ออกแบบประเทศกันใหม่เพื่อให้บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

ก่อนที่ผมจะเริ่มเขียนบรรทัดนี้ ไม่กี่นาทีก่อนหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ยึดหนังสือ 3 ปกไปตรวจสอบ และเชิญบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ไปสอบปากคำที่โรงพัก

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า มีการออกคำสั่งดำเนินการระงับการออกอากาศและลบข้อมูลขององค์กรสื่อที่รายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา

ไม่กี่วันก่อนหน้า มีการสลายการชุมนุมที่เต็มไปด้วยเยาวชนของชาติผู้มารวมตัวเรียกร้องโดยสันติ มีเพียงร่มต่างโล่ไว้ป้องกันตัว

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า มีการไล่จับแกนนำที่ออกมาเรียกร้องตามสิทธิเพื่อหวังปฏิรูปให้ประเทศพัฒนาด้วยวิธีการอารยะ

ไม่กี่เดือนก่อนหน้า มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อาศัยอยู่ต่างประเทศหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยจนถึงวันนี้ โดยประโยคสุดท้ายที่เขาพูดกับพี่สาวทางโทรศัพท์คือ “หายใจไม่ออก”

ไม่ต้องมีทัศนคติทางการเมืองตรงกันก็ได้ แค่มีความเป็นมนุษย์ มีหัวใจ มีลูก มีพี่น้อง มีเพื่อน ก็น่าจะรู้สึกรู้สาร่วมกันว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องเลวร้ายที่ไม่อาจยอมรับ

ฟังเผินๆ เหมือนเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงเวลานี้จะชวนสิ้นหวัง แต่ในทางกลับกันผมคิดว่านี่คือช่วงเวลาที่ชวนมีความหวังที่สุด

ทุกการกระทำที่พยายามกดประชาชนให้กลัวกลับส่งผลในอีกทาง

แทนที่หลังการสลายชุมนุมด้วยความรุนแรงผู้คนจะหลบลี้อยู่บ้านด้วยกลัวถูกทำร้ายหรือจับกุม วันรุ่งขึ้นผู้ชุมนุมกลับเพิ่มขึ้นและกระจายตัวยิ่งกว่าเดิม

หลังเจ้าหน้าที่บุกสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร้านหนังสือออนไลน์บางร้านถึงกับเว็บล่มเพราะนักอ่านเข้าไปหาซื้อหนังสือที่ตำรวจตั้งใจไปบุกยึด หนังสือหลายเล่มของสำนักพิมพ์ขึ้น sold out ภายในไม่กี่นาทีหลังข่าวแพร่สะพัด

ท่านเด็ดดอกไม้ทิ้งจะยิ่งบาน–ข้อความเรียบง่ายแต่งดงามที่แพร่หลายในฤดูกาลต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยน่าจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีที่สุด

ไม่ใช่แค่เรื่องจำนวนหรอกที่ทำให้ผมคิดว่านี่คือช่วงเวลาที่ชวนมีความหวังที่สุด หากแต่เป็นเรื่องของประเด็นที่เหล่าคนรุ่นใหม่กำลังต่อสู้

ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงการแก้ปัญหาในสังคม ส่วนใหญ่มักไปไม่ถึงใจกลางของปัญหา การแก้ปัญหาที่ผ่านมามักเป็นการแก้ปลายทาง แบบที่ ‘คนตัวเล็กๆ’ คนหนึ่งจะทำได้ ทั้งที่รากที่แท้นั้นมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างในบ้านเมือง

ในบทบรรณาธิการ a day ฉบับเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ผมได้อ้างถึงข้อความของพี่ต้อง–ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์สมมติ ซึ่งผมคิดว่าประโยคนั้นของพี่ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังต่อสู้อยู่ตอนนี้

“การไปคาดหวังว่าเราจะเปลี่ยนบางอย่างด้วยสิ่งเล็กๆ ที่ทำมันยากมาก เพราะว่าเราอยู่ในสังคมที่โครงสร้างมันบิดเบี้ยวไปหมด ถ้าพูดง่ายๆ คือมันไม่มีโครงสร้างอะไรสักอย่างในสังคม ระบบการศึกษา ระบบสาธารณะสุข ครัวเรือน ชุมชน มันไม่มีเลย ระบบมาแบบไหน โครงสร้างมาแบบไหน ถ้าคุณทำสิ่งเล็กๆ แล้วคาดหวังว่าจะเปลี่ยน ผลลัพธ์มันไม่มีความหมาย ถ้าจะเปลี่ยนคุณต้องถอนรากถอนโคนถึงจะเปลี่ยนได้ ซึ่งพอพูดแบบนี้ก็เท่ากับเปลี่ยนไม่ได้ เพราะไม่มีใครถอนรากถอนโคนอะไรสักอย่างได้”

ย้อนกลับไปตอนที่ฟังเจ้าสำนักสมมติพูดประเด็นนี้เมื่อราว 2 ปีก่อน ผมพยักหน้าเห็นด้วย ในบ้านเมืองที่อยู่อาศัยมันยากเหลือเกินกับการคาดหวังจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอันบิดเบี้ยว หากแต่ในวันนี้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างกลายเป็นวาระแห่งชาติของคนรุ่นใหม่ผู้อยากลุกขึ้นมาออกแบบประเทศที่เขาอยู่ใหม่ด้วยตัวเอง

ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ทำให้ระหว่างที่อ่านต้นฉบับ a day เล่มนี้ที่ว่าด้วยเรื่องรีดีไซน์ โดยการเชิญชวนนักออกแบบในสาขาต่างๆ มาร่วมกันคิดหาทางแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองด้วยทักษะที่แต่ละคนมี ผมมีความคิดสับสนปนเปในหัวหลายอย่าง

ใจหนึ่งคิดว่า #ถ้าการเมืองดี เราอาจไม่มีความจำเป็นต้องมานั่งทำเนื้อหาที่บอกเล่าเรื่องราวเช่นนี้ บางผลงานในเล่มอาจไม่ต้องมานั่งคิดเลยก็ได้ถ้าระบบโครงสร้างของประเทศเราพร้อมและคิดถึงประชาชนอย่างแท้จริง ยังไม่นับว่างานออกแบบหลายงานในเล่มควรเกิดขึ้นมานานแล้วโดยภาครัฐ ไม่ใช่เป็นเพียงไอเดียบนหน้ากระดาษที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ วันใด

ขณะเดียวกันมันก็ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว กับหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ไปกับยุคสมัย ไม่ตอบโจทย์สังคม บางทีการมาทบทวนและออกแบบสิ่งนั้นกันใหม่ อาจจะเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้สิ่งนั้นยังจำเป็นและมีเหตุผลที่จะคงอยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน

และบางทีสิ่งที่เยาวชนเรียกร้องในวันนี้อาจไม่ได้เป็นอะไรที่เข้าใจยากนัก นอกจากการเรียกร้องให้มีการออกแบบประเทศกันใหม่เพื่อให้บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า

ข้างหน้าที่มีอนาคตรอพวกเขาอยู่ ไม่ใช่อดีต


(Pre-order) a day 243 ฉบับ Redesign

AUTHOR