Young Designer For Democracy กลุ่มนักออกแบบอนาคต ประชาธิปไตย และความเท่าเทียม

Highlights

  • Young Designer for Democracy หรือ YDFD คือกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันเพื่อทำกราฟิกจี๊ดๆ สื่อสารเรื่องประชาธิปไตยและการเรียกร้องเรื่องสังคม การเมือง ในปัจจุบัน
  • ผู้ก่อตั้งกลุ่ม YDFD คือดีไซเนอร์สาววัย 20 ผู้ที่มีพ่อเป็นกลุ่ม นปช.และแม่เป็นกลุ่ม กปปส. เธอจึงสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งปัจจุบันที่เธอออกมาใช้ทักษะด้านดีไซน์เรียกร้องด้วยตัวเอง
  • นอกจากเรื่องการเมือง YDFD ยังสนใจประเด็นทางสังคมอื่นๆ เช่น การเรียกร้องของชาวบ้าน แรงงานในจังหวัดต่างๆ โดยพวกเขามีเป้าหมายว่าอยากได้ประชาธิปไตยที่ไม่ละทิ้งใครออกไปและทุกคนเท่าเทียม

เกือบ 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ไม่มีวันไหนที่เราไม่เห็นโพสต์ของ Young Designer for Democracy หรือที่พวกเขาเรียกตัวเองสั้นๆ ว่า YDFD

View this post on Instagram

A post shared by Young Designer For Democracy (@ydfd.2020) on

โพสต์ของ YDFD ไหลมาในไทม์ไลน์ทวิตเตอร์ โผล่มาในหน้าฟีดและสตอรีอินสตาแกรม บางทีก็อยู่ในเฟซบุ๊ก ทั้งหมดเห็นแล้วต้องหยุดไถหน้าจอเพราะกราฟิกจี๊ดๆ คู่สีสดเตะตา และเนื้อหาปังๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองในปัจจุบันที่ย่อยมาแล้วอย่างกระชับ เข้าใจง่าย แถมแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ด้วย แค่กดแชร์ก็ส่งข่าวถึงเพื่อนร่วมฟีดได้เลย

ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน นักออกแบบรุ่นใหม่กลุ่มนี้ทำเนื้อหาไปแล้วนับสิบเรื่อง ตั้งแต่การสรุปข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง, วิธีรับมือกับน้ำสีฟ้า (ที่ปล่อยออกมาทันทีในคืนที่ประชาชนโดนสลายการชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูง), คู่มือ 101 ต้านรัฐประหาร, ข่าวการจับกุมผู้ประท้วง ไปจนถึงการเรียกร้องของชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ ที่เสียงมาไม่ถึงคนเมืองสักที

ที่ดีงามคือทุกภาพเซฟไปแชร์ไปแจกได้ฟรี หรือถ้าจะนำไปปรินต์ YDFD ก็มีไฟล์ความละเอียดสูงแจกให้โดยมีเงื่อนไขแค่ห้ามนำไปใช้เชิงพาณิชย์เท่านั้น

View this post on Instagram

A post shared by Young Designer For Democracy (@ydfd.2020) on

พวกเราควรจะมีสิทธิและบทบาทเป็นนักออกแบบอนาคตของตนเอง มีสิทธิที่จะออกแบบเส้นทางข้างหน้าโดยไร้ผ้าบังตา มีสิทธิที่จะร่วมกันสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริงโดยอำนาจอธิปไตยของประชาชนไม่ใช่รัฐเผด็จการ

ออกแบบอนาคตที่จะไม่ถูกลิดรอนอีกต่อไป

ข้อความเปิดตัว YDFD กล่าวไว้เช่นนี้ ส่วนขั้นตอนในการออกแบบอนาคตที่พวกเขาอยากเห็นจะเป็นยังไง ดีไซเนอร์สาววัย 20 ผู้ก่อตั้งกลุ่ม มีไอเดียมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียด

View this post on Instagram

A post shared by Young Designer For Democracy (@ydfd.2020) on

ก่อนจะก่อตั้งกลุ่ม YDFD คุณทำอะไรมาก่อน

เราเคยเป็นนักเรียนออกแบบแต่เรียนได้ไม่นานก็ลาออก ตอนนี้ทำงานเป็นฟรีแลนซ์กราฟิกดีไซเนอร์เต็มตัว

อดีตนักเรียนออกแบบคนนี้สนใจเรื่องราวสังคมการเมืองมาตั้งแต่เมื่อไหร่

เราสนใจการเมืองมาตั้งแต่ช่วงประถมปลายเพราะเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรและทุกคนที่บ้านก็ตื่นตัวทางการเมืองมาก แม่เราเองเป็นกลุ่มพันธมิตรเราเลยได้ซึมซับข่าวการเมืองคุกรุ่นมาตั้งแต่ตอนนั้น จนช่วง ม.ต้นเราก็ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับกลุ่มกปปส.และกลุ่ม นปช. ตอนนั้นการเมืองในบ้านก็ร้อนแรงเหมือนกันเพราะว่าพ่อเป็น นปช. แต่แม่เป็นกลุ่ม กปปส. ส่วนเราก็เป็นเด็กที่อยากรู้ว่าผู้ใหญ่เขาคุยอะไรกันก็เลยเริ่มเอาคีย์เวิร์ดไปเสิร์ชหาข้อมูลอ่านว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่เพราะภาพที่เราเห็นผ่านสื่อ ผ่านสิ่งที่เขาพูดกันมันดูรุนแรงมาก แต่ทำไมเรากลับไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทำไมทุกคนที่โรงเรียนถึงใช้ชีวิตปกติ คนก็จะเรียกเราว่าเป็นพวกบ้าการเมืองตั้งแต่มัธยม

ตอนนั้นเราแค่อ่านข้อมูลแล้วเก็บไว้กับตัวเองเรื่อยๆ มาจนถึงช่วงใกล้รัฐประหารนี่แหละที่รู้สึกว่าเราต้องแสดงออกแล้วก็เริ่มพูดความเห็นของตัวเองให้ที่บ้าน ให้เพื่อนฟังบ้างว่ามันเกิดอะไรขึ้น หลังจากช่วงรัฐประหารก็เรียกว่าเกาะขอบการเมืองตลอดเลยแต่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ยังไม่รู้ว่ามีกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเรื่องอะไรบ้างและเขาทำอะไรได้บ้าง

View this post on Instagram

A post shared by Young Designer For Democracy (@ydfd.2020) on

ที่บอกว่าหาข้อมูลอ่านเพิ่มจากบทสนทนาของพ่อแม่ ไปอ่านข้อมูลอะไรบ้าง

จุดเบิกเนตรตอนนั้นคือข้อมูลเรื่อง 6 ตุลา คือในวงสนทนาที่บ้านนอกจากพ่อแม่แล้วก็ยังมีพี่ด้วย ซึ่งตอนนั้นเขาเพิ่งได้รู้เรื่อง 6 ตุลาก็เลยเอามาพูดในครอบครัว พอเราได้ฟังก็ลองไปเสิร์ชหาข้อมูลจนเจอชุดข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน เราก็ตามไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับ 6 ตุลาต่อ มีเล่มที่จำได้คือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล

ทำไมเรียก 6 ตุลาว่าเป็นจุดเบิกเนตร

6 ตุลาเหมือนเป็นจุดที่ทำให้เรารู้ว่ารัฐไม่ได้อยู่ข้างเราแต่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ระบบของรัฐหลายอย่างก็ค่อนข้างเละเทะ ช่วงเวลาที่เรารับรู้เรื่อง 6 ตุลาค่อนข้างใกล้กับช่วงการสลายการชุมนุมเสื้อแดงพฤษภา 53 ด้วย เราเลยได้เห็นอีกครั้งว่ามีการนองเลือดเกิดขึ้นกับประชาชนจริงๆ 

สิ่งที่ทำให้เราต่อต้านรัฐประหารก็มีส่วนมาจากข้อมูลเรื่อง 6 ตุลาและการสลายการชุมนุมเสื้อแดงเช่นกัน เพราะเราได้เห็นอำนาจรัฐที่มากเกินประชาชนอย่างเห็นได้ชัดและเห็นรู้สึกว่าการที่ทหารเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองนั้นไม่น่าไว้ใจ 

จากจุดที่รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้เลย อะไรทำให้ได้ไอเดียทำ YDFD

ก่อนหน้านี้เราได้รู้จักคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและองค์กรเพื่อประชาธิปไตยทำให้ได้รู้ว่าชุดข้อมูลที่คนทั่วไปยังไม่รู้มันมีเยอะมากและปริมาณงานกราฟิกที่ต้องทำเพื่อสื่อสารให้คนทั่วไปยังมีไม่มากพอ เพราะกราฟิกในองค์กรเพื่อประชาธิปไตยมีไม่กี่คน ไม่นับว่าองค์กรเหล่านี้ก็มีไม่เยอะอยู่แล้วเพราะเพดานเสรีภาพสื่อก็ถูกกด ​

ยิ่งในช่วงที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ การสื่อสารก็ยิ่งต้องมากขึ้น ยิ่งต้องมีประสิทธิภาพมากๆ ด้วย เราเลยลองคุยกับเพื่อนๆ ดูว่าพวกเราจะช่วยอะไรได้บ้างกลายเป็นความคิดจะตั้งกลุ่มที่นักออกแบบอย่างพวกเราจะมาช่วยองค์กรหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองทำกราฟิกกัน

แค่เราลงในไอจีสตอรีปั้งเดียวว่าจะทำ YDFD ทุกคนก็กรูกันมาทัก ทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จักกันเหมือนทำอะไรได้เขาก็จะช่วย แม้กระทั่งเด็กมัธยมก็ทักมา บางคนติดสอบอยู่ก็ทักมาบอกว่าถึงไม่ว่างแต่ถ้ามีอะไรก็ทักมาได้นะเผื่อจะแอบมาทำให้ได้ 

View this post on Instagram

A post shared by Young Designer For Democracy (@ydfd.2020) on

View this post on Instagram

A post shared by Young Designer For Democracy (@ydfd.2020) on

ชุดข้อมูลที่คุณรู้สึกว่าคนทั่วไปไม่ค่อยรู้แต่ควรรู้คืออะไร

ถ้าเป็นช่วงนี้คิดว่าเป็นเรื่องข้อกฎหมายที่รัฐมักจะนำมาใช้กับคนที่เห็นต่าง เช่น ม.116 ที่พูดถึงการยุยงปลุกปั่น ก่อนยุครัฐประหารปี 2557 มีการใช้ข้อกฎหมายข้อนี้น้อยมากเพราะมันเป็นข้อกฎหมายที่มีคำจำกัดความที่กว้างมากแต่พอเข้ายุครัฐประหารปุ๊บข้อกฎหมายข้อนี้ก็ถูกใช้บานเลย 

ตัวกฎหมาย ม.116 วรรค 2 มันบอกว่า กระทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร ซึ่งตีความได้กว้างมากเลยว่าความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนหมายถึงอะไร แต่วิธีการที่รัฐนำข้อกฎหมายนี้มาใช้คือใช้กับประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐทหาร มันชัดเจนมากว่าคำว่าปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องมันคือความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลไม่ใช่ในหมู่ประชาชน

นอกจากคอนเทนต์เรื่องหลักการ กฎหมาย งานหลายชิ้นของ YDFD เรียลไทม์มาก เช่น วิธีรับมือน้ำสีฟ้าซึ่งคุณทำออกมาในคืนที่มีการสลายการชุมนุมด้วยรถน้ำแรงดันสูง ทำได้ยังไง

เรามีคนที่มอนิเตอร์อยู่หน้าคอมฯ ที่บ้านและคนที่ไปชุมนุม ทุกคนจะช่วยกันมอนิเตอร์ข่าวและส่งหากันว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช็กกับคนที่อยู่ในพื้นที่จริงว่าเรื่องนี้จริงไหม อยากให้ช่วยบอกอะไรใครบ้างก็เลยสามารถทำงานเรียลไทม์ได้

View this post on Instagram

A post shared by Young Designer For Democracy (@ydfd.2020) on

นอกจากม็อบ จะเห็นว่า YDFD ทำคอนเทนต์ประเด็นสังคมอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องเหมืองดงมะไฟ หรือเรื่องการเรียกร้องของชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ ช่วยอธิบายหน่อยว่าประเด็นทางสังคมการเมืองแบบไหนที่ YDFD สนใจบ้าง

เราค่อนข้างเจาะไปที่คำว่าประชาธิปไตย ซึ่งสำหรับเราคือความเท่าเทียม เราพยายามทำข้อมูลให้ครอบคลุมการเรียกร้องของทุกคนให้ได้มากที่สุด เพียงแต่ว่าช่วงนี้มีเรื่องม็อบเราก็เลยไปโฟกัสที่ม็อบก่อน แต่ก่อนหน้านี้สิ่งที่คุยกันไว้คือเราจะทำทั้งเรื่องข้อกฎหมาย ช่วยขยายเสียงของชาวบ้าน ขยายเสียงของกลุ่มคนที่เป็นคนชายขอบ ปัญหาแรงงาน ทำให้เรื่องที่คนไม่เคยรับรู้เลยเป็นที่รับรู้ผ่าน YDFD

YDFD ไปรู้เรื่องเหล่านั้นได้ยังไง

เป็นความสนใจของพวกเราหลายๆ คน เช่น เราสนใจเรื่องแรงงานประมง หรือมีคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ฟาสต์แฟชั่น เราก็จะไปรวบรวมข้อมูลเอามาช่วยกันกรอง มาคัดแล้วทำกราฟิก ซึ่งตอนนี้นอกจากเรา คนที่ช่วยกรองข้อมูลก็มีศูนย์ทนายคอยเช็กข้อมูลเรื่องการจับกุมต่างๆ เพราะข่าวมาเร็วมากและมีเฟคนิวส์เยอะ และมีพี่ๆ NGO ที่ทำงานกับชาวบ้านกลุ่มต่างๆ มาช่วยให้ข้อมูลด้วย

View this post on Instagram

A post shared by Young Designer For Democracy (@ydfd.2020) on

YDFD ใช้ทวิตเตอร์กับอินสตาแกรมเคลื่อนไหวเป็นหลัก เป็นเพราะคนรุ่นใหม่ใช้สื่อเหล่านี้เยอะหรือเปล่า

ใช่ คนรุ่นใหม่เล่นอินสตาแกรมกันเยอะมากๆ อีกอย่าง จุดประสงค์ของพวกเราคือตั้งใจทำอินโฟกราฟิกเพื่อให้คนเอาไปลงต่อโดยไม่ต้องขออนุญาต จะนำไปแจกจ่าย นำไปปรินต์​ นำไปทำอะไรก็ได้ยกเว้นเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นแพลตฟอร์มอินสตาแกรมเลยเหมาะมากเพราะใครๆ ก็กดแชร์รูปจากหน้าไอจีของเราได้เลยแล้วมันก็ไปขึ้นที่สตอรีของเขา เพื่อนๆ เขาก็กดเข้ามาดูโปรไฟล์ของเราได้และแชร์ไปได้ง่ายๆ อีก

คนชอบพูดกันว่าที่คนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องเพราะมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง คุณกับเพื่อนๆ ก็ออกมาด้วยเหตุผลนี้ไหม

คิดว่าทุกคนเป็นแบบเดียวกันหมด เพื่อนรอบตัวเราจะชอบพูดกันเป็นมุกว่ารีบเรียนแล้วรีบย้ายออกจากประเทศกันเถอะเพราะทุกคนที่รู้จักกันก็จะเรียนเกี่ยวกับศิลปะและดีไซน์ แต่ freedom of expression ในประเทศของเรามันต่ำมากและคนในประเทศก็ไม่ได้ให้ค่ากับงานศิลปะขนาดนั้น เวลาทำงานเงินก็ถูกกด พวกเรารู้กันหมดเลยว่าถ้าเราไปประเทศอื่น ค่าตัว ค่าแรงเราเยอะขึ้นกว่าเดิมแน่นอนแต่ก็ยังย้ายออกไปไม่ได้ หนึ่ง คือยังเรียนไม่จบ สอง คือบางคนที่บ้านก็ไม่ได้พร้อมจะส่งไปเรียนเมืองนอก

View this post on Instagram

A post shared by Young Designer For Democracy (@ydfd.2020) on

View this post on Instagram

A post shared by Young Designer For Democracy (@ydfd.2020) on

ปัญหาหลักๆ ที่อดีตนักเรียนออกแบบอย่างคุณเจอคืออะไร

ขอพูดตั้งแต่รากเลยแล้วกัน คือวิชาศิลปะ สมัยอนุบาลหรือประถมทุกคนมักถูกบอกว่าท้องฟ้าต้องเป็นสีฟ้า พระอาทิตย์ต้องสีแดง ดาวต้องสีเหลือง หญ้าต้องสีเขียว ถ้าระบายสีอื่นคือผิด หรือถ้าระบายสีไม่เต็มกระดาษก็ถือว่าผิด โดนหักคะแนน จินตนาการหรือการแสดงออกของพวกเราถูกจำกัดแม้กระทั่งแค่เรื่องระบายสีทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่มีผิดไม่มีถูก ท้องฟ้าสีชมพูหมายถึงพระอาทิตย์ตกไม่ได้เหรอ 

พอโตมาเรื่อยๆ เราก็ไม่ได้ถูกสอนว่าศิลปะมีคุณค่ากับชีวิตคนยังไง สามารถใช้ในชีวิตประจำวันยังไงได้บ้าง เราเพิ่งรู้ว่าคณะทางศิลปะมีคณะอื่นนอกจากจิตรกรรมก็ตอนมัธยมต้น เพิ่งรู้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่ามัณฑนศิลป์ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มันอยู่รอบตัวเราตลอด ถ้าไม่มีก็แปลว่าบ้านเมืองล่มสลายทางวัฒนธรรมนะ

นอกจากนี้ศิลปะมีแขนงต่างๆ ให้เลือกเรียนก็จริงแต่เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเราถนัดอะไร เหมาะกับแขนงอะไรถ้าเราไม่ได้ไปเรียนติว ปัญหานี้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจด้วยเพราะบางบ้านไม่ได้มีเงินมากพอที่จะส่งลูกเรียนติวศิลปะ มันยิ่งขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำเข้าไปอีกเพราะเด็กที่ไม่มีเงินไปติวก็ต้องถอย ทิ้งความฝันของตัวเองไป ไปเข้าสนามสอบก็อาจจะแพ้ให้คนที่มีอภิสิทธิ์ที่ได้ลองทำงานแนวต่างๆ มาแล้ว ได้รู้แนวโจทย์ล่วงหน้า หรือต่อให้เข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องเจอค่าเทอมแพงๆ เจอค่าอุปกรณ์ซึ่งถ้าเราซื้ออุปกรณ์ที่คุณภาพไม่ดีมันก็มีผลกับคุณภาพของงานของเราโดยตรงอยู่แล้ว

แล้วในฝั่งของการทำงานล่ะ ถ้าการเมืองดี การทำงานดีไซน์จะเป็นยังไง

เราคิดว่ามันจะปลดแอกตั้งแต่ก้าวแรกๆ ของพวกเราคือเรื่องการศึกษาไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจ อีกอย่างคือถ้าเกิดเราได้รัฐบาลที่พวกเราเลือกจริงๆ เขาจะต้องฟังเสียงของประชาชนที่เลือกมา ฟังเสียงของดีไซเนอร์ กลุ่มคนที่ทำงานศิลปะ ให้ความช่วยเหลือที่พวกเราไม่เคยได้ ทั้งผ่านการให้งบสนับสนุน โครงการสนับสนุนต่างๆ อีกอย่างคือถ้าเราปลดเพดานที่กดเสรีภาพทางการแสดงออกได้เราอยากสร้างสรรค์อะไรเราก็สามารถทำได้ ดังนั้นเราเชื่อว่าหลังจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้สำเร็จ งานดีไซน์วีค เทศกาลดีไซน์ งานนิทรรศการจะเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น มันจะกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการส่งเสริมศิลปะ เศรษฐกิจดี ศิลปะก็ดี มันจะไปด้วยกันได้หมดเลย

ประเทศไหนที่คุณคิดว่าเป็นตัวอย่างการสนับสนุนด้านศิลปะและดีไซน์ที่ดี

ที่พูดแล้วคนไทยจะเก็ตเลยคิดว่าน่าจะเป็นโซล เกาหลี ที่นั่นมีมิวเซียมกับแกลเลอรีเข้มแข็งมากๆ การคิวเรตงานก็มีคุณภาพมากๆ องค์กรด้านศิลปะที่ไม่แสวงหาผลกำไรก็มีหลากหลาย เช่น ดีไซเนอร์เฟมินิสต์ที่ช่วยโปรโมตงานดีไซเนอร์ผู้หญิง เขามีทั้งเวิร์กช็อป รีวิวพอร์ตโฟลิโอ เป็นกลุ่มที่ร่วมกันทำงานออกแบบสังคมไปด้วย ซึ่งองค์กรเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเต็มที่ ประเทศเขามีอุตสาหกรรมบันเทิงที่เติบโตมากๆ อยู่แล้วและเขามองว่าวัฒนธรรมและศิลปะก็ต้องเติบโตควบคู่ไปด้วยกัน กระทั่งไอดอลเกาหลีเองก็ยังวาดรูปและถูกยกมาพูดถึง ชื่นชมในทีวีอยู่บ่อยๆ ด้วยซ้ำไป

View this post on Instagram

A post shared by Young Designer For Democracy (@ydfd.2020) on

จากชื่อกลุ่ม คำว่าประชาธิปไตยที่ YDFD อยากเห็นเป็นยังไง

จากที่ติดตามข่าวมาตลอดและจากที่ทำงานมา เราคิดว่าปัญหาของประเทศเกิดจากอำนาจที่ไม่ถูกคานและประชาชนไม่ถูกรับฟังเสียง คนมักจะมองว่าคนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องมากหรือทำตัวเยอะ แต่ไม่ได้มองว่าปัญหาของเขาคือเรื่องอะไรและปัญหานั้นสร้างผลกระทบให้ใครบ้าง ดังนั้นต่อให้ไม่มีเรื่องม็อบแล้วเราก็คิดว่าอยากเคลื่อนไหวในเรื่องการขยายเสียงคนชายขอบต่อไป 

เราอยากได้ประชาธิปไตยเต็มผืนที่ไม่ทิ้งใครออกไป อยากได้รัฐที่เห็นประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน ปัญหาของทุกคนได้รับการใส่ใจและพูดถึงไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม แม้กระทั่งว่าคุณจะเป็นผู้อพยพ เป็นแรงงานต่างชาติ คุณก็อยู่ในประชาธิปไตยของเราเหมือนกัน ทุกคนอยู่ในระบอบนี้เท่ากัน

AUTHOR