‘Freddy V’ ตัวละครลับแห่งวงการแรปที่ไม่ต้องแหลงคนก็รู้ว่ายัง STILL FLY ในแรปเกม

Highlights

  • 'เฟเดริโก วาสซานโล' หรือ 'Freddy V' คือแรปเปอร์ลูกครึ่งอิตาลี หนึ่งในสมาชิกแก๊ง Southside Phuket ที่รันวงการฮิปฮอปไทยใต้ดินในภาคใต้ จนสามารถขึ้นมาร่วมค่ายกับรุ่นพี่ในวงการอย่างไทยเทเนี่ยมได้
  • หลังรันวงการ ทำตามฝันจนสามารถออกอัลบั้มเพลงฮิปฮอปได้สำเร็จ เขากลับห่างหายไปจากวงการแรปไทย ควงตะหลิวรันวงการอาหารไกลถึงอิตาลี
  • ในวันที่เฟรดดี้เข้ามาอยู่ในสปอตไลต์ของวงการเพลงแรปอีกครั้ง ด้วยบทบาทใหม่อย่างการเป็น PD ประจำทีม STILL FLY แห่งรายการ Show Me The Money Season 2 ปักหมุดที่ภูเก็ต roll ไปคุยกับเจ้าถิ่นอย่างเขากัน
 

ถ้าเติบโตมาในยุคไล่เลี่ยกัน และพอจะสนใจวงการฮิปฮอปอยู่บ้าง การกลับมาอีกครั้งในฐานะ PD ประจำรายการ Show Me The Money Thailand Season 2 ของ ‘เฟเดริโก วาสซานโล’ หรือ ‘Freddy V’ แรปเปอร์ลูกครึ่งอิตาลี ผู้เป็นคู่หูของ Twopee Southside คงจะทำให้คนที่ติดตามวงการอยู่ตื่นตกใจกันไม่น้อย

เพราะหากว่ากันตามตรง ในคืนวันที่ฮิปฮอปไทยกลับมาเป็นหนึ่งในเพลงกระแสหลัก เขากลับเป็นดั่งตัวละครลับที่ห่างหายไปจากสปอตไลต์ของวงการแรปยาวนานถึง 4 ปี

วันที่เขากลับมาในฐานะ OG ของวงการแรป ส่งเสียงผ่านไรม์บอกทุกคนว่าตัวเองยังคง STILL FLY ในแรปเกม

The south is on the map เราพร้อมจะ roll ไปใต้ เพื่อคุยกับเจ้าถิ่นอย่างเขาถึงภูเก็ต ตามไปเห็นชีวิตจริงๆ ที่เขาเป็นด้านล่างเวที

 

Welcome to the South

เฟรดดี้ออกมาโบกมือต้อนรับเราถึงหน้าบ้าน ชุดอยู่บ้านแสนชิลล์ ผมหยักศกที่ยุ่งเหยิง และรอยยิ้มบนใบหน้าที่เอ่ยคำทักทายมาให้ สลัดภาพแรปเปอร์ลุคโหดที่เห็นจากในรายการโดยสิ้นเชิง

“เพิ่งถ่ายรายการเสร็จเมื่อวานเลย” เขาอัพเดตความเป็นไป พลางเชื้อเชิญต้อนรับเราเข้าไปในบ้านอย่างเป็นกันเอง แนะนำให้รู้จักกับแม่และภรรยา ก่อนจะพาเราเข้ามานั่งในห้องรับแขกซึ่งเต็มไปด้วยข้าวของที่เขาชื่นชอบ 

ของแต่ละอย่างบ่งบอกถึงความเป็นเจ้าตัว ไม่ใช่แผ่นเทิร์นเทเบิลสำหรับสแครตช์แผ่น ไม่ใช่แผ่นซีดีหรือภาพความทรงจำครั้งตัวเองโด่งดัง หากแต่เป็นภาพครอบครัวทั้งฝ่ายพ่อและแม่ ชั้นหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยสารานุกรมเรื่องต่างๆ รวมไปถึงของเก่าที่สะสมและเก็บต่อมาจากพ่ออย่างกลองแอฟริกา และไหจากกรีก

เวลาทั้งวันนี้ของเขาเป็นของเรา–เขาว่าไว้อย่างนั้น

 

ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นสมาชิก Southside Phuket แต่สิ่งหนึ่งที่เราเพิ่งจะรับรู้มาเมื่อไม่นานมานี้ผ่านท่อนหนึ่งในเพลง กูมาจากไหน ที่เขาแต่งเพื่อโชว์ในรายการ Show Me The Money Thailand Season 2 คือจริงๆ แล้วเขาไม่ได้เกิดและเติบโตที่ภูเก็ตมาโดยกำเนิด หากแต่เป็นคนสามเสน เติบโตมาในบ้านของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน พูดภาษาจีนแต้จิ๋วได้ และมากไปกว่านั้นคือชีวิตตอนเป็นเด็กกรุงเทพฯ เขาแทบไม่เคยรู้จักแนวเพลงอื่นอีกเลยนอกจากเพลงคันทรี และเพลงของอัสนี-วสันต์ ที่ฟังมาด้วยกันกับลุง

“เหมือนที่เขียนไว้ในเพลงเลย ‘Federico Vassallo เกิด Rapallo บ้าน Milano ได้บินมาโตที่พระนคร อยู่กับยายจนไหว้พระก่อนนอน เสร็จมุ่งหน้ามาภูเก็ต ภาคใต้ fullest…’ ตอนนั้นพ่อกับแม่ยังทำงานอยู่ที่อิตาลี ผมอยู่กรุงเทพฯ กับยาย การอยู่กับยายทำให้ผมได้คัลเจอร์ความเป็นจีน-ไทย ผมพูดแต้จิ๋วได้ เข้าใจ เจี่ยเปิง กินข้าว เหลาเต้ง ชั้นสอง เจี้ยะป้า กินอิ่ม” เฟรดดี้ย้อนเล่าเรื่องราวในชีวิตตั้งแต่วัยเด็กให้เราฟังอย่างเปิดเผย ตั้งแต่การตกหลุมรักกันของพ่อแม่ ต้นตระกูลฝั่งอิตาลีและไทย การย้ายกลับมาตั้งรกรากที่ภูเก็ตของครอบครัว ไปจนถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มหลงใหลในฮิปฮอป

“มาอยู่ภูเก็ตได้แป๊บหนึ่ง พ่อก็ให้ไปอยู่อิตาลีสองปี เพื่อจะได้ซึมซับวัฒนธรรม รับเอาภาษากลับมา พ่อมีบ้านเล็ก ผมเลยมีน้องสาวเป็นคนผิวสีด้วย ตอนไปอยู่ที่นั่น ไปบ้านน้องสาวที่ฟีนิกซ์ แอริโซนา ผมเลยได้รู้จักวัฒนธรรมเพลงดำเป็นครั้งแรก ที่นั่นเขาจะมี baptist church พวกคนดำที่ปรบมือกันอยู่ในโบสถ์ มันเป็นอะไรที่ว้าวดีนะ ดนตรีมันชัดเจน ก็เริ่มซึมซับความเป็นดนตรีคนผิวดำ บวกกับความเป็นแอฟริกา ความเป็นฮิปฮอปมา” 


มาชอบฮิปฮอปมากๆ อีกทีก็ตอนกลับมาอยู่ภูเก็ตอย่างเต็มตัว เพราะเนื้อหาที่ไม่ใช่เพลงรักจ๋า บวกกับเป็นคนชอบเล่นกีฬาเอกซ์ตรีม เขาเลยได้เจอกับกลุ่มเพื่อนต่างโรงเรียนอย่างโต้ง และสมาชิก Southside Phuket คนอื่นๆ ที่สนใจในแทบทุกเอเลเมนต์ของฮิปฮอป ไม่ว่าจะเป็นกราฟิตี้ ดีเจ หรือกระทั่งบีบอย 

รวมกลุ่มกันบ่อยเข้า เจอกันทีก็ส่งเพลงส่งบีตให้กัน ความสัมพันธ์จึงค่อยๆ ขยับเปลี่ยนจากเพื่อนที่รวมตัวกันในลานกีฬาเอกซ์ตรีมกลายไปเป็นกลุ่มก้อนที่รวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความชอบด้านฮิปฮอป เริ่มชวนกันทำมิกซ์เทปวางขายในงาน Fat แถมยังโชว์ความกล้าที่มีด้วยการขอขึ้นไปเล่นเปิดให้ไทยเทเนี่ยมตอนที่พวกเขามาเล่นคอนเสิร์ตที่ภูเก็ต

“เราขอขึ้นไปเล่นเพราะเห็นว่าโอกาสอยู่ตรงหน้า ถ้าอายก็อด” เฟรดดี้ตอบคำถามที่ว่าอะไรทำให้เขาตัดสินใจทำแบบนั้นด้วยน้ำเสียงจริงจัง 

“เราคงดูพวก 8 Mile มาเยอะ เสพหนัง เสพเพลงมา ฮิปฮอปสอนเราว่าต้องปากกัดตีนถีบ ต้องดิ้นรนเพื่อให้คนรู้จักเรา เพื่อที่จะทำให้เราสามารถทำเพลงต่อไปได้ มันเลยมีความกล้าขึ้นมา ขอขึ้นไปเล่นแล้วโดนไล่ลงมาตั้งสองครั้ง อายไหม อายนะ แต่ถ้าไม่ได้ขึ้นไปวันนั้นผมคงอายกว่านี้

“ผมเป็นคนชอบเอาชนะคน ชอบความกดดัน ยิ่งแม่พูดว่าเรามัวแต่ทำอะไรไร้สาระ ยายบอกให้แต่งตัวให้มันเป็นผู้เป็นคนหน่อย ยิ่งคนไม่ซัพพอร์ตเรา เราเลยยิ่งอยากทำ อะไรที่คนบอกว่ามึงไปไม่ได้หรอก เราจะไป ฮิปฮอปสำหรับผมตอนนั้นมันเป็นเหมือนกบฏ มันเท่ เพราะมันเป็นจุดที่ทำให้เรากลายเป็น somebody ได้ make money ได้”

 

underground เพลงแรป จนกูมายืนหยัดอยู่กับค่าย 

หลังทำมิกซ์เทปมาขายที่งาน Fat จนพอจะมีรายได้ ได้ขึ้นเล่นบนเวทีจริง เริ่มมีสังคมฮิปฮอปที่กว้างขึ้น จากเด็กมัธยมปลายที่ไม่เคยมีแพลนว่าจะทำอะไรในชีวิต คิดแค่ว่าอาจไปเรียนต่อต่างประเทศในสาขาอินทีเรียร์ที่ตัวเองสนใจ เขาจึงเริ่มกลับมาคิดทบทวนถึงทางเดินชีวิตและตัดสินใจบอกแม่ว่าจะขอลองไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ดู

“ภูเก็ตเป็นเกาะเล็ก มีเราเป็นปลาใหญ่ในบ่อเล็ก เลยยิ่งรู้สึกว่าเราต้องไปอีก ต้องใหญ่กว่านี้ ไปเป็นปลาเล็กในบ่อใหญ่ที่กรุงเทพฯ” เขาหัวเราะเล็กน้อยเมื่อพูดประโยคดังกล่าว ก่อนจะเล่าให้เราฟังต่อว่าตอนนั้นแม่ก็ถามเหมือนกันว่าไปแล้วจะทำอะไร อยากไปทำเพลงแล้วจะเริ่มจากที่ไหน 

“เราก็กลับมาคิดนะ ถ้าอยากเป็นศิลปินแบบแกรมมี่ต้องไป Domon Man แล้วการที่เราอยากจะไปเป็นแรปเปอร์นี่ต้องทำยังไงบ้างวะ ไปอยู่กับพวกแรปเปอร์ก็คงจะได้เป็นแรปเปอร์มั้ง

เฟรดดี้ไม่ได้พูดเล่น เขาขึ้นกรุงเทพฯ ไปใช้ชีวิตอยู่กับแรปเปอร์จริงๆ อย่างที่บอก เพราะแรปเปอร์รุ่นพี่ที่ไปอยู่ด้วยถือเป็นรุ่นใหญ่คนหนึ่งในวงการ เคยออกไทยเทเนี่ยมมิกซ์เทปมาหลายต่อหลายชุด ด้วยความสัมพันธ์ที่ว่า เขาจึงมีโอกาสได้พบกับขัน ไทยเทเนี่ยม อีกครั้ง

“พี่ขันชวนพี่ๆ แรปเปอร์ที่เราอยู่ด้วยไปคอนโด เราเลยติดไปด้วย พอเขาเห็นก็ทัก ‘มึง เฟรดดี้จากภูเก็ตอีกแล้วเหรอ’ จากนั้นเลยเหมือนเริ่มได้เห็นกันมากขึ้น ได้แรป ได้ปล่อยพลังฟรีสไตล์ด้วยกัน เขาเลยบอกว่าเออ พวกกูอยากทำเพลงให้ ถ้าพวกมึงขึ้นมา บอกกูนะ”

 

“เหมือนถูกหวย ชีวิตเปลี่ยนไปเลยเฟรดดี้ว่าขึ้นขำๆ บอกสิ่งที่ตัวเองคิดตอนเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนชีวิตครั้งนั้น

Southside Phuket นำโดยสมาชิกที่สะดวกขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ อย่างโต้งและเฟรดดี้ จึงกลายมาเป็นศิลปินฮิปฮอปบนดินอย่างที่เรารู้กัน ภายใต้สังกัดของ Thaitanium Entertainment นับแต่นั้น

แต่ถึงอย่างนั้นการอยู่กับค่ายไทยเทเนี่ยมก็ไม่ได้สะดวกสบายและง่ายดายอย่างที่คิด 

“มันไม่เหมือนอยู่แกรมมี่ อยู่อาร์เอสนะ เรายังต้องปากกัดตีนถีบ เคยได้ยินไหมที่แดง ไบเล่ บอกว่าเป็นเมียเราต้องอดทน อยู่กับไทยเทเนี่ยมก็เหมือนกันเลย ต้องอดทน”

อาจเพราะตอนนั้นพวกเขายังไม่มีเพลงออกมาเป็นรูปธรรม เงินจำนวนหลักพันที่พอจะมีเลี้ยงปากท้องได้ก็มาจากการเล่นเปิดเวทีซึ่งต้องแบ่งกันกับโต้ง ดีหน่อยที่มีพลพรรคฮิปฮอปชักชวนไปเป็นเอ็มซีที่สถานบันเทิงต่างๆ ทำให้ได้เงินมาดูแลตัวเองบ้างโดยไม่ต้องพึ่งทางบ้าน แถมยังได้ฝึกประสบการณ์การ hype crowd หรือเอนเตอร์เทนคน ที่นับเป็นทักษะจำเป็นที่แรปเปอร์ควรมี

“เพลงแรกที่เราปล่อยตอนอยู่ค่ายคือ กระแทก มันเป็นเพลงคล้ายๆ ทะลึ่ง ของไทยเทเนียม ซึ่งก็ไม่ได้ดังหวือหวาอะไรมาก อาจจะเพราะเราซึมซับเขามาเยอะ เลยยังจับจุดไม่ได้ว่าตัวตนของเราเป็นแบบไหน” เขาย้อนไทม์ไลน์ช่วงนั้นให้ฟัง ก่อนจะบอกเราถึงจุดเด่นที่คิดว่า Southside มี

“เพลงของ Southside นี่จริงๆ มันตลก ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเรื่องของเด็กใต้เท่านั้น แต่มันคือการบอกเล่าสิ่งที่เราเจอมา เป็นอะไรที่แรปเปอร์อายุเท่าๆ เราเข้าใจ อย่าง What’s Up เนื้อมันคือ ‘แซวกูว่า what’s up ซับพ่อมึงดิไอสัส’ มันเป็นสิ่งที่เด็กฮิปฮอปตอนนั้นเจอทุกวัน เมื่อก่อนใส่หมวกเบสบอลเดินในห้างเขาก็หาว่ามึงบ้าเหรอ ทำไมต้องใส่กางเกงหลุดตูด ทำไมต้องโชว์บอกซ์เซอร์ ต้องใส่เสื้อตัวใหญ่ๆ มันเติบโตมากับการถูกแซว การถูกกวนส้นตีนอย่างนี้อยู่แล้วเลยทำให้คนรีเลตได้

“แต่เราไม่ได้ดัง เอาจริงๆ ผมงงนะ เวลามีคนมาบอกว่าตอนเด็กผมฟังเพลงพี่ด้วย” เขาบอกสิ่งที่อยู่ในใจ ทั้งๆ ที่เราจดจำได้ว่าซิงเกิลเปิดอัลบั้มอย่าง ไหวอ่ะเปล่า เบเบ้ ก็กลายเป็นเพลงฮิตประจำสถานบันเทิงไปพักใหญ่

“ผมไม่รู้ตัวหรอกว่าเด็กรุ่นนั้นเขาฟังผม สาบานเลยว่าตอนนั้นผมนึกว่าตัวเองเขวี้ยงก้อนหินใส่น้ำ มันไม่ได้มีช่องทางโซเชียลมีเดียแบบทุกวันนี้ที่จะมีเด็กส่งเมสเซจมาขอบคุณ ตอนนั้นเราแอบน้อยใจด้วยซ้ำ ยังเขียนไว้ในเพลง Save His Life เลยว่า ‘สิ่งที่ทำมันเหมือนกับหน่วยกู้ภัยที่ทำไปแม้ไม่ได้กะตังค์ fuck the ผลตอบแทน กูไม่ต้องการอะไร’ คือถึงแม้คนจะไม่สนใจ ฮิปฮอปจะตกต่ำยังไง แต่ตอนนั้นกูแค่ต้องการจะแรปก็เท่านั้น” 

 

ไม่ช้าก็เร็ว เราต้องกลับไปเป็น nobody กันทุกคน

แต่ก็อย่างที่รู้ หลังจากปล่อยอัลบั้มแรกอย่าง Welcome to the South ออกไป เขาก็ค่อยๆ เริ่มหายหน้าหายตาไปจากวงการ

“จริงๆ ผมบอกโต้งตลอดอยู่แล้วว่าคงจะไม่ได้อยู่เป็นศิลปินกับมึงไปตลอดนะ ผมบอกกับตัวเองตลอดว่ายังมีอะไรอีกหลายๆ อย่างที่ต้องทำในชีวิต ผมชอบแรป แต่ผมไม่ได้ชอบทุกอย่างที่มากับแรป ผมไม่ชอบปาร์ตี้กลางคืน ไม่ได้ชอบเมาปลิ้นแบบนั้น และที่สำคัญคือยังไงผมก็อยากจะกลับมาภูเก็ตอยู่แล้ว ผมชอบวิถีชีวิตที่นี่”

“ยังไงเราก็ต้องกลับไปเป็น nobody กันทุกคน ไม่ช้าก็เร็ว” เขาว่าอย่างนั้น

ไร้ซึ่งสัญญาณใดๆ หลังพูดจบชายตรงหน้าเรานิ่งไปเพียงครู่ ก่อนจะเอ่ยถึงบุคคลที่ดูแลเขามาตั้งแต่อ้อนแต่ออก

“ผมเป็นคนที่สนิทกับยายมาก ตอนมาอยู่กรุงเทพฯ เราต้องไปเยี่ยมเขาทุกเดือน แต่เขามาป่วยตอนช่วงที่เรากำลังอัดเพลง ไหวอ่ะเปล่า เบเบ้” จากที่มีเวลาให้ตลอด ศิลปินหน้าใหม่อย่างเขาเลยเริ่มหาเวลาปลีกตัวไปเยี่ยมได้ยากขึ้นทุกที

“สิ่งสุดท้ายที่ยายพูดกับผมคือ ‘เฟเดริโก ลื้อเอาเต้าฮวยนี่ไปอุ่นให้อั๊วะหน่อย’ เราเอาไปอุ่นให้ยาย แล้วก็บอกว่าผมไปอัดเพลงก่อนนะ เดี๋ยวพรุ่งนี้เจอกัน

“แล้วยายก็เสีย ตอนที่ต้องย้ายร่างยายไปไว้ในฮวงซุ้ยผมไม่สามารถไปได้ด้วยซ้ำ มันเป็นความรู้สึกที่เราต้องกลับมาถามตัวเองว่าการที่เราอัดแต่เพลง ทัวร์คอนเสิร์ต เรียน สอบ มึงทำเหี้ยอะไรอยู่วะ ทำเพื่องาน ทำงานเพื่อเงิน มีเงินแล้วยังไง ในเมื่อยายกูตายไปแล้ว

“ตอนนั้นเลยถามตัวเองว่ามึงต้องการอะไรในชีวิตวะ”

สิ่งที่เขาสรุปแล้วตอบตัวเองคือ ต้องการความสุข 

เพราะเห็นว่าชีวิตนี้ไม่แน่ไม่นอน เขาจึงอยากกลับมาดูแลแม่ที่ภูเก็ต รวมทั้งเคยบอกกับแม่ไว้ก่อนหน้านั้นว่าจะกลับมาช่วยดูแลธุรกิจที่บ้าน 

แต่เพราะไม่อยากกลับมาเป็นแค่ลูกเจ้าของร้านที่แม้แต่หั่นผักก็ยังทำไม่เป็น เขาเลยตัดสินใจเอาเงินเก็บที่หามาได้ บินไปเรียนทำอาหารที่อิตาลีเสียก่อน

มิลาน ปาแลร์โม ซิซิลี นาโปลี ปาร์มา คือชื่อเมืองที่เขาตะลุยไปเรียนรู้ด้านการทำอาหารตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น ถอดหัวโขนของความเป็นแรปเปอร์ออกแล้วใช้ชีวิตอย่างคนครัว ทั้งหั่นผัก ถอดหัวปลา แกะหอยเม่น ทำงานไปพร้อมๆ กับออกเดินทางท่องเที่ยวสร้างประสบการณ์ใหม่ที่นั่น

เขาเปิดภาพตอนทำครัว ภาพอาหารที่ได้เรียนรู้ รวมไปถึงภาพสถานที่ต่างๆ ที่ได้ไปเยือนมาให้ดูทีละรูป เล่าเรื่องราวต่างๆ ในภาพนั้นให้ฟัง ก่อนจะเผยความในใจ

ตอนเป็นศิลปิน ตอนใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ผมมักจะรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในกรงล่องหน มันคือสภาวะที่ดูเหมือนว่าเรามีอิสระ แต่จริงๆ แล้วเราถูกกรงครอบเอาไว้ตลอด พอได้มาอยู่อิตาลีเลยเหมือนเพิ่งจะได้ใช้ชีวิตจริงๆ

ผมได้รู้วิชาใหม่ ได้มาลำบาก ได้มานั่งเอามีดแกะหอยเม่นทีละตัว ได้มีรอยไหม้ที่มือจากการอบขนมปัง ได้หั่นผักโดนนิ้วตัวเองมาก็เยอะ แต่มันเป็นแผลที่ผมรู้สึกว่าเป็นเหมือนคู่มือของผมไปแล้ว มันทำให้เรารู้จักรสชาติของชีวิต”

ชอบความลำบากอย่างนั้นเหรอ–เราย้อนถามกลับ

เขาผงกหัวยอมรับ ตอบกลับด้วยท่าทีสบายๆ “ความลำบากมันเป็นรสชาติชีวิตดีนะ ผมไม่ชอบอะไรที่สบายเกินไป เพราะมันทำให้ผมกลัว 

“อาจจะเพราะเป็นคนจีนแหละ มันมีสองคำคือเถ้าแก่กับเสี่ย เถ้าแก่คือคนที่สร้างตัวเองขึ้นมา ส่วนเสี่ยคือลูกของเถ้าแก่ ผมไม่อยากเป็นเสี่ย ผมอยากเป็นคนที่พนักงานยอมรับ ผมอยากเป็นคนที่ทำงานได้ทุกอย่างในร้านตัวเอง

 

STILL PLAY THE GAME

หลังใช้ชีวิตที่นั่นกว่าสองปี ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน ทุกวันนี้เขากลับมาดูแลร้านอาหารอิตาลีของครอบครัวอย่าง Da Sandro แบบเต็มตัว ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หายไปจากวงการฮิปฮอปไทยอย่างที่ใครเข้าใจผิด

“ตอนผมลาวงการไปแบบนั้น คนมักจะคิดว่าสาเหตุคือผมทะเลาะกับโต้ง แต่ก็อย่างที่เห็นผมไม่ได้แยกไปทำเพลงสักหน่อย ผมแยกมาดูแลกิจการของครอบครัว 

“ผมบอกโต้งตั้งแต่นั้นแล้วว่ามึงรันเมืองไทยไปนะ กูขอรันภาคใต้ กูจะกลับมาจัดปาร์ตี้ที่ภาคใต้กับพรรคพวก Southside Phuket ผมอยากจะกลับมาดันตรงนี้ ให้พวกพ้องเราสามารถใช้ฮิปฮอปหารายได้ ให้ทุกคนยืนตัวได้ เพราะชื่อ Southside Phuket คือเราทุกคนสร้างมาด้วยกัน”

อีเวนต์เอเจนซีที่ชื่อว่า ROII (หรอย) คือสิ่งที่เฟรดดี้พูดถึง 

ตลอดเวลาที่ผ่านมาแม้ในยามที่ฮิปฮอปซบเซา หรือในยามที่เฟรดดี้และโต้งรันวงการอยู่ที่กรุงเทพฯ สมาชิก Southside Phuket ยังคงรันวงการฮิปฮอปที่บ้านเกิดอยู่ตลอด 

จากปาร์ตี้เล็กๆ ครั้งแรก ที่เด็กๆ ในจังหวัดขอร้องให้ยูหรือ DJ You Know Who หนึ่งในสมาชิก Southside Phuket ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีจัดขึ้น หลังจากนั้นปาร์ตี้คล้ายๆ กันนี้ก็ถูกจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ ทุกปี โดยที่มีสเกลความจริงจังเพิ่มมากขึ้น

“เราพยายามที่จะแตกแขนงความเป็นฮิปฮอปให้เกิดขึ้นอย่างแข็งแรงในภาคใต้ สร้างให้วัฒนธรรมฮิปฮอปไม่จำเป็นต้องนั่งเมาอยู่ในผับ พยายามจะใส่ทุกเอเลเมนต์ของฮิปฮอปมาให้ครบ เป็นแพลตฟอร์มที่นอกจากจะจัดปาร์ตี้อย่างนี้แล้ว เรายังอยากให้มันเป็นพื้นที่ของเด็กฮิปฮอปรุ่นใหม่ เรามีเวที เราช่วยลงวิดีโอให้เขาได้มีฐานแฟน เป็นฮับให้แต่ละคนได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง

“ง่ายๆ คือเราอยากสร้างรุ่นต่อไป อยากทำให้ฮิปฮอปในภาคใต้ยังมีอยู่ต่อไป เราไม่อยากให้ฮิปฮอปมันตายไป” เขาพูดด้วยสายตาที่ซ่อนความดุดันจริงจังไว้ข้างใน

หากให้เปรียบเทียบว่าบทบาทของตัวเขาในวันนี้อยู่ตรงจุดไหนของวงการ 

เขาบอกเราว่าตัวเองคงเป็นคนที่อยู่ตรงขอบๆ เวที เหมือนเวลามีคนเตะบอลเข้า แล้วเราก็ร่วมเฮไปด้วย

“ผมยังทำเพลงอยู่ ยังแรปอยู่ ใครต้องการคำปรึกษา ใครต้องการให้ผมฟีตเจอริง ใครต้องการความช่วยเหลือ ผมยังอยู่ตรงนี้ มีอะไรก็บอกมาได้เสมอ เราเป็นเพื่อนกันหมด เราเป็นพรรคพวกกัน”

“เคยมีคนมาพูดกับผมว่า เฮ้ย ตอนนี้โต้งดังแล้ว เสียดายจัง เราไม่อิจฉาเนอะ จะอิจฉาทำไม มันปากกัดตีนถีบมากี่ปีกว่าจะถึงจุดนี้ ผมออกมาก่อนด้วยซ้ำ มันสำเร็จอย่างนี้ก็สมควรแล้ว ทุกคนที่ทำสำเร็จผมก็ปรบมือให้ เพราะเขาทำงานหนักมาก YOUNGGU ขายเสื้อมาแบบล้มลุกคลุกคลาน จนทุกวันนี้มาได้ถึงจุดนี้ผมแฮปปี้มาก เมื่อไหร่ที่เราเห็นคนประสบความสำเร็จแล้วเรามีความสุขไปกับเขา แสดงว่าเราไม่อิจฉา เรามองแบบคนภูมิใจที่ได้เห็นฮิปฮอปมันเดินต่อไป”

อยากให้ฮิปฮอปเป็นอะไรที่อาจจะไม่ใช่กระแสหลักก็ได้ แต่เป็นกระแสที่จะยังคงอยู่ตลอด คือสิ่งที่เขาคาดหวังอยากจะเห็นต่อไปในวงการ 

“ผมได้นั่งคุยกับ LazyLoxy หลังถ่ายรายการจบ เขาพูดสิ่งหนึ่งซึ่งดีมาก เขาบอกว่าคำว่า ‘ฮิป’ แปลว่าอัพเดตตลอดเวลา เวลานี้มีอะไรที่กำลังฮิปอยู่ ส่วนคำว่า ‘ฮอป’ คือ let’s hop เดินทางไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นฮิปฮอปไม่ตายตัว ตอนนี้ผมกลายเป็นโอลด์สคูล แต่สมัยที่ผมเริ่มแรปใหม่ๆ ผมเป็นนิวสคูลแล้วพี่ขันเป็นโอลด์สคูล มันจะเป็นยังไงก็ได้ แต่ฮิปฮอปก็คือฮิปฮอปอยู่ดี มันยังเป็นแนวดนตรีที่เข้ากันได้กับทุกอย่าง และทุกวันนี้ก็ยังมีเด็กรุ่นใหม่ represent สิ่งนี้อยู่ แค่นี้ผมก็แฮปปี้แล้ว” 

ถามว่าจัดปาร์ตี้ไปทำไมก็เพื่อทำให้ฮิปฮอปมันยังคงอยู่ เพราะถ้าพวกเขาไม่ทำ จะมีใครล่ะที่ลุกขึ้นมาทำ 

“ตอนพี่ขันทำมิกซ์เทป พี่ขันก็ทำเพราะคิดว่าถ้ากูไม่ทำก็ไม่รู้ว่าจะมีใครทำ เราดูจากผู้ใหญ่ว่าผู้ใหญ่ทำอะไรมา ตอนนี้เป็นยุคของเรา เราก็สานต่อแค่นั้นเอง ยุคผมภาคใต้ฮิปฮอปมันไม่แข็งแรง เราก็ทำให้เกิดขึ้นในยุคนี้

“ผมว่าทุกคนอยากเป็น somebody กันทั้งนั้นแหละ แต่การที่คุณเป็น somebody แล้วคุณไม่ทำอะไรเลย จะเรียกตัวเองว่าเป็น somebody ไปทำไม”

ยายผมเคยสอนไว้ว่า เห็นสิงโตที่อยู่หน้าศาลเจ้าไหม สิงโตนั่นอยู่มาเป็นพันปีแล้ว สร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับวัดเลย แต่ทำไมไม่มีใครไหว้ ไปไหว้เจ้าที่อยู่ข้างใน ก็เหมือนกัน คุณอยู่กับเวลาที่เดินทางไปเรื่อยๆ คุณจึงต้องเป็นคนที่สร้างอะไรต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเอาแต่พูดว่า เฮ้ย กูเจ๋ง คุณต้องเจ๋งเพราะสิ่งที่คุณทำให้ส่วนรวม พ่อผมเจ๋งเพราะคอยดูแลป่าไม้ ทำสิ่งดีๆ ให้กับคอมมิวนิตี้ที่แอฟริกา ตอนนี้เขาเลยสร้างอนุสรณ์ให้พ่อผม ผมเลยรู้สึกว่าก่อนตายกูอยากสร้างอะไรให้โลกนี้โดยใช้ความถนัดของตัวเอง ถ้าอย่างนั้นผมสร้างศิลปินเพิ่มก็แล้วกัน” 

“ผมชื่นชมเด็กๆ ที่เป็นฮิปฮอปคลื่นลูกใหม่มากนะ” เขาว่ายิ้มๆ “หลายคนมาบอกเราว่าผมฟังเพลงพี่มาตั้งแต่ปี 2004 แน่นอนว่าเราดีใจ แต่ไม่ได้ดีใจที่มึงฟังเพลงกูนะ กูดีใจที่มึงยังอยู่ตรงนี้มากกว่า เพราะถ้ามึงไม่อยู่ กูก็อาจจะไม่มีงานมาจนถึงวันนี้ก็ได้ ในวงการนี้เราพึ่งพาซึ่งกันและกัน”

“ถ้าผมสอนอะไรได้ ผมถึงบอกเด็กทุกคนเลยว่าถ้าคุณมีโอกาส คุณต้องทำให้สุด คำนี้ผมไม่ได้บอกแค่เด็กนะ แต่ตอนที่ผมเดินขึ้นเวทีไปเล่นเปิดให้ไทยเทเนี่ยม ผมก็บอกตัวเองเหมือนกันว่า โอกาสมาข้างหน้าแล้ว มึงต้องทำให้ดีที่สุด พี่เดย์ให้โอกาสผมในการมาเป็น PD คู่กับเขา ผมก็ต้องทำให้ดีที่สุด ต้องสอนเด็กๆ แรปเปอร์รุ่นใหม่ให้ดีที่สุด ทำเพลงที่ใช้ตอนแข่งขันในรายการให้ออกมาดีที่สุด”

ทำหน้าที่ทุกอย่างให้ดีที่สุดเหมือนกับที่ยายเคยสอนเอาไว้ ไม่ว่าจะในบทบาทไหน แรปเปอร์ พ่อครัว เพื่อน คนรัก หรือกระทั่งลูกชาย 

เขาจะเป็นเฟรดดี้ที่ใช้ชีวิตทุกวันให้มีความสุขที่สุด

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย