เพราะทุกข์จึงลงมือสร้าง : หญิงสาวผู้ให้กำเนิด Ooca แอพฯ ที่อยากช่วยให้คนมีสุขภาพใจดีขึ้น

Highlights

  • อิ๊ก–กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ คือเจ้าของ Ooca แอพพลิเคชั่นมือถือที่ให้คนวิดีโอคอลกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา จากประสบการณ์เรื่องสุขภาพจิตที่เจอมาตลอด ทำให้อิ๊กตัดสินใจทิ้งอาชีพทันตแพทย์มาทำงานสายเทคโนโลยี
  • ปัจจุบัน Ooca ขยายช่องทางใหม่ชื่อ Wall of sharing เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าถึงได้ในราคาย่อมเยาลง และความสำเร็จในขั้นต้นทำให้อิ๊กได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน BBC 100 Woman 2018
  • สำหรับเธอแพสชั่นไม่ใช่ทุกอย่างในการทำงาน แต่คือจริยธรรมในการทำงาน ที่หมายถึงการผลักดันให้สิ่งที่ทำไปให้ถึงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ในวันที่เหนื่อย เบื่อ ล้า หรือในวันที่ปัญหาเต็มไปหมด
  • และสำหรับเธอ คุณค่าของชีวิต ก็คือการมีชีวิตอยู่นั่นแหละ

คำถามแรกที่เราอยากให้คุณลองตอบคือ เวลาเป็นทุกข์ คุณทำอะไร

หญิงสาวที่เราคุยด้วยในบทสัมภาษณ์นี้คือคนธรรมดาคนหนึ่ง เธอชื่อ อิ๊ก–กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ เติบโตในครอบครัวคนจีน จบทันตแพทย์ มีฝันที่อยากลงมือทำในชีวิต ฟังดูแล้วชีวิตเธอไม่ได้ต่างไปจากใคร

ลองเล่าใหม่อีกที หญิงสาวที่เราคุยด้วยในบทสัมภาษณ์นี้คือคนธรรมดาคนหนึ่ง เธอตั้งคำถามกับชีวิตมาตั้งแต่เด็ก ความรักพาให้เธอได้รู้จักความทุกข์อันหนักหนา เจอการเรียนในมหาวิทยาลัยที่เคร่งเครียด ประสบปัญหาการเมืองในที่ทำงาน ช่วงหนึ่งของชีวิตเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าอย่างอ่อนๆ ฟังดูแล้วชีวิตเธอก็ยังไม่ได้ต่างไปจากใคร

สิ่งที่อาจจะต่างไปสักหน่อยคือ ประสบการณ์เรื่องสุขภาพจิตที่เจอมาตลอด ทำให้อิ๊กตัดสินใจทิ้งอาชีพทันตแพทย์มาทำงานสายเทคโนโลยี สร้าง Ooca แอพพลิเคชั่นมือถือที่เปิดช่องทางให้คนเข้าถึงบริการทางจิตวิทยาได้ง่ายขึ้นผ่านวิดีโอคอลกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ปัจจุบัน Ooca ยังขยายช่องทางใหม่ชื่อ Wall of sharing ที่จะช่วยให้นักศึกษาได้เข้าถึงบริการเหล่านี้ในราคาย่อมเยาลง ความพยายามและความสำเร็จในขั้นต้นทำให้อิ๊กได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน BBC 100 Woman 2018

เรื่องราวแอพพลิเคชั่นถูกบอกเล่าไปแล้วมากมาย เราจึงสนใจความรู้สึกของอิ๊กในฐานะคนคนหนึ่ง

เวลาเป็นทุกข์เราอาจร้องไห้ หดหู่จนไม่อยากทำอะไร มองไปรอบตัวก็เห็นความสุขที่คนอื่นบอกเล่าออกมา แท้จริงแล้วทุกคนล้วนมีความทุกข์ซ่อนอยู่ในใจทั้งนั้น อิ๊กก็เช่นกัน ทุกวันนี้เธอยังต่อสู้เพื่อดูแลจิตใจตนเอง แต่อะไรบางอย่างก็ทำให้เธอเลือกแปรรูปความทุกข์บางส่วนเป็นการลงมือทำ แบ่งพลังงานมาปลูกสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้คนดูแลใจตัวเองได้ดีขึ้น

เราไม่ได้อยากบอกว่าเมื่อเป็นทุกข์ ทุกคนต้องเคี่ยวเข็ญตัวเองให้สร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะบางขณะ สำหรับบางคน การมีลมหายใจให้ผ่านไปแต่ละวันก็เป็นเรื่องยาก

เราเพียงอยากบอกว่า แม้เป็นทุกข์ ข้างในตัวเราอาจยังมีประกายที่ทำให้เราลุกขึ้นได้ใหม่เพื่อบางสิ่งบางอย่างอยู่เสมอก็เป็นได้

พอจะเล่าย้อนให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าตอนเด็กๆ คุณเติบโตมายังไง

เราเป็นเด็กที่เข้ากับแม่ได้ค่อนข้างยาก อยู่ในสังคมบ้านคนจีนที่บอกว่าผู้หญิงไม่มีค่า มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน เจอความกดดันด้วยเพราะเป็นลูกสาวคนแรก แม่มีความคาดหวังว่าเธอต้องเป็นกุลสตรีดีเลิศ แต่เราหลุดกรอบมาก อยู่บ้านไม่ได้เพราะทะเลาะกับแม่ทุกวัน คนมองว่าเลี้ยงยากและเป็นเด็กช่างเถียง เลยถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ และด้วยความดื้อ เราก็โดดเรียนไปนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุด อาจารย์จะมองว่าเป็นเด็กไม่มีมารยาท เราก็รู้สึกว่าโรงเรียนเข้มงวดมาก มันไม่ใช่ที่ของเรา

 

จุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่า ‘เบื่อชีวิต’ มาตั้งแต่เด็ก

ตั้งแต่จำความได้เราเบื่อมาตลอด รู้แต่เด็กๆ เลยว่ามันเป็นแค่จุดเริ่มต้น ชีวิตยังมีชาเลนจ์ที่ต้องฟันฝ่าไปจนกว่ามันจะจบอีก เราอาจจะสุขที่ได้เล่น แต่ความทุกข์ก็มีตลอด ในอนาคตต้องเจอยิ่งกว่านี้แล้วท้ายสุดมันต้องผ่านไป งั้นเราผ่านไปเลยได้ไหม เพราะ end game ก็คือความตายอยู่แล้ว เมื่อก่อนเป็นสายพุทธจัดเต็มก็จะคิดว่าน่าเสียดายจังที่ชาตินี้เกิดเป็นผู้หญิง บวชก็ไม่ได้ ทำได้อย่างมากคือเป็นปุถุชนที่ดี แต่ยังไงก็ไม่มีทางหลุดพ้นเพราะติดอยู่ในเพศแม่

ครั้งแรกที่มีความรู้สึกเชิงลบมากๆ คือช่วงวัยรุ่นที่มีแฟนเป็นครั้งแรกแล้วเลิกกัน เป็นครั้งแรกจริงๆ ที่เราเป็นคนอารมณ์ปั่นป่วน เศร้ามาก โมโหมาก เปลี่ยนตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ ดำดิ่งและเครียดมาก แฟนคนแรกเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตที่สำคัญมากในการเชปตัวเอง เขาเป็นคนชอบทำกิจกรรมนู่นนี่ มันก็เปลี่ยนวิธีคิดเราไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำร้ายเรามากเหมือนกัน ตั้งแต่นั้นเราก็เป็นคนเศร้าๆ ในใจมาตลอด พอย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ก็ยัง carry on ความดาร์กไปเรื่อยๆ

 

ชีวิตที่เชียงใหม่เยียวยาคุณได้บ้างไหม

เราไม่เคยสัมผัสความเป็นเมืองไทยในสังคมอื่นๆ ไม่รู้สังคมเมืองต่างจังหวัดเป็นยังไง จะอยู่ได้ไหม ก็เลยกังวล เทอมแรกอึดอัดมาก พอเทอมสองก็ไม่อยากอยู่ ไม่ไปเรียนเลย จนเปลี่ยนใจตอนสุดท้ายว่าถ้าเราทนอยู่แค่เชียงใหม่ไม่ได้ เราคงไปอยู่ที่อื่นไม่ได้ตลอดชีวิต ต้องผ่านไปให้ได้ เลยกลับมาตั้งใจเรียนใหม่

แต่เรียนทันตแพทย์มันหนักมาก ด้วยธรรมชาติวิชาชีพมันเครียดมากอยู่แล้ว ต้องเจออะไรที่มีความเสี่ยงตลอดเวลา อยู่ใกล้คนไข้มาก มีเลือด น้ำลาย ทำงานในสภาวะที่การเคลื่อนไหวจำกัดเหมือนเล่นกายกรรม ตอนเรียนก็มีทั้งพาร์ตที่ต้องอ่านเอาความรู้และพาร์ตที่ต้องฝึก ปี 5 เป็นปีที่หนักมาก เราก็เครียด

เวลาเครียดหรือเศร้า เรารับมือตัวเองได้ไหม หรือเราต้องการที่พึ่ง

ก็รู้สึกว่าต้องการนะ ครั้งแรกที่เศร้ามากๆ ไม่รู้จะทำยังไงก็มีเพื่อนเป็นที่พึ่ง เราไม่ได้หลุดไปติดอะไรเพราะยึดศีลห้าค่อนข้างเยอะ ตอนนั้นมีโทรไปหาสายด่วนสุขภาพจิตแล้วก็รู้สึกเฟล เพราะเขารับฟังเราไปอย่างนั้น รอเราพูดไปเรื่อยๆ แล้วท้ายที่สุดก็ตัดจบ คุณเป็นแบบนี้ ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ นี่คือประสบการณ์ส่วนตัวที่เจอตอนอายุ 15 เลยรู้สึกว่า อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน (หัวเราะ)

เคยมีอาจารย์มาพูดในวิชาว่า ถ้ามีความเครียดจนถึงจุดที่มีอะไรบางอย่างเอฟเฟกต์กับชีวิตประจำวันก็ควรไปคุยกับจิตแพทย์นะ แล้วตอนปี 5 มันเอฟเฟกต์มากจริง นอนได้วันละ 2-3 ชั่วโมงติดกันหลายเดือน จิตใจว้าวุ่นตลอดเวลา โฟกัสอะไรไม่ได้ มันมีอะไรที่เป็น trauma ข้างใน ก็เลยไปโรงพยาบาลสวนปรุง

ตอนนั้นเรารู้สึกว่าคุณหมอเหมือนจะเข้าใจเราว่ะ แต่เขาพูดกับเราเร็วมากเพราะมีเวลาน้อย คนไข้เยอะ เรารู้สึกเหมือนหมอถามอะไรที่ trigger ให้คิดบางอย่าง ทำให้เข้าใจตัวเอง คือปัญหาที่เคยเกิดขึ้น ปัญหาเรื่องครอบครัวหรือปัญหาของแฟนก็ตามที เราคิดว่ามันเกิดแล้วจบ แต่ไม่เคยคิดเลยว่ามันมีเบื้องหลังอะไรที่เป็นปัจจัยทำให้เราเป็นทุกข์ต่อเนื่องจนทุกวันนี้ เขาชี้ให้เราเห็นช่องบางอย่างและเข้าใจว่า มนุษย์นี่กว่าจะประกอบสร้างตัวตน องค์ความรู้ วิธีคิด มันมาจากอะไร

การที่เราดูแลตัวเองในเชิงสุขภาพจิตมันไม่ใช่ว่าเราพึ่งยาหรือการปรึกษา (counseling) อย่างเดียวนะ มันคือหลายๆ อย่างรวมกัน มันคือ holistic approach กลายเป็นว่าองค์ประกอบที่ทำให้เราดีขึ้นทางใจมันไม่ใช่แค่ยาอย่างเดียว ยาช่วยให้ดีขึ้นแหละ คนที่เป็นโรคจริงๆ ต้องกิน แต่ถ้าตัวเขายังมีวิธีคิดที่เป็นปมในใจเหมือนเดิม ในระยะยาวมันก็ยาก

ตอนนั้นพอเราได้เจอหมอ ได้กินยา ก็ดีขึ้น เริ่มเอาตัวรอดด้วยการไปซื้ออูคูเลเล่มาเล่น แต่ก็จะมีความฟุ้งซ่านอยู่ว่าเรียนจบแล้วทำอะไรดี เราไม่ได้เรียนทันตแพทย์เพราะอยากเป็นหมอฟันร้อยเปอร์เซ็นต์

 

แต่สุดท้ายคุณก็เลือกไปเป็นทันตแพทย์ในกองทัพ

ตอนแอดมิสชั่นเราสอบติดแพทย์พระมงกุฎ แต่แค้นใจเพราะตกตรวจร่างกาย (หัวเราะ) ทีนี้ตอนใช้ทุนมีพี่ที่เป็นหมอฟันทหารมาพูด เลยรู้สึกว่าน่าสนใจดี อยากลงพื้นที่ โรงพยาบาลที่เราไปอยู่ก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่ามีปัญหาการทำงานค่อนข้างเยอะ เราเป็นหมอฟันคนเดียวในนั้น เข้าไปแบบไฟแรง อยากแก้ไขนู่นนี่ให้มันดีขึ้น แต่ก็มีเสียงต้านจากบางคนว่าจะเอาอะไรเยอะแยะ มันเป็นการเปลี่ยนการบริหารจัดการในองค์กร ต้องดีลกับคนก็กดดัน การเมืองในโรงพยาบาลก็เยอะ

แล้วจริงๆ ไอเดียทำแอพพลิเคชั่น Ooca มันมาได้ยังไง

เราเป็นคนที่มีไอเดียเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว และ Ooca ก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนนั้นเราสนใจเรื่องเทคโนโลยี สนใจเรื่อง big data คิดว่าเอามาใช้ในโรงพยาบาลน่าจะดีเนอะ แต่เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่าพออยู่ในระบบ การจะสร้างสรรค์อะไรมันลำบาก เราอยู่ในองค์กรนี้ เราไม่มีวันได้ขึ้นมาเป็นคนบริหารเองร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยศักดิ์ของวิชาชีพทันตแพทย์ยังไงก็ต้องอยู่ใต้หมอ แล้วหมอก็อยู่ใต้ทหารอีกที เราเริ่มเห็นถึงความยักษ์ใหญ่ของระบบราชการ ถ้ายังอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ กว่าจะได้จัดตั้งอะไรที่เป็นประโยชน์และได้ช่วยเหลือคนอื่น เราต้องรอไปอีกนานแค่ไหน

เรามีไอเดียเรื่อง Ooca อยู่แล้ว เรามองว่าอนาคตมันมาทางนี้ ส่วนหนึ่งมันเป็น pain ของเราที่รู้สึกว่าเข้าถึงจิตแพทย์ลำบาก เคยโกรธหมอนะว่าทำไมมันต้องยากขนาดนี้ ประกอบกับอยู่โรงพยาบาลทุกวัน เห็นคนไข้เหมาตุ๊กๆ ข้ามอำเภอข้ามจังหวัดมาหาหมอ ไอเดีย Ooca มันเป็นอะไรที่ shortcut ที่สุด ไดรฟ์เรามากที่สุด พิจารณาแล้วว่าเป็นไปได้จริง ช่วยคนได้จริง ทำได้ภายใต้อำนาจการจัดการของตัวเอง

เรารีเสิร์ชต่อไปเรื่อยๆ ว่าต้องทำยังไงมันถึงจะเวิร์กทั้งในเชิงวิชาชีพและเชิงธุรกิจ ท้ายที่สุดมันจะอยู่ได้ด้วยตัวเองไหม เพราะถ้าเป็นโมเดลสไตล์ที่ใช้ความเห็นใจ มันคงยากและไม่ยั่งยืน เรามองว่าเราต้องลองสร้างขึ้นมาแล้วทำให้มันใหญ่ด้วยตัวของมันเอง ใหญ่มากพอที่คนอื่นจะมารับประโยชน์ร่วมกันจากการทำตรงนี้ ไม่ใช่อะไรที่ฉันดีและทำได้คนเดียว

 

โมเดลที่ใช้ความเห็นใจที่ว่าคือแบบไหน

คือสมัยนั้นคนที่คิดแบบเราไม่ได้มีคนเดียวนะ เราต้องเรียนรู้ไปว่าอะไรเวิร์กไม่เวิร์ก สมัยก่อนจะมีพวกเว็บบอร์ดตอบปัญหาสุขภาพฟรี แต่มันก็ขึ้นอยู่กับความใจดีของหมอ หมอไม่ว่างก็ไม่ได้มาตอบ เว็บบอร์ดก็ร้างไป

สิ่งสวยงามที่สุดคือคนมา contribute ให้กันโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่มันเป็นไปไม่ได้เสมอไป คนเราต้องกินต้องใช้ ทุกคนมีเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง คงไม่มีใครเกิดมาแล้วคิดว่าฉันจะเป็นนักจิตวิทยา และเลี้ยงชีพได้โดยไม่คิดค่าบริการ มนุษย์คนหนึ่งมี cost of living ของเขา คนที่จะทำได้โดยไม่คาดหวังอะไรเลยต้องมีความพร้อม ฉะนั้นมันยากมาก การที่เราให้ใครมาทำอะไรบางอย่างมันคือการเอาเวลาของเขามา เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด จะดีกว่าไหมถ้ามันมี commitment ที่ชัดเจนว่าคุณมาทำสิ่งนี้ คุณได้ค่าตอบแทน หาคุณค่าจากตรงนี้ได้

นักจิตวิทยาที่จบมาไม่ได้ทำงานตรงสายก็เยอะเพราะหลายสาเหตุ เช่น ไม่มีตำแหน่งบรรจุในสาขาที่เรียนมา หรือถ้าเงินเดือนน้อยก็อาจเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น มันจะดีไหมถ้าเขามาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้แล้วมีรายรับที่ดี คนไข้ก็มีความต้องการเหมือนกัน เราต้องบาลานซ์ความต้องการทั้งสองฝั่ง

ฟังดูคุณก็ศึกษาและเตรียมตัวเยอะ แสดงว่ามันไม่ใช่การตัดสินใจที่ยากขนาดนั้นใช่ไหมที่จะทิ้งอาชีพเดิมมาทำ Ooca เต็มตัว

โห ยากนะ มันเป็นช่วงที่เราออกจากทหารมาได้แป๊บหนึ่งแล้วไปเรียนต่อ ซึ่งก็เริ่มทำ Ooca กับน้องชายที่เรียน software engineering แล้วล่ะแต่ไม่ได้จริงจังกับมันมากเท่าไหร่ จนผ่านไป 7 เดือนก็ยังไม่เกิดเป็นรูปเป็นร่าง เรียนก็เครียด แต่เราผ่านจุดที่เครียดที่สุดไปได้แล้ว งั้นเอาไงดีวะ จะทนต่อไหม หรือออกมาสร้างอะไรที่เป็นของเราเองและได้แก้ปัญหาเรื่องความเครียด เรื่องจิตใจของตัวเองจริงๆ คือมันรู้ว่ายังไงก็หนีความเครียดไม่พ้นในชีวิต ถ้าได้แต่คิดมันก็จะอยู่อย่างนั้น ไม่ได้งอกเงยเป็นอะไร ท้ายที่สุดเลยตัดสินใจลาออก เรากลัวนะ เพราะมันเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง ไม่เรียนต่อแล้ว จะทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริงๆ เอาให้เต็มที่เลยว่ามันจะไปได้ขนาดไหน

 

ทั้งที่กลัว แล้วอะไรทำให้กล้า อะไรทำให้รู้สึกว่าฉันจะเลือกอันนี้แหละ

เพราะเรื่องซึมเศร้าแหละ ตอนนั้นเครียดมากจนซึมเศร้าเหมือนกัน แล้วก็รู้สึกว่าถ้าวิธีการที่เราจะดูแลตัวเองมันไม่ได้ดีขึ้น สุดท้ายชีวิตก็หนีไม่พ้นเรื่องนี้ งั้นมาทำสิ่งที่จะช่วยคนอื่นในเรื่องนี้ให้มันเกิดจะดีกว่าไหม มันเป็นเรื่องในชีวิตเราจริงๆ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้มันก็ย้อนแย้งนะ เรายังไม่ได้ใช้เองเลยเพราะวงหมอยังแคบแล้วเขาจำเราได้ (หัวเราะ) แต่สักวันหนึ่งมันคงจะใหญ่พอจนเรามีโอกาสใช้จริงๆ

เวลาคนเราเจอเรื่องทุกข์ เราอาจจะจมกับมัน แต่สิ่งที่คุณลงมือทำคือการแก้ปัญหา วิธีคิดอะไรทำให้คุณตัดสินใจแบบนี้

ตอนเศร้าจริงๆ มันอาจจะคิดไม่ออกหรอก ตอนนั้นมันต้องอาศัยทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่น้อง ยา นักจิตวิทยา ให้มันรอดไปได้ ส่วนมากคนเราต้องอยู่ห่างออกมาสักนิด มันถึงจะมองเห็นอะไรบางอย่าง ถ้าเอาตัวไปอยู่ตรงนั้นมันก็ยังไม่เห็นวิธีหรอก มันคงเป็นเรื่องจังหวะมากกว่า ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่เศร้าหรือทุกข์ใจแล้วเราจะเป็นพหูสูต ตอนเศร้ามันก็โคตรจะเศร้า ทุกวันนี้ก็ยังต่อสู้กับความเศร้าอยู่ เพียงแต่โชคดีที่มีคนรอบข้างรวมถึงจิตแพทย์และนักจิตวิทยาช่วยไว้

 

การทำสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีที่อยู่กับสุขภาพจิตคงเป็นเรื่องยากและท้าทาย อะไรทำให้คุณลุยต่อมาได้เรื่อยๆ

เราไม่สามารถทำโปรดักต์จากความมโนอย่างเดียวได้ ต้องรับฟังฟีดแบ็กจากผู้ใช้ด้วย อย่างเช่นเรื่องการคิดราคา ตอนแรกเราไม่รู้ควรจะคิดราคาเท่าไหร่เลยให้หมอเซตราคาเองแล้วคิดต่อ 15 นาทีไป เพราะคาดการณ์ว่าคนที่เข้ามาคุยคงมีหลายประเภท มีคนที่อยากคุยนิดเดียวหรือคนที่อยากให้คิดราคาแบบแฟร์ๆ แต่นักจิตวิทยามีมาตรฐานอยู่แล้วว่าเวลาให้บริการควรอยู่ที่ 50 นาทีถึง 1 ชั่วโมง การตัดให้คนจองเข้ามาแค่ 15 นาทีมันทำให้ทั้งสองฝ่ายตึงเครียด คนหนึ่งก็คาดหวังให้พ่นคำตอบใส่หน้าฉันมาเลย กระบวนการหาคำตอบมันไม่ใช่แบบนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยากับผู้รับบริการก็เสียไปด้วย เราเลยหาพื้นที่ตรงกลางที่ทั้งสองฝ่ายสบายใจ มีเวลาให้เลือกคือ 30 นาทีกับ 1 ชั่วโมง เพราะมนุษย์สมัยปัจจุบันมันเปลี่ยนไป บางคนอาจจะรู้สึกว่าเวลา 1 ชั่วโมงมากเกินไปก็ได้

หรือหมอบางคนอาจค่าตัวสูง แต่พอเขาเซตราคาบนแพลตฟอร์มเราต่ำ มันจะมีอคติของราคาที่ทำให้ผู้ใช้บางคนพลาดโอกาสจะคุยกับอาจารย์ที่ดี เพราะรู้สึกว่าเลือกคนที่ราคาสูงดีกว่า เราเลยป้องกันโดยให้ทุกคนมาอยู่บนมาตรฐานกึ่งกลางที่น่าจะแฮปปี้ทุกฝ่าย

นอกจากนี้ก็ยังมีความยากเรื่องทัศนคติคนในสังคม ยังมีคนบางกลุ่มไม่ยอมรับและไม่เข้าใจ คิดว่าเราไปทำอะไรไม่ดี แอบดูข้อมูลหรือแอบฟัง บางทียังไม่ทันมีโอกาสเข้าไปแนะนำตัวเขาก็ปิดเสียแล้ว บางทีก็เสียใจร้องไห้ กลับไปในโหมดซึมเศร้าอีกรอบเพราะมันบีบคั้น รู้สึก lost ว่าเราทำไปเพื่ออะไรวะ แต่หากเอาตัวเองออกมาจากความเศร้าตรงนั้น เราจะเห็นว่าจริงๆ มันมีคนได้ประโยชน์อีกเยอะ วันดีคืนดีตอนท้อๆ ก็จะมีคนส่งเมสเซจมาขอบคุณ เล่าว่าเขาเคยใช้นะ เพราะงั้นถึงเสียใจมันก็ต้องเดินต่อ เราอยากให้มันเป็น solution ในระยะยาวจริงๆ มีอะไรเยอะแยะที่เราอยากทำ อยากลุยไปกับมัน

คุณเคยบอกว่าตัวเองไม่ได้ลงมือทำอะไรจากแพสชั่นแรงกล้า ทุกวันนี้ยังเป็นแบบนั้นไหม

แพสชั่นมันมีความจำเป็นแหละ แต่มันไม่ใช่ทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าฉันรักในงานที่ฉันทำฉันถึงสู้ไปกับมันได้ นี่ตื่นมาก็ปวดหลังจัง เบื่อจัง มีปัญหารอข้างหน้าเต็มไปหมด แต่มันต้อง get shit done น่ะ ต้องทำให้เสร็จ ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ I am the man of my words ถ้า promise ไว้แล้วไม่ทำก็ไม่ดีหรือเปล่า มันเป็นจริยธรรมในการทำงาน ไม่อย่างนั้นใครจะมาทำงานกับคุณต่อ

 

มันคือการ promise กับตัวเองด้วยหรือเปล่าว่าฉันต้องทำสิ่งนี้ให้ได้

ไม่เชิงนะ คิดว่าไม่ใช่ ถ้าพูดในเชิงว่าทำไปทำไม สร้างคุณค่าชีวิตไหม มันมีเรื่องเล่าตอนเราเรียนจบใหม่ๆ อาจารย์เชิญวิทยากรคนหนึ่งมาพูดเรื่องคุณค่าชีวิต เขาพูดว่าคุณค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน เราฟังแล้วไม่ชอบเลย เพราะรู้สึกว่ามันไม่จริง ทำไมคุณ push ไอเดียนี้ให้เด็ก อย่างนี้ทุกคนต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างคุณค่าให้ตัวเองเหรอ มันไม่ใช่นะ นี่ทำงานมาเยอะแยะก็ไม่ได้รู้สึกถูกเติมเต็มจากสิ่งนี้ พอเขาพูดแบบนี้ เราเหมือน lost เลยว่าคุณค่าของชีวิตมันคืออะไร

หลังจากนั้นไม่นานมีโอกาสได้คุยกับอาจารย์และได้คำตอบว่า คุณค่าของชีวิตก็คือการมีชีวิตอยู่นั่นแหละ แค่ตอนนี้ยังอยู่ก็โอเคแล้ว ถ้าวันนี้เราไม่ได้ทำสิ่งนี้ คุณค่าของเราก็ยังมีอยู่ ยังเป็นคนเดิม คุณค่าของคนเป็นหมอฟันเฉยๆ กับคนครีเอตแพลตฟอร์มนี้มันไม่ต่างกัน

เรามองให้มันง่ายกว่านั้นว่าเราแค่อยากแก้ปัญหา ปัญหามันมีอะไร ต้องมีองค์ประกอบอะไรถึงแก้ได้ ปรับอะไรไปตามครรลอง การจะไปตั้งเป้าอะไรไว้ร้อยเปอร์เซ็นต์มันไม่มีทางเป็นไปตามที่เราคิดหรอก ถ้าเรา promise อะไรแบบนั้น มันมีแต่จะทำร้ายตัวเองนะ ถ้ามันไปไม่ถึง ถ้าสุดท้ายมันเฟล เราจะไม่ให้อภัยตัวเอง เราก็เลยไม่สัญญาอะไรแบบนั้น แต่แค่อยาก push ให้มันไปถึงที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้

จากวันที่เริ่ม Ooca นานไหมกว่าจะคิด Wall of Sharing ขึ้นมา

กว่าจะตกผลึกมันก็ใช้เวลานาน มันเป็นส่วนหนึ่งของมิสชั่นที่อยากเพิ่มช่องทางให้คนเข้าถึงบริการทางนี้ได้ พอค่อยๆ งอก solution ออกมาทีละอย่างเราก็เห็นข้อจำกัดของทางนั้น และคิดว่าทำยังไงถึงแก้ปัญหาได้

ตอนเปิดตัว Ooca ใหม่ๆ อาจารย์บางคนเรตค่าตัวสูง พอมีน้องๆ นักศึกษามาคุย เขาก็รู้สึกผิดมากเพราะน้องมีปัญหาทางการเงิน เหมือนเขากำลังละเมิดผู้รับบริการทั้งที่มันก็เป็นค่าวิชาชีพของเขานั่นแหละ เราก็ต้องนั่งคิดว่าจะทำยังไงให้มันเกิดความเท่าเทียมกว่านี้

วันนึงเราไปกินชากับพี่ผู้ใหญ่ที่เคารพก็เริ่มปิ๊งไอเดียขึ้นมา นึกถึงตอนไปเข้าค่ายกับกลุ่มแนว NGO ที่เขาพูดเรื่องแนวคิดการบริจาคแบบ pay it forward ผสมกับตอนไปเห็นคลิปวิดีโอเล่าเรื่องร้านพิซซ่าที่แจกจ่ายให้คนได้กินฟรีเพราะมีคนมาช่วย pay it forward เต็มไปหมด เราก็เห็นว่าโมเดลนี้มันรวมกันได้นะ นั่นคือหาคนที่อยากสนับสนุนช่วยออกเงินให้น้องนักศึกษาได้เข้าถึงบริการในราคาย่อมเยาลง เลยได้เริ่มคุยกับเว็บไซต์เทใจเพื่อสร้างระบบนั้นขึ้นมา

 

นอกจากเรื่องการเงิน กลไกของ Wall of Sharing จะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตในนักศึกษายังไงได้อีกบ้าง

คีย์หลักของการทำ Wall of Sharing คือการจำกัดวงที่เราเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ใช่ว่าจำกัดวงเพราะไม่อยากให้คนใช้เยอะ แต่มันคือขอบเขตการดูแลที่เรารับผิดชอบ เราต้องมีพันธมิตรอย่างมหาวิทยาลัยที่จะมาดูแลต่อด้วยเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน มันเลยเหมาะมากที่จะเอาระบบ Ooca for corporate ที่ใช้ดูแลคนในองค์กรอยู่แล้วมาใช้ สิ่งสำคัญของระบบนี้คือเรามีเครื่องมือคอยดูว่าคนที่มาใช้บริการเป็นคนจากไหนยังไง ดึงข้อมูลมาโชว์สถิติได้ เห็นข้อมูล demographic ว่าคนกลุ่มไหนในองค์กรที่กำลังมีปัญหาอยู่ แนวโน้มความเครียดองค์กรตอนนี้อยู่เลเวลไหน คนมาปรึกษาเรื่องประมาณไหน

มันเหมือนเวลาใช้ facebook analytics ที่ดูข้อมูลเป็นก้อนๆ ได้ แต่ไม่ได้ระบุตัวตนบุคคล เราจะไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือความลับใดๆ ทั้งสิ้น identity ของเด็กจะไม่เปิดเผย ถ้ามีเด็กจองคิวเข้ามา มหาวิทยาลัยก็ไม่รู้ตัวตน แต่มันเอาใช้เฝ้าระวังได้ว่าใครอยู่ในจุดวิกฤตหรือมีความคิดฆ่าตัวตาย จะได้เข้าไปดูแลเป็นพิเศษ เราเอาระบบนี้ให้มหาวิทยาลัยใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มหาวิทยาลัยก็จะได้มี third party มาช่วยรับมือด้วย เพราะไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนมีปัญหาแล้วจะพุ่งไปหาอาจารย์ ตอนนี้ก็มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่ร่วมเป็นพันธมิตรแล้ว

 

เทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ ทำไมต้องเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ Ooca ลงไปจับก่อน

มันไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสเข้าถึงบริการเหล่านี้ คุณต้องมีเงินและมีเวลา ถ้ามีเงินก็ใช้เงินแก้ปัญหา ถ้ามีเวลาก็นั่งรอคิวไป แต่คนที่ไม่มีทั้งสองอย่างจะทำอย่างไร เรามองว่ากลุ่มนักศึกษาเป็นคนที่กำลังจะโต บางคนก็เรียนไปทำงานไปด้วย แล้วมันก็เป็นโอกาสอันดีที่แนวคิดเรื่องสุขภาพจิตจะได้รับการปลูกฝังอย่างถูกต้องตั้งแต่ตอนยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มที่

ต้องยอมรับว่าเรื่องสุขภาพจิตยังไม่มีการบรรจุสอนอย่างจริงจัง ถ้าไม่ได้ไปลงเรียนวิชาคณะแพทย์ฯ หรือจิตวิทยา มันยากนะที่อยู่ดีๆ คนคนหนึ่งจะมีความรู้เรื่องนี้ มันเป็นวัยบ่มเพาะทัศนคติและมุมมองหลายอย่าง ถ้าเราจะมีมุมมองว่าไปหาจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ มันจะปลูกสร้างได้ตอนไหนล่ะ แก้ตอนที่เขายังพอปรับได้ดีกว่า ไม่ใช่โตไปเป็นผู้ใหญ่แล้วรู้สึก guilty บางอย่างที่จะเดินเข้าไปหาจิตแพทย์

ในวันนี้คุณรู้สึกไหมว่าตัวเองกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลง

เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของมูฟเมนต์ที่ได้พยายามทำให้เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ อย่างน้อย Ooca ก็ทำให้เกิดบทสนทนาในหมู่คนธรรมดาหรืออาจารย์ สิ่งสำคัญที่สุดคือเราอยากเพิ่มมูลค่าเรื่องสุขภาพจิต หมายถึงว่าเมื่อก่อนคนคงจะคิดว่าทำยังไงดี ไปดูหมอดู ไปหาของฟรีดีไหม มันเป็นภาคส่วนที่คนไม่ได้รู้สึกว่าต้องลงทุน มันเลยทำให้ความเจริญงอกงามไม่เกิด คนเก่งๆ มาก็ออกไปทำอย่างอื่น

แทนที่มันจะเป็นอาชีพที่ดี มีรายรับที่ดี คนไม่ต้องกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเข้าหา

เรากำลังพยายามพิสูจน์กับโลกภายนอกว่า เฮ้ย เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญนะ แต่เราก็ต้องมองโลกด้วยว่าการที่คนจะมองเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากเรื่องอิมแพกต์แล้วเขาก็มองเม็ดเงินในนั้น มันเป็นตลาดที่น่าเข้ามาลงทุนไหม ควรใส่เงินเข้ามาเพื่อส่งเสริมดูแลมันหรือเปล่า เราพยายามจะบอกผู้ใหญ่ว่ามันสำคัญและมี คนหลั่งไหลเข้ามาเพราะเขาต้องการจริงๆ หากมันไม่สามารถพิสูจน์ได้ในเชิงธุรกิจ มันก็ยากจะเปลี่ยนความคิดของคนหลายๆ คนได้ ฉะนั้นถ้าจะมีคนเข้ามาเป็นคู่แข่งในตลาดก็มาเลย จะได้ทำให้มันโตและเป็น มูฟเมนต์ที่เกิดในสังคมไปด้วยกัน

 

การได้ทำ Ooca มา 2 ปีมันกลับมาเติมเต็มอะไรข้างในตัวคุณบ้างไหม

ถามว่ายังเบื่อชีวิตไหมก็ยังมีแหละ (หัวเราะ) มันแก้ยากนะเรื่องนี้เพราะเป็นมาตั้งแต่เด็ก แต่อย่างน้อยโมเมนต์นี้ที่เราได้ทำแล้วมันมีประโยชน์ก็โอเค การได้ช่วยเหลือคนอื่นบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี เป็นคุณค่าทางใจของเรา แต่ชีวิตก็ยัง fast forward ไม่ได้ ต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเบื่อก็ไปทำอะไรให้หายเบื่อก่อนค่อยกลับมาทำสิ่งที่อยากทำ มนุษย์ต้องมีอารมณ์ขึ้นลง แต่ตราบใดที่มันยังมีหลักตรรกะที่ดี มีจุดมุ่งหมายที่ดี มันก็ไปของมันได้เรื่อยๆ

 

ขอบคุณสถานที่ถ่ายภาพ Better moon cafe x Refill station

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!