คุยกับปากกาของณัฐวุฒิ เผ่าทวี ผู้เขียน ‘มนุษย์อารมณ์’

เรารู้จัก ณัฐวุฒิ เผ่าทวี จากหนังสือปกสีเหลืองสดใสชวนให้เปิดอ่านอย่าง HOW HAPPINESS WORKS AND WHY WE BEHAVE THE WAY WE DO ความสุขทำงานยังไง ติดตามอ่านงานของเขาเรื่อยมาจนถึงเล่มล่าสุดอย่าง THE EMOTIONAL MAN มนุษย์อารมณ์

ใครที่เคยอ่านงานของเขาคงคุ้นเคยกับสไตล์การเขียนแบบความเรียงกึ่งคู่มือที่มักหยิบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ศาสตร์ที่เขาเชี่ยวชาญ มาอธิบายความเป็นไปในชีวิตประจำวันของเรา ผ่านภาษาและการยกตัวอย่างที่ทำให้เข้าใจง่าย หนังสือ 2 เล่มแรกของเขาพูดถึงความสุข ในขณะที่เล่มก่อนหน้าอย่าง A GUIDE TO BEHAVING BETTER ทุกพฤติกรรมมีความเสี่ยง โปรดอย่าลำเอียงก่อนตัดสินใจ พาไปสำรวจความคิดที่โอนเอียงของมนุษย์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา ก่อนจะสำรวจเรื่อง ‘อารมณ์’ อย่างจริงจัง

มนุษย์อารมณ์

คนเราไม่ได้ใช้เหตุผลในทุกการตัดสินใจ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอนาคต เพราะพวกเราล้วนคือ ‘มนุษย์อารมณ์’ คือประเด็นตั้งต้นของหนังสือเล่มนี้

ณัฐวุฒิที่เรารู้จักคือนักเขียนผู้ขยันออกงานกับสำนักพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อค้นข้อมูลเพื่อทำความรู้จักเขามากขึ้น เราได้รู้ว่าณัฐวุฒิคือศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ (Professor of Behavioural Science) ที่ Warwick Business School ผู้สนใจศึกษาเศรษฐศาสตร์ความสุขและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอย่างเข้มข้น ณัฐวุฒิเกิดที่กรุงเทพฯ ย้ายไปอยู่อังกฤษตั้งแต่อายุ 13 ปี และเติบโตที่นั่น ในวัย 41 ปี เขาทั้งทำวิจัย สอนหนังสือ และได้รับเชิญไปพูดในงาน TED Talks ถึง 3 ครั้ง

มนุษย์อารมณ์
ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

เนื่องจากตามติ่งผลงานมานานเราจึงอยากรู้จักเขาเพิ่มมากขึ้นอีกนิด และเพราะไม่อยากรบกวนชายผู้ทำงานหนักอยู่แล้วเกินไป เราจึงชวน ‘ปากกาไอแพด’ ที่ณัฐวุฒิใช้เขียนหนังสือมาตั้งแต่เล่มแรก ถ้าเปรียบกับปากกาคู่ใจที่นักเขียนทุกคนต้องมี ณัฐวุฒิบอกว่าปากกาไอแพดด้ามนี้แหละคือปากกาคู่ใจ

เบื้องหลังการทำงานของ ‘มนุษย์อารมณ์’ เป็นยังไง แล้วคนเขียนเป็นมนุษย์อารมณ์หรือเปล่า ต่อไปนี้คือคำตอบจากปลายปากกา

แนะนำตัวให้เราฟังหน่อยสิคุณปากกา

สวัสดีค่ะ ดิฉันคือปากกาไอแพดของคุณณัฐวุฒิ เผ่าทวี เขาซื้อฉันมาเมื่อ 4 ปีก่อนจาก Apple Store ในย่านโคเวนต์การ์เด็น กรุงลอนดอน

มนุษย์อารมณ์

หลังจากช่วยณัฐวุฒิเขียนหนังสือมาแล้ว 4 เล่ม คุณคิดว่าเขามีการเติบโตด้านการเขียนยังไงบ้าง

ดิฉันคิดว่าตอนนี้เขามีความเชื่อมั่นในการเขียนภาษาไทยมากกว่าแต่ก่อนเยอะเลยค่ะ เพราะคุณณัฐวุฒิเรียนวิชาภาษาไทยถึงแค่ตอน ม.1 ก่อนจะย้ายมาอังกฤษ เพราะฉะนั้นถ้อยคำที่เขาใช้เขียนในบทความหรือหนังสือเล่มแรกๆ จึงไม่ค่อยสละสลวยเท่าไหร่ แต่เขาก็มีพัฒนาการจนมาถึงเล่มล่าสุดนี่ล่ะ

ยังไงก็ตามสิ่งที่ยังแข็งแรงเสมอต้นเสมอปลายคือสไตล์การเขียนของเขา ซึ่งคือการเล่าผลงานวิจัยต่างๆ ที่ปกติอาจเข้าใจยากให้ฟังดูเข้าใจง่ายขึ้น ก็ยังเป็นเหมือนเดิมตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มล่าสุดค่ะ

เท่าที่อยู่ด้วยกันมา ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอย่างเขามองทุกเรื่องเป็นเศรษฐศาสตร์หมดเลยไหม

เท่าที่ดิฉันสังเกต คุณณัฐวุฒิจะมองพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ผ่านเลนส์ของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากกว่านักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก พูดง่ายๆ ก็คือเขามักจะมองพฤติกรรมของคนว่าเป็นสิ่งที่ถูกบงการด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผลทั้งนั้น นี่คือเสน่ห์ของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมสำหรับเขาเลยค่ะ

ในหนังสือของเขามีกลวิธีการเล่าเรื่องยากๆ ที่น่าสนใจ คือการยกตัวอย่างให้เห็นภาพ บางครั้งก็หยิบทฤษฎีของนักเศรษฐศาสตร์หรือคนดังมาบรรยายประกอบแบบเข้าใจง่าย แรงจูงใจของการเล่าแบบนี้มาจากไหน

คงมาจากประสบการณ์การสอนหนังสือของคุณณัฐวุฒิเขาน่ะค่ะ แต่ไหนแต่ไรคุณณัฐวุฒิไม่ใช่คนเรียนเก่ง สอบไม่เคยได้เกรดเอเหมือนคนอื่นเขา ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่คุณครูหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยพยายามสอนและอธิบายทฤษฎีต่างๆ ให้เขาฟัง

พอได้มีโอกาสมาเป็นอาจารย์บ้าง เขาเลยตั้งใจว่าจะสอนคนอื่นให้เหมือนกับที่เขาเคยอยากเรียน สอนแบบเอาเรื่องยากๆ มาย่อยให้เข้าใจง่าย และใช้วิธีเดียวกันนี้มาประยุกต์กับการเขียนหนังสือด้วยเช่นกัน

มนุษย์อารมณ์

คุณคิดว่าณัฐวุฒิเป็น ‘มนุษย์อารมณ์’ หรือเปล่า ในชีวิตประจำวันเขาใช้อารมณ์หรือเหตุผลมากกว่ากัน

เขาเป็นมนุษย์อารมณ์นะ และเขาก็รู้ตัวด้วยว่าเขาเป็นแบบนั้น คุณณัฐวุฒิเลยวางแผนชีวิตในแต่ละวันเพื่อปกป้องตัวเองจากการตัดสินใจที่ใช้แต่อารมณ์

ยกตัวอย่าง เขารู้ตัวว่าชอบกินขนมจุกจิก ถึงจะรู้ว่าไม่ควรกินแต่ก็ห้ามใจไม่ค่อยได้ คุณณัฐวุฒิจึงมักจะเอาขนมจุกจิกไปเก็บไว้ไกลตา และทุกครั้งที่อยากกินขนมเขาจะถามภรรยาก่อนว่าถึงเวลากินหรือยัง ถ้าภรรยาบอกว่ายังเขาจะตัดใจ เพราะเขารู้ว่าภรรยาที่ไม่อยากกินขนมจุกจิกเหมือนเขาสามารถตัดสินใจโดยใช้เหตุผลมากกว่าเขาได้

แล้วช่วงเวลาไหนที่เขาเป็นมนุษย์เหตุผล

คงเป็นตอนสอนเด็กและตรวจข้อสอบ ช่วงนั้นเขาต้องใช้ระบบการคิดที่ค่อยๆ ไตร่ตรอง ถึงจะช้าแต่มีเหตุผลมากที่สุด ลองนึกภาพการตรวจข้อสอบที่เน้นความเร็วและใช้อารมณ์ในการตัดสินใจสิ ผลการตรวจอาจจะขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นเขากำลังหิวอยู่หรือเปล่า หรืออารมณ์เสียอยู่หรือเปล่า

มนุษย์อารมณ์

เคยมีเหตุการณ์ที่เขาตัดสินใจด้วยอารมณ์ แต่รู้สึกว่าคิดถูกมากๆ บ้างไหม เหตุการณ์นั้นคืออะไร

น่าจะเป็นตอนที่เขาอยากสมัครเรียนต่อปริญญาโทที่ลอนดอนค่ะ ตอนนั้นเพื่อนสนิทของเขาบอกว่าลอนตอนรถติดมาก ไม่ค่อยอยากขับไปส่งเขาเลย อยากขับรถไปโคเวนทรีเพื่อไปส่งเขาเรียนต่อที่ Warwick University น่าจะสนุกกว่า

แทนที่จะปฏิเสธเพราะอยากเรียนที่ลอนดอนมากกว่า คุณณัฐวุฒิก็ตอบตกลงไปด้วยเฉย แต่มองย้อนกลับไป ถ้าปฏิเสธเพื่อนในวันนั้นเขาก็คงจะไม่ได้มาเรียนเรื่องของเศรษฐศาสตร์ความสุขกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และคงจะไม่ได้มาพบเจอกับอนาคตภรรยาของเขาที่นี่แน่ๆ

แล้วมีเหตุการณ์ไหนที่เขาตัดสินด้วยอารมณ์ และสุดท้ายกลายเป็นความเสียดายไหม

ก็คงจะเรื่องกินนี่แหละค่ะ ไม่น่ากินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเยอะๆ แล้วมารู้สึกท้องอืดทีหลัง

ใน THE EMOTIONAL MAN มนุษย์อารมณ์ มีย่อหน้าหนึ่งที่ณัฐวุฒิเขียนไว้ว่า ส่วนใหญ่เราใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากกว่าใช้เหตุผล เพราะฉะนั้นเราควรเริ่มตั้งข้อสังเกตกับการตัดสินใจของเราให้ดี สำหรับเขาความสำคัญของการใช้เหตุผลตัดสินใจคืออะไร

เพราะการตัดสินใจหลายๆ อย่างในชีวิตของเราอาจส่งผลต่อทั้งชีวิต อย่างการซื้อบ้าน การเลือกงาน หรือแม้แต่การเลือกคู่ครอง เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามตัดสินใจโดยที่ไม่ให้อารมณ์เข้ามามีส่วน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ เสียใจ อยาก เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่เดี๋ยวก็มาเดี๋ยวก็ไป แต่ใช้เหตุผลมาเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจดีกว่า

เราจะออกแบบสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวให้รองรับการตัดสินใจที่จะไม่เสียใจทีหลังได้ยังไง

ถ้าเรารู้ว่าใช้อารมณ์ในการตัดสินใจบ่อยครั้ง ใช้อารมณ์ในชีวิตประจำวันมากกว่าใช้เหตุผล เราก็ควรจะสร้างกลไกบางอย่างเพื่อป้องกันการตัดสินใจโดยใช้อารมณ์อย่างเดียวได้ เช่น ถ้ารู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราเหวี่ยงคนรอบข้างเพราะโกรธ เรามักจะเสียใจในภายหลังทุกครั้ง เราอาจเขียนโน้ตเตือนใจติดไว้บนฝาผนังห้องว่า ตอนโกรธอย่าเพิ่งเหวี่ยง เมื่อรู้ว่าโกรธ ลองรอให้อารมณ์เราเย็นลงก่อน เพราะตอนที่อารมณ์เย็นลงเราอาจจะรู้สึกกับเหตุการณ์นั้นอีกอย่างหนึ่งก็ได้ค่ะ

ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ณัฐวุฒิพึ่งพาอารมณ์ในการเขียนมากน้อยแค่ไหน

จริงๆ เขาไม่ค่อยพึ่งพาอารมณ์อื่นนอกจากอารมณ์ดีเลยนะคะ แต่ดิฉันสังเกตว่าถ้าวันไหนเขารู้สึกเนือยๆ หรือแย่จนเขียนหนังสือไม่ได้ละก็ คุณณัฐวุฒิก็จะพา ‘ผัดหมี่’ สุนัขของเขาออกไปเดินข้างนอก หรือไม่ก็หาหนังดีๆ ดูสักเรื่อง แค่นั้นเขาก็กลับมาอารมณ์ดีได้เหมือนเดิมแล้วค่ะ

มนุษย์อารมณ์
ณัฐวุฒิและผัดหมี่ สุนัขของเขา

แล้วคุณปากกาล่ะ ถ้าเปรียบตัวคุณให้เป็นอารมณ์อะไรก็ได้ คุณอยากเป็นอารมณ์อะไร

อารมณ์ดี เพราะอารมณ์ดีเหมือนเจ้าของไงล่ะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

น้ำปาย ไชยฤทธิ์

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการ a day / นักอ่านสิ่งพิมพ์อิสระ สะสมสารพัดของไร้สาระ และมีแพสชั่นกับเรื่องผีเป็นพิเศษ