ชมท้องฟ้าที่ต้องก้มหน้าลงมองในงานเซรามิกของ Flowers in the Vase

Highlights

  • นี่คือเรื่องราวของศิลปินผู้เลือกเอาเทคนิค Nerikomi มาพลิกแพลงในการสร้างงานเซรามิก ซึ่งเป็นวิธีการที่หาได้น้อยคนนักที่จะทำ
  • ลักษณะของชิ้นงานมีความโดดเด่นชวนมอง ด้วยลวดลายที่คล้ายสะท้อนภาพท้องฟ้าและปรากฏการณ์ลงมาไว้บนงานเซรามิก
  • ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าจะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถใช้มือสัมผัสท้องฟ้าและก้มหน้าลงชื่นชมมัน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าท้องฟ้ามีอิทธิพลกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อาจไม่ถึงขั้นตลอดเวลา แต่คงมีบ้างล่ะที่เราหยิบยกเอาลักษณะของท้องฟ้าในบางช่วงยามมาเชื่อมโยงกับความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเศร้า เหงา สุขสันต์ สดใส หรือเฉยๆ ความรู้สึกเหล่านี้อาจเปลี่ยนรูปแบบเป็นแรงบันดาลใจให้เราลงมือทำอะไรบางอย่าง

บางคนยกกล้องขึ้นถ่ายภาพ

บางคนเขียนหนังสือ

บางคนตัดสินใจออกเดินทาง

บางคนนั่งวาดภาพ

บางคนนอนฟังเพลง

เช่นกันกับ เอิร์ธ–ปพิชชา ธนสมบูรณ์ และ หน่อไม้–สุภัทรชัย เชื่อธรรมสอน พวกเขาหลงใหลในธรรมชาติและท้องฟ้า จึงเก็บเกี่ยววัตถุดิบที่หยิบคว้าเอามาได้ตลอดและไม่มีวันหมดอย่างท้องฟ้ามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างชิ้นงาน เสมือนการจดบันทึกผ่านงานเซรามิก

Flowers in the Vase

ทั้งสองรวมตัวกันภายใต้แบรนด์ Flowers in the Vase และผ่านการจัดแสดงชิ้นงานมาอยู่บ้าง ล่าสุดพวกเขากำลังมีนิทรรศการชื่อว่า Monsoon ซึ่งเหมาะกับสภาพฟ้าฝนแปรปรวนอย่างตอนนี้เป็นอย่างมาก

ท่ามกลางฝนที่โหมกระหน่ำ เราอยากชวนคุณมาฟังเรื่องราวผลงานของพวกเขา ตั้งแต่การเริ่มต้นด้วยท้องฟ้าสดใสและลงเอยด้วยมรสุม พวกเขาต้องผ่านลมฟ้าลมฝนอะไรมาบ้าง 

Flowers in the Vase

 

ท้องฟ้ายามเช้า

จากคนที่ชอบงานเพนต์และสนุกกับการจัดองค์ประกอบเป็นทุนเดิม เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เอิร์ธเริ่มขยายความสนใจสู่งานเซรามิก จนพัฒนามาเป็นความหลงใหลในความละเอียดอ่อนทุกขั้นตอนของงานประเภทนี้ 

ในบรรดาเทคนิคหลากหลายที่ได้เรียน เธอติดใจเทคนิคที่เรียกว่า Nerikomi เป็นพิเศษ และนำมาประยุกต์กับความสนใจเรื่องสีสันจนเกิดเป็นงานในรูปแบบเฉพาะตัวอย่างที่เราติดใจ

“จริงๆ การทำเซรามิกนั้นมีหลายเทคนิค มันพลิกแพลงได้เยอะมาก อย่างเทคนิคที่เราเห็นทั่วไปจะเป็นการเคลือบสีลงบนผิว แต่เทคนิคเนริโคมิคือการนำสีผสมไปในเนื้อดิน แล้วเอาดินแต่ละสีมาซ้อนเป็นชั้น รีดเป็นแผ่น แล้วค่อยขึ้นรูป ซึ่งจะทำให้ทั้งด้านนอกและด้านในของภาชนะกลายเป็นลายเดียวกัน”

Flowers in the Vase

Flowers in the Vase

เพราะชอบชื่นชมท้องฟ้าและชอบบันทึกภาพเก็บไว้ เธอจึงนำความชอบนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการจดบันทึกท้องฟ้าผ่านงานเซรามิก

“เอิร์ธเริ่มจากสิ่งที่ชอบและอยู่กับมันได้นานอย่างธรรมชาติที่อยู่รอบตัว เราชอบท้องฟ้า ชอบมองท้องฟ้า ชอบถ่ายรูป แต่ก็เก็บไว้กับตัวเองไม่ได้โพสต์ เราแค่รู้สึกว่ามันสบาย ผ่อนคลาย แสงของแต่ละวันก็ไม่เหมือนกัน แสงตอนเช้าและตอนเย็นของแต่ละเดือนก็ไม่เหมือนกัน เราเลยอยากลองทำลวดลายท้องฟ้าลงในเซรามิกดู”

Flowers in the Vase

 

ฟ้าฝนเป็นใจ

ความทุ่มเทต่องานเซรามิกทำให้ทีสิสของเอิร์ธได้รับรางวัลจากการแสดงศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติในปี 2018 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เอิร์ธได้จัดแสดงงานชุด ‘Every Day’ ใน Chiang Mai Design Week 2018

งานนี้เองคือครั้งแรกที่ ‘หน่อไม้’ เข้ามาร่วมพัฒนางานด้วย โดยใช้ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมที่เขาเรียนมาผสมกับประสบการณ์การทำงานออกแบบและจัดนิทรรศการที่เขายังทำอย่างสม่ำเสมอ

“ตอนแรกเอิร์ธสมัครไปแสดงงานที่ Chiang Mai Design Week กะเอางานทีสิสไปแสดง แต่พอได้รับคัดเลือก ทีสิสของเอิร์ธก็ได้รางวัลจากการแสดงศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ ซึ่งองค์กรเจ้าของรางวัลเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการเก็บงานไว้ในมิวเซียม เราไม่สามารถนำออกมาแสดงได้ ตอนนั้นเราเลยต้องมานั่งคิดว่าเราจะเอาอะไรไปแสดงที่เชียงใหม่ดี” หน่อไม้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานด้วยกัน

Flowers in the Vase

Flowers in the Vase

Flowers in the Vase

“เราอยากสื่อสารกับคนเรื่อง everyday life คนเรากินข้าวทุกวัน ภาชนะที่ใส่ข้าวก็คือจาน ชาม เลยลองทำชามวันละใบ 30 วัน 30 ใบ ท้องฟ้าก็เปลี่ยนไปในแต่ละวัน ซึ่งส่งผลถึงอารมณ์ของเราด้วย”

แม้ดูเป็นกระบวนการที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของคนทำ แต่เอิร์ธก็ปฏิเสธพลางหัวเราะว่าเธอไม่ได้ใช้ ‘อารมณ์ศิลปิน’ ขนาดนั้น

“กระบวนการไม่ได้อาร์ตขนาดนั้นหรอก ไม่ใช่ว่าวันนี้เราหงุดหงิดมากเราก็ขยำดินเลย มันเหมือนเป็นบันทึกมากกว่า เช่น เราแค่รู้สึกว่าวันนี้อยากทำสี ทำลวดลายประมาณนี้ อารมณ์ประมาณนี้ เราก็ลองทำขึ้นมา แต่สุดท้ายเราอยากให้งานมันเล่าเรื่องด้วยตัวเอง คนมาดูงานเราแล้วอาจจะรู้สึกไม่เหมือนกับเราก็ได้”

Flowers in the Vase

 

ท้องฟ้าเปลี่ยนไป

ทุกคนคงจำภาพเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ดี เมื่อชาวเมืองต่างเดินใส่หน้ากากสวนกันไปมาบนท้องถนน ช่วงนั้นใครๆ คงลืมภาพท้องฟ้ายามปกติสุขไปอย่างง่ายดาย เพราะมีฝุ่น PM2.5 บดบังเสียจนมิด

เมื่อท้องฟ้าเปลี่ยนไป ไม่แปลกที่ Flowers in the Vase ผู้สนใจท้องฟ้าเป็นพิเศษเลือกบันทึกท้องฟ้าสีเทาเอาไว้ แม้มันจะไม่สวยงามอย่างที่ท้องฟ้าควรเป็น

ผลงานชุดนี้ชื่อ ‘The Day After Every Day’

Flowers in the Vase

“ช่วงนั้นเราอยากสื่อสารเรื่องฝุ่น PM2.5 เราคิดว่าท้องฟ้าสวยๆ ที่เราเห็นทุกวัน พอวันหนึ่งมีฝุ่นปกคลุมมันก็ไม่ได้สวยงามอีกต่อไป” หน่อไม้เท้าความถึงงานที่ทำให้พวกเขาได้รู้จักท้องฟ้าแบบใหม่ๆ

ที่สำคัญ มันช่วยต่อยอดเทคนิคของพวกเขาด้วย

“ผลงานชุดนี้มีเทคนิคต่างไปจากเดิมตรงที่เอาไปเผาแบบรมควัน เราก่ออิฐ สร้างเตาเอง แล้วก็ปิดไว้ให้มีควันเข้าไปทำให้เกิดเอฟเฟกต์ในงาน จนออกมาเป็นสีคล้ายเขม่าควัน แตกต่างจากงานปกติที่เผาด้วยเตาไฟฟ้าธรรมดา”

ครั้งนี้พวกเขาลองทำแจกัน เพราะอยากทำรูปแบบเรียบง่ายและสามารถนำไปใช้งานได้ง่ายภายในบ้าน นอกจากนี้ยังได้ทีม Splendour Solis เข้ามาช่วยกันทำให้แนวคิดของเอิร์ธปรับเปลี่ยนจากความสดใสสวยงามมาเป็นความมัวหม่นมากขึ้น 

เพราะบางที เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือท้องฟ้าที่เราต้องเผชิญในสักวัน

Flowers in the Vase

 

ท้องฟ้าที่เผชิญมรสุม

จากท้องฟ้าที่สดใส สู่ท้องฟ้าที่ปกคลุมด้วยฝุ่น ล่าสุดเอิร์ธและหน่อไม้อยากลองตีความท้องฟ้าในมุมมองใหม่ๆ บ้าง จนเกิดเป็นงาน Monsoon : Exhibition of Ceramic Memoirs

ครั้งนี้แตกต่างจากงานครั้งก่อนๆ เพราะนอกจากจัดแสดงงานแล้ว พวกเขายังวางจำหน่ายสินค้าอีกด้วย วิธีคิดงานจึงต้องคำนึงถึงการนำไปใช้มากขึ้น จนทำให้ผลงานชุดนี้มีรูปแบบเป็นภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แก้ว จาน ชาม แจกัน

“จุดเริ่มต้นของงานชุดนี้คือเราทำงานเกี่ยวกับท้องฟ้ามาเยอะแล้ว เราชอบมัน เรารักมัน แต่เราพยายามหาสิ่งใหม่ๆ มาเล่า พยายามหนีตัวเองเพื่อเรียนรู้ ตอนนั้นเราคุยกับเอิร์ธว่าสนใจเรื่อง phenomenon หรือปรากฏการณ์”

นอกจากจะตีความท้องฟ้าในมุมมองใหม่แล้ว สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการทดลองใช้สีคู่ตรงข้ามและคู่สีต่างๆ มาซ้อนกัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เอิร์ธไม่เคยทำมาก่อน

“พอมาถึงกระบวนการที่เราต้องเป็นพาร์ตเนอร์กัน เราก็ต้องวิเคราะห์งานของเอิร์ธ โยนไอเดีย เบรนสตอร์ม เพื่อหาคาแร็กเตอร์ใหม่ๆ เมื่อก่อนเอิร์ธจะไม่ค่อยกล้าใช้สีเพราะมองว่าสีบางสีสดไป บางสีเอิร์ธไม่ถูกจริต แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นในการคุยเรื่องสีว่ามันจะเกิดปรากฏการณ์อะไรที่ทำให้เราเรียนรู้ไปกับมัน”

แต่แล้วคอนเซปต์จริงๆ ก็เกิดขึ้นมาอย่างไม่ได้คาดเดาเอาไว้ หลังจากพวกเขาผลิตงานได้จำนวนหนึ่ง เอิร์ธและหน่อไม้เริ่มสังเกตชิ้นงานว่าพวกมันกำลังสื่อสารอะไรบางอย่าง และพวกเขาก็ได้ทบทวนความรู้สึกของตัวเองผ่านผลงานเช่นกัน

งานของเราเหมือนเป็นการทดลองน่ะ ตอนแรกไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นยังไง พอทำออกมาได้จำนวนหนึ่งแล้วเอามาดู เรารู้สึกว่า เฮ้ย ชิ้นงานมันทำให้เราคิดถึงเวลาที่พายุพัดเข้ามาซึ่งมันน่ากลัว แต่พอพายุผ่านไป เรารู้สึกถึงคำว่าฟ้าหลังฝน

“เรื่องนี้มันทำให้เรานึกถึงคำว่า ‘มรสุม’ ซึ่งมันดูรุนแรง แต่ท้ายที่สุดเราก็ผ่านไปได้ เหมือนกับทุกอย่างนั่นแหละ แล้วพอผ่านมันไปได้ มันก็ดีนะ งานของเราจึงเป็นบันทึกความทรงจำในช่วงมรสุม เราอยากสื่อว่า คุณอาจจะรู้สึกว่าทุกอย่างมันแย่ไปหมด แต่มันก็ยังมีเรื่องดีๆ และฟ้าหลังฝนมันก็สวยงาม”

แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเห็นเป็นเรื่องปรากฏการณ์เพียงอย่างเดียว เพราะงานศิลปะจะสื่อความหมายต่างออกไปตามสิ่งที่แต่ละคนเคยเผชิญ เหมือนกับท้องฟ้านั่นแหละ ที่ทุกคนย่อมตีความต่างกันออกไป

แล้วท้องฟ้าของคุณล่ะเป็นแบบไหน?

ตามไปดูนิทรรศการ Monsoon : Exhibition of Ceramic Memoirs ได้ที่ Siam Discovery ระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน – 12 กรกฎาคมนี้ และติดตามเรื่องราวอื่นๆ ที่นี่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น