Guss Damn Good : ไอศครีมเก๋ที่แตกต่างด้วย ‘ความคราฟต์’ และ ‘เรื่องราว’ ที่อัดแน่นเต็มถ้วย

คุณก้าวเข้าไปในร้านไอศครีมขนาดกะทัดรัดในซอยศาลาแดง 1 คิดว่าจะหาไอศครีมอร่อยๆ กินซักลูก แต่เมื่อเดินไปที่ตู้ คุณก็ต้องประหลาดใจ เพราะแทนที่ไอศครีมคุ้นเคยอย่างวานิลลาและสตอรว์เบอร์รี่ คุณพบกับไอศครีมแปลกตา อย่างไอศครีมสีขาวที่ชื่อว่า Don’t Give Up #18 คุณขอพนักงานลองตักชิม แล้วก็ต้องประหลาดใจซ้ำสอง เพราะสัมผัสความอร่อยจากส่วนผสมแท้ๆ และรสชาติไม่เหมือนใคร

ย่อหน้าด้านบนคือประสบการณ์ที่หลายคนอาจพบ เมื่อได้ลองรู้จัก Guss Damn Good แบรนด์ไอศครีมเก๋ฝีมือคนไทยที่ทำให้ของหวานอย่างไอศครีมกลายเป็น ‘งานฝีมือ’ ซึ่งมีเรื่องราวสอดแทรกอยู่ทุกลูกน่าสนใจและดีงามระดับบอกต่อ เรื่องของ Guss Damn Good เริ่มต้นอย่างไร ขับเคลื่อนด้วยความคิดแบบไหน ระริน ธรรมวัฒนะ และ นที จรัสสุริยงค์สองผู้ตั้งแบรนด์จะมาเล่าให้เราฟัง (ปัจจุบันตัวร้านมีหุ้นส่วนอีก 3 คนคือ สวิตา นาคะชัย, พัฒจิรา สีมานนทปริญญา และ ทัตพงค์ วุฒิหิรัญปรีดา)

คำเตือน: ระวังอ่านแล้วอยากกิน Guss Damn Good ขึ้นมานะ!

เริ่มต้นฝันที่บอสตัน
ระรินเราจบไฟแนนซ์มา หลังทำงานซักพักก็ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ Babson College ในบอสตัน เราชอบกินไอศครีมก็เลยไปกินไอศครีมที่นั่น เรียน 2 ปีก็กินตลอด แล้วก็มาฉุกคิดว่า ไอศครีมที่นั่นเจ๋งดีว่ะ
ไม่มีท็อปปิ้งเลย ทุกคนกินไอศครีมเพราะตัวไอศครีมเอง แล้วไอศครีมที่นั่นก็จะไม่ใส่สี ใส่กลิ่นให้สวยหรืออร่อย เน้นเป็นส่วนผสมจริงๆ ตัวร้านก็จะฮิปๆ เปิดเพลงดีๆ มีคนมาแฮงค์เอาต์ในร้าน มีพนักงานที่ให้ความรู้กับลูกค้าได้ เป็นเหมือนเพื่อน ไม่ใช่คนละระดับกัน แล้ววันหิมะตกวันนึงในปี 2014 ซึ่งเป็นปีหิมะตกหนักที่สุดในประวัติศาสตร์บอสตัน เราเห็นคนยังไปกินไอศครีม ก็เลยถามเพื่อนอเมริกันว่าไม่หนาวเหรอ กินไอศครีมตอนหิมะตก เขาก็บอกว่า ไอศครีมคือสิ่งที่ทำให้คิดถึงฤดูร้อน เราก็เลยคิดว่า เฮ้ย ไอศครีมมีความรู้สึกซ่อนอยู่

ตอนนั้นเราคิดอยู่ว่าจะทำธุรกิจอะไรซักอย่าง พอได้ยินสิ่งนี้ บวกกับได้เห็นไอศครีมที่ไม่มีท็อปปิ้ง และโทนร้านที่ดูฮิปๆ เป็นแนวของเรา ก็เลยคิดว่า เราจะทำไอศครีม เรามีเพื่อนสนิทชื่อนทีที่เรียนวิศวะมา ก็ไปบอกว่าจะทำธุรกิจแนวประมาณนี้ หลังจากนั้นพวกเราก็คือไปไล่กินไอศครีม แล้วก็ทำความรู้จักกับร้านไอศครีมในบอสตัน ขอให้เขาแนะนำหนังสือให้ นอกจากนั้น เราก็ทำ rocket pitch ที่โรงเรียน เพื่อเข้าเรียนคอร์สหนึ่งที่เราจะได้เอาไอเดียมาทำให้เป็นจริง หลังจากเข้าคอร์สได้ เราก็เริ่มด้วยการทำไอศครีมจากเครื่องทำไอศครีมเล็กๆ ที่มีในอพาร์ตเมนต์ มีงานอะไรก็เอาไอศครีมไปยัดใส่ให้เพื่อนลองกิน นั่นเป็นจุดเริ่มต้น Guss Damn Good

นับหนึ่งใหม่ที่เมืองไทย
ระริน: เรากลับมาเมืองไทยกลางปี 2014 มีตึกแถวของที่บ้านที่ยังว่างอยู่ เราสองคนก็ลงทุนแต่สิ่งที่ต้องลงทุนคือเครื่องทำไอศครีม ตู้เย็น ตู้แช่ หลังจากนั้นก็พบว่าพวกเราทำไอศครีมไม่เป็น คือเคยแต่ทำกินที่อพาร์ตเมนต์ แต่ไม่รู้ว่าทำขายจริงๆ จะทำยังไง รสชาติแรกที่เราทำได้คือ รส Don’t Give up #18 โดยจากคนที่ทำไอศครีมไม่เป็น เราเอานมในตลาดทุกยี่ห้อมาวางเรียงกัน เอาครีมทุกยี่ห้อมาวางเรียงกัน แล้วหาส่วนผสมว่าอันไหนคู่กันแล้วดีที่สุด สุดท้ายส่วนผสมที่ได้คือนมจากฟาร์มของเมืองไทยกับครีมจากฝรั่งเศส พอได้สูตรไอศครีมปุ๊บ อีกสองวันไปขายเลยโดยการไปแจมบูทกับเพื่อนที่ตลาดนัดนึง คือเราก็คิดว่าจะมีร้าน แต่ก็อยากลองทำอะไรไปก่อน สร้างแบรนด์ไปเรื่อยๆ ตอนขายครั้งแรกตรงนั้น เรามั่นใจมากเลยนะว่าต้องขายดี ไอศครีมเราอร่อยมาก แต่ปรากฏขายไม่ได้เลยนอกจากขายให้เพื่อนที่ช่วยซื้อ เพราะคนไม่รู้จักว่าขายอะไรและไม่เชื่อ ไม่กล้ากินสินค้าเรา เราก็แอบเซ็ง แต่ตอนนั้นมีบล็อกเกอร์คนนึงเขียนรีวิวงาน แล้วก็มีถ้วยไอศครีมเราไปอยู่ในรีวิวเขา เราก็คิดว่าอย่างน้อยก็ยังมีอะไรดีๆ ก็ทำไอศครีมต่อ มีไปฝากวางขายที่ร้าน Kappadeli แล้วก็ไปเปิดตัวครั้งแรกที่งาน Winter Market Fest ของแสนสิริ

Guss Damn Good = งานคราฟต์ชั้นดีที่มีเรื่องราว
ระริน: เราคิดว่า Guss Damn Good เป็นมากกว่าไอศครีมโฮมเมด คือเป็นไอศครีมคราฟต์ คราฟต์ในที่นี้หมายถึงเราใส่น้ำผึ้งจากฟาร์มรุ่นน้องที่เลี้ยงผึ้งด้วยดอกลำไยจริงๆ บราวน์นี่ที่ใส่ไปเราทำเอง คาราเมลกวนเอง นมทั้งหมดที่ใช้เป็นนมจากฟาร์ม ครีมมาจากฝรั่งเศส แล้วเราก็ไม่ได้ใส่นมผง และไม่เน้นใส่กลิ่นใส่สี เป็นไอศครีมที่ไม่มีท็อปปิ้ง เป็นเนื้อไอศครีมเน้นๆ

นอกจากความคราฟต์ เรายังให้ความสำคัญมากกับเรื่อง texture ไอศครีมของเราจะเป็นแบบ Boston Texture ที่เนื้อเนียน นุ่ม เหนียว แต่ไม่หนักเกินไป นอกจากนี้ ไอศครีมทุกสูตรที่ขายจะมีรสชาติเสถียร เพราะทุกรสคำนวณใน Microsoft Excel เนื่องจากหุ้นส่วนเราจบวิศวะ โดย Excel จะเป็นตัวเริ่มต้น แต่สุดท้าย สิ่งที่ใช้ตัดสินว่า go หรือ not go คือความรู้สึกว่ามันอร่อยแล้ว ช่างมันเหอะ

ในส่วนเรื่องราว อย่างที่บอกว่าเราคิดว่าไอศครีมมันมีความรู้สึกซ่อนอยู่ เราก็เลยเอาคำว่า Feeling Crafted Ice Cream มาเป็น tagline ของ Guss Damn Good ทุกรสชาติที่เราทำจะมีความรู้สึก มีเรื่องราว มีชื่อแปลกๆ อย่าง Don’t Give Up #18 คือครั้งที่ 18 ที่เราทำไอศครีมออกมาแล้วได้เนื้อใกล้กับสิ่งที่ต้องการให้เป็นที่สุด ก็เลยห้ามยอมแพ้ ทำต่อไปเรื่อยๆ จนประมาณครั้งที่ 30 กว่า ถึงได้สูตรปัจจุบันออกมา หรือไอศครีมรสกาแฟของที่นี่ก็เกิดจากเราชอบกินไอศครีมกาแฟมาก แล้วลองทำมาหลายสูตร จนได้สูตรนี้สีของกาแฟไม่ออกมา เราก็คิดว่าทำไมกาแฟจะเป็นสีขาวไม่ได้ ในเมื่อรสชาติกาแฟยังอยู่ เลยตั้งชื่อว่า Why Can’t Coffee Be White? และเพราะอย่างนี้ เราก็เลยไม่มีรสไอศครีมอย่างวานิลลา สตรอว์เบอร์รี่ เพราะมันไม่ได้มีเรื่องราวอะไรให้เรามาทำ

อยู่ให้ถูกที่
ระรินเหตุผลที่เราเริ่มจากการไปออกงานตามฟลี มาร์เก็ต เพราะเราวางตำแหน่งตัวเองว่าเป็นคราฟต์ที่ต้องพรีเมี่ยมด้วย คือความคราฟต์ของที่อเมริกาอาจไม่ต้องแพง เพราะนม ครีมเป็นของที่เขามีอยู่แล้ว แต่ในเมืองไทย ครีมต้องนำเข้า นมดีๆ ก็แพง แล้วถ้าเราทำไอศครีมที่เป็นงานคราฟต์จริงๆ ก็จะไม่ใส่นมผงดังนั้น พอดูค่าใช้จ่าย ดูรสชาติที่จะทำ มันก็ค่อนข้างจำกัดแล้วว่าเราต้องขายที่ราคาประมาณนี้ ขายถูกกว่านี้ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าจะขายแพงกว่านี้มันก็ดูไม่เป็นมิตร ไม่คราฟต์อีก พอเราเริ่มรู้ทาร์เก็ต เราก็เริ่มรู้แล้วว่ามาร์เก็ตไหนที่เหมาะกับเรา

เข้าถึงง่ายขึ้นด้วยบริการจัดส่ง
ระรินหลังจากเปิดตัวที่แสนสิริ คนก็เริ่มมากินแล้วก็รู้สึกว่า Guss Damn Good หากินยาก เราเลยคิดว่าถ้างอย่างนั้นต้องมีบริการส่ง ก็เลยเริ่มจัดส่งมาตั้งแต่ตอนนั้น โดยเราสังเกตว่าเวลาไอศครีมหลายเจ้าจัดส่ง เขาจะตักไอศครีมจากร้านหนึ่งลูก เอาลงถ้วย ปิดฝาแล้วส่ง ซึ่งอย่างนั้นไม่ดี เพราะว่าอุณหภูมิที่ตักเสิร์ฟคืออุณหภูมิที่เหมาะแก่การกินเดี๋ยวนี้ ถ้าเกิดเราตักเสิร์ฟ ปิดฝา เอาน้ำแข็งแห้งมาโปะ พอจะกินไอศครีมก็จะกลับไปละลายอีกรอบ เนื้อจะไม่อร่อยแล้ว สิ่งที่เราทำก็เลยเป็นการจัดส่งที่เริ่มจากปั่นไอศครีมเสร็จ ตักใส่ถ้วย ปาดหน้าให้สวย เช็ดขอบให้สะอาด ปิดฝาให้ดี แล้วส่งเลย แบบนี้ครั้งแรกที่คนตักกินก็จะเป็นไอศครีมสดที่สุด ดังนั้นเราเลยซีเรียสมากเวลามีลูกค้าสั่งไปส่ง ต้องถามเลยว่าจะกินกี่โมง จะส่งไปให้ช่วงนั้น

ห้องทดลองที่ชื่อว่า ร้านไอศครีม
ระรินร้าน A Guss ของเราตั้งอยู่ตรงซอยศาลาแดง 1 บริเวณที่เคยเป็นฟุตปาทมาก่อน ที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของตึกที่จะทำเป็นแนวครีเอทีฟ สเปซ มีคาเฟ่ มีรูฟท็อป มีโรงหนัง Bangkok Screening Room ซึ่งเรารู้สึกว่าสไตล์ที่เขาจะทำตรงกับสไตล์ Guss Damn Good แล้วตอนที่จะทำก็คิดว่าร้านเล็กๆ น่ะดีแล้ว ไม่เจ็บตัว แต่พอลงทุนทำ ปรากฏว่าแพงมาก แต่ก็ถือว่าก็ลองดู เพราะเราก็ไม่เคยมีร้าน ไม่เคยต้องมีพนักงานเยอะขนาดนี้ ไม่เคยเป็นเจ้านายใคร ถือว่าเป็นการเริ่มต้น

 

ค่อยๆ โตอย่างมั่นคง
ระรินเราไม่เคยคิดว่าจะเจ๊ง แต่สิ่งที่เราทำคือ ค่อยๆ ทำไป เราไม่ได้เปิดตัวใหญ่โตตั้งแต่วันแรก ไม่ได้มีร้านตั้งแต่วันแรก เราค่อยๆ ออกบูท ค่อยๆ มีบริการส่ง เราขายมาปีกว่าถึงจะมีร้าน แล้วร้านนี้ก็เล็กพอ ถือว่าเป็นร้านแรกที่เราจะคอยดูว่ามีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า ต่อไปถ้าเราทำร้านใหญ่ขึ้น จ้างคนเยอะขึ้น ค่าเช่าแพงกว่านี้ จะได้เจ็บตัวน้อยหน่อย แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ มาเองด้วย อย่างตอนนี้ ก็มีลูกค้ามาให้ทำไอศครีม เช่น เจ้าแรกคือลิปสติก wet & wild ที่ให้เราทำรส wet & wild ให้ เรายังไม่เคยต้องทำการตลาดแบบเต็มๆ จะว่าโชคดีก็ด้วย เพราะทำไอศครีมออกไปแบบที่คิดว่าอร่อย แล้วคนกินคิดเหมือนเราและใจดีไปบอกต่อ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องไม่พลาดและห้ามทำเล่นๆ เลยคือสินค้า ที่แน่ๆ ไอศครีมต้องดีก่อน แล้วอย่างอื่นค่อยๆ ตามมา บางคนก็บอกว่าทำไมถึงไม่โฆษณาเลยว่าใช้นมอะไร ว่ากวนคาราเมลเอง คือเราแค่คิดไว้ในใจแล้วว่าถ้าขายไอศครีม มันต้องดี ต้องอร่อย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ได้อยากจะต้องมาบอก มีเรื่องอื่นที่เราอยากสื่อสารมากกว่า

 

จะทำธุรกิจต้องมีมากกว่า passion
นทีเราเข้าใจที่คนบอกว่าการทำธุรกิจ Start Up ของตัวเองต้องมี passion หรือความหลงใหล แต่บทเรียนที่เราได้จากการทำ Guss Damn Good คือ ความหลงใหลเป็นสิ่งที่ต้องมี แต่อีกอย่างที่สำคัญพอๆ กัน คือ perseverance หรือความอดทน ความหลงใหลเป็นสิ่งที่ทำให้เราตื่นมาทุกวันแล้วอยากทำธุรกิจ แต่ทุกวันในการทำงาน เราจะเจอปัญหาเล็กๆน้อยๆที่ทำให้ปวดหัวมาก ถ้าไม่มีความอดทนพอ เราจะโละทุกอย่างทิ้ง จะไม่เอามันแล้ว ผมรู้สึกว่าทั้งสองอย่างคือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำสตาร์ตอัพ ไม่ใช่แค่ความหลงใหลอย่างเดียว

ลูกค้าคือกำลังใจ
ระริน: สิ่งที่เราชอบที่สุดในการทำ Guss Damn Good คือลูกค้า พวกเขาคือคนแปลกหน้าที่ชาตินี้เราคงไม่มีสิทธิ์ได้เจอถ้าเราไม่ทำไอศครีม แล้วลูกค้าบางคนก็กลายเป็นเพื่อน กลายเป็นคนที่สนับสนุนเรา ไปไหน เจอเนย เจอนม ช็อกโกแลต จะมาบอกหมดเลย แล้วบางคนก็ไม่ได้คาดหวังว่าไอศครีมจะอร่อย พอกินแล้วชอบก็จะเดินมาชม เรารู้สึกว่าลูกค้าเป็นสิ่งทีทำให้เราอยากทำให้ Guss Damn Good ดีขึ้นในทุกๆ วัน

บทเรียนที่เราได้จากการทำ Guss Damn Good คือ ความหลงใหลเป็นสิ่งที่ต้องมี แต่อีกอย่างที่สำคัญพอๆ กัน คือ perseverance หรือความอดทน ความหลงใหลเป็นสิ่งที่ทำให้เราตื่นมาทุกวันแล้วอยากทำธุรกิจ แต่ทุกวันในการทำงาน เราจะเจอปัญหาเล็กๆน้อยๆที่ทำให้ปวดหัวมาก ถ้าไม่มีความอดทนพอ เราจะโละทุกอย่างทิ้ง จะไม่เอามันแล้ว

นที จรัสสุริยงค์

 

Guss Damn Good

ประเภทธุรกิจ: ร้านไอศครีม
คอนเซปต์: คราฟต์ไอศครีมแนวบอสตัน ทุกอย่างทำเอง ใส่ส่วนผสมจัดเต็ม ทุกรสซ่อนเรื่องราวจากผู้คนที่พบเจอ ช่วงเวลาดีๆ และเมืองบอสตัน
เจ้าของ: ระริน ธรรมวัฒนะ (28 ปี), นที จรัสสุริยงค์ (28 ปี), สวิตา นาคะชัย (28 ปี) ,พัฒจิรา สีมานนทปริญญา (27 ปี), ทัตพงค์ วุฒิหิรัญปรีดา (25 ปี)
Facebook | Guss Damn Good
Instagram l gussdamngood
(*สั่งซื้อไอศครีมแบบเดลิเวอรี่ผ่านทางเฟซบุ๊กด้านบนนี้หรือ line @gussdamngood ได้ด้วยนะ)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!