เราเชื่อว่าสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เด็กจนโต ไม่ว่าใครก็ต้องเคยหย่อนก้นลงบนม้าหินเพื่อคลายความเหนื่อยกันทั้งนั้น
ม้านั่งหินสุดแสนธรรมดาเหล่านี้มีเทกซ์เจอร์กรวดเม็ดเล็กๆ แทรกอยู่ทั่ว ด้านบนเป็นลวดลายแผ่นหินอ่อนขนาดเล็กใหญ่รูปทรงไม่เป็นเรขาคณิตเท่าไหร่ บ้างก็มาพร้อมโต๊ะหินเข้าชุดที่เด็กไทยต้องเคยดวลหมากฮอสกันตรงนั้น ไม่ก็เป็นพื้นที่ที่กลุ่มอากงอาม่าที่แวะมานั่งจับกลุ่มจิบน้ำชาและพูดคุยกันยามบ่าย
ด้วยความธรรมดาของมัน เราจึงสนใจเมื่อเห็น โรเบิร์ต ศุกระจันทร์ นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์หนุ่มลูกครึ่งไทย-อเมริกันที่มีสตูดิโออยู่ในย่านบรูกลิน นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างผลงานเฟอร์นิเจอร์ม้าหินที่ดูทันสมัย แต่มองปราดเดียวก็รับรู้ได้ว่านี่คือม้าหินในแบบที่คนไทยคุ้นเคย
สัญชาตญาณของเราไม่ผิดเพี้ยน เพราะเมื่อได้คุยกัน โรเบิร์ตก็เฉลยว่าแรงบันดาลใจหลักของคอลเลกชั่นนี้คือม้าหินที่วัดไตรมิตร และมัสยิดฮารูณย่านเจริญกรุงนี้เอง
Mirazzo Collection คือชื่อคอลเลกชั่นเก้าอี้ของโรเบิร์ต มาจากคำว่า mirror หรือวัสดุกระจก บวกกับ terrazo ซึ่งเป็นชื่อเทคนิคใช้หินอ่อนในแบบอิตาลีที่คนไทยเรารับมาโดยไม่รู้ตัว คอลเลกชั่นใหม่ล่าสุดของเขาเปิดตัวในงาน NYCxDESIGN 2019 เทศกาลที่รวมงานออกแบบประจำปี จัดขึ้นที่นิวยอร์กในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
เมื่อสบโอกาส เราจึงชวนโรเบิร์ตมาเล่าให้ฟังว่า ในสายตาของคนที่เติบโตในต่างแดน ม้าหินของไทยมีความพิเศษตรงไหน และเขาเริ่มต้นจนพัฒนาคอลเลกชั่นนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ได้ยังไง
ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า โปรเจกต์ของคุณก่อนหน้านี้เป็นงานสไตล์ไหน
ก่อนจะมาทำเฟอร์นิเจอร์ ผมเคยเป็นช่างภาพมาก่อน กระทั่งผมได้ลองทำงานไม้เป็นงานอดิเรก แล้วก็ตกหลุมรักกระบวนการสร้างสิ่งต่างๆ เข้า ในช่วงแรกงานของผมเลยเป็นงานไม้แบบดั้งเดิม เน้นการเข้าไม้ด้วยมือ ในช่วงเวลา 7 ปีมานี้ความสนใจของผมก็เริ่มพัฒนามาเรื่อยๆ ปัจจุบันผมสนใจการทดลองทำงานกับวัสดุต่างๆ ในรูปแบบใหม่ เฟอร์นิเจอร์ที่ทำออกมาจะเป็นเชิงประติมากรรม (sculptural furniture) และผสมผสานอิทธิพลหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน
คุณคุ้นเคยกับประเทศไทยขนาดไหน
ตั้งแต่พ่อผมย้ายกลับมาอยู่ที่เชียงใหม่ตอนผมอายุ 10 ปี ผมก็กลับไทยเป็นประจำทุกปี สำหรับผมเมืองไทยเลยให้ความรู้สึกเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง แต่ถึงยังไงมันก็จะมีแง่มุมบางอย่างเวลาอยู่ไทยที่ทำให้ผมรู้สึกเหมือนอยู่ต่างประเทศ ตัวผมเองก็ไม่ได้เป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เติบโตที่นี่ ประสบการณ์ที่ได้รับเลยต่างออกไปจากคนไทยปกติ เช่น เวลาที่ไปเที่ยวหลายที่ในไทย คนก็ยังพูดภาษาอังกฤษกับผม เพราะเขาคิดว่าผมเป็นฝรั่ง
เล่าถึงช่วงเวลาที่คุณอยู่ที่ไทยให้ฟังหน่อย
ก่อนที่พ่อจะเกษียณ เขาเป็นผู้จัดการโรงแรมอยู่ที่เชียงใหม่ เพราะฉะนั้นตอนผมเด็กๆ ผมเลยใช้เวลาส่วนใหญ่ที่นั่นโดยมีพี่ชายที่อายุมากกว่า 5 ปีคอยดูแล พวกเราค่อนข้างมีอิสระเวลาอยู่ไทย พอโตขึ้นมาหน่อย ช่วงเข้ามหาวิทยาลัย ผมสนใจการถ่ายภาพ ก็เลยเดินทางไปทั่วประเทศด้วยตัวเองเพื่อเจอผู้คนและถ่ายรูป นั่นเป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมาก และมันก็ทำให้ภาษาไทยของผมพัฒนาขึ้นมากจากตอนเด็กๆ เพราะต้องสื่อสารทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่คนส่วนใหญ่ไม่พูดภาษาอังกฤษ ภาษาไทยของผมอาจจะไม่เพอร์เฟกต์แต่ผมว่าผมก็พูดได้โอเคนะ โดยเฉพาะบทสนทนาในชีวิตประจำวันทั่วไป
อย่างนี้คุณก็เคยเห็นม้าหินแบบไทยๆ มาตั้งแต่เด็กเลยไหม
แน่นอนครับ ทุกคนที่เคยใช้ชีวิตที่ไทยน่าจะต้องเคยเห็นและนั่งม้าหินนี้นะ แต่ว่าเมื่อก่อนผมก็ไม่ได้ใส่ใจ ตอนเห็นครั้งแรกก็ไม่ได้คิดอะไรเลย
แล้วอะไรทำให้คุณสนใจหรือเห็นคุณค่าของม้าหินแบบนี้ขึ้นมา
มันเป็นวิธีการนำเศษวัสดุอย่างหินและซีเมนต์ที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผมชอบความหลากหลายของมันมาก ทั้งรูปร่าง รูปทรง สีสัน ประเภทของหินหรือซีเมนต์ ยิ่งถ้าม้าหินตัวไหนที่คนทำใส่ใจรายละเอียดมากๆ อย่างการจัดเรียงหินสีเดียวกันไว้ในบริเวณเดียวกัน ผมก็จะยิ่งชอบมาก
สำหรับผม ม้าหินพวกนี้แสดงให้เห็นว่า คนไทยต้องการเก็บโมเมนต์เล็กๆ แห่งความงามและความสุขไว้ในเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้กันอยู่ทุกวัน
เทคนิคการทำม้าหินแบบไทยๆ ต่างจากเทคนิค terrazzo แบบดั้งเดิมที่อิตาลีอย่างไรบ้าง
ที่อิตาลี เราจะเห็นหินอ่อนอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะด้านข้างอาคาร โถงทางเข้า เฟอร์นิเจอร์ terrazzo ของที่นั่น หินจะถูกขัดเกลาจนละเอียด และถูกวางเรียงอย่างมีแบบแผนขั้นตอน แต่กับม้าหินของไทยเรา การเรียงหินจะให้ความรู้สึกสบายๆ ไม่ต้องมีแบบแผน ไม่ตายตัว การเรียงของไทยเป็นอะไรที่ไหลลื่นและฟรีมาก นี่เป็นสิ่งที่ผมชอบมาก
ช่วยอธิบายวิธีคิดในการทำงานคอลเลกชั่นนี้ให้ฟังหน่อย
ขั้นตอนการทำงานของผมง่ายมาก คือผมเห็นความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้วระหว่างวิถี terrazzo แบบดั้งเดิมของอิตาลีกับม้านั่งข้างถนนของไทย และผมก็อยากจะมีส่วนร่วมในบทสนทนานั้น สำหรับผมมันเลยเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะเก็บรูปทรงของม้านั่งเอาไว้ให้เป็นที่จดจำของคนที่เคยเห็นหรือเคยใช้งานมาก่อน แล้วก็ค่อยใส่ส่วนประกอบความเป็นตัวเราลงไปในเรื่องราวนั้น
ผมเลยเลือกใช้เศษกระจกจากผลงาน Gem and Volumn Mirror คอลเลกชั่นที่ผ่านมาของตัวเอง กระจกนั้นทำให้เกิดความแปลกใหม่ สดใส ต่างจากม้านั่งแบบเดิมๆ ส่วนหิน ผมซื้อมาจากผู้ผลิตท้องถิ่น (ที่อเมริกา) ที่เชี่ยวชาญด้าน terrazzo เราหล่อวัสดุทั้งหมดในสตูดิโอด้วยตัวเอง แล้วนำม้าหินไปให้ช่างทำหินช่วยฝนหินและขัดเก็บรายละเอียดอีกทีหนึ่ง
วัสดุที่ต่างกันให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างไรบ้าง
กระจกทำให้เกิดคุณสมบัติ 3 มิติขึ้นมา หลังจากกระจกที่ถูกขัดให้อยู่ระดับเดียวกับหิน ก็จะมีความสว่าง และมีการสะท้อนแบบที่หินอ่อนหรือซีเมนต์ทำไม่ได้
อยากทดลองกับวัสดุอื่นอีกไหม
ตอนนี้ผมคิดว่าจะผลักดันการใช้กระจกในเทคนิค terrazzo ไปให้ไกลเท่าที่จะทำได้ก่อนครับ โดยจะลองใช้สีสันใหม่ๆ แพตเทิร์นการวาง และรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ที่แตกต่างไปจากเดิม
Mirazzo Collection เป็นโปรเจกต์แรกของคุณเลยไหมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย
ใช่ครับ เป็นโปรเจกต์แรกที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยโดยตรง ที่ผ่านมาผมก็อยากจะดึงแบ็กกราวนด์ความเป็นไทยมาใส่ในงานออกแบบเหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหนดี อย่างแต่ก่อนผมจะพยายามดูงานศิลปะ งานสถาปัตยกรรมไทยแบบดั้งเดิม แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ผมสักเท่าไหร่
กลายเป็นว่าสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมคือแง่มุมชีวิตประจำวันของคนไทยมากกว่า วิธีการที่คนไทยประยุกต์ใช้สิ่งของต่างๆ ตามข้างทางเป็นอะไรที่ฉลาดล้ำมากๆ ผมเลยลองโฟกัสที่ประสบการณ์ในแต่ละวันของผมในประเทศไทย ผมเดินสำรวจ กินอาหารริมถนน สังเกตผู้คน เพราะอยากเก็บเอาแง่มุมเล็กๆ ที่ผมชอบในประเทศไทยกลับไปใช้ในงานออกแบบ
ในอนาคตคุณมีแผนจะทำงานกับองค์ประกอบอื่นของไทยอีกไหม
มีครับ ผมสนใจงานคราฟต์ดั้งเดิมของไทยอย่างเซรามิก, งานหวาย, พื้นผิวรูปแบบต่างๆ, การปักผ้า, การเขียนลายรดน้ำ และอีกมากมาย ผมตั้งใจจะออกแบบสิ่งที่สามารถสร้างบทสนทนา เชื่อมโยงระหว่างงานฝีมือและงานออกแบบไทย กับงานฝีมือและงานออกแบบอเมริกา
เป้าหมายในการทำงานของผมตอนนี้คือการมองหาจุดร่วมหรือไอเดียร่วมจากต่างที่ และสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามออกมาจากส่วนผสมนั้นครับ
ภาพ โรเบิร์ต ศุกระจันทร์