบที่น่าสนใจอีกมาก เช่น กล้วยไม้ Monkey Orchid ที่มันหน้าเหมือนลิงจริงๆ หรือว่าดอกไม้เขตอบอุ่นที่เห็นว่าสีน่ารักนั้นจริงๆ แล้วมีพิษเยอะมาก เห็ดแดงๆ น่ารักๆ แบบใน Alice in Wonderland ก็มีพิษนะ เรื่องราวแบบนี้ทำให้งานดอกไม้ของเรามีชีวิต
“เราเอาข้อมูลที่รีเสิร์ชมาเขียนถึงดอกไม้บางชนิดในนิทรรศการด้วยเพื่อให้คนเห็นดอกไม้ในแบบของเราชัดเจนขึ้น เช่น กับบางดอกเราจะบอกว่ารูปร่างเหมือนแตร บางดอกรัศมีเหมือนพระอาทิตย์ หรือบางดอกแขนขาเก้งก้างยาว เหมือนเราเห็นยังไงก็เขียนออกมาอย่างนั้น”
ถึงตรงนี้ เราขอยกมือเสริมว่า ‘เห็นยังไงก็เขียนอย่างนั้น’ ของปั้นไม่ใช่แค่ตัวอักษร แต่หมายถึงดอกไม้กระดาษที่ใครๆ ก็ชื่นชมในความเหมือนจริงด้วย
“หลายคนบอกว่างานของเราละเอียด ทำได้ยังไง แต่เราไม่ได้คิดว่ามันต้องละเอียดถึงจะสวยนะมันแค่เป็นสิ่งที่เราเห็น เหมือนเวลาไปเที่ยวน่ะ บางคนอาจจะถ่ายรูปเพื่อบันทึก บางคนอาจจะวาดรูป แต่เราแค่ตัดกระดาษในสิ่งที่เห็น
“ตอนแรก The Jam Factory ก็ถามเราว่าเราอยากทำนิทรรศการเป็นเชิงวิทยาศาสตร์เลยไหมเพราะเรารีเสิร์ชเยอะจริงๆ แต่เราไม่รู้ว่าความจริงของเราเทียบกับนักวิทยาศาสตร์หรือนักพฤกษศาสตร์ได้หรือเปล่า เพราะเราไม่ได้เน้นความเหมือนจริงหรือความละเอียด หลายดอกเราก็บิดรูปฟอร์มตามใจ มันอาจจะเป็นแค่ความจริงในมุมมองของเราเท่านั้นเอง”
ความจริงเรื่องสุดท้ายที่ปั้นเล่าให้ฟังก่อนเราจะผละจากป่าแห่งนี้ คือการตกตะกอนว่าเส้นทางที่เธอจะออกสำรวจต่อจากนี้ คือการเป็นศิลปินกระดาษที่ถนัดในการทำดอกไม้แบบเต็มตัว
“ตอนทำงานนี้เรารู้สึกแฮปปี้มากเลยคิดว่าจะทำงานเชิงศิลปินมากขึ้น รวมถึงในงานนี้เราทดลองใช้วัสดุหลายๆ อย่าง ทั้งสำลี ลูกปัด หรือกระดาษห่อสินค้า IKEA (ให้เดาเอาเองว่าชิ้นไหน) แต่สุดท้ายกระบวนการทำงานก็ทำให้เราชัดเจนว่าเราคือศิลปินกระดาษไม่ใช่สื่อผสม
“อ้อ ลืมบอกไปว่าเราชอบดอกไม้เพราะถึงจะขึ้นจากต้นเดียวกัน แต่ดอกไม้ไม่มีวันเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับงานดอกไม้กระดาษของเราที่เป็นงานทำมือมันจึงไม่มีวันเหมือนกัน งานดอกไม้กระดาษจึงเป็นงานที่เฟรชมากๆ เพราะมันสดทุกครั้งที่ทำ ทำให้เรายังสนุกกับมันไปเรื่อยๆ”
ศิลปิน นักจัดดอกไม้ และไกด์จำเป็นของเราทิ้งท้ายก่อนเดินมาส่งที่ประตู และแม้ว่านิทรรศการ Lost in the Greenland จะจบลงในอีกไม่ช้า แต่สวนดอกไม้ของปั้นเพิ่งเริ่มเบ่งบานเท่านั้น
นิทรรศการ Lost in the Greenland จัดแสดงวันที่ 12 กันยายน – 25 ตุลาคม 2563 เวลา 11:00-20:00 น. ที่ The Jam Factory