Aoon Pottery : ส่วนผสมที่ลงตัวของคาเฟ่และสตูดิโอเซรามิก

ตึกแถวขนาด 1 คูหาซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางบรรดาร้านอะไหล่เซียงกงย่านวงเวียน 22 ที่นี่อาจไม่ใช่ทำเลทองสำหรับเปิดคาเฟ่ แต่สำหรับ ง้วนพลเสฏฐ์ โลหะชาละธนกุล อดีตวิศวกรผู้หลงใหลในงานเซรามิกและ เฟรย์-ณทพน จารุวัชระพน ช่างภาพที่ติดใจเสน่ห์ของม้วนฟิล์ม คงไม่มีที่ใดสงบเหมาะสมจะเป็นสตูดิโอเซรามิกและห้องล้างฟิล์มของพวกเขามากกว่านี้อีกแล้ว

งานเซรามิกยังไม่เป็นที่นิยมในวงกว้างทำให้การเปิดสตูดิโอเซรามิกเพียงอย่างเดียวอาจไม่ตรงใจคนมากนัก คาเฟ่จึงเข้ามาเป็นสื่อกลางพิเศษ ช่วยพาผู้คนให้เข้าใกล้เซรามิกซึ่งเป็นภาชนะของร้านมากยิ่งขึ้นกลายเป็นจุดกำเนิดของ Aoon Pottery คาเฟ่อาหารและเครื่องดื่มผสมผสานกับสตูดิโอเซรามิกที่รับทำถ้วยชาม พ่วงด้วยแนวคิด Living Gallery ที่ให้คนได้ลองใช้งานเซรามิกจริงๆแนวคิดเก๋ๆ นี้เองคือเหตุผลที่เราอยากชวนเจ้าของทั้งสองมานั่งพูดคุยในวันนี้

ปั้นงานอดิเรกเป็นอาชีพ

ความชื่นชอบในงานเซรามิกของง้วนเริ่มต้นอย่างเรียบง่ายในคอร์สสอนเพนต์แก้วเซรามิกของมหาวิทยาลัยศิลปากร
ก่อนจะทวีคูณกลายเป็นความหลงใหลที่ทำให้เขาถึงกับลาออกจากงานสายวิศวกรรมและเริ่มต้นชีวิตใหม่เพื่องานเซรามิกอย่างเต็มตัว

ง้วน: “ตอนแรกเราทำเป็นงานอดิเรกอยู่สองถึงสามปี ทำไปทำมาก็อิน รู้สึกว่ามีเวลาไม่พอเลยตัดสินใจมาทำตรงนี้เต็มตัว ตอนแรกตั้งใจจะไปเรียนต่อแต่สุดท้ายไปฝึกงานที่เชียงราย เราไปอยู่บนดอย ฝึกปั้นเซรามิกทั้งวันทั้งคืนพอกลับมาก็ไป Artist Residency ที่ Hubba-to แล้วก็ไปเจอพี่เฟรย์ซึ่งวิธีการทำงานหรือความตั้งใจของเราคล้ายๆ กันก็เลยมาทำด้วยกัน”

ส่วนผสมธุรกิจของสามตัวตน

ง้วน: “เราคิดก่อนว่าเราอยากทำสตูดิโอเซรามิก ก็มาคิดว่าอย่างน้อยมันต้องมีที่ทำงาน มี Living Gallery ดังนั้นก็ต้องมีคาเฟ่ ก็ไปคุยกับฮง (น้องชายของพี่ง้วน) ที่ชอบทำอาหารมันก็ sync กัน แล้วเราชอบถ่ายรูป พอไปเจอเฟรย์ตัวเนื้องานมันอาจจะไม่เหมือนกันแต่วิธีการทำงานมันคล้ายกันคือบ้างาน แล้วเราชอบความจริงจังของเฟรย์ คุยกันถูกคอ ก็เลยชวนมาทำ มันก็เลยเป็นรูปเป็นร่าง

ที่ร้านจะแบ่งเป็นสามส่วนเหมือนเป็นความชอบของ 3 คน เฟรย์ชอบถ่ายรูปก็มีห้องมืด เราชอบปั้นก็มีห้องปั้น ฮงชอบทำอาหารก็มีคาเฟ่มันเชื่อมกันด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้นงานจะเป็นไปตามธรรมชาติของมัน

“เมนูในร้าน เป็นอาหารที่เรากินกันอยู่แล้ว ความจริงเราไม่ตั้งใจเปิดเป็นคาเฟ่เต็มตัวแค่อยากเอาอาหารมาเป็นสื่อ ที่เด่นๆ ก็มีข้าวหมูสะเต๊ะเป็นเมนูที่อาม่าเราทำให้กินตั้งแต่เด็ก เขาจะเอาหมูสะเต๊ะมาผัดแล้วก็เสิร์ฟคู่กับไข่ดาวที่พับเป็นสามเหลี่ยม เราก็เพิ่งรู้ว่ามันไม่ค่อยมีให้เห็น

ส่วนเครื่องดื่มจะมีสองเมนูจากเพื่อน 2 คน อย่างเพื่อนเราชื่อ ‘ที’ ชอบกินชาเย็นมากมันเลยมาเบลนด์ชาให้เรา เป็นชาเย็นไทยที่เข้มกว่าปกติ ใช้ชาประมาณสี่ห้าตัวผสมกัน เราก็เลยตั้งชื่อว่าเป็นชาของทีส่วนโกโก้เรามีเพื่อนอีกคนชื่อ ‘ดั๊มพ์’ ที่ชอบกินโกโก้มาก เราก็เลยมาเทสต์กันว่าดั๊มพ์ชอบกินรสไหนแล้วตั้งชื่อว่าเป็นโกโก้ของดั๊มพ์”

Aoon Pottery = Living Gallery + Studio

ง้วน: “จริงๆ แล้วสตูดิโอควรจะมีเซรามิกเป็นหลักแล้วมีคาเฟ่มาช่วยเสริม เราอินเซรามิกในแง่การใช้งาน ซึ่งทุกวันนี้มันถูกสื่อผ่านด้วยอาหาร เรารู้สึกว่าคาเฟ่มันดูเป็นคำตอบที่ให้คนได้ลองใช้งานเซรามิก เหมือนจริงๆ แล้วมันคือสตูดิโอบวก Living Gallery ที่มีอาหารเป็นสื่อกลาง

“คาเฟ่ที่เป็น Living Gallery คือแกลเลอรี่ที่สามารถใช้งานเซรามิกได้จริงๆ ปกติงานศิลปะจะแขวนให้คนดู แต่ฟังก์ชันของเซรามิกคือการใช้งาน เราก็เลยให้ใช้งานจริงๆ

“อันดับแรกเลยที่เราอยากให้คนรู้สึกคือกินแล้วมันอร่อยกว่า คืออาหารอร่อยอยู่แล้ว แต่จะดีกว่ามั้ยถ้าอาหารมันถูกใส่ในจานที่เรารู้สึกกับมันมากกว่ามันจะอร่อยกว่า เป็นความสุขที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องของฟังก์ชัน แก้วแต่ละชนิด วิธีการใช้ก็ต่างกัน เราก็ต้องศึกษา ทดลองไปเรื่อยๆ จริงๆ
แล้วลักษณะการใช้งานเราไม่ได้ลึกขนาดนั้นอยู่ที่ความซีเรียสของคนใช้ เราก็เลยพยายามทำแก้วหลายๆ แบบเพื่อให้คนที่เขาชอบต่างๆ กันได้มีใบที่ชอบของตัวเอง”

สร้างความเข้าใจเพื่อการเติบโตของวงการ

ง้วน: “คนไม่ค่อยเข้าใจเซรามิกก็เลยไม่อิน ไม่ใช้ เซรามิกไทยคือเบญจรงค์ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ตั้งโชว์ในตู้ ไม่ได้จับมาใช้ ทำให้ไม่เห็นคุณค่ามัน
ตรงข้ามกับตัวอย่างที่เราเคยเห็น ลองนึกภาพญี่ปุ่น จีน เกาหลี เขากินข้าว ใช้ถ้วยซุปถ้วยชา ก็เลยอินกับมัน มีคนใช้งานสิ่งที่คนผลิตขึ้นมาทีนี้อะไรก็เป็นไปได้

“เราเชื่อว่าปริมาณคนที่จะเสพมีเยอะมากแค่ยังไม่มีคนลงมาทำถ้ามีร้านเซรามิกเยอะๆ คนบ้านเราจะเข้าใจเซรามิกมากขึ้น ตอนที่ทำแรกๆ เราก็คิดเยอะเหมือนกันเพราะไม่มีตัวอย่างให้ดูเลย แต่คิดว่าน่าจะมีโอกาสก็เลยลองทำดู”

งานคือชีวิต

ง้วน: “เรารู้สึกว่าเซรามิกไม่ใช่แค่ถ้วย ถ้าเราได้ลองใช้ รู้ที่มาที่ไป หรือได้ลองทำ มันสอนเราเหมือนกัน ตอนแรกที่ทำเซรามิก เราเรียนวิศวะมาเราก็วาดเป๊ะมาก แต่งานเซรามิกธรรมชาติมันคือการแชร์ เราทำ 50 เปอร์เซ็นต์ ธรรมชาติทำ 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ก็จะเป็นทุกข์รู้สึกว่ามันสัมพันธ์กับการใช้ชีวิต ถ้าเราไปคาดหวังเยอะจะทุกข์ทำให้แนวคิดในการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป มีความสุขง่ายขึ้นทุกข์น้อยลงเรารู้สึกว่าเรื่องการถ่ายรูปมันก็คล้ายกัน”

เฟรย์: ถ่ายรูปฟิล์มเป็นเหมือนกับการใช้จินตนาการครึ่งหนึ่ง ความรู้สึกครึ่งหนึ่ง บางทีรูปในจินตนาการอาจจะไม่เหมือนรูปที่เราเห็นจริงๆ ก็ได้ ทำให้เราเข้าใจชีวิตง่ายขึ้น บางทีมันก็ไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิด”

ธุรกิจที่เอาไว้ฝึกตน

เฟรย์: “ห้องล้างฟิล์มตอนนี้ยังไม่ได้เปิดให้คนอื่นเข้ามาใช้ มีรับล้างฟิล์มให้คนรู้จัก รุ่นพี่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เอาไว้ทำงานตัวเอง”

ง้วน: “คิดอยู่ว่าจริงๆ (ที่ร้าน) ควรจะมีแจกัน ไห คิดว่าน่าจะค่อยๆ ทำออกมาเรื่อยๆ แต่ตอนนี้จะเป็นพวกถ้วยชามก่อนเพราะว่าต้องฝึกฝีมือ ใช้เวลาสักพัก พวกงานที่เราจะทำสนองความต้องการตัวเองเดี๋ยวค่อยทำออกมา”

Aoon Pottery

ประเภทธุรกิจ: คาเฟ่และสตูดิโอเซรามิก
คอนเซปต์: Living Gallery
และสตูดิโอเซรามิกที่มีอาหารเป็นสื่อกลาง
เจ้าของ: พลเสฏฐ์
โลหะชาละธนกุล (30 ปี) และ ณทพน จารุวัชระพน (29 ปี)
Facebook | Aoon Pottery

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปวริศา สันติวิริยกาญจน์

ช่างภาพสาว a team junior 13 ที่ไฮเปอร์มากหน่อย หลงรักการท่องเที่ยวและมีความหิวตลอดเวลา