คุยกับปากกาของภวิล เฟย์ ผู้เขียน ‘Fragile’ รวมเรื่องสั้นว่าด้วยความรักที่สิ้นสลาย

“เธอไม่เคยปิดหน้าต่างอีกเลย แม้ใจหนึ่งอยากงับให้สนิท เพื่อเก็บรักษากลิ่นของแมวใจดำให้นานเท่านาน แต่สุดท้ายเธอก็เปิดอ้าซ่า รอเธออีกคนกลับบ้าน”

ขอสารภาพว่าฉันไม่ค่อยได้อ่านนิยายหรือเรื่องสั้นที่ว่าด้วยความสัมพันธ์เป็นหลักมานานแล้ว นี่อาจเป็นการกลับมาอ่านหนังสือแนวนี้ในรอบ 2-3 ปีก็ว่าได้

ประโยคข้างต้นนั้นมาจากเรื่อง แมวดำย่อมไม่ซักผ้า หนึ่งใน 23 เรื่องสั้นจากหนังสือ Fragile พัสดุตีกลับ ชำรุดง่าย และอาจสูญหายระหว่างทาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ฉันชอบมากที่สุด

ตอนที่หนังสือขนาดกะทัดรัดเล่มนี้พิมพ์ออกมาครั้งแรกเมื่อปี 2560 โดยสำนักพิมพ์ขวัญใจนักอ่านยุคใหม่อย่าง P.S. Publishing ฉันจำได้ว่ามันค่อนข้างได้รับกระแสตอบรับที่ดีทีเดียว อย่างน้อยๆ ก็เห็นเพื่อนนักอ่านรีวิวให้เห็นอยู่เนืองๆ

‘ใจสลาย หวนคิดถึงอดีต นึกถึงตัวเอง’ ความรู้สึกทำนองนี้ปรากฏขึ้นในข้อเขียนของเพื่อนเหล่านักอ่านของฉัน

อาจไม่ได้ถูกจริตกับงานเขียนแนวนี้นัก แต่จะบอกว่ามันไม่ทำงานกับฉันเลยคงไม่ใช่ เพราะขณะที่ตัวละครคลั่งรักใครสักคน ฉันรู้สึกว่าเหมือนได้มองเห็นเศษเสี้ยวของตัวเองในอดีต ยามที่ตัวละครเป็นฝ่ายเลิกราในความสัมพันธ์ ฉันอดไม่ได้ที่จะนึกถึงช่วงเวลาขมปร่าที่ยังทิ้งร่องรอยอยู่

นี่สินะ อานุภาพความเป็นสากลของความรัก ไม่ว่าใครต่างล้วนเชื่อมโยงได้ทั้งนั้น

นี่เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากนัดหมายเพื่อพูดคุยกับ ภวิล เฟย์ ผู้เขียนหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ แต่เพราะเธอยังไม่พร้อมเจอใครเพราะอยู่ในช่วงที่ต้องโฟกัสกับหน้าที่การงาน เธอจึงขอส่งปากกาคู่ใจของตัวเองมาแทน

เพราะอะไรเธอถึงหยิบเอาความรัก ความสัมพันธ์ เพศ และการจากลามาผสมรวมแล้วถ่ายทอดเป็นตัวอักษรออกมา

ปากกาของเธอพร้อมให้คำตอบแล้ว

เล่าประวัติของตัวเองให้ฟังหน่อยสิคุณปากกา

เราเป็นปากกาที่ขายคู่กับปากกาอีกด้าม ด้ามนั้นชื่อ Limex เป็นปากกาหน้าตาดี ตัวขาวสะอาด ซึ่งโมเดลต้นแบบคือเราที่เป็นรุ่น BOXY100 ซึ่งเป็นรุ่นยอดนิยมของผู้ผลิตอย่าง Mitsubishi / uni ที่วางขายตั้งกะปี 1975 โน่น แต่เจ้าคนเขียนมันซื้อเรามาแบบไม่รู้เรื่องอะไรกับเขา มันชอบ Limex อยากซื้อเดี่ยว แต่คนขายเขาขายเป็นเซตเลยได้เราพ่วงมา 

ปรากฏว่าไอ้คนเขียนใช้เราถนัดมือถนัดใจที่สุด อาจเพราะตัวเราทน มีรูปลักษณ์ที่เน้นฟังก์ชั่นและเป็นปากกาลูกลื่นที่ปล่อยหมึกสม่ำเสมอ ไม่มีอาการหมึกแตกหรือคั่งปลายให้กังวลใจ 

นั่นแหละ…ความรักก็ก่อเกิดขึ้นจากการศึกษากันและกันผ่านการเขียน

เจ้าของคุณมาเริ่มต้นเขียนเรื่องสั้นได้ยังไง

ขอให้สัมภาษณ์แบบไม่รักษาทรงมันเลยแล้วกัน มันเริ่มเขียนเรื่องสั้นเพื่อให้คนที่มันชอบหันมาสนใจมัน ตอนมันเด็กๆ สักประมาณ 12-13 มันติดเล่นเว็บบอร์ด แล้วในเว็บบอร์ดก็จะมีห้องสำหรับ Original Fiction ห้องนั้นแหละที่มันเจอกับ ‘พี่’ (อย่าถามว่าพี่ชื่ออะไร มันจำไม่ได้) เรื่องที่พี่คนนั้นแต่งลงเว็บบอร์ดมีแต่องค์ประกอบเท่ๆ ซึ่งตอนนั้นเด็กน้อยอย่างมันไม่รู้จัก เช่น ดนตรีแนวบริตป๊อป บริตร็อก ชื่อวงแปลกๆ แต่งเพลงประหลาดๆ อย่าง Velvet Underground พอพูดถึงวงนี้พี่จะยกชื่อศิลปิน Andy Warhol กับงานปกอัลบั้มรูปกล้วยขึ้นมาด้วย

หลายเรื่องที่พี่แต่งจะมีผู้ชายที่ไม่เห็นต้องเป็นผู้ชายมากก็ได้ ผมยาวก็ได้ ผอมก็ได้ แต่งหน้ายังได้เลย ถือว่าโลกเปิดกว้างเพราะความรัก พอรักมากๆ ก็อยากให้เขาสนใจ วิธีการคือแต่งเรื่องสั้นโพสต์ในห้องเดียวกัน เขียนสุดชีวิต สุดหัวใจ มันจำไม่ได้ว่าพี่มาคอมเมนต์หรือเปล่า แต่มันได้คุยกับพี่ในที่สุด ไม่นาน พี่บอกว่าพี่จะไปเท็กซัส ไปตาย เรื่องจบลงตรงนี้แหละ

ที่ผ่านมาเจ้าของคุณเขียนนิยายมาแล้วกี่เรื่อง และพัฒนาการของเขาเป็นยังไงบ้าง

เรื่องที่มันตีพิมพ์ในชื่อภวิล เฟย์มีไม่มาก ในฐานะปากกาของมัน ขอช่วยมันขายของหน่อย
เรื่องสั้น ‘โปรดฟังทางนี้’ ในรวมเรื่องสั้นทำมือ ‘กระทำการเพียงลำพัง’ นับเป็นหนึ่ง
เรื่องสั้นทำมือ ‘Words Between Bodies อีโรติกชน’ นับเป็นสอง
เรื่องสั้น ‘สัญญาณต่างดาว’ ในรวมเรื่องสั้น ‘ทำลาย, เธอกล่าว’ ของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม นับเป็นสาม
เรื่องสั้น ‘วี้ด…’ ในรวมเรื่องสั้น ‘Paper Cut รักกลายเป็นกระดาษ’ ของสำนักพิมพ์ P.S. นับเป็นสี่
รวมเรื่องสั้น (ที่อยากเรียกว่าเป็น fragment มากกว่า) Fragile พัสดุตีกลับ ชำรุดง่าย และอาจสูญหายระหว่างทาง นับเป็นห้า

และมีกะยิบกะย่อยที่ไม่ได้ตีพิมพ์เพราะเขียนไม่จบ (น่าอาย ช่างน่าอาย) ส่วนพัฒนาการของมัน…จะว่ายังไงดี เรากับมันก็ไม่ได้สนใจพัฒนาการอะไร ที่บอกว่าไม่สนใจเพราะเจอคำถามนี้ไปถึงขั้นงงไปสามหมัด ถ้าสนใจก็ควรต้องตอบได้ฉับๆฉับใช่หรือเปล่า แต่คิดไปคิดมา มันก็อยากพัฒนาล่ะนะ มันเขียนทุกวัน นักวิ่งต้องซ้อมวิ่งทุกวันถึงจะพัฒนา มันก็ทะลุ่มทะลุยทำแบบเดียวกัน

มีนิยายหรือเรื่องสั้นเล่มไหนที่ทำให้เจ้าของคุณอยากเขียนขึ้นมาบ้างไหม

ขึ้นกับช่วงชีวิต ถ้าไปถามมันตอนอายุ 15-16 มันจะตอบว่า ‘ฝนตกตลอดเวลา’ กับ ‘ชิทแตก’ ของปราบดา หยุ่น ถามมันตอน 19 จะตอบ ‘คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ’ ของฮารูกิ มูราคามิ โตมาอีกหน่อยมันจะตอบ ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ ของวีรพร นิติประภา และ ‘ลับแล, แก่งคอย’ ของอุทิศ เหมะมูล มีบางช่วงชีวิตที่มันรัก Paulo Coelho, สมุด ทีทรรศน์, ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ, ยาสึนาริ คาวาบาตะ สุดใจ แต่หากถามมันตอนนี้จะตอบว่า “ทุกเล่มของ Marie-Aude Murailมารีย์ โอ๊ด-มูรัยย์ อยากเขียนงานเรียบง่าย ลึกซึ้ง ตลกร้ายได้แบบนั้นบ้าง”

ทำไมเรื่องราวส่วนใหญ่ที่ ภวิล เฟย์ เขียนล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์

เพราะมันอยากเป็นที่รัก ปมใหญ่ของชีวิตมันคืออยากเป็นที่รัก มันเลยตั้งอกตั้งใจสังเกตว่ามนุษย์ปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรตั้งแต่เด็ก เหตุผลเล็กน้อยแค่นั้นเอง

สำหรับรวมเรื่องสั้น Fragile ส่วนใหญ่แล้วมาจากความทรงจำของเขาใช่หรือเปล่า

จะว่ายังไงดีล่ะ…อืม มันเชื่อว่าทุกงานเขียนเกิดจากความทรงจำทั้งนั้น ไม่ว่าจะเอามาทั้งหมด บางส่วน หรือหลายความทรงจำประกอบกันเป็นเรื่องใหม่ก็ตาม ไม่ใช่แค่ Fragile หรอก ทุกงานเขียนของมันได้ความทรงจำเป็นสารตั้งต้นทั้งนั้นล่ะ

แรงขับเคลื่อนที่ทำให้เขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์และเพศมาจากไหน

ตัวมันเองทั้งหมด มันเขียนเพื่อทำความเข้าใจ คลี่คลาย และถ้าเรื่องที่มันเขียนเป็นเพื่อนใครสักคนที่กำลังหมุนคว้างในวังวนเพศและสัมพันธ์ได้ มันก็ยินดี

ในเรื่องมีความสัมพันธ์ที่หลากหลายมาก อยากรู้ว่าจุดเริ่มต้นของแต่ละเรื่องมาจากอะไรบ้าง

ตัวมันเองอีกนั่นล่ะ เป็นคำตอบที่สั้นที่สุดและจริงใจที่สุดแล้ว

ด้วยความที่อ่านแล้วรู้สึกว่าบางเรื่องมีเค้าโครงมาจากเหตุการณ์จริง เจ้าของคุณจัดการกับมันยังไงให้ออกมาเป็นเรื่องสั้นได้

จินตนาการ มันใช้จินตนาการแบบเดียวกับนักเล่นแร่แปรเรื่องทุกคน เหยาะความไม่จริงลงไปนิดหน่อย ใส่สารความอยากเป็น ไม่อยากเป็น อยากได้ ไม่อยากได้ คนผสมวนๆ กับเหตุการณ์จริงจากความทรงจำนั้นนิดโน่นหน่อย แต่อย่าผสมเพลินจนลืม ‘ประเด็นที่อยากสื่อ’ ตรงนี้แหละสำคัญที่สุด อยากสื่ออารมณ์ล้วนๆ ผสมแบบหนึ่ง อยากสื่อแนวคิดก็ผสมอีกแบบหนึ่ง

บางเรื่องในเล่มที่อ่านก็มีเรื่องที่สั้นมากแค่ประมาณหนึ่งหน้าครึ่ง ในฐานะปากกาของนักเขียนคิดว่าความยาวหรือความสั้นของเรื่องมีผลต่อการอ่านหรือไม่

 เคยได้ยินคนพูดกันประมาณนี้หรือเปล่า “กูว่ายืดไปหน่อย ถ้าจบตรง xx แม่งสวยเลย” ไม่ก็ “จบแล้วเหรอวะ กูงง…” ความสั้นความยาวมีผลต่ออารมณ์ เราอยากขยี้อารมณ์ ทิ้งอารมณ์ หรือตัดอารมณ์ ขยี้จะต้องขยี้แค่ไหน ทิ้งจะต้องทิ้งตรงไหน ยืดหรือ/ตัดเท่าไหร่ถึงพอดี 

อีกส่วนที่ความสั้น-ยาวส่งผลคือแพลตฟอร์ม ถ้าเป็นหนังสือคือขนาดกระดาษและการจัดวางหน้ากระดาษ ซึ่งสืบต่อเนื่องไปถึงการแก้ไขต้นฉบับให้เหมาะสมกับข้อที่สาม บางเรื่องที่แต่งบนหน้าจอเวิร์ดโปรเซสเซอร์ขนาด A4 ตอนอ่านอาจรู้สึกว่าเคาะย่อหน้าดีแล้ว ความยาวเหมาะแล้ว แต่พอไปอยู่บนหนังสือเล่มขนาด B5 ก็จะต้องปรับเปลี่ยน

คำถามว่าทำไมบางเรื่องในเล่มมันสั้นจัง? ขออนุญาตตอบในฐานะปากกาผู้คอยเฝ้ามองภวิล เฟย์ บางเรื่องที่สั้นมากๆ อาจเป็นความตั้งใจของมันก็ได้ หรืออาจเป็นความอ่อนหัดของมันก็ได้ ซึ่งบางครั้งมันตั้งใจแต่ทำไม่ถึง มันก็ต้องยอมรับในความอ่อนหัดแล้วปรับปรุงในครั้งต่อไป

ในมุมของคนที่มีความหลากหลายทางเพศและนักเขียนที่ทำงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ภวิล เฟย์ มีความเห็นยังไงกับยุคสมัยที่ให้ความสำคัญและพื้นที่กับความรักของเพศหลากหลายในงานนิยายมากขึ้น

มันตอบว่าดี ดีมาก! ไม่ใช่แค่งานนิยายหรือเรื่องสั้นนะ แต่งานเขียนประเภทคอนเทนต์ในเพจก็เยอะขึ้นมากๆ มันตามอ่านหมดแหละ อ่านไปจนคอมเมนต์ใต้โพสต์ทุกคอมเมนต์ อ่านการวิจารณ์ ถกเถียง การทะเลาะแบบหัวร้อน การให้เหตุผลแบบหัวเย็น ไปจนการแสดงความเห็นของหัวที่ไม่รับอะไรเลย มันยินดีกับยุคสมัยที่แสงสาดฉายไปหาประเด็นความหลากหลายทางเพศ หรืออันที่จริงประเด็นความหลากหลายทางเพศต่างหากที่สาดแสงฉายให้แก่ยุคสมัย เป็นหนึ่งในลำแสงที่จะพาโลกขับเคลื่อนไปสู่อนาคตที่สดใสกว่า ที่ซึ่งความหลากหลายคือความเป็นหนึ่งเดียว มันฝากบอกว่า “ขอบคุณแอ็กทิวิสต์ทุกยุคสมัยครับ”

แล้วสำหรับภวิล เฟย์ การเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของเพศหลากหลายสำคัญยังไง ทำไมเราต้องทำให้หนังสือเหล่านี้มีมากขึ้น

หนังสือคือสื่ออย่างหนึ่ง ยิ่งเป็นนิยายวัยรุ่นชวนฝันยิ่งน่าสนใจ เพราะมันทำงานกับคนที่อายุยังน้อย กำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้ เปิดกว้าง สองเท้าพร้อมที่จะวิ่งออกจากบ้านซึ่งเป็นโลกใบเก่าไปสู่โลกที่น่าตื่นเต้น นิยายเป็นสื่อที่พูดถึงความรัก เซ็กซ์ เพศ รสนิยม ความเหมือน แตกต่าง หลากหลาย พูดถึงเรื่องที่น่าตื่นเต้นและผู้ใหญ่มักบอกว่าเป็นเรื่องต้องห้ามได้เกือบครบถ้วนทุกมิติ ถ้าคนเขียนอยากจะหยอดความรู้ความเข้าใจสักหน่อยก็ไม่รู้สึกว่าโดนยัดเยียด หรือจริงๆ แล้วจะบันเทิงอย่างเดียวไม่เอาความรู้ความเข้าใจเลยก็ได้เหมือนกัน ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับคนเขียน 

จริงอยู่ งานเขียนบางงานก็ให้ความเข้าใจผิดๆ กับคนอ่าน แต่ในฐานะปากกา เราเชื่อว่าถ้าวันหนึ่งวันใดที่หนังสือ นิยาย คอนเทนต์เรื่องเพศมีมากพอในตลาด คนอ่านจะเทียบ เปรียบ ทำความเข้าใจได้เองโดยที่ไม่ต้องยัดเยียดเช่นกัน

ความคิดแบบนี้ออกจะมองโลกในแง่ดีไปหน่อย อุดมคติไปนิด แต่ถ้าไม่มีอุดมคติเป็นจุดเริ่มต้น เราก็จะไม่ได้เริ่มปลูกต้นอะไรเลย

เจ้าของคุณอยากสร้างงานเขียนแบบไหนออกมาในอนาคต

งานที่อบอุ่นหัวใจ งานที่จะทำให้คนอ่านค้นพบแสงสว่างในตัวเองแม้จะเป็นช่วงเวลามืดมนที่สุดก็ตาม 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน