ห่มผ้าประชาธิปไตย ปฏิบัติการศิลปะและความบันเทิงในขบวนการประท้วง

Highlights

  • หนึ่งในเอกลักษณ์ของขบวนชุมนุมของคนรุ่นใหม่คือ ความสนุกสนานที่เสริมให้ผู้มาเข้าร่วมบันเทิงเริงรมย์พร้อมๆ กับแสดงจุดยืนต่อข้อเรียกร้อง ทั้งยังมีกิจกรรมที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนด้วย
  • ในมุมมองของนักวิชาการศิลปะ นิยามว่านี่เป็นปฏิบัติการศิลปะ ที่เปิดกว้างให้ใครก็ได้มาใช้ศิลปะต่อรองอำนาจ และทำให้งานศิลปะไม่ได้ถูกนิยามไว้แค่กับศิลปินเพียงอย่างเดียว
  • แม้ว่าจะเคยมีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดม็อบแบบนี้จะทำให้ข้อเรียกร้องถูกลดทอนความจริงจังหรือไม่ แต่หนึ่งในผู้จัดเชื่อว่าความโกรธเป็นตัวขับเคลื่อนให้คนออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง เพราะคนเราคงอยู่กับความโกรธไปตลอดไม่ได้ ดังนั้นทุกคนก็มีสิทธิที่จะมีความสุขผ่านม็อบที่มีสีสันได้ด้วย 

ห่มผ้าประชาธิปไตย

คงจะเป็นจริงอย่างเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ว่า ‘อะไรที่ไม่เคยเห็น จะได้เห็นในปีนี้’ เพราะเมื่อลองขมวดไทม์ไลน์การประท้วงของคนรุ่นใหม่ตลอดครึ่งปีหลัง เราก็ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ จิกกัด ล้อเลียน และขบขันจนต้องหัวเราะออกมาเสียงดังๆ ในเกือบทุกการประท้วง แบบที่ไม่เคยเจอในขบวนชุมนุมไหนในประวัติศาสตร์ไทย

ทั้งแต่งแดร็ก เดินแบบแฟชั่น เต้นคัฟเวอร์เพลง Into The New World ของเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลี สาดสี วาดรูปจิ๋ม ฟังแรปสดตรงหัวมุมถนนนั้นแล้วเดินมาเซิ้งหมอลำต่อฝั่งทางนี้ ถ้าไม่บอกที่มาที่ไปใครจะรู้ว่าทั้งหมดเกิดจากความโกรธ ความคับข้องใจในความอยุติธรรม จนทำให้ผู้คนเป็นหมื่นเป็นแสนมารวมตัวเพื่อตอกย้ำถึงข้อเรียกร้องผ่านความสนุกสนาน

ห่มผ้าประชาธิปไตย

ห่มผ้าประชาธิปไตย

ห่มผ้าประชาธิปไตย

อาจเพราะความคิดสร้างสรรค์นั้นช่วยย่อยให้ประเด็นหนักๆ เข้าถึงง่าย หรือเพราะความสนุกมันเย้ายวนชวนให้คนที่ยังไม่รู้ข้อมูลเข้าใจเหตุการณ์ได้มากขึ้น ถึงอย่างนั้นก็เคยมีคนท้วงติงมากมายว่าความสนุกสนานแบบนี้ลดทอนข้อเรียกร้องหรือไม่ ความบันเทิงบางอย่างเข้าถึงคนบางกลุ่มได้เท่านั้นหรือเปล่า

เพื่อไขข้อสงสัยให้หนักแน่นด้วยเหตุผล เราจึงชวนหนึ่งในผู้จัดงาน MOB FEST เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มาอธิบายเบื้องหลังและแนวคิดการจัดงาน รวมไปถึง ถนอม ชาภักดี อาจารย์และนักวิจารณ์ศิลปะมาบอกเล่าปรากฏการณ์ปฏิบัติการศิลปะของมวลชนในครั้งนี้

ห่มผ้าประชาธิปไตย

ต่อสู้ด้วยความเบิกบาน

อันที่จริงการชุมนุมทางการเมืองในปีนี้มีความบันเทิงแทรกอยู่ในแทบทุกงาน แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าม็อบที่แสดงให้เห็นภาพ ‘การต่อสู้ด้วยความเบิกบาน’ อย่างชัดเจนที่สุดงานหนึ่งคือ MOB FEST  

หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานเล่าให้เราฟังตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่า MOB FEST เกิดจากการตกผลึกภาพรวมของม็อบในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ความสำเร็จของม็อบ 16 สิงหาฯ, ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล, ม็อบศิลปะปลดแอก, ม็อบ 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร, ม็อบวันที่ 14 ตุลาฯ ไปจนถึงม็อบเล็กม็อบน้อยที่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน ทั้งในต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ

เมื่อเวลาผ่านไป ขบวนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนม็อบไม่มีเวทีปราศรัยและไม่มีแกนนำ เน้นการเดินขบวนเป็นหลัก พอมาถึงจุดหนึ่งพวกเราก็คิดว่าน่าจะมีการชุมนุมที่มีเวทีสักหน่อยเพราะเริ่มมีฟีดแบ็กเข้ามาเยอะว่าเนื้อหาของขบวนคืออะไร

“ประกอบกับว่าในบรรดาข้อเรียกร้องที่พูดกันอยู่ตอนนี้ คือ ข้อหนึ่ง ประยุทธ์ต้องลาออกเป็นฉันทามติของสังคม ทุกคนพูดตรงกัน ส่วนข้อสาม การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ดูเป็นเกมยาว แต่ข้อสอง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นกำลังจะมีการประชุมสภาในวาระนี้ เราคิดว่าถ้าจัดม็อบวันที่ 14 อีก 3 วันก็จะประชุมพอดี ฉะนั้นเรามาทำม็อบเพื่อเก็บประเด็นรัฐธรรมนูญดีกว่า แล้วก็จะเก็บประเด็นเล็กๆ ที่ไม่เคยได้ขึ้นเวทีใหญ่มาพูดด้วย”

ม็อบในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากกลุ่มแอ็กทิวิสต์นักจัดม็อบเจ้าเก่าเจ้าเดิมเท่านั้น แต่ยังร่วมมือกับกลุ่มคนที่เคยทำงานคอนเสิร์ตและงานอีเวนต์เชิงพาณิชย์ซึ่งมีทักษะการจัดงานใหญ่มาช่วยสร้างสรรค์ความรื่นรมย์ให้กับ MOB FEST

“ม็อบที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งการปราศรัยประเด็นเล็กๆ แบบที่กลุ่มการเคลื่อนไหวเดิมต้องการ ผสมกับรูปแบบของเฟสติวัลดนตรี” 

MOB FEST ประกอบด้วยคีย์เมสเซจ 2 ประโยคที่ชัดเจนคือ ‘จากทางเท้าสู่สถาบัน’ หมายถึงการเรียกร้องตั้งแต่ปัญหาทางเท้าไปจนถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และ ‘แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ’ หมายถึงปัญหาที่พูดไปข้างต้นจะแก้ไขได้หากมีการแก้รัฐธรรมนูญ

ห่มผ้าประชาธิปไตย

ในฐานะที่ทำงานด้านความบันเทิงในโลกทุนนิยมมาก่อน หนึ่งในผู้จัดงานบอกเราว่าการจัดงานนี้แตกต่างกับงานที่เคยทำในหลายๆ เรื่อง นั่นจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาและทีมงานที่เคยจัดม็อบมาก่อนต้องวางแผนร่วมกัน

“คนที่เคยทำม็อบมาก่อนเขาจะรู้วิธีดีลกับภาครัฐ แต่กลุ่มที่ทำงานเชิงพาณิชย์จะรู้วิธีการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอน มีแผนการทำงานชัดเจน ตรวจสอบได้ มีเป้าประสงค์ชัด ต้องมีการรับฟีดแบ็กจากมวลชน เราก็เอาสองสิ่งมารวมกัน พองานออกมามีความสนุกสนานคีย์เมสเซจใหม่ของม็อบจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาตินั่นคือ ‘การต่อสู้อันเบิกบาน’” 

ห่มผ้าประชาธิปไตย

ปฏิบัติการศิลปะในขบวนการชุมนุม

ในภาษานักวิชาการศิลปะอย่าง ถนอม ชาภักดี เขามองว่าม็อบแบบนี้แหละคือ ‘ปฏิบัติการทางศิลปะ’ (art practices) ความหมายคือขบวนการชุมนุมที่ใช้วิธีการทางศิลปะขับเคลื่อน เปิดโอกาสให้ใครก็ได้มาทำงานศิลปะซึ่งจะช่วยทลายความศักดิ์สิทธิ์ของงานอาร์ตกลายเป็นพื้นที่แสดงออกของทุกคน ไม่ใช่แค่ของศิลปินเท่านั้น

“เราเห็นปฏิบัติการศิลปะแบบนี้มาตั้งแต่ปี 1980 ไล่มาจนถึงช่วงปี 2000 ซึ่งมีขบวนการ Arab Spring ปรากฏการณ์ Occupy Wall Street ในนิวยอร์ก และการเคลื่อนไหวหลายๆ ที่ แนวคิดในการนำเสนอเรื่องปฏิบัติการทางศิลปะในพื้นที่ของการเรียกร้องเป็นสิ่งงดงามที่เกิดขึ้นทั่วโลกจึงไม่แปลกที่จะเกิดในบ้านเรา”

ปรากฏการณ์ Arab Spring ที่ถนอมพูดถึงคือการลุกฮือของประชาชนในโลกอาหรับเพื่อต่อต้านเผด็จการในช่วงทศวรรษ 2010 เริ่มตั้งแต่ประเทศตูนิเซีย ตามมาด้วยประเทศอื่นๆ อย่างลิเบีย, อียิปต์, ซีเรีย, เยเมน และบาห์เรน การต่อสู้ครั้งนั้นไม่เพียงถูกจดจำในฐานะการต่อต้านเผด็จการครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก แต่ยังมีความสำคัญด้านปฏิบัติการศิลปะ เมื่อศิลปินต่างพากันใช้กำแพงในเมืองของตัวเองเป็นพื้นที่ระบายความคับแค้นใจที่มีต่อทางการ

มวลชนในโลกอาหรับเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนในอีกซีกโลกอย่างชาวอเมริกันลุกขึ้นมาประท้วง หรือที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ Occupy Wall Street ในนิวยอร์ก ผู้ประท้วงเรียกตัวเองว่าพวก ‘99%’ ที่เดือดร้อนจากการบริหารของภาคการเงินที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนรวย 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ นำมาสู่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำใหญ่หลวง

ไม่ใช่แค่การยึดถนนสายการเงินที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ผู้ประท้วงยังเรียกร้องในหลายรูปแบบโดยเ​ฉพาะอย่างยิ่งการใช้ศิลปะ ทั้งจัดนิทรรศการ มีงานเพนต์ติ้ง งานปั้น การแสดง อ่านบทกวี ไปจนถึงการเกิดขึ้นของ Occupy Museums กลุ่มศิลปินและนักเคลื่อนไหวที่ได้เจอกันและรวมตัวกันระหว่างการประท้วง

ห่มผ้าประชาธิปไตย

ในฐานะนักวิจารณ์ศิลปะที่ติดตามการเคลื่อนไหวเรียกร้องมาตลอด ถนอมเอ่ยปากชื่นชมการแสดงออกผ่านสุนทรียะการต่อต้านเสมอ ทั้งยังมองว่ายิ่งลักษณะม็อบมีความเป็นงานรื่นเริงสูงเท่าไหร่ยิ่งทำให้คนอยากเข้าร่วมมากขึ้น

“ผมว่าม็อบทำให้การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสัมฤทธิผลได้ในแง่ของการทำให้บรรยากาศเปลี่ยน มีความรื่นรมย์ ไม่ตึงเครียด เป็นเครื่องมือที่บอกให้สังคมได้รับรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น และทุกคนก็สามารถแสดงออกผ่านศักยภาพตัวเองได้ นำเรื่องราวที่ตัวเองคิด จะผ่านกระดาษแผ่นหนึ่ง ผ่านสีแท่งหนึ่ง ผ่านสื่อต่างๆ หรือเสื้อผ้าหน้าแพรที่ใส่มาม็อบก็ได้

“เราเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ มนุษย์ไม่มีอาวุธอื่นนอกจากเรือนร่างของตัวเองและการนำเสนอสารผ่านแอ็กติ้งต่างๆ นี่คือเรื่องสำคัญ ผมคิดว่าถ้าเราไม่มีสิทธิในการนำเสนอสัญญะความรู้สึกภายในร่างกายของเราก็เท่ากับว่าเราเป็นกลไกอันหนึ่ง ได้แต่ทำตามคำสั่ง ฉะนั้นการมีเสรีภาพในการแสดงออกก็คือเครื่องมือสำคัญในการที่จะทำให้เราสถาปนาความเป็นมนุษย์ของเราให้สมบูรณ์มากขึ้น” 

ห่มผ้าประชาธิปไตย

“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเครื่องทรงฤดูหนาว”

หนึ่งไฮไลต์ของงาน MOB FEST คือการคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยผ้าสีขาวซึ่งนับว่าเป็นปฏิบัติการศิลปะที่น่าสนใจเพราะนอกจากจะแสดงออกเชิญลักษณ์ได้แล้ว ผืนผ้านั้นยังโอบอุ้มความฝันและการร่วมแรงร่วมใจของผู้คนหลากหลาย

เรื่องคลุมผ้าต้องให้เครดิตนักเรียนเลว” ผู้จัดงาน MOB FEST เล่า “เขาอยากคลุมอนุสาวรีย์มาก ทำยังไงดี หน้าที่ของเราคือชวนเครือข่ายมาคุยกันว่าจะทำยังไงได้บ้าง มีเครือข่ายศิลปะปลดแอกมาช่วยกันหาวิธีการห่อ ช่วยกันคิดความเป็นไปได้ ต้องหาผ้าใหญ่แค่ไหน จะคลุมยังไง ใช้คนกี่คน ซึ่งเราก็ได้รับคำแนะนำจากคนที่เขาเคยช่วยเสื้อแดงคลุมผ้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลายๆ คนก็มาร่วมทำงานกัน ทำให้มิสชั่นของนักเรียนเลวมารวมกับงานศิลปะ แล้วก็ออกมาเป็นซีนที่เราเห็น

ห่มผ้าประชาธิปไตย

ห่มผ้าประชาธิปไตย

“งานนี้มีความเป็นธรรมชาติอีกอย่าง คือพอเราโพสต์ภาพการคลุมอนุสาวรีย์ก็มีคนมาคอมเมนต์ในเพจว่า ‘นี่มันคือการเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวให้อนุสาวรีย์’ เราเลยบอกว่าขอเอาไปใช้นะ เพราะมันเป็นการล้อเล่นและคานอำนาจกับความศักดิ์สิทธิ์ที่ภาครัฐให้ความสนใจอย่างพระแก้วมรกต ในขณะที่กระแสของมวลชนให้ความสนใจกับประชาธิปไตย”

สำหรับคนที่ติดตามแวดวงศิลปะ เมื่อเห็นภาพผืนผ้าห่มคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคงอดคิดถึงงานศิลปะของคู่รักศิลปินนักห่อผ้าชื่อดังอย่าง Christo และ Jeanne-Claude ไม่ได้ โดยเฉพาะงาน Wrapped Reichstag หรือการห่อผ้ารัฐสภาเยอรมนีซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมเหลือล้น กับงานนั้น พวกเขาต้องใช้เวลาถึง 24 ปีในการขออนุญาตทำงานศิลปะ ส่งเรื่องให้สภาพิจารณามากกว่า 5 รัฐบาล และใช้นักปีนเขามากกว่าร้อยคนเพื่อทำงานที่แฝงไปด้วยประเด็นประวัติศาสตร์ในพื้นที่ของรัฐสภา

Christo and Jeanne-Claude Wrapped Reichstag, Berlin, 1971-95 Photo: Wolfgang Volz © 1995 Christo

แต่ถนอมมองว่างานห่อผ้ารัฐสภาเยอรมนีและการห่อผ้าประชาธิปไตยของบ้านเราอาจเทียบเคียงกันไม่ได้เพราะบริบทของจุดหมายการทำงานและวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน

งานของ Christo มีการจัดการที่เป็นระบบและพื้นที่ที่เขาทำงานอยู่ในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย สามารถแสดงออก วิพากษ์วิจารณ์ได้ ทั้งงานห่อรัฐสภาที่เบอร์ลิน การคลุมทะเลที่เวนิส หรือว่าคลุมรั้วในอเมริกาซึ่งเป็นลักษณะงานศิลปะคอนเซปต์ชวลที่มีความคิดเชิงวิพากษ์ในตัวมันเอง และเป็นแนวคิดของศิลปินคนเดียว

“ในขณะที่การห่มอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้นคือพลังร่วม คือความคิดของคนหนุ่มสาวของยุคสมัยที่ต้องการห่อร่างความเป็นอนุสาวรีย์ไว้ให้มีความหมายมากยิ่งขึ้น ทำให้อนุสาวรีย์ไม่ได้มีความหมายแค่เป็นสิ่งก่อสร้างแต่มีชีวิตของการขับเคลื่อน ส่วนบริบทการเกิดงานก็มาจากการชุมนุมเรียกร้องและชวนคนมาร่วมสำแดงพลัง ในขณะที่งานของคริสโตเป็นการแสดงงานแล้วเรียกให้คนมาดู”

ห่มผ้าประชาธิปไตย

ถนอมเสริมว่าปฏิบัติการศิลปะห่อผ้าประชาธิปไตยจะเรียกว่าเป็นงานศิลปะเชิงต่อต้านก็ได้เพราะลักษณะของความฉับพลันที่คลุมผ้าได้ไม่ทันข้ามคืนรัฐก็มาเอาออกแล้ว 

“ผมว่าความสำเร็จของงานนี้คือการทำให้เกิดการถกเถียงในสังคมนะ ซึ่งนี่แหละคือปฏิบัติการศิลปะ มันไม่นิ่ง มันทำให้เกิดการถกเถียง และเราก็ต้องการสังคมที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้นการทำให้เกิดบทสนทนาในสังคมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก”

“You can’t be an angry man so long.”

ในความเป็นจริง เราเชื่อว่าความสนุกสนานจะยังคงแฝงอยู่ในทุกๆ ขบวนการประท้วง แต่ถึงอย่างนั้นก็มีคำถามที่น่าสนใจว่าความบันเทิงในขบวนการชุมนุมจะลดทอนข้อเรียกร้องหรือทำให้คนอีกกลุ่มเข้าไม่ถึงวัฒนธรรมบางอย่างหรือไม่ 

“ไม่เลย ผมว่างานเช่นนี้คือการลื่นไหลทางวัฒนธรรม” ถนอมตอบทันที

“มันคือการลื่นไหลจากพื้นที่ของการฟังคนเพียงคนเดียวมาสู่พื้นที่การแสดงออกร่วมกัน เมื่อลักษณะการมีส่วนร่วมเยอะขึ้น ลักษณะพื้นที่ของการเรียกร้องก็ขยายตัวขึ้น ผมคิดว่ายิ่งทำให้พื้นที่การชุมนุมเรียกร้องมีความป๊อปปูลาร์มากเท่าไหร่การขยายตัวของวิธีคิดก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น นี่คือการก้าวเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการศิลปะที่ทุกคนมีส่วนร่วม คนไม่ได้เดินไปฟังแกนนำอย่างเดียวแต่ทุกคนไปเข้าร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออก”

ถนอมเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ และการมารวมตัวกันครั้งนี้คือการดึงศักยภาพของมนุษย์ออกมา ทุกคนที่มาร่วมต่างดึงเรื่องราว ความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ และเรายังได้เห็นผู้คนใช้ไลฟ์สไตล์ของตัวเองมาขับเคลื่อนข้อเรียกร้องให้สาธารณะได้รับรู้

“ดังนั้นเราจะเห็นความหลากหลาย และเห็นความเป็นเศษเป็นส่วนทุกย่อมหญ้า ทุกสัญญะของการแสดงออก ทุกตารางนิ้วของการชุมนุม ไม่มีซ้ำ ไม่มีแพตเทิร์นแต่มีลักษณะของความหลากหลายเยอะ”

ส่วนหนึ่งในผู้จัด MOB FEST บอกเหมือนกันว่าพวกเขาเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขบวนม็อบจะลดทอนคุณค่าความจริงจังลง 

ฉันทามติหนึ่งที่มีร่วมกันในที่ประชุมคือ You can’t be an angry man so long. ไม่มีใครโกรธไปตลอดชีวิตได้เพราะความโกรธมันทำให้เราเหนื่อยมาก ถ้าคุณไม่สามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมีความสุขได้คุณก็ไม่มีทางทำมันไปได้ตลอด โดยเฉพาะเมื่อเราไม่รู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะนานแค่ไหน

“ขบวนที่ผ่านมาผลักดันคนด้วยความโกรธมาแล้ว และทุกคนก็มีสิทธิโกรธกับความเหลื่อมล้ำเพราะเราทนกับเรื่องนี้กันมานาน แต่เราก็เชื่อว่านักต่อสู้ก็มีสิทธิที่จะมีความสุข

“สิ่งหนึ่งที่เยาวชนมีแต่ภาครัฐไม่มีคือความเบิกบาน ฉะนั้นเราก็คิดว่าการต่อสู้ที่เบิกบานก็จำเป็น”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone