‘ใจจำลอง’ และ ‘บูชา’ : หนังไทยที่อาจจะ ‘อิหยังวะ’ แต่ไม่ ‘อะไรวะ’

โปรแกรมฉายภาพยนตร์ กรุงเทพกลางแปลง ตลอดเดือนกรกฎาคม 2565 นำมาซึ่งความคึกคักและมีชีวิตชีวาพอสมควร ผู้คนมากมายแห่แหนกันไปดูหนังแบบไม่หวั่นสายฝน ถึงกระนั้นช่วงที่ประกาศรายชื่อหนัง ก็มีการตั้งคำถามถึงการขาดหายไปของหนังไทยประเภทหนังศิลปะหรือหนังที่ไม่เล่าเรื่องตามขนบ แม้จะมีหนังกระแสรองอย่าง 36, หมานคร, อนธการ หรือ School Town King แต่ยังจัดว่าเป็นหนังดูเข้าใจ ดูรู้เรื่อง หรือบางเรื่องดูสนุกด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนพอทราบมาว่า ‘กรุงเทพกลางแปลง’ เป็นงานที่จัดแบบเร่งด่วน และการประเดิมด้วยโปรแกรมที่เป็นมิตรกับผู้ชมก็น่าจะเป็นเรื่องดี ก่อนจะลองขยายไปสู่หนังอาร์ตๆ เหวอๆ ในการฉายครั้งถัดไป (อันที่จริงแค่มีหนังอย่าง Portrait of a Lady on Fire หรือ Wheel of Fortune and Fantasy ก็นับเป็นความ ‘ว้าวซ่า’ มากแล้ว) และเดือนกรกฎาคมยังมีหนังไทยเข้าโรง 2 เรื่องสำหรับผู้ต้องการภาพยนตร์ที่แปลกแตกต่าง นั่นคือ ‘ใจจำลอง’ และ ‘บูชา’

ก่อนอื่นคงต้องกล่าวถึง ‘สาวไล่ฝน’ (Lemongrass Girl) ภาพยนตร์สั้น 17 นาทีโดย ศิรดา บุญเสริมวิชา ที่ฉายปะหัวกับเรื่อง ‘ใจจำลอง’ ว่าด้วยผู้จัดการกองถ่ายหญิงที่อยู่ดีๆ ต้องรับหน้าที่ปักตะไคร้ไล่ฝนเพราะผู้หญิงคนอื่นบ่ายเบี่ยงหรือปฏิเสธ ซึ่งกองถ่ายที่ปรากฏในหนังก็คือกองของเรื่อง ‘ใจจำลอง’ นั่นเอง

ฝนตกถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์เพราะอาจทำให้กองล่มได้ ผู้เขียนเคยได้รับการบอกเล่าว่ามีอาชีพ ‘มือปักตะไคร้’ ตามกองถ่ายกันเลยทีเดียว หรือสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่จัดงานรับน้อง มักมีการถกเถียงกันว่าผู้หญิงที่จะปักตะไคร้นอกจากเป็นสาวพรหมจรรย์แล้วต้องเป็นลูกคนเดียวหรือลูกคนโตด้วยหรือเปล่า (ถ้าเป็นยุคนี้คงต้องถกกันว่าผู้หญิงที่นิยามตัวเองเป็น Non-binary จะปักตะไคร้ได้หรือไม่) 

การปักตะไคร้อาจกลายเป็นการทำร้ายหรือคุกคามได้ เช่น ถ้าปฏิเสธไม่ปักก็จะถูกล้อว่าไม่จิ้นแล้ว หรือถ้าปักแล้วฝนลงห่าใหญ่ก็โดนแซวว่าไม่ซิงจริง เรียกแบบร่วมสมัยได้ว่ามันคือความเชื่อแบบเป็นพิษ (Toxic superstition) สิ่งที่ผู้เขียนชอบใน ‘สาวไล่ฝน’ คือการวิพากษ์ถึงประเด็นความเชื่อและเพศสภาพใดๆ ทำอย่างนิ่งสงบ ไม่ได้ชี้นำผู้ชมจนเกินไป โดยเฉพาะกล้องที่จับจ้องนางเอกตอนอยู่ตัวคนเดียวในหลายฉาก หรือการทิ้งท้ายหนังด้วยฉากฝนตกที่เปิดพื้นที่ให้คนดูตีความ

‘ใจจำลอง’ (Come Here) เป็นภาพยนตร์ของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ เล่าเรื่องถึงหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งไปเที่ยวกันที่จังหวัดกาญจนบุรี พูดคุย กินดื่ม จากนั้นมีพลุถูกจุดขึ้น เรื่องทั้งหมดก็เท่านี้ …มีเรื่องตลกว่าหลังหนังฉายจบ ลูกศิษย์เดินหน้านิ่วมาหาผู้เขียนว่า “ดูไม่รู้เรื่องเลยอาจารย์” ซึ่งผู้เขียนตอบกลับไปว่า “อาจารย์ก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกันจ้า” อันนี้ไม่ได้ยียวน ตอนดูจบใหม่ๆ ไม่เก็ตเลยว่าหนังจะสื่ออะไร แต่คำว่า ‘ดูไม่รู้เรื่อง’ เป็นปัญหาและกับดักที่อันตราย คนอาจเข้าใจว่าเป็นความเห็นเชิงลบหรือคำด่าทอ ทว่าภาพยนตร์บางเรื่องก็จงใจนำเสนอแบบไม่เน้นการเล่าเรื่อง ไม่ได้ต้องการบอกชัดเจนว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร 

เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งปฏิเสธการอ่านหรือดูคลิปสัมภาษณ์ของผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเด็ดขาด เพราะเขาเชื่อว่าหนังควรจะสื่อสารได้ด้วยตัวมันเอง ซึ่งผู้เขียนเองไม่เห็นด้วยสักเท่าไร เพราะอาจเป็นการตัดขาดหนังจากบริบทแวดล้อมของมัน อย่างกรณีของ ‘ใจจำลอง’ หากเข้าไปดูในเพจหนัง จะมีวิดีโอที่อโนชาให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่านี่คือการทำหนังแบบไม่มีบท แต่ใช้วิธีให้นักแสดงลองเวิร์กช็อปกันไปเรื่อยๆ สลับบทบาทกันไปมา ซึ่งลักษณะเช่นนี้ก็ปรากฏในตัวหนัง เราจะเห็นว่าหนังมีความซ้อนทับของภาพยนตร์กับละครเวที ผู้สร้างเล่นแร่แปรธาตุด้วยการถ่ายฉากที่เป็นหนังด้วยเทคนิคละครเวที (ตั้งกล้องนิ่ง เหมือนเวลาเรานั่งดูละครเวที) และถ่ายฉากที่แสดงละครเวทีด้วยเทคนิคแบบภาพยนตร์ (มีการเปลี่ยนมุมกล้อง) 

เป็นสิทธิของผู้ชมที่จะตีความ ‘ใจจำลอง’ ในฐานะหนังประวัติศาสตร์/การเมือง ด้วยความที่หนังเรื่องก่อนๆ ของอโนชามักมีลักษณะเช่นนั้น (ภาพม็อบพันธมิตรใน ‘เจ้านกกระจอก’ หรือการเล่าถึง 6 ตุลา 2519 แบบพิสดารใน ‘ดาวคะนอง’) ผู้เขียนคิดว่าความน่าสนใจของหนังคือการเอาคนกลุ่มหนึ่งเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์จนก่อเกิดความหมายบางอย่างขึ้นมา ในที่นี้คือช่องเขาขาด ซึ่งผู้กำกับกล่าวว่า แรงบันดาลใจของการทำหนังมาจากการที่ตัวเองได้ไปเยี่ยมชมและรับรู้เรื่องราวการสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ เราจึงได้เห็นรถไฟในหนังทั้งรูปแบบภาพเคลื่อนไหวและภาพเคลื่อนไหวที่ถูกฉายบนจอ ดังนั้นนอกจากจะทดลองด้านการสร้างและการถ่ายทำแล้ว ‘ใจจำลอง’ ยังทดลองกับรูปแบบของสื่อศิลปะ ทั้งภาพเคลื่อนไหวและศิลปะการแสดง

ส่วน ‘บูชา’ (Worship) คือสารคดีเรื่องล่าสุดของ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ผู้กำกับที่สำรวจชนบท ความเชื่อ เรื่องพื้นถิ่นมาตลอด (ผลงานที่ผ่านมาเช่น ‘สวรรค์บ้านนา’ และ ‘เพลงของข้าว’) ตลอดความยาว 100 นาทีของหนังมีเพียงภาพพิธีกรรมต่างๆ จากทั่วสารทิศประเทศไทย เวลามีเพื่อนฝูงถามว่าหนังเรื่องนี้คืออะไร แนวไหน ผู้เขียนก็ตอบแบบเข้าใจโดยง่ายว่ามันคือ กระจกหกด้าน แบบหนังอาร์ต ไม่มีเสียงบรรยาย ไม่มีขึ้นตัวหนังสือ (ซึ่งที่จริงเป็นนิยามที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะหนึ่ง-คำว่า ‘หนังอาร์ต’ เป็นคำไล่แขกสำหรับบางคน สอง-ปัจจุบันนี้รายการ กระจกหกด้าน ได้ปรับรูปแบบรายการให้โมเดิร์นและวัยรุ่นขึ้น)

พิธีสารพัดใน ‘บูชา’ ไม่มีการขึ้นตัวหนังสือบอกว่ามันคืองานอะไร เกิดขึ้นที่จังหวัดไหน ซึ่งผู้เขียนถือว่าเป็นข้อดี เราอาจไม่เข้าใจว่าทำไมผู้คนลงไปชักดิ้นชักงอ ทำไมงานกินเจถึงต้องเอาเหล็กแหลมแทงปาก นี่คือการจัดตำแหน่งให้ผู้ชมเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์อย่างบริสุทธิ์ ถึงกระนั้นตัวหนังกลับมีสิ่งที่ดูล้นเกินอยู่หลายประการ ทั้งพาร์ตฟิกชั่นที่ดูประดิษฐ์เกินเหตุ, การใช้โดรนช็อตพร่ำเพรื่อ, ภาพสโลว์โมชั่นที่นึกว่ากำลังดูหนังหว่องกาไว และร้ายแรงสุดคือเพลงประกอบอันโหมประโคม ชนิดว่าผู้เขียนอยากเดินไปกดปุ่มลดเสียงที่ห้องฉาย

แต่ถึงจะไม่มีการเจาะลึกข้อมูลอย่างการสัมภาษณ์ หนึ่งในสารของ ‘บูชา’ ที่ชัดเจนคือการตั้งคำถามถึงขอบเขตของการบูชาและความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมกับวัตถุนิยม/ทุนนิยม หลายพิธีมักเน้นย้ำให้คนทำบุญกันเยอะๆ พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่ายิ่งทำมากก็ยิ่งรวย บ้านเราอาจคุ้นชินกับเรื่องพวกนี้จนมองว่าเป็นความงมงายน่าขัน แต่ก็มีข่าวบ่อยๆ ประเภททำบุญจนหมดตัว ทะเลาะกันบ้านแตกสาแหรกขาด หรือผู้ต้องหาที่ลอบสังหารชินโซะ อาเบะ ก็กล่าวว่าแรงจูงใจคือเชื่อว่าอาเบะมีความใกล้ชิดกับลัทธิที่ทำให้แม่ของเขาล้มละลาย เช่นนั้นแล้วหลายฉากของ ‘บูชา’ จึงเป็นความน่าขนลุกขนพอง และการบอกว่าบางช่วงบางตอนคือหนังสยองขวัญ ก็ไม่ใช่การเอ่ยเกินจริง

**ติดตามรายละเอียดและรอบฉายของ ‘ใจลำลองและ ‘บูชา’ ได้ที่ https://www.facebook.com/electriceelfilms/ และ https://www.facebook.com/worshipfilm

AUTHOR