Farm de Lek : ฟาร์มที่มีม้าเป็นครูสอนให้เด็กๆ รู้จักแบ่งปันและเอาชนะความกลัว

Highlights

  • Farm de Lek คือฟาร์มที่ เก๋–เปรมฤดี พันธุ์รัตน์ ได้กลับมาปรับปรุงพื้นที่ฟาร์มของตาเธอเองให้กลายเป็นที่หาความรู้และทดลองทำการเกษตรกับลูกๆ หลังจากทุกอย่างสมบูรณ์ เธอตัดสินใจเปิดฟาร์มแห่งนี้เพื่อแบ่งปันแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติให้แก่เด็กๆ และผู้ปกครองที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้นอกห้องเรียน
  • ที่นี่เกิดจากความเชื่อที่ว่าการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ห้องเรียน แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้ในธรรมชาติหรือแม้กระทั่งผ่านสัตว์อย่างการขี่ม้าซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของที่นี่
  • จากหลักการ Horse Boy Method ควบคู่กับ Movement Method ที่พวกเขานำเข้าจากอเมริกา เด็กที่เข้าร่วมโปรแกรมการเรียนรู้กับม้าของที่นี่จะได้ทั้งความสุข ความคิดและการฝึกความเคลื่อนไหวของร่างกายผ่านธรรมชาติสีเขียวที่มีอยู่รอบตัว

สองข้างทางของถนนเลียบคลองเรียงรายไปด้วยร้านขายต้นไม้ยาวหลายกิโลเมตร คนทั่วไปรู้จักย่านนี้ดีในชื่อ ตลาดต้นไม้คลอง 15 รังสิต-นครนายก ทว่าจุดหมายในการมาครั้งนี้ไม่ใช่ตลาดต้นไม้ หากเป็นฟาร์มเกษตรที่เรียกตัวเองว่า educational farm

Farm de Lek (ฟาร์มตาเล็ก) ตั้งอยู่ที่นี่มานานกว่า 40 ปี สมัยก่อนที่ตาเล็กยังอยู่ พื้นที่ 44 ไร่นี้เป็นสวนมะม่วงนานาพันธุ์ ก่อนเปลี่ยนมาปลูกไม้เศรษฐกิจอย่างสนและยูคาลิปตัส กระทั่งสุดท้ายกลายเป็นที่ดินทิ้งร้างนานหลายปี

กระทั่งหลานสาวตาเล็ก เก๋–เปรมฤดี พันธุ์รัตน์ ได้กลับมาปรับปรุงพื้นที่ หาความรู้ และทดลองทำการเกษตรกับลูกๆ จนมั่นใจในความรู้และทรัพยากรที่มี เธอตัดสินใจเปิดฟาร์มแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติสำหรับเด็กๆ และผู้ปกครองที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้นอกห้องเรียน

เท้าย่ำเหยียบผืนดิน จมูกสูดอากาศเข้าเต็มปอด ตาทอดมองทิวทัศน์เบื้องหน้า ทั้งต้นไม้ใหญ่ พืชหลากชนิด คอกสัตว์ และคูคลอง ฉันแทบลืมไปเลยว่าเมื่อ 2 ชั่วโมงที่แล้วรอบตัวมีแต่ตึกรามบ้านช่อง เสาไฟ และรถราในกรุงเทพฯ

เสียงร้องของสัตว์นานาชนิดดังขึ้นตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ตามเส้นทางที่ฉันเดินตามพี่ๆ ในฟาร์มไปยังคอกม้าที่เป็นห้องเรียนใหญ่

ห้องเรียนที่มีม้าเป็นคุณครูช่วยสอนเด็กๆ ให้รู้จักการใช้ชีวิตที่ไม่มีในตำราเรียน

ฟาร์มแห่งการเรียนรู้และพัฒนา

ตอนที่ไปถึง กลุ่มเด็กๆ เนตรนารีชาวต่างชาติที่มาเข้าแคมป์ค้างคืนที่นี่กำลังฝึกทำอาหารกันอย่างสนุกสนาน ครูผู้ดูแลพวกเธอเป็นชาวต่างชาติที่พูดไทยได้ เก๋บอกว่าที่ฉันเห็นอยู่เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งในฟาร์มแห่งนี้

ก่อนมาทำฟาร์ม เก๋กับลูกใช้ชีวิตที่ต่างประเทศนานกว่า 10 ปี โดยมีออสเตรเลียเป็นประเทศสุดท้าย เธอและลูกๆ วัยกำลังโตซึมซับการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ มีระเบียบวินัย เรียบง่าย และใกล้ชิดธรรมชาติ เด็กๆ ที่นั่นใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทำงานเพื่อการกุศล และช่วยเหลือสังคม เมื่อย้ายกลับมากรุงเทพฯ เธอมองว่าสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้แบบนี้ย่อมไม่ดีกับลูก บวกกับความคิดถึงช่วงเวลาวัยเด็กที่มาวิ่งเล่นบ้านคุณตา จึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ดินผืนกว้างในนครนายกเพื่อพัฒนาบ้านสวนแห่งนี้ให้เป็นฟาร์มเกษตร โดยมีลูกๆ คอยช่วยทำงานด้วยกัน

“เราเชื่อว่าเด็กต้องออกไปเจออะไรเยอะๆ ถึงจะเกิดการเรียนรู้ และต้องมีประสบการณ์จึงจะเกิดทักษะและศักยภาพที่ไม่ใช่เรื่องความรู้ แต่เป็นทักษะทางอารมณ์ ในช่วงสามปีแรกเรากับลูกก็ช่วยกันพัฒนาที่นี่ ลูกเราเลยเติบโตต่างจากคนอื่น” เก๋เริ่มต้นเล่าด้วยรอยยิ้ม

หลังจากที่มั่นใจแล้วว่าฟาร์มใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้จริง โดยวัดจากลูกๆ ที่เป็นผลิตผล รวมถึงการเปิดให้คนใกล้ตัวมาเยี่ยมเยียน เธอก็เปิดที่นี่ให้เด็กๆ ทั่วไปมาใช้อย่างเป็นทางการ

กิจกรรมในฟาร์มทั้งหมดมาจากประสบการณ์ที่เก๋ได้สัมผัสวิถีการใช้ชีวิตของคนที่ออสเตรเลียและนำมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ หรือทำอาหาร ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่กิจกรรม แต่เป็นสื่อการสอนแบบหนึ่ง

“เราไม่ได้สอนให้เด็กเป็นชาวนาชาวไร่ แต่ใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ เราต้องเป็นผู้ฟังและผู้ตามที่ดี ช่างสังเกต มีความรับผิดชอบต่อสังคม ใช้อะไรเสร็จแล้วเก็บ รู้จักแยกขยะ รักสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้เด็กๆ เกิดพัฒนาการทางสังคม ดังนั้นใบไม้ต้นหญ้ามูลสัตว์ถือเป็นสื่อการสอนหมด”

ด้วยคอนเซปต์ที่ชัดเจนในการเป็น educational farm เต็มรูปแบบ ปัจจุบันฟาร์มตาเล็กดำเนินงานมาได้ถึง 8 ปีแล้ว แต่ละเดือนจะมีเด็กทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมกิจกรรมทั้งแบบ day program และแบบค้างคืนหลักร้อยคน

“เราไม่เปิดให้คนเข้าทุกวัน ใช้การจองเข้ามา เพราะมีข้อปฏิบัติให้ทุกคนทำ อย่างที่นี่เน้นเรื่องการจัดการขยะมาก บางคนมาก็รู้สึกยุ่งยากเพราะทิ้งอะไรไม่ค่อยได้ แต่เราทำให้ยากเพื่อให้เกิดการฉุกคิด สิ่งเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้แหละที่สำคัญ เราไม่กลัวว่าผู้ปกครองจะว่า เรามาทางนี้แล้วเราก็อยากทำเพื่อการศึกษาของสังคม ผลกำไรเราได้จากลูกแล้ว เราก็อยากทำเพื่อสังคมต่อไป”

ห้องเรียนที่มีพืชพรรณและสัตว์เป็นครู

โรงเรียนมีห้องเรียนและสื่อการสอน ที่ฟาร์มตาเล็กก็มีห้องเรียนและสื่อการสอนเช่นกัน เพียงแต่ที่นี่ใช้พืช สมุนไพร ดอกไม้ สัตว์ อาหาร และขยะเป็นสื่อการสอนแทนหนังสือเรียนเท่านั้นเอง

ห้องเรียนที่นี่แบ่งตามกิจกรรม ได้แก่ คอกม้า ฟาร์มสัตว์ สวนสมุนไพรกว่าร้อยชนิด นาข้าว สวนดอกไม้ไทย ห้องทำปุ๋ยธรรมชาติ และโรงขยะ

น่าจะเดาได้ไม่ยาก ห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่นิยมที่สุดคือคอกม้า

“กิจกรรมม้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมฟาร์ม ซึ่งเป็นการเรียนรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับม้าและคอกม้า แต่ถ้าเป็นกิจกรรมม้าโดยเฉพาะจะมีหลายอย่าง เน้นสอนเด็กๆ ให้ดูแลม้า รู้จักม้าในเชิงลึก และลองขี่ม้า นอกจากนี้เรายังฝึกอาสาสมัครขึ้นมาเพื่อดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วย”

ทุกวันพุธ เด็กที่มีความต้องการพิเศษจากศูนย์การศึกษาพิเศษมหาจักรีสิรินธร ประจำจังหวัดนครนายก จะมาทำกิจกรรมอาชาบำบัดที่นี่ โครงการนี้เกิดจากความช่วยเหลือของศูนย์การศึกษาพิเศษฯ ประจำฟาร์มที่ต้องการทำประโยชน์ให้องค์กรท้องถิ่น

“เรานำเข้าวิทยาการจากอเมริกาที่มีชื่อว่า Horse Boy Method ควบคู่กับ Movement Method โดยเราเน้นที่ตัว practitioner คือครูขี่ม้าไปกับเด็ก วิทยาการนี้มีความเชื่อว่าเด็กขึ้นไปอยู่บนม้า แล้วการเคลื่อนไหวโยกไปโยกมาของม้าจะช่วยให้เกิดอ็อกซิโทซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนแห่งความสุขที่เกิดตรงบริเวณสะโพก เพื่อไปจัดการกับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด เพราะเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยเฉพาะภาวะออทิสซึ่มมักมีความเครียดมาก มันบล็อกการสื่อสารกับโลกภายนอก ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ในตัวเองและกับคนอื่น เราเลยเอาม้าเข้ามาช่วย ซึ่งวิธีการนี้ได้รับการรับรองทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว

“นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องประสาทสัมผัส เด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยเฉพาะออทิสซึ่มค่อนข้างเซนซิทีฟ บางคนไม่ชอบการสัมผัส บางคนกลัวที่สูง เราก็ใช้ม้ามาช่วย มาจัดการระบบประสาทสัมผัสของเขา ให้ได้จับสัมผัสม้า มีการเคลื่อนไหว หรือลองขึ้นม้าเอง เป็นความสัมพันธ์ที่สร้างความเชื่อใจ

“กิจกรรมนี้จึงช่วยให้เด็กสดใส อยากสื่อสาร และเปิดรับการเรียนรู้ practitioner ที่ขี่ม้าไปกับเด็กจะชี้ให้ดูนั่นดูนี่ ดูนกดูไม้ เพราะเขาไม่สามารถเชื่อมโยงกับเสียงและโลกภายนอกได้ จากนั้นเด็กอยากทำอะไรก็ให้ทำตามใจเขา”

เก๋ทำงานกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษควบคู่กับการทำฟาร์มตาเล็กมานานกว่า 3-4 ปี เมื่อรู้ว่าตนเองมีศักยภาพมากพอจะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ในระดับที่ใหญ่ขึ้น เธอจึงเปิด Spark Center ที่ให้บริการเรื่องการบำบัดโดยเฉพาะคู่ขนานไปกับการทำฟาร์ม เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างพัฒนาการให้กับครอบครัวของเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วย

ขี่ม้าเพื่อพัฒนาตนเองและก้าวผ่านความกลัว

เก๋พาฉันไปเจอม้ากว่าสิบตัวในห้องเรียนไร้กำแพง บางตัวเป็นม้าพันธุ์แคระ บางตัวมีขนสีดำ บางตัวมีขนสีขาวและตัวใหญ่เบิ้ม ดูมีความหลากหลายทั้งสายพันธุ์และรูปร่างหน้าตา

ม้าขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ทรงพลังและคาดเดาไม่ได้ เด็กที่มาร่วมกิจกรรมในฟาร์มหลายคนตกม้าแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่เก๋ผู้เป็นทั้งเจ้าของฟาร์ม ผู้สอน คนดูแลเด็กๆ และคุณแม่ลูกสามบอกว่าความเสี่ยงนี่แหละที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการเติบโต ถึงกระนั้นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต้องผ่านการประเมินมาแล้วว่าปลอดภัยระดับหนึ่ง ไม่ใช่ยอมเสี่ยงทุกอย่างจนไม่ระวังอะไรเลย

การฝึกการทรงตัวถือเป็นแก่นสำคัญในการขี่ม้า ที่ฟาร์มตาเล็กมีการสอนขี่ม้าแบบไม่มีอาน และแบบที่เหมือนยิมนาสติกบนหลังม้า (vaulting) คือมีเข็มขัดกับแผ่นรองหลัง เด็กสามารถคุกเข่าหรือยืนปล่อยมือบนหลังม้าได้ นอกจากนี้การขี่ม้ายังฝึกการทำงานร่วมกันระหว่างอวัยวะ ตั้งแต่สมอง มือ ก้น น่อง และขา

นอกจากการฝึกร่างกายแล้ว คุณครูม้ายังฝึกเด็กๆ ในเรื่องของสมาธิและจิตใจด้วยเช่นกัน

“ฝึกสมาธินี่แน่นอนอยู่แล้ว ขี่ม้าเผลอไม่ได้ จะขี่ม้าได้ดี ม้ากับเราต้องเป็นหนึ่งเดียว เมื่อเรารู้จักทำความเข้าใจม้า แล้วเราก็จะเข้าใจคนอื่น เพราะม้าเหมือนคนเลย ตัวนั้นชอบแบบนี้ ตัวนั้นนิสัยแบบนี้ เด็กที่ทำงานกับม้า 14-15 ตัวที่นี่จะเข้าใจถึงความหลากหลายและความแตกต่างของจิตใจ นิสัย เพื่อควบคุมม้าได้อย่างถูกต้อง ส่วนเรื่องระมัดระวังความปลอดภัยในการเสี่ยงอะไรสักอย่าง อันนี้สำคัญ เป็นอีกสเต็ปหนึ่งในการก้าวข้ามความกลัว เอาชนะอุปสรรค เอาชนะตัวเอง บางคนก้าวข้ามความกลัวไม่ได้ ติดตัวไปถึงตอนโต เวลาทำงานอะไรแล้วเจอสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ก็จะไม่ทำ ไม่ยอมลอง”

คอกม้าเองถือเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งในการสอนเช่นเดียวกัน ในหลักสูตรค้างคืน เด็กๆ ต้องตื่นมาทำความสะอาดคอกม้า เก็บขี้ม้า และเปลี่ยนฟางปูพื้นใหม่ให้ม้า ซึ่งนี่เป็นการสอนถึงการสร้างความเชื่อใจ ความมั่นใจ และความเข้าใจ เกิดเป็นความรักและอยากดูแล ในที่สุดแล้วการกระทำเหล่านี้จะส่งผลถึงการพัฒนาทักษะหลายๆ อย่างของเด็กในอนาคต กลายเป็นผู้เรียนรู้ที่เปิดกว้างและมีความสุข แน่นอนว่าการใช้เวลากับม้ามีประโยชน์ด้านการพัฒนาตัวเองอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันที่นี่ต้องการต่อยอดสร้างโอกาสให้เด็กมีความเข้าใจและช่วยเหลือคนอื่น มีจิตสาธารณะผ่านสื่อที่เป็นสัตว์สี่ขาทรงพลังตัวนี้

หลังจากลองทำกิจกรรมกับม้า เด็กหลายคนมีพัฒนาการที่เห็นได้ชัด ผ่านเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองที่มักพาลูกกลับมาที่ฟาร์มแห่งนี้อีกครั้ง

“ถ้าไม่ได้ชอบม้ามาก่อน เด็กบางคนพอเริ่มมาเจอม้าก็จะกลัวมาก ไม่จับ ไม่แตะ และนี่คือฮอร์โมนความเครียด ดังนั้นพอมาถึงที่นี่ เราไม่ได้จับขี่ม้าทันที จะฝึกเด็กให้คุ้นเคยกับม้าก่อน สิ่งที่เปลี่ยนไปชัดเจนคือการพัฒนาความมั่นใจ ก้าวข้ามความกลัว เด็กๆ กล้าจับม้า ให้อาหารม้า แค่นี้พ่อแม่ก็ปลื้มแล้ว และยิ่งได้ขึ้นหลังม้าก็จะท้าทายมากขึ้น นั่นเป็นจุดที่ม้าเข้ามาช่วยพัฒนาความมั่นใจ และสิ่งที่พ่อแม่ชื่นชอบที่นี่เป็นพิเศษคือเรื่องการแบ่งปัน เมื่อได้สอนเด็กกลุ่มหนึ่งจนมีทักษะประมาณหนึ่งแล้ว เราจะให้เด็กกลุ่มนี้สอนเด็กที่มาใหม่ ที่นี่จึงมีผู้ฝึกสอนรุ่นเล็กอายุ 9-10 ขวบ สอนว่าจูงม้ายังไง ใส่ถุงมือยังไง แม้ดูเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ได้ฝึกให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนรู้และแบ่งปัน เป็นคอนเซปต์ที่เราเน้นและให้ความสำคัญมาก และเป็นทักษะที่พ่อแม่สมัยนี้อยากให้ลูกมี”

ระหว่างทางที่ฉันเดินกลับมาขึ้นรถ เสียงหัวเราะของเด็กสาวหลายคนดังขึ้นบริเวณคูน้ำ ภาพที่เห็นคือเนตรนารีกลุ่มเมื่อเช้ากำลังเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน โดยมีเจ้าหมาสีขาวประจำฟาร์มร่วมเล่นด้วย แม้ว่าฉันไม่สามารถย้อนกลับไปในวัยเด็กและมาเรียนรู้บทเรียนนอกตำราที่นี่ได้แล้ว แต่อย่างน้อยประสบการณ์วันนี้ก็เตือนฉันว่าอย่าลืมที่จะเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งยอมรับความแตกต่างและหลากหลายของคนอื่น

เพราะนี่เป็นทักษะที่ไม่ว่าใครก็ควรมีในโลกปัจจุบัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย