ทุกวันนี้คนเราใช้น้ำใช้ไฟกันอย่างสิ้นเปลือง
แม้ประเทศไทยอากาศจะร้อนแค่ไหน คนในเมืองกลับได้อยู่ในที่เย็นๆ กันเกือบทั้งวัน
ก้าวขึ้นรถก็เปิดแอร์เย็นๆ นั่งทำงานในออฟฟิศก็ไม่ร้อน ไปกินข้าว ไปเดินช้อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า
ทุกที่ล้วนมีเครื่องปรับอากาศคอยให้เรารู้สึกเย็นอยู่เสมอ กลับถึงบ้านตอนเย็น
สิ่งแรกที่ทำคงหนีไม่พ้นเปิดแอร์ นอกจากนี้ จะชาร์จแบตมือถือสักวันละกี่รอบก็ไม่มีใครว่า
เปิดทีวีทิ้งไว้เป็น background music ก็ยังได้ หรือจะอาบน้ำนานๆ
วันละสองสามรอบก็ไม่ต้องมากังวลว่าจะไม่มีน้ำใช้ ตราบใดที่มีปัญญาจ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟได้
ทำไมจะต้องไปกังวลด้วยว่าวันหนึ่งเราจะไม่มีสาธารณูปโภคเหล่านี้ไว้ใช้งานตลอดทั้งปี
เราไม่รู้ไม่เห็นว่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาเหล่านี้มาจากไหน
นั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่เราเห็นคุณค่าของมันน้อยลง
ถ้าวันหนึ่งเราต้องมาผลิตไฟฟ้าและหาน้ำใช้เองโดยไม่พึ่งการไฟฟาและประปาของประเทศล่ะ?
ฉันมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ Little
Brympton ฟาร์มขนาดเล็กทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งฟาร์มที่ปลูกผักผลไม้
เลี้ยงเป็ดและผึ้ง เป็นร้านขายผลผลิตจากฟาร์ม ทั้งของสดอย่างผัก ผลไม้ ไข่เป็ด
และผลิตภัณฑ์แปรรูป ทั้งแยมคาวหวาน น้ำผลไม้ น้ำสมสายชู
ไปจนถึงสกินแคร์อย่างครีมทามือและลิปบาล์มที่ทำจากไขผึ้งของผึ้งที่ฟาร์ม
ที่สำคัญที่สุด มันคือบ้านเล็กๆ
อันอบอุ่นของแพทช์ (Patch) ทาช่า (Tasha) และลิลี่ (Lily) ลูกสาวตัวน้อยวัยสี่ขวบของทั้งสอง
พวกเขาทำทั้งหมดนี้ได้โดยไม่พึ่งน้ำประปาและกระแสไฟฟ้าจากบริษัทใดๆ ทั้งสิ้น
มีเพียงแผงโซลาร์เซลล์อันใหญ่สองแผง
รางน้ำฝนและแท็งก์น้ำขนาดใหญ่เอาไว้เก็บน้ำเท่านั้น ฉันช่วยพวกเขาทำงาน
ทั้งทำสวน ถอนหญ้า เก็บผัก ใส่ชุดผึ้งเข้าไปดูรังผึ้งกับทาช่า
ไปจนถึงช่วยแพทช์ซ่อมบ้านด้วยการเอาไม้แผ่นยาวตอกตะปูติดกับผนังบ้าน
แลกกับอาหารอร่อยๆ สามมื้อ นอกจากฟาร์มแห่งนี้แล้ว ทั้งสองยังชอบออกไป forage
เก็บพืชกินได้จากในป่า ตั้งแต่พืชเบสิกที่ใครๆ ในอังกฤษก็รู้จัก
อย่างใบกระเทียมป่า (wild garlic) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เห็ดป่าหลายชนืดในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
ไปจนถึงซีบัคธอร์น (sea buckthorn) เบอร์รี่ดึกดำบรรพ์อายุหลายล้านปีที่ขึ้นอยู่ตามชายหาดริมทะเล
และออกผลในช่วงฤดูหนาว
เบอร์รี่ชนิดนี้อุดมไปด้วยวิตามินซีและสารอาหารมากมายหลายชนิด พวกเขาเดินทางไปเก็บซีบัคธอร์นกันทุกปี
ซึ่งทาช่าเอากลับมาคั้นเป็นน้ำเบอร์รี่เข้มข้นที่ฟาร์ม
กลายเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของครอบครัวไปเลย
ทั้งแพทช์และทาช่าเรียนจบทางด้านศิลปะมา
พ่อของแพทช์มีอาชีพหลักเป็นจิตรกรวาดภาพแลนด์สเคป
ส่วนทาช่านั้นทันทีที่เรียนจบก็ได้รับทุนทำงานศิลปะต่อจากมูลนิธิศิลปะอันดับหนึ่งของประเทศ
ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมทั้งคู่ถึงเลือกที่จะทิ้งชีวิตของศิลปินไว้ด้านหลัง
แล้วผันตัวเองมาทำฟาร์ม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด
“ฉันไม่เห็นว่าภาพวาดทั้งหลายจะทำให้มีอะไรดีขึ้นมา
อีกทั้งสีที่ใช้วาดยังเต็มไปด้วยสารเคมี เดี๋ยวนี้ฉันสนใจศิลปะในแง่ที่เป็นทั้งความสวยงามและได้ใช้ประโยชน์จากมันได้ด้วยมากกว่า
อย่างการคิดวางแผนว่าจะปลูกอะไรตรงไหน ให้ฟาร์มออกมาสวย เอาไม้มาแกะสลักเป็นช้อน
หรือการเอาก้านของต้นหลิว (willow) มาสานเป็นตะกร้า”
“มันมีความสุขนะ เวลาที่มีคนมาซื้อน้ำซีบัคธอร์นสกัดของเราไป เหมือนเราได้ให้สิ่งดีๆ มีประโยชน์กับผู้อื่น”
ทาช่าเสริม
แต่ก็ไม่ใช่ว่าการใช้ชีวิตแบบนี้จะราบรื่นเสมอไป
พวกเขาเลือกที่จะอุทิศความสะดวกสบายหลายๆ อย่างที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคนทั่วไป
อย่างเครื่องล้างจาน การอาบน้ำอุ่นทันทีเมื่ออยากอาบ
ไม่ต้องมารอให้น้ำร้อนจากเตาเผาถ่านเกือบสามชั่วโมง ไม่มีทีวี
มีแต่สัญญาณโทรศัพท์ที่ติดๆ ดับๆ เท่านั้น
ช่วงหน้าร้อนจะมีแดดดี
มีกระแสไฟฟ้าพอที่จะชาร์จแบตโทรศัพท์ได้บ่อยๆ ทำสมูทตี้กิน
หรือเอาเครื่องทำไอศครีมออกมาทำไอติมกินได้
แต่บางครั้งเมื่อฝนไม่ตกต่อเนื่องกันหลายวัน น้ำในแท็งก์ที่เก็บไว้ใกล้หมด จะอาบน้ำ
หรือแม้แต่ล้างจาน ก็ต้องประหยัดที่สุด ถ้าเป็นหน้าหนาว ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ
แต่ไฟฟ้านั้นอีกเรื่องเลย ช่วงนั้นพระอาทิตย์ขึ้นเก้าโมง ตกสี่โมงเย็น
บางวันไฟหมดก็อยู่กันอย่างมืดๆ นั่นแหละ อาศัยจุดเทียนเอา
ส่วนฮีตเตอร์ไม่มีมาเปิดปิดสั่งได้ ต้องก่อไฟเอาพลังงานความร้อนจากฟืนมาเป็นฮีตเตอร์
รักษาไฟเอาไว้ทั้งคืนไม่ให้มอด แล้วยังต้องคอยผ่าฟืนอีก
ไม่มีอะไรที่จะได้มามือเปล่าหรอก
แค่สิ่งที่ได้กลับมามันมีค่ามากกว่าสิ่งที่เสียไปก็โอเคแล้ว
ฉันชอบครอบครัวนี้ตรงที่พวกเขาไม่สุดโต่งจนเกินไป
ชุมชนพอเพียงบางแห่งที่นี่ไม่มีใครพยายามหาเงินมาใช้จากผืนดินของพวกเขา
บ้างก็เป็นโปรแกรมเมอร์ เป็นเกมเมอร์ แล้วมาอยู่ชุมชนพอเพียง วันๆ
ไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะมีรายได้เข้ามาเรื่อยๆ
แต่กับครอบครัวที่ต้องหาเลี้ยงตัวเองและลูกจากสิ่งรอบตัวที่มีอยู่
พวกเขายังคงต้องการเงินสำหรับการดำรงชีวิตในโลกสมัยใหม่
แต่ทั้งคู่เลือกที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองรัก
และทำมันโดยไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา
Little Brympton Micro Farm
Address: East Street, Chiselborough, Somerset TA14 6TW
England
Hours: Farm shop เปิดทุกวันศุกร์ 14:00 – 18:00 น. และวันเสาร์ 9:00 – 12:00 น. ถ้าอยากเข้าไปเยี่ยมชมและพุดคุยกับแพทช์และทาช่าก็ติดต่อเข้าไปเพื่อนัดวันเวลาล่วงหน้าได้
หรือจะเข้าไปเป็นอาสาสมัครก็ติดต่อผ่าน wwoof uk ได้เลย
Map
ใครอยากส่งเรื่องที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย