The Assemblage โปรเจกต์รีดีไซน์พื้นที่รัฐสภาให้พร้อมต้อนรับประชาชน โดย PHKA

Highlights

  • ด้วยความเชื่อที่ว่างานออกแบบที่ดีสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้ เราจึงชวน PHKA (ผกา) สตูดิโอออกแบบที่หลงใหลการจัดดอกไม้ผสมผสานกับพื้นที่ มาร่วมรีดีไซน์พื้นที่เพื่อสาธารณะกัน
  • หลังจากกลับไปขบคิดไม่นาน พวกเขาก็ปิ๊งไอเดียถึงรัฐสภาไทยที่มีพื้นที่เป็นมิตรและให้ประชาชนได้เข้ามาใช้สอยได้อย่างสะดวกสบาย
  • จึงเกิดเป็นงาน The Assemblage การออกแบบพื้นที่ข้าง 'สัปปายะสถาน' ให้พร้อมต้อนรับประชาชนมาทำกิจกรรมหรือนั่งเล่นพักผ่อนตามอัธยาศัยได้ทุกเมื่อ

ออกแบบรัฐสภา
ด้วยความเชื่อที่ว่างานออกแบบที่ดีสามารถยกระดับชีวิตคนได้ ใน a day 244 ฉบับ Redesign เราจึงชวนนักออกแบบมาปล่อยไอเดียการดีไซน์พื้นที่สาธารณะให้ตอบโจทย์กับผู้คน

หนึ่งในทีมดีไซเนอร์ที่เราชวนมาร่วมสนุกคือ PHKA (ผกา) สตูดิโอออกแบบที่หลงใหลการจัดดอกไม้ผสมผสานกับพื้นที่ ด้วยความเชื่อว่าพฤกษศาสตร์มีมิติหลากหลายให้เราได้ค้นหา ทั้งในแง่ความหมาย เรื่องเล่า วัฒนธรรม ค่านิยมในสังคม และนั่นคือที่มาของผลงานการจัดดอกไม้กับพื้นที่ต่างๆ ตามโจทย์ที่แตกต่างออกไป

วิศทา ด้วงวงศ์ศรี และ ตุณ ชมไพศาล คือสองผู้ก่อตั้งและเริ่มต้นแนวคิดนี้ ด้วยเพราะความชอบดอกไม้เป็นทุนเดิม บวกรวมกับฐานความรู้งานอินทีเรียร์ดีไซน์ พวกเขาจึงมองเห็นช่องทางผสมผสานการออกแบบดอกไม้และพื้นที่ให้เป็นงานที่มีคุณค่าและเปิดประสบการณ์ให้คนมากขึ้น

ออกแบบรัฐสภา

ออกแบบรัฐสภางานของผกาโดดเด่นไม่เหมือนใคร ทั้งแนวคิดที่พวกเขาถ่ายทอดและสุนทรียศาสตร์จากดอกไม้และธรรมชาติ เมื่อรวมเป็นเนื้อเดียวกันผลงานของเขาก็ได้รับความสนใจอย่างมาก เช่น งาน Abandoned Oneใน Bangkok Design Week 2018 ซึ่งพวกเขาเนรมิตให้พื้นที่อาบ อบ นวดในย่านเก่ากลายมาเป็นตึกที่คนสนใจอีกครั้ง ทั้งยังแฝงประเด็นสถานบริการทางเพศที่ได้รับความเฟื่องฟูและถูกกฎหมายในอดีต แต่ปัจจุบันกลับเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

หรืออย่างงาน The Stasis Field ที่พวกเขาได้รับเลือกให้ไปแสดงที่ลานในพระราชวัง ในงาน Viana Flora Festival 2019 ที่เมือง Córdoba ประเทศสเปน

ออกแบบรัฐสภา

และหลังจากทีมผกาตอบรับร่วมรีดีไซน์พื้นที่สาธารณะใหม่จากเรา ก็เป็นเรื่องบังเอิญเหลือเกิน เพราะวันที่พวกเขานำเสนอการออกแบบพื้นที่ในรัฐสภา คือวันเดียวกันกับที่ประชาชนต้องนั่งเรียงรายอยู่บนถนนสามเสนเพื่อชุมนุมกดดันให้สมาชิกในสภาลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หากใครติดตามข่าวคงได้เห็นว่าหลังจากมีการประกาศชุมนุม เจ้าหน้าที่ปิดประตูไม่ให้ประชาชนเข้าไปในรัฐสภา ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ด้านในส่งเสียงของตัวเองได้

แต่ถ้าลองกลับมาคิดอีกที ต่อให้เป็นวันธรรมดาที่อยากไปเดินเล่นข้างในบ้าง คำถามคือ คุณคิดว่าพื้นที่ของรัฐสภาต้อนรับประชาชน หรือมีสถาปัตยกรรมอะไรที่ทำให้ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดพื้นที่นี้บ้าง

ออกแบบรัฐสภา

นี่คือสิ่งที่ทีมออกแบบของผกาสงสัย และสนใจอยากทำให้ ‘สัปปายะสภาสถาน’ มีพื้นที่เป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น

พวกเขากลับไปศึกษาข้อมูลการสร้างรัฐสภาใหม่ สำรวจพื้นที่รัฐสภาทั่วโลก ดูตัวอย่างงานศิลปะจากศิลปินดัง ก่อนจะมาเป็นไอเดียการปรับปรุงพื้นที่ข้างสภาให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ต้อนรับประชาชนทุกคน

ท่ามกลางการส่งเสียงกึกก้องถึงบ้านเมืองในฝันของคนรุ่นใหม่ ผกาอยากให้รัฐสภานี้รองรับความฝันของทุกคนยังไงบ้าง

ออกแบบรัฐสภา

 

รัฐสภาที่เป็นมิตร?  

เพราะที่ผ่านมาผกาทำงานเกี่ยวกับดอกไม้และพื้นที่เป็นหลัก งานส่วนใหญ่จึงเป็น installation ชั่วคราว เมื่อได้รับโจทย์ให้ออกแบบพื้นที่สาธารณะ สิ่งที่พวกเขาต้องคำนึงถึงอันดับแรกคือจะหาพื้นที่ทำงานที่ตอบโจทย์ทั้งสาธารณะและวิธีการทำงานของผกาได้ยังไง

“งานเราเป็นการสร้างประสบการณ์หรือการรับรู้ใหม่ให้กับอะไรบางอย่าง เราเลยเอามิตินี้มาคุยกันว่ามีอะไรที่ดอกไม้จะเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงความรู้สึกหรือการรับรู้ของคนที่มีต่อที่นั้นๆ ได้บ้าง” ตุณเริ่มต้นเล่า

ในระหว่างนั้น พวกเขาก็นึกถึงงาน Wrapped Reichstag ที่ศิลปินคู่สามีภรรยานักห่ออย่าง Christo and Jeanne-Claude ใช้เวลากว่า 24 ปี ในการขออนุญาตและเตรียมการห่อรัฐสภาเยอรมนีเป็นเวลา 14 วัน เพื่อสื่อสารถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของรัฐสภาซึ่งเคยเป็นฐานทัพของนาซี ถูกวางเพลิงและทิ้งร้าง ก่อนจะกลับมาเปิดใช้อีกครั้งเมื่อเยอรมนีรวมประเทศ

“งานที่ออกมามันสื่อความหมายว่าคนทั่วไปหรือศิลปินที่เป็นตัวแทนของประชาชนสามารถทำอะไรกับพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศได้ด้วย เราเลยรู้สึกว่ามีอะไรที่เราพอจะทำแบบนั้นได้ไหม แต่เราคงไม่เอาดอกไม้ไปห่อตึกอย่างนั้นนะ” ชายผู้ร่วมก่อตั้งผกาเล่าติดตลก

ออกแบบรัฐสภา

ลองกลับมาค้นข้อมูลของรัฐสภาไทยบ้าง ไม่กี่ปีมานี้มีการย้ายที่ตั้งและสร้างรัฐสภาใหม่ เนื่องจากต้องคืนพื้นที่ของรัฐสภาแห่งที่สอง (แห่งแรกคือพระที่นั่งอนันตสมาคม) บนถนนอู่ทองในให้กับสำนักพระราชวัง และนำมาสู่การสร้างสัปปายะสภาสถานบนถนนเกียกกาย ด้วยแนวคิดไตรภูมิตามความเชื่อศาสนาพุทธ มีเครื่องยอดแบบสถาปัตยกรรมไทยตรงกลางอาคาร แต่ละห้องประชุมใช้สัญลักษณ์ขวัญ ปราณ จิตมาเป็นองค์ประกอบในการตกแต่ง และทำให้ทั้งอาคารรัฐสภามีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่

“สภาใหม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามการออกแบบว่าเฟรนด์ลี่กับประชาชนแค่ไหน ถ้าเทียบกับต่างประเทศ รัฐสภาหลายๆ ที่เปิด public space อย่างแคนเบอร์รา ออสเตรเลียมีสนามข้างบนอาคารให้คนไปใช้จัดอีเวนต์อะไรก็ได้ หรืออย่างที่เยอรมนีมีโดมกระจกให้ประชาชนมองลงไปเห็นข้างในที่ประชุมได้” 

ตุณเล่าว่าไม่ใช่ของไทยไม่มีพื้นที่ให้คนเข้าไป เพราะเขาเจอข้อมูลว่าข้างล่างสัปปายะสภาสถานก็มีพิพิธภัณฑ์ที่เข้าไปเยี่ยมชมได้เหมือนกัน

“เพียงแต่ว่าด้วยที่มาคอนเซปต์หรือรูปแบบอาคาร มันอาจจะดูแล้วไม่เป็นมิตรกับคนขนาดนั้น รวมถึงแนวคิดในการออกแบบที่เอาเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้อง คนที่ไปใช้อาคาร ส.ส. ส.ว. ต้องอยู่ภายใต้ศาสนา แต่ประเทศเราไม่ใช่รัฐศาสนา ทำไมต้องมีเจดีย์ข้างบน ทำไมต้องออกแบบห้องลึกลับซับซ้อน มันเป็นอะไรที่ humble กว่านั้นได้ไหม เพราะอย่างเทรนด์การออกแบบอาคารสมัยใหม่ก็ดูเป็นมิตรกับคนทั่วไป มีพื้นที่สาธารณะให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วม แต่รัฐสภาบ้านเราไม่ได้ทำให้รู้สึกอย่างนั้นเลย” 

“เราจึงเลือกรีดีไซน์พื้นที่ใหม่ข้างรัฐสภาเพื่อให้คนได้เข้ามาใช้งานง่ายขึ้น ถ้าข้างในสภามีห้องแบบสุริยันหรือจันทรา เราจะลองออกแบบพื้นที่เอาต์ดอร์อีกแบบที่เป็นมิตรกับคนมากๆ พร้อมเก้าอี้ 500 ตัว ใครอยากมาประชุม จัดกิจกรรมโรงเรียน จัดงานวันเด็ก จัดอีเวนต์ หรือจะใช้ทำอะไรก็มาตรงนี้ได้เลย”  

หินอ่อนและกิ่งไม้สัก สองสัญลักษณ์ของรัฐสภา

อาจเป็นเพราะไม่รู้ว่าการออกแบบครั้งนี้จะเป็นจริงได้มากแค่ไหน ทีมผกาจึงถือโอกาสใส่ไอเดียสนุกๆ ในโจทย์ทดลองกันไปเลย โดยระหว่างรีเสิร์ชข้อมูลพวกเขาตัดสินใจว่าจะใช้หินอ่อนและกิ่งไม้สักเป็นสองวัสดุหลักในการจัดทำพื้นที่ข้างรัฐสภา

เหตุผลข้อแรกคือ รัฐสภาแห่งที่สองเป็นหินอ่อนทั้งหมด ในขณะที่สัปปายะสภาสถานมีต้นสักเป็นส่วนประกอบของอาคารจำนวน 5,000 ต้น ส่วนเหตุผลข้อสองคือ “เราเห็นว่ามันเป็นของที่ใครหลายคนมองเป็นวัสดุเหลือใช้ เราตั้งคำถามว่าทุบรัฐสภาอันเก่าแล้วเอาหินอ่อนไปไว้ไหน ส่วนรัฐสภาใหม่ใช้แต่ลำต้นสัก แล้วกิ่งก้านไปอยู่ไหน เรามองว่าวัสดุที่ใช้ในรัฐสภาเก่าและใหม่มันถูกมองข้ามเหมือนกับคน แล้วไหนๆ มันก็เป็นสิ่งที่พร้อมจะถูกทิ้งอยู่แล้ว ถ้าเราเอามาใช้งานนี้ แล้ววันหนึ่งมันย่อยสลายหรือหมดหน้าที่ของมันก็ยังถือว่าเราได้ต่อชีวิตที่สองของมันไปแล้ว”

ออกแบบรัฐสภา
ในฐานะที่ผกาทำงานกับพื้นที่และดอกไม้มาโดยตลอดทำไมครั้งนี้ถึงไม่จับเอาดอกไม้มาตีความกับการออกแบบพื้นที่ข้างรัฐสภา–เราถาม

“ความจริงเรามีไอเดียก่อนหน้านี้เหมือนกันว่าจะเอาดอกไม้เข้าไปเล่าเรื่อง เช่น มีคอนเทนเนอร์หินอ่อน แล้วเอาดอกไม้มาเสียบ แต่จะเป็นดอกอะไร มีความหมายยังไง หรือจะเปลี่ยนดอกไม้ไปเรื่อยๆ ตามวาระ วันเด็กเป็นดอกไม้สีนี้ วันรัฐธรรมนูญเป็นดอกไม้สีนี้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าความหมายที่จะบอกจริงๆ คืออะไร”

ประกอบกับผกาไม่ได้ทำงานเฉพาะกับดอกไม้เพียงอย่างเดียว แต่เลือกใช้ของที่เป็นธรรมชาติมาผสมผสานกับพื้นที่ และเมื่อต้นสักมีความหมายว่าเป็นที่มาของโครงสร้างรัฐสภาใหม่ ตุณจึงคิดว่าวัสดุเหลือใช้นี้น่าจะตีความหมายได้ดีที่สุด

“แต่ถ้าได้ทำจริงแล้ว เราต้องไปตามหาทั้งหินอ่อนและกิ่งไม้สักกันว่าเขาเอาไปไว้ไหน ถ้าหาไม่ได้ก็คงต้องคิดออกแบบใหม่” ตุณหัวเราะให้กับคำตอบตัวเอง 

 

พาวิลเลียนไม้สักและเก้าอี้หินอ่อน 

ขั้นตอนต่อไปของการออกแบบ คือภาพใหญ่ที่เราจะได้เห็นพื้นที่เอาต์ดอร์ข้างรัฐสภา ศิรภัสสร จำนงค์วงษ์ ดีไซเนอร์ประจำผกาเป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบให้เราได้เห็นรายละเอียดได้ชัดขึ้น

“เราจะทำออกมาเป็นพาวิลเลียน โครงสร้างหลักของเสาจะเป็นหินอ่อน ส่วนกิ่งไม้สักจะนำมาแปรรูป สานเป็นมวลเพื่อใช้บังฝนบังแดดข้างบน และกิ่งที่มีใบจะทำ installation เป็นลูกบอล รูปทรงต่างๆ ส่วนเก้าอี้ 500 ตัวที่วางอยู่ในพาวิลเลียนจะทำมาจากแผ่นหินอ่อน”

ศิรภัสสรเล่าว่ารูปทรงต่างๆ ของพาวิลเลียน ตั้งแต่เสาหินอ่อนที่จัดให้เอียงแต่รับน้ำหนักได้ หรือลูกบอลจากกิ่งไม้สักที่มีใบ ทั้งหมดได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Memphis Style สไตล์การออกแบบที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตที่แตกต่างกันมาจัดในองค์ประกอบที่ไม่สมดุลและมีสีสันสดตัดกัน ซึ่งจะช่วยเสริมความเป็นมิตรและสนุกให้พาวิลเลียนนี้

“แต่ด้วยตัวแมตทีเรียลไม่ได้มีสีสันสด อาจจะทำให้ภาพรัฐสภายังนิ่งๆ อยู่ เพราะอย่างลายหินอ่อนก็ไม่ได้เยอะมาก ส่วนสีของกิ่งหรือใบยังเป็นสีโทนเดียวกัน แต่เราแค่อยากทำให้ฟอร์มและการเรียงเป็นแบบเมมฟิส เวลามองมาจะเห็นเป็นฟังก์ชั่นเฟอร์นิเจอร์ที่แปลกและสะดุดตา” 

ประโยชน์ของการใช้งานพาวิลเลียนข้างรัฐสภาขึ้นอยู่กับวาระโอกาสของผู้มาใช้ จะนั่งพักผ่อน รวมตัวพูดคุยประเด็นที่สนใจ หรือสมาชิกสภาจะเปลี่ยนบรรยากาศมานั่งคุยกันตรงนี้

ก็ยังได้ ถึงแม้ว่าพื้นที่กลางแจ้งอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้มาพูดคุยกันได้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. แต่อาจจะเป็นโอกาสดีที่ทำให้ประชาชนได้มาสังเกตการณ์หรือเป็นส่วนหนึ่งในวงสนทนาด้วย 

“เวลาเราเห็นภาพรัฐสภาทางจอโทรทัศน์ เราอาจคิดว่าคงไม่ได้เข้าไปอยู่ในนั้นง่ายๆ แน่ แต่ถ้ารัฐสภาเป็นที่ที่เราเองก็ได้เข้าไปใช้เหมือนกัน มันน่าจะเปลี่ยนความรู้สึกของคน ภาพจำที่มีต่อรัฐสภาก็น่าจะเปลี่ยน ทำให้คนรู้สึกว่าที่นี่เป็นมิตรมากขึ้น” ตุณทิ้งท้าย 


ภาพ: phkastudio.com  
3d model : หฤษฎ์ ดวงสาย / Haris Duongsai

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน