ในบรรดาปัญหาสังคมร้อยแปดพันเก้า เมื่อลองสืบย้อนขึ้นไปดูสาเหตุของปัญหาว่าเกิดจากอะไร ใครเป็นคนรับผิดชอบ แล้วเขาคนนั้นได้รับอำนาจมาจากไหน ที่สุดแล้วคำตอบล้วนมุ่งตรงไปสู่ต้นตอปัญหาเดียวกัน
‘รัฐธรรมนูญ’ ตรากฎหมายที่สำคัญที่สุด หนาที่สุด อ่านยากที่สุด
ขึ้นชื่อว่าเป็นกฎหมาย แค่ภาษาที่ใช้ก็เข้าใจยากแล้ว ไหนจะความยาวที่มีไม่รู้กี่ร้อยมาตรา และนั่นทำให้รัฐธรรมนูญถูกผลักให้เป็นเรื่องไกลตัวของทุกคนมาตลอด
แต่ในวันที่การเมืองถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์ วิพากษ์ และวิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ เลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันขึ้นมาพิจารณา เรื่อยไปจนถึงการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งหมดนั้นจะเดินต่อไปไม่ได้หากคนส่วนมากยังไม่สนใจ ใส่ใจ และเข้าใจตัวบทกฎหมายที่หนาเป็นตั้งเล่มนี้
“ถ้าเรายังอ่านไม่รู้เรื่องว่ามันหมายความว่าอะไร แล้วจะไปรู้ได้ยังไงว่าอยากแก้ตรงไหน”
กุ๊งกิ๊ง–ธนิสรา เรืองเดช ELECT Project Manager เชื่อว่าเราควรมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ต่อให้ไม่เคยเรียนกฎหมายก็อ่านรู้เรื่อง พวกเขาจึงอยากนำรัฐธรรมนูญเล่มหนามากางและย่อยให้เข้าใจง่าย
“งานนี้เรามุ่งไปจุดมุ่งหมายเดียวคือจะทำยังไงให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่อ่านแล้วเข้าใจ เพราะเราพูดเสมอว่ารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน และหลายคนอยากรู้แหละว่ามันพูดอะไร แต่เขาอ่านไม่ออก” ธนิสราเล่าติดตลก และเพื่อที่จะคุยกันถึงเบื้องหลังโปรเจกต์นี้ เธอได้ชวน ออมสิน–วรุตม์ อุดมรัตน์ Porject Coordinator ของงานนี้มาช่วยกันเล่าตั้งแต่กระบวนการคิดและออกแบบจนถึงการลงมือทำจริง
และเพื่อให้เห็นมิติที่ลึกลงไปกว่าสิ่งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน พวกเขาอยากพาเราขุดลงไปดูวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับในประวัติศาสตร์การเมืองไทยบนฐานคิดที่ว่า เราควรได้รู้อดีตที่ผ่านมาก่อน จึงจะคิดต่อไปได้ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ยังไง
“รัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับที่ผ่านมาทั้งชั่วคราวและถาวร ต่างก็มีกลไกการเกิดขึ้นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลงประชามติ การตั้งกรรมาธิการร่าง หรือการทำรัฐประหารแล้วร่างโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งเรามองเห็นความแตกต่างในเนื้อหารัฐธรรมนูญเหล่านั้นอยู่
“เราจึงตั้งสมมติฐานว่า ที่มาอันหลากหลายของรัฐธรรมนูญเหล่านี้มันน่าจะมีส่วนในการสร้างกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันของสังคมที่แตกต่างกัน” วรุตม์อธิบาย
รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของประชาชน
“ความตั้งใจของเราคืออยากให้คนเข้าใจรัฐธรรมนูญในฐานะกฎการอยู่ร่วมกัน เพราะนี่คือสิ่งสำคัญที่อยู่กับเราตั้งแต่ในบ้านไปจนถึงระดับประเทศ
“ทุกคนรู้จักกฎหมายทั่วไปกันอยู่แล้ว รู้ว่าเราห้ามขับรถชนคน ห้ามฆ่าคน แต่สิ่งหนึ่งที่คนยุคนี้น่าจะอยากเข้าใจเพิ่มคือ แล้วตัวละครทางการเมืองต่างๆ ที่เราเลือกให้เขามาดูแลเรา เขามีที่มาจากไหน และจะดูแลเรายังไง” วรุตม์อธิบายถึงเทรนด์ความสนใจในปัจจุบัน เมื่อหลายคนเริ่มตื่นตัวกับบทบาททางการเมืองของตนเองมากขึ้น
“เพราะเรามองว่ารัฐธรรมนูญคือตัวกำหนดกลไกการเกิดขึ้นของสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส.ส. สว. หรือแม้กระทั่งสถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญมีหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหน”
เมื่อคนส่วนใหญ่เข้าใจแล้วว่าประชาชนเองก็เป็นสถาบันทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างจากบรรดาผู้มีตำแหน่งทางการเมือง วรุตม์เชื่อว่าก้าวต่อไปที่สำคัญที่สุดคือการที่ทุกคนมองเห็นว่าคนธรรมดาอย่างเราจะเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดเนื้อหาภายในรัฐธรรมนูญได้ยังไง
“ในอดีต เรามักจะให้รัฐธรรมนูญมาตีกรอบเราและคิดว่าพอได้รัฐธรรมนูญมาแล้วเขาก็จะมากำหนดกฎเกณฑ์ให้เราเอง เราก็แค่ใช้ชีวิตไปตามนั้น แต่จริงๆ แล้วเราลืมไปว่าเรามีสิทธิที่จะกำหนดรัฐธรรมนูญในรูปแบบของเราเหมือนกัน”
ในขณะเดียวกัน กระบวนการทางการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กระจายอำนาจลงสู่ประชาชนมากเท่าที่ควร แม้จะมีให้เห็นบ้างในมุมของการทำประชาพิจารณ์ หรือการตัดสินใจในระดับที่รองลงมา แต่สำหรับตัวแปรใหญ่อย่างรัฐธรรมนูญนั้นมีโอกาสน้อยมากที่ประชาชนจะได้เสนอความคิดเห็น
“อย่างการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ปัญหาคือเขาไม่ได้ให้ตัวเลือกว่าถ้าไม่ยอมรับแล้วจะยังไงต่อ เพราะเขาบอกแค่ว่าถ้าเห็นด้วยแล้วจะเป็นยังไง แต่ไม่บอกว่าถ้าไม่เห็นด้วยแล้วจะเป็นยังไง” ธนิสราเสริมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่ออำนาจในการแสดงความคิดเห็นนั้นตกลงมาไม่ถึงมือประชาชน ซึ่งวรุตม์มองว่าวิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือการตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชนเอง
“อย่างน้อยคนควรจะมี awareness ก่อน เพราะไม่อย่างนั้นบางคนเขาอาจจะคิดว่า ‘คนนั้นเก่งก็ปล่อยให้เขาคิดไป’ ทั้งที่จริงๆ เราควรจะสนใจว่าประชาชนคิดเห็นยังไงมากกว่า
“เราเชื่อว่าถ้าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจตรงนี้แล้ว เขาก็จะมีไอเดียในการช่วยกำหนด หรือให้ความคิดเห็นมากขึ้น เช่น ถ้าเรารู้ว่ารัฐธรรมนูญระบุให้ สว.ส่วนมากไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งแล้ว เขาจะมีความเห็นว่ามันควรเป็นยังไง จะมีข้อเสนออะไรตามมา”
การทำงานที่ทุกคนเริ่มพร้อมกันตั้งแต่วันแรก
“วิธีการทำงานของเราคือ เหมือนเราย้อนกลับไปนั่งในกองรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ นั่งอ่านจนครบ แล้วเอากลับมาเล่าให้เพื่อนฟังแบบง่ายๆ แต่เราไม่ได้จะนำไปสู่ข้อสรุปนะ เพราะสุดท้ายแล้วมันอาจจะไม่เห็นอะไรเลยก็ได้ การทำงานของเราจึงเหมือนการทดลองที่เราตั้งสมมติฐานไว้เฉยๆ เท่านั้นเอง” ธนิสราอธิบายถึงหลักการทำงานในโปรเจกต์นี้ ที่คล้ายคลึงกับหลายโปรเจกต์ที่ผ่านมาของ ELECT ซึ่งใช้กระบวนการแบบ Data Journalism คือเริ่มจากเอาข้อมูลทั้งหมดมากองรวมกัน แล้วจึงมองหาข้อสังเกตที่ซ่อนอยู่
โดยปกติแล้วกระบวนการทำงานของ ELECT จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก นั่นคือการรีเสิร์ชและเตรียมเนื้อหา การออกแบบวิธีการนำเสนอและหน้าตาของเว็บ ส่วนสุดท้ายคือการพัฒนาเว็บไซต์ให้เกิดขึ้นจริงตามที่ออกแบบไว้ แต่ทั้งสามฝ่ายนั้นก็ไม่ได้ทำงานแบบตัวใครตัวมัน เพราะทุกคนจะต้องเข้าใจเนื้อหาส่วนต่างๆ ไปพร้อมกันตั้งแต่ต้น
“ในช่วงแรกนอกจากฝ่ายคอนเทนต์จะต้องทำงานแล้ว ดีไซเนอร์กับเดเวลอปเปอร์ก็จะมาคุยกันก่อนว่า เราจะดีไซน์เนื้อหาเหล่านี้ยังไงให้เหมาะกับคนดู มีหลายครั้งที่เราได้ไอเดียการนำเสนอข้อมูลจากทีมเดเวลอปเปอร์ซึ่งเขาเข้าใจฟังก์ชั่นของเว็บไซต์ว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง เราว่าตรงนี้คือคุณค่าหลักของทั้ง Punch Up และ ELECT ที่ทุกคนในทีมได้มีส่วนร่วมในการคิดตั้งแต่แรก” วรุตม์เล่า
“ในแง่คอนเทนต์ ทุกคนต้องสนใจและเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ เพราะมันจะส่งผลต่องานออกแบบของเราต่อไป” ธนิสราเสริม
แต่นอกจากจะสามารถให้ความเห็นในแง่การนำเสนอได้แล้ว ทุกคนในทีมยังสามารถมีส่วนร่วมในการตั้งคำถาม เพื่อช่วยพัฒนาประเด็นในการนำเสนอให้คมยิ่งขึ้นอีกด้วย
“อย่างตอนทำงาน The Cabinet Dynasty ซึ่งเราต้องรีเสิร์ชย้อนไปปี 2540 ตอนนั้นในทีมเรามีน้องฝึกงานฝ่ายเว็บไซต์ซึ่งเขาเกิดไม่ทันยุคนั้น ทำให้เราต้องช่วยกันปูพื้นว่าทำไม ครม.ในยุคปี 2540 ถึงสำคัญ เราว่าเรื่องเจเนอเรชั่นตรงนี้ก็น่าสนใจ เพราะเราก็ไม่เคยคิดว่าคนที่เกิดปี 2542 เขาจะตั้งคำถามกับทักษิณยังไง” เพราะการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองระหว่างคนในทีมก็เป็นอีกส่วนที่ธนิสราคิดว่าสำคัญไม่แพ้กัน
ถึงแม้ว่าทีมงาน Punch Up จะเชี่ยวชาญทั้งในเชิงการออกแบบและในเชิงเทคนิค แต่ก็ยังมีแง่มุมที่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
“อย่างเรื่องรัฐธรรมนูญ เราก็เข้าใจเท่าที่อ่านและค้นคว้า ดังนั้นเราต้องเข้าไปหาอาจารย์หรือนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เพราะการวิเคราะห์ในมุมมองของประชาชนอย่างเราก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ยังมีบางเรื่องที่เราไม่รู้ว่ามันมีบริบทนั้นอยู่ หรืออาจมีบางเรื่องที่เราไม่รู้ว่าต้องคำนึงถึงอยู่ด้วย
“มีบางงานที่เราทำไปแล้วได้เห็นว่า แม้จะมีนัยทางสถิติ แต่มันไม่สามารถอธิบายออกมาได้ตรงๆ เช่น งบผูกพันของทหาร ด้วยบริบทในเชิงรัฐศาสตร์เราไม่สามารถสรุปอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า เพราะมีรัฐประหารเกิดขึ้นทำให้ทหารได้งบประมาณเยอะขึ้น” ธนิสรายกตัวอย่างให้เราเห็นภาพชัดขึ้น
งานออนไลน์ที่ใช้งานได้ในเชิงปฏิบัติ
นอกจากความเชี่ยวชาญด้านเว็บไซต์ที่ทีม Punch Up มีอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว อีกสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเลือกนำเสนอวิวัฒนาการรัฐธรรมนูญในรูปแบบออนไลน์นั้น ก็เพื่อความเป็นมิตรสำหรับผู้อ่าน ที่บางครั้งอาจไม่ได้สนใจข้อมูลทั้งหมดในตอนแรก
“พอเป็นออนไลน์แล้วเราปล่อยให้เขากดเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ หรือดีไซน์แบบอินเทอร์แอ็กทีฟก็ได้ หรือในอนาคตถ้าจะพัฒนาสิ่งนี้ไปสู่รูปแบบออฟไลน์ก็ได้เหมือนกัน เป็นไอเดียที่ดีด้วย เพราะมันน่าจะเข้าถึงคนได้มากขึ้น ในกลุ่มที่เขาไม่ได้ติดตามโซเชียลฯ หรือทำงานติดหน้าจอเป็นหลักเหมือนเรา” ธนิสราอธิบายถึงทั้งข้อดีข้อเสียของแพลตฟอร์มต่างๆ
แต่ในฐานะคนทำงานออนไลน์ที่ต้องพึ่งพาข้อมูลจำนวนมากจากภาครัฐ ธนิสราเล่าว่าอุปสรรคสำคัญที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงคือการแปลงข้อมูลให้กลายเป็นดิจิทัล
“เอกสารที่เราได้มาจากภาครัฐแทบทั้งหมดไม่ใช่ไฟล์ machine-readable คือเราไม่สามารถคัดลอกมาทำอะไรต่อได้ อย่างเรื่องงบประมาณกรุงเทพฯ เราต้องมาคีย์ข้อมูลด้วยมือใส่ใน excel ทีละตัว เพราะบางครั้งมันเป็นไฟล์ PDF ที่มาจากการสแกน แต่ที่ร้ายที่สุดคือไม่มีแม้กระทั่งไฟล์ PDF นั่นแปลว่าเราต้องไปยื่นเอกสารกับกระทรวงเพื่อขอเอกสารอีกที” แม้ต้องเสียทั้งแรงและเวลา แต่ทีม Punch Up ถือคติว่า พวกเขายอมทำเพื่อที่จะได้แปลงข้อมูลทั้งหมดเป็นไฟล์ดิจิทัล แล้วนำมาเผยแพร่เป็น open source เพราะในความเป็นจริงแล้วข้อมูลทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ประชาชนควรจะเข้าถึงและตรวจสอบได้อยู่แล้ว
นอกเหนือไปจากอุปสรรคในเชิงปฏิบัติ อีกหนึ่งปัญหาที่เหล่าคนทำงานต้องเผชิญก็คือการต่อสู้กับอคติในใจของคน
“คำนี้มันเป็นคำแสลงของประชาชนที่ปกติเขาไม่ได้สนใจการเมืองมากนัก ดังนั้นสิ่งที่ยากคือการจะทำให้คนเข้ามาอ่านสิ่งนี้ให้ได้ หลายคนอาจจะมองว่าการเมืองเป็นพลวัตแบบที่วิ่งเป็นเส้นตรง ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้ เขาเข้ามาเดี๋ยววันหนึ่งเขาก็ไป แต่เราเชื่อว่าตัวละครสำคัญที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ คือประชาชน ดังนั้นเราต้องทำให้มันง่ายที่สุดให้ได้ คำว่ารัฐธรรมนูญต้องไม่ใช่คำแสลงอีกต่อไป” วรุตม์เล่าถึงความตั้งใจของเขาและทีมงานทุกคน
จากคนรุ่นใหม่สู่คนทุกรุ่นและทุกสถาบันทางการเมือง
หากพูดกันในแง่การตลาด กลุ่มเป้าหมายหลักของทั้ง Punch Up และ ELECT ก็คือเหล่าคนรุ่นใหม่ ที่ดูจะหันมาสนใจประเด็นสังคมและการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นความหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันเหล่าคอนเทนต์และเว็บไซต์ฝีมือ ELECT นั้นก็เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่เช่นกัน
“เราเองก็เป็นคนรุ่นใหม่คนนั้นที่สนใจและตามอ่านทุกอย่างใน ELECT จนตัดสินใจมาสมัครงาน เพราะอยากเข้าใจมากขึ้นว่าเบื้องหลังสิ่งที่เราได้อ่านนี่มันทำงานยังไง” วรุตม์เล่าประสบการณ์ในมุมของตัวเอง
“เราเรียนรัฐศาสตร์มา ต้องอยู่กับหนังสือหนาๆ ที่อาจารย์ให้อ่านทุกวัน และเรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีทางไปถึงคนทั่วไป พ่อแม่ คนที่อยู่รอบตัวเราเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีทางอ่าน แต่เราก็อยากให้คนเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น เพราะเราเห็นว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ ถ้าคนไม่รู้” แต่จากผลงานที่ผ่านมาของ ELECT ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ข้อมูลยากๆ หากถูกรวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่อย่างเหมาะสม ก็สามารถสร้างความเข้าใจให้คนในวงกว้างได้
และเมื่อเรามีคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจข้อมูลความรู้เหล่านี้มากพอ ก้าวต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของคนกลุ่มนี้เอง ที่จะต้องช่วยกันแปลงข้อมูลชุดนี้ในรูปแบบต่างๆ และเผยแพร่ไปสู่ประชาชนรุ่นอื่นให้มากยิ่งขึ้น
“อย่างกลุ่มที่อายุเยอะๆ เขาอาจจะไม่ได้เข้าใจหรือรู้จัก ELECT มากเท่าไหร่ เขาอาจจะอยากฟังเรื่องนี้จากองค์กรที่เขามองว่าน่าเชื่อถือ องค์กรที่เราฟังชื่อแล้วรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าความเชื่อมั่นและความต้องการของคนแต่ละรุ่นมันต่างกัน” วรุตม์ยกตัวอย่าง
แน่นอนว่าทีม Punch Up ไม่ได้คาดหวังการเปลี่ยนแปลงระยะสั้น พวกเขาหวังว่าวันหนึ่งเมื่อประชาชนให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญหรือสถาบันทางการเมืองอื่นๆ มากพอ พวกเขาจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่ระบบและโครงสร้างได้ในสักวัน
“เรามองว่าภาคประชาชนเป็นตัวแปรที่สำคัญมากพอที่จะทำให้ภาครัฐหรือองค์กรใหญ่ๆ มองเห็น และปรับตัวตามวิวัฒนาการของประชาชนที่เปลี่ยนไป” วรุตม์อธิบาย ก่อนที่ธนิสราจะขยายความ
“สมมติว่าหลังจากวันนี้เรามีการทำประชามติอีก เราหวังว่ามันจะไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่ว่ายอมรับไปก่อนแล้วหวังกลับมาแก้ทีหลัง เพราะเราก็เห็นแล้วว่าที่ผ่านมามันไม่ง่าย เราต้องไปด้วยความเข้าใจจริงๆ ว่าการจะลงชื่อยอมรับประชามติต้องดูที่อะไรบ้าง อะไรจะกระทบคุณบ้าง” เช่นกันกับพระราชบัญญัติและร่างกฎหมายอื่นๆ ธนิสราอยากให้ทุกคนมองเห็นว่ากฎหมายนั้นมีผลกระทบต่อชีวิตของทุกคนจริงๆ เพื่อที่เราทุกคนจะกล้าออกความเห็นเกี่ยวกับมัน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม
“และถ้าจะส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจ อย่างแรกเลยคือเราอยากให้เขาเห็นความสำคัญของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ ในเมื่อประชาชนออกตัวแล้วว่าเรารู้ เราเข้าใจ เราอยากแสดงความเห็นกับเรื่องนี้ แปลว่าต่อจากนี้ไป ไม่ว่าจะมีร่างรัฐธรรมนูญอีกกี่สิบฉบับในอนาคต คุณต้องฟังเขานะ ต้องยอมรับแล้วว่าเราต้องมี ส.ส.ร. ไม่ใช่ว่าจะเอา สนช.มารับร่าง ไม่ใช่แค่คุณมีชัยคนเดียวที่ทำได้ ประชาชนก็ทำได้เหมือนกัน”
ท้ายที่สุดแล้ววิวัฒนาการรัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับที่ใครๆ ก็อ่านรู้เรื่อง นอกจากจะทำเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแล้ว ยังเป็นการ
ส่งเสียงบางอย่างไปสู่หน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในการทำงานที่เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย และสื่อสารกับประชาชนได้อย่างตรงไปตรงมา
“เราไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะเป็นหน้าที่ใคร แต่สุดท้ายแล้วกฎหมายทุกฉบับในประเทศนี้ควรจะสื่อสารกับประชาชน เพราะมันคือกฎหมายที่บังคับใช้กับประชาชน ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้พิพากษาที่จะไปคุยกันว่าใครลงโทษใครยังไง”