Tara books : สตูดิโอหนังสือทำมือแดนภารตะที่ใช้หัวใจนำทาง

ในวันที่เทคโนโลยีการพิมพ์หนังสือก้าวหน้า
มีการผสมสี CMYK ได้อย่างใจ
มีโปรแกรมแต่งภาพ วางเลย์เอาต์หลากหลายเจ้า
แต่ ‘ฉัน’ นักเรียนศิลปะในเมืองศานตินิเกตันกลับมีโชคได้พบกันกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาพิมพ์หนังสือด้วยสองมือ ไม่ง้อโรงพิมพ์ ไม่แคร์เครื่องจักรราคาแพง
อย่าง Tara books โดยบังเอิญ

หนึ่งในวิธีการทำหนังสือของ Tara books ที่ดึงเอาเทคนิค Hand Block-Printed แกะสลักสวดลายจากไม้และปั้มลงไปบนผืนผ้า

The Cloth of the Mother Goddess หนังสือทำมือสไตล์ textile book

วินาทีที่เดวิด เพื่อนต่างชาติที่บังเอิญพบในโกลกาตา (Kolkata) หยิบ
Tree หนังสือภาพสำหรับเด็กของสำนักพิมพ์ Tara books ที่พิมพ์ด้วยมือทั้งเล่มขึ้นมาเล่าเรื่องราวการผจญภัยกว่าจะมาเป็นเล่มอย่างที่เห็นราวกับเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมผลิต
หัวใจของฉันก็เต้นไม่เป็นจังหวะ
เพราะสนใจการทำหนังสือมานาน
และตรอมใจกับความเป็นไปไม่ได้กับค่าพิมพ์แสนแพงที่คนทำหนังสือทุกคนรู้ดี

“หนังสือภาพ Tree ใช้กระดาษแฮนด์เมดสีดำเนื้อค่อนข้างหนา พิมพ์สีหลากสีสันอย่างประณีตและละเอียดที่สุด” เดวิดบอกอย่างนั้น พลางพลิกด้านหลังปกที่ติดแผ่นสติกเกอร์เล็กๆ
เขียนตัวเลขด้วยลายมือว่า 1555/3000 ให้ด้วยพร้อมรอยยิ้ม “ดูนี่สิ
หนังสือเล่มนี้เลอค่าแค่ไหน มันเป็นเล่มที่ถูกพิมพ์มือขึ้นเป็นเล่มที่ 1,555
จากทั้งหมด 3,000 เล่ม”

ฉันถามเพื่อนอย่างงๆ
ว่ามันเป็น Handmade Printing ยังไง?

“เขาพิมพ์ด้วยเทคนิค Silk Screen” ฉันทำท่างงซ้ำ เพราะล่าสุดที่ช่วยเพื่อนชาวอินเดียพิมพ์งาน
Silk Screen อยู่ 5 – 6 ก๊อปปี้ มันก็มีการเคลื่อนบ้าง เปรอะบ้าง
ไม่เหมือนกันสักก๊อปปี้ แล้วนี่พิมพ์ 3,000 ก๊อปปี้แล้วเนี้ยบเหมือนออกจากเครื่องพรินต์ ฉันไม่เข้าใจ สับสนไปหมด เดวิดหัวเราะหึๆ ก่อนทิ้งปริศนาคาใจว่า “สงสัยเธอต้องไปดูเองกับตาแล้วล่ะ”

ปริศนาของเดวิดทำใจร้อนรนทนไม่ไหว
รู้ตัวอีกฉันก็กระโดดขึ้นรถไฟมุ่งหน้าสู่เมืองเจนไน (Chennai) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 2 วัน 2 คืนบนรถไฟจบลง รถไฟจอดสุดสายที่สถานี Central
Chennai ในช่วงบ่ายแก่ๆ

ณ ย่าน Thiruvanmiyur ของเมืองเจนไน ฉันเดินเข้าตรอกนี้เลี้ยวตรอกนั้น ท่ามกลางแดดร้อนระอุ ฉันเดินดุ่มๆ ราว 15 นาที ในที่สุดสตูดิโอ Tara books ก็อยู่ตรงหน้า “Vaṇakkam! (วัน-นะ-กำ)” คุณป้าใส่ชุดสาหรี่ที่กำลังทำความสะอาดยิ้มทักทายต้อนรับเป็นภาษาทมิฬ

ฉันแบกเป้เข้าไปนั่งพักเหนื่อยอยู่ในส่วนร้านขายหนังสือเล็กๆ ของออฟฟิศที่เรียกกันว่า Book Building อาคารสีขาวเทาสลับด้วยลูกกรงสีขาวดีไซน์เรียบที่ดูเป็นกันเอง ลานหลังบ้านมีต้นไม้ใหญ่ปลูกสูงชะลูด ใต้ต้นไม้มีโบโบ่ หมาสีขาวตัวอ้วนนอนจ้องหน้าฉันอยู่อย่างเป็นมิตร ส่วนของผนังปูนโล่งๆ มีรูปวาดต้นไม้ขนาดใหญ่สวยสะดุดตา

“หนูมาจากโกลกาตา เมืองศานตินิเกตันค่ะ” พนักงานแคชเชียร์พูดคุยกับฉันระหว่างที่ฉันกำลังจ่ายเงินค่าหนังสือ “มีพนักงานคนหนึ่งของเราก็มาจากโกลกาตาเหมือนกันเลย”

บทสนทนานั้นทำให้ฉันได้รู้จักกับ Rohini สาวมั่นจากโกลกาตา Rohini เรียนจบด้านอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ รับหน้าที่หลายตำแหน่งจนเธอก็บอกไม่ถูกถึงชื่อตำแหน่ง เราคุยกันถูกคอ Rohini พาฉันเดินชมสตูดิโอของ Tara books ทุกซอกทุกมุม ตั้งแต่ห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือดีไซน์สวยบริเวณชั้นสอง ผนังห้องสนุกซุกซนไปด้วยภาพวาดต้นฉบับของหนังสือเด็กหลายๆ เล่มโดยศิลปินที่ทำงานร่วมกับ Tara books และส่วนของออฟฟิศบริเวณชั้นสาม

บนออฟฟิศ ฉันได้พบกับ Elena สาวชาวเยอรมัน นักศึกษาฝึกงานอยู่ที่นี่ 6 เดือนในตำแหน่งดูแลหนังสือแปลให้เป็นภาษาเยอรมัน Dhwani สาวมุมไบที่ดูแลงานอีเวนต์ต่างๆ Ragini สาวไฮเดอราบัดที่โตมากับหนังสือของ Tara books และหลงใหลในเสน่ห์ของสำนักพิมพ์นี้ หลังจากเรียนจบเธอจึงมาขอฝึกงานอยู่ที่นี่จนตอนนี้เธอได้เข้ามาเป็นพนักงานจัดรูปเล่มอย่างเป็นทางการแล้ว (Tara books จะรับพนักงานฝึกงานทั้งชาวอินเดียและชาวต่างชาติอยู่เรื่อยๆ มีเกสต์เฮาส์ให้ และมีเงินเดือนนิดๆ หน่อยๆ)

สาวๆ Tara books เล่าให้เราฟังว่าสตูดิโอหนังสือทำมือแห่งนี้ เริ่มจากความตั้งใจของ Gita Wolf ที่อยากหาหนังสือดีๆ ให้กับลูกของเธอแต่ยังไม่ตรงใจนัก บวกกับเธอได้รู้จักกับสตูดิโอท้องถิ่นในเมืองเจนไนที่ใช้คนงานท้องถิ่นเป็นแรงงานสกรีนแผ่นพับและการ์ดต่างๆ เธอจึงเริ่มต้นทำหนังสือสำหรับเด็กขึ้นจากคำถามที่ว่า How can we re-imagine children’s literature? เราจะสามารถหาแนวทางใหม่หรือสร้างสรรค์วรรณกรรมเด็กที่นอกกรอบและหลุดจากภาพจำเดิมๆ ได้อย่างไรบ้าง? คำถามของ Gita Wolf ทำให้ Tara books ผลิตวรรณกรรมทำมือที่ชวนเซอร์ไพรส์

Gita Wolf ผู้ก่อตั้ง Tara books

ตลอดเวลา 23 ปีที่ผ่านมา Gita ออกเดินตามหาศิลปินท้องถิ่นตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นการดึงเอา Kolam ศิลปะบนพื้นถนนทางเข้าบ้านที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากการโรยผงแป้งหรือทรายย้อมสี เพื่อต้อนรับพระแม่ลักษมีเทวีที่จะนำโชคลาภมาให้ครอบครัวของเหล่าแม่บ้าน และหญิงสาวจากชนเผ่าทางตอนใต้ของอินเดีย มาโลดแล่นบนหน้ากระดาษ สร้างเป็นวรรณกรรมที่ใช้ภาพเป็นตัวนำทางจินตนาการผู้คน หรือทำงานร่วมกับศิลปินต่างประเทศที่มาเป็นศิลปินในพำนักของ Tara books ทำให้หนังสือแต่ละเล่มของสตูดิโอนี้มีความหลากหลายแตกต่าง จนคว้ารางวัลหนังสือสำหรับเด็กและผู้ใหญ่กว่า 14 รางวัลจากนานาประเทศ

Sunita ศิลปินสาวพื้นถิ่นจาก Rajasthan กำลังทำ Kolam ศิลปะบนพื้นถนนทางเข้าบ้านที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากการโรยผงแป้งหรือทรายย้อมสีลงบนกระดาษ

“พวกเราละเอียดอ่อนกับทุกรายละเอียด เพราะเรามองมันไปไกลกว่าการเป็นแค่หนังสือไว้อ่าน
แต่มันคืองานศิลปะในรูปแบบที่เปิดได้” สาวๆ แบ่งปันแนวคิดในการทำงานระหว่างทานอาหารค่ำบนดาดฟ้าตึก
Book Buildings “เธอต้องไปสตูดิโอทำหนังสือของเราให้ได้นะ แล้วเธอจะเข้าใจ
Tara books มากขึ้นเป็นกอง”

สตูดิโอทำหนังสือด้วยแรงใจและแรงมือมนุษย์นั้นอยู่ห่างจากตัวออฟฟิศในระยะเดินทางด้วยรถบัสราวครึ่งชั่วโมง สตูดิโอทำหนังสือของ
Tara books มีลักษณะเป็นบ้านที่มีคนทำหนังสือกว่า
20 ชีวิต ชั้นล่างของบ้านอบอุ่นไปด้วยป้าๆ น้าๆ นุ่งส่าหรีนั่งประกอบปกกันอย่างใจเย็นท่ามกลางเสียงเพลงจากวิทยุท้องถิ่นภาษาทมิฬนาดู

ส่วนชั้นสองเป็นห้องสกรีน บรรยากาศแตกต่างจากชั้นล่างอย่างสิ้นเชิงตรงที่ห้องนี้ไม่มีสาวสวยนุ่งสาหรี่
แต่มีชายภารตะรุ่นพี่ถึงรุ่นลุงนั่งสกรีนกระดาษด้วยมือทีละแผ่น ทีละแผ่น และนั่นคือหัวใจสำคัญของ
Tara books

ภายในชั้นนี้มีโต๊ะสกรีนอยู่
4 โต๊ะ แต่ละโต๊ะมีคนทำงานประจำ 3 ตำแหน่ง
ตำแหน่งตรงกลางเป็นคนควบคุมตำแหน่งกระดาษให้ตรงพอดีกันเป๊ะ ส่วนด้านขวามือของคนคุมตำแหน่งกระดาษ
คือคนปาดไม้สกรีน
ซึ่งต้องใช้แรงกดเพียงครั้ง แถมยังต้องเป็นคนผสมสีให้ได้เนื้อที่ต้องการ
และแน่นอนว่าต้องไม่เหลว ไม่ข้น จนเกินไป ส่วนด้านซ้ายมือคือคนวางกระดาษตามบล็อกไม้บรรจุกระดาษที่สกรีนเสร็จแล้วไม่ให้ซึมเปื้อนกันและกัน

ทุกคนที่นี่ทำงานกันใจเย็นมากๆ เพราะถ้าใจลอยเผลอทำพลาดนิดเดียว
นั่นหมายความว่ากระดาษ handmade แผ่นนั้นจะต้องกลายเป็นเพียงกระดาษลองสี ซึ่งฉันมารู้ทีหลังอีกว่าเขาช่างคิดเอากระดาษทดลองสีมาทำเป็นปกสมุดสุดคูลที่มีชื่อเก๋ๆ ว่า
Flukbook (สมุดเก๋ๆ ที่ได้มาจากความฟลุคนั่นเอง)

“ตอนนี้เรากำลังทำเล่ม I Like Cats เวอร์ชันภาษาเยอรมันจำนวน 3,000 ก๊อปปี้ ใช้เวลาราวๆ 1เดือน” ฉันตาโตลุกเป็นไข่ห่าน “ฮะ! 1 เดือนนนน!” ชาว Tara books เล่าต่ออย่างใจเย็นว่า “ปกติถ้าประเทศไหนต้องการแปลหนังสือก็แค่ขายต้นฉบับให้เขาไปพิมพ์แล้วจบ แต่ไม่ใช่ที่ Tara books ที่นี่ถ้าคุณต้องการแปล นั่นหมายความว่าคุณต้องพิมพ์ที่นี่ โดยทีมช่างฝีมือของเราเท่านั้น” รู้อย่างนั้นฉันเลยทำตัวเนียนๆ ขอให้พี่ๆ ชายฉกรรจ์ช่วยสกรีนรูปแมวเส้นสายลายชนเผ่าอินเดียมาออกแบบลงบนสมุดไดอารี่ กับโปสการ์ดที่กำลังจะเขียนถึงเพื่อนให้ ซึ่งพวกเขาก็ใจดีทำให้ เป็นอะไรที่น่ารักที่สุด! ส่วนห้องเล็กๆ บนชั้นสองอีกห้อง พนักงานอีกคนกำลังตัดกล่องใส่สมุด

ระหว่างที่ทุกคนเริ่มทยอยลงไปทานอาหารกลางวัน
ฉันลงมาอยู่ข้างล่างทำตัวเป็นนักสำรวจต่อ ฉันค้อมตัวเข้ามาในห้องเย็บสมุดที่มีคุณลุงใจดีจากรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) คือคนเดียวที่เย็บสมุดทุกเล่มของ Tara books คุณลุงพยายามอธิบายวิธีการเย็บเล่ม
คุณลุงประกอบเล่มหนังสือได้อย่างเร็วและคล่องแคล่วมาก

นอกจากผลิต
Hand Prints Book ที่ดีต่อใจแล้ว
บางเวลา Tara books ยังจัดเวิร์กช็อปสนุกๆ
เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนท้องถิ่นที่ทำงานศิลปะพื้นบ้านมาทำงานศิลปะด้วยกัน
บางครั้งก็เป็นการชวนเด็กๆ วัยกำลังพอรู้เรื่องมาทดลองทำหนังสือนิทานของตัวเอง อย่าง
Twin กิจกรรมเวิร์กช็อปที่เด็กทุกคนรวมถึงฉันจะได้รับแผ่นกระดาษพับครึ่งที่สกรีนสีมาแค่บางจุด
เพื่อให้เด็กๆ แต่งเติมเรื่องราวตามใจชอบ จบกิจกรรม Rohini กับ
Dhwani มอบแผ่นพับโยคะ การ์ด กับสมุด Flukbook ให้ฉันเป็นที่ระลึก เกรงใจก็เกรงใจ แต่ก็น้อมรับมาแต่โดยดีด้วยความปีติหัวใจ ไม่ใช่แค่เพราะของ
แต่คือน้ำใจและมิตรภาพ

ก่อนที่สาวๆ
จะพูดขึ้นว่า “กรกฎานี้เรามีนัดคุยงานที่กรุงเทพฯ กับเชียงใหม่นะ”

ฉันตาโต
เหลือเชื่อ เพราะช่วงเวลาที่พวกเธอจะมาเป็นช่วงเวลาที่ฉันเดินทางกลับมาไทยพอดี
เราแลกอีเมลกันแล้วบอกลา
“See you again in Thailand”


สถานีรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี เดือนกรกฎาคม 2560

ในที่สุดเราก็ได้เจอกันที่เมืองไทยจริงๆ
เราค่อยๆ เดินไปร้านหนังสืออิสระ สถานที่จัดงานเสวนาที่อยู่นอกแผนการเดินทางของสาวๆ
ตอนแรก แต่เพราะพี่ๆ ที่รู้จักวานฉันให้ช่วยจีบสาวๆ มาแบ่งปันเรื่องราวการทำหนังสือที่ใช้หัวใจนำทางให้กับคนทำหนังสือและงานพิมพ์ที่มีหัวใจรักงานหนังสือเหมือนกัน
สำหรับฉัน มันเป็นงานเสนาที่น่าทึ่ง และน่ารักที่สุด

ต่อจากร้านหนังสืออิสระ
ความทรงจำที่ฉันมีต่อ Tara books ได้พาตัวฉันมานั่งอยู่ที่สตูดิโอทำงานของ a day magazine พวกเขาพูดคุยเรื่องการเขียนงานของฉันที่ไม่ค่อยจะมั่นใจใดๆ เท่าไหร่
เพราะไม่ใช่สิ่งที่ถนัดแต่แค่รู้สึกว่าอยากเขียน จนเข้ามาเรื่อง Tara books
ทุกคนตื่นเต้นเพราะเพิ่งรู้จัก และสนใจสำนักพิมพ์นี้อยู่เหมือนกัน
และไม่รู้มาก่อนว่าฉันไปมาเมื่อหลายเดือนที่แล้ว พวกเขาจึงเอ่ยปากชวนฉันให้ลองเขียนเรื่องนี้ดูสักตั้ง

ฉันกำลังหย่อนก้นลงเก้าอี้เอนริมคลองหน้าบ้านพิมพ์ต้นฉบับมาถึงบรรทัดสุดท้าย
นึกทบทวนถึงโชคชะตาของตัวเองที่ช่างตลกดีแท้

ก็คิดดูสิ โลกใบตั้งใหญ่
แต่คนที่มีหัวใจดวงเดียวกันกลับดึงดูดกันได้อย่างน่ามหัศจรรย์

ภาพ สุวัลยา ศักดิ์สมบัติ และ tarabooks.com

AUTHOR